เราทุกคนล้วนมีของแทนความทรงจำในวัยเด็ก
รถจิ๋ว หนังสือการ์ตูน ตัวต่อเลโก้ และสิ่งของสารพันเกินกว่าจะยกตัวอย่างไหว เหล่านี้คือตัวแทนความสนุกของช่วงวัยที่เรานึกถึงเมื่อไหร่ก็ยิ้มออก หลายคนเคยร้องไห้เมื่อของรักสักชิ้นหายไป อาจเพราะสำหรับเราในตอนนั้น แม้จะเป็นของที่ราคาน้อย แต่มันคือสิ่งที่มีคุณค่ามหาศาล
พล่ากุ้ง–วรชาติ ธรรมวิจินต์ เป็นอีกคนที่เติบโตมากับวัยเด็กที่น่าจดจำ พล่ากุ้งเป็นคนเพื่อนเยอะ และเพื่อน ‘อย่างหนึ่ง’ ที่เขาใช้เวลาร่วมด้วยมากที่สุดคือเกมคลาสสิก เกมที่เด็กยุคใหม่อาจไม่เคยเห็นแล้ว แต่ใครที่โตมากับภาพ 8 บิต และการเป่าๆ เช็ดๆ แผ่นเหล็กสีเขียวเพื่อให้ ‘เกมติด’ นั้นคงคุ้นเคยกันดี
แม้วันนี้จะเลยวัยเด็กของเขามาหลายสิบปี แต่ที่บ้านของพล่ากุ้งก็มีมุมหนึ่งที่เขาเรียกว่า ‘กำแพงเกม’ เป็นชั้นไม้ที่ทำขึ้นเพื่อเสียบตลับเกมหลายร้อยตลับ คล้ายมุม ‘เพื่อนเก่า’ ดูแล้วหวนรำลึกถึงความทรงจำวัยเยาว์ที่ไม่บอกก็รู้ว่าเขาผูกพันแค่ไหน
“พอจะทำบ้านใหม่ ผมจองชั้นลอยไว้ทำกำแพงเกม คล้ายๆ มุมย้อนวัยที่อยากให้เป็นมุมที่มานั่งเล่น นั่งชิลล์ได้” พล่ากุ้งยืนยันความคิดนั้นของเรา ก่อนจะพาย้อนกลับไปยังวันแรกที่เขาได้พบเกมคลาสสิก
ในวันที่เสียงหัวเราะกับดนตรี MIDI ฉบับเกม 8 บิตดังขึ้น
และยังทุ้มอยู่ในความทรงจำจนวันนี้
ด่านที่ 1 : บ้านเพื่อน
ย้อนกลับไปเมื่อก่อน พล่ากุ้งเป็นเด็กคนหนึ่งที่ที่บ้านไม่สนับสนุนให้เล่นเกม
“ผมโตมาในสมัยที่ร้านเกมให้ซื้อเวลาเล่น ครึ่งชั่วโมง 10 บาท” เขาเริ่มเล่า “บ้านไม่ได้มีฐานะขนาดนั้น พ่อแม่ไม่สนับสนุนให้เล่น ยายกับตานี่แอนตี้เกมเลย ผมจึงอาศัยการไปเล่นบ้านเพื่อนและยืมเครื่องเพื่อนมาเสียบเล่นที่บ้าน สมัยก่อนเวลาเล่นเกมเราต้องจูนทีวีด้วยนะ เสียบตรงรูเสาอากาศแล้วมันจะวิ่งหาสัญญาณ จำได้เลยว่าเหตุผลที่ตากับยายมักห้ามผมไม่ให้เสียบคือ เดี๋ยวจอทีวีเสีย แต่ผมก็แอบเสียบจนได้ ผลคือแม่งเสียจริงๆ ภาพชัดบ้าง ไม่ชัดบ้าง แต่สุดท้ายก็ดันทุรังเล่นไป”
เมื่อการเล่นที่บ้านตัวเองไม่ค่อยเวิร์ก พล่ากุ้งจึงมองหาหนทางที่เขาจะได้สนุกสนานไปกับการเล่นเกมทางอื่น ในวัยประถม ช่วงปิดเทอมคือเวลาที่พล่ากุ้งนับวันรอเพราะสนุกสนานไปกับการขลุกอยู่บ้านเพื่อนทั้งวัน
“ตอนอยู่บ้านเพื่อนผมแม่งเล่นดุมาก คำว่าเล่นดุคือเริ่มตั้งแต่ 8 โมงเช้า จบอีกทีประมาณ 5 ทุ่ม จำได้เลยว่าช่วงนั้นแม่ต้องเอาข้าวมาให้ แล้วเป็นแม่คนอื่นด้วยนะ เพราะไปเล่นบ้านคนอื่น” ชายหนุ่มหัวเราะ “เรามีเพื่อนคนหนึ่งชื่อเอ็ม รวยมาก มีทุกอย่าง เครื่องอะไรออกใหม่มาเอ็มซื้อหมด เราชอบไปบ้านเอ็ม เหมือนฝากตัวเป็นลูกเขาอีกคน แล้วก็มีเด็กแถวบ้านเขาที่เข้าไปเล่นด้วยกันหลายคน เล่นกันแรกๆ ก็เกรงใจ หลังๆ นี่กูหยิบเสียบเองเลยคราวนี้ เอ็มมึงเล่นของมึงไปนะ กูจะเล่นของกู
“เพราะอยู่กับเอ็มนี่แหละที่ทำให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับเกมตลับในยุคแรกๆ เครื่องแฟมิคอม เป็นยังไง เฮ้ยทำไมภาพมันสวยแบบนี้วะ เฮ้ยมีตลับเสียบแบบนี้ด้วย เฮ้ยเกมนี้แม่งโคตรมันเลยว่ะ”
จากตอนนั้นเอง พล่ากุ้งได้ค้นพบเกมที่เขาชอบเล่นมากที่สุด คือ เกมมาริโอ้ 1, มาริโอ้ 3 และคอนทรา ซึ่งเกมหลังสุดนี้เองที่ทำให้เขาได้เรียนรู้เรื่องตลับจริงกับตลับปลอม
“คนไทยรุ่นเดียวกันน่าจะได้เล่นคอนทราจากตลับปลอม คือคอนทราที่อยู่ใน 66 in 1 ที่บริษัทผลิตเครื่องเกมเขาให้มาเป็นของแถมกับเครื่อง ไอ้เราตอนนั้นก็ไม่รู้ไงว่าอันไหนจริงอันไหนปลอม แต่เรารู้ว่า 66 in 1 เนี่ยเล่นกันทั่วบ้านทั่วเมือง จะมีพวกคอนทรา กัลลัลกา เกมสวนสัตว์ แพ็กแมน บอมเบอร์แมน เด็กไทยรุ่นนั้นจะซึมซับกับตลับนั้น เล่นสนุ้กสนุก จนกระทั่งเราไปญี่ปุ่น เราบังเอิญไปเจอตลับคอนทราแท้ ก็เฮ้ย กูเพิ่งเคยเห็นเนี่ย แล้วก็รู้ว่าเออ กูสัมผัสตลับปลอมมาทั้งชีวิต” เขาปิดประโยคด้วยรอยยิ้มแห้งๆ
ด่านที่ 2 : ร้านเกม
พล่ากุ้งต่อยอดความชอบในการเล่นเกมจากตอนประถม กระทั่งขึ้น ม.4 เขาจับพลัดจับผลูไปช่วยงานร้านเกมเป็นครั้งแรก และนั่นคืองานแรกที่เขาได้รับค่าจ้างด้วยเช่นกัน
“บังเอิญเฮียที่อยู่ตรงข้ามบ้านเขาบอกว่าจะเปิดร้านเกม เขามาบอกแม่ผม พอผมเห็นก็ฝากแม่ไปบอกว่า ถ้าเขาไม่มีคน เดี๋ยวเราเฝ้าให้ พอช่วงปิดเทอมเขาก็ติดต่อมา
“จำไม่ได้ว่าได้เดือนละเท่าไหร่ 3,000 บาทหรือราวๆ นี้แหละ แต่ตอนนั้นเรื่องเงินเป็นเรื่องรองเลยอะ ความฝันของผมคือการได้อยู่กับเกมทั้งวัน ได้นั่งเฝ้า แล้วเฮียเขาเปิดเป็นร้านใหญ่ด้วยนะ มีเครื่องแฟมิคอมประมาณ 4-5 เครื่อง แล้วก็มีซูเปอร์แฟมิคอม เครื่อง Mega Drive มี NEOGEO ที่เป็นตลับใหญ่ๆ ซึ่งแพงมากในยุคนั้น
“ตอนนั้นค่าเล่นคือ 60 บาทต่อ 1 ชั่วโมง ตกนาทีละบาทเลย ใครมาเล่นนี่แบบโคตรเท่ เด็กจะมุงกันทั้งร้าน แต่เราคือเล่นฟรี ไม่มีเด็กกูก็เสียบเล่นฟรีไป เป็นช่วงที่ได้ขลุกอยู่กับเกมและทำให้ตัวเองเรียนรู้เรื่องเกมเยอะมาก เกมอะไรจับปุ๊บเล่นได้หมด ใครไม่ผ่านตรงไหน สูตรด่านนี้ยังไง ร็อกแมน กรอก ป๊าบ สูตรไป ปึ้บ แม่งไวมาก โอ้โหตอนนั้นเทพมาก ก็เลยเป็นเหมือนความทรงจำวัยเด็กที่ทำให้เราผูกพันกับเกมมาตั้งแต่นั้นเลย”
“ทำไมคุณถึงผูกพันกับมันขนาดนี้” เราถาม ขณะจ้องแววตาเป็นประกายของเขาตอนเล่าเรื่อง
“อย่างแรก มันให้ความสุขกับเราตอนนั้นเลย มันไม่งอแง เปิดปุ๊บก็เล่นได้เลย สองคือตอนเด็ก อ่านภาษาญี่ปุ่นไม่ออก ตอนนี้ก็ยังอ่านไม่ออกหรอก พูดทำไม” เราขำ “แต่ผมแค่รู้สึกว่า การเล่นเกมภาษาญี่ปุ่นมันจำตัวอักษรไปเอง แล้วพอโตขึ้นมามันมีตัวที่คุ้นในเกม เราจะออกเสียงถูกแบบฟลุกๆ ในบางคำได้ อย่างซึบาสะ ตัว ‘ซึ’ มันจะเหมือนตัวซี พอเห็นเราก็จำได้ คือเกมมันให้อะไรเราบางอย่างเหมือนกันนะเว้ย ไม่ถึงกับจริงจังขนาดไปเรียนเอกญี่ปุ่นอะไรแบบนั้น แต่เหมือนกับว่าเรารู้วัฒนธรรมญี่ปุ่นเพราะในเกมมันมีสอดแทรกอยู่
“อย่างเบสบอลเนี่ยคนไทยไม่เล่น ไม่รู้จัก แต่ผมเล่นเกมเบสบอลตลับ 24K แล้วก็เข้าใจกติกาว่า เออมึงตีแล้วก็ต้องวิ่งไปเบสหนึ่ง แล้วก็หยุดรอคนที่ 2 ตีแล้วก็วิ่งไปเบสสอง คือเข้าใจไปเองโดยที่ไม่ต้องมีใครสอน กติกาก็รู้ไปเอง มาคิดย้อนๆ ดู มันก็ให้ความรู้เหมือนกัน”
ด่านที่ 3 : คลองถมและสะพานเหล็ก
ที่บ้านของเขามี ‘กำแพงเกม’ อยู่ตรงชั้นลอย บนกำแพงนั้นปรากฏตลับเกมกว่า 700 ตลับตั้งอย่างเป็นระเบียบ ด้านหน้ากำแพงมีเครื่องเล่นเกม ทีวีกรอบสีชมพูเครื่องจิ๋ว พร้อมจอยสติกวางไว้ เตรียมพร้อมสำหรับการเล่นอยู่เสมอ
พล่ากุ้งบอกว่าที่เห็นนี้ไม่ใช่ทั้งหมดที่เขามี ยังมีเครื่องเล่น ตลับเกม เกมกด และหนังสือเกี่ยวกับเกมมากมาย ถูกเก็บไว้ในกล่อง
“จำได้ไหมว่าเกมคลาสสิกเกมแรกที่ได้มาคือเกมไหน” เราถาม
“เกมคลาสสิกเกมแรกไม่ได้เป็นเกมตลับหรอก แต่เป็นเกมกดที่พ่อผมซื้อให้” เขาตอบ “ตอนนั้นโคตรดีใจ เล่นแม่งทั้งวันเลย เล่นจนปุ่มยางหลุดออกจากเครื่อง แล้วก็ปล่อยให้มันหายไป ตอนเด็กไม่มานั่งเศร้าเสียใจอะไรนะ แต่พอโตขึ้น ไปเจอเกมกดแบบเดียวกันที่คลองถม ไม่น่าใช่เครื่องของเราหรอก แต่แบบ เชี่ย ความทรงจำแม่งกลับมา ก็ซื้อเลย แล้วไปเจออีกเครื่องหนึ่งประมาณ 3-4 ปีหลังจากนั้น ก็ซื้ออีก คงเป็นเพราะตอนได้เครื่องนี้มาดีใจมาก เพราะที่บ้านไม่ได้ซื้ออะไรให้เยอะ”
นอกจากคลองถมที่เขาเจอเกมในอดีต อีกสถานที่หนึ่งที่พล่ากุ้งบอกว่าเป็นดั่งขุมทรัพย์ของนักสะสมเกมคลาสสิกคือสะพานเหล็ก
“ผมเริ่มมาเก็บจริงจังตอนอยู่ศิลปากร ตอนนั้นเริ่มประกวดงานชนะ ได้รางวัล เริ่มมีตังค์หลักหมื่น ก็ไปเดินซื้อของแถวสะพานเหล็ก เจอเฮียคนหนึ่งเป็นเจ้าของร้านขายเกมคลาสสิกนี่แหละ คุยกันถูกคอมาก แล้วก็ขอเฮียว่าอยากไปดูของที่บ้านเฮียได้ไหม เฮียก็อนุญาต ผมกดตังค์ 5,000 ไปบ้านแกซึ่งเป็นตึก 4 ชั้น แต่เชื่อไหมว่ามีทุกตารางนิ้วของตึกนั้นมีเกมอยู่เต็มไปหมด
“แฟมิคอม, ซูเปอร์ฯ, ตู้เกม, เกมตลับ, เกมกด, งานกล่องต่างๆ ทำให้เราตื่นตาตื่นใจมาก เราก็ชี้ๆ เอาอันนั้นอันนี้ ไอ้เหี้ย กดตังค์ไป 5,000 คิดตังค์มา 50,000 เราก็จ่ายแบบไม่คิดถึงมูลค่าเงินเลยตอนนั้น เพราะดีใจมาก เชี่ย เหมือนมึงรวมทุกอย่างที่กูชอบมาไว้ในที่เดียว อะไรที่เคยเล่นตอนเด็กก็เจอทุกอย่าง ผมซื้อหมดเลย เป็นวันที่มันมากวันหนึ่งของชีวิตเลย”
ด่านที่ 4 : ไทยแลนด์คลาสสิกทอยแอนด์เกม
เจ้าชายแห่งวงการเกมคลาสสิกคืออีกนามหนึ่งของพล่ากุ้งที่ทุกคนรู้จัก แน่นอนว่าคนที่ตั้งให้จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากตัวเขาเอง “ผมทำเพจชื่อ เจ้าชายแห่งวงการเกมคลาสสิค แต่อัพแคสต์เกม ROV ซึ่งมันก็ขัดแย้งอยู่ อะไรของมึงเนี่ย คลาสสิกแล้ว ROV อะไรของมึงวะ
“ผมอัพ ROV เพราะต้องตามกระแสโลก แล้วมันมีเรื่องอาชีพเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่ถ้าคุณมาถามเรื่องเกมคลาสสิก ผมก็ตอบคุณได้หมดเหมือนกัน” ไม่ใช่แค่พูดไปอย่างนั้น แต่เขายังทำให้เห็นว่าตำแหน่ง ‘เจ้าชายแห่งวงการเกมคลาสสิก’ เหมาะกับเขาจริงๆ ผลงานที่เห็นได้ชัดคือการเป็นโต้โผในการจัดงาน Thailand Classic Toy and Game ที่จัดมาหลายครั้ง คอนเซปต์งานคือการรวบรวมนักสะสมของเล่นและเกมคลาสสิกให้ได้มาพบปะกัน มีการแข่งขันเล่นเกมฮิตอย่างสตรีทไฟท์เตอร์และคอนทรา มีการประกวดของเล่นคลาสสิกชิงแชมป์แห่งประเทศไทย ซึ่งผลตอบรับจากคนร่วมงานนั้นถือว่าน่าพอใจ และมีมากขึ้นเรื่อยๆ ในปีต่อมา
“จุดประสงค์แรกเริ่มของการจัดงานนี้คือ เราอยากรู้ว่ามีคอเกมและของเล่นคลาสสิกในไทยเยอะไหม ปรากฏว่าคนเข้าร่วมงานเยอะมาก เราเข้าใจว่าคนก็โหยหาความรู้สึกเก่าๆ เหมือนเรา ผมเชื่อนะว่าถ้าทุกคนไปเจอสิ่งที่เคยผูกพันตอนเด็ก มันจะแวบเข้ามาแบบ เชี่ย อันนี้ตอนเด็กๆ เราเคยมี เราเคยเล่นเว้ย แล้วมันหายไปนานแล้ว แต่ตอนนี้กูมีตังค์แล้วไง กูซื้อดิ งานนี้ก็ตอบโจทย์คนที่ยังมาสนุกกัน ได้คุยภาษาเดียวกัน เหมือนเป็นวันเด็กหนวดนะ คือแม่งคนแก่มารวมกันแต่มึงเป็นวัยเด็ก คือต้องเป็นวันที่ลูกมึงยืนดูมึงเล่นเกม พ่อแม่งนั่งเล่นคอนทรา แต่ลูกแม่งยืนดู ก็ตลกดี”
ด่านที่ 5 : บ้านผม
นับตั้งแต่วันที่ไปเหมาเฮียที่สะพานเหล็ก การสะสมเกมคลาสสิกของพล่ากุ้งก็ดำเนินมาเรื่อยๆ จวบจนวันนี้ก็เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว
และบางทีสำหรับเขา นี่อาจจะเป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับการบอกลา
“ผมมาถึงจุดที่ต้องย้ายบ้าน แล้วของที่บ้านเก่ามันเต็มไปหมดจนแทบไม่มีที่เดิน ก็เลยคิดได้ว่า เออ หรือบางทีขายดีกว่าไหม มันอยู่กับเรามา 20 ปี บางอันอยู่ในซอง ไม่ได้แกะ มันก็ไม่มีคุณค่าอะ” พล่ากุ้งเล่าให้ฟังถึงที่มาของ ‘พล่ากุ้งกรุแตก’ ไลฟ์สดในโซเชียลมีเดียที่เขาและเพื่อนได้เกณฑ์ของสะสมออกมาขายทีละชิ้น
“สำหรับผม ของพวกนี้ได้ทำหน้าที่ของมันแล้ว คือการทำให้เรามีความสุขตอนที่เห็นมันครั้งแรก เห็นที่ร้านปุ๊บ เฮ้ยเอาพี่ อันนี้เอาเท่าไหร่ 500 โหพี่ 300 แล้วกัน อะได้ๆ เนี่ยแม่งจบแล้วความสุขตรงนั้น ได้เจอ ได้ครอบครอง สามคือต่อราคาแล้วเขาลดให้ เอากลับมาบ้าน เปิดทีหนึ่ง เสียบเล่นสักนิดหนึ่ง 3-5 นาที โทรศัพท์เข้า เอ้าคุยงานยาวเลย” เขาหัวเราะ พร้อมเสริมว่าสิ่งหนึ่งที่จะไม่ขายแน่ๆ ตอนนี้คือตลับเกมบนกำแพงที่เขาออกแบบให้เป็นมุม ‘ย้อนวัย’ ในบ้าน
“มองย้อนกลับไป การสะสมเกมคลาสสิกมันให้อะไรกับคุณบ้าง” เราถาม
“คนเรานะ ถ้าเกิดว่ายังเป็นคนธรรมดาทั่วไป ยังมีรัก โลภ โกรธ หลง ผมว่าความสุขที่เกิดจากสิ่งของก็ถือว่าเป็นอะไรที่ดีต่อจิตใจของเรา ไม่ได้สอนให้ยึดติดสิ่งของนะ แต่ว่าปฏิเสธไม่ได้ว่าจริตของคนเราต้องมีอะไรที่คุณชอบสักอย่าง ของที่เหมือนเป็นน้ำหล่อเลี้ยงชโลมจิตใจ
“ยุคสมัยนี้แม่งมีเรื่องเครียดเยอะแยะมากมายอยู่แล้ว ซึ่งความสุขเล็กๆ น้อยๆ ใกล้ตัวพวกนี้แหละที่ช่วยเราให้มีความสุข เป็นสิ่งของอะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ได้แพงเวอร์หรือว่าไปขโมยคนอื่นเขามา อย่างของผม ผมแค่เดินมาเห็นกำแพงเกมทุกวัน มันไม่ได้ทำอะไรเลย แค่ตั้งอยู่ตรงนั้น แต่ผมกลับเห็นวัยเด็กที่ครั้งหนึ่งเคยชอบ เคยหลงใหล จำได้ว่าเกมนี้กูไม่ผ่านเว้ย เกมนี้กูเคยเล่นกับแฟนตอนเด็กเว้ย เกมนี้เคยนั่งบี้กับเพื่อนตั้งแต่ 7 โมงยันตีสอง โมเมนต์พวกนี้ผมว่ามันจดอยู่ในสมองเรา บางทีมันลืมไปแล้ว พอเราเจอมัน ความทรงจำในลิ้นชักที่เราลืมไปแล้วมันกลับมา ผมว่าตรงนี้แหละที่ทำให้เรามีความสุข
“และมันยังยืนยันว่าผมสามารถทำงานกับมันได้ ทำเงินจากมันได้ ได้แชร์ความรู้นี้กับคนอื่นๆ เป็นเรื่องที่คุยให้คนอื่นที่สร้างอีเวนต์ให้ผมทำงาน แล้วมีคนอีกไม่รู้กี่พันกี่หมื่นคนได้เข้ามาดูและย้อนอดีตไปด้วยกัน จากแค่ตลับเกมที่ผมเดินซื้อตอนเรียนอยู่ศิลปากรแบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่ สะสมมั่วๆ ซั่วๆ ผมว่ามันต่อยอดไปได้เยอะมากแล้วนะ”
8 Bit in His Mind
ไปถึงบ้านนักสะสมเกมคลาสสิกทั้งที เราจึงขอให้พล่ากุ้งจัด 5 ไอเท็มเกมคลาสสิกชิ้นที่พิเศษและมีความทรงจำร่วมด้วยมากที่สุดมาให้ดูหน่อย หลังจากครุ่นคิดอยู่นาน เขาก็ให้ยก 5 ชิ้นด้านล่างมาอวดเรา
นินจา 24 K
“ตลับนี้เป็นเกมแรกที่เราได้มาเล่นที่บ้าน เม้งเพื่อนมา ตอนแรกกะจะครอบครองแล้วแต่สุดท้ายก็เอาไปคืนเพื่อน ซึ่งตลับที่เห็นอยู่นี้เป็นตลับแท้จากญี่ปุ่น”
เกมกด TRONICA
“เกมกดที่พ่อซื้อให้ครั้งแรกในชีวิต ซึ่งชิ้นนี้ไม่ใช่อันที่พ่อให้นะ ชิ้นนั้นหายไปไหนแล้วก็ไม่รู้ เป็นเกมกดที่เป็นเครื่องคิดเลขในตัว ซึ่งผมได้ชิ้นนี้มาจากคลองถม”
ซูเปอร์พล่ากุ้ง
“ตลับมาริโอ้ 1 ดีไซน์เป็นหน้าผม ไม่มีแค่ภาพบนปกนะ เปิดเกมก็มีพล่ากุ้งวิ่งอยู่ในเกมเหมือนกัน อันนี้ได้มาเพราะบังเอิญไปเจอโปรแกรมเมอร์ที่เขียนเกม เขามาเที่ยวงานเกมที่เราจัด เลยจ้างเขาทำ”
คอนทรา
“คนไทยจะรู้จักคอนทราจากตลับเกมชุด 66 in 1 แต่นี่คือตลับลิขสิทธิ์แท้ของคอนทรา จะมี Cut Scene แบบที่ตลับปลอมไม่มี อันนี้ได้มาจากการแข่งประมูลจากเว็บในไทย ”
Dragonball Z
“ผมชอบการ์ตูนเรื่องนี้มาก เลยอยากเก็บของแท้ เป็นงานกล่องที่มีความสวย ไล่มาตั้งแต่ภาค 1 ภาค 2 ภาค 3 Z1 Z2 Z3 แล้วก็ภาคสุดท้าย ครบเซต เกมก็เล่นสนุก เป็นภาษาญี่ปุ่นแต่เล่นรู้เรื่องได้ยังไงก็ไม่รู้เหมือนกัน”