The Uncensored Playlist เพลย์ลิสต์เพลงป๊อปจากข่าวใน 5 ประเทศที่ห้ามพูดความจริง

Highlights

  • Reporters Without Borders (RSF) พบว่ายังมีประชากรในโลกมากกว่าครึ่งที่ยังเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร พวกเขาจึงอยากสนับสนุนให้สื่อมีเสรีภาพในการทำงานข่าว
  • หลังจากมองหาทางหนีทีไล่ พวกเขาก็พบว่าแม้แต่ในรัฐที่จำกัดสื่อมากๆ แพลตฟอร์มที่ไม่เคยถูกจำกัดการเข้าถึงเลยคือ มิวสิกสตรีมมิง
  • ทีนี้ก็ได้เวลาที่จะเปลี่ยนนักข่าวมาเป็นศิลปิน และแปลงเนื้อหาข่าวมาเป็นเพลงป๊อปจนออกมาเป็น The Uncensored Playlist โดยมีเพลงจากสำนักข่าวประชาไทอยู่ในเพลย์ลิสต์นี้ด้วย

The Uncensored Playlist

หากคุณเห็นด้วยกับประโยคที่ว่า ‘ดนตรีคือภาษาสากล’ คุณจะเชื่อหรือไม่ว่าดนตรีไม่ได้ทำลายกำแพงภาษาเพียงอย่างเดียว 

แต่ยังทำลายกำแพงเซนเซอร์สื่อได้ด้วย

ในปี 2018 Reporter Without Borders (RSF) ได้ชวนเอเจนซีอย่าง DDB Berlin มาร่วมกันหาทางเอาชนะการเซนเซอร์ของสื่อด้วยความคิดสร้างสรรค์ เมื่อได้พูดคุยกับนักข่าวในหลายประเทศและค้นหาข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียหลายๆ ทาง พวกเขาก็ค้นพบข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งว่า แม้แต่ประเทศที่มีการเซนเซอร์สื่อมากๆ แพลตฟอร์มหนึ่งที่รอดพ้นสายตาของผู้มีอำนาจไปได้คือ มิวสิกสตรีมมิง

ดังนั้นพวกเขาเลยเปลี่ยนนักข่าวให้เป็นศิลปิน แล้วแปลงเนื้อหาข่าวที่ถูกเซนเซอร์ให้เป็นเพลงป๊อป

The Uncensored Playlist

The Uncensored Playlist

RSF เลือกนักข่าวจาก 5 ประเทศที่เคยถูกรัฐคุกคาม และดูข้อมูลว่าแต่ละประเทศมีมิวสิกสตรีมมิงอะไรบ้างที่ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ฟรีๆ จนในที่สุดก็ได้รายชื่อ 5 ประเทศที่ประกอบไปด้วยจีน เวียดนาม อียิปต์ อุซเบกิสถาน และไทย แต่นักข่าวทั้ง 5 ประเทศที่ว่าไม่ต้องทำเพลงเอง เพราะทีมงานได้เชิญชวนโปรดิวเซอร์และนักแต่งเพลงอย่าง Lucas Mayer และ Iris Fuzaro ผู้กำกับภาพยนตร์ มาแต่งเพลงและถ่ายทำกระบวนการทำงานทุกขั้นตอนใน 5 ประเทศ (โดยแอบไปประเทศต่างๆ ในฐานะนักท่องเที่ยว) เพื่อสัมผัสถึงบรรยากาศ วัฒนธรรม และเลือกใช้ดนตรีจากประเทศนั้นๆ มาประกอบในเพลง พร้อมพูดคุยกับนักข่าวถึงผลงานที่พวกเขาทำ รวมถึงจุดมุ่งหมายในการทำงาน เพื่อทำความเข้าใจไอเดียหลักที่ต้องการสื่อสารในเพลง

นอกจากจะได้รับรางวัลจากเวทีโฆษณาระดับโลกอย่าง Cannes Lions แล้ว สิ่งที่ยืนยันความสำเร็จของโปรเจกต์นี้ได้คือการที่เพลงซึ่งแปลงจากข่าวไต่อันดับขึ้น Top 10 ใน iTunes ของประเทศเวียดนามท่ามกลางศิลปินดังระดับโลก

โดยบทเพลงใน The Uncensored Playlist ไม่ได้ทำลายกำแพงการเซนเซอร์สื่อเพียงอย่างเดียว แต่ยังบันทึกเรื่องราวการถูกคุกคามเสรีภาพสื่อของนักข่าวประเทศนั้นๆ เอาไว้ด้วย

The Uncensored Playlist

I have been fighting for speaking out,
that’s why I’m here, that’s for sure.
Without freedom of speech,
nothing will be left in the civilized world.

– Chang Ping

Chang Ping เป็นนามปากกาของ Zhang Ping นักข่าวและนักเขียนชาวจีน ผู้ทำข่าวด้านสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และการเซนเซอร์สื่อในหนังสือพิมพ์ Southern Weekly หลังถูกจับกุมเขาถูกถอดจากการเป็นผู้อำนวยการข่าว ย้ายงานอยู่หลายครั้ง จนในที่สุดก็ต้องลี้ภัยไปเยอรมนี

ในฐานะนักสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพตั้งแต่เหตุการณ์เทียนอันหมิน เขายังคงยืนยันคำเดิมว่าจะทำหน้าที่สื่อต่อไป “เพราะการพูดเป็นเสรีภาพด้วยตัวของมันเอง” (Speech is freedom itself) และความเงียบจากความกลัวไม่ใช่เสรีภาพที่แท้จริง ทั้งหมดนี้ถ่ายทอดออกมาในเพลง Speech Is Freedom โดย Chang Ping และ Freedom Cage 

The Uncensored Playlist

What had happened to that kid?
The evidence is still airy.
The records are being kept
by the police and military.

– Bui Thanh Hieu

ปี 2556 Bui Thanh Hieu นักเขียนชาวเวียดนามต้องลี้ภัยไปเยอรมนี หลังจากบันทึกเรื่องราวปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนและความรุนแรงในเวียดนามในนามปากกา Nguoi Buon Gio บล็อกของเขามีผู้เข้าอ่านมากถึง 15,000 คนต่อวัน แม้ว่าจะถูกปิดกั้นจากรัฐบาลก็ตาม

ประเด็นข่าวสำคัญที่ทำให้เขาเลือกหยิบมาเล่าในเพลง When Did Do Dang Die? และ Introducing Chaos คือการทุจริตของรัฐและการไม่ให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและครบถ้วนของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงการเสียชีวิตของเด็กคนหนึ่งระหว่างถูกตำรวจควบคุมตัว

แม้เขาจะต่อสู้นำเสนอข้อมูลอีกด้านให้คนได้รับรู้กว่า 15 ปี แต่ไม่นานมานี้เขาประกาศบนบล็อกของตัวเองว่าจะเลิกนำเสนอเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐได้คุกคามครอบครัวจนแม่ของเขาในวัยแปดสิบกว่าปีต้องถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล

 

The Uncensored Playlist

Now I’ve heard there’s no need for justice.
Once you know that the law is yours.
How I wish I could stand here freely.
And not be bullied by your bribing force.

– Galima Bukharbaeva

หลังการนำเสนอข่าวการสังหารหมู่ที่เขต Andijan ในอุซเบกิสถาน Galima Bukharbaeva นักข่าวท้องถิ่นต้องจากบ้านเกิดเพื่อลี้ภัยไปยังสหรัฐอเมริกา

เพลงในเพลย์ลิสต์นี้มาจากข่าวสองชิ้นที่เธอเขียนขึ้นเพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงท่ามกลางสถานการณ์คุกคามสื่อของอุซเบกิสถาน ที่มีตัวเลขเซนเซอร์สื่อเพิ่มมากขึ้นพร้อมๆ กับการคุมขังนักโทษ โดยเพลง Dear Mr. President พูดถึงตำรวจที่ใช้ความรุนแรงแต่ไม่มีการรายงานออกมาอย่างเป็นทางการ ปล่อยให้ญาติของเหยื่อไม่ได้รับความกระจ่าง ส่วนอีกเพลงคือ A Businessman Died เป็นข่าวที่เขียนถึง Olim Sulaimanov นักธุรกิจที่ถูกผลักดันให้เข้ามาฟอกเงินโดยการสนับสนุนของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ถูกตำรวจทำร้ายโดยไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ

 

The Uncensored Playlist

These are the games of hunger.
The government proclaims.
People struggling in anger.
These are the hunger games.

– Basma Abdel Aziz

6 ปีหลังจากการปฏิวัติในปี 2554 นักข่าวอียิปต์ถูกฆาตกรรม 10 คน บรรยากาศเสรีภาพสื่ออียิปต์ปกคลุมไปด้วยม่านหมอกของความน่ากังวล และทำให้ที่นี่กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีนักข่าวกลายเป็นนักโทษสูงที่สุดในโลก พร้อมกฎหมายควบคุมสื่อที่มากขึ้นเรื่อยๆ   

ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้ทำให้นักเขียนอย่าง Basma Abdel Aziz ลดความมุ่งมั่นที่จะนำเสนอข้อเท็จจริง เธอต้องการต่อสู้เพื่อสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของคนในประเทศ เรื่องที่เธอเล่าถูกหยิบมาแปลงเป็นเพลงที่ชื่อว่า Hunger Games ซึ่งพูดถึงข้าราชการที่กลายมาเป็นคนร่ำรวย อาศัยในเมืองที่สร้างขึ้นใหม่ ในขณะที่มีคนถูกปล่อยให้อดอยากอยู่ อีกเพลงคือ Modern Ovens พูดถึงการข่มเหงและคุกคามชาวอียิปต์ที่ถูกทางการสงสัยว่าเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิม

The Uncensored Playlist

Article one hundred and twelve
makes many of us enemies.
All it takes is discussing other forms of society.
Not everyone wants the exact same thing.

– Prachatai

หลังการรัฐประหารปี 2557 ประชาไททำอินโฟกราฟิกอธิบายคดีที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายอาญามาตรา 112 เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่
21 ตุลาคม 2559 และเป็นเหตุให้นักข่าวถูกเรียกตัวไปพบทหารโดยด่วน ข่าวนี้ได้รับการแปลงมาเป็นเพลง Infographic ในเพลย์ลิสต์นี้

มาตรา 112 ไม่ได้จำกัดเพียงแค่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเท่านั้น แต่ได้กลายมาเป็นเครื่องมือทำร้ายคนเห็นต่างทางการเมือง ส่งผลกระทบต่อผู้ที่ถูกตีตราอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้เกิดกลุ่มคนที่ต้องลี้ภัยไปยังต่างประเทศ ความคิดเห็นของพวกเขากลายเป็นสิ่งที่ต้องอยู่ใต้ดิน ทั้งหมดกลายมาเป็นเนื้อเพลงในเพลง Underground Radio

AUTHOR