Every Thing We Touch โปรเจกต์ภาพถ่ายที่ชวนไปรู้จักคนผ่านของที่ ‘จับ’ ใน 1 วัน

every thing we touch

ช่วงที่ผ่านมา ผมได้อยู่บ้านยาวๆ เลยถือโอกาสจัดบ้านสักหน่อย ทุกครั้งที่จัดบ้าน ผมจะมีช่วงเวลาที่ชอบเป็นพิเศษคือตอนที่ได้เอาข้าวของทั้งหมดออกมากองรวมกันเพื่อเตรียมจัดเก็บเข้าไปใหม่ให้เป็นที่เป็นทาง โมเมนต์นี้เหมือนเป็นโอกาสที่เราจะได้ ‘รีวิว’ ชีวิตผ่านข้าวของจากช่วงเวลาต่างๆ ตั้งแต่เด็กจนโต

ผมพบว่าข้าวของในแต่ละช่วงชีวิตคือสิ่งที่สามารถบอกเล่าตัวตนในช่วงเวลานั้นๆ ของเราได้ดีมาก ของเล่นในลังนั้นบอกว่าครั้งหนึ่งเราเคยสนุกกับจินตนาการขนาดไหน กล่องเหล็กบรรจุดินสอ EE บอกว่าครั้งหนึ่งเราเคยเป็นเด็กที่มีความฝันอยากเรียนคณะศิลปะ กล้องถ่ายรูปฝุ่นจับตัวนั้นย้อนภาพตัวเราตอนมหา’ลัยกลับมาอีกครั้ง และเมื่อกวาดตามองโต๊ะที่ผมกำลังนั่งพิมบทความนี้ แล็ปท็อป สมุดปฏิทิน เก้าอี้แก้ปวดหลัง ไปจนถึงข้าวของบนเตียง เหล่านี้คงเป็นสิ่งที่บอกถึงตัวผมในตอนนี้เช่นกัน 

every thing we touch

หลายครั้งผมจินตนาการว่า หากเราจากโลกนี้ไปแล้วมีใครสักคนเข้ามาเห็นข้าวของทั้งหมดของเรา เขาจะเห็นตัวตนของเราเป็นยังไงและจินตนาการถึงเรื่องราวชีวิตของเราออกมาแบบไหน

Can objects tell the story of our lives?

ข้าวของบอกเรื่องราวชีวิตของเราได้รึเปล่า ?

คือคำถามที่ Paula Zuccotti เขียนไว้บนหน้าเว็บไซต์ของเธอ พอลล่าเป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์ เธอเคยทำงานในหน่วยรีเสิร์ชพฤติกรรมและคาดการณ์เทรนด์เพื่อวางกลยุทธ์พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้กับแบรนด์ระดับโลกมากมายไม่ว่าจะเป็นไนกี้ อิเกีย และสตาร์บัคส์

งานของเธอทำให้พอลล่ามีโอกาสสำรวจเส้นความสัมพันธ์ที่เชื่อมระหว่าง ‘ข้าวของ’ กับ ‘ผู้คน’ คนมีปฏิสัมพันธ์กับของยังไง? ข้าวของแต่ละอย่างมีความหมายยังไงกับมนุษย์? อะไรคือความหมายที่อยู่ลึกลงไปในของใช้แต่ละอย่าง ในด้านสังคม วัฒนธรรม และการบริโภค? ความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคืออะไร? นี่คือคำถามที่เธอต้องใช้เป็นประจำเมื่อทำงานหลัก

แต่ในอีกด้านพอลล่ายังเป็นช่างภาพและคนทำหนัง ในบทบาทนี้ เมื่อมองไปยังสิ่งของ คำถามของเธอเรียบง่ายกว่าเวลาทำงานประจำมาก เธอแค่อยากรู้ว่าวันวันหนึ่งคนเราหยิบจับอะไรบ้างตั้งแต่ลืมตาตื่นจนถึงเข้านอน และ ‘หนึ่งวัน’ ของเราจะหน้าตาเป็นยังไง หากมองมันผ่านสิ่งของทั้งหมดที่เราหยิบถือ

every thing we touch

ของเธอ ของฉัน

‘Every Thing We Touch’ คือโปรเจกต์ที่พอลล่าทำขึ้นเพื่อตอบคำถามเล็กๆ นี้ของตัวเอง เธอออกเดินทางไปรอบโลกเพื่อพบปะผู้คน 62 คนที่ต่างวัย ต่างภาษา ต่างฐานะ คละแบ็กกราวนด์  ตั้งแต่เด็กนักเรียนในดูไบ แดร็กควีนกลางแยกชิบูย่า ลุงคาวบอยในอเมริกา ไปจนถึงอาม่าจากเซี่ยงไฮ้ 

สิ่งที่พอลล่าขอให้พวกเขาทำเรียบง่ายมาก เธอขอให้พวกเขาจดบันทึกและเก็บข้าวของทุกอย่างที่แต่ละคนสัมผัสหรือหยิบจับในหนึ่งวันเอาไว้ ไม่เว้นแม้แต่ของชิ้นเล็กๆ ที่ดูไม่ได้สลักสำคัญอย่างตั๋วรถไฟหรือใบเสร็จ (จะมีข้อยกเว้นก็เพียงของที่ติดตั้งไว้กับสถานที่อย่างลูกบิดหรือสวิตช์ไฟ​ และข้าวของชิ้นใหญ่ เช่น รถยนต์) พร้อมกำชับว่าขอให้จดแบบเรียงตามลำดับเวลาตั้งแต่ลืมตาตื่นถึงเข้านอน และขอให้ซื่อสัตย์กับตัวเองมากที่สุด 

พอลล่าขอให้ทุกคนนำข้าวของมามอบที่สตูดิโอที่เธอเช่าไว้ในแต่ละประเทศที่ไปเยือน จากนั้นเธอก็ตั้งกล้อง กางฉากสีขาว และบันทึกภาพข้าวของในชีวิตของแต่ละคนลงในภาพถ่าย 1 ใบ โดยจัดวางเรียงลำดับตามเวลาที่ของแต่ละชิ้นถูกสัมผัสในหนึ่งวัน ก่อนจะส่งมันกลับคืนเจ้าของ

every thing we touch
every thing we touch

ท้ายที่สุด ภาพถ่ายข้าวของจากคนทั่วโลกก็ถูกบรรจุรวมอยู่ในหนังสือชื่อ Every Thing We Touch : A 24-Hour Inventory of Our Lives และเว็บไซต์ everythingwetouch.org 

เมื่อไม่เห็นหน้า เราจึงรู้จักกันผ่านข้าวของ ภาพถ่ายแต่ละใบเหมือนเป็นประตูที่นำพาเราเข้าไปในชีวิตมนุษย์ที่เราไม่รู้จักจากทุกหลืบมุมของโลก หนึ่งวันของแดร็กควีนในโตเกียวเริ่มด้วยเครื่องสำอาง ชุดลายสัตว์ วิกผมหลากสี พู่ขนนก และรองเท้าส้นสูง, หนึ่งวันของนักเรียนในดูไบไม่มีอะไรแตกต่างจากนักเรียนทั่วไป แต่สิ่งที่สะดุดตาคือใบไม้แห้งหลายใบที่ชวนให้อยากรู้ว่าเธอหยิบมันขึ้นมาทำอะไร, หนึ่งวันของนักยิมนาสติกในเซี่ยงไฮ้ดูเหมือนจะประกอบด้วยชุดกีฬาและอุปกรณ์กายกรรม แต่หากมองดีๆ ของที่เขาสัมผัสเป็นสิ่งสุดท้ายของวันคือจอยเกมเพลย์สเตชั่น, หนึ่งวันของนักออกแบบเทคนิคพิเศษในหนังชาวอาร์เจนตินาเต็มไปด้วยผิวหนังปลอม อวัยวะปลอม แผลปลอม และชุดบอดี้สูท, หนึ่งวันของแม่ชีที่อยู่ในช่วงจำศีลในสเปนมีเพียงเสื้อผ้า รองเท้า และกระเป๋าสตางค์

พอลล่าเรียกสิ่งที่ตัวเองกำลังทำว่า ‘Future Archeology’ หรือโบราณคดีแห่งอนาคต–ในขณะที่นักโบราณคดีและนักมานุษยวิทยาขุดค้นข้าวของมาศึกษาเพื่อทำความเข้าใจว่าคนในอดีตคิดยังไง อยู่ยังไง กินยังไง ทำอาหารยังไง เล่นยังไง สิ่งที่พอลล่าทำกลับกัน เธอบันทึกชีวิตของคนในวันนี้ใส่ ‘ไทม์แคปซูล’ ในรูปแบบภาพถ่ายเพื่อส่งมันไปให้คนในอนาคตเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับคนรุ่นเรา

สำหรับผม ภาพถ่ายในโปรเจกต์ Every Thing We Touch ให้ความรู้สึกไม่ต่างจากการดูหนังสารคดีชีวิตคน (แม้จะไม่เห็นคนสักคนในภาพ) วัดเอาจากสิ่งที่หยิบจับ เราเห็นทั้งชีวิตคนที่ใกล้เคียงกับเรา และหลายชีวิตที่ต่างจากเราลิบลับ ของบางชิ้นที่ใครคนหนึ่งหยิบจับทุกวัน อาจกลายเป็นของประหลาดเมื่อมองผ่าน ‘เลนส์’ ของคนอื่น ในทางกลับกันของบางชิ้นที่เราเห็นแล้วต้องงงว่า ‘ใช้ทำไร’ อาจเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อใจจนประเมินค่าไม่ได้ในสายตาของผู้เป็นเจ้าของ

สำหรับพอลล่า เธอบอกว่าหากจะมีบทเรียนอะไรสักอย่างที่ตัวเธอรวมถึงคนที่เห็นโปรเจกต์นี้จะได้ไป มันคงเป็นการได้ออกจากโลกใบเล็กๆ ของเราไปมองชีวิตคนอื่น และเห็นว่าชีวิตของคนช่างเป็นสิ่งที่หลากหลายไร้แพตเทิร์น 

“ข้าวของที่เราใช้ยังไม่เหมือนกันเลย นับประสาอะไรกับความคิด ทัศนคติ ความเชื่อ” ประโยคนี้ดังขึ้นมาในหัวขณะที่ผมนั่งดูรูป 60 กว่าใบในโปรเจกต์ของพอลล่า

ในขณะที่คนนอกอย่างผมได้เห็นชีวิตของพวกเขา ในทางกลับกัน เมื่อมองจากมุมของซับเจกต์ผู้เป็นเจ้าของเรื่องราวและข้าวของ พวกเขาได้เห็นชีวิตตัวเอง พอลล่าเล่าว่าผู้เข้าร่วมโปรเจกต์หลายคนบอกว่าแม้การจดบันทึกข้าวของที่หยิบจับในชีวิตประจำวันจะดูแปลกๆ แต่มันก็เป็นโอกาสที่ทำให้พวกเขามีเวลาหยุด และทบทวนตัวเองด้วยคำถามที่ไม่ค่อยได้หยุดคิดสักเท่าไหร่ พวกเขาได้ถามตัวเองว่าของที่เรามี กิน เลือก ซื้อ ในแต่ละวัน ไปจนถึงสมบัติที่เก็บสะสมแต่ละชิ้นมีความหมายยังไงและมันสะท้อนอะไรในตัวเรา

ของสำคัญของชีวิต

โปรเจกต์ Every Thing We Touch เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2013 และจบสิ้นกระบวนการในปี 2019 ใครจะไปรู้ว่าในปีถัดมาโลกจะเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ไม่มีใครคาดถึงอย่างการระบาดของไวรัสโควิด 

มีคำกล่าวว่า “เราทุกคนตกอยู่ในพายุลูกเดียวกัน แต่เราไม่ได้อยู่บนเรือลำเดียวกัน” แม้โลกทั้งโลกจะเผชิญวิกฤตเดียวกัน แต่ต้นทุนชีวิตและสังคมที่แต่ละคนอยู่ทำให้เรารับมือกับมันได้ไม่เท่ากัน เรือเล็กอาจจมหายไปกับเกลียวคลื่น ในขณะที่เรือใหญ่อาจโคลงเคลงแต่คนในลำเรืออาจยังอยู่สบายไม่ต่างจากโมงยามปกติ ในสถานการณ์แบบนี้ พอลล่าคิดว่าน่าจะดีหากเธอนำคำถามเดิมที่เคยถามและรูปแบบโปรเจกต์ที่เคยทำมาต่อยอด เพื่อช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์ที่เพื่อนร่วมโลกกำลังเผชิญอยู่มากขึ้น–มองเห็น ‘เรือ’ ของกันและกันมากขึ้น

Future Archaeology of a Global Lockdown คือโปรเจกต์ภาพถ่ายล่าสุดของพอลล่า ด้วยข้อจำกัดที่ไม่สามารถเดินทางข้ามโลกได้เหมือนก่อน เธอเปลี่ยนวิธีการจากที่ต้องตระเวนออกไปพบผู้คนและบันทึกภาพด้วยตัวเองมาเป็นแบบ crowdsourcing หรือให้คนทางบ้านสร้างสรรค์และส่งวัตถุดิบของตัวเองเข้ามาแทน

คำถามก็เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ โดยสิ่งที่พอลล่าถามในครั้งนี้คือ “What are the 15 things that are helping you get through this?” – “ของ 15 ชิ้นที่ทำให้คุณก้าวผ่านช่วงเวลานี้ไปได้คืออะไร?”  

every thing we touch

พอลล่าเปิดโปรเจกต์ทางอินสตาแกรมด้วยการโพสต์ภาพของ 15 ชิ้นของตัวเอง ติดแฮชแท็ก #EveryThingWeTouchCovidEssentialsX15 พร้อมคำแนะนำการถ่ายภาพที่ทุกคนทำได้จากที่บ้าน ไม่นานนักภาพถ่ายกว่า 1,000 ภาพจาก 50 ประเทศทั่วโลกก็ทยอยถูกโพสต์พร้อมแคปชั่นอย่าง เพื่อเตือนตัวเองว่าฉันคือใคร, เพื่อรู้สึกมีชีวิตอีกครั้ง, เพื่อดูแลตัวเอง, เพื่อไม่รู้สึกโดดเดี่ยวจนเกินไป หรือเพื่อรู้จักตัวเองมากขึ้น

every thing we touch

หากกวาดสายตาดูในเว็บไซต์ lockdownessentials.org ที่รวบรวมภาพถ่ายจากโปรเจกต์ครั้งนี้ เราพอจะแบ่งประเภทสิ่งของที่คนส่งเข้ามาได้เป็นหมวดหมู่คร่าวๆ เช่น

  • ของที่ทำให้เราอยู่ได้อย่างอาหาร หน้ากากอนามัย หรือคอมพิวเตอร์แลปท็อป
  • ของที่เรารัก เช่น ตุ๊กตาหรือของสะสม
  • ของที่ทำให้บรรยากาศในบ้านรื่นรมย์ขึ้น เช่น ต้นไม้หรือเทียนหอม
  • ของที่ทำให้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว เช่น หนังสือ เน็ตฟลิกซ์ หรือเครื่องดนตรี
  • ของที่ทำให้เราสามารถคลายทุกข์และช่วยหลบลี้หนีจากชีวิตแย่ๆ ชั่วคราว เช่น ยานอนหลับหรือแอลกอฮอล์

ที่น่าสนใจคือในบรรดาภาพที่คนส่งมา หากเทียบระหว่างของที่มีฟังก์ชั่นทางกายกับของที่มีความหมายต่อใจ ของอย่างหลังดูเหมือนจะมีเปอร์เซ็นต์เยอะกว่าด้วยซ้ำ

พอลล่าบอกว่างานของเธอ ในฐานะนักรีเสิร์ชสำหรับอนาคตนั้นวนเวียนอยู่กับการเฝ้าถามคำถามเกี่ยวกับอนาคตมากมายเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่นในอนาคต การเงินในอนาคต หรือการอยู่อาศัยในอนาคต ทว่าในคำถามนั้นมันซ่อนความจริงเอาไว้อย่างหนึ่งนั่นคือ “เราไม่เข้าใจปัจจุบัน” การได้มองข้าวของในชีวิตของตัวเองผ่านเลนส์ คงเป็นโอกาสที่เราจะได้เห็นชีวิตปัจจุบันของตัวเองมากขึ้นท่ามกลางความขมุกขมัว และเป็นหนึ่งในวิธีที่ทำให้ก้าวไปสู่อนาคตอย่างมั่นคงมากขึ้น

แล้วคุณล่ะ มีคำตอบในใจหรือยังว่าของ 15 ชิ้นนั้นคืออะไร

อ้างอิง

everythingwetouch.org

lockdownessentials.org

paulazuccotti.com

AUTHOR