“การได้ลองทำอะไรหลายอย่างมันก็ดี” อุทิศ เหมะมูล

ชื่อของ อุทิศ เหมะมูล ถูกพูดถึงในแวดวงวรรณกรรมไทยจนเราคุ้นหูกันดี จากหลายบทบาทที่เขาทำในช่วง
10 ปีหลังมานี้ ไม่ว่าจะในฐานะนักเขียนซีไรต์ หนุ่มผู้มีสไตล์เล่าเรื่องและภาษาสุดซับซ้อนจากนวนิยายปฐมบทในซีรีส์ไตรภาคของเขา
ลับแลแก่งคอย ที่เราติดใจจนต้องรอคอยผลงานใหม่ของเขาที่ทยอยออกมาสร้างแรงสั่นสะเทือนในใจคนอ่านได้อยู่ตลอด
เป็นผู้ร่วมโปรเจกต์ทางวรรณกรรมของทั้งไทยและต่างประเทศก็บ่อยครั้ง ยังไม่นับงานบรรณาธิการนิตยสาร ไรท์เตอร์ ที่เขาเคยรับผิดชอบเป็นเวลา
2 ปีต่อจากบินหลา สันกาลาคีรี และถ้าใครเป็นเพื่อนกับเขาในโลกออนไลน์
ช่วงนี้ก็อาจได้เห็นภาพวาดพอร์ตเทรตลายเส้นของเขาสลับกับภาพมื้ออาหารแกล้มเบียร์ที่นักเขียนหนุ่มรื่นเริงอยู่เกือบทุกวัน

อาจกล่าวได้ว่าชีวิตในวัย 40 ต้นๆ
ของอุทิศนั้นมีที่ทางชัดเจน
และกำลังเก็บเกี่ยวผลผลิตจากสิ่งที่เขามุ่งมั่นทำมาตลอด แต่เมื่อมองย้อนกลับไป การที่เด็กหนุ่มต่างจังหวัดอายุ
15 จะค้านเสียงพ่อดุด่าแล้วเดินในเส้นทางสายศิลปะที่เขาเลือกก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และยังต้องพิสูจน์ว่าอยู่รอดได้จริงด้วยการกระโดดไปทำงานสร้างสรรค์แทบจะทุกวงการตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ
ทั้งงานภาพยนตร์ โฆษณา เขียนบทวิจารณ์วรรณกรรมหรือแม้แต่เป็นดีเจเปิดเพลง อุทิศบอกกับเราว่าทั้งหมดก็ช่วยฝึกถ่ายทอดทักษะศิลปะที่ตัวเองถนัดได้ดีขึ้น
และพอได้ทดลองทำอะไรหลายๆ อย่าง ก็เป็นโอกาสดีที่จะคลายข้อสงสัยว่าตัวเองเลือกมาถูกทางแล้วจริงๆ

“ในวัยเด็กเราทะเยอทะยานวิ่งออกไปหาสื่อต่างๆ
ที่จะเอาก้อนความคิดที่เรามีไปใส่ เราใช้เวลาตอนเรียน จนเรียนจบมา 3 – 4 ปี
ไปทำงานสื่อศิลปะหลายๆ อย่าง แล้วก็พบว่าธรรมชาติของสื่ออย่างภาพยนตร์มันไม่ตรงกับเรา ถ้าไอเดียสุดยอดที่เราคิดมามันหลุดจากมือไปเป็นอะไรสักอย่างที่เราไม่ต้องการ
เราจะมองงานนั้นยังไง สุดท้ายเราก็ค่อยๆ
ถอยกลับมาหาสื่อที่เล็กและง่ายที่สุดก็คือการเขียนหนังสือ มีแค่กระดาษกับปากกา
มันบริสุทธิ์ ตรงไปตรงมา และไม่ต้องทำอะไรมากกว่านั้น
การเขียนหนังสือก็คือการยุ่งอยู่กับกิจกรรมศิลปะ
และดีตรงที่เราได้นั่งอยู่คนเดียวโดยไม่ต้องมีเสียงใครมาบอกว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้นะ”

“ทั้งๆ ที่ตอนเราเรียนอยู่ เราก็มองหางานที่ได้เงินตลอดนะ
แต่มันเป็นส่วนที่เอาเข้ามาช่วยให้เกิดสภาพคล่องในชีวิตเพื่อจะทำงานสร้างสรรค์ของตัวเองต่อไป
ความรู้สึกว่าจะต้องทำงานศิลปะที่ตัวเองภูมิใจมันรุนแรงมากจนความเย้ายวนของความมั่นคงในชีวิตไม่เคยเอาชนะเราได้เลย เราเลยคิดว่าเราใช้ชีวิตช่วงวัยรุ่นได้ดีพอสมควร
กล้าเอาตัวเองไปเปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ ในที่สุดมันก็จะกลายเป็นความทรงจำชิ้นหนึ่งในหลายๆ
ชิ้นของชีวิตเรา”

“ชีวิตวัยรุ่นจะคุ้มค่ามากถ้าคุณไม่ปิดตัวเองและรีบตัดสินตั้งแต่แรกว่าจะทำอะไร
แต่ยังไม่ทันใช้ศักยภาพของตัวเองเต็มที่ เราเป็นผู้ใหญ่ถึงได้เข้าใจว่าทำไมวัยรุ่นถึงต้องไร้สาระหรือหยิบโหย่ง
แต่มันก็เป็นธรรมชาติของวัยเขาที่จะสนใจอะไรหลายๆ อย่าง สิ่งที่จะทำให้การทดลองของวัยรุ่นไม่สะเปะสะปะไปมากนัก
คือให้มองเห็นว่าทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเป็นกระบวนการที่เรากำลังเดินมุ่งหน้าไปหาจุดที่เราตั้งใจจะเป็น”

“เหมือนอย่างที่เราเลือกศิลปะ
และศิลปะก็คุ้มครองเรามาตลอดและล้มลุกคลุกคลานมาด้วยกัน มันมีทั้งช่วงเวลาที่จะเป็นจะตาย
เจ็บปวด ไม่มีใครเข้าใจ หรือช่วงที่มีความสุข หวานชื่น แต่เราเชื่อในสิ่งที่เราเชื่อมาตั้งแต่อายุ
12 – 13 ปี ยังมองเห็นสิ่งนั้นและยังอยู่ด้วยกัน”

“และตอนนี้ศิลปะก็ตอบแทนชีวิตเราได้ดีทีเดียวล่ะ”
นักเขียนหนุ่มในกรอบแว่นกลมสีชาทิ้งท้ายแล้วยิ้มให้กับเรา

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ขอบคุณสถานที่ ร้าน IN the mood for LOVE: Sushi Bar & Bistro

AUTHOR