QUARTER-LIFE CRISIS : เบื้องหลังการ์ตูนสี่ช่องของ TUNA Dunn ที่เล่าเรื่องความสัมพันธ์หนุ่มสาวในช่วงวิกฤติ

หากนิยามถึงใครสักคนหนึ่งอย่างสั้นกระชับและได้ใจความ เราจะเลือกใช้ชุดคำว่า ‘สื่อสารน้อย’ ‘เรียบง่าย’ ‘จริงใจ’ และ ‘ต่อเนื่อง’ ให้เป็นคุณสมบัติในการทำงานโดยรวมของศิลปินอย่าง TUNA Dunn หรือ ตุลยา ตุลย์วัฒนจิต นักวาดภาพประกอบสาวชาวไทยลายเส้นอินเตอร์ ที่บอกเล่าความสัมพันธ์อันแสนเปราะบางของคนหนุ่มสาวในเมืองได้อย่างละเอียดลออ จนสามารถเข้าไปนั่งในใจคนอ่านรุ่นใหม่หลายๆ คน

ถ้าเป็นแฟนการ์ตูนของ TUNA Dunn คุณจะรู้เลยว่าเธอเป็นคนวาดภาพการ์ตูนสี่ช่องให้ Giraffe นิตยสารแจกฟรีสำหรับวัยรุ่น ตั้งแต่ฉบับแรกเดือนตุลาคม 2014 จนกระทั่งฉบับสุดท้ายในเดือนพฤษภาคม 2017 การ์ตูนเรื่องนี้เกี่ยวกับวิกฤติของความสัมพันธ์ อารมณ์อันอ่อนไหว การดำรงอยู่ของมนุษย์ ที่หลายครั้งทำให้เราลุ่มหลง ผลงานทั้งหมดถูกรวบรวมและมีบางส่วนที่เขียนขึ้นใหม่

รวมเป็นจำนวน 100 ชิ้นมาลงใน QUARTER-LIFE CRISIS หนังสือกะทัดรัดเล่มใหม่ล่าสุดของตุลยา

หลังเว้นจากการออกหนังสือนานถึง 2 ปี เราตัดสินใจชวนเธอมาเล่าให้ฟังว่าก่อนกลายเป็นการ์ตูนเล่มนี้ผ่านขั้นตอนอะไรมาบ้าง เรากระหายที่จะรู้ เพราะไม่บ่อยที่จะได้เห็นคนรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นมาวาดการ์ตูนสี่ช่องอย่างต่อเนื่องและมีคนติดตามในเพจบนเฟซบุ๊กจำนวนแปดหมื่นกว่าคนเลยทีเดียว


01 จากการ์ตูนในนิตยสาร Giraffe สู่หนังสือเล่มใหม่

QUARTER-LIFE CRISIS เกิดจากการลงคอลัมน์ประจำในนิตยสาร GIRAFFE ที่วางแผงทุก 2 สัปดาห์ ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ แล้วสำนักพิมพ์ SALMON BOOKS เขาอยากทำหนังสือรวมเล่ม เลยรวมจาก GIRAFFE ได้ประมาณ 60 เรื่อง ทำตั้งแต่นิตยสารปกลุงเนลสัน ฮาว (Nelson Howe) ในเล่มแรก จนกระทั่งเล่มสุดท้าย แล้วอีก 40 เรื่องหลัง เราทำขึ้นใหม่ เมื่อรู้ว่าต้องรวมเป็นเล่มนี้ เรื่องหลังเลยไม่เคยลงเพจมาก่อนเลย”

“ด้วยความที่เรื่องราวในแต่ละตอนค่อนข้างสะเปะสะปะมาก พอเอามารวมเล่ม ข้อมูลที่เรารับมาเป็นไอเดียในการวาดเป็นการ์ตูนสี่ช่องจะสุ่มมากๆ ตอนแรกสำนักพิมพ์อยากให้จัดเป็นกลุ่มก้อนในแต่ละบท พยายามจัดหมวดหมู่ แต่เราว่าแบบนั้นไม่ค่อยเหมาะ เราก็ปวดหัวเหมือนกันว่าจะลงให้ดูเป็นเรื่องเดียวกันได้ยังไง เลยตัดสินใจให้วางตามลำดับของงานที่ทำตั้งแต่ต้นจนจบไปเลย เพราะฉะนั้นเปิดตั้งแต่หน้าแรกจะเป็นทำงานชิ้นแรกจนกระทั่งชิ้นสุดท้าย”


02 เขียนการ์ตูนจากไอเดียที่เรียบง่าย

“งานในเล่มนี้ เราวาดอยู่ในกรอบที่เขาตั้งมาให้ว่า in the relationship ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากความมโน น้อยมากที่จะเป็นเรื่องจริง และแทบจะศูนย์เปอร์เซ็นต์ที่มาจากตัวเอง ส่วนมากไอเดียจะมาจากการดูหนังและฟังเพลงผสมผสานกัน”

“ส่วนมากเราเสพสื่อจากฝั่งตะวันตก ถ้าให้สมเหตุสมผลจะเป็นหนังแนวหนังโรแมนติก ส่วนเพลงเราฟังสะเปะสะปะมาก จะชอบเก็บเพลงที่เนื้อหาดี สะดุดกับเนื้อเพลงเรียบๆ ง่ายๆ เช่นเพลงLiar ของ Mumford & Sons แค่เพลงประโยคเดียวเราก็รู้แล้วว่าเขาอยู่ในสถานการณ์แบบไหน การ์ตูนเราก็ประมาณนั้น”

“ถ้าเป็นหนังจะเป็นหนังเรื่อง (500) Days of Summer เพราะเหมือนการ์ตูนของเราที่ดูมีความน่ารักฉาบทาอยู่แต่ว่าพอจบมันทำร้ายคนดู ไม่ได้หยิบยื่นความน่ารักสมหวังให้คนดูเท่าไหร่”

“คอนเซปต์การวาดการ์ตูนของเราไม่ได้มีวิธีคิดเยอะอะไรเลย อาจจะแย่ต่อคนสัมภาษณ์หน่อยนะ แต่เราไม่ได้คิดซับซ้อนจริงๆ คือเวลาทำงานถ้ามีไอเดียอะไรที่ผุดขึ้นมาในหัวในช่วงระยะเวลาที่ต้องส่งงานก็คืออันนั้นเลย คิดง่าย สื่อสารเรียบ ทำเร็ว”


03 สร้างสรรค์เรื่องราวสะท้อนตัวตนเรียลๆ

“ในการ์ตูนเราจะนิ่ง จริงๆ เราเป็นคนเครียดๆ คนหนึ่ง เครียดไปหมด ไม่ได้เป็นคนเพ้อฝันว่าชีวิตต้องสวยงาม มองทุกอย่างเรียลๆ แล้วเราไม่ค่อยชอบเขียนถึงเรื่องตัวเอง เพราะเขียนแล้วมันจั๊กจี๊ รู้สึกขนลุกเลย แล้วครึ่งเล่มแรกเรายังไม่เคยมีความรักเลยยิ่งเป็นศูนย์เลย อาจจะมีเรื่องจากคนรอบตัว จากเพื่อนๆ แต่น้อยมาก เพราะประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นใหม่หมดเลย”

“ที่เห็นเรื่องที่เขียนอาจเศร้าหน่อย แต่เรามีความสุขและโอเคดีนะ (หัวเราะ) แต่แค่ไม่อยากมอง เป็นความรักหวานแหววขนาดนั้น จริงๆ เราว่าเรื่องที่เขียนไม่เศร้า เราแค่เขียนออกมา เพราะเราต้องเตรียมตัวพบกับเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดตลอดเวลา เราคิดว่าทุกอย่างอาจจะพังได้ทุกเมื่อ การมองโลกแบบนี้เป็นวิธีการป้องกันตัวอย่างหนึ่งที่ห้ามเราคาดหวังมากจนเกินไป อย่าคิดว่าทุกอย่างจะจบลงอย่างสวยงามเท่านั้น ถ้าเราคิดว่าชีวิตมันสวยงามแล้วมันหักหลังเราขึ้นมา เราจะรับมือได้ยากกว่าคนที่รู้ว่าชีวิตไม่สวยงาม”

“สำหรับเนื้อหาจะไม่พรรณนามาก บางอันไปถึงจุดที่ว่าเราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเราจะเขียนอะไร แต่เราจะวาดช่องแรกไปก่อน แล้วพยายามวาดให้จบสี่ช่องให้ได้ มีบางอันเป็นแบบนั้นเหมือนกันแบบไม่มีไอเดียเลย แต่พอลองวาดออกมาก่อนแล้วหาทางลงได้ บางอันต้องด้น บางอันอาจวางแผน บางอันก็ไม่วางแผนเลย”


04 เลือกใช้อุปกรณ์ที่ง่ายสื่อสารเรื่องราวง่ายๆ

“เราใช้คอมพิวเตอร์กับเมาส์ปากกาง่ายๆ เวลาวาดรูปไม่ค่อยร่างด้วยดินสอ เพราะถ้าร่างแล้วจะเละเทะสะเปะสะปะมากๆ บางครั้งพยายามเขียนโพสต์อิตว่าเราต้องวาดรูปไหนบ้าง บางครั้งตอนมีไอเดียขึ้นมา เราไม่วาดตัวคนให้ชัดด้วยซ้ำ เราจะเน้นการเล่าด้วยคำหรือประโยคมากกว่า เหมือนบทสนทนามาก่อน แล้วตัวละครค่อยตามมาทีหลัง”

“เราเป็นคนชอบเส้นที่หนักแน่น ตอนเขียนเล่มนี้ ถ้าต้องร่างจริงๆ บางทีเราจะใช้ปากกามาร์กเกอร์หัวเล็กๆ ร่างออกมา เพราะเราเป็นคนวาดรูปแล้วออกแรงมาก ดังนั้นเลยทำให้เราวาดภาพสีน้ำไม่ได้เลย เพราะว่าเราชอบลงน้ำหนักในการวาด แล้วก็เป็นคนวาดชุ่ยประมาณหนึ่ง เลยต้องใช้ปากกาหัวเล็กๆ วาด ตอนที่เราวาดให้ GIRAFFE เดือนละสองครั้ง ตอนนั้นเราแทบจะไม่ได้ร่างเลย ไม่มานั่งนับด้วยว่าโอเคไหม เวลาเราวาด เราวาดเร็วๆ เลย เพราะเราเป็นคนโดนฝึกให้ทำงานเร็วๆ อยู่แล้วประมาณหนึ่งตั้งแต่ช่วงมหาวิทยาลัย พอเรามาทำงานประจำที่ฟังใจเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นงานออนไลน์ก็ต้องทำแบบไวมากๆ เพราะต้องทำเยอะๆ เร็วๆ”


05 นำเสนอการ์ตูนสี่ช่องที่ตัวละครเป็นใครก็ได้

“ส่วนใหญ่การ์ตูนที่เราสื่อสารในเล่มนี้ จะเป็นเหตุการณ์สั้นๆ ตัวละครเป็นใครก็ได้ อาจจะไปเชื่อมโยงเข้ากับใครก็ได้ไม่เจาะจง ถ้าเราเป็นคนเมืองเราจะไม่เล่าอะไรที่เราไม่รู้จัก อย่างเราไม่ชอบธรรมชาติ ไม่ได้อินขนาดนั้น เราก็จะไม่ได้วาดธรรมชาติหรือสัตว์ ถ้าสัตว์เราก็วาดหมาที่อยู่ในบ้าน”

“เราไม่เล่าเรื่องราวที่กินระยะเวลาที่ยาวนาน รวมๆ แล้วทุกอันน่าจะเกิดขึ้นภายในเวลาไม่เกิน 10 นาทีเลย อาจเป็นแค่บทสนทนา 1 – 5 นาทีก็จบเรื่องแล้ว เราจะไม่ทำให้มันเล่าอะไรมากกว่าที่มันเล่าได้ แล้วไม่อยากให้เป็นเรื่องรักใคร่มาก เราเบื่อแล้ว บางอันที่เราวาดไม่ได้เป็นเรื่องรักขนาดนั้น แต่เป็นความสัมพันธ์หรือความรู้สึกที่เผชิญวิกฤติกับบางอย่าง”


06 บทสนทนาภาษาอังกฤษอันเป็นเอกลักษณ์

“เราไม่ถนัดใช้ภาษาไทยเท่าไหร่ เราใช้คำศัพท์ไม่สวย เพราะวิชาภาษาไทยไม่ใช่วิชาที่เราเก่งด้วย (หัวเราะ) ตั้งแต่เด็กวิชาที่เก่งคือศิลปะและภาษาอังกฤษ ดูแบบน่าหมั่นไส้มากเลย แต่มึงเป็นคนไทยทำไมมึงเขียนภาษาอังกฤษล่ะ แต่มันก็เป็นอย่างนี้แหละ เราเลยเลือกเล่าด้วยภาษาอังกฤษมาตลอด”


07 สร้างการรับรู้ด้วยการใช้สีที่คุมโทนทั้งเล่ม

“ก่อนหน้าที่จะมาเป็น QUARTER-LIFE CRISIS ตอนที่ไม่รวมเล่ม สีของการ์ตูนจะสะเปะสะปะมาก เราเลยคิดว่าถ้าเป็นเรื่องทั้งหมดในเล่มนี้เราอยากสืื่ออารมณ์ด้วยสีอะไร เราอยากให้ทั้งเล่มมีเอกภาพ เลยจิ้มสีใน palette มาประมาณ 6 สี แล้วลงสีทั้งหมด”

“เราเลือกใช้สีน้อยๆ ให้คุมโทนสลับไปทั้งเล่ม เพราะเราเบื่อสีที่เคยใช้ในผลงานก่อนๆ เราเลยอาจจะเลือกใช้สีน้ำเงินและชมพู เราอยากให้งานดูโตขึ้น ให้ไม่ป๊อปจนเกินไป เราเลยดรอปสีให้เบาลง เพราะช่วงหลังๆ เราชอบโทนสีเขียวอ่อน อาจมีการผสมกัน อย่างสีเขียวอ่อนแมตช์กับสีเนื้อ แต่บางอันต้องใช้สีมาเล่าเรื่องจริงๆ เลยต้องมีสีโผล่มาเพื่อทำให้เนื้อเรื่องสมบูรณ์ ซึ่งน้อยมากเลยที่จะเป็นแบบนั้น”


08 ชื่อเรื่องสั้นๆ ที่ผุดขึ้นมาเอง

“ขั้นตอนปกติคือเราจะวาดเรื่องให้จบทั้งหมดก่อน แล้วค่อยตั้งชื่อเรื่องที่สื่อสาร ขั้นตอนนี้เราจะอธิบายได้ยาก เพราะอยู่ๆ ชื่อจะมาเอง (หัวเราะ) จะเป็นคำที่สรุปรวบเดียว เพราะจริงๆ คนเขาขี้เกียจอ่านอะไรเยอะขนาดนั้นอยู่แล้วนะ”

“อย่างคำโปรย LOVE IS WEIRD, LIFE IS WEIRDER ก็มาจากที่เราคิดว่าคนน่ะประหลาด ชีวิตก็ประหลาด รวมๆ แล้วก็แปลก อยู่ดีๆ เราก็เกิดมาแล้วก็ทำอะไรกันก็ไม่รู้ แล้วก็ตายไม่เห็นมีอะไรเลย แล้วมันก็ไม่ได้มีเป้าหมายอะไรขนาดนั้น มันดาร์กไปไหมเนี่ย (หัวเราะ)”


facebook | TUNA Dunn

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

AUTHOR