วันใดที่ระบบขนส่งสาธารณะเป็นทางเลือกหลักในการเดินทางสำหรับทุกคน, วันนั้นตายตาหลับ

วันใดที่ระบบขนส่งสาธารณะเป็นทางเลือกหลักในการเดินทางสำหรับทุกคน, วันนั้นตายตาหลับ

พวกเราชาวเมล์เดย์ก็มีความฝันเช่นเดียวกันครับ

‘Mayday Dream’ คือความฝันที่จะได้พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะทุกระบบให้มีประสิทธิภาพ ด้วยการสร้างความเป็นมิตรและผลักดันให้เกิดการพัฒนาโดยการมีส่วนร่วมของทุกคน เพื่อให้ทุกวันเป็นวันเมล์เดย์ หรือวันที่ขนส่งสาธารณะในบ้านเราเป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน และวันที่ระบบขนส่งสาธารณะเป็นทางเลือกหลักในการเดินทางสำหรับทุกคน

พ.ศ. 2561 จะเรียกได้ว่าเป็นปีที่ฝันของเราเหมือนเริ่มก่อตัว เริ่มเป็นก้อน ไม่ใช่แค่เมฆลอย ๆ อีกต่อไปแล้ว ปีที่แล้วเป็นปีที่เราได้พัฒนา street furniture ของรถเมล์ทั้งหมดที่ประกอบไปด้วย ป้ายรถเมล์ (ซึ่งมีชื่อเล่นที่เราเรียกกันอย่างง่าย ๆ ว่า TypeA) ศาลารอรถเมล์ (TypeB) และป้ายข้อมูลระดับย่าน (TypeC) ให้ทั้ง 3 สิ่งยกระดับคุณภาพชีวิตและยกระดับคุณภาพการเดินทางด้วยรถเมล์ของทุกคน

ตลอดหลายปีที่ผ่านมาเมล์เดย์ได้เดินทางเก็บเกี่ยวชักชวนผู้คนมาร่วมก่อร่างสร้างฝันให้เป็นจริงด้วยกัน ฝันของเราจึงไม่ใช่แค่ฝันของเรา แต่มันคือฝันของใครหลายคน ที่ฝันแบบเดียวกับเรา ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงไม่ใช่งานที่จะถูกตีตราว่างานเมล์เดย์ แต่มันคืองานของทุกคน เพื่อทุกคน

 

ป้ายข้อมูลระดับย่าน (TypeC)

จากวิกฤตขนาดตัวอักษรเล็กจิ๋ว จากวิกฤตข้อมูลเบียดแน่นติดพื้น และวิกฤตอื่นๆ อีกมากมายของป้ายนี้ ทำให้กรุงเทพมหานครตกอยู่ในสภาพไม่ต่างจากผู้ป่วย ICU ที่โดนทุกสื่อ และผู้คนมากมายในโลกอินเทอร์เน็ตรุมเร้า จนทำได้แค่แถลงข่าวประคองอาการไปวันๆ จากวิกฤตที่ทุกคนมุ่งหน้าโจมตี แต่เราเห็นว่านี่เป็นโอกาสอันดีที่กรุงเทพมหานครจะยอมให้เราพัฒนาป้ายดังกล่าว

หลังจากเกิดวิกฤตพวกเราทดลองนำข้อมูลทุกอย่างที่กรุงเทพมหานครเคยจัดเรียงอยู่ในป้ายมาลดทอน ปรับปรุง และจัดเรียงใหม่ ด้วยเวลาที่จำกัดเราจึงถือวิสาสะลงมือปรับปรุงเองไปก่อน และจัดทำแบบสอบถาม ลงพื้นที่สำรวจเพื่อหาความเข้าใจ หาปัญหา หาว่าอะไรจำเป็นหรือไม่จำเป็น พร้อมศึกษาพฤติกรรมผู้ใช้งานจนได้มากว่า 500 แบบสอบถาม ที่ทำให้เราได้เข้าใจมุมมองของผู้ใช้งานมากขึ้น

ผ่านมาหลายเดือน สายโทรศัพท์ที่คุ้นเคยจากกรุงเทพมหานครโทรมาบอกว่าจะได้แก้อีก 18 ป้าย การระดมข้อมูลกว่า 500 แบบสอบถาม กว่า 20 ชีวิตที่อาสาเข้ามา เวลาสองวันกว่าที่สละมาร่วมก่อฝันเมล์เดย์

โจทย์ใหญ่ของครั้งนี้เลยก็คือ ‘ข้อจำกัด’ อาจทำให้ป้ายไม่ตอบสนองผู้ใช้งานอีกหรือเปล่า แต่ข้อจำกัดกลับกลายเป็นความท้าทายของการออกแบบกิจกรรม ที่จะออกแบบยังไงให้ข้อมูลอันมหาศาลยังต้องถูกจัดเรียงในพื้นที่เท่าเดิม ให้ข้อมูลครบถ้วนตาม TOR (Terms of Reference ซึ่งหมายถึงข้อกําหนดของผู้ว่าจ้าง) และยังคงทำให้ป้ายย่านยังเป็นป้ายย่านต่อไป

เวิร์กช็อปครั้งนี้เมล์เดย์ขนป้ายขนาด 1 : 1 มาแจกทุกกลุ่ม ให้ทุกกลุ่มลองจัดเรียงทุกอย่างในพื้นที่จริง นอกจากนี้เมล์เดย์ยังจัดเตรียมสัญลักษณ์ ตัวอักษร และแผนที่ขนาดต่างๆ ให้ทุกคนลองเลือกจับวาง ประกอบร่าง แถมป้ายนี่ยังถูกคลุมด้วย TOR ที่ว่าจะต้องมีข้อมูลนู่นนั่นนี่เต็มไปหมด พวกเราจึงทดลองออกแบบบัตรคำข้อมูลส่วนต่างๆ เพื่อทำให้ข้อมูลไม่ตกหล่นจาก TOR

และแล้วเมื่อช่วงใกล้สิ้นปี 2561 ป้ายข้อมูลระดับย่านทั้ง 18 ป้ายก็ถูกติดตั้ง ป้ายที่นำความคิดความต้องการของทั้งผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อป และ TOR มาสอดประสานกันจนเกิดเป็นป้ายข้อมูลระดับย่านใหม่ที่ตอบโจทย์ทุกฝ่าย และที่ทุกคนได้ใช้งานกันในปัจจุบัน

 

ศาลารอรถเมล์ (TypeB)

เมล์เดย์เคยทดลองให้ข้อมูลการเดินทางบริเวณพื้นที่โฆษณาด้านหลังที่นั่งรอรถเมล์มาแล้วถึง 3 ที่ คือ 1.อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 2.โอสถศาลา 3.วัดปทุมวนาราม ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่พื้นที่ดังกล่าวให้ปรับตัวจากเชิงพาณิชย์มาเป็นพื้นที่เพื่อทุกคน แต่พอมีผู้คนมาใช้ศาลา พื้นที่การให้ข้อมูลดังกล่าวจะถูกบดบังโดยทันที และไม่สามารถให้ข้อมูลกับผู้อื่นได้

จาก 3 จุดดังกล่าวทำให้เราได้เรียนรู้แล้วว่า ศาลารอรถเมล์ไม่ใช่งานที่เราคุ้นเคย ไม่ใช่แค่งานออกแบบและจัดการข้อมูล แต่คือการเข้าใจพฤติกรรมผู้ใช้งานอย่างถ่องแท้ และออกแบบศาลาที่ตอบสนองพฤติกรรมการใช้งาน เราจึงชักชวนผู้คนมาลงมือพัฒนาศาลารอรถเมล์ให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานมากขึ้น

โจทย์คราวนี้ของเราคือพื้นที่ตลาดน้อย กระบวนการมีส่วนร่วมครั้งนี้จึงไม่ใช่แค่ช่วยกันคิด ชวนกันระดมไอเดีย แต่เราพาทุกคนไปยังศาลาตลาดน้อยเพื่อไปดูสภาพแวดล้อมจริง ไปคุยกับคนที่นั่น ไปเข้าใจบริบท ไปทดลองนั่ง ทดลองยืน ทดลองรอ ณ ตรงนั้น เพื่อเข้าใจปัญหาและความต้องการในการใช้งานศาลาด้วยตัวเอง

ศาลาที่ถูกออกแบบมาจึงเป็นศาลาที่ถ่ายทอดพฤติกรรมผู้ใช้งานในทุกจังหวะของศาลา ถึงแม้ศาลานี้จะถูกออกแบบจากพฤติกรรมผู้ใช้งาน แต่ก็ไม่ได้เป็นการยืนยันว่าศาลานี้จะตอบสนองพฤติกรรมผู้ใช้งานอย่างแท้จริง สิ่งเดียวที่จะตอบได้ว่าศาลานี้ตอบสนองพฤติกรรมผู้ใช้งานหรือไม่ คือ ‘ทดลอง’ ถ้าทดลองแล้วคุณเห็นว่าเป็นอย่างไร เราขอชวนมาร่วมออกแบบและสร้างช่วงเวลาแห่งการรอรถเมล์ที่ทุกคนต้องการได้ที่นี่ goo.gl/forms

 

ป้ายรถเมล์ (TypeA)

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ป้ายรถเมล์เป็นพื้นที่ทางการทดลองของเมล์เดย์มาโดยตลอด เป็นพื้นที่ที่เมล์เดย์กัดไม่ปล่อย ไม่ยอมให้ป้ายรถเมล์ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ครั้งนี้คือโครงการเริ่มต้นของโครงการทดลองขนาดใหญ่ 500 ป้าย ที่เริ่มต้นจาก 30 ป้ายก่อนในตอนแรก ป้ายรถเมล์เป็นพื้นที่ที่เมล์เดย์ทดลองมาแล้วถึง 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ป้ายทั่วเกาะรัตนโกสินทร์ 120 ป้าย ครั้งที่ 2 ป้ายรถเมล์ใหม่ในงาน Bangkok Design Week 2018 ที่เจริญกรุง 5 ป้าย

จากทั้ง 2 ครั้งนั้นทำให้เราได้ทราบถึงความต้องการของประชาชน ว่าต้องการสิ่งใด และมีพฤติกรรมการใช้งานป้ายอย่างไร ในตอนนั้นเราอยากให้การทดลองกลมขึ้น สมบูรณ์ขึ้น จึงจับมือกับ ThaiGa (สมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ไทย) ที่ร่วมพัฒนาโครงการนี้ด้วยกันมาตลอด และจัดกระบวนการมีส่วนร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ

ครั้งนี้เมล์เดย์เรียนเชิญเหล่าผู้เชี่ยวชาญ 2 สาขาคือ สาขาออกแบบกราฟิก และสาขาออกแบบอุตสาหกรรม มาร่วมมือกันออกแบบ ตัดโมเดลต้นแบบป้ายรถเมล์กันเลย เราเริ่มต้นด้วยการเล่าความต้องการและพฤติกรรมของผู้ใช้งานให้เหล่าผู้เชี่ยวชาญฟัง จากนั้นตามด้วยข้อจำกัดของกรุงเทพมหานครที่มีต่อป้ายรถเมล์

ด้วยข้อจำกัดที่ไม่อาจเพิ่มป้ายรถเมล์ได้ ‘ผู้เชี่ยวชาญสาขาออกแบบกราฟิก’ จึงลงมือคิดจากป้ายที่ข้อมูลมากที่สุด  และค่อยๆ นำความต้องการต่างๆ ของหลายภาคส่วนมาร้อยเรียงลงไปบนป้ายอย่างช้าๆ เพื่อสร้างลำดับการใช้งานป้าย และสมดุลของข้อมูลกับขนาดพื้นที่สุดแสนจำกัด

คำถามสั้นๆ ที่ว่า ‘คนควรเห็นอะไรเป็นสิ่งแรก’ คือจุดเริ่มต้นของการออกแบบ การเรียงลำดับการรับรู้ของผู้ใช้งานป้ายจึงเป็นประเด็นหลักที่เราคำนึงถึง จากบนลงล่างอะไรควรมาก่อนมาหลัง อะไรควรเห็นได้ตั้งแต่ในระยะใกล้หรือไกล บริเวณที่บอกเลขสายรถเมล์จึงถูกขยายให้ใหญ่และสูงขึ้นเพื่อให้คนมองเห็นได้จากระยะไกลขึ้น ไม่ต้องมามุงที่ป้าย ช่วยเปิดพื้นที่ให้คนที่ต้องการข้อมูลที่ลึกมากขึ้นอย่างเส้นทางการเดินรถหรือแผนที่เดินเข้ามาดูใกล้ ๆ

นอกจากนี้เรายังให้ความสำคัญกับรายละเอียดเล็กๆ อย่าง ‘You Are Here’ ที่จะทำให้ผู้ใช้งานใช้งานป้ายได้รวดเร็วขึ้น

ก่อนลงมือ ปัจจัย ข้อจำกัด เงื่อนไข ต่างๆ นานาถูกร่ายออกมาเพื่อกำหนดโจทย์และทิศในการออกแบบ ก่อนที่ ‘ผู้เชี่ยวชาญสาขาออกแบบอุตสาหกรรม’ ทั้ง 4 ท่านจะลงมือร่างแบบเชิงโครงสร้างบนข้อจำกัดของโครงป้ายเดิม ว่าจะต่อยอดไปได้ไกลขนาดไหนโดยที่ยังต้องคำนึงถึงการดูแลรักษาระยะยาว การผลิตที่ง่ายต่อการผลิตทีละมากๆ ออกแบบวิธีการติดตั้งที่ต้องง่ายและแข็งแรงบนโครงสร้างเดิม และการออกแบบที่ต้องคำนึงถึงทุกคนที่ใช้ทางเท้าร่วมกัน

‘การให้ผู้ใช้งานเรียนรู้น้อยที่สุด’ คือความตั้งใจหนึ่งในการออกแบบของผู้เชี่ยวชาญ ผลงานที่ออกมาจึงเป็นการเก็บลักษณะความโค้งมนบริเวณด้านบนสุดของป้ายไว้ เพราะความโค้งมนเป็นอีกหนึ่งภาพจำของป้ายรถเมล์ไทย ซึ่งประเด็นนี้ก็เป็นที่ถกเถียงกันอยู่นานว่าเราจะคงความโค้งมนไว้ หรือเราจะคำนึงถึงการผลิตที่ง่าย ถ้าหากด้านบนของป้ายเป็นสี่เหลี่ยมก็จะลดเวลาในการผลิตและลดการทิ้งเศษวัสดุ แต่ท้ายที่สุดเมื่อตั้งต้นที่ผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง การคงความโค้งมนด้านบนไว้น่าจะเป็นมิตรที่สุด เนื่องด้วยข้อมูลที่มหาศาลกับพื้นที่อันจำกัด การออกแบบป้ายส่วนล่างให้ลาดเอียงจึงช่วยเพิ่มพื้นที่การให้ข้อมูลและยังเป็นการออกแบบที่เป็นมิตรกับผู้ใช้งานด้วย เพราะเวลาคนเราจะอ่านสิ่งใด มักเอียงสิ่งนั้นให้มีองศารับกับสายตาเสมอ

กว่า 3 ปีที่ผ่านมา ป้ายรถเมล์ที่เราทุกคนร่วมประคบประหงมกันมาตลอดก็เติบโตและค่อยๆ สมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ ใกล้เคียงกับความฝันมากขึ้นทุกที ตอนนี้ป้ายรถเมล์ใหม่ติดตั้งแล้ว 30 จุด กระจายตัวออกไปใน 4 ย่านทั่วกรุงเทพฯ คือ เจริญกรุง สยาม รัตนโกสินทร์ และจตุจักร และน่าจะได้ขยายตัวออกไปเรื่อยๆ จนครบทั่วทั้งกรุงเทพฯ ในเร็ววัน

 

ฝันเมล์เดย์

ตลอดปีที่ผ่านมาหลายคนคงมองว่าเมล์เดย์เดินไวและมาไกลมาก แต่หากถอยออกมามองในภาพใหญ่อีกนิด ผลงานทั้งหมดที่ทุกคนและเราร่วมกันสร้างมาตลอดหลายปี อาจไม่ใช่สิ่งที่สมบูรณ์แบบที่สุด ถึงแม้เราจะชักชวนทุกคนมาร่วมเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา แต่พวกเราก็เป็นเพียงผู้ใช้งานกลุ่มเล็กๆ ไม่อาจจะเป็นกลุ่มตัวอย่างที่แทนความคิด แทนความรู้สึก แทนพฤติกรรมของทุกคนได้ แต่ถ้ายิ่งเมล์เดย์เดินคนเดียวคงมาไม่ถึงวันนี้ และวันหน้าก็คงไม่ถึงจุดที่ฝันไว้

ทั้งหมดที่ผ่านมาเป็นเพียงแค่องค์ประกอบเล็กๆ ในการก่อร่างสร้างฝันเมล์เดย์ ฝันของพวกเรายังอีกยาวไกล อย่าเพิ่งทิ้งกันไปไหน อยู่ช่วยกันสร้าง ช่วยกันพัฒนา เพื่อให้เมืองของเราเป็นเมืองที่น่าอยู่มากขึ้นไปด้วยกันนะครับ

AUTHOR