จระเข้จะตายในวันที่ 100 : ตอนจบของการ์ตูนที่บอกว่าชีวิตสั้น แต่ทุนนิยมยืนยาว

Highlights

  • ‘จระเข้ตายในวันที่ 100’ คือซีรีส์การ์ตูนแก๊ก 4 ช่องว่าด้วยชีวิตธรรมดาๆ ของจระเข้หนุ่มที่ทุกตอนระบุว่าเขาจะตายลงในอีกกี่วัน
  • การ์ตูนเรื่องนี้ถูกเผยแพร่ทางทวิตเตอร์ของผู้เขียนวันละแก๊ก เป็นจำนวน 100 แก๊ก สร้างเสียงฮือฮาได้เป็นอย่างมาก บางตอนมียอดรีทวีตถึงเจ็ดแสนครั้ง
  • ทันทีที่เจ้าจระเข้หนุ่มจบชีวิต ผู้เขียนก็โพสต์รูปโปรโมตว่าต่อจากนี้คาแร็กเตอร์จระเข้หนุ่มจะกลายเป็นสารพัดสินค้า สร้างความเดือดดาลให้คนอ่านที่กำลังซึ้ง และตั้งคำถามว่าศิลปะกับทุนนิยมจะอยู่ร่วมกันยังไง

หากไม่ใช่การ์ตูนแอ็กชั่นหรือสยองขวัญ ความตายของตัวละครใดๆ มักเป็นเรื่องใหญ่เสมอ และในชั่วชีวิตของเราคงยากเหลือเกินที่จะได้เห็นสนูปปี้ โดราเอมอน ชินจัง การ์ฟิลด์ หรือน้องมะม่วงไปสู่สุคติ เพราะคาแร็กเตอร์ดังๆ เหล่านั้นมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล เป้าหมายสูงสุดของนักเขียนการ์ตูนโดยมากจึงเป็นการสร้างคาแร็กเตอร์ที่มีชีวิตเป็นที่รัก ที่จดจำ และเป็น ‘อมตะ’ อยู่ในโลกของมันและในใจของคนอ่านเสมอแม้กระทั่งในวันที่คนเขียนจากโลกนี้ไปแล้ว

แต่การ์ตูนเรื่อง ‘จระเข้ตายในวันที่ 100’ (100日後に死ぬワニ) แทงสวนความคุ้นเคยเหล่านั้นไปสิ้น เป็นซีรีส์การ์ตูนแก๊ก 4 ช่องว่าด้วยชีวิตธรรมดาๆ ของจระเข้หนุ่มที่วันๆ ดูโทรทัศน์หัวเราะเอิ๊กอ๊าก ไปทำงาน กินราเม็ง ปาร์ตี้กับเพื่อน หรือมีความรัก เป็นเรื่องราวเรียบง่าย อ่อนโยนดุจได้จิบชารับลมยามเย็นในสวนสาธารณะ หากว่ามันไม่มีข้อความที่ระบุไว้ในท้ายแก๊กของทุกตอนว่าจระเข้ตัวนี้จะตายลงในอีกกี่วัน

ภาพจาก marumura.com/100-nichi-go-ni-shinu-wani

การ์ตูนเรื่องนี้ถูกเผยแพร่ทางทวิตเตอร์ของผู้เขียน @yuukikikuchi วันละแก๊ก เป็นจำนวน 100 แก๊ก ตามจำนวนวันที่เหลืออยู่บนโลกของจระเข้หนุ่ม สร้างความรู้สึกในการอ่านอย่างแปลกประหลาด กล่าวคือวันเวลาที่คนอ่านใช้ไปกับตัวละครเพื่อค่อยๆ ซึมซับเรื่องราว รู้จักชีวิตและนิสัยใจคอของเจ้าจระเข้จนเริ่มรู้สึกชอบและผูกพัน กลายเป็นช่วงเวลาเดียวกับเวลาที่เรากำลังเคานต์ดาวน์ไปสู่ความตายของมันอย่างช้าๆ ทุกครั้งที่รู้สึกตลกหรือเอาใจช่วยตัวละครให้สมหวังในชีวิตจึงมักมีความเศร้าเจือในนั้น

ด้วยกลวิธีการเล่าที่แปลกใหม่ ตัวละครที่มีชีวิตชีวา และการเล่นกับความเป็นความตายอย่างเก่งกาจ การ์ตูนเรื่องนี้จึงได้รับความนิยมจากนักอ่านญี่ปุ่นถล่มทลาย มีคนรีทวีตแต่ละตอนตั้งแต่สามหมื่นไปจนถึงเจ็ดแสนครั้ง และยิ่งทวีความโด่งดังมากขึ้นในวันที่เจ้าจระเข้ใกล้จบชีวิต ราวกับคนอ่านนับแสนนับล้านกำลังร่วมเป็นสักขีพยานในวันตายของตัวละครที่พวกเขาชื่นชอบ ทั้งลุ้นว่าจะมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นไหม ทั้งสงสัยว่าจะตายในรูปแบบใด ซึ่งเมื่อวันนั้นมาถึงมันก็เป็นฉากจบที่งดงามยิ่ง เป็นความตายที่ทำให้ใครหลายคนได้ใคร่ครวญถึงความหมายที่แท้ของการมีชีวิตอยู่ 

หากการไปงานศพของคนสนิททำให้เราโศกเศร้าพร้อมๆ กับรับรู้ถึงสัจธรรมว่า ‘ชีวิตก็เท่านี้’ ความตายของตัวการ์ตูนยอดฮิตเป็นได้มากกว่านั้น เพราะเพียงประมาณ 2 ชั่วโมงหลังจากที่ชีวิตเจ้าจระเข้ปิดฉาก ผู้เขียนก็โพสต์รูปโปรโมตว่าจากนี้เจ้าจระเข้จะกลายเป็นหนังสือ แอนิเมชั่น คาเฟ่ รวมไปถึงสารพัดของกุ๊กกิ๊กให้แฟนคลับช้อปปิ้งกันได้

ภาพจาก facebook.com/wajapan.th

เมนูในคาเฟ่ที่ตอนนี้ปิดตัวเพราะโควิด / ภาพจากแอ็กเคานต์ทวิตเตอร์ @100_wani_cafe

น้ำตานักอ่านหลายคนที่กำลังไหลด้วยอาลัยและดื่มด่ำสัจธรรมยังไม่ทันแห้งก็เดือดดาลกับนักเขียนที่เอาความตายของตัวละคร (รวมถึงความรัก ความผูกพัน และความเศร้าที่พวกเขามีต่อมัน) มาหากิน ไม่เพียงแค่นั้นบริษัทที่มีส่วนร่วมในการจัดจำหน่ายสินค้ายังขึ้นชื่อด้านการกดขี่แรงงานจนมีพนักงานฆ่าตัวตาย คานกับสัจธรรมที่คนอ่านได้พบจากการ์ตูน กระแสด้านลบในโซเชียลมีเดียจึงสาดซัดใส่ผู้เขียนอย่างรุนแรงจนเขาต้องออกมาแถลงคำขอโทษ–ทั้งน้ำตาเช่นกัน 

ความตายของจระเข้หนึ่งตัวจึงกลายเป็นโศกนาฏกรรมย่อมๆ ระหว่างผู้เขียนและผู้อ่าน ราวกับต่างฝ่ายต่างช่วงชิงกันเป็นเจ้าภาพงานศพ แต่แท้จริงแล้วชีวิตของจระเข้ตัวนี้เป็นของใคร

มองลึกลงไปในกระบวนการสร้างสรรค์ การเกิดขึ้นของชีวิตตัวละครใดๆ ล้วนเป็นการโกหกพกลมจากจินตนาการของผู้เขียน เขาอาจสร้างเรื่องโกหกเหล่านั้นเพื่อสะท้อนสัจธรรมบางอย่าง อาจเพื่อแสวงหาความสำเร็จทางวิชาชีพ หรือเพื่อระลึกถึงเพื่อนที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ (ตามคำแถลงผู้เขียนเรื่องจระเข้) แต่เรื่องโกหกเหล่านั้นจะถูกปลุกให้จริงขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อมีคนมาอ่านและเชื่อมัน เชื่อว่าลายเส้นยึกๆ ที่มีสีเขียวๆ นี้คือจระเข้ เชื่อว่าจระเข้ตัวนี้พูดได้แบบมนุษย์ เชื่อว่ามันชอบกินราเม็ง มีความรัก ความฝัน และความตาย เชื่อมากพอที่จะจดจำและชื่นชอบ ก่อนที่ทุนนิยมจะอาศัยความเชื่อและความชอบเหล่านั้นมาเซ็นสัญญากับผู้เขียนเพื่อเอามันไปขายทำกำไร

ในกระบวนการดังกล่าวจึงมีเพียงคนอ่านเท่านั้นที่มองชีวิตและความตายของเจ้าจระเข้อย่างบริสุทธิ์ หลายคนอาจมองไม่เห็นว่าการ์ตูนที่ตนอ่านฟรีมา 100 ตอน ศิลปินต้องเสียต้นทุนความคิด เรี่ยวแรง ทรัพยากร และเวลาไปเท่าไหร่ กระทั่งการสร้างผลงานให้เป็นที่ชื่นชอบของคนจำนวนมากพอที่จะสร้างเม็ดเงินได้ระดับนี้ก็เป็นเรื่องยากมากและอาศัยโชคเป็นองค์ประกอบไม่น้อย หากไม่คว้าโอกาสจากบริษัทที่ติดต่อเข้ามาและขายสินค้าในตอนที่ยังมีคนอ่านยังจดจำตัวการ์ตูนได้ (แม้จะผิดจังหวะไปหน่อย) ก็อาจไม่มีโอกาสอีกเลยชั่วชีวิต 

บางครั้งเงินอาจทำให้ความบริสุทธิ์ของศิลปะแปดเปื้อน แต่คงยากที่จะมีใครอยากเป็นแบบแวน โกะห์ ที่ทั้งชีวิตยากลำบาก งานขายออกชิ้นเดียว และป่วยใจจนฆ่าตัวตาย ก่อนที่ความตายและเรื่องราวของเขาจะกลายเป็นปัจจัยที่ถีบราคาให้เขากลายเป็นหนึ่งในศิลปินที่มีผลงานแพงที่สุดในโลก การเป็นศิลปินที่ใช้ความตายของผลงานเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ตัวเองอย่างกรณีนี้ย่อมมีโอกาสสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีได้มากกว่า หล่อเลี้ยงการประกอบอาชีพศิลปินได้ยืนยาวกว่า หรือมีเงินไปเลี้ยงดูครอบครัวได้ดีกว่า 

แต่ใครเล่าจะปฏิเสธคุณค่าในเรื่องเล่าของเจ้าจระเข้ ปฏิเสธว่าสิ่งที่กระทบใจขณะอ่านมันไม่จริง ถึงฉากสุดท้ายตัวละครจะลาลับแต่ชีวิตของเจ้าจระเข้ถูกปลุกขึ้นมาใหม่ได้เสมอ ไม่ว่ากี่ครั้ง ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

AUTHOR