ปกติแล้วเรามักมองคีย์บอร์ดเป็นหนึ่งในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ใช้เพื่อพิมพ์งาน เล่มเกม หรือกดคีย์ลัดเวลาทำงานกราฟิกหรือเขียนโปรแกรม
โดยทั่วไปภาพจำคีย์บอร์ดของเราเป็นคีย์บอร์ดพลาสติกสีดำ กดแล้วเสียงดังแต๊กๆ ไม่ก็เป็นคีย์บอร์ดแม็คไปเลย หรือถ้าให้นึกถึงคีย์บอร์ดที่มีความพิเศษหน่อยก็คงเป็นคีย์บอร์ดสำหรับเกมเมอร์ที่มีไฟวิบวับสีต่างๆ
แต่เมื่อไม่นานมานี้ เราได้รู้จัก custom keyboard ที่แตกต่างจากคีย์บอร์ดทั่วไป โดยผู้ใช้สามารถออกแบบทุกส่วนประกอบได้ ตั้งแต่เคส สวิตช์ คีย์แคป ฯลฯ นอกจากดีไซน์สวยงามและให้ความรู้สึกใหม่ในการสัมผัสปุ่มกดแล้ว เสียงเวลาพิมพ์ก็ไพเราะกว่า และการใช้งานก็มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพราะสวิตช์ที่แยกออกจากกัน
คุณสมบัติเหล่านี้เองที่ทำให้ทั่วโลกมีคอมมิวนิตี้ผู้เล่น custom keyboard เพื่อแชร์ข้อมูล แลกเปลี่ยนความรู้ และซื้อ-ขายกันอย่างจริงจัง ซึ่งในไทยเองก็มีกลุ่มเฟซบุ๊ก Thailand Mechanical Keyboard Community ที่รวบรวมผู้สนใจคีย์บอร์ดประเภทนี้ไว้เกือบ 9,000 คนเลยทีเดียว
โปร–ชีวะวัฒน์ หอรุ่งเรือง คือหนึ่งในกลุ่มแอดมินกลุ่มเฟซบุ๊กนั้น ทั้งยังครองตำแหน่งนักสะสม custom keyboard กว่า 90 ตัว มากเป็นอันดับต้นๆ ของไทย
ในระยะเวลาเพียง 2 ปีที่เข้าสู่วงการนี้ ชายหนุ่มได้ลองผิดลองถูก ศึกษาหาความรู้ และลงเงินซื้อคีย์บอร์ดไปหลายสิบตัว เกิดเป็นทักษะการประกอบและการดัดแปลงคีย์บอร์ด รวมถึงองค์ความรู้ทั้งเบื้องต้นไปถึงเชิงลึก จนทำให้เขาตัดสินใจเปิดกลุ่มและทำเว็บไซต์เกี่ยวกับเจ้าแป้นพิมพ์อย่างเป็นกิจจะลักษณะ
ภายในห้องทำงานของโปรที่รายล้อมไปด้วยอุปกรณ์ custom keyboard เขาหยิบคีย์บอร์ดของลูกค้าที่เพิ่งประกอบเสร็จมาให้เราดูและกดปุ่มฟังเสียงใสๆ ไปพร้อมๆ กัน
“น่ารักจัง!” ด้วยสีสันและรูปทรงของมันทำให้เราออกปากชมด้วยความสนใจ
และด้วยเหตุผลเรื่องดีไซน์นี่แหละที่ทำให้คนที่เรามาคุยด้วยวันนี้หลงใหลในวงการแป้นพิมพ์พิเศษนี้อย่างถอนตัวไม่ขึ้น
จากเกมเมอร์สู่นักสะสม
โปรก็เหมือนหลายๆ คนที่ชอบเล่มเกมเป็นชีวิตจิตใจ
เป็นเกมเมอร์ก็ไม่ต่างกับนักรบที่ย่อมต้องมีสรรพาวุธเพียบพร้อมและทรงอานุภาพ อุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้สำหรับคนเล่มเกมสายจริงจังคงหนีไม่พ้นคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์สเปคสูงอย่างพวกเมาส์และคีย์บอร์ด
“ตอนแรกผมก็ใช้คีย์บอร์ดเกมที่มีแสงสีเยอะๆ ซึ่งพวกแบรนด์ตลาดมันเสียง่าย หมดประกัน 1 ปีก็เสีย เลยมองหาอะไรที่ดีกว่าเดิม พอมาเจอตัวนี้ เห็นหน้าตาก่อน ก็เริ่มสนใจว่าคีย์บอร์ดมีไซส์แบบนี้ด้วยว่ะ เลยเริ่มศึกษาเพิ่ม พอศึกษาไปเรื่อยๆ พบว่ามันมีหลายแบบมากและมีดีไซเนอร์ที่ออกแบบเคสพวกนี้ ผลิตจำนวนจำกัดและยังมีเทคนิคช่วยลดเสียงกดปุ่มอะไรอีกมากมาย เราเลยสนใจมากขึ้นและเริ่มเล่น จากตัวถูกๆ เล่นไปก็ค่อยๆ ลึกไปเรื่อยๆ จนมีเต็มบ้าน”
โปรเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขากลายเป็นนักสะสม custom keyboard อย่างอารมณ์ดี ซึ่งแม้ว่าระยะเวลาที่เขาใช้ทำความรู้จักวงการนี้จะนานแค่ 2 ปี แต่ด้วยความที่ช่างซื้อและช่างศึกษาจึงทำให้เขามีความรู้ด้านนี้พอสมควรทีเดียว
“ต้องลองกดแล้วจะรู้ว่าความรู้สึกตอนพิมพ์แตกต่างก่อนแล้วหนึ่ง ถ้าเราใช้คีย์บอร์ดปกติที่บางทีใช้แบบนั้นมาทั้งชีวิตมันก็พิมพ์ได้ แต่ custom keyboard จะให้ความรู้สึกที่แน่นกว่า ดีกว่า และช่วยเพิ่มความสุขเวลาทำงานทั้งวัน เลือกสัมผัสแบบที่ต้องการได้ ทั้งยังลดข้อผิดพลาดด้วยเพราะคีย์บอร์ดพวกนี้มีโปรแกรมที่ช่วยป้องกันการกดสองปุ่มพร้อมกัน ระบบจะรู้ว่าเราต้องการกดปุ่มไหน ซึ่งมันก็เป็นโปรแกรมพื้นฐานที่คีย์บอร์ดเล่นเกมมีนั่นแหละ แต่ความเห็นส่วนตัวผมคิดว่าที่คนชอบกันคือเหตุผลเรื่องความสวยงาม”
เพราะเคยเป็นนักเรียนดีไซน์มาก่อนทำให้ชายหนุ่มถูกใจดีไซน์และสีสันของเจ้าคีย์บอร์ดประเภทนี้เข้าอย่างจัง และการมาคุยกับเขาทำให้เรารู้ว่าแท้จริงแล้วคีย์บอร์ดในยุคแรกๆ มีหลักการทำงานเหมือน mechanical keyboard ที่เป็นตัวตั้งต้นก่อนจะขยายไป custom keyboard แบบที่โปรเล่น เพียงแต่ด้วยเวลาที่ผ่านไปเริ่มมีคีย์บอร์ดยางเข้ามาแทนที่เพราะต้นทุนถูกกว่า คีย์บอร์ดประเภทนี้จึงค่อยๆ ลดความนิยมลง ก่อนจะกลับมาบูมอีกครั้งในช่วงไม่กี่ปีมานี้เหมือนเทรนด์กล้องฟิล์มหรือแผ่นเสียง
ของสะสม ของทรัพย์สิน
ช่วงที่โปรเริ่มสะสมคีย์บอร์ด คำถามที่เขามักได้ยินหรือแม้กระทั่งถามตัวเองอยู่บ่อยครั้งคือ มีมือแค่คู่เดียวจะมีคีย์บอร์ดไปหลายตัวทำไม
“แต่ตอนนี้ผมเลยจุดนั้นมาแล้ว ผมมองมันเป็นงานอดิเรก เป็นการสะสมของอย่างหนึ่ง มองมากกว่าคีย์บอร์ดไปแล้ว ซึ่งถ้าพิจารณาจริงๆ มันมีมูลค่าในตัวของมัน เหมือนพวกกระเป๋า FREITAG ที่บางลายราคาแพงไปเลย คีย์บอร์ดเองก็มี ยกตัวอย่าง ณ วันกดซื้อมันผลิต 50 ตัว ราคาตัวละ 500 ดอลลาร์สหรัฐ ถ้าของถึงมือผมประกาศขาย 2,500 ดอลลาร์สหรัฐ ราคามันขึ้นอย่างนั้นเลย เพราะฉะนั้นนี่ไม่ใช่แค่คีย์บอร์ดสำหรับการใช้งาน มันเป็นทรัพย์สินไปแล้ว แต่สำหรับตัวผมเองเก็บด้วยความชอบล้วนๆ”
ปัจจัยที่ทำให้คีย์บอร์ดแต่ละตัวแตกต่างกันมีตั้งแต่การวางส่วนประกอบต่างๆ ที่ส่งผลต่อการใช้งาน การใช้เทคนิคพิเศษสร้างความแตกต่าง แต่จุดที่ทำให้คนแย่งชิงกันมากๆ ระดับเป็นสงครามขนาดย่อมคือดีไซน์ โดยเฉพาะรุ่นลิมิเต็ดที่ได้ดีไซเนอร์มีชื่อเป็นคนออกแบบ เรียกว่าเปิดขายไม่ถึงนาทีก็มีคนกดซื้อกันจนหมดเกลี้ยง
ความพิเศษอีกอย่างของ custom keyboard คือการที่มันไม่ได้มาเป็นคีย์บอร์ดสำเร็จรูป ใช้งานได้ทันที เราต้องสั่งของมานั่งประกอบเอง ซึ่งส่วนใหญ่หลายคนจะส่งให้ผู้เชี่ยวชาญประกอบให้ แต่โปรไม่อยากให้เป็นเช่นนั้นเท่าไหร่
“ผมมองว่าการประกอบเป็นพาร์ตหนึ่งของงานอดิเรกนี้ จริงๆ ผมก็รับประกอบให้ แต่ก็ทำยูทูบสอนประกอบด้วย เพราะผมอยากให้ทุกคนทำเอง มันเป็นความสนุก ทาน้ำมันมาก-น้อยส่งผลต่อการใช้งานหมด ซึ่งถ้ายิ่งศึกษาและทำเองจะยิ่งสนุก” โต๊ะทำงานของโปรที่มีมุมประกอบคีย์บอร์ดอย่างเป็นเรื่องเป็นราวคือหลักฐานชั้นดี
“ผมว่ามันเหมือนการซื้อของเล่นที่ไม่ใช่ของเล่นสำเร็จรูป ซึ่งพาร์ตหนึ่งของการเล่นคือการประกอบมันขึ้นมาแล้วใช้ได้ ภูมิใจกับมัน ได้เลือกชิ้นส่วนที่เราต้องการทุกอย่างมาผสมกันแล้วก็ออกมาเป็นแบบที่เราชอบ แล้วพอไปประกอบตัวต่อไปก็จะอยากทำให้มันดีขึ้น หรือว่าอยากลองแบบอื่นๆ เพราะด้วยความที่ชิ้นส่วนมันเยอะมาก แล้วทุกอย่างส่งผลต่อสัมผัสและเสียง ก็จะมีความสนุกในการลองเอาสวิตซ์นี้มาผสมกับชิ้นนี้ หรือแม้แต่การเอาสวิตช์สองแบบมาผสมกันเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า”
และเมื่อถามถึงหลักเกณฑ์ในการเลือกซื้อคีย์บอร์ดแต่ละตัวของเขา โปรตอบทันทีเลยว่าเลือกซื้อจากดีไซน์กับสี
“ตัวไหนสีกับดีไซน์ถูกใจผมซื้อเก็บหมดเลย แต่บางคนอาจจะดูลึกเข้าไป ถ้าเน้นการใช้งานแล้วตัวไหนที่คล้ายกับตัวที่มีแล้วก็คงไม่สนใจ ไม่ได้ต้องเอาทุกตัว แต่ผมมาแนวสะสม อยากเก็บทุกสีให้ครบมากกว่า”
ไม่ได้ใช้ แค่ได้มองก็มีความสุข
จาก custom keyboard ตัวแรกที่ประกอบจนแผงวงจรพัง มาถึงวันนี้ที่โปรครอบครองตัวที่เก้าสิบกว่าเข้าไปแล้ว นอกจากทักษะและความรู้ที่เพิ่มขึ้น การเก็บสะสมของเหล่านี้ก็มีคุณค่าทางใจกับชายหนุ่มไม่น้อย
“มันเหมือนคนสะสมของทุกคนแหละ ที่ไม่ได้ใช้ทุกชิ้นหรอกแค่ได้มองก็พอใจแล้ว เหมือนสมบัติผลัดกันชม อย่างคนที่สะสมรถ ซื้อมาก็ไม่ได้ขับทุกคันหรอก ขอแค่ได้มองได้เดินผ่าน พอถึงเวลาเบื่อก็ให้คนอื่นไปมองบ้าง ผมว่าเป็นเรื่องคุณค่าทางใจมากกว่า ส่วนการใช้งานจริงๆ ก็อีกเรื่องหนึ่ง อย่างที่บอกว่าก็มีแค่ 2 มือนี่แหละ ใช้ได้ทีละตัว บางตัวที่ซื้อมาผมไม่เคยใช้เลยนะเพราะใช้พิมพ์แล้วมันไม่เวิร์กกับการใช้งานของเรา สุดท้ายก็ย้อนกลับมาว่าที่สะสมก็เพราะชอบหน้าตามัน แล้วตัวที่ใช้ส่วนใหญ่ก็ราคาไม่แพงทั้งนั้นเลย”
แล้วตอนที่ของมาส่งถึงมือมีความสุขไหม เราตั้งคำถามนี้โดยเอาตัวเองตอนสั่งของออนไลน์เป็นที่ตั้ง
โปรหัวเราะก่อนตอบว่ามีความสุขเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่จะได้รับของล่าช้ากว่าที่ผู้ขายแจ้งอยู่แล้ว “มันเป็นเรื่องปกติของวงการนี้ ถ้าเขาบอกรอ 4 เดือนนี่รอไปเถอะกลายเป็น 6-7 เดือน แต่ผมเฉยๆ แล้ว เพราะผมกดสั่งเยอะจนถ้าตัวนี้ยังไม่มาเดี๋ยวก็มีอีกตัวมา แต่ด้วยราคาที่สูง บางคนเขาเก็บตังค์เพื่อมากดสั่งตัวเดียวก็จะอารมณ์เสียกับการที่มันช้าแล้วช้าอีก”
แต่ถ้าถามถึงความสุขในการเล่น custom keyboard ตอนนี้ คำตอบของเขากลับไม่ใช่เรื่องการสัมผัสหรือลองว่าคีย์บอร์ดตัวที่เพิ่งได้มาต่างจากตัวที่มียังไงแล้ว
“ณ ปัจจุบันผมมีความสุขกับการได้ส่งต่อความรู้เรื่องนี้ให้คนอื่น ได้ไลฟ์ ได้เขียน ได้สอนคนอื่นให้ลองประกอบเอง ส่งเสริมให้คนหันมาเล่นเยอะขึ้น เพราะวันที่ผมเริ่มต้นเข้าวงการนี้มันดูยากไปหมด หาข้อมูลยาก หาซื้อก็ยาก เลยเป็นจุดที่ทำให้ผมทำ keeblook.com ขึ้นมา เพื่อต้อนรับคนที่เริ่มสนใจคีย์บอร์ดประเภทนี้แบบง่ายๆ และไม่ต้องมาคลำผิดคลำถูก เสียเงินไม่ถูกที่ เกาไม่ถูกจุด เพราะของค่อนข้างราคาสูงและหายาก รวมถึงคนไม่รู้แหล่งซื้อขายและราคาตลาด อยากได้ก็โดนขายในราคาแพงทั้งๆ ที่บางครั้งไม่ได้แพงขนาดนั้น ผมเลยอยากไกด์ให้คนที่เข้ามาใหม่ จะได้ไม่ต้องมาคลำทางเหมือนเรา”
แม้ว่าช่วงนี้ชายหนุ่มจะไม่ได้กดสั่งซื้อคีย์บอร์ดอย่างหนักหน่วงแบบเมื่อก่อนแล้ว ทั้งยังมีความคิดที่ว่าไม่อยากซื้อ ไม่อยากสะสมแล้ว ผุดขึ้นมาอยู่บ่อยครั้ง ทว่าสุดท้ายเขาก็ยังทำไม่ได้จริงๆ สักครั้ง
“ผมว่าคำถามนี้คนที่เล่นในกลุ่มก็ถามตัวเองอยู่ตลอดนะ เดี๋ยวได้อันนี้ก็โอเค พอ ไม่ซื้อแล้ว อย่างผมเองก็เคยพูดเล่นๆ ในกลุ่ม แต่ส่วนมากทุกคนจะเริ่มจากคีย์บอร์ดไซส์ 60 เปอร์เซ็นต์ก่อน พอได้ 60 เปอร์เซ็นต์ปุ๊บเอาตัว 65 เปอร์เซ็นต์อีกสักตัวแล้วกัน พอได้มาก็ขอ 75 เปอร์เซ็นต์อีก ไปเรื่อยๆ จนครบไซส์ คราวนี้ตัว 60 เปอร์เซ็นต์มีสีเดียวเองว่ะ ขออีกสีละกัน ผมว่ามันจะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ สุดท้ายพอเจอตัวไหนสวยๆ เราก็กดสั่งอีกอยู่ดี” เราหัวเราะเสียงดังลั่นห้องทำงานของชายหนุ่ม
ดูท่าแล้ว ถ้ามาเยี่ยมโปรครั้งหน้าคงจะได้ยินว่าเขาครอบครอง custom keyboard เกินร้อยตัวแล้วแน่ๆ
Pro’s Favorite Keyboards
“ตัวนี้ชื่อ LZ Reborn Edition เป็นคีย์บอร์ดจากเกาหลี เป็นอีกตัวที่หายากและมูลค่าในตลาดสูงมาก จุดเด่นอยู่ที่ side profile ที่เป็นชั้นๆ และเซาะร่องด้านใต้คีย์บอร์ด”
“ตัวนี้ชื่อ Kyuu อ่านว่า คิว เป็นภาษาญี่ปุ่น แปลว่า เก้า เป็นตัวที่ผมชอบมาก เพราะได้องค์ประกอบทุกอย่างมาครบ ออกมาคุมโทนสีอย่างที่ตั้งใจ”
“ชื่อ TGR 910 ตัวนี้เป็นหนึ่งในคีย์บอร์ด 65 เปอร์เซ็นต์ที่ได้รับความนิยมมากและหายากพอสมควรในท้องตลาด ความพิเศษของตัวนี้คือได้ทำสี custom anodized สี warhardened ให้ดูเหมือนเหล็กขึ้นสนิม”
“ตัวสีเงินชื่อ Keycult No. 1/65 คีย์บอร์ดตัวนี้เป็นตัวที่สั่งทำสีพิเศษเพียงตัวเดียว เป็นสีเงินด้านตัดกับ polished stainless โดยทางผู้ออกแบบยืนยันว่าจะไม่ทำสีออกมาซ้ำอีก”
“ตัวเทาชื่อ TGR Jane V2 เป็นแบรนด์จากมาเลเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่โด่งดังที่สุดในวงการนี้ ตัวนี้เป็นรุ่นที่นักสะสมอยากได้มาเข้าคอลเลกชั่นกันทุกคน เพราะผลิตเพียง 40 ตัว”