ไม่ต้องเอ่ยปากถาม เราก็ค่อนข้างมั่นใจว่าไม่มีใครชอบไปงานศพ
เสียงพระสวด ภาพญาติมิตรของผู้ตายกำลังร่ำไห้ ความเศร้าโศกลอยอบอวลอยู่ในบรรยากาศ ถ้าไม่ใช่เพราะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติหรือต้องไปเพื่อให้กำลังใจคนที่ยังอยู่ น้อยคนนักที่จะชอบไปเจอองค์ประกอบอันน่าหดหู่ของงานศพ
แต่ไม่ใช่กับ ‘ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์’ ชายวัย 60 ที่คนในวงการหนังสือรู้จักกันในนามเจ้าของสำนักพิมพ์ต้นฉบับ
อย่าเพิ่งเข้าใจผิด ธงชัยไม่ได้โปรดปรานการไปงานศพแต่อย่างใด หากสิ่งที่เขาชอบเป็นชีวิตจิตใจคือ ‘หนังสืออนุสรณ์’ ที่แจกในงานประเภทนี้
แตกต่างจากคนทั่วไป ธงชัยมองว่าหนังสืองานศพไม่ได้เป็นเพียงชีวประวัติของผู้ล่วงลับ แต่คือขุมทรัพย์ทางปัญญาที่ประเมินค่าไม่ได้ การตามเก็บสะสมกว่า 30 ปีและจำนวนหนังสือบนชั้นมากกว่า 50,000 เล่มยืนยันความหลงใหลของเขาได้ดี
หนังสือเล่าเรื่องคนตายมีอะไรน่าหลงใหล ธงชัยชวนให้เรานั่งลงฟังท่ามกลางบรรยากาศขรึมขลังและกลิ่นสาบความหลังจากชั้นหนังสือเก่า
๑
เรามาถึงที่นัดหมายในยามบ่าย
อากาศข้างนอกร้อน แต่พอก้าวเข้าไปด้านในบ้านกึ่งออฟฟิศแห่งนี้กลับรู้สึกเย็นและสงบ เสียงทักทายของธงชัยต้อนรับเราพร้อมกับภาพของหนังสือนับหมื่นเล่มที่วางเป็นปึกตั้งแต่หน้าบ้าน เขาชี้ว่ากองข้างนอกนี้คือหนังสือธรรมะ ส่วนที่อยู่ชั้นหนึ่งทั้งหมดคือวารสารเก่า
แต่จุดหมายของเราอยู่ที่ชั้นสอง–ห้องทำงานของเขา ขึ้นบันไดอีกไม่กี่ก้าวก็จะเจอห้องสมุดที่เก็บหนังสือเก่ากว่า 50,000 เล่มที่เขาแบ่งเป็นหมวดหมู่ไว้ชัดเจนทั้งสิ้น 15 หมวด
ท่ามกลางมหาสมุทรหนังสือบนชั้น หนังสืออนุสรณ์งานศพแหวกว่ายอยู่ในนั้น
“ก่อนจะสะสมหนังสืองานศพอย่างจริงจัง ผมเริ่มจากการสะสมหนังสือมาก่อน ที่เห็นว่ามีเยอะขนาดนี้เพราะช่วงปี 2540 ผมซื้อต่อมาจากนักสะสมหนังสือรุ่นก่อนๆ ซึ่งท่านเสียชีวิตไปหมดแล้ว ซื้อมาทีก็เหมามาทั้งบ้าน เป็นหมื่นเล่ม ซื้ออย่างนี้ติดต่อกันมา 5 บ้านแล้ว” ธงชัยเล่า พร้อมเท้าความว่าการสะสมของเขาเกิดจากความรักในการอ่านหนังสือและการศึกษาประวัติศาสตร์
ตั้งแต่จำความได้ ธงชัยเรียนวิชาประวัติศาสตร์เก่งเป็นที่หนึ่ง ตอนที่เพื่อนร่วมห้องวัยประถมของเขาต่างเหนื่อยหน่ายกับการเรียนรู้เรื่องเก่า แต่ไม่รู้ทำไมธงชัยกลับรู้สึกว่ามันมีเสน่ห์อย่างน่าประหลาด
การฝักใฝ่ประวัติศาสตร์ส่งเสริมให้ธงชัยเฟ้นหาหนังสือเล่มอื่นมาอ่านนอกจากแบบเรียน นำไปสู่การค้นพบความชอบที่ขยายใหญ่ขึ้นของตัวเอง นั่นคือการเรียนรู้ ‘ประวัติศาสตร์’ อีกแขนงหนึ่ง–ประวัติชีวิตคน
ตอนนั้นเองที่ธงชัยรู้ว่าตัวเองชอบอ่านหนังสืองานศพ
๒
“หนังสืองานศพมีเสน่ห์กว่าหนังสือธรรมดาแม้จะมีเนื้อหาเดียวกัน แต่ถ้าผมเลือกได้ก็จะซื้อหนังสืองานศพนะ” ธงชัยบอกด้วยน้ำเสียงหนักแน่น
“มันสนุกที่เราได้เรียนรู้ชีวิตของผู้วายชนม์ตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่ เนื้อหาส่วนหลักๆ ของหนังสืองานศพจะมีประวัติผู้ตาย คำอาลัยที่มิตรสหายหรือคนที่ผู้ตายเคารพเขียนไว้ นี่คือส่วนสำคัญที่สุด เพราะเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของชีวิตคนคนหนึ่งที่ได้สัมผัสผู้ตายในมุมหนึ่ง บางทีประวัติผู้ตายก็มักจะเขียนแต่เรื่องดีๆ แต่ว่าส่วนของมิตรสหายก็จะแฉเขา ตอนมึงอยู่ปีหนึ่ง มึงกับกูไปกินเหล้า อ้วกแตกอ้วกแตน” ฟังมาถึงตรงนี้เราหัวเราะเสียงดัง
ธงชัยอธิบายต่อว่า เนื้อหาส่วนสุดท้ายของหนังสืองานศพนั้นจะเป็นเนื้อหาหลักที่หยิบยกมาจากหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่ง บางครั้งอาจเป็นหนังสือหายาก สิ่งนี้เพิ่มคะแนนความน่าเก็บมากขึ้นหลายเท่าตัว
“ตอนเริ่มต้นเก็บแรกๆ คุณไปเก็บมาจากงานศพเลยไหม” เราโยนคำถาม
“ไม่ ผมไม่เคยไปรับแจกในงานศพเลย อาศัยการซื้อต่อจากกลุ่มคนที่ทำอาชีพ ‘ตีนเมรุ’ ซึ่งจะคอยเก็บหนังสืองานศพจากงานจริงๆ มาขายให้ร้านหนังสือมือสอง แล้วเราก็จะไปซื้อต่อจากร้านอีกที”
ธงชัยซื้อหนังสืองานศพครั้งแรกในปี 2530 จากบูทขายหนังสือมือสองแถวจตุจักร ยุคนั้นหนังสืองานศพมีราคาสูงพอประมาณทำให้เขาต้องคัดเองกับมือทุกเล่ม ธงชัยดูละเอียดไปถึงว่าผู้ตายเป็นใคร เนื้อเรื่องหลักคือเรื่องอะไร โดยจะเลือกตามความชอบที่เน้นแนวบันทึกทางประวัติศาสตร์เป็นพิเศษ
“แต่ก็มีข้อยกเว้นเหมือนกัน เช่น เนื้อในเป็นเรื่องสุขภาพที่ผมไม่ค่อยอิน แต่ผู้ตายเป็นคนมีชื่อเสียงอย่างคุณหมออายุ 100 ปี แบบนี้เราก็เก็บ” ธงชัยขยายความต่อว่าขั้นตอนหลังจากนั้นคือการ ‘ชำแหละอ่าน’ เพื่อระบุว่าหนังสืองานศพเล่มนั้นคือหมวดไหน
“อย่างเล่มนี้ของนางเสงี่ยม มหัทธนกุล” เขาหยิบหนังสืองานศพเล่มที่เพิ่งอ่านจบมาให้ดู “เนื้อเรื่องหลักเกี่ยวกับวรรณคดีพุทธศาสนา แต่พออ่านชีวประวัติเขาปุ๊บ ไอ้ห่า นางเสงี่ยมนี่แม่งเก่งว่ะ เป็นแม่ค้าหญิง เจ้าของโรงน้ำแข็งยุคแรกๆ ในกรุงเทพฯ ที่ร่ำรวยจากการทำโรงน้ำแข็ง อันนี้เก็บได้ในหมวดธุรกิจด้วย”
นั่นคือเหตุผลที่ทุกครั้งที่ธงชัยจะตัดสินใจซื้อหนังสืองานศพเรื่องใด เขาจะซื้อ 2 เล่มเป็นอย่างน้อย “เล่มหนึ่งเก็บหมวดวรรณคดี เล่มหนึ่งเก็บหมวดนักธุรกิจ” เขาว่า แล้วคว้าปากกามาเขียนสันหนังสือ ข้อมูลสำคัญอย่างชื่อ อาชีพ เนื้อเรื่องหลัก และปีที่มรณะ ถูกเขียนลงไปด้วยลายมือบรรจง
แล้วหนังสืองานศพอีกหนึ่งเล่มก็ได้ลงไปเวียนว่ายในมหาสมุทรหนังสือ
๓
แน่นอนว่าเกิดมาแล้วทุกคนต้องตาย แต่คงไม่ใช่ทุกคนหรือเปล่าที่จะมีหนังสืองานศพของตัวเอง
“มันเป็นเรื่องของคนรวย” ธงชัยคลายความสงสัยของเรา “เพราะมันต้องลงทุนเองทั้งหมด คนที่บ้านยากจนไม่มีตังค์พิมพ์หรอก ยกเว้นลูกหลานคนที่ตายแต่งงานกับพ่อค้า เช่น แต่งงานกับเจ๊กในตลาดที่เขามีความรู้เรื่องพิมพ์หนังสือ”
“แล้วจริงๆ วัฒนธรรมการพิมพ์หนังสืองานศพมาจากไหน” เราสงสัยเพิ่ม ทึกทักจากคำว่าเจ๊กเอาเองว่าน่าจะมาจากเมืองจีน
“มาจากประเทศไทยนี่แหละ” ธงชัยแย้ง แล้วขยายความให้เราฟังว่าความคิดริเริ่มในการทำหนังสืองานศพมาจากสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เกิดขึ้นในแผ่นดินของรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งเป็นนายกหอพระสมุดวชิรญาณและทรงเห็นว่าคนไทยอ่านหนังสือน้อย อยากส่งเสริมให้มีหนังสืออ่านเพิ่มมากขึ้นในสังคม จึงแนะนำให้เศรษฐีมีตังค์ในกรุงเทพฯ พิมพ์หนังสืองานศพ
ส่วนวิธีการเลือกเนื้อหาหลักเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาพิมพ์นั้นในแต่ละยุคสมัยก็ไม่เหมือนกัน อย่างยุคแรกๆ ช่วงปี 2440-2450 จะชอบพิมพ์หนังสือธรรมะเผยแพร่ พอมาถึงยุครัชกาลที่ 6 กระแสธรรมะก็ไม่ได้ตก แต่มันมีกระแสประวัติศาสตร์ตีคู่กันมา พอมายุคจอมพล ป. กระแสหนังสือธรรมะก็ยังยืนหนึ่งเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือมีการพิมพ์สารคดีด้วย
หลังปี 2500 เรื่องราวของธรรมะก็ยังอยู่ยงคงกระพัน จนถึงช่วงปี 2510 ที่หนังสือเรื่อง กฎแห่งกรรม ของ ท. เลียงพิบูลย์ ได้รับความนิยมมากเพราะคนกลัวเรื่องบาปบุญเป็นพิเศษ ก่อนจะเข้าสู่ยุคนี้ที่ชูโรงเรื่องความเฮลตี้ กลายเป็นหนังสือวินิจฉัยโรคที่เชิญชวนให้คนอ่านมาดูแลตัวเอง
“แม้จะต้องใช้เงินมหาศาล แต่วัตถุประสงค์ของการพิมพ์หนังสืองานศพของญาติผู้วายชนม์ก็เพื่อเผยแพร่ข้อมูลความรู้ หลักธรรมในนั้น ไม่ใช่เพื่ออวดอ้างตัวเองว่าร่ำรวย สิ่งที่เขาต้องการจารึกไว้คือการพิมพ์ประวัติผู้วายชนม์ว่าเคยสร้างอะไรไว้บนโลกใบนี้บ้าง
“แล้วในฐานะคนอ่าน ถามว่าเราจะได้ประโยชน์อะไรจากหนังสืองานศพ ผมว่าแค่คุณได้เห็นรูปว่าแต่ละยุคสมัยเขาแต่งตัวกันยังไง ไปทำกิจกรรมอะไรกันมาบ้าง อย่างเล่มหนึ่งมีพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสอินเดีย ผมว่าแค่นี้ก็คุ้มแล้ว เป็นเสน่ห์ของหนังสืองานศพในสังคมไทยที่ประเทศอื่นไม่มี”
๔
ทุกวันเสาร์ธงชัยจะนัดเพื่อนในแวดวงนักสะสมหนังสืองานศพเพื่อสังสรรค์และแลกเปลี่ยนความรู้กัน มีหลายครั้งที่เขาส่งต่อหนังสือของตัวเองให้กับคนในแวดวง (หมายเหตุว่าหากเขามีมากกว่า 2 เล่มและเพื่อนต้องการ)
“นอกจากเป็นสิ่งที่มอบความรู้ ตอบความชอบ หนังสืองานศพเป็นสิ่งที่มีมูลค่าสำหรับผม เพราะมันขายได้ แต่ผมก็ไม่ขายนะ ครั้งหนึ่งเคยมีคนญี่ปุ่นมาถามซื้อทั้งหมด ผมปฏิเสธเพราะไม่ต้องการเงิน หนังสือพวกนี้มีคุณค่ากับผม ในตอนที่จะหยิบใช้งานเราก็หยิบมาได้เลย อย่างตอนนี้ผมกำลังทำหนังสือสมุดภาพให้กับจังหวัดต่างๆ ถ้าเราไม่มีห้องสมุดนี้ เราก็ต้องวิ่งไปหอสมุดแห่งชาติหรือที่อื่นๆ
“การสะสมหนังสืองานศพทำให้เราเป็นคนใฝ่หาความรู้ ความรู้มันนำมาซึ่งความน่าเชื่อถือและความเคารพศรัทธา ถ้าผมไม่ได้สะสม ผมก็จะไม่มีความรู้ไปถ่ายทอด บรรยาย เผยแพร่ให้สังคมได้รับทราบ และคงไม่มีลูกศิษย์ เชื่อไหมผมมีลูกศิษย์ทั้งๆ ที่ไม่ได้สอนหนังสือ”
ทุกวันนี้ธงชัยได้รับโทรศัพท์จากอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายคนที่โทรมาปรึกษาเรื่องข้อมูลทางประวัติศาสตร์อยู่บ่อยครั้ง เขายังเปิดส่วนที่เขาเรียกว่า ‘ห้องสมุดหนังสืองานศพเอกชน’ ในบ้านให้นักศึกษาปริญญาโท-เอกเข้ามาค้นคว้าหาความรู้ได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย พร้อมให้คำปรึกษาว่าเนื้อหาที่ทุกคนตามหานั้นอยู่ในเล่มไหนได้อย่างแม่นยำ ทั้งหมดทั้งมวลนี้เกิดจากการอ่าน การละเลียด และการจัดทุกเล่มเข้าหมวดหมู่ด้วยมือของเขาเอง
๕
“คุณเชื่อเรื่องโลกหลังความตายไหม”
เมื่อบทสนทนาดำเนินมาถึงช่วงท้าย เรายิงคำถามที่อยากรู้ที่สุดให้นักสะสมหนังสืองานศพตรงหน้า
ธงชัยนิ่งไปชั่วครู่ พึมพำในปากว่า ‘เชื่อ-ไม่เชื่อ’ สลับกันคล้ายไม่แน่ใจ ก่อนจะเอ่ยคำตอบที่ทำให้เราเซอร์ไพรส์พอสมควร
“ไม่เชื่อ” เขาสรุป “แต่ก็ไม่ประมาทนะ เราไม่เคยคิดว่ามันจะมีจริง แต่เราก็ไม่รู้เลยขอทำความดีไว้ก่อน เพราะความจริงศาสนาพุทธก็ไม่ได้บอกให้เราอยู่กับความงมงายอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่แล้ว” เขาตอบยิ้มๆ
“การอ่านหนังสืองานศพเป็นหมื่นๆ เล่มทำให้คุณเรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตและความตายยังไง”
“มันสอนให้ไม่ประมาท” เขาตอบทันที “การอ่านหนังสืองานศพเป็นอนุสติ เตือนใจให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ความจริงมันก็หลักพระพุทธศาสนา คุณต้องฝึกเจริญสติ ยิ่งเห็นประวัติคนตาย ยังไม่ทันสั่งเสียเลยไปซะแล้ว ไม่ทันได้ทำมรดก ส่วนที่รู้สึกตัวก็ดีไป ก็สั่งเสียทัน”
“ในเมื่อเราตระหนักว่าความตายเกิดขึ้นได้ทุกชั่วขณะ คุณเตรียมตัวรับมือมันยังไง” เรายิงคำถามสุดท้าย
“ผมเตรียมทำหนังสืองานศพของผมไว้แล้ว เขียนประวัติตัวเองไปได้ครึ่งหนึ่งแล้ว และฝากครอบครัวไว้แล้วว่าอยากให้เอาหนังสือหายากมาพิมพ์เผยแพร่ซ้ำ” เขาตอบอย่างจริงใจ ก่อนจะแหวให้เราหัวเราะปิดท้าย
“แต่อย่าเพิ่งไปเลย เพิ่งหกสิบเอ๊ง”
บ่ายวันนั้น ท่ามกลางหนังสืองานศพนับหมื่นเล่ม เรื่องเล่าของธงชัยทำให้เราเรียนรู้ว่าไม่ว่าช้าหรือเร็ว เราทุกคนย่อมต้องกลายเป็นเรื่องเล่าในสักวัน
ไม่ต้องเอ่ยปากถาม เราก็ค่อนข้างมั่นใจว่าทุกคนคงอยากมีเรื่องเล่าที่ดี
หนังสืองานศพในดวงใจ
ท่ามกลางกลิ่นกระดาษเก่าและกองทัพหนังสือนับหมื่นเล่มที่วางเรียงรายอยู่บนชั้น เราขอให้ธงชัยเลือกหนังสืองานศพ 3 เล่มที่เขาประทับใจที่สุดมาให้ดู เขาใช้เวลาครู่หนึ่งตัดสินใจและเลือกหยิบ 3 เล่มที่โปรดปรานที่สุดออกจากชั้นวางอย่างแม่นยำ
หนังสืออนุสรณ์งานศพของปรก อัมระนันท์
“เล่มนี้ออกแบบดี ผมเห็นการออกแบบแล้วรู้สึกว่ามันเป็นระดับนานาชาติเลย เนื้อหาแน่น ภาพประกอบมีตลอด เขารู้ว่าภาพไหนควรใหญ่ ภาพไหนควรเล็ก ดูแล้วสะอาดตา ผมชอบมากจนตามหาคนออกแบบจนเจอ ตอนหลังเราก็ใช้เขากับหนังสือของสำนักพิมพ์เราด้วย”
หนังสืออนุสรณ์งานศพของจำรูญ ปิยัมปุตระ
“ผู้ตายเขียนประวัติตัวเองและเขียนบทความเล่าสู่กันฟังเป็นของตัวเอง ข้อมูลเขียนเรื่องอะไรก็มีรูปประกอบเรื่องนั้นๆ มันไม่น่าเบื่อ ไม่เหมือนหนังสือวิชาการ หนังสืองานศพที่ดีต้องมีรูปคั่นเป็นระยะๆ แบบนี้ ความลับคือเล่มนี้เราออกแบบเองด้วย เราจะไม่ชอบได้ยังไง (หัวเราะ) ตอนทำไปขอรูปจากบ้านเขาเลย”
หนังสืออนุสรณ์งานศพของประมุข ปิยะสุวรรณ
“แกตายปี 2503 แล้วก็มีพิมพ์ปี 2504 เป็นคนรุ่นรัชกาลที่ 6 ต่อรัชกาลที่ 7 สร้างเนื้อสร้างตัวจากไม่มีอะไรจนเป็นเจ้าของที่ดินบ้านหมี่ ลพบุรี เนื้อที่ครึ่งตลาด แกมีมอตโต้ที่เราจำได้ขึ้นใจคือ ‘ทำวันนี้ ทำเดี๋ยวนี้ อย่าประมาท’ บวกกับรูปประกอบสวยๆ ที่ขนาดพิมพ์ปี 2504 ยังชัดเลย”