หากเคยผ่านตาข่าวคราวของแวดวงศิลปะโลก (โดยไม่จำเป็นต้องติดตามหรือศึกษาลึกซึ้งแต่อย่างใด) น้อยคนนักที่จะไม่เคยได้ยินชื่อหรือกิตติศัพท์ความแสบสันอื้อฉาวของศิลปินจีน ‘อ้าย เว่ยเว่ย’ ผู้เชี่ยวชาญการใช้ประโยชน์จากโลกยุคอินเทอร์เน็ตเพื่อกระตุ้นความสนใจไปยังตัวเขา สร้างผลงานศิลปะที่ข้ามพรมแดนประเภทของสื่อในประเด็นที่หลากหลายกว้างขวาง และวิดีโอคือหนึ่งในเครื่องมือที่เขาใช้เพื่อสื่อสารและสร้างงานอยู่บ่อยครั้ง
ประเด็นร้อนอย่างผู้ลี้ภัยก็เป็นหนึ่งในโฟกัสหลักที่ปรากฏในงานศิลปะของเขา เช่น งานศิลปะจัดวางชื่อ Law of the Journey ที่นำเรือลมขนาด 200 ฟุตมาบรรจุหุ่นผู้ลี้ภัยไว้จนเต็ม สุมเสื้อชูชีพสีส้มที่เก็บกู้จากกรีซกว่า 3,000 ตัวจนเต็มห้องจัดแสดงที่เบอร์ลิน ห่นรูปปั้นเลียนแบบตัวเขาเองด้วยผ้าห่มฟอยล์ที่เอาไว้ให้ผู้อพยพรักษาอุณหภูมิร่างกาย และใช้ร่างกายตนเองเลียนแบบภาพเด็กชายชาวซีเรีย ซึ่งเป็นภาพโศกนาฏกรรมของการอพยพที่โด่งดังที่สุดภาพหนึ่ง, Laundromat ที่นำเสื้อผ้าและข้าวของจุกจิกที่ผู้ลี้ภัยทิ้งไว้ในค่ายชั่วคราวที่กรีซมาจัดแสดงในแกลเลอรีที่นิวยอร์ก, Walk of Compassion ที่ร่วมแสดงกับ Anish Kapoor ในการเดินเท้าเป็นระยะทาง 8 ไมล์ในกรุงลอนดอน และ Good Fences Make Good Neighbors ที่ผลงานศิลปะของเขาจะผุดขึ้นทั่วนิวยอร์กเพื่อวิพากษ์การปิดกั้นพรมแดน เป็นต้น
Human Flow คืองานที่ล่วงล้ำเข้าไปในพรมแดนของภาพยนตร์มากที่สุดในชีวิต (อ้าย เว่ยเว่ยทำงานวิดีโอขนาดยาวชิ้นแรกตั้งแต่ปี 2004 และเรื่องนี้ถือเป็นชิ้นที่ 13 ยังไม่นับรวมงานขนาดสั้นอีกจำนวนหนึ่ง) สารคดีขนาดยาวเรื่องนี้ถูกคิดและออกแบบให้เป็น ‘หนัง’ ในเซนส์ที่คนทั่วไปรับรู้และจัดประเภทไว้คนละแบบกับวิดีโออาร์ตที่จัดแสดงในแกลเลอรีหรืออีเวนต์ศิลปะ
เขาอธิบายจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์นี้ใน 3 ระดับ หนึ่งคือความรู้สึกส่วนตัวตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อพ่อแม่ของเขาถูกรัฐบาลจีนเนรเทศไปอยู่มณฑลซินเจียงในสมัยปฏิวัติวัฒนธรรม และต้องใช้ชีวิตในสภาพยากลำบากรวมถึงถูกละเมิดในทุกรูปแบบอยู่เกือบ 20 ปี สองคือการได้ใช้ชีวิตในยุโรป (ในฐานะผู้พลัดถิ่นอีกรูปแบบหนึ่ง หลังติดคุกฟรีที่จีนอยู่ 81 วัน และตัดสินใจย้ายมาอยู่เบอร์ลินหลังได้พาสปอร์ต) ที่ผลักให้เขาพยายามทำความเข้าใจวิกฤติผู้ลี้ภัยที่กำลังกลืนกินทวีปนี้อย่างรุนแรงจนต้องพาตัวเองลงไปสัมผัสพื้นที่จริงให้ได้ ซึ่งนำไปสู่ขั้นที่สามเมื่อลงมือวิจัยค้นหาข้อมูล เขาจึงต้องการลงไปบันทึกทุกพื้นที่ที่เขาสืบค้นเจอไว้ให้เป็นหนัง
“นี่คือประสบการณ์การเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ เรากำลังทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ภูมิรัฐศาสตร์ และความเปลี่ยนแปลง ทั้งทางสังคมการเมืองกับภูมิอากาศ” เขากล่าว
Human Flow จึงเป็นผลงานศิลปะเรื่องผู้ลี้ภัยที่ทะเยอทะยานที่สุดของอ้าย เว่ยเว่ยอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะทุกสิ่งที่เขาและทีมค้นพบทำให้หนังต้องใช้ทีมงานกว่าสองร้อยคนลงพื้นที่ถ่ายทำใน 23 ประเทศทั่วโลก ด้วยเป้าหมายหลักที่กว้างใหญ่ไพศาล นั่นคือการบรรจุข้อมูล อารมณ์ความรู้สึก และภาพของสถานการณ์เกี่ยวกับการอพยพลี้ภัยในทศวรรษปัจจุบัน ซึ่งเขามองว่าเป็น “ปัญหาใหญ่ที่สุดของโลกในวินาทีนี้” และเป็น “ความรับผิดชอบร่วมกันที่คนรุ่นปัจจุบันไม่อาจเบือนหน้าหนีได้” ให้ครบถ้วนในหนังเพียงเรื่องเดียวที่สามารถฉายในโรงภาพยนตร์ได้จากฟุตเทจทั่วโลกรวมกว่า 900 ชั่วโมง
หนังผสมผสานและเปลี่ยนโหมดไปมาระหว่างการเป็นสารคดีจับสังเกตในพื้นที่จริงบริเวณค่ายผู้ลี้ภัยหรือชายแดน (ทั้งจากกล้องโทรศัพท์ของอ้าย เว่ยเว่ย กล้องโดรนของทีมงานที่จับภาพมุมสูง และเหตุการณ์ที่อ้ายเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรงต่อหน้ากล้อง) การสัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยหรือคนจากหน่วยงานที่ทำงานด้านนี้โดยตรงในหลายสาขา (ซึ่งยิ่งหลีกไม่พ้นการที่แต่ละคนจะได้เวลาเพียงสั้นๆ ด้วยประโยคที่สรุปใจความกระชับ หรืออารมณ์ความรู้สึกที่ท่วมท้นในจังหวะนั้นๆ) และเชื่อมทั้งหมดเข้าหากันด้วยข้อเท็จจริงจากสถิติตัวเลข (ที่อาจทั้งชวนช็อกหรือเฉยชา) กับบทกวีหรือคำสำคัญของคนหรือหนังสือสำคัญอันว่าด้วยการลี้ภัยหรือพลัดจากถิ่นฐานบ้านเกิดของตน เพื่อให้เรื่องราวทั้งหมดดำรงอยู่ในเส้นเรื่องเดียวกัน เชื่อมโยงเข้าหากันในเชิงประเด็น และส่องสะท้อนซึ่งกันและกันในด้านความหมายกับอารมณ์ความรู้สึก
แน่นอนว่าด้วยความยาว 145 นาทีที่ถือว่ายาวมากแล้วสำหรับการฉายหนังสารคดีที่ปราศจากความตื่นเต้นและเส้นเรื่องชวนติดตามในโรงภาพยนตร์ ย่อมไม่สามารถบรรจุทุกสิ่งที่จำเป็นต่อประเด็นลงไปได้ทั้งหมด เพราะด้วยสเกลของปัญหาที่กินพื้นที่และรายละเอียดซับซ้อนอย่างกว้างขวาง ต่อให้ยาวสัก 14,500 นาทีก็คงไม่พอ (อ้ายเคยทำงานวิดีโอชื่อ Beijing 2003 ซึ่งบันทึกภาพทุกถนนและตรอกซอกซอยในเขตวงแหวนที่สี่ของปักกิ่ง สิริรวมความยาวทั้งหมด 9,000 นาที หรือ 150 ชั่วโมง) ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่ปรากฏใน Human Flow จึงยากที่จะหลุดพ้นไปจากการสรุป ‘ไฮไลต์’ ของแต่ละพื้นที่ร้อนในโลกของประเด็นผู้ลี้ภัย
ด้วยความทะเยอทะยาน กำลังคน และการทุ่มเทเวลาในสถานที่ต่างๆ ถึงผลลัพธ์สุดท้ายอาจไม่ได้เป็นอะไรที่กว้างไกลกว่าการเป็นไฮไลต์ แต่ก็ยังเป็นไฮไลต์ที่หนังน้อยเรื่องจะพาคนดูไปถึง ทั้งภาพของเรือที่บรรทุกผู้อพยพที่มาถึงชายฝั่งกรีซกับอิตาลี ผู้อพยพชาวตะวันออกกลางนับพันที่เดินเท้าข้ามพื้นที่ชนบทของกรีซไปยังชายแดนมาซิโดเนีย โดยไม่รู้มาก่อนว่ากำแพงเหล็กกับลวดหนามถูกสร้างขึ้นเรียบร้อยแล้ว จนต้องตั้งค่ายกางเตนต์กันชั่วคราวที่สถานีรถไฟบริเวณนั้น ภาพโดรนจากมุมสูงที่เผยให้เห็นสภาพพื้นที่ค่ายผู้ลี้ภัยในรูปแบบต่างๆ บทสัมภาษณ์สะเทือนอารมณ์ของหญิงวัยกลางคนที่ปล่อยโฮต่อหน้ากล้อง เด็กสาววัยรุ่นที่ระบายความรู้สึกเบื่อหน่ายในค่ายที่เยอรมนี ฝันถึงโลกกว้างของเด็กหญิงมัธยมปลายในกาซ่า ความร่วมมือระดับนานาชาติเพื่อช่วยเสือที่หลุดจากอียิปต์เข้ามาในปาเลสไตน์ให้ได้กลับสู่ผืนป่า ซึ่งแตกต่างจากมนุษย์ที่นานาชาติเพิกเฉย กองกำลังติดอาวุธและการชุมนุมประท้วงในปาเลสไตน์ หรือควันไฟที่บังแสงแดดจนมิดในเมืองหนึ่งของอิรัก หลังกองกำลังไอซิส (ISIS) จุดไฟเผาบ่อน้ำมันก่อนล่าถอยไป
Human Flow อาจพยายามอย่างถึงที่สุดแล้วในการดึงตัวเองให้หลุดพ้นจากการเป็นแค่ไฮไลต์หรือรวมบันทึกสถิติว่าด้วยผู้อพยพลี้ภัย แต่ความล้มเหลวในข้อนี้ที่หนังเผชิญอยู่ ก็คือภาพสะท้อนชั้นดีว่าปัญหาผู้ลี้ภัยนี้ยากแก่การทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในภาพกว้างมากแค่ไหน และพร้อมกันนั้นก็สะท้อนอย่างจริงจังในสิ่งที่อ้าย เว่ยเว่ยเชื่อและต้องการนำเสนอ นั่นคือคนที่ต้องพลัดถิ่นลี้ภัยเหล่านี้ได้ถูกลิดรอนความเป็นมนุษย์ออกไปจนสิ้นในทุกมิติ ข้อจำกัดในเวลาของหนังก็ไม่ต่างอะไรกับข้อจำกัดของพื้นที่สื่อ หรือหน่วยความจำในสมองของพวกเราผู้มีอภิสิทธิ์ในชีวิตเอง ไม่ว่าพวกเขาจะมีเรื่องราวชีวิตที่เข้มข้น ท่วมท้นไปด้วยอารมณ์ หรือผันผวนพลิกผันชวนสะเทือนใจเพียงใด ผู้พลัดถิ่นลี้ภัยเหล่านี้ก็ไม่อาจได้รับการเติมเต็มความเป็นมนุษย์ได้ ภายใต้นิยามและความสมบูรณ์ในแบบของภาพยนตร์
คนทำหนังที่จัดเจนกว่าอ้าย เว่ยเว่ยคงมีวิธีการขับเน้นให้ไฮไลต์เหล่านั้นสะเทือนอารมณ์ สำคัญยิ่งยวด และเก็บความให้คนดูรู้สึกครบถ้วนสมบูรณ์ได้ แต่วิธีการกับเป้าหมายของ Human Flow ที่เล่าเรื่องในภาพกว้างนั้นต่างจากสารคดีผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ที่ตระหนักดีถึงข้อจำกัดลักษณะนี้และเลือกโฟกัสไปยังพื้นที่เดียวหรือกลุ่มคนจำนวนน้อยเป็นการเฉพาะ ซึ่งสามารถไปถึงจุดสูงสุดในการเล่าเรื่องหรือพลิกแพลงวิธีนำเสนอเพื่อบันทึกอารมณ์ความรู้สึกให้ครอบคลุมได้มากกว่า และเมื่อพิจารณาถึงอุณหภูมิกับน้ำหนักของเรื่องเล่าผู้ลี้ภัยในทศวรรษปัจจุบัน ยิ่งเป็นเรื่องยากที่การรวบรวมข้อเท็จจริงและขีดเส้นไฮไลต์เรื่องราวที่อ้าย เว่ยเว่ยทำอยู่นี้จะแข็งแรงจนสามารถหลุดพ้นไปจากอิทธิพลของเส้นเรื่องที่โลกกำลังสนใจได้
สิ่งที่ภาพอันกว้างใหญ่ไพศาลของ Human Flow ทำให้เห็นคือมิติและระดับของปัญหาผู้ลี้ภัยที่ซับซ้อนจนราวกับว่าพวกเขาไม่ได้เผชิญปัญหาเดียวกันอยู่ แม้ว่าคนที่ปรากฏตัวในเรื่องจะถูกกล่าวถึงอย่างกว้างๆ ในนามของผู้พลัดถิ่นหรือผู้ลี้ภัย แต่ความแตกต่างกันในเชิงภูมิรัฐศาสตร์และรายละเอียดด้านประวัติศาสตร์สังคมการเมือง คือสิ่งที่ขับเน้นให้แต่ละพื้นที่ได้รับความสนใจ การปฏิบัติ หรือสะท้อนความรู้สึกต่อตัวพวกเขาแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง (เราสามารถพบคนที่เห็นใจชาวซีเรียไปพร้อมๆ กับสาปแช่งชาวโรฮิงญาได้บ่อยครั้งตามคอมเมนต์ใต้ข่าวในเว็บหรือเพจต่างๆ) ไม่ว่าอ้าย เว่ยเว่ยจะพยายามวางน้ำหนักของผู้อพยพจากแต่ละที่ให้เท่ากันในฐานะมนุษย์เพียงใด แต่ท้ายที่สุดแล้วปากกาไฮไลต์ของเขาก็หนีไม่พ้นความเข้มข้นของเรื่องเล่าจากซีเรียหรือตะวันออกกลาง มากกว่าอีกพื้นที่หนึ่งอย่างชาวโรฮิงญา หรือชาวแอฟริกันที่หนีภัยความอดอยากและความแห้งแล้งอันเป็นผลจากสภาพภูมิอากาศ
หนังพยายามเสนอคำอธิบายต่อความแตกต่างนี้ไว้อยู่เหมือนกัน โดยย้อนไปยังจุดเริ่มต้นของวิธีคิดว่าด้วยผู้ลี้ภัยที่เกิดจากยุโรปที่มีอิทธิพลทั้งต่อสหประชาชาติและสหภาพยุโรปจนเป็นบรรทัดฐานมาถึงปัจจุบัน ว่าก็เกิดขึ้นได้โดยมีคำอธิบายทางการเมืองชุดหนึ่งอยู่เบื้องหลัง (หนังระบุว่าเพราะผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ในช่วงเวลาดังกล่าวคือคนที่แปรพักตร์มาจากชาติคอมมิวนิสต์) ซึ่งใช้ไม่ได้ หรือไม่มีใครอยากปรับใช้เพื่ออธิบายผู้ลี้ภัยในปัจจุบันที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เพียงแต่มันไม่ได้ถูกขีดเส้นไฮไลต์มากเท่ากับส่วนอื่นๆ ของหนังเรื่องนี้ และทำให้หนังพลาดโอกาสที่จะนำเสนอว่าคำอธิบายทางการเมืองที่แตกต่างกันต่อชาวซีเรีย ชาวแอฟริกัน หรือชาวโรฮิงญา มีอำนาจและความสำคัญอย่างไรในภาพกว้างของปัญหาผู้ลี้ภัย
Human Flow ถือเป็นหนังที่ ‘มาทีหลัง’ ถ้าเทียบกับผลงานขึ้นหิ้งอันว่าด้วยผู้ลี้ภัยอื่นๆ แต่ด้วยผลลัพธ์สุดท้ายจากโครงสร้างที่อ้าย เว่ยเว่ยวางไว้ สิ่งที่หนังทำหน้าที่ได้ดีที่สุดคือการสถาปนาความรู้พื้นฐานในประเด็นผู้ลี้ภัยโดยไม่ไร้อารมณ์หรือแข็งทื่อจนเกินไปนัก ก่อนที่ผู้กระหายภาพกับเรื่องราวที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นจะสามารถต่อยอดไปสู่หนังหรือเรื่องเล่าในแพลตฟอร์มอื่นที่เจาะลึกลงไปในมิติอันหลากหลายและซับซ้อนของแต่ละพื้นที่ ซึ่งอาจจะส่งเสริมหรือขัดแย้งกับพื้นฐานที่หนังเรื่องนี้ได้สถาปนาเอาไว้ในภายภาคหน้า
FOOTNOTE:
- Human Flow เปิดตัวรอบปฐมทัศน์โลกในสายประกวดหลักของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิซ หนังไม่ได้รางวัลหลักๆ (รางวัลชนะเลิศเป็นของหนึ่งในหนังเต็งออสการ์ตอนนี้ The Shape of Water ของ Guillermo del Toro) แต่ชนะ 5 รางวัลพิเศษที่เกี่ยวข้องกับด้านสิทธิมนุษยชนมาแทน – ขณะนี้ Human Flow กำลังมีลุ้นในสาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมรางวัลออสการ์ โดยล่าสุดผ่านเข้าสู่รอบ 15 เรื่องสุดท้ายแล้ว
- Human Flow ฉายในประเทศไทยครั้งแรกที่เทศกาลภาพยนตร์ผู้ลี้ภัยครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 7 และ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา และจะเข้าฉายโรงภาพยนตร์ทั่วไปในวันที่ 21 ธันวาคมนี้
- อ้าย เว่ยเว่ย (หรืออาจเฉพาะทีมงานของเขา) ได้เข้ามาถ่ายทำ Human Flow ในประเทศไทยที่ศูนย์พักพิงผู้อพยพชั่วคราวแม่ละอูน อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และศูนย์อพยพผู้ลี้ภัยบ้านอุ้มเปี้ยมใหม่ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก แต่ได้อยู่ในหนังแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ในช่วงที่หนังไล่เรียงภาพเคลื่อนไหวของค่ายผู้ลี้ภัยจากทั่วโลกตอนท้ายเรื่อง (ชาวโรฮิงญาที่หนังสัมภาษณ์ก็อพยพไปทางฝั่งบังคลาเทศ ไม่ใช่ฝั่งอาเซียน)
- ในเอกสารสำหรับสื่อมวลชนของหนัง (อ่านได้ที่ https://www.humanflow.com/press-kit/) เขียนข้อมูลเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยในไทยไว้ย่อๆ ว่า “ประเทศไทย : ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นเป้าหมายของผู้ลี้ภัยที่หนีความรุนแรง การกดขี่ และผลกระทบร้ายแรงทางเศรษฐกิจจากเมียนมาร์ ค่ายผู้ลี้ภัยบริเวณชายแดนไทยรองรับชนเผ่าราว 102,251 คนตามรายงานของสหประชาชาติ โดยที่ 80% ของจำนวนนี้เป็นชาวกะเหรี่ยงซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกกวาดล้าง ในปี 2015 ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาหลายพันคนลงเรือมาที่ไทยเพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศมาเลเซีย ประเทศไทยไม่เคยให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ จึงไม่มีกฎหมายที่รับรองสิทธิขั้นพื้นฐาน และผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์”