เดินทางใกล้ไป The City & The City: Divided Senses นิทรรศการที่ให้มาดู ดม เดิน ได้ยิน และกินกรุงเทพฯ

Highlights

  • The City & The City: Divided Senses คือนิทรรศการจากโครงการความร่วมมือของ 2 แพลตฟอร์มศิลปะการแสดงอย่าง Bangkok International Performing Arts Meeting (BIPAM) ในกรุงเทพฯ และ Festival/Tokyo (F/T) ในกรุงโตเกียว
  • งานนี้ชวนศิลปินจาก 2 เมืองมาแลกเปลี่ยนสัมผัสที่เกิดขึ้นในแต่ละเมือง โดยจัดนิทรรศการแยกกัน นิทรรศการในไทยจัดขึ้นที่ The Jam Factory วันที่ 5-14 พฤศจิกายน 2563 เวลา 11:00-20:00 น.
  • ภายในงานผู้ชมจะได้ใช้สัมผัสทั้ง 5 ในการพินิจพิจารณากรุงเทพฯ ผ่านผลงานศิลปะหลากหลายรูปแบบจากฝีมือศิลปินนักสร้างสรรค์จาก 3 สาขา ทั้งสถาปนิก นักเต้นร่วมสมัย และศิลปินสื่อผสม

2020 น่าจะเป็นปีที่ผู้คนหลายพันล้านได้รู้สึกใกล้ชิดกับบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองมากขึ้น เมื่อเราไม่อาจกระโดดขึ้นเครื่องบินแล้วหนีไปเดินเล่นริมแม่น้ำที่โตเกียวหรือตะลอนเที่ยวมิวเซียมในลอนดอนได้ตามใจฝัน 

ไหนๆ การเดินทางไกลก็ยังเป็นไปได้ยากเย็น เราจึงอยากชวนมาเดินทางใกล้ที่ทำให้ได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ ในเมืองที่เราใช้ชีวิตทุกวัน

นิทรรศการ The City & The City: Divided Senses คือจุดหมายปลายทางในครั้งนี้

ไม่ว่าคุณจะรักกรุงเทพฯ สุดหัวใจหรือเกลียดเมืองนี้จนแทบบ้า เราขอเวลาไม่นานในการตามมาลองเปิดประสาทสัมผัสทุกส่วนไปด้วยกัน เผื่อจะพบว่ามหานครที่เราทั้งรักทั้งชังแห่งนี้อาจจะมีแง่มุมที่เรามองไม่เห็นซ่อนอยู่ก็เป็นได้

the city & the city

the city & the city

 

เรื่องของสองกรุง

ก่อนจะเป็นนิทรรศการครั้งนี้ ชื่อของมันเคยเป็นชื่อหนังสือมาก่อน

จากนวนิยายคลาสสิกเรื่อง The City & The City โดย China Miéville นักเขียนชาวอังกฤษซึ่งเล่าเรื่องราวของเมืองคู่แฝดที่มีส่วนประกอบที่ทั้งเหมือนและต่างกัน บันดาลใจให้เกิดเป็นโครงการความร่วมมือของ 2 แพลตฟอร์มศิลปะการแสดงอย่าง Bangkok International Performing Arts Meeting (BIPAM) ในกรุงเทพฯ และ Festival/Tokyo (F/T) ในกรุงโตเกียวที่อยากสร้างการเรียนรู้ระหว่างสองเมืองขึ้น

แรกเริ่มเดิมที โครงการนี้วาดฝันไว้ว่าจะให้ศิลปินของทั้งสองฝั่งบินไปสำรวจอีกเมือง แลกเปลี่ยนความรู้กัน และแยกย้ายกันไปสร้างผลงาน แต่ยังไม่ทันจะได้ซื้อตั๋วเครื่องบิน สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ก็ทำให้ทั้งโลกหยุดชะงัก แทนที่การพบเจอกันจะอยู่บนภาคพื้นดิน การแลกเปลี่ยนความรู้ก็เกิดขึ้นผ่านโปรแกรมคอนเฟอเรนซ์ออนไลน์ซึ่งแยกสัมผัสทั้ง 5 ของมนุษย์ออกจากกัน ทีมงานของทั้ง 2 ทีมจึงหยิบข้อจำกัดนี้มาเป็นโจทย์ในการทำงานร่วมกัน

the city & the city

“หลังจากโควิดเกิดขึ้น ตอนแรกเราตั้งใจว่าจะให้ศิลปินจากทั้ง 2 เมืองหา 5 สัมผัสในเมืองของตัวเองแล้วเอามาทำนิทรรศการ แลกกันแบบตรงไปตรงมา แต่พอทำไปแล้วก็พบว่าศิลปินฝั่งโตเกียวจะสำรวจเมืองแบบนามธรรมมากๆ เขาจะไม่กล้าฟันธงว่าสิ่งนี้คือโตเกียวจริงๆ หรือเป็นความรู้สึกของตัวเขาเองกันแน่ ในขณะที่ศิลปินฝั่งกรุงเทพฯ จะเริ่มจากบริบทของเมืองแล้วเอาตัวเองเข้าไปสัมผัส พอรู้ว่าวิธีการทำงานมันกลับด้านกัน เราเลยเปลี่ยนมาเป็นการแลกเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการทำงานแทนว่าน–สิรี ริ้วไพบูลย์ Project Manager ของนิทรรศการเล่าถึงกระบวนการทำงานที่เต็มไปด้วยการเรียนรู้

“แม้จะเริ่มต่างกัน แต่ผลลัพธ์บางอย่างก็คล้ายกัน ออกสตาร์ทคนละฝั่ง แต่มาจบที่จุดเดียวกัน” 

‘จุดเดียวกัน’ ที่ว่านหมายถึงคือนิทรรศการที่จัดขึ้นในสองเมือง ที่โตเกียวจัดขึ้นที่โรงละคร ส่วนนิทรรศการของศิลปินกรุงเทพฯ ​จัดอยู่ที่ The Jam Factory ระหว่างวันที่ 5-14 พฤศจิกายน 2563 นั่นเอง

 

มองหลุมลึกตึกสูง

ภาพที่สะท้อนความเป็นกรุงเทพฯ ได้ดีที่สุดคืออะไร เป็นคำถามที่ศิลปินไทยทั้ง 3 คนในโครงการร่วมกันตามหาเป็นเวลานับเดือน กระทั่งได้มาพบหลุมขนาดใหญ่ในพื้นที่รกร้างข้างชุมชนในฝั่งธนบุรี ฉากหลังเป็นตึกระฟ้าแน่นขนัดตั้งอยู่อีกฟากของแม่น้ำ 

ภาพตรงหน้าตอบคำถามเรื่องความเป็นกรุงเทพฯ ได้อย่างหมดจด

ชัช–ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์ ศิลปินมือสมัครเล่น สถาปนิกเจ้าของสตูดิโอออกแบบ Everyday Architect & Design Studio และผู้เขียนหนังสือ อาคิเต็ก-เจอ ซึ่งเล่ามุมมองเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในเมืองได้อย่างสนุกครบรส พาเราเดินชมนิทรรศการส่วนแรกที่ว่าด้วยสัมผัสการมองเห็นซึ่งสะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำในกรุงเทพฯ ผ่านการจำลองหลุมขนาดเท่าของจริงบนพื้น ตีขอบหลุมด้วยกระดาษที่พิมพ์ภาพซึ่งผ่านโปรแกรม Slit-Scan บิดเบือนมุมต่างๆ ของกรุงเทพฯ และโตเกียวจนไม่อาจแยกออกว่าที่ไหนเป็นที่ไหนกันแน่ 

นอกจากหลุมบนพื้นแล้ว ศิลปินยังสนใจหลุมในอากาศอย่างป้ายโฆษณาบนตึกสูงซึ่งเต็มไปด้วยภาพความสุข รอยยิ้ม และคำชวนเชื่อที่เราทุกคนต่างรู้ดีว่าช่างขัดแย้งกับความเป็นจริงเบื้องล่าง แต่ก็อดไม่ได้ที่จะเคลิ้มฝันไปกับภาพเบื้องบน

ชัชขยายความเกี่ยวกับมุมมองที่มีต่อความเหลื่อมล้ำต่อไปอีกว่า “สังคมไทย romanticize การดิ้นรนมีชีวิตอยู่ในเมืองของคนข้างล่างมากเกินไป คนข้างบนเลือกจะมองเห็นความคูล ความเท่ที่หยิบฉวยไปใช้ได้ แต่ไม่เข้าใจปัญหาจริงๆ เราเองเคยเป็นคนหนึ่งที่เคยมองสิ่งเหล่านี้อย่างโรแมนติกมาก ถึงจุดหนึ่งก็พบว่า นี่คือหลุมลึกของเมืองนี้ เป็นการกระทืบซ้ำความเหลื่อมล้ำให้ยิ่งลึกลงไปอีก ดีไซเนอร์ได้ชื่อเสียง แต่เมืองไม่ได้ประโยชน์อะไร การนำสิ่งเหล่านี้มาเล่ามันควรจะเสนอปัญหาออกไปด้วย เพื่อชวนกันตั้งคำถามให้มันไปสู่การแก้ปัญหาได้จริงๆ” 

the city & the city

 

ยินเสียงแพร่ง

สิ่งที่จะขาดไปไม่ได้สำหรับความเป็นกรุงเทพฯ คือ ‘รถติด’ ประเด็นสุดคลาสสิกที่เราเองก็ยังเหนื่อยจะส่งเสียงบ่นซ้ำๆ แต่ ไทม์–ชนะพล คมขำ ศิลปินที่ทำงานกับสื่อหลากหลายตั้งแต่จิตรกรรม วิดีโอ ภาพถ่าย ไปจนถึงงานศิลปะผ่านเสียงสามารถหยิบจับเอาแง่มุมใหม่ของรถติดมาเล่าผ่าน ‘การได้ยิน’ อย่างน่าสนใจ

งานนี้ เขาโฟกัสไปที่เสียงของสี่แยกซึ่งเป็นแหล่งรวมความอึดอัดคับข้องระหว่างช่วงเวลาของสัญญาณไฟแดงไว้ด้วยกันทุกทิศทาง สลับกับเสียงออกตัวของเครื่องยนต์ที่ปะปนกับเสียงของความโล่งอกโล่งใจทันทีที่สัญญาณไฟเขียวปรากฏ

the city & the city

“ผมไปอัดเสียงจากแยกท่าพระ แยกอโศก แยกพัฒนาการ แยกสะพานควาย แยกห้วยขวาง แล้วก็แยกราษฎรประสงค์” ไทม์ยิ้มเล็กๆ เมื่อพูดชื่อแยกสุดท้าย เขาชี้ให้เราดูปกเทปทั้ง 6 ม้วนที่เคลือบด้วยสีหวานๆ เจือกลิ่นอายงานศิลปะแบบ City Pop ของญี่ปุ่นที่มักจะว่าด้วยความสุขของปัจเจกชนในเมืองใหญ่ แต่ตัวเนื้อเทปนั้นบันทึกดนตรีแนวเมทัลที่ผสมกับเสียงกรีดร้องของยวดยานบนถนนในกรุงเทพฯ ซึ่งไทม์มิกซ์ขึ้นเอง

“ในช่วงเก็บข้อมูลเราพยายามหาว่าสัมผัสอะไรที่เป็นตัวแทนของกรุงเทพฯ ได้ และบันทึกความรู้สึกในแต่ละวันของเราไปด้วย เราค้นหาสิ่งที่น่าสนใจ สิ่งที่เรามีความรู้สึกร่วมกับมันอย่างอัตโนมัติ ปกติเราสนใจธรรมชาติมากกว่า ตัวอยู่ในเมืองแต่ใจไปอยู่ที่ภูเขา ทะเล พอมาทำงานนี้ก็ทำให้ได้ประสบการณ์ใหม่ในที่เดิม ทำให้หนึ่งวันมันยืดยาวออกไป เมื่อเราตั้งใจรับรู้มัน”

 

เหยียบย่ำฟุตบาด

“การเดินในกรุงเทพฯ ให้เซนส์ของความ unbalance หรือความไม่สมดุล ลองเดินได้เลย กรุงเทพฯ เป็นอย่างนี้จริงๆ” มัช–ภคมน เหมะจันทร์ นักเต้นร่วมสมัยที่เน้นสำรวจร่างกายและสื่อสารผ่านการเคลื่อนไหวเลือกใช้เท้าสื่อถึงสัมผัสพื้นผิวของกรุงเทพฯ

the city & the city

the city & the city

เธอออกเดินไปยังที่ต่างๆ ในมหานครแห่งนี้แล้วบันทึกวิดีโอการสัมผัสมาฉายบนจอซึ่งวางอยู่ในระดับเดียวกับสายตา สร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ให้ผู้ชมได้เพ่งมองการเคลื่อนไหวของฝ่าเท้าที่ไล้เลื้อยไปตามพื้นกระเบื้องที่แตกหักชำรุดจนน่ากลัวจะบาดเท้า ย่ำลงไปบนแอ่งดินโคลน และสารพัดสัมผัสที่คนเดินเท้าในกรุงเทพฯ แสนจะคุ้นเคย พื้นเบื้องล่างตรงหน้าจอเป็นชิ้นส่วนอิฐ กระเบื้องที่แตกหัก ซึ่งศิลปินชวนให้ผู้ชมลองเหยียบได้ตามใจชอบ 

มัชเดินย่ำนำร่องให้เราดูเป็นตัวอย่าง แต่ไม่มีใครกล้าก้าวตามเธอไป “ส่วนนี้เราแปะสติกเกอร์คำว่า please touch ไว้อยากให้คนลองจับ ลองเหยียบ แต่หลายคนก็ไม่กล้า เหมือนกับว่าการห้ามในสังคมเรามันฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกไปแล้ว ในเมื่อถูกห้ามไปหมด แล้วอะไรที่เราทำได้บ้าง เราอยากเล่นกับความกลัว ความกล้า ความอยากของแต่ละคน ซึ่งไม่รู้ว่าความต้องการจริงๆ คืออะไร”  

 

ชิมรสรวมชาติ

ยากเหลือเกินที่จะนิยามรสชาติของกรุงเทพฯ​ ได้ในชามเดียว เพราะความเป็นเมืองหลวงแห่งสตรีทฟู้ดของที่นี่ ไม่รวมว่าคนทุกภาคทุกจังหวัดยังพากันมาทำงานในเมืองทำให้เราเราสามารถค้นพบทุกรสชาติในประเทศไทยได้ในที่เดียว ศิลปินทั้ง 3 คนจึงเห็นตรงกันว่า ‘ตำผลไม้’ น่าจะเป็นตัวแทนที่ชัดเจนที่สุดในแง่ของความหมายและที่มา

credit / facebook.com/BIPAMbkk

“รสชาติของกรุงเทพฯ คือการตำ การยำ เอาอะไรหลายอย่างมารวมกัน ผลไม้ในกรุงเทพฯ ก็มาจากทั่วประเทศ เปรียบเหมือนคนที่มาจากต่างจังหวัด ถูกเคลือบรสชาติความเป็นเมืองแบบเดียวกันไว้ วันเปิดนิทรรศการเราตำผลไม้จริงๆ ให้คนได้ชิม เสิร์ฟในชามแบบญี่ปุ่นและให้ใช้ตะเกียบคีบ คนที่มาร่วมงานก็เล่าว่าได้ประสบการณ์ใหม่ที่แปลกไปอีกแบบ” มัชเล่าพลางชี้ให้ดูจอที่ตั้งวางราบ มีชามวางอยู่เหมือนกับโต๊ะอาหาร ฉายวิดีโอที่เธอกำลังปรุงตำผลไม้แจกให้ผู้เข้าร่วมงานได้ชิม  

ภาพบนจอที่เธอสวมผ้ากันเปื้อนควงสากตำผลไม้อย่างสนุกสนานตอกย้ำเส้นทางศิลปินที่เธอเล่าให้เราฟังว่า “การเต้นกับการใช้ชีวิตของเรามันส่งผลต่อกันและกันตลอด เราไม่อยากจำกัดตัวเองว่า ฉันจะเป็นนักเต้นแบบนี้เท่านั้น อยากลองทำให้หลากหลายที่สุด เราอยากปรับตัวได้เหมือนกิ้งก่า” เธอหัวเราะสดใส

 

ดมกลิ่นกรุ่นกรุง

กลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของคลองแสนแสบหรือกลิ่นเหม็นที่แตกต่างและโดดเด่นกว่ากลิ่นอื่นๆ เป็นสัมผัสที่ศิลปินลงความเห็นตรงกันว่านี่แหละคือกลิ่นที่เป็นตัวแทนของกรุงเทพฯ

“ตอนทำนิทรรศการ เราลองเอาน้ำคลองมาดมมันก็ไม่มีกลิ่นขนาดนั้น ปรากฏว่ากลิ่นเหม็นที่เราสัมผัสเวลานั่งเรือคลองแสนแสบเกิดจากการที่เรือดูดน้ำเข้าไปในระบบหล่อเย็นของเครื่องยนต์แล้วปล่อยออกมา เราจึงจำลองระบบท่อของเมือง จำลองกระบวนการไหลเวียนคลองออกมา” ชัชเล่าถึงการสื่อสารเรื่องราวของกลิ่นผ่านงานศิลปะจัดวางท่อสีฟ้า 2 จุด เชื่อมกันด้วยสายยางใสอวดให้เห็นน้ำสีฟ้าไหลเวียนไปรอบพื้นที่จัดแสดง 

มัชเสริมว่าศิลปินโตเกียวเล่าว่าระหว่างออกไปค้นหาสัมผัสในเมือง พวกเขาพบเห็นการก่อสร้างเกิดขึ้นแทบทุกที่เพื่อรองรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกจึงดูเหมือนกับว่าเมืองโตเกียวนั้นไม่ต่างจากสิ่งมีชีวิตที่กำลังเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปเรื่อยๆ แนวคิดนี้ไปสอดคล้องกับทฤษฎีทางสถาปัตยกรรมแบบ Metabolism ซึ่งเป็นที่แพร่หลายในญี่ปุ่นช่วงทศวรรษ 1960 ได้อย่างน่าสนใจ

“งานชิ้นนี้เชื่อมโยงกับนิทรรศการที่โตเกียวด้วยเพราะศิลปินฝั่งโตเกียวมองว่าเมืองเปรียบเหมือนร่างกายที่มีการสูบเข้าถ่ายออก”

 

ส่งต่อสัมผัสระหว่างเมือง

แม้เราจะไม่ได้มีโอกาสไปชมนิทรรศการจริงที่โตเกียว แต่ก็สามารถซึมซับบรรยากาศ ผ่านวิดีโอบันทึกภาพรวมถึงกระบวนการทำงานของศิลปินผ่านหน้าจอได้ที่กรุงเทพฯ  

จ๋า–วริศรา บ่อเกิด ผู้ประสานงานโครงการเล่าความรู้สึกในฐานะผู้ที่ได้เห็นการทำงานตั้งแต่วันแรกจนถึงวันจัดแสดงผลงานที่ทำให้เจอจุดร่วมระหว่างสองเมืองมากกว่าที่คิดไว้

“ทีมโตเกียวได้ลองเอาการค้นพบเรื่องเมืองบางอย่างที่เราส่งไปให้ใส่เข้าไปในนิทรรศการของเขาด้วย ศิลปินมาเล่าให้ฟังว่าจากการสังเกตปฏิกิริยาผู้ชมที่โตเกียวไม่รู้ว่าสิ่งนี้คือกรุงเทพฯ หรือโตเกียว ก็ตรงกับข้อสังเกตที่เราพูดกันตั้งแต่ช่วงแรกๆ ว่า ‘เราก็ไม่ได้ต่างกันขนาดนั้นนี่นา’”


The City & The City: Divided Senses จัดแสดงในระหว่างวันที่ 5-14 พฤศจิกายน 2563 เวลา 11:00-20:00 ที่ The Jam Factory แต่หากใครพลาดไป ไม่ต้องเสียใจ อดใจรออีกไม่กี่เดือนข้างหน้า นิทรรศการนี้จะกลับมาจัดแสดงอีกครั้งใน Bangkok Design Week 2021 ในวันที่ 30 มกราคม – 7 กุมภาพันธ์ 2564  ติดตามรายละเอียดได้ทางเว็บไซต์ และเฟซบุ๊กเพจ BIPAMbkk

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย