“เราอยากระเบิดมายาคติเรื่องอีสาน” The Isaan Record สื่อที่เล่าเรื่องลาวอีสานแบบลึกและจริง

ในฐานะสื่อที่เป็นกระบอกเสียงให้กับชาวอีสานมาเกือบสิบปี นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการทําบล็อกเพื่อสื่อสารเรื่องราวในพื้นที่อีสานโดยชาวต่างชาติ สํานักข่าวอย่างเดอะอีสานเรคคอร์ดกลายมาเป็นสื่อท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์ ด้วยการนําเสนอเนื้อหาแบบข่าวเชิงลึกผ่านข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ และการลงพื้นที่พูดคุยกับผู้คน ที่สําคัญคือเป็นน้ําเสียงที่มาจากคนอีสาน ไม่ขึ้นตรงกับความต้องการของสื่อใหญ่ที่ไหน

เนื้อหาหลักใหญ่ที่เดอะอีสานเรคคอร์ดนําเสนอคือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอีสาน โดยเฉพาะประเด็นคนชายขอบ สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม ประชาธิปไตย การเมืองทั้งระดับท้องถิ่นและประเทศ ยิ่งในปัจจุบันภาครัฐมีโครงการขนาดใหญ่พัฒนาพื้นที่ภาคอีสานซึ่งเป็นการวางผังกลยุทธ์การพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2600 ควบคู่ไปกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทีมเดอะอีสานเรคคอร์ดจึงมองว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องลงแรงแข็งขันทํางานข่าวส่งเสียงชาวอีสานที่ได้รับผลกระทบให้คนอื่นๆ ได้ยินมากขึ้น

The Isaan Record

“ประเด็นที่เดอะอีสานเรคคอร์ดตามคือโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ เราอยากนำเสนอเรื่องราวที่ชุมชนออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการรัฐ พวกเขามีเหตุผลอะไร ทําไมประชาชนถึงกังวล คนที่นี่ไม่ได้คิดแค่ระดับหมู่บ้าน แต่มีความคิดที่เชื่อมสากล พูดถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม มลพิษต่างๆ” วิส–หทัยรัตน์ พหลทัพ บรรณาธิการภาคภาษาไทยคนล่าสุดบอกกับเรา

ตามวิถีการทํางานของเดอะอีสานเรคคอร์ด พวกเขาไม่เน้นข่าวเร็วแต่ทําข่าวเชิงลึก ในขณะเดียวกันเมื่อหทัยรัตน์เข้ามารับตําแหน่งบรรณาธิการภาคภาษาไทย เธอมองว่าเดอะอีสานเรคคอร์ดจะต้องขยายการสื่อสารเป็นชุดบทความพิเศษที่มีเนื้อหาครอบคลุมหลากหลายด้าน

“เรามองว่าสื่อควรสร้างการเปลี่ยนแปลง เราเลยทําเป็นซีรีส์ให้มันลึกและขยายผลได้มากขึ้น ท้ายสุดถ้าทําอย่างต่อเนื่องอาจจะเกาะประเด็นเดียวหรือ 2-3 ประเด็นต่อปี เราเชื่อว่ามันจะนําไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายได้” เธอย้ำจุดยืนอย่างมุ่งมั่น

“อย่างกรณีที่เราทําซีรีส์เรื่องความหวานและอํานาจซึ่งพูดถึงเรื่องน้ําตาล มันสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ อย่างน้อยคนที่ตามอ่านเราก็ไม่ใช่คนในพื้นที่อย่างเดียว เพราะเราแปลสองภาษาทั้งไทยและอังกฤษ มีคนจากส่วนกลางสนใจ ตอนหลังมีนักข่าวของ Al Jazeera เอาไปผลิตต่อ สํานักข่าว Reuters สนใจอยากมาทําเรื่องอีสานจะเป็นฮับของแหล่งปลูกอ้อย”

ไม่ใช่เพียงความสนใจจากคนอ่าน แต่การนําเสนอข่าวการต่อสู้เรื่องเหมืองแร่โพแทสเซียมของชาวบ้านอําเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ของสํานักข่าวแห่งนี้ยังการันตีความสําเร็จด้วยรางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชนจากแอมเนสตี้ฯ ไปเมื่อปี 2562

The Isaan Record

จุดเด่นอีกอย่างที่ทําให้เดอะอีสานเรคคอร์ดไม่เหมือนสื่อท้องถิ่นเจ้าไหน คือการเผยแพร่เนื้อหาของนักคิดนักเขียนชาวอีสานที่เข้ามาแลกเปลี่ยนข้อมูล ตั้งคําถาม เผยแพร่ข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ของคนในพื้นที่ ซึ่งทําให้คนอ่านได้รู้รากปัญหาที่ชาวอีสานโดนกดทับอยู่ด้วย

“นักเขียนที่เราเชิญมาร่วมนําเสนอข้อมูลทั้งลุงมาโนช (มาโนช พรหมสิงห์) คุณวิทยากร โสวัตร พวกเขามีอัตลักษณ์ความเป็นลาวอีสาน ไม่ได้หวงแหนหรือเหนียมอายที่จะแสดงออก เขาต้องการให้ลาวอีสานมีตัวตนในสังคม ไม่โดนกดทับด้วยสื่อส่วนกลาง ซึ่งคนอีสานชอบมาก” หทัยรัตน์อธิบาย

“แต่อุปสรรคหนึ่งที่เราพบในการนําเสนอประวัติศาสตร์อีสานที่ไม่ได้เป็นไปในทํานองเดียวกันกับประวัติศาสตร์ที่ส่วนกลางเซตไว้คือมักจะมีคนมาคอมเมนต์ว่า ‘พวกนี้จะแยกประเทศหรือ’ หรือบอกว่า ‘พวกลาว’ ทีมงานเดอะอีสานเรคคอร์ดบอกเป็นเสียงเดียวกัน

แม้จะหลีกเลี่ยงที่ต้องเจอ hate speech ทางด้านชาติพันธุ์ไม่ได้ แต่พวกเขาก็ยังคงนําเสนอประเด็นนี้ต่อไป เพราะเชื่อว่าเดอะอีสานเรคคอร์ดจะเป็นพื้นที่ให้เกิดการถกเถียง แต่ไม่นําไปสู่ความเกลียดชังและความรุนแรง

“ท้ายที่สุดแล้วมันไม่ใช่การแยกประเทศหรอก แต่เป็นการกระจายอํานาจสู่ท้องถิ่น ไม่ผนวกรวมอํานาจไว้ที่ส่วนกลาง” บรรณาธิการภาคภาษาไทยให้เหตุผล

“นี่คือความพยายามที่จะสร้างความเท่าเทียมในชาติพันธุ์ เพราะรัฐส่วนกลางพยายามผลิตให้คนอีสานเป็นพวกด้อยพัฒนา เป็นคนจน เราพยายามให้พื้นที่สร้างความเข้าใจและการเรียนรู้ ไม่ใช่ว่าจะไปเปลี่ยนความคิดเขา แต่เป็นการเสนอทางเลือกดีกว่า อีสานไม่ได้เป็นอย่างที่พวกคุณเข้าใจหรือที่พวกคุณพยายามกดทับ แต่มันเป็นแบบนี้”

ในฐานะกระบอกเสียงของชาวอีสานที่นําเสนออีกมุมมองหนึ่งของคนในพื้นที่ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ปัจจุบัน ทีมข่าวเดอะอีสานเรคคอร์ดคิดว่าสามารถเปลี่ยนภาพจําแบบเดิมได้หรือยัง–เราถาม

“เราเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อหนึ่งว่าอยากระเบิดมายาคติที่ว่าอีสานต้องขายแรงงานให้กรุงเทพฯ เป็นคนใช้ แล้วมีคนมาคอมเมนต์ว่าชุดความคิดนี้มันคือเมื่อ 20 ปีที่แล้วนะ ตอนนี้ไม่มีใครคิดแล้ว” หนึ่งในทีมข่าวเล่า “แต่ปีที่ผ่านมาเพิ่งมีบทความที่พูดถึงอุปนิสัยชี้ชะตากรรมคนอีสานอยู่เลย มันยิ่งตอกย้ำความคิดว่ามีคนคิดแบบนี้อยู่”

แม้ความจริงข้อนี้พวกเขาจะยอมรับแต่โดยดีว่ายังไม่สามารถเปลี่ยนความเชื่อของคนนอกที่มองเข้ามาได้ แต่ไม่ได้มีเพียงเดอะอีสานเรคคอร์ดที่พยายามสร้างภาพจําใหม่ ยังมีคนอีสานและหลายองค์กรที่นําเสนออัตลักษณ์ความเป็นอีสานให้คนได้รู้จัก

“เราไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ในเร็ววันหรอก แต่มันคือการค่อยๆ หยดน้ําลงหินให้มันค่อยๆ กร่อน แล้วหวังว่าวันหนึ่งคนที่อ่านจะเข้าใจว่าความเป็นคนของเรากับเขาไม่ได้แตกต่างกัน” หทัยรัตน์ทิ้งท้ายด้วยความหวัง

The Isaan Record

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย