‘จะรักกันอยู่ไหมในวันที่สัมผัสกันไม่ได้’ 5 หนังรักเว้นระยะห่างร่างกาย แต่ไม่จำกัดระยะใจ

หนังรัก การสัมผัสคือการสื่อสารรูปแบบแรกของมนุษย์

ความปลอดภัย ความวางใจ ความอุ่นใจ สื่อถึงกันผ่านการแตะเบาๆ ด้วยนิ้วมือหรือริมฝีปากสัมผัสที่แก้ม

มันเชื่อมเราเข้าหากันยามสุขใจ ค้ำจุนเราไว้ในยามที่กลัว ทำให้เราตื่นเต้นไปกับความหลงใหลและความรัก

คนเราต้องการสัมผัสจากคนที่เรารัก มากพอๆ กับที่ต้องการอากาศหายใจ

แต่ฉันกลับไม่เคยเข้าใจความสำคัญของการสัมผัสมาก่อน โดยเฉพาะสัมผัสของเขา

จนวันหนึ่งที่ฉันไม่สามารถทำได้อีกต่อไป

หนังรัก

หากใครเคยดู Five Feet Apart หนังรักที่เข้าฉายในบ้านเราเมื่อปีที่แล้วคงจำไดอะล็อกเปิดเรื่องนี้ได้ สำหรับเรามันเป็นบทเกริ่นที่สร้างอารมณ์ร่วมไปกับความสัมพันธ์ของพระ-นางได้ดี แม้ในตอนนั้นจะคิดว่าสถานการณ์ของทั้งคู่ที่ป่วยเป็นโรคเดียวกันทำให้เข้าใกล้กันไม่ได้ช่างไกลตัวเราเหลือเกิน

ไม่รู้เลยว่าเมื่อเวลาผ่านไปไม่ถึงปี การมาถึงของโควิด-19 ทำให้เงื่อนไขนั้นไม่ไกลตัวเราอีกแล้ว

หลายอาทิตย์ที่ผ่านมาการรักษาระยะห่างหรือ social distancing เป็นสิ่งที่ทุกคนให้ความสำคัญ เราใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องออกจากบ้านไปเจอผู้คน ล้างมือมากครั้งเท่าที่จะทำได้ เตือนตัวเองว่าอย่าเผลอเอามือไปจับใบหน้า ไม่ต้องพูดถึงการสัมผัสซึ่งเป็นการกระทำพื้นฐานที่ไม่ควรทำ

สำหรับใครหลายคนที่ชอบบอกรักด้วยการสัมผัส โรคร้ายคือโชคร้ายที่ตัดโอกาสในการทำแบบนั้น ที่แย่คือเราไม่รู้จริงๆ ว่าอีกนานแค่ไหนจะได้มีโอกาสอีกครั้ง

ระหว่างรอเราจึงอยากชวนดูหนังรักที่พระ-นางต้องตกอยู่ภายใต้เงื่อนไข ‘รักแต่สัมผัสกันไม่ได้’ ด้วยเหตุผลที่แม้จะแตกต่างกัน แต่ทุกเรื่องล้วนพิสูจน์ให้เราเห็นว่า ถึงจะแตะตัวกันไม่ได้ ความรักก็ผลักดันให้เราหาวิถีทางในการแสดงออกเสมอ

บางทีในวันที่โรคร้ายหายไป การสัมผัสกันได้อาจมีความหมายกว่าเดิม 

หนังรัก

Five Feet Apart (2019) หนังรัก

สัมผัสกันไม่ได้เพราะแพ้ฝ่ายตรงข้าม

cystic fibrosis (CF) คือโรคเรื้อรังในปอดชนิดหนึ่งซึ่งผลิตเสมหะเข้มข้นในช่องทางเดินหายใจ ความร้ายกาจของมันไม่เพียงแต่ขัดขวางการรับอากาศบริสุทธิ์ของผู้ป่วย แต่ยังทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถอยู่ใกล้คนบางกลุ่มได้เพราะอาจได้รับเชื้อโรคบางตัวจนทำให้อาการแย่ลงถึงขั้นเสียชีวิต

เรื่องน่าแปลกใจอยู่ตรงที่ ‘คนบางกลุ่ม’ ที่ว่าไม่ใช่คนทั่วไป ที่จริงแล้วผู้ป่วยจะทำตัวใกล้ชิดสนิทสนมกับคนทั่วไปยังไงก็ได้ แต่คนที่อยู่ใกล้ไม่ได้เด็ดขาดคือผู้ป่วย CF ด้วยกัน

หนังรัก

Five Feet Apart สร้างตัวละครจากเงื่อนไขนั้นจนกลายเป็น Stella (รับบทโดย Haley Lu Richardson จาก The Edge of Seventeen) และ Will (Cole Sprouse จากซีรีส์ Riverdale) ที่เคมีดีงาม ฉีกกฎหนังรักวัยรุ่นที่มักมีแค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งป่วยด้วยการให้ตัวละครหลักป่วยด้วยกัน (แม่ง) ทั้งคู่ และนำไปสู่สถานการณ์ใหม่ๆ ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน แต่อยากเอาใจช่วยไม่ต่างกัน

ตลอดทั้งเรื่องแทบไม่มีซีนไหนเลยที่ตัวละครอยู่ใกล้แบบหายใจรดคอกัน เพราะทั้งคู่ต้องอยู่ห่างกันอย่างน้อย 6 ฟุตเสมอ (มีซีนหนึ่งที่ตลกมาก คือพระเอกจะปลอบนางเอกด้วยการจับไหล่ แล้วนางเอกปัดออกทันทีพร้อมตวาดว่า นายคิดบ้าอะไรอยู่–ดีมาก ชอบมาก) แน่นอนว่าหนังรักที่นำเสนอเรื่องความป่วยไข้มักสอดแทรกเรื่องราวของความหวัง ความอยากมีอิสระ การอยากออกไปใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ของตัวละคร แต่สิ่งที่เราชอบเป็นพิเศษคือซีนเผยปมของสเตลลาที่ป่วยมาตั้งแต่เกิด แต่ต้องเห็นคนที่ ‘ดูมีชีวิตกว่า’ ตายไปทีละคน ซีนนี้ดูแล้วจุก ในขณะเดียวกันก็ทำให้เรากลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า จริงๆ แล้วการมีชีวิตอยู่กับการจากโลกนี้ไป อะไรมันทรมานกว่ากันนะ?

Everything, Everything (2017)

สัมผัสไม่ได้เพราะเชื้อโรค

ถ้า Five Feet Apart คือหนังที่แหวกขนบหนังรักวัยรุ่นป่วย Everything, Everything ก็จัดเป็นหนังในขนบได้เลย เพราะ Madeline นางเอกของเรื่องป่วยอยู่แค่ฝ่ายเดียว จะว่าไปแล้วเธอก็เหมือนขั้วตรงข้ามของสเตลลา นางเอกของเรื่องข้างบน เพราะมีอาการภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง แพ้เชื้อโรคทุกชนิดบนโลกนี้ขนาดที่ว่าก้าวขาออกจากบ้านตัวเองสักครั้งยังไม่เคย

ฟ้าคงเห็นว่าชีวิตของแมดิลีนซังกะตายสิ้นดี เลยส่งหนุ่มเกือบฮอตอย่าง Olly มาอยู่บ้านข้างๆ แล้วการสนทนาของหญิงสาวผู้ป่วยติดบ้านกับชายหนุ่มผู้ลึกลับจึงเกิดขึ้นผ่านหน้าต่างกระจกใส พัฒนามาสู่โทรศัพท์มือถือ การแอบเจอกัน และแน่นอน การแหกข้อจำกัดของตัวเองไป ‘ใช้ชีวิตให้เต็มที่’ ตามสไตล์

หนังรัก
หนังรัก

หนังดัดแปลงมาจากนิยายขายดีของ Nicola Yoon (แปลไทยโดยสำนักพิมพ์แจ่มใสในชื่อเดียวกัน) นำแสดงโดย Amandla Stenberg จาก The Hunger Games และ Nick Robinson ผู้เล่นเรื่องนี้ก่อนจะมาปังสุดๆ ใน Love, Simon 

แม้การเล่าเรื่องจะไม่ได้แพรวพราวมาก ทำตามมาตรฐานหนังรักทั่วไป แต่ด้วยวัตถุดิบจากนิยายที่ดีอยู่แล้วบวกกับเสน่ห์ของนักแสดงก็ประคับประคองให้เราตามต่อจนจบ (คำเตือน : ตอนใกล้จบมีเซอร์ไพรส์เบอร์ใหญ่ที่คุณอาจเหวอได้) 

เมย์ไหน..ไฟแรงเฟร่อ (2015) หนังรัก

สัมผัสไม่ได้เพราะไฟฟ้าสถิต

เมย์ไหน (รับบทโดยปันปัน–สุทัตตา อุดมศิลป์) คือเด็กสาวหน้านิ่งประจำห้อง ม.5/1 ที่มีความลับติดตัวอยู่ 2 อย่าง หนึ่ง เธอแอบชอบพี่เฟรม (ต่อ–ธนภพ ลีรัตนขจร) หนุ่มฮอตของโรงเรียนที่ใครต่อใครต่างหมายปอง และสอง เธอมีไฟฟ้าสถิตในตัวเองสูงมาก ถึงขนาดตอนที่หัวใจเต้นแรงหรือตกใจเธอจะใช้มันช็อตคนอื่นจนช็อกน้ำลายฟูมปากได้ ไม่มีใครรู้ความลับ 2 ข้อนี้ของเธอ จนกระทั่งเธอไปก่อเรื่องบางอย่างให้ป๋อง (แบงค์–ธิติ มหาโยธารักษ์) เด็กหนุ่มขี้หงอ ไม่พอใจ เรื่องราววุ่นๆ ของยัยไฟช็อตกับลูสเซอร์ประจำโรงเรียนจึงเกิดขึ้น   

หนังรัก

หนังเรื่องสุดท้ายของค่าย GTH เรื่องนี้คือเรื่องที่หลายคนอาจมองข้าม แต่สำหรับเรามันติดโผในใจรองลงมาจากหนังวัยมัธยมอย่าง Season Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย, รักแห่งสยาม หรือ สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ารัก เลย เราชอบความขำก๊ากแบบไม่ต้องคิดอะไรมาก มุกตลกไทยๆ แบบไม่หยาบคาย มีเส้นเรื่องคอเมดี้ที่แข็งแรงตีคู่มากับเส้นเรื่องโรแมนติกที่แข็งแรงพอกัน หนังยังผสมเทคนิคเล่าด้วยแอนิเมชั่นที่ส่งเสริมพล็อตรักสดใสวัยมัธยมได้ลงตัว  

Tonight, at Romance Theater (2018)

สัมผัสไม่ได้เพราะอีกฝ่ายจะหายไป

หนังรักญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องเรียกน้ำตาคนดูอยู่แล้ว Tonight, at Romance Theater ก็ไม่ผิดพลาดไปจากคำกล่าวนั้น หนังโรแมนติก-แฟนตาซีเรื่องนี้พาเราไปเที่ยวญี่ปุ่นยุค 60s ในกองถ่ายหนังที่เคนจิ (Kentaro Sakaguchi) พระเอกของเรื่องทำงานอยู่ เคนจิใฝ่ฝันจะเป็นผู้กำกับหนัง เขามีโรงหนังที่ไปอุดหนุนประจำชื่อ Romance Theater ซึ่งชายหนุ่มมักจะเหมาโรงดูหนังขาว-ดำเรื่อง ‘เจ้าหญิงมิยูกิ’ (Haruka Ayase) เพราะชอบตัวละครเจ้าหญิงเป็นพิเศษ แต่วันดีคืนดีเถ้าแก่เจ้าของโรงหนังก็ต้องขายฟิล์มหนังเรื่องนี้ให้นักสะสม เคนจิจึงขอเหมาโรงดูรอบสุดท้ายท่ามกลางเสียงพายุฝนจากด้านนอก มีเสียงฟ้าฝ่าดัง และตอนนั้นเองที่ปาฏิหาริย์เกิดขึ้น 

เจ้าหญิงมิยูกิตัวเป็นๆ หลุดจากจอมาอยู่ตรงหน้าเขา เนื้อตัวและเสื้อผ้าเป็นสีขาว-ดำเหมือนในหนังเป๊ะ เคนจิตัดสินใจพาเจ้าหญิงกลับบ้าน เขาได้รู้ความจริงว่าเธอหนีออกมาจากหนังเพราะโลกสีขาว-ดำมันหดหู่เกินไป ระหว่างที่ทั้งคู่อยู่ด้วยกันการเทคแคร์ของเคนจิค่อยๆ เพิ่มสีสันสดใสให้ตัวเจ้าหญิง เช่นเดียวกับความรักที่ค่อยๆ เบิกบานในใจของทั้งคู่ หากทุกอย่างก็ไม่ได้ง่ายอย่างใจหวัง เพราะมาจากคนละโลกเคนจิกับเจ้าหญิงมิยูกิจึงไม่สามารถแตะตัวกันได้ หากสัมผัสเมื่อไหร่ร่างของเจ้าหญิงจะหายไปตลอดกาล

เทียบกับหนังทุกเรื่องในบทความนี้ นี่คือเรื่องที่ทำให้การแตะตัวกันกลายเป็นข้อห้ามร้ายแรงที่สุด (แตะปุ๊บหายเลย) และน่าจะทำให้เราเสียน้ำตามากที่สุดแล้ว ทว่านอกจากความซึ้งที่รับประกันได้ แต้มเสริมของ Tonight, at Romance Theater คือส่วนผสมความแฟนตาซีที่เราไม่เคยได้เห็นจากหนังรักแดนปลาดิบเรื่องไหน แถมยังพาเราย้อนกลับไปยุค 60s ให้เห็นบ้านเมืองและการแต่งกายสุดคิวต์ของคนในยุคนั้นอีกด้วย

Her (2013)

สัมผัสไม่ได้เพราะอีกฝ่ายไม่ใช่มนุษย์

ว่ากันว่า Her คือหนังที่ Spike Jonze สร้างขึ้นเพื่อส่งสารถึง Sofia Coppola (ผู้กำกับ Lost in Translation) คนรักเก่า แต่แทนที่จอนซ์จะสร้างหนังว่าด้วยความสัมพันธ์ขึ้นมาสักเรื่อง เขาเลือกสร้างหนังที่เล่าเรื่องโลกอนาคตที่เทคโนโลยีเติบโตไปไกลมากถึงขั้นมีความรู้สึกเหมือนมนุษย์ และมนุษย์กับเทคโนโลยีสามารถตกหลุมรักกันได้

Theodore ตัวละครของ Joaquin Phoenix คือภาพคนเหงาในยุคที่เทคโนโลยีกลืนกินทุกอย่าง เขาหย่ากับภรรยามานานแต่ยังไม่คบใครใหม่ คุยกับคนนับครั้งได้เพราะทำงานเป็น ‘นักเขียนจดหมายตามโจทย์’ ในยุคที่ไม่มีใครอยากเปลืองเวลาคิดคำศัพท์สวยหรูในจดหมายจนต้องจ้างเขา ว่าตามตรงในแต่ละวันธีโอดอร์ใช้เวลาส่วนมากไปกับการคุยกับคอมพิวเตอร์มากกว่าคนเป็นๆ เสียอีก

เรื่องเริ่มต้นเมื่อเขาไปเจอระบบปฏิบัติการใหม่ชื่อ Samantha (ให้เสียงโดย Scarlett Johansson) ระบบปฏิบัติการสาวเข้ามายึดครองเวลาในชีวิตของชายหนุ่มมากขึ้นทีละนิด จากที่คุยเรื่องทั่วไปกลับกลายเป็นเรื่องความรู้สึก ธีโอดอร์อยู่กับเสียงของซาแมนธาจนรู้สึกว่าเธอคือมนุษย์ที่สามารถผูกสัมพันธ์แบบคนรักได้ แม้จะไม่มีร่างกายก็ตาม

ความเวียร์ดแต่ลึกซึ้งของ Her ดันให้หนังเข้าชิงออสการ์ในสาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม, เพลงยอดเยี่ยม, งานสร้างยอดเยี่ยม และภาพยนตร์ยอดเยี่ยม สุดท้ายหนังก็คว้ามาได้ 1 รางวัล คือบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม ซึ่งไม่น่าแปลกใจเลยสำหรับเรา เพราะหนังถ่ายทอดความรู้สึกของคนเหงาที่ไม่กล้าเริ่มต้นใหม่ออกมาได้อย่างเข้าอกเข้าใจ ทำให้เราอินไปกับตัวละครได้แม้จะไม่ได้อยู่ในโลกใบเดียวกัน ที่ชอบที่สุดคือไดอะล็อกตอนจบของเรื่องสุดตราตรึง ว่ากันว่านี่แหละเป็นสิ่งที่จอนซ์อยากบอกคอปโปลา

สุดท้ายแล้วหนังในลิสต์นี้อาจยืนยันว่าการแสดงความรักไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการสัมผัสเสมอไป แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังเชื่ออย่างเต็มหัวใจว่าการสัมผัสคือรูปแบบการถ่ายโอนความรู้สึกที่พิเศษ เหมือนประโยคที่สเตลลาจาก Five Feet Apart พูดในซีนหนึ่งว่า

หากคุณยังสัมผัสกันได้

สัมผัสเขาซะ สัมผัสเธอซะ 

ชีวิตเราสั้นเกินกว่าจะเสียเวลาแม้แต่วินาทีเดียว


เครดิตรูปภาพ

GTH
anitime.in.th
latimes.com
sfcinemacity.com
wallpapersden.com
warnerbros.com

AUTHOR