เส้นสายอันเป็นอิสระ ไหลลื่นไปตามความรู้สึก งานออกแบบ Installation ที่ครั้งหนึ่งเคยทำให้ศิลปินระดับโลก และการทดลองดีไซน์บนเครื่องมือใหม่ๆ อาจเป็นเอกลักษณ์ที่ใครหลายคนจำได้จากงานของ Akaliko หรือ ภูมิ-ภาสกร นนทนานันท์
สำหรับใครที่ยังไม่รู้จักเขา เราขอแนะนำให้ฟังอย่างย่นย่อว่า ภาสกรคือศิลปินไทยที่ย้ายไปทำงานอยู่ในนิวยอร์กมานานกว่า 5 ปี ปัจจุบันเขาทำงานในสตูดิโอศิลปะสื่อใหม่ (New Media) ที่ทำงานหลากหลายรูปแบบ นอกจากนั้น นอกเวลางาน เขายังเป็นศิลปินแนว Experimental Visual Art ที่ชอบทดลองทำงานศิลปะของตัวเองผ่านเครื่องมืออันหลากหลาย
หากให้นิยามงานศิลปะของภูมิ มักเป็นงานโมชันดีไซน์ที่นำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาผสมผสานกับเครื่องมือดั้งเดิม เช่น การวาดรูป มาสร้างสรรค์งานใหม่ซึ่งฉายผ่านสื่อที่หลากหลาย เขาเคยผ่านงานมาแล้วหลายรูปแบบ ตั้งแต่วิชวลประกอบทัวร์ Ankh: Unveiled คอนเสิร์ตของ Nicole Moudaber ดีเจชื่อดังในอเมริกา ไปจนถึง Magical Portal ซึ่งเป็น Interactive Installation ในคอนเสิร์ตของ แจ็คสัน หวัง ที่ศิลปินตัวจริงยังต้องมาเช็กอิน
“ชื่อ Akaliko มาจากการไปบวชที่วัดป่าแห่งหนึ่งเกือบ 3 เดือน ผมเคยท่องคำนี้ในบทสวดแล้วถูกใจ เพราะมันแปลออกมาได้ว่า ‘ไม่จำกัดด้วยกาลเวลา’ ซึ่งผมอยากให้ดีไซน์เป็นอย่างนั้น อยากให้ดูได้เรื่อยๆ ไม่จำกัดเวลา อินเทรนด์เสมอ” ภูมิผู้อยู่อีกซีกโลกหนึ่งเล่าให้เราฟัง เราพบกันตอนกรุงเทพฯ กำลังเข้าสู่ช่วงค่ำ ส่วนนิวยอร์กกำลังเช้าตรู่
ชีวิตศิลปินในอเมริกาของภูมิต้องเจอกับอะไรบ้าง และการอยู่ในเมืองใหญ่ที่ถือว่าเป็นหนึ่งในฮับที่เป็นจุดกำเนิดของศิลปะหลายแขนง ส่งผลต่อตัวตนและการทำงานของเขาอย่างไร ให้บทสนทนาของ Artist’s Talk ตอนนี้ไปหาคำตอบกัน
คุณเริ่มสนใจศิลปะตั้งแต่ตอนไหน
ตอนเรียนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตอนแรกผมเข้าเรียน Interior Architecture ในโปรแกรม School of Architecture and Design เพราะเราชอบวาดรูป ชอบงานศิลปะโดยทั่วไป คิดว่าน่าจะเรียนสถาปัตย์ได้ แต่พอเข้าไปปีแรก เราได้เรียนร่วมกับเพื่อนอีกหลายภาควิชา มีเพื่อนสนิทคนหนึ่งเรียน Communication Design ทำให้เราได้ไปช่วยงานเขา ทำงานสต็อปโมชัน ถ่ายวิดีโอ ทำกราฟิก ช่วยไปช่วยมาก็รู้สึกว่าอยากทำสายนี้ เป็นการค้นพบตัวเองตอนนั้น
Communication Design ในที่นี้คือ Fine Arts (วิจิตรศิลป์) ที่ไม่ได้เน้นเครื่องมือ ภายใน 4 ปีที่เรียนมหาวิทยาลัยคือการพัฒนาความคิด คอนเซปต์ โดยไม่จำกัดสื่อ พอเรามีไอเดียเราค่อยเอามาทดลองกับสื่อต่างๆ ซึ่งสื่อที่ผมเลือกคือ Time-based Media ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอหรือโมชันกราฟิก
เสน่ห์ของ Time-based Media ที่คุณมองเห็นคืออะไร
ผมคิดว่าเวลาเป็นสื่อกลางที่มีความน่าสนใจ เรานำเสนอช่วงๆ หนึ่งของกาลเวลา ซึ่งประกอบด้วยจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของช่วงเวลานั้นๆ และระหว่างนั้นมันก็มีการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ ทำให้งานมีความเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาที่นำมาเสนอ
ความจริงแล้ว ตอนเรียนผมทดลองทุกอย่างที่เป็น Time-based และไม่ใช่ Time-based เช่น Installation ที่มีวิดีโอหรือโมชันกราฟิกเข้าไปเกี่ยวข้อง มีหนังสั้น และ Stop Motion ที่เพนต์ด้วยมือทีละเฟรม ลองเครื่องมือทุกอย่างเพราะอยากสำรวจตัวเองไปเรื่อยๆ พอร์ตโฟลิโอหลังจากเรียนจบเลยมีงานแทบทุกประเภท
พูดตรงๆ งานเราไม่ได้มีสกิลโดดเด่น เลยอยากเข้าไปทำงานประจำเพื่อพัฒนาฝีมือ หลังเรียนจบเรายื่นพอร์ตฯ ไปหลายที่มาก จนมีโปรดักชันเฮาส์แห่งหนึ่งชื่อ Decide Kit ในกรุงเทพฯ สนใจอาร์ตเวิร์กและสไตล์ของเรา ผมทำงานที่นั่น 2 ปี เลยได้พัฒนาสกิลดีไซน์ขึ้นมาจนอยู่ในระดับที่โอเค แล้วก็ลาออกมาบวชอยู่ 3 เดือน ก่อนจะออกมาเป็นฟรีแลนซ์ในฐานะ Motion Designer ระหว่างนั้นก็พัฒนางานอาร์ตของตัวเองไปด้วย และมีโอกาสทำงาน Installation Art ไปจัดโชว์ในแกลเลอรีเล็กๆ
แล้วฟรีแลนซ์ไทยไปทำงานที่อเมริกาได้อย่างไร
ผมรู้สึกสนุกกับการรับงานนอกและทำงานของตัวเองไปพร้อมกัน ช่วงปี 2014 ผมรู้สึกว่าแวดวง Experimental Art และ Live Performance มีแต่คนโคตรเจ๋งและผมนับถือทุกคน แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นกลุ่มที่เล็ก ผมอยากสำรวจสิ่งเหล่านี้ในสภาพแวดล้อมที่ใหญ่ขึ้น มันเป็นความรู้สึกว่าอยากไปต่อ มีอะไรที่อยากสำรวจมากกว่านี้
ผมจึงลองหาเมืองที่อยากไป เล็งนิวยอร์กไว้เพราะเป็นเมืองใหญ่ที่น่าสนใจและมีชื่อเสียงด้านศิลปะ เลยหาคอร์สเรียนต่อที่ต่อยอดจากสิ่งที่เคยเรียนมา ไปเจอโรงเรียนชื่อ School of Visual Arts ตอนแรกยื่นเรียนด้านวิดีโอ แต่พอร์ตฯ ของเรายังไม่มีงานด้านนี้มากพอ ตอนยื่นไปครั้งแรกเลยไม่ได้ ปีต่อมาจึงยื่นเข้าเรียนด้าน Computer Art ซึ่งตรงสายกว่า สุดท้ายก็ได้เข้าเรียน
ผมเข้าไปเรียนด้วยความตั้งใจว่าอยากลองเครื่องมือที่ไม่เคยลอง ซึ่งหลักๆ คือการสร้างงาน 3 มิติและการใช้การเขียนโคดแบบครีเอทีฟ (Creative Coding) หลังจากนั้น งานของผมจึงมีความเป็นโมชันดีไซน์ 3 มิติมากขึ้น ส่วน Creative Coding ก็เข้ามาช่วยเรื่องงานคราฟต์ งานดีไซน์ รวมถึงงาน Installation ที่มีส่วนที่ตอบโต้กับผู้ใช้ (Interacitve)
พอได้ไปอยู่นิวยอร์กจริงๆ นิวยอร์กที่คุณได้สัมผัสเป็นอย่างไร
คนทั่วไปมักมองว่านิวยอร์กเป็น House of the World ในหลายๆ อย่าง รวมทั้งศิลปะและดีไซน์ จริงในส่วนหนึ่ง แต่ก็มีความเซอร์ไพรส์หลายอย่าง สำหรับผม นิวยอร์กค่อนข้างเป็น Love-hate Relationship
ตอนอยู่ไทยเราเผชิญกับรถติดที่กรุงเทพฯ เป็นปัญหารายวัน เราก็บ่นไปเรื่อย แต่พอมาอยู่ที่นี่เราก็ช็อกเหมือนกัน เพราะรถไฟใต้ดินก็มาไม่ค่อยตรงเวลา เชื่อถือไม่ค่อยได้ ถนนก็ขรุขระ หรือสัญญาณโทรศัพท์ก็ไม่ได้ดีขนาดนั้น (หัวเราะ) ที่นี่ถึงจะเป็นที่สุดของโลกแต่ก็มีเรื่องช็อกหลายอย่าง เวลามีคนมาถามผมว่าคุณเคยอยู่กรุงเทพฯ แล้วมาอยู่ที่นี่ คุณรู้สึกยังไง ผมก็ตอบเขาไปว่า Feels like home
ในขณะเดียวกัน ในปีที่ผมไป แวดวง Experimental Art และ Live Performance ที่นิวยอร์กก็ใหญ่กว่าไทย ไม่ว่ามันจะเฉพาะกลุ่มแค่ไหน มันก็ยังมีกลุ่มคนที่ชื่นชมและสนับสนุนแวดวงนี้ให้ยั่งยืนและพัฒนาต่อไปได้ นิวยอร์กเป็นเมืองที่สนับสนุนแวดวงเหล่านี้ได้ดีมาก
สนับสนุนอย่างไร
มันมีงานโชว์และงานแสดง (Performance) ที่มีคนดูอยู่ตลอด อาจเพราะค่าครองชีพของเขาค่อนข้างสมเหตุสมผล ทุกคนที่ไปดูก็จะสนับสนุนค่าตั๋วหรือค่าอะไรก็แล้วแต่ เพราะฉะนั้น ศิลปินที่ไปโชว์ก็จะได้รับค่าตัวเพื่อที่จะนำมาประทังชีวิตต่อได้ ผมว่าแวดวงเหล่านี้มีพื้นที่ให้เติบโตมากกว่าที่กรุงเทพฯ ณ ตอนที่ผมอยู่ ไม่ใช่ตอนนี้นะครับ ตอนนี้แวดวงที่กรุงเทพฯ น่าจะดีขึ้นเยอะแล้ว
ตั้งเป้าหมายแต่แรกเลยไหมว่าอยากทำงานที่นั่น
ตั้งไว้ว่าอยากสำรวจสิ่งใหม่ไปเรื่อยๆ และสัมผัสประสบการณ์ในฐานะศิลปินและดีไซเนอร์ในเมืองนี้ ไม่ได้ตั้งว่าอยากทำงานอะไรที่นั่นขนาดนั้น แต่พอมาอยู่ที่นี่ก็ได้งานพอดี เพราะตอนปิดเทอมซัมเมอร์ ผมได้เข้าไปฝึกงานในสตูดิโอศิลปะสื่อใหม่ (New Media Art Studio) ชื่อ Volvox Labs หลังเรียนจบจึงได้เข้าไปทำงานที่นั่น
สิ่งที่สตูดิโอของเราทำนั้นกว้างมาก เรารับงานแทบทุกอย่างตั้งแต่ Motion Design, Interactive, Installation, Sound Design, งาน 3D Printing และ เลเซอร์คัต เราทำทั้งหมดเลยในสายที่เกี่ยวกับ Art Installation
ตำแหน่งที่เข้าไปทำงานคือ Motion Designer ทำอยู่ราว 2 ปีครึ่งก็ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น Art Director หลายแบรนด์อาจใช้ตำแหน่งนี้จัดการเรื่องแบรนด์ดิ้งหรือกราฟิกดีไซน์ แต่สิ่งที่ผมทำจริงๆ ในบริษัทนี้คือ Motion and Content Design Director ดูแลเรื่องงานออกแบบโมชันและออกแบบคอนเทนต์ทั้งหมดของบริษัท
Credit: Volvox Labs Studio
ความสนุกของการทำงานที่นี่คืออะไร
ตอนแรกไม่ได้คิดว่าจะทำแล้วอยู่ที่นี่ยาวขนาดนี้ แค่คิดว่าอยากมาเรียนรู้ แต่บริษัทนี้เป็นบริษัทที่ค่อนข้างเปิดกว้างและเหมาะกับคนรุ่นใหม่ เขาจะสำรวจทุกความเป็นไปได้และเปิดให้ทดลองเครื่องมือใหม่เรื่อยๆ
ภายในเวลา 5 ปี ผมได้เรียนรู้สิ่งใหม่เยอะมาก ได้ผสมผสานศิลปะ เทคโนโลยีและงานคราฟต์ของเราเรื่อยๆ เป็น 5 ปีที่ไม่เคยได้หยุดเรียนรู้ในเชิงเครื่องมือและคอนเซปต์เลย เพราะทุกโปรเจกต์ของเราจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เครื่องมือที่ใช้ก็อาจเป็นของใหม่ แบบที่เราต้องมาเริ่มจากศูนย์
ในเชิงหนึ่ง ผมรู้สึกว่าการทำงานที่บริษัทนี้เหมือนการเรียนมหาวิทยาลัย เพราะเรามีอิสระที่จะสำรวจคอนเซปต์และเครื่องมือได้เรื่อยๆ แต่งานที่ทำออกมามันคืองานของลูกค้าจริงๆ
เท่าที่เคยทำงานมา มีโปรเจกต์ไหนที่คุณภูมิใจที่ได้ทำเป็นพิเศษไหม
มี 3 โปรเจกต์ ถ้าจะเอาที่คนไทยรู้จักก่อน โปรเจกต์แรกคือ Interactive Installation ของ Jackson Wang คือแจ็คสันเขามาทัวร์คอนเสิร์ตที่อเมริกา เราก็ทำลิฟต์อินเทอร์แอ็กทีฟ (Interactive Elevator) ให้เขา
Jackson Wang ชอบทำมิวสิกวิดีโอแบบเอาตัวเขาไปอยู่ในโลกนู้นโลกนี้ แล้วมันจะมีลิฟต์ที่อยู่ในเอ็มวีหนึ่ง เขาอยากได้ลิฟต์นี้ไปตั้งเป็น Installation ให้แฟนคลับเข้าไปเล่นก่อนที่จะเข้าคอนเสิร์ต เราเลยสร้างเป็นลิฟต์ที่ใช้แบ็กกราวนด์ของเอ็มวี 3 ตัวมาใช้เป็นพื้นหลัง นี่เป็นโปรเจกต์ที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จ Jackson Wang ก็ได้มาดูและเข้ามาเล่นในลิฟต์ด้วย เขายังนำไปใช้ในทัวร์ทั้งที่นิวยอร์กและแอลเอ เป็นงานที่ทั้งสนุกและลูกค้าแฮปปี้
Credit: Volvox Labs Studio
Credit: Volvox Labs Studio
โปรเจกต์ที่ 2 ที่อยากพูดถึงคือ Concert Visual ของ Nicole Moudaber ซึ่งเป็นดีเจเทคโนมิวสิกที่อยู่ในวงการมานาน เราได้ร่วมงานกับเขา 3 ครั้งใหญ่ๆ ทุกครั้งที่เขามาทัวร์นิวยอร์ก เราสร้าง Concert Visual ที่พัฒนาเรื่องราวมาจากตัวเขา ซึ่งสามารถนำมาใช้ใหม่ได้ทุกครั้งที่เขามาแสดงที่นิวยอร์ก ซึ่งครั้งล่าสุดเขาได้ไปจัดที่ The Brookyn Mirage ซึ่งถือเป็นไนต์คลับที่ใหญ่ที่สุดในย่านบรูกลิน
Credit: Volvox Labs Studio
โปรเจกต์ที่ 3 เป็นโปรเจกต์ส่วนตัว ปีที่แล้วผมได้ไปแสดง Live Audio Visual ที่ซานฟรานซิสโก เป็นวิชวลที่มีคอนเซปต์พูดถึงการเยียวยาตัวเอง เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่หลายคนอยากเยียวยาจากโควิด ซึ่งแม้ว่ามันจะผ่านเราไปนานแล้ว แต่เรารู้สึกว่ามันมีอะไรบางอย่างที่ยังติดอยู่กับเรา ผมเลยทำโปรเจกต์นี้ขึ้นมาเพื่อสะท้อนความคิดที่ติดมาตั้งแต่ช่วงโควิด
ในฐานะคนที่ทำงานมาแล้วทั้งสองประเทศ สังคมการทำงานที่นิวยอร์กกับที่ไทยต่างกันอย่างไร
ที่นี่ค่อนข้างกล้าแสดงออก (Expressive) ผิด ถูก เราพูดออกมาชัดเจน ไม่มีการเม้มอะไรทั้งสิ้น ถ้าเพื่อนร่วมงานไม่เห็นด้วยเขาก็จะบอกชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยเพราะอะไร ผมเลยรู้สึกว่างานที่ออกมา สุดท้ายแล้วผลลัพธ์ของมันเป็นสิ่งที่ทุกคนแฮปปี้และประสบความสำเร็จ เพราะมันมีการถกเถียงกันชัดเจนว่าจะทำงานนี้ให้ไปสุดได้ยังไง
ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าหรือคนในทีมตำแหน่งเล็กใหญ่ ทุกคนมีสิทธิ์พูดได้หมด อย่างงาน Jackson Wang ตอนที่เราทำมีคอนเซปต์ส่วนหนึ่งที่คนในทีมรู้สึกว่าไม่เมกเซนส์หรือไม่ได้เล่าเรื่องอะไรเลย เราเลยกลับมานั่งคิดใหม่ในทีมว่าจะทำยังไงให้มันเมกเซนส์ ให้แฟนๆ ที่เขาเข้ามารู้สึกว่านี่คือ Jackson Wang Experience จริงๆ พอหลังจากถกเถียงกัน งานมันก็พัฒนาเยอะขึ้นมาก เพราะคนในทีมช่วยกันจุดประเด็นนี้ขึ้นมา
ตอนที่ผมเข้าไปทำงาน ผมรู้สึกว่าโห ทุกคนกล้าพูดขนาดนี้เลย เรามาจากกรุงเทพฯ เราก็จะสงวนท่าทีของตัวเองนิดหนึ่ง แต่พอผ่านไป 2 – 3 ปี เราจะรู้สึกว่าถ้าเราไม่พูดเลย เขาจะคิดว่าเราไม่มีไอเดียหรือเปล่า ทั้งๆ ที่เราโตมากับสภาพแวดล้อมที่ชินกับแบบนี้
การทำงานที่นี่ทำให้ผมรู้สึกว่า จริงๆ แล้วคุณค่าของความคิดมันไม่ได้อยู่ที่ผู้นำคนเดียว ถ้าทุกคนในองค์กรคิดเป็นหมด งานในทุกส่วนมันจะออกมาดีกว่าเดิมแน่นอน นี่คือประเด็นที่ใหญ่ที่สุดในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในการทำงาน
5 ปีที่อยู่นิวยอร์กช่วยเชปตัวตนหรือแนวทางการทำงานของคุณบ้างไหม
จริงๆ ตอนที่เรียนอยู่เป็นช่วงเวลาที่ผมคิดว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัย ทุกคนสนับสนุนสิ่งที่เราอยากทำ เรามีอิสระที่จะแสดงออก ซึ่งผมคิดว่าเป็นส่วนที่ดี
แต่พอมาทำงานจริงๆ แล้ว มันก็เป็นอีกสไตล์หนึ่งเพราะงานที่มีลูกค้า สุดท้ายแล้วมันก็ต้องมีการหาจุดตรงกลางร่วมกัน ถึงแม้ว่าเราบอกว่าตัวเองสร้างงานศิลปะ ทำงานในสตูดิโอศิลปะ แต่มันต้องพบกันครึ่งทาง ลูกค้าต้องแฮปปี้ และเราก็ต้องแฮปปี้ด้วย เพราะเราก็มีส่วนคราฟต์มันขึ้นมา
Credit: Volvox Labs Studio
ความท้าทายที่สุดของการทำงานเป็นศิลปินที่นั่นคืออะไร
มี 2 เรื่องหลัก เรื่องแรกคือ ถึงแม้ว่าอเมริกาจะดูเหมือนเป็นประเทศที่มีอิสระ พูดอะไรก็ได้ แต่สุดท้ายมันก็มีเทรนด์ในวงการ ความท้าทายคือเราจะทำยังไงที่เราจะคงความเป็นตัวเองอยู่ อีกเรื่องคือจะปรับตัวเองให้เข้ากับเทรนด์ได้โดยไม่ไปก๊อบปี้งานที่อยู่ในเทรนด์นั้น
สำหรับคุณ คุณค่าของศิลปะอยู่ตรงไหน
คำตอบของผมอาจไม่ถูกต้อง เป็นแค่ความรู้สึกส่วนตัว
ผมรู้สึกว่าศิลปะและงานออกแบบเป็นความรู้ที่จะพัฒนาไปเรื่อยๆ ตามกาลเวลา คุณค่าของมันคือการทำให้คนรุ่นต่อไปได้คิดต่อ สำรวจต่อ สร้างเป็นมูฟเมนต์ต่อไป เป็นการพัฒนาความคิดเหล่านี้ต่อไป ผมไม่ได้มองว่างานที่ไม่เคยมีคนมอง ไม่ได้ดัง หรือไม่ได้สร้างเงินในตอนนี้ มันเป็นงานที่ไม่มีค่า ผมคิดว่าทุกอย่างคือวัตถุดิบให้คนรุ่นต่อไปหรือคนในอนาคตได้นำไปคิดต่อและสานต่อสิ่งเหล่านั้น
Credit: Volvox Labs Studio
บทเรียนสำคัญที่คุณได้เรียนรู้ในฐานะศิลปินไทยในนิวยอร์กคืออะไร
สิ่งที่สำคัญที่สุดและยึดอยู่เสมอจนถึงทุกวันนี้ คือเราไม่สามารถที่จะหยุดเรียนรู้ได้ เราควรเรียนรู้ต่อไปเรื่อยๆ ในทุกทาง ทั้งเชิงคอนเซปต์ ความคิด เครื่องมือในการคราฟต์งาน และเรียนรู้สังคม
เพราะเราไม่ได้เป็นคนที่นี่ เราจะมีจริตและความคิดของเราที่แตกต่างอยู่เสมอ และเครื่องมือใหม่ๆ เปลี่ยนไปทุกวัน ดังนั้นเราต้องเรียนรู้ตลอดเวลาในทุกสถานการณ์ ถ้าเราหยุดเรียนรู้เราจะตามคนอื่นไม่ทัน สำคัญกว่านั้นคือ เราจะทำยังไงที่จะกลมกลืนไปกับที่ที่เราอยู่ ในขณะเดียวกันก็ยังคงความเป็นตัวเองอยู่
ถ้ามีคนมาขอคำแนะนำว่าอยากไปทำงานที่นิวยอร์กบ้าง คุณจะให้คำแนะนำเขาว่าอะไร
คนที่ตั้งใจจะอยู่นิวยอร์ก สุดท้ายแล้วก็จะได้อยู่นิวยอร์ก แต่ต้องมีความตั้งใจ นิวยอร์กเป็นเมืองที่ถ้าคุณไม่ขวนขวาย ไม่ออกไปตามหาสิ่งที่คุณต้องการ ไม่ออกไปตามหาเป้าหมายของคุณ คุณก็จะไม่ได้รับสิ่งเหล่านั้น เพราะฉะนั้น ถ้าใจคุณต้องการอยู่ที่นี่ และตัวคุณทำสิ่งเหล่านั้น สุดท้ายมันก็จะสะท้อนกลับมาหาคุณ
เพราะนิวยอร์กเป็นเมืองที่มีโอกาสอยู่รอบตัว คุณต้องออกไปใช้ชีวิต ออกไปคว้ามัน