ป้ายรถเมล์โฉมใหม่ในย่านเจริญกรุงที่จะได้เห็นในงาน Bangkok Design Week

โลกขับเคลื่อนไปสู่วันที่ดีขึ้น ด้วยคำถามที่ว่า ‘มันจะดีกว่านี้ได้ยังไง’

หลังติดตั้งป้ายรถเมล์รอบเกาะรัตนโกสินทร์ไปเมื่อปลายปี 2560 หลายคนมองว่าเป็นงานที่ประสบความสำเร็จ แต่เมล์เดย์มองว่าภารกิจเปลี่ยนป้ายรถเมล์ที่เราวางไว้เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น เมื่อเป้าหมายไม่ได้เป็นเพียง ‘การมีอยู่’ ของป้ายรถเมล์ในกรุงเทพฯ แต่เป็นการสร้างสรรค์สิ่งที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ ต่างหาก

ป้ายแรกที่เราเริ่มต้นทดลองทำไปเมื่อปีที่แล้วนั้นมีโจทย์สุดหินคือ ‘ข้อจำกัด’ ทั้งงบประมาณ เวลา และพื้นที่ เราจึงพยายามรวบรวมเสียงตอบรับ ขอความคิดเห็นจากคนหลายๆ กลุ่มให้ได้มากที่สุด เพื่อนำมาปรับปรุงรูปแบบของป้ายรถเมล์ให้ดีขึ้นกว่าเดิม

คราวนี้โอกาสดีมาถึงเร็วกว่าที่คิด ในนามของ ‘เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ (Bangkok Design Week 2018)’ เราจึงได้ทีขนไอเดียที่มี ปัญหาที่พบจากการทำงานครั้งก่อนมาต่อยอดเพื่องานนี้โดยเฉพาะ แน่นอนว่าเราจะไม่ทำงานนี้คนเดียว แต่จะชวนใครต่อใครมาร่วมด้วยช่วยกันเหมือนเคย

ลงมือเปลี่ยนป้ายให้หายหลง

เมล์เดย์เชื่อในพลังของคนตัวเล็กๆ และการรับฟังเสียงของทุกคน เราจึงจัดเวิร์กช็อป ‘ออกแบบป้ายให้หายหลง’ เมื่อวันที่ 16 – 17 ธันวาคม 2560 ที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบกรุงเทพ (TCDC) เพื่อร่วมกันคิดจริง ทดลองทำจริง ว่าป้ายรถเมล์อย่างที่ทุกคนอยากเห็นและควรจะเป็นในวันนี้เป็นอย่างไร และสิ่งที่ทุกคนต้องการสำหรับการเดินทางคืออะไรบ้าง

กิจกรรมนี้ทำให้เรารู้ว่า หลายกลุ่มเห็นตรงกันว่าควรใส่ข้อมูลให้ผู้ใช้งานให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อาจเพราะรถเมล์ในบ้านเรามีรายละเอียดที่ซับซ้อน บางทีสายเดียวกัน แต่ผู้ให้บริการเป็นคนละเจ้าก็วิ่งไม่เหมือนกัน รถปรับอากาศกับไม่ปรับอากาศสายเดียวกันบางสายก็วิ่งต่างกัน ทั้งหมดทั้งมวลนี้บางปัญหาแก้ไม่ได้ด้วยการเปลี่ยนป้ายรถเมล์เพียงอย่างเดียว แต่ยังโยงใยไปถึงการวางแผนระบบขนส่งสาธารณะในบ้านเราที่ไม่เข้าใจพฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสารด้วย แน่นอนว่านี่ไม่ได้เป็นสิ่งที่เราเพิกเฉย แต่เป็นหนึ่งในเป้าหมายถัดไปที่เราอยากจะเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยในอนาคต

ตอนนี้เราต้องทำสิ่งที่ทำได้ก่อน ก็คือรูปแบบป้ายที่เหมาะกับทางเท้าบ้านเราที่เล็กและแคบ แต่ยังคงบอกข้อมูลจำนวนมากได้ หลายกลุ่มจึงเสนอให้เพิ่มพื้นที่ป้ายให้มากกว่าเพียงสองฝั่ง โดยที่ยังใช้พื้นที่บนทางเท้าให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และพยายามหาวิธีการใหม่ๆ ในการแสดงเส้นทางรถเมล์ให้คนที่ไม่คุ้นเคยใช้งานได้ง่ายขึ้น

ครั้งนี้เมล์เดย์ได้ที่ปรึกษาคนสำคัญคือ วีร์ วีรพร กราฟิกดีไซเนอร์ผู้นอกจากรักการแปะโพสต์อิทเป็นชีวิตจิตใจแล้ว ยังสนใจการพัฒนาขนส่งสาธารณะเข้าขั้นเนิร์ด อีกคนคือ เตชิต จิโรภาสโกศล ดีไซเนอร์สายมนุษยนิยม ซึ่งเราเคยร่วมงานด้วยกับทั้งสองคนเมื่อครั้งที่ทำป้ายรอบเกาะรัตนโกสินทร์มาคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด จากการถกเถียงกันอย่างเข้มข้น อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง

หนึ่งเดือนต่อมา เราได้แบบป้ายรถเมล์ใหม่ล่าสุดออกมาอย่างที่เห็น

ผลการทดลองออกแบบ

ป้ายแบบใหม่ยังคงพื้นที่ด้านบนเป็นชื่อป้าย มองเห็นเลขสายตัวใหญ่ชัดเจน แบ่งพื้นที่ป้ายออกเป็นช่องไว้เช่นป้ายแบบเดิม แต่ส่วนบนสุดของป้ายเป็นสัญลักษณ์รูปด้านหน้าของรถเมล์ ลดขนาดของคำว่า Bus Stop เน้นใช้สัญลักษณ์ภาพแทน เพื่อลดการใช้พื้นที่บนป้าย

ฝั่งข้อมูลรถเมล์แต่ละสายแม้ดูเผินๆ จะมีหน้าตาคล้ายของเดิม แต่เราปรับให้บอกข้อมูลได้มากขึ้นจาก 6 จุดสำคัญ เป็น 15 จุดสำคัญ จึงช่วยทำให้ผู้ใช้งานตัดสินใจเลือกเส้นทางได้แม่นยำขึ้นเป็นเท่าตัว ส่วนรถเมล์สายที่ขึ้นทางด่วนเราได้ลองปรับจากเดิมที่สีเส้นที่เชื่อมแต่ละจุดสำคัญเป็นสีเหลืองให้กลายเป็นเส้นสีเหลืองโยงแยกออกมาข้างๆ เพื่อให้สังเกตเห็นได้ง่ายขึ้นและไม่สับสน รู้ได้ทันทีว่ารถขึ้นทางด่วนหรือลงทางด่วนตรงไหน ซึ่งเป็นไอเดียดีๆ ที่ได้จากความคิดของหนึ่งในผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปนั่นเอง

สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาใหม่ก็คือ เรายกหนึ่งฝั่งให้เป็นพื้นที่สำหรับ Transit Map หรือแผนที่บอกเส้นทางรถเมล์แต่ละสาย แสดงจุดสำคัญที่รถเมล์สายนั้นๆ วิ่งผ่าน เทียบเคียงกันให้เห็นด้วยสีที่ต่างกันให้ผู้ใช้งานสังเกตเห็นชัดเจนว่ามีสายใดวิ่งทางเดียวกัน ไปคู่กัน สายไหนตัดตรงเข้ากลางเมือง หรือสายไหนอ้อม สายใดเชื่อมต่อกับขนส่งสาธารณะอื่นๆ พอเห็นภาพรวมของเส้นทางการเดินทาง เป็นการอุดช่องว่างของการบอกจุดสำคัญแบบเดิมที่ผู้ใช้งานต้องมานั่งเทียบเองทีละสายว่าถ้าจะไปสยามจากป้ายนี้ มีสายใดผ่านบ้าง

นอกจากนั้นยังมีดัชนีอยู่ตรงพื้นที่สันข้างฝั่งที่หันเข้าหาฟุตปาธ เป็นการพยายามใช้พื้นที่แคบๆ ให้เป็นประโยชน์ด้วยการไล่เรียงจุดหมายปลายทางที่สามารถนั่งรถเมล์จากป้ายนี้ไปถึงได้ตามลำดับตัวอักษรจาก ก-ฮ แล้วบอกข้อมูลสายรถเมล์ต่อท้ายแต่ละสถานที่ ส่วนสันข้างฝั่งตรงข้ามที่หันออกสู่ถนน ซึ่งยากต่อการมองเห็น เราจึงยกให้เป็นพื้นที่สำหรับโฆษณา ให้คนที่สัญจรผ่านไปมาบนท้องถนนได้เป็นผู้รับชมแทน

อีกอย่างที่เราภูมิใจนำเสนอก็คือ แนวคิดการทำ ‘รหัสป้ายรถเมล์’ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการก้าวสู่สังคมดิจิทัลที่เราต่างใฝ่ฝัน การกำหนดรหัสประจำป้ายจะช่วยให้การติดตาม ตรวจสอบป้ายรถเมล์ หรือเก็บรวบรวมข้อมูลการใช้งานเป็นไปได้ง่ายขึ้นมาก เพราะเรารู้ดีว่าในอนาคต ป้ายรถเมล์จะต้องถูกทำให้เป็นดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ การเตรียมพร้อมตั้งแต่เนิ่นๆ ย่อมเป็นการปูทางที่ดีสำหรับการพัฒนาในลำดับต่อไป ประเด็นนี้วีร์กล่าวเสริมว่าการออกแบบรหัสป้ายรถเมล์ไม่จำเป็นต้องมุ่งแก้ไขเพียงระบบขนส่งสาธารณะเพียงอย่างเดียว แต่สามารถคิดควบคู่ไปกับการใช้ชีวิตด้านอื่นๆ ได้ด้วย เช่น รหัสไปรษณีย์ในลอนดอนที่ใช้ตัวอักษรและเลขควบคู่กันทำให้บอกชื่อเมืองและเขตที่อยู่ได้อย่างชัดเจน เราอาจนำแนวคิดนั้นมาใช้กับป้ายรถเมล์ในเมืองไทยได้เช่นกัน

ป้ายในฝัน

ในแบบร่างแรกๆ เรารวมถึงผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปต่างเห็นตรงกันว่าป้ายรถเมล์ควรมีแสงไฟ นอกจากเหตุผลด้านการใช้งานที่ช่วยทำให้สวยงาม สะดุดตาขึ้นแล้ว ยังมีงานวิจัยที่สนับสนุนว่าแสงไฟในพื้นที่สาธารณะตอนกลางคืน ช่วยให้คนรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น และช่วยลดอาชญากรรมได้ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณและการติดตั้งในระยะทดลอง ไอเดียการนำแผงโซลาร์เซลล์เล็กๆ มาติดด้านบนของป้ายรถเมล์เพื่อเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าเลยมีอันต้องพับไปก่อน แต่รับรองได้ว่าเราจะยังผลักดันให้เกิดขึ้นต่อไปแน่นอน รวมถึงอีกหลายๆ ไอเดียที่อาจจะยังประกอบเข้ากับบริบทในทุกวันนี้ไม่ได้เต็มที่ เราเชื่อว่ามันจะไม่สูญเปล่า แต่จะเป็นพื้นฐานในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงต่อไป

“สิ่งสำคัญคือการพัฒนาอย่างเป็นลำดับขั้น จากความเคยชิน ค่อยๆ คลี่คลายออกมาเป็นแนวทางใหม่ๆ ในการสื่อสารกับคนในสังคมไทย เช่นเดียวกับการที่เรารู้ว่าตัวอักษรไม่มีหัวประหยัดหมึกกว่า เรียบง่ายกว่า ออกแบบได้ประหยัดพื้นที่มากกว่า แต่การหักดิบใช้ตัวอักษรเหล่านี้บนป้ายเลยทันที โดยที่คนยังไม่เข้าใจ จะทำให้การเปลี่ยนแปลงที่เราคาดหวังไม่อาจเกิดขึ้นจริงๆ ได้ เราเชื่อว่าความค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไปเป็นหนทางที่ยั่งยืนที่สุด” เตชิตกล่าวถึงการเลือกใช้ตัวอักษรบนงานออกแบบป้าย และน่าจะหมายถึงการออกแบบสิ่งที่เป็นสาธารณะอีกหลายอย่างในประเทศไทย ที่ต้องอาศัยเวลาในการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับพฤติกรรมผู้ใช้งานมากที่สุด

ทั้งหมดทั้งมวลที่เมล์เดย์ทำมาอาจไม่ใช่คำตอบตายตัวว่านี่คือทางแก้ปัญหาขนส่งสาธารณะที่ถูกต้องที่สุด แต่เป็นอีกหนึ่งคำถามที่เราอยากชวนทุกคนมาหาคำตอบให้หลากหลายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ว่าป้ายรถเมล์ของเราทุกคนจะดีขึ้นกว่านี้ได้อย่างไร ขนส่งสาธารณะที่ทุกคนอยากเห็นเป็นแบบไหน

AUTHOR