THE MEERKAT สำนักสื่อที่เล่าประเด็นสังคมได้ครบ จบในอินโฟกราฟิกภาพเดียว

“เฮ้ยนาย! ได้ยินเรื่องนี้มาหรือเปล่า”

เจ้าเมียร์แคตตัวจิ๋วปากคาบไปป์พร้อมหนังสือพิมพ์ในมือตบไหล่เรียกเราเข้าสู่วงสนทนามันๆ ในวงเหล้าว่าด้วยเรื่องสุดเนิร์ดอย่างสังคม การเมือง และสิ่งที่เกิดขึ้นรอบโลก

หัวข้อคุยสนุกในวงเหล้าคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้กลุ่มเมียร์แคต (เราขอเรียกพวกเขาด้วยชื่อนี้) ซึ่งเป็นเพื่อนกันมายาวนาน ตั้งแต่ในรั้วคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัดสินใจจับมือกันเปิดเพจ THE MEERKAT เพจสำนักข่าวก็ไม่ใช่ อินโฟกราฟิกก็ไม่เชิง ที่คอยอัพเดตเรื่องราวรายตามใจฉันผ่านรูปภาพและวิดีโอดีไซน์ดี เล่าเนื้อหาครบในประเด็นที่พวกเขาสนใจ วันหนึ่งคุณอาจจะเปิดเข้าไปเจอเทคโนโลยีการปลูกพืชบนดาวอังคาร แต่อีกวันอาจจะเป็นเรื่องสวนรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หรือยาวไปจนถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เลยก็ได้

the meerkat

ไม่ง่ายที่เราจะรวบรวมเหล่าเมียร์แคตให้มาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันได้ ด้วยต่างคนต่างก็มีงานประจำต้องรับผิดชอบ แต่ในเมื่อมีโอกาสพอเหมาะ เราเลยขอชวนเมียร์แคต DAVID ผู้ดูแลภาพรวมของเพจ, เมียร์แคต SORA พี่ใหญ่ผู้เป็นที่ปรึกษาประจำกลุ่ม และเมียร์แคต TIZood นักตัดต่อวิดีโอ หนึ่งในกลุ่มผู้ก่อตั้งเพจ THE MEERKAT มาสนทนาเรื่องเพจนอกวงเหล้ากันบ้าง

 

คนทำตึกสู่คนทำสื่อ

“สิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้เป็นเรื่องที่เราสนใจอยู่แล้ว เหมือนเป็นสาระที่บางทีเราชวนกันคุยในวงเหล้า อาจเพราะเราอ่านหนังสือกันเยอะ แล้วทุกคนก็พอทำกราฟิกกันได้ เราเลยมาคุยกับเพื่อนๆ ว่าลองรวมสองสิ่งที่พวกเราถนัดเข้าด้วยกันแล้วทำเพจเลยดีไหม” SORA เล่าให้ฟังถึงจุดกำเนิดเพจที่เริ่มขึ้นอย่างง่ายๆ แต่ปัจจุบันด้วยอายุเพียงขวบนิดๆ THE MEERKAT กลับมีผู้ติดตามเหยียบหลักหมื่นแล้ว

the meerkat

เมื่อแวะเข้าไปในเพจ เราจะพบอินโฟกราฟิกขนาดใหญ่ มีตัวอักษรบรรยายเนื้อหาแต่ละส่วนละเอียดยิบ พร้อมกราฟิกและภาพประกอบล้ำๆ แบบที่เราไม่ค่อยจะเห็นในเพจเล่าข่าวไหน SORA บอกว่าไอเดียการนำเสนอแบบนี้เป็นสกิลที่ติดตัวมาจากการเรียนสถาปัตยกรรมที่ทำให้มองอะไรๆ เป็นภาพ หรือตอนสอบพวกเขาก็ชอบนำเนื้อหาทั้งหมดมาสรุปให้เห็นภาพรวมในหน้าเดียว 

ด้วยวิธีการแบบนี้ พวกเขาพบว่าเพื่อนๆ อีกหลายคณะก็ทำเหมือนกันจนอาจตีความได้ว่าคนส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับภาพมากกว่าข้อความยาวเป็นพรืด

the meerkat

แล้วทำไมถึงเลือกเมียร์แคตมาเป็นตัวแทนของเพจนี้ล่ะ–เราถามต่อ

หลายคนอาจจะคิดว่าเพราะเจ้าเมียร์แคตเป็นสัตว์ตัวเล็กน่ารักที่ช่วยทำให้เนื้อหาหนักๆ ในเพจดูซอฟต์ลง แต่นั่นเป็นเพียงเหตุผลเล็กๆ จากเบื้องหลังสุดล้ำลึกเท่านั้น

“เมียร์แคตเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในโพรงแต่มันชอบยืดหัวขึ้นมาเตือนคนนู้นคนนี้ คล้ายๆ กับสังคมไทยที่ผู้คนมักจะอยู่แต่ในรู ถ้ามีโอกาสเราก็อยากเป็นเมียร์แคตที่ชะโงกหัวขึ้นมาบอกคนอื่นว่าตอนนี้รอบโลกมันเกิดอะไรขึ้นบ้าง

“แต่หลักๆ เราเลือกเมียร์แคตเพราะมันเป็นสัตว์สังคม และเป็นสัตว์ที่มีประชาธิปไตยมาก ถ้าดูตามสารคดี พวกมันจะไปไหนมาไหนกันเป็นกลุ่ม เวลาต้องเลือกเดินไปทางซ้ายหรือขวามันจะส่งเสียงโหวตกัน เสียงด้านไหนเยอะกว่าก็ไปทางนั้น เราเลยมองว่ามันเป็นตัวแทนของประชาธิปไตยรูปแบบหนึ่ง” DAVID อธิบาย

รายละเอียดแบบเด็กสถาปัตย์

เนิร์ดให้สุดในสิ่งที่สนใจ

DAVID ออกตัวกับเราว่าแม้เพจ THE MEERKAT จะเป็นการอัพเดตสิ่งที่เกิดขึ้นรอบโลก แต่พวกเขาไม่สามารถนิยามได้เต็มปากว่านี่คือสำนักสื่อ โดยเฉพาะในยุคนี้ที่คนคาดหวังให้สื่อรายงานแบบนาทีต่อนาที เพราะอยู่ๆ ทุกคนในทีมก็อาจยุ่งจนเพจขาดการอัพเดตไปเป็นเดือนเลยก็ได้

“ถ้าให้นิยามตัวเอง เราขอเรียกว่าเป็นเพจที่เล่าประเด็นที่อิมแพกต์กับสังคม เพราะแม้เราจะเน้นไปที่ประเด็นที่เราสนใจก่อนแต่สิ่งนั้นก็ต้องเป็นประโยชน์กับสังคมด้วย

“เราพยายามให้แต่ละโพสต์มีเนื้อหาต่างกัน อย่างโพสต์แรกเราเล่าเรื่องสตาร์ลิงก์หรือเทคโนโลยีปลูกต้นไม้ที่ดาวอังคาร แต่เดี๋ยวก็อาจมีเรื่องสังคม เรื่องผู้คน ต่อไปเรายังจะทำเรื่องสนามซ้อมใหม่ของลิเวอร์พูลเลย แค่ที่ผ่านมาประเด็นสังคมในบ้านเรามันเยอะ ก็เลยอาจจะเห็นเรื่องพวกนี้ในเพจเยอะหน่อย

the meerkat

“หรือประเด็นกษัตริย์ Juan Carlos ที่เพิ่งลงในเพจไปก็ไม่ได้เป็นข่าวขนาดนั้น แถมเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นประมาณ 1-2 ปีแล้วด้วยซ้ำ แต่เราเห็นว่ามันน่าสนใจดี เป็นการพูดถึงกษัตริย์ในอีกรูปแบบหนึ่งเราเลยเลือกเอาเรื่องนี้มาเล่าให้ฟัง”

DAVID ขยายความต่อว่าเนื้อหาในเพจแบ่งเป็น 5 ประเภทหลักๆ นั่นคือ people–เล่าเรื่องราวของคนที่น่าสนใจ, global update–เรื่องราวใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก, analysis–วิเคราะห์ที่มาที่ไปของประเด็นทางสังคมในโลก, idea–สิ่งที่พวกเขาคิดขึ้นมาแล้วอยากนำเสนอให้ลูกเพจได้ดู และสุดท้าย what if–หรือเรื่องราวที่เป็นไปไม่ได้แต่เป็นสิ่งที่พวกเขาตั้งคำถาม หรือจำลองขึ้นมาโดยตั้งต้นจากประเด็นที่พวกเขาสนใจ

ประเด็นทั้งหมดนี้จะถูกดัดแปลงออกมาเป็นงานภาพในรูปแบบต่างๆ ทั้งภาพกราฟิกและวิดีโอ โดยมีทีมงานเมียร์แคตทั้งหมดช่วยกันประกอบร่างเนื้อหาต่างๆ (หรือที่พวกเขาบอกเราว่าร่วมกันตะลุมบอน) ออกมาจนเป็นชิ้นเป็นอันแบบที่เราเห็นกันในเพจ

 

visual journalism ครบ จบ เข้าใจในแผ่นเดียว

“จริงๆ แล้วงานของเราไม่ได้โฟกัสไปที่อินโฟกราฟิกนะ เพราะถ้าเป็นงานอินโฟกราฟิกที่ดีไซเนอร์เขาทำกันจริงๆ มันต้องถอดความจากเรื่องราวเยอะๆ ให้กลายเป็นกราฟิกเสพง่ายที่สุด หรือที่เรียกว่า information visualization

“แต่สิ่งที่เราทำเรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งของ visual journalism แล้วกัน คือการเอาภาพหลายๆ ภาพมาประกอบกันเป็นหนึ่งเรื่องเพื่อให้คนเห็นภาพรวมแบบครบถ้วน เสร็จแล้วค่อยไปอ่านคอนเทนต์ต่อ มันจึงเป็น visual anatomy มากกว่าอินโฟกราฟิก” SORA ชวนเราแยกความแตกต่างระหว่างอินโฟกราฟิกที่เราคุ้นเคยกับคอนเทนต์ในเพจ THE MEERKAT ให้ฟัง

ใครที่อ่านมาถึงตรงนี้แต่ยังไม่มีโอกาสแวะเข้าไปดูงานในเพจอย่างจริงจัง คงเผลอคิดไปไกลว่างานแต่ละชิ้นจะต้องลึกลับซับซ้อนจนอ่านยังไงก็ไม่รู้เรื่อง เราจึงขอออกตัวให้ก่อนว่าไม่ใช่เลยสักนิด! เพราะข้อมูลทั้งหมดที่ทีมงานทุกคนตั้งใจทำกันขึ้นมา แม้จะมาจากการสืบค้นละเอียดยิบจากสำนักข่าวหลายสิบแห่ง เปิดอ่านเปเปอร์อีกหลายสิบเล่ม แต่พวกเขาจะยึดมั่นคติหนึ่งอยู่เสมอไม่ว่าข้อมูลจะเยอะแค่ไหนก็ตาม เนื้อหาทั้งหมดจะต้องไม่มากเกินไป และทุกอย่างจะต้องถูกจัดเรียงให้สื่อสารออกมาเข้าใจง่าย ครบ จบในภาพเดียว

“อีกสิ่งที่ทำให้เราไม่เหมือนสื่ออื่นๆ คือภาพบางภาพที่เราทำจะมีความเซอร์เรียล เอาเข้าจริงเราคงไม่สามารถไปถ่ายภาพอะไรแบบนี้ในชีวิตจริงได้อยู่แล้ว มันเลยทำให้เราไม่สามารถนิยามตัวเองว่าเป็นสำนักข่าวได้ เพราะถ้าทำข่าวจริงจังนักข่าวจะต้องไปเก็บฟุตเทจที่สถานที่จริง แต่ทุกอย่างในเพจนี้เราสร้างมันขึ้นมาเอง

“ตอนเราทำเรื่องสิ่งของจำเป็นสำหรับพระสงฆ์ เราก็ขึ้นไปสัมภาษณ์พระที่เชียงใหม่จริงๆ แต่กลับมาเราก็เอารูปมาแต่งให้มันไม่เหมือนจริงอยู่ดี เพราะเราอยากให้คนเห็นภาพในสิ่งที่เราเล่าชัดๆ แล้วเราก็อยากให้มันสนุกกว่าข่าวทั่วไปด้วย” DAVID กล่าว

SORA เสริมต่อขึ้นมาทันทีว่า เพราะพวกเขาไม่ได้อยากเป็นนักข่าวยังไงล่ะ

“เราแค่อยากเอาประเด็นที่สนใจมาชวนคนคุยต่อมากกว่า เราจะออกตัวเสมอว่าเรามีไอเดียแบบนี้ เราเลยอยากสื่อมันด้วยวิธีนี้ คุณจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ได้”

“มาดูเพจเราก็เหมือนได้ดูรายการมดดำผสมรายการ คุยกับหมอบ้าน ประมาณนั้น” DAVID เสริมพร้อมเสียงหัวเราะ

 

จุดประเด็น แล้วรอคนมาต่อเส้นให้เป็นรูปเป็นร่าง

ถามว่าทั้งอ่านเปเปอร์ ตามเก็บรีเสิร์ช กว่าจะได้ข้อมูลมาเขียนสักบรรทัดนั้นเหนื่อยไหม เหล่าเมียร์แคตตอบเป็นเสียงเดียวกันเลยว่า “มาก”

“เราทำงานกันนานมากนะ กว่าจะเป็นวิดีโอแต่ละชิ้นเราอ่านหนังสือกันเป็นวันๆ อย่างตอนทำเรื่อง 6 ตุลาฯ พูดได้เลยว่าอ่านหนังสือจนแทบอ้วก” DAVID อธิบายจนเราเห็นภาพ

“ล่าสุดเรากำลังจะอ่าน medical journal กันแล้วเพราะจะทำเรื่องวัคซีนโควิด-19” TIZood สมทบ

แต่เมื่อถามว่ายากไหม พวกเขาก็ตอบเราได้ทันทีอีกเช่นกันว่า ‘ไม่’ แถมยังบอกอีกว่านี่เป็นเรื่องที่สนุกมากๆ ด้วยซ้ำ

“อาจเพราะเรื่องราวในเพจเป็นเรื่องที่เราชอบอยู่แล้ว แค่เรื่องที่เราชอบมันอาจจะเนิร์ดหน่อย เป็นเรื่องสังคม การเมือง และเทคโนโลยีเท่านั้นเอง ซึ่งเราว่าด้วยเนเจอร์ของเด็กสถาปัตย์ เรามักจะสนใจเรื่องคนและสังคมกันอยู่แล้วเพราะต้องสังเกตคนเวลาออกแบบบ้าน สิ่งนี้ก็เหมือนกัน แค่เปลี่ยนจากการสนใจคนในมุมตึกรามบ้านช่องมาเป็นคนในมุมสังคมจริงๆ แทน

“ถ้าสังเกตดูจะพบว่าประเด็นที่เราสนใจอาจจะไม่ใช่ประเด็นที่อยู่ในกระแสหลักร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างเรื่องการเมืองเราก็หยิบเรื่องบ้านสี่เสาเทเวศร์มาเล่า หรือพูดเรื่องนายก 40 คนแทนที่จะเล่าเรื่องการเมืองตรงๆ ไปเลย” SORA อธิบาย

ภาพหมู่นายกรัฐมนตรีไทยทุกสมัยพร้อมสัญลักษณ์แสดงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยของนายกฯ คนนั้น เช่น การรัฐประหารหรือยุบสภา

นี่คือสิ่งที่ทีมเมียร์แคตเรียกว่าการสร้างจุดเชื่อม เพราะพวกเขาหวังว่าจากข้อมูลหนึ่งชุดที่พวกเขาสร้างขึ้นจะทำให้คนอ่านเกิดความสงสัยใคร่รู้เรื่องราวอื่นๆ ที่เกี่ยวโยงกันในจักรวาลนั้น จนเริ่มต้นออกไปหาข้อมูลด้วยตัวเอง และสามารถนำข้อมูลชุดอื่นๆ ของเรื่องมาปะติดปะต่อจนเกิดเป็นภาพใหญ่ที่ชัดเจนยิ่งขึ้นได้

“เราทำหน้าที่เป็นคนสร้างจุดเริ่มต้นให้ แต่การลากเส้นต่อจุดเรื่องราวต้องเป็นหน้าที่ของผู้อ่าน ดังนั้นเราจะดีใจมากเลยถ้าคนอ่านไปหาข้อมูลเรื่องนี้เพิ่มเติมกันต่อเอง หรือพออ่านเสร็จ หาข้อมูลแล้วจะกลับมาแลกเปลี่ยนในเพจของเราก็ได้ เพราะบางทีเราคุยกันเองก็เบื่อเหมือนกัน

“เราพบว่ามีเรื่องอีกเยอะมากที่น่าสนใจในไทย แต่สังคมตอนนี้เรายังต้องมานั่งเถียงกันเรื่องสิทธิมนุษยชนอยู่เลย ต้องกังวลว่าทำยังไงถึงจะเอาตัวรอดในประเทศนี้ได้ เราเลยไม่สามารถถกกันเรื่องบทกวี เรื่องควอนตัมฟิสิกส์อะไรได้เลย ทั้งๆ ที่เมืองนอกเขาคุยเรื่องนี้กันเป็นปกติแล้ว เราเลยคิดว่าอย่างน้อยเราก็อยากสร้างสังคมแห่งการแลกเปลี่ยนและการถกเถียงแบบนั้นขึ้นมาในเพจของเราบ้าง” DAVID ออกความเห็น

 

เป็นเมียร์แคตก็สร้างการเปลี่ยนแปลงได้

เพื่อจะไปถึงจุดนั้นทีมเมียร์แคตเลยไม่เคยอยู่เฉย แม้จะมีงานประจำรัดตัวกันขนาดไหน พวกเขาก็ยังยืนยันกับเราว่า ในอนาคตจากแค่งานวิชวลกราฟิกและวิดีโอสั้นๆ พวกเขาก็ฝันอยากจะต่อยอดเพจไปทำคอนเทนต์ที่หลากหลายขึ้นไม่ว่าจะเป็นงานแอนิเมชั่น อัลบั้มภาพ หรืออะไรก็ตามที่อยู่ภายใต้คำจำกัดความของคำว่า visual journalism (กระซิบด้วยว่าพวกเขายินดีมากๆ ถ้าจะมีใครชวนไปร่วมสร้างสรรค์ผลงานเจ๋งๆ ด้วยกัน)

และในปีนี้ก็เตรียมจับตามองโปรเจกต์ใหญ่ยักษ์ระดับนานาชาติของพวกเขาเอาไว้ให้ดี

“เรากำลังสร้างโปรเจกต์เกี่ยวกับการเมืองร่วมกับกลุ่มศิลปิน ชื่อโปรเจกต์ว่า Lost and Found เพื่อเล่าเรื่องราวของผู้สูญหายและสูญเสียในประเด็นทางการเมืองตลอดระยะเวลา 1-2 ปีที่ผ่านมา งานนี้จะเป็น online exhibition จัดแสดงผลงานของศิลปินกว่าร้อยชีวิต โดยเราจะใช้สกิลกราฟิกที่มีสร้างสถานที่จัดนิทรรศการขึ้นมาใหม่ในเว็บ อาจจะเป็นบ้านสี่เสาเทเวศร์หรืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่เราจำลองขึ้นมา หรือที่ไหนก็ได้ โดยหวังว่าโปรเจกต์นี้จะทำให้เรื่องของผู้สูญหายไปได้ไกลในระดับประเทศ

“ที่เลือกเรื่องนี้มาทำกันเป็นโปรเจกต์ยิ่งใหญ่เพราะเราคิดว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องชายขอบของสังคมมากเลยนะ เอาเข้าจริงคนในประเทศไม่ได้สนใจเรื่องการสูญหายเลย คนจะคิดว่าหายก็หาย มึงซวยนี่ ทำบุญมาน้อย ดังนั้นถ้าเราช่วยสร้างความเข้าใจเรื่องนี้ได้บ้างก็ดีเหมือนกัน บางทีเรายังแอบคิดเลยนะว่าพะยูนยังมีคนสงสารเยอะกว่าคนเหล่านี้อีก

“เป็นความโชคดีของเราที่พอไปชวนศิลปินหลายคนคุยแล้วเขาก็สนใจ เราเลยวางแผนว่าจะจัดแสดงงานแล้วก็ขายผลงานเพื่อระดมทุนให้กับมูลนิธิผสานวัฒนธรรมที่เป็นแบ็กอัพให้กับ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน อีกที” DAVID อธิบาย

รายชื่อผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่ทีม The Meerkat ใส่ไว้ในอินโฟกราฟิกเรื่องเหตุการณ์สังหารหมู่ครั้งนั้น

แม้พวกเขาจะออกตัวอยู่ตลอดระหว่างที่คุยกันว่าพวกเขาไม่ใช่เซียนกราฟิกที่ไหน แค่มีฝีมือพอใช้ได้ตามพื้นฐานที่นักเรียนสถาปัตย์พึงมี แต่พวกเขาต่างก็เชื่อว่าสกิลในระดับพอไปวัดไปวา (ตามที่พวกเขาบอก) จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้ไม่มากก็น้อย

“เราคิดว่าถ้าเรานั่งด่าเฉยๆ อย่างเดียวมันคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงหรอก เราเลยอยากทำอะไรที่สร้างการขับเคลื่อนจริงๆ บ้าง” SORA กล่าว

“เราไม่ได้เป็นเหมือนเพนกวินหรือรุ้ง ฉะนั้นเราทำอะไรได้หรือถนัดตรงไหนเราก็อยากช่วย เอาเข้าจริงยังมีคนที่เสียสละมากกว่าเราอีกเยอะแยะเลย เราทำได้แค่นี้เราก็อยากทำให้มันดีที่สุด” DAVID สมทบ

งานประจำก็มี ทำไมถึงต้องมาจริงจังกับการทำอะไรพวกนี้ด้วย–เราสงสัย

“คงเพราะอยากให้มันจบในรุ่นเรามั้งครับ” DAVID ตอบพร้อมรอยยิ้ม

AUTHOR