ซุป 12TH MAN นักสะสมการ์ดฟุตบอล ผู้ครอบครองการ์ดราคา 1 ล้านบาทที่ทั่วโลกตามหา

“เรื่องนี้เข้าใจยากหน่อยนะ” ซุป–อิทธิ นานา เปิดประโยคสนทนาพร้อมรอยยิ้มต่อหน้ากอง การ์ดนักฟุตบอลหลายพันใบตรงหน้าเขา

ไม่แปลกหรอกที่จะคิดแบบนั้น เพราะตลอดเวลาที่เขาเก็บสะสมมา วัฒนธรรมการ์ดเป็นเรื่องเฉพาะทางที่น้อยคนจะสนใจ คนส่วนมากที่ได้รู้มักตั้งคำถามกับซุปเสมอ

“แค่การ์ดเนี่ยนะ จะเก็บไปทำไม”

แต่ก็เหมือนกับเหตุผลของนักสะสมอื่นๆ ซุปมักตอบกลับไปด้วยคำสั้นๆ

“เพราะชอบไง แค่นั้นก็พอแล้ว”

การ์ดนักฟุตบอล

เมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้า ข่าวการขายการ์ดโปเกมอนราคา 14 ล้านบาทของคนไทยรายหนึ่งทำให้วัฒนธรรมการ์ดเริ่มเป็นที่พูดถึงแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

จากตรงนั้นเอง การ์ดนักกีฬาโดยเฉพาะการ์ดนักฟุตบอลก็พลอยได้รับผลดีจากเรื่องนี้ไปด้วย จากที่มีคนสะสมเพียงกลุ่มเล็กๆ วงการการ์ดนักฟุตบอลกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และเป็นปรากฏการณ์นี้เองที่ทำให้เราได้รู้จักกับซุปในฐานะเจ้าของเพจ 12TH MAN เพจการ์ดนักฟุตบอลที่มักมีการ์ดเด็ดๆ มาอวดเป็นประจำ

อะไรในแผ่นกระดาษขนาดพอดีมือนี้ที่ทำให้คนหลงใหลและอยากเข้ามาเป็นเจ้าของ–เราหอบความสงสัยนั้นมาพูดคุยกับเขาในบ่ายวันหนึ่ง

“ผมจะพยายามอธิบายที่มาให้คนทั่วไปเข้าใจแล้วกัน” ซุปย้ำอีกครั้งก่อนเริ่มต้นพาเราไปทำความรู้จักกับจักรวาลนักสะสมของเขาที่เต็มไปด้วยการ์ดนักฟุตบอลหลายพันใบ

การ์ดนักฟุตบอล

เด็กหงส์ผู้หลงใหล

เด็กชายซุปชอบดูฟุตบอลเพราะพ่อ

ด้วยความที่เป็นอดีตนักฟุตบอล พ่อของซุปปลูกฝังให้ลูกๆ รู้จักฟุตบอลตั้งแต่เด็ก พี่ชายคนโตของเขามีชื่อว่าบอลด้วยซ้ำ และตั้งแต่จำความได้ การตื่นขึ้นมาดูบอลกลางดึกก็ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับครอบครัวเขาแต่อย่างใด

“ครั้งแรกน่าจะฟุตบอลโลกปี 1990 พ่อปลุกผมตอนตี 2 เพื่อมาดูบอลกับพ่อ”

หลังจากนั้นด้วยสิ่งแวดล้อมที่เกื้อหนุน ความรักในฟุตบอลของซุปก็มีแต่มากขึ้น เขาเล่าให้ฟังว่าตัวเองไม่ได้ดูฟุตบอลแค่เพื่อผลการแข่งขัน แต่ดูไปถึงฟอร์มนักเตะรายคนและแท็กติกการเล่น จนสามารถเพลิดเพลินกับเกมได้ตั้งแต่นาทีที่ 1 จนถึง 90 แบบไม่มีเบื่อ

“ถ้าว่างๆ ไม่มีอะไรทำผมจะดูบอล อย่างสมัยก่อนผมจะดูบอลที่ถ่ายทอดสดในโทรทัศน์ เริ่มจากบอลลีกเยอรมันตอน 2 ทุ่ม ต่อด้วยบอลลีกอังกฤษตอน 4 ทุ่ม ถ้ายังไม่ง่วงก็ต่อด้วยบอลสเปนตอนตี 1 จบแล้วก็นอน สมัยนี้อาจดูได้น้อยลง แต่ถ้ามีเวลาผมก็ยังดู ผมอินกับฟุตบอลขนาดนั้น”

สำหรับคนไทยที่รักฟุตบอล โดยทั่วไปแทบทุกคนมักจะมีขั้นตอนที่เหมือนกัน คือเริ่มรู้จัก เริ่มดู เริ่มติดตาม ก่อนที่จะเริ่มหาทีมเชียร์ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเลือกทีมที่เล่นได้น่าประทับใจในช่วงเวลานั้นๆ 

ซุปเองก็เช่นกัน หลังจากเริ่มรู้จักและดูบอลมากขึ้น สุดท้ายเขาก็สถาปนาตัวเองเป็นสาวกของทีมที่ได้แชมป์ลีกอังกฤษในปี 1989

ลิเวอร์พูล

“ตอนนั้นลิเวอร์พูลเก่งมาก แต่หลังจากนั้นก็ห่วยมาตลอดเลย จนปีที่แล้วนี่แหละที่เพิ่งกลับมาได้แชมป์” ซุปเล่าอย่างติดตลกถึงการเชียร์ทีมรักที่พอจะยิ้มออกเมื่อปีก่อน แต่ระหว่างทางเหล่านั้นเองที่ความหลงใหลในฐานะ ‘เด็กหงส์’ ทำให้เขาลงลึกกับฟุตบอลมากขึ้นเรื่อยๆ

จนลิเวอร์พูลนี่เองที่เป็นเชื้อไฟของอีกความชอบที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา

การ์ดนักฟุตบอล

สะสมพบประเสริฐ

ไม่ใช่แค่การ์ด แท้จริงซุปเริ่มสะสมของต่างๆ เกี่ยวกับฟุตบอลมานานแล้ว

ในออฟฟิศของเขาที่เรานั่งคุยกันตอนนี้มีเสื้อนักฟุตบอลพร้อมลายเซ็นใส่กรอบติดผนังโชว์ละลานตา ไล่มาตั้งแต่นักเตะจากทีมขวัญใจของเขาอย่าง Steven Gerrard, Sadio Mané ไปจนถึงนักเตะระดับโลกอย่าง Pelé และ Diego Maradona รวมถึงรองเท้าสตั๊ดพร้อมลายเซ็นของ Cristiano Ronaldo ที่วางอยู่ไม่ไกลนัก ทั้งหมดนี้เป็นหลักฐานอย่างดีถึงจิตวิญญาณนักสะสมในตัว

“ไม่รู้จะอธิบายยังไง แต่พอมีแพสชั่นกับฟุตบอลมาก เวลาเห็นนักเตะคนไหนที่เจ๋งมากๆ ผมก็อยากเก็บของของเขา ดังนั้นพอตัวเองโตขึ้นและเริ่มจ่ายไหวผมก็เริ่มหาของเหล่านี้มาสะสม

“แต่สำหรับการ์ดนักฟุตบอล ผมเพิ่งรู้จักเมื่อไม่นานนี้เอง มันเริ่มจากแพสชั่นและอินเทอร์เน็ต”

การ์ดนักฟุตบอล

เช่นเดียวกับคนบ้าบอลทั่วไป ซุปเล่าว่าในแต่ละวันเขาจะเสพข่าวและคอนเทนต์ฟุตบอลเป็นประจำ กระทั่งวันหนึ่งเมื่อหลายปีก่อนที่เขาเข้ายูทูบเพื่อดูคลิปคอนเทนต์ฟุตบอลตามปกติ แต่แล้วในช่องวิดีโอแนะนำทางขวาของหน้าจอกลับปรากฏวิดีโอการเปิดกล่องการ์ดนักฟุตบอลขึ้นมา เขาจึงกดเข้าไปดูโดยที่ไม่รู้เลยว่านั่นจะเป็นจุดเริ่มต้นของของสะสมอีกหลายพันชิ้นที่จะตามมา

“มันเป็นความรู้สึกตื่นตาตื่นใจนะ ถึงครั้งแรกที่เห็นคลิปผมจะตั้งคำถามว่า ‘อะไรวะเนี่ย การ์ดเนี่ยนะ’ แต่พอลองดูไปเรื่อยๆ ผมเริ่มรู้สึกว่ามันเจ๋งดี ได้ลายเซ็นหรือชิ้นส่วนเสื้อของนักฟุตบอลไว้กับตัวด้วย ผมเลยลองสั่งกล่องการ์ดมาสุ่มดูบ้าง”

การ์ดนักฟุตบอล

อธิบายอย่างเข้าใจง่าย ตามปกติการ์ดนักฟุตบอลจะจัดจำหน่ายในรูปแบบกล่อง แต่ละกล่องจะมีการ์ดข้างในหลายใบ ซึ่งกล่องแต่ละรุ่นก็จะมีคุณภาพของการ์ดและราคาที่แตกต่างกันออกไป เช่น ขนาดของการ์ดสี่เหลี่ยมที่มีความกว้าง ยาว หนาไม่เท่ากัน กล่องที่รุ่นแพงหน่อยการ์ดก็ยิ่งสวย หรือกล่องรุ่นที่ผลิตขึ้นมาในวาระพิเศษ เช่น ฟุตบอลโลก ทั้งหมดนี้ทำให้การ์ดแต่ละกล่องมีความพิเศษในตัว แต่สิ่งที่ทำให้การ์ดนักฟุตบอลพิเศษเพิ่มขึ้นไปอีกคือการ์ดพิเศษที่ซ่อนตัวอยู่ในแต่ละกล่องต่างหาก

แม้ในกล่องแต่ละรุ่นจะมีจำนวนการ์ดไม่เท่ากัน บางกล่องอาจมีกว่าร้อยใบ หรือบางกล่องอาจมีแค่หลักสิบ แต่สิ่งที่ทำให้คนรักการ์ดฟุตบอลสนใจนั้นเป็นการ์ดพิเศษที่แต่ละกล่องจะการันตีว่ามีอย่างน้อย 1 ใบเสมอ เช่น การ์ดที่มีลายเซ็นที่นักฟุตบอลตัวจริงเซ็นกับมือ หรือการ์ดที่มีชิ้นส่วนเสื้อที่นักฟุตบอลคนนั้นเคยใส่

ความลุ้นเกิดขึ้นตรงนี้นี่เอง เพราะบริษัทจำหน่ายการ์ดจะบอกแค่รายชื่อว่าในกล่องนี้สามารถลุ้นลายเซ็นหรือชิ้นส่วนเสื้อของใครได้บ้าง คนที่ซื้อไปจึงไม่มีทางรู้เลยว่าการ์ดพิเศษที่บรรจุอยู่ด้านในเป็นการ์ดของนักฟุตบอลคนไหน ใช่คนที่เราต้องการหรือเปล่า พูดง่ายๆ–ทุกอย่างขึ้นอยู่กับดวงล้วนๆ

“กล่องแรกที่ผมสั่งมาเป็นรุ่น Futera สำหรับฟุตบอลโลกปี 2016 ราคากล่องน่าจะอยู่ที่ 6,000 บาท สาเหตุเพราะผมอยากได้การ์ดของนักฟุตบอลทีมชาติอังกฤษ Jordan Henderson (กัปตันทีมลิเวอร์พูล)”

“สุดท้ายได้ไหม” เราถาม

“ไม่ได้ และที่ได้มาก็ค่อนข้างห่วยด้วย” ซุปตอบพร้อมหัวเราะแห้งก่อนอธิบายต่อ

“ผมได้ลายเซ็นของ Grzegorz Krychowiak มา เฟลมาก นั่นไม่ใช่การ์ดที่ดีเลย เปรียบเทียบให้เข้าใจคือการ์ดนี้ราคาประมาณ 300 บาทเอง เพราะเขาไม่ใช่นักฟุตบอลที่คนนิยม แต่สิ่งที่ดีคือผมได้เห็นกับตาเป็นครั้งแรกว่าการ์ดมันสวย มันเท่ ยิ่งพอเอามาตั้งเรียงกัน ผมว่ามันเจ๋ง อยากหยิบขึ้นมาดูตลอด อยากเจอคอมมิวนิตี้ที่คุยกันเรื่องนี้ 

“เหมือนการ์ดเริ่มสร้างคุณค่าทางใจกับผมตั้งแต่ครั้งแรกที่เปิดกล่องลุ้นอยู่คนเดียว ผมเลยยังไปต่อ”

Sup-per Collector

พอสุ่มกล่องเปิดแล้วไม่ได้ดั่งใจ นั่นเองที่ทำให้ซุปศึกษาและหาวิธีสะสมการ์ดนักฟุตบอลด้วยวัฒนธรรมในวงการที่เรียกว่า ‘การเบรก’

การเบรกคือการรวมกลุ่มของนักสะสมเพื่อหารค่ากล่อง โดยแต่ละคนจะจองการ์ดทีมที่ตัวเองชอบไว้ก่อน ยกตัวอย่างเช่น กล่องรุ่น Futera ฟุตบอลโลกปี 2016 ที่มีการ์ดนักฟุตบอลจาก 32 ประเทศ

ตามปกติถ้าเราซื้อกล่องการ์ดมาเปิดคนเดียว การ์ดทุกใบก็จะเป็นของเราไม่ว่าการ์ดนั้นจะเป็นนักฟุตบอลของประเทศไหน แต่การเบรกคือการที่นักสะสมรวมตัวกันจ่ายค่ากล่องโดยแต่ละคนจะจองการ์ดของแต่ละประเทศไว้ก่อนเปิด

การ์ดนักฟุตบอล

ยกตัวอย่างเช่นซุปที่จองเฉพาะการ์ดนักเตะทีมชาติอังกฤษไว้ ดังนั้นเมื่อถึงคราวเปิด ไม่ว่าการ์ดทั้งหมดจะออกมามีใครบ้าง แต่การ์ดที่เป็นนักเตะทีมชาติอังกฤษทุกใบจะเป็นของซุป กล่าวคือเขายังได้ลุ้นเหมือนเดิม เพราะก็ไม่มีอะไรการันตีอยู่ดีว่าการ์ดทีมชาติอังกฤษที่ออกมาจะเป็นนักฟุตบอลคนที่เขาต้องการหรือเปล่า เพียงแค่การเบรกนี้จะจำกัดสิ่งที่จะได้ให้เป็นการ์ดที่เฉพาะทีมมากขึ้นในราคาที่ถูกลง

และนั่นเองที่ทำให้จักรวาลนักสะสมของเขาเริ่มต้นอย่างรวดเร็ว เพราะไม่นานเลยหลังจากได้การ์ดของเกอร์เซกอร์ซ การ์ดนักเตะที่เขาอยากได้ก็ตามมาติดๆ

“ผมเล่นเบรกกับฝรั่งที่เปิดกล่องนี้ จำได้ว่าลงทีมชาติอังกฤษไว้ในราคา 2,000-3,000 บาทแล้วมานั่งดูเขาเปิดแบบไลฟ์ ปรากฏว่าผมได้ลายเซ็นของจอร์แดน เฮนเดอร์สัน ในรุ่นนั้นที่มีแค่ 200 ใบในโลก

การ์ดนักฟุตบอล

“ผมดีใจสุดๆ ด้วยความที่เล่นกับต่างประเทศผมเลยต้องรอหนึ่งเดือนกว่าการ์ดจะส่งมาถึง จำได้ว่านับวันรอเลย พอมาถึงแล้วเปิดดูก็ยิ่งรู้สึกว่ามันใช่ อยากอวดเพื่อนทุกคนว่าได้สิ่งนี้ มันเต็มไปด้วยความรู้สึก หลังจากนั้นผมจึงสะสมมาเรื่อยๆ”

ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน คงไม่เกินไปนักที่จะบอกว่าสิ่งที่ซุปมีสามารถเรียกว่า ‘โกดังเก็บการ์ด’ 

จากจอร์แดน เฮนเดอร์สัน ความชอบและแพสชั่นพาเขาให้ไล่เก็บการ์ดไปไม่หยุดฉุดไม่อยู่ และไม่ได้จำกัดอยู่แค่นักเตะทีมลิเวอร์พูลเท่านั้น ซุปพยายามเก็บการ์ดนักเตะทุกคนที่เขาชอบและสนใจ 

เมื่อเจอกล่องที่มีการ์ดที่ถูกใจ ซุปมักจะเล่นเบรกเป็นประจำแม้ผลประกอบการแต่ละครั้งของเขาจะได้บ้างเสียบ้าง หรือถ้ามีการ์ดใบไหนที่เขาอยากได้จริงๆ ถ้ามีทุนและเล็งเห็นว่าราคาเหมาะสม เขาก็จะซื้อแยกเป็นใบจากเว็บไซต์ eBay เพื่อมาประดับในคอลเลกชั่นของตัวเองเป็นประจำ เพราะ ‘ของมันต้องมี’

การ์ดนักฟุตบอล

เช่นครั้งหนึ่งเขาอยากได้การ์ดนักเตะชื่อดังในอดีตอย่าง Luís Figo มาก ซุปก็ไปเล่นเบรกจนได้มา แต่การ์ดรุ่นนั้นยังมีนักเตะในอดีตอีกหลายคนที่ชื่อเข้าขั้นระดับตำนาน เขาจึงไปไล่เก็บไล่ซื้อจนครบคอลเลกชั่น หรือการ์ดนักเตะไทยที่ค้าแข้งอยู่ในประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบัน ซุปก็มีเช่นกัน

“ก่อนหน้านี้ผมไม่เคยแคร์เลยนะว่าการ์ดใบนั้นราคาจะขึ้นไหม แพงไปหรือเปล่า ด้วยความที่การ์ดนักฟุตบอลยังไม่บูมด้วย ดังนั้นถ้าจ่ายไหวผมก็จะซื้อ เพราะความคุ้มค่าเกิดขึ้นในตอนที่เราได้มันมาสะสมแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นเป็นโบนัสมากกว่า”

และเรื่องราวที่ว่าเกิดขึ้นเมื่อปีก่อนนี่เอง

เปิดการ์ดที่หมอบไว้

วงการการ์ดฟุตบอลเป็นความชอบเฉพาะทางอยู่นาน กระทั่งเมื่อปีที่แล้วที่การ์ดฟุตบอลเริ่มบูมสุดๆ

ซุปทบทวนให้เราฟังว่ากระแสนี้เกิดขึ้นครั้งแรกจากยูทูบเบอร์ชื่อดังช่อง Gary Wee ที่ออกมาบอกว่าการ์ดนักฟุตบอลเป็นหนึ่งในของสะสมในโลกที่มีมูลค่าน้อยกว่าที่ควร (undervalue) ที่สุด ทั้งที่ฟุตบอลเป็นกีฬาระดับโลกแต่มูลค่าและราคาของการ์ดนักฟุตบอลกลับไม่แปรผันตรงกับความนิยมของคน ดังนั้นถ้าใครมองหาโอกาสในการสะสมเพื่อลงทุน นี่ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ

จากตรงนั้นเอง กระแสการ์ดนักฟุตบอลก็ค่อยๆ เริ่มก่อตัวและแทรกซึมในเมืองไทยเรื่อยๆ กระทั่งเมื่อต้นปีที่มีข่าวคนไทยขายการ์ดโปเกมอนได้ 14 ล้านบาท การ์ดนักฟุตบอลก็กลายเป็นที่หมายปองมากขึ้นในทันที

และแน่นอน ตามหลักของกลไกตลาดที่เมื่อความต้องการมาก ราคาก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย

“หนึ่งปีที่ผ่านมา การ์ดหลายกล่องราคาสูงขึ้นไปกว่า 300 เปอร์เซ็นต์หรือมากกว่านั้น อย่างกล่องรุ่น World Cup 2018 ที่ตอนเริ่มขายราคา 3,500-4,000 บาทต่อกล่อง แต่ตอนนี้กล่องนี้ราคาแสนกว่าบาทแล้วเพราะมีลุ้นว่าคุณจะได้การ์ด Kylian Mbappé ซึ่งมีราคา 3 แสนกว่าบาท

“หรืออย่างการ์ดลายเซ็นของ Erling Haaland ที่ก่อนหน้านี้ไม่มีราคาเท่าไหร่ ล่าสุดนี้เพิ่งมีคนขายในเว็บไซต์ eBay ไปในราคา 2 ล้านกว่าบาท พอสถานการณ์เป็นแบบนี้คนที่สะสมมาก่อนเลยรวยทันที”

“ในฐานะนักสะสมที่อยู่มาก่อนกระแส เห็นแบบนี้แล้วรู้สึกยังไง” เราสงสัย

“ต้องบอกก่อนว่าทุกวันนี้ผมมองตัวเองเป็นนักสะสม 80 เปอร์เซ็นต์ อีก 20 เปอร์เซ็นต์ผมเป็นนักลงทุนในวงการนี้ ที่ทำไปก็เพื่อจะได้มีทุนมาซื้อของที่อยากสะสม ดังนั้นถ้าถามผม ผมไม่คิดอะไร มันก็เป็นสิทธิของแต่ละคนที่จะเข้ามา ไม่ผิดนะที่ทุกคนอยากเป็นมิสเตอร์ 14 ล้าน แต่ที่ผมทำได้คงเป็นแค่การเตือนเท่านั้นเอง 

“ทุกการลงทุนมีความเสี่ยงและทุกความเสี่ยงมีแมงเม่า วงการการ์ดนักฟุตบอลก็เช่นกันที่มีการซื้อที่แพงเกินจริงหรือการถูกหลอกให้ขายถูกเกินไป นี่เป็นสิ่งที่น่ากลัวมากถ้าคุณไม่รู้มูลค่าจริง ต่างกับคนที่เขาดูบอลอยู่แล้วที่จะรู้ว่านักเตะคนไหนน่าสนใจหรือนักเตะคนไหนที่เป็นดาวรุ่ง ดังนั้นถ้าแนะนำได้ผมอยากบอกว่าอย่าไปบ้าตามในสิ่งที่เราไม่รู้เลย อย่าคิดในมุมนักลงทุนขนาดนั้น คุณเริ่มต้นในฐานะนักสะสมดีกว่า”

พูดกันแบบไม่มีกั๊ก กระแสที่เกิดขึ้นทำให้กองการ์ดของซุปมีมูลค่ามากขึ้นหลายเท่าตัว หลายๆ ใบที่ตั้งโชว์หรือที่เก็บไว้นั้นสามารถทำเงินก้อนใหญ่ได้สบายๆ เช่น การ์ดของเอ็มบัปเป้ที่ปัจจุบันมีราคา 3 แสนบาท ซุปก็มีเก็บไว้เพื่อเก็งกำไรเกือบสิบใบ แต่กับใบที่มีความหมายจริงๆ เขาบอกกับเราว่ายังไงก็คงไม่ขาย ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาอยากบอกนักสะสมหน้าใหม่ที่อยากลงทุนในวงการนี้

“อย่าเพิ่งรีบร้อน คุณลองซื้อมาก่อนสัก 3-5 ใบก็ได้ แล้วลองถามตัวเองว่าชอบไหม อยากอวดคนอื่นหรือเปล่า หรือว่าซื้อมาปุ๊บคุณก็เก็บเข้าลิ้นชัก ไม่มีแพสชั่นใดๆ ต่อมัน ที่อยากให้ลองเริ่มต้นแบบนี้เพราะอย่างน้อยถ้าเป็นแบบแรก ในวันที่ราคาการ์ดอาจไม่ได้สูงคุณก็ยังมีความรู้สึกดีที่ได้สะสมเป็นพื้นฐาน สำหรับผม การ์ดนักฟุตบอลเป็นเรื่องของแพสชั่นแบบนั้น ทุกวันนี้เวลาเดินผ่านตู้โชว์ผมยังหยุดดู ว่างๆ ผมก็หยิบของสะสมขึ้นมาดูเป็นประจำ

“อาจมีหลายคนไม่เข้าใจว่ากระดาษเป็นแผ่นๆ จะเป็นของสะสมได้ยังไงนะ มันจะมีราคาแค่ไหนกันเชียว แต่ทั้งหมดนั้นจะไม่สำคัญเลยถ้าคุณเองชอบมัน คนเราอินกับของต่างกันได้ คนอื่นไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร ขอแค่คุณรู้สึก nice to have ก็พอ ถ้าคุณตอบตัวเองตรงนี้ได้ผมว่าจะดีมากๆ เพราะคุณจะเป็นนักสะสมตัวจริงที่มีความสุข” 


ของสะสมระดับซูเปอร์ซับที่ซุปอยากอวด

การ์ดนักฟุตบอล

การ์ดนักฟุตบอล สตีเวน เจอร์ราร์ด

“นี่เป็นการ์ดที่มีเพียง 10 ใบในโลก เป็นการ์ดที่เจอร์ราร์ดเซ็นลงบนการ์ดจริงๆ ซึ่งจะมีคุณค่าทางใจและราคามากกว่าการเซ็นบนสติ๊กเกอร์แล้วเอามาแปะบนการ์ดอีกที รวมถึงชิ้นส่วนเสื้อที่อยู่บนการ์ดนี้ก็เป็นลายที่สวยมาก ยิ่งเป็นทีมลิเวอร์พูลด้วย ใบนี้จึงมีคุณค่าทางใจมาก”

การ์ดนักฟุตบอล

การ์ดนักฟุตบอล A.C. Milan 8 คนในใบเดียว

“อยากอวดชิ้นนี้เพราะหายากมากกกกก (ลากเสียงยาว) การ์ดที่มีลายเซ็น 8 คนแบบนี้หาได้จากกล่องที่แพงที่สุดเท่านั้น ผมได้ของทีมเอซีมิลานมา นักเตะทั้ง 8 คนนี้ (Roberto Baggio, Paolo Rossi, Paolo Maldini, Roberto Donadoni, Ruud Gullit, Andriy Shevchenko, Franco Baresi และ Frank Rijkaard) เป็นนักฟุตบอลในยุคเก่าที่ผมทันดูพวกเขาเล่นพอดี พอได้มาเลยมีความสุขมาก”

การ์ดนักฟุตบอล

การ์ดนักฟุตบอล โรนัลโด

“นี่คือการ์ดโรนัลโดที่มีใบเดียวในโลก เพราะในรุ่นนี้มีแค่ใบเดียวเท่านั้น ความพิเศษคือยุคหลังๆ ต่อให้เป็นรุ่นอื่น โรนัลโดก็มักเซ็นลายเซ็นว่า R9 ดังนั้นจะหาแบบที่เซ็นเต็มๆ ว่า ‘Ronaldo’ แบบใบนี้ถือเป็นเรื่องยากแล้ว ใบนี้เลยยิ่งพิเศษเข้าไปใหญ่ มีคนติดต่อขอซื้อหลายครั้งอยู่เหมือนกัน ล่าสุดคือหนึ่งล้านบาท แต่ผมไม่ขายนะ (ยิ้ม)”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย