คุยกับเพจเขียบ เพจมุกภาษาอีสานเฉียบๆ

Highlights

  • เพจเขียบ คือเพจมุกภาษาอีสาน โดยคนอีสาน เพื่อคนอีสานและทุกคนที่สนใจและสนุกกับภาษาอีสาน ที่มีผู้ติดตามเกือบสองแสนคน เกิดเป็นคอมมิวนิตี้ของแฟนเพจทั้งคนอีสานและที่ไม่ใช่ ที่มาช่วยกันอธิบายมุกและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับคำศัพท์
  • ตูน–เธียรรัตน์ ฦๅชา เจ้าของเพจเขียบเล่าว่าจุดเริ่มต้นของเพจคืออยากดึงคำที่คนลืมไปแล้วให้กลับมาเป็นที่รู้จักมากกว่า ซึ่งการนำเสนอคอนเทนต์ผ่านเฟซบุ๊กถือเป็นช่องทางที่เข้าถึงง่ายและถือเป็นโอกาสดีในการนำเสนอภาษาถิ่นอีสาน

‘ตั้งแต่มีคนเคียงบ่าเคียงไหล่ก็ทำอะไรไม่คัก’

หากอ่านแล้วขำ แปลว่าเราเป็นคนบ้านเดียวกัน เพราะ ‘เคียง’ ในที่นี้หมายถึงเคือง ที่แปลว่าระคายหรือรำคาญ เพียงแต่ออกเสียงตามสำเนียงภาษาอีสานในบางท้องที่ ซึ่งดันไปพ้องกับคำว่า ‘เคียง’ ที่แปลว่าชิดกัน ใกล้ชิด ในภาษาไทย ประโยคข้างต้นจึงแปลว่า ตั้งแต่มีคนมา ‘อนอัว’ ก็รู้สึก ‘หนหวย’ ทำอะไรไม่คล่องตัว

โดยมุกที่ว่ามาจาก เพจเขียบ เพจมุกภาษาอีสาน โดยคนอีสาน เพื่อคนอีสานและทุกคนที่สนใจและสนุกกับภาษาอีสาน ที่มีผู้ติดตามเกือบสองแสนคน

การจะเข้าใจมุกของเพจเขียบได้นั้นไม่เพียงต้องรู้ภาษาอีสานเท่านั้น แต่ยังต้องมีคลังคำภาษาอีสานในหัวจำนวนมาก

หลายๆ มุกแม้แต่คนอีสานเองยังต้องปรบมือให้ คึดได้จังได๋วะ หลายๆ มุกก็เรียกคืนความทรงจำวัยเยาว์ ด้วยเป็นคำที่ลืมเลือนไป ไม่ได้ใช้นาน และหลายๆ มุกต้องกวักมือเรียกเพื่อนมาช่วยกันแปล

ตูน–เธียรรัตน์ ฦๅชา เจ้าของเพจเขียบเล่าว่าจุดเริ่มต้นของเพจไม่ได้เกิดจากการอยากอนุรักษ์ภาษาอีสานแต่อย่างใด เขาแค่อยากดึงคำที่คนลืมไปแล้วให้กลับมาเป็นที่รู้จักมากกว่า “อนุรักษ์คือการรักษา แต่ผมเป็นคนเลือกใช้ภาษามากกว่า เหมือนมีรถยนต์เก่าๆ อยู่บ้าน เราอาจเลือกใช้คันนี้ทุกวัน แต่ถามว่าเราอนุรักษ์คันนี้ไหม ก็ไม่ แค่ใช้มันเฉยๆ แต่ประโยชน์ที่เกิดขึ้นอาจเป็นการอนุรักษ์ด้วยก็แล้วแต่”

แล้วลึกๆ กลัวภาษาอีสานจะหายไปไหม–เราตั้งคำถาม

“ไม่กลัว เพราะถ้าเราไปในพื้นที่ชนบท ร้อยเปอร์เซ็นต์ยังใช้ภาษาอีสาน ถึงต่อให้อยู่ในเมืองก็ยังมีกลุ่มคนที่ใช้ภาษาอีสานอยู่ แค่เราไม่ได้เห็นมุมนั้นเฉยๆ เอาง่ายๆ คุณลองไปตลาด ไซต์ก่อสร้าง หรือที่ทำงานสักแห่งในกรุงเทพฯ ก็ยังมีคนพูดภาษาอีสาน ไปเมืองนอกก็ได้ยินคนพูดกัน ความเป็นอีสานมีอยู่ทุกที่”

ขณะเดียวกันเธียรรัตน์มองว่า หากถึงจุดที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคมแล้ววันหนึ่งภาษาอีสานจะหายก็หายไป แต่อย่างน้อยหากมีการใช้เทคโนโลยีบันทึกข้อมูลไว้ ต่อให้อีกหลายร้อยปีข้างหน้าก็ยังกลับมาศึกษาภาษาอีสานได้อยู่

นอกจากเพจของเธียรรัตน์แล้ว หลายคนคงเคยเห็นยูทูบเบอร์หรือแชนเนลออนไลน์อื่นๆ นำเสนอความเป็นอีสานผ่านคอนเทนต์ป๊อปๆ เข้าถึงง่ายจากคนอีสานในไทยและต่างประเทศ ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้สร้างความภาคภูมิใจให้กับเขาในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่วัฒนธรรมอีสาน

“เราอำนวยความสะดวกให้คนที่ต้องการเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ด้วยการนำเสนอผ่านเฟซบุ๊ก คนไม่ต้องเข้ามาเพื่อค้นคว้า เราฟีดคอนเทนต์ไปให้เขาเอง ถ้าเขาอยากรู้ก็กดไปดู ถ้าไม่อยากรู้ก็เลื่อนผ่าน ฉะนั้นมันเป็นโอกาสในการนำเสนอภาษาถิ่นของเรา

“ถ้าเป็นรูปแบบการนำเสนอผ่านหนัง คนอาจต้องมานั่งดูหนังเราจนจบเรื่องถึงจะรับรู้สาร แต่ของเราด้วยเทคโนโลยีมันทำให้คอนเทนต์และความรู้ต่างๆ ที่เราทำฟีดไปถึงมือเขาได้เลย เป็นความบันเทิงที่อธิบายถึงเผ่าพันธุ์และสังคมของเรา

“บางทีนอกจากคำศัพท์แล้ว เขียบยังพยายามพูดถึงบริบททางสังคมกับวัฒนธรรมอีสาน อย่างซิกเนเจอร์ที่คนจำเราได้คือเรื่องป่น ต้องห้ามใช้คำว่าคุ้ยป่น ต้องใช้คำว่าจ้ำป่นเท่านั้น ซึ่งถ้ามองลึกๆ มันบ่งบอกถึงวัฒนธรรมอีสานได้ชัดเจนมาก ทำไมเขาห้ามคุ้ยป่น เพราะมันเปลือง เราเอาเรื่องนี้มาจากนิทานก้อมเรื่องพ่อตากับลูกเขยที่ไปนาได้ปลาตัวหนึ่งมาทำป่นกิน แล้วทะเลาะกันว่าใครกินมากกินน้อย กลายเป็นประเด็นคุ้ยป่นจ้ำป่น สะท้อนให้เห็นว่าในอดีตอีสานแห้งแล้ง อาหารการกินหายาก เราต้องประหยัดอดออม คนสมัยก่อนเลยเอาปลามาป่นเพื่อจะกินได้สองคน แต่ถ้าคุณไปคุ้ยป่นก็หมดเร็ว กินข้าวไม่อิ่ม”

จุดที่น่าสนใจอีกอย่างของเพจเขียบนอกจากมุกภาษาอีสานล้ำๆ แล้ว คือคอมมิวนิตี้ของแฟนเพจทั้งคนอีสานและที่ไม่ใช่ ที่มาช่วยกันอธิบายมุกและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับคำศัพท์ ดังนั้นเวลาโพสต์มุกใหม่ๆ ทีไร ช่องคอมเมนต์จึงกลายเป็นสิ่งที่เราเลื่อนอ่านอย่างสนุกสนานด้วยทุกที

“ถ้าใครมีโอกาสลองกดเข้าไปดูคอมเมนต์ของเขียบว่าเขาคุยอะไรกัน คุณจะรู้ว่าคนอีสานมีความรู้หรือความคิดสร้างสรรค์ในการดำรงชีวิตยังไง ยกตัวอย่างเรื่องดนตรี แต่ก่อนอีสานมีแค่หมอลำใช่ไหม แต่ตอนหลังคนอีสานต้องปรับตามยุคสมัย มีหมอลำซิ่งเป็นเพลงร็อกอีสานไปเลย หรืออาหารอีสานที่สมัยก่อนเป็นร้านไก่ย่างส้มตำธรรมดา หลังๆ มีร้านอาหารอีสานสไตล์คาเฟ่ ไปกินชาบูก็มีน้ำซุปแจ่วฮ้อน เราว่าคนอีสานเก่ง ปรับตัวตามยุคสมัยได้ทันเหตุการณ์ตลอด”

ส่วนในอนาคตเพจเขียบสิปรับตัวเป็นจังได๋ เพิ่นบอกให้รอเบิ่งเด้อ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พนิดา มีเดช

กราฟิกดีไซเนอร์นิตยสาร a day ผู้มักตื่นสาย แต่หลงใหลแสงแดดยามเช้า และข้าวสวยร้อนๆ