เบื้องหลัง The Art of Thai Comics หนังสือประวัติศาสตร์การ์ตูนไทยดีไซน์สนุกที่เขียนโดยคนเบลเยียม

The Art of Thai Comics หลายคนอาจมีหนังสือการ์ตูนเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโต แต่สำหรับ Nicolas Verstappen หนังสือการ์ตูนเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน ชายชาวเบลเยียมผู้นี้ตัดสินใจเดินทางมาเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรนานาชาติ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเลือกใช้ความรักในหนังสือการ์ตูนมาต่อยอดเป็นงานวิจัยของตนเอง

4 ปีให้หลัง งานวิจัยชิ้นนั้นกลายเป็นหนังสือเล่มโตตรงหน้าเรา บนหน้าปกระบุชื่อไว้ว่า การ์ตูนไทย ศิลปะ และประวัติศาสตร์ หรือ The Art of Thai Comics ซึ่งรวบรวมเรื่องราวในวงการการ์ตูนไทยไว้อัดแน่นกว่า 100 ปี ชนิดที่คนอ่านการ์ตูนส่วนใหญ่ก็คงไม่เคยเห็นข้อมูลเหล่านี้มาก่อน!

บางคนอาจถอดใจเมื่อได้ยินว่านี่คืองานวิจัยระดับอาจารย์ แต่เชื่อเถอะว่าหนังสือเล่มนี้อ่านง่ายและเป็นมิตรมากกว่าที่คุณคิด เพราะเนื้อหาทั้งหมดถูกพัฒนาอย่างดีจากนิโคลาสและทีมงานคุณภาพที่ช่วยกันบรรณาธิกรจนอ่านได้อย่างลื่นไหล แถมยังได้ พี–พีรพัฒน์ กิตติสุวัฒน์ นักวาดการ์ตูนและดีไซเนอร์ฝีมือเยี่ยมมาช่วยออกแบบรูปเล่มให้หนังสือน่าอ่านเข้าไปอีก

ก่อนที่จะไปย้อนประวัติศาสตร์การ์ตูนไทยในหนังสือ ชวนไปย้อนฟังเส้นทางการปลุกปั้นหนังสือเล่มนี้ ซึ่งมีทั้งอุปสรรคและเรื่องสนุกตลอดเวลา 5 ปี แอบสปอยล์ให้ฟังก่อนเลยก็ได้ว่าเบื้องหลังงานนี้เข้มข้นและสนุกไม่แพ้หนังสือการ์ตูนบางเล่มเลยทีเดียว!

CHAPTER 1 : พื้นที่ที่เราจะสื่อสารอะไรก็ได้

นิโคลาสในวัยเด็กเริ่มอ่านหนังสือการ์ตูนตั้งแต่ยังไม่คล่องแกรมมาร์ภาษาอังกฤษด้วยซ้ำ เขาอาศัยเพียงรูปภาพและช่องที่เรียงต่อกันในการปะติดปะต่อเรื่องราว กระทั่งเติบโตขึ้นถึงวัยที่ใครหลายคนเริ่มแพ็กหนังสือการ์ตูนเล่มโปรดเก็บใส่กล่องหรือห้องเก็บของ นิโคลาสผู้เรียนจบปริญญาโทมาหมาดๆ ตัดสินใจทำงานต่อในร้านหนังสือที่บรัสเซลส์ ที่ทำให้เขาได้เข้าถึงหนังสือที่รักตลอดเวลา

และช่วงวัยที่การ์ตูนอาจกลายเป็นเพียงเศษเสี้ยวความทรงจำ นิโคลาสตัดสินใจออกจากงานที่ร้านหนังสือเพื่อย้ายรกรากมาอยู่เมืองไทยและทำงานเป็นอาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ การมาอยู่เมืองไทยทำให้เข้าได้ขยายความสนใจออกไปรู้จักการ์ตูนและนักวาดชาวไทยอีกมากมาย จนเขาตัดสินใจเลือกทำงานวิจัยหัวข้อ Thai Comics in the Twenty-First Century: Identity and Diversity of a New Generation of Thai Cartoonists เพื่อศึกษาเกี่ยวกับการ์ตูนไทยอย่างจริงจัง

“หลายคนมองว่าการ์ตูนเป็นสื่อที่ไร้สาระ แต่ความจริงในการ์ตูนมีเรื่องราวซ่อนอยู่มากมาย ผมเคยเห็นหนังสือกราฟิกเกี่ยวกับเด็กผู้หญิงอิหร่านในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 การ์ตูนเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคมะเร็ง การ์ตูนที่ผู้เขียนพยายามถ่ายทอดความเป็นตัวเอง เล่าเรื่องการ come out ของเพศที่หลากหลาย ดังนั้นการ์ตูนจึงเป็นพื้นที่ที่เราจะสื่อสารอะไรก็ได้”

อาจเพราะช่วงปี 1950 ในยุคที่งานศิลปะฝั่งตะวันตกยังมีการแบ่งชนชั้น งานศิลปะที่แท้จริงถูกจำกัดไว้ว่าต้องเป็นงานที่มีแต่ภาพเท่านั้น ส่งผลให้งานที่ผสมระหว่างคำพูดและภาพไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นงานศิลปะแท้จริง จนเกิดภาพจำว่าการ์ตูนคือสื่อที่ไม่มีประโยชน์และไร้แก่นสาร

แต่ในอีกฟากของโลกพบว่าการผสมกันของภาพและคำพูดกลับทำให้เกิดวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่อย่าง ‘มังงะ’ หรือหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น ซึ่งทำให้ภาพของวงการการ์ตูนค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป

“การ์ตูนเกิดขึ้นบนโลกได้เกือบ 2 ศตวรรษแล้ว แม้ว่าที่ผ่านมาจะยังไม่ค่อยมีใครสนใจศึกษาอย่างจริงจัง แต่ผมมองว่าทุกวันนี้แนวคิดของผู้คนต่อการ์ตูนกำลังเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น

“ลูกศิษย์ของผมหลายคนบอกว่าพวกเขาดีใจที่ได้เห็นคอมิกอย่าง Batman และ Superman จากช่วงปลายยุค 40s ซึ่งถือเป็นยุคทองของวงการการ์ตูน แต่ผมว่ายุคทองคือตอนนี้ต่างหาก ทุกวันนี้เรามีนักเขียนการ์ตูนหญิงเกิดขึ้นมากมาย ทั้งที่แต่ก่อนพื้นที่นี้มีแต่ผู้ชายทั้งนั้น และเรายังมีการ์ตูนหลายรูปแบบ มีงาน experimental ให้เข้าถึงได้ง่ายๆ แม้แต่มหาวิทยาลัยหลายแห่งก็เริ่มเปิดสอนเกี่ยวกับการ์ตูนมากขึ้น เพราะสุดท้ายพวกเขาก็พบว่าการ์ตูนคือรูปแบบการสื่อสารอย่างหนึ่งนั่นแหละ”

CHAPTER 2 : เรื่องของการ์ตูนไทย ที่คนไทยอาจไม่รู้

“สิ่งที่ผมพบจากการทำวิจัยมีเยอะมาก ผมเล่าได้เป็นชั่วโมงเลย” นิโคลาสออกปาก แต่มากไปกว่านั้นคือเรื่องราวเกี่ยวกับการ์ตูนไทยที่เขาเล่าแต่ละข้อกลับเป็นสิ่งที่คนไทยอย่างเราไม่เคยรู้แทบทั้งสิ้น! ทั้งหมดคือผลจากการฝังตัวในแหล่งข้อมูลเพื่อทำวิจัยถึง 1 ปีเต็ม 

สิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับผมคือการเห็นการ์ตูนไทยหยิบยืมเอกลักษณ์จากการ์ตูนของหลายๆ ประเทศมาใช้ เช่น สไตล์การวาดแบบอเมริกัน การเล่าเรื่องแบบมังงะ เรามีกระทั่งตัวการ์ตูนอย่าง ‘ลิงกี้’ ของวิตตมิน ที่เป็นการผสมกันของ Popeye และ Mickey Mouse 

“ในช่วงปี 1930 การ์ตูนเป็นสื่อที่แพร่กระจายได้เร็วที่สุด เพราะการ์ตูนไม่เหมือนภาพยนตร์หรือหนังสือที่คุณต้องรอให้มีการแปลก่อนถึงจะเข้าใจ เด็กไทยจึงสามารถอ่านการ์ตูนไทยที่มีการเอาความเป็นลิเกเข้ามาผสมของ ‘ประยูร จรรยาวงษ์’ นักเขียนชื่อดังในยุคนั้น และอ่านป๊อปอายกับมิกกี้เมาส์ในหนังสือพิมพ์อเมริกันไปด้วย

“อีกสิ่งหนึ่งที่ผมว่าน่าสนใจมากคืองานของ ‘เตรียม ชาชุมพร’ ผมเคยเห็นงานในปี 1980 ของเขา ผมทึ่งมากที่เขาเลือกเล่าประเด็นทางสังคมเกี่ยวกับผู้คนในภาคอีสาน ซึ่งผมว่ามันสร้างสรรค์มาก เขาทำในสิ่งที่แม้แต่นักวาดการ์ตูนของอเมริกาและญี่ปุ่นก็ยังไม่เคยทำด้วยซ้ำ

CHAPTER 3 : ตามหาประวัติศาสตร์ที่หายไป

การตามหาข้อมูลเกี่ยวกับการ์ตูนเก่าๆ เมื่อหลายสิบปีก่อนเพื่อทำวิจัยนั้นฟังดูไม่ใช่เรื่องง่าย ชนิดที่ต่อให้เป็นคนไทยที่คุ้นเคยกับภาษาและแหล่งข้อมูลในไทยเองก็อาจต้องใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปี เราจินตนาการภาพไม่ออกเลยว่านิโคลาสทำทั้งหมดนี้ได้ยังไง ทั้งที่เขามีทักษะภาษาไทยในระดับที่ ‘พออ่านออก’ เท่านั้น

คำตอบก็คือทีมงานคนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของหนังสือเล่มนี้อย่าง เบิร์ด–ธันย์ชนก รื่นถวิล ผู้ช่วยทำวิจัยที่คอยเช็กและแนะนำข้อมูลที่น่าสนใจให้เขา และ นุช–ชนิดา อรวัฒนานนท์ นักแปลผู้คอยเปลี่ยนข้อมูลภาษาไทยยากๆ ให้กลายเป็นภาษาอังกฤษเข้าใจง่าย (และเธอยังเป็นคนแปลหนังสือฉบับภาษาไทยด้วย)

แม้จะมีผู้ช่วยคอยรับหน้าที่แปลและค้นคว้า แต่นิโคลาสเองก็ยังให้ความสำคัญกับการเข้าหาแหล่งข้อมูลที่มากไปกว่าอินเทอร์เน็ตและห้องสมุด

“ผมออกตามหาข้อมูลทั้งจากร้านหนังสือเก่า เข้าไปสอบถามจากกลุ่มคนสะสมหนังสือการ์ตูน ตลาดออนไลน์ และได้ทำความรู้จักกับผู้เชี่ยวชาญในวงการนี้มากมาย แต่ก็น่าเสียดายที่ยังมีข้อมูลอีกหลายส่วนที่ไม่สามารถหาได้ อย่างช่วงปี 1950-1960 เป็นช่วงที่ผมหาผลงานต่างๆ ได้ยากมาก” เมื่อลองคำนวณปี พ.ศ.แล้วนึกเทียบเคียงกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยดู ก็พอจะคาดเดาสิ่งที่นิโคลาสจะเล่าต่อไปได้ไม่ยากนัก

“อย่างงานของประยูร ผมคิดว่าช่วงนั้นรัฐบาลอาจขอให้เขาเลิกเขียนงานเกี่ยวกับการเมือง เพราะรัฐบาลเผด็จการไม่ชอบการ์ตูน พวกเขาเชื่อว่าการ์ตูนสามารถเปลี่ยนความคิดคนได้ง่าย ก็เหมือนกับที่รัฐบาลเผด็จการหลายประเทศชอบใช้การ์ตูนเป็นเครื่องมือชวนเชื่อนั่นแหละ ดังนั้นการ์ตูนเลยเป็นเครื่องมือที่อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีที่สุดหรือแย่ที่สุดก็ได้”

โชคดีที่ลูกหลานของอาจารย์ประยูรเก็บรวบรวมงานเก่าๆ ของเขาไว้อย่างดีเยี่ยม และมีมูลนิธิประยูร จรรยาวงษ์ ซึ่งกลายเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญในการทำวิจัย ทำให้การตามหาข้อมูลส่วนนี้ยังไม่ยากนักเมื่อเทียบกับการหาข้อมูลของนักเขียนบางคนในบางยุค เช่น การ์ตูนของนักศึกษาในยุค 14 ตุลาฯ ซึ่งเขาหาเจอเพียงแค่หน้าเดียวเท่านั้น

“อีกปัจจัยที่อาจทำให้การ์ตูนไทยในช่วงหนึ่งหายสาบสูญไปคือปัญหาเรื่อง ‘ความเป็นไทย’ โดยเฉพาะในมุมมองของหน่วยงานราชการที่ดูแล ซึ่งมักจะใช้การตัดสินถูก-ผิดกับงานศิลปะ และคอยกีดกันว่าอันนี้เป็นญี่ปุ่น อันนี้เป็นอเมริกัน ส่วนการ์ตูนเกี่ยวกับผีหรือความเชื่อเหนือธรรมชาติในช่วง 1960 เขาก็มองว่าไม่ดีกับคนไทยและควรให้เลิกเขียน”

หากสรุปง่ายๆ งานวิจัยของนิโคลาสจึงเป็นพื้นที่รวบรวมประวัติศาสตร์วงการการ์ตูนไทยแบบละเอียดยิบชนิดที่ไม่น่าจะมีใครเคยทำมาก่อน ทั้งเรื่องราวของนักเขียนในแวดวงอิสระและกระแสหลักตลอดหลายสิบปี รวมถึงผลงานที่มีความสำคัญและสร้างการเปลี่ยนแปลงในยุคต่างๆ ซึ่งข้อมูลในหลายยุคสมัยได้กลายเป็นเครื่องมือบันทึกประวัติศาสตร์และสะท้อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ใช่แค่ที่ไทยเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงอิทธิพลของต่างชาติที่มีต่อไทยด้วย

CHAPTER 4 : หนังสือจากงานวิจัยที่ไม่น่าเบื่อ

หลังจากที่งานวิจัยของนิโคลาสจบลง หนึ่งปีต่อจากนั้นเขาได้จัดงานเสวนา The Sleep of Reason: V for Vendetta & David Lloyd ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่นั่นเขาได้พบกับ Sarah Rooney บรรณาธิการของสำนักพิมพ์ River Books ที่ชักชวนให้เขานำงานวิจัยมาแปลงเป็นหนังสือ

“ผมตอบตกลงไปเพราะคิดว่าคงง่าย แต่ปรากฏว่าเราใช้เวลากันนานมาก จากตอนแรกที่คิดว่าน่าจะใช้เวลาสักปีในการหาข้อมูลเพิ่มเติม แต่มันก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” นิโคลาสหัวเราะแล้วอธิบายถึงข้อมูลส่วนที่หายไป เพราะงานวิจัยชิ้นเดิมของเขาจะเน้นแค่ 3 ทศวรรษสำคัญในวงการการ์ตูนไทยเท่านั้น แต่ภายในหนังสือปกสีแดงเล่มนี้ได้รวบรวมข้อมูลไว้มากถึง 100 ปี!

พีรพัฒน์, นิโคลาส และซาราห์
เครดิตภาพ หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์

“เมื่อได้ข้อมูลมา ผมจะเขียนเป็นบทๆ แล้วส่งให้ซาร่าห์และกองบรรณาธิการดู เขาจะฟีดแบ็กกลับมาว่าอันนี้น่าเบื่อนะ หรืออันนี้วิชาการเกินไป ให้ปรับหน่อย

“มันยากเหมือนกันสำหรับคนที่พูดภาษาฝรั่งเศสอย่างผม เพราะภาษาเขียนของฝรั่งเศสโดยมากมักจะใช้ประโยคยาวๆ และซับซ้อน พอเขียนเป็นภาษาอังกฤษมันจึงกลายเป็นฝันร้ายของกอง บ.ก.เลยล่ะ” นิโคลาสพูดติดตลก พร้อมบอกว่าสุดท้ายแล้วเขาก็เรียนรู้ที่จะทำงานเขียนให้ซีเรียสน้อยลงและสนุกไปกับแต่ละบทมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้จะขอบคุณใครไปไม่ได้นอกจากทีมงานทุกๆ คนที่ช่วยกันแนะนำและผลักดันงานชิ้นนี้ให้เกิดขึ้นจริง

CHAPTER 5 : การเจอกันที่ดีที่สุด

“ผมเคยคิดว่าแค่หนังสือเล่มนี้สำเร็จออกมาได้ก็เป็นรางวัลของผมแล้ว แต่การที่ผมได้ร่วมงานกับพีรพัฒน์ถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในกระบวนการทั้งหมด” นิโคลาสยิ้มกว้างเมื่อเอ่ยชื่อพีรพัฒน์ นักวาดการ์ตูนและดีไซเนอร์มากฝีมือ

ซึ่งผลงานหนังสือที่เราเห็นตรงหน้าก็ยืนยันได้ว่านิโคลาสไม่ได้พูดเกินจริงเลยสักนิด

“จริงๆ จะให้ผมไปจ้างดีไซเนอร์ที่ไหนมาทำก็ได้ แต่ผมคิดว่าการทำหนังสือเกี่ยวกับการ์ตูนมันสำคัญที่จะต้องมีคนที่มีความรู้เรื่องนี้ด้วย เพราะนักเขียนการ์ตูนจะมีทักษะในการผสมตัวหนังสือและภาพในสัดส่วนที่ลงตัว ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นต่อหนังสือเล่มนี้”

ขณะที่กองบรรณาธิการกำลังวุ่นวายกับการทำข้อมูลเพิ่มเติมจนหนังสืองอกจาก 200 เป็นเกือบ 300 หน้า หากพีรพัฒน์ผู้รับหน้าที่อาร์ตไดเรกเตอร์และดีไซเนอร์กลับยิ้มยินดี

“เราชอบจัดการข้อมูลเยอะๆ อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นนี่ไม่ใช่เรื่องที่เรากังวลเลย ยิ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การ์ตูนไทยก็ยิ่งเข้าทาง เพราะเราก็โตมากับการอ่านการ์ตูนอยู่แล้ว การติดตามข่าวสารในวงการการ์ตูนไทยมาเรื่อยๆ มันก็ยิ่งทำให้เราอยากทำงานนี้มากขึ้นไปอีก” พีรพัฒน์ยิ้ม

CHAPTER 6 : งานออกแบบที่สะท้อนประวัติศาสตร์ไทย

จากระยะเวลา 5 ปีของการพัฒนาหนังสือเล่มนี้ให้เป็นรูปเป็นร่าง 2 ปีในนั้นเป็นช่วงเวลาที่พีรพัฒน์ใช้สำหรับการออกแบบรูปเล่ม 

และส่ิงที่สะดุดตาเราที่สุดคงหนีไม่พ้นเจ้าเสือตัวโตที่กระโดดออกมาจากปกสีแดงสด

“เพราะเสือคือสัตว์ที่ปรากฏอยู่ในการ์ตูนไทยเยอะมาก อีกอย่างคือในมุมมองฝรั่งอย่างนิโคลาสที่มองเข้ามา เมื่อพูดถึงประเทศแถบนี้ก็จะมีสัตว์สองอย่าง ไม่เสือก็ช้าง” พีรพัฒน์เล่า ก่อนที่นิโคลาสจะเสริม

“นอกจากเสือเป็นตัวๆ แล้วเราก็ยังเห็นเสืออยู่บนชุดของฤาษีซึ่งเป็นตัวละครสำคัญในวัฒนธรรมไทยด้วย อีกเหตุผลคือเสือเป็นสัตว์ที่สามารถพรางตัวตามต้นไม้ได้ แล้วอยู่ๆ มันก็จะกระโดดออกมาหาคุณ ก็เหมือนการ์ตูนไทยที่กำลังเฝ้ารอให้คุณไปค้นพบ”

โจทย์สำคัญที่พีรพัฒน์ตั้งให้ตัวเองในการออกแบบหน้าปกหนังสือเล่มนี้ก็คือ ต้องเป็นปกที่ชวนให้คนเปิดอ่าน ไม่ใช่หยุดดูเฉยๆ และเป็นปกที่ใครๆ ก็อยากลองอ่าน ไม่ใช่แค่คนที่สนใจประวัติศาสตร์เท่านั้น

“จริงๆ ก่อนหน้านี้เราเคยมีปกที่ค่อนข้างเรียบกว่านี้ หลายคนก็ชอบเวอร์ชั่นนั้นแล้ว แต่เราว่ามัน traditional ไปหน่อย เราจึงตั้งใจว่าจะทำปกใหม่ แต่ด้วยความที่ตัวเล่มด้านในก็ยังไม่เสร็จสักทีจนจะต้องปิดเล่มแล้ว เราก็ไปบอกกับทางสำนักพิมพ์ว่าเราจะทำปกใหม่นะ เขาก็ตกใจกันว่าเราจะทำทันเหรอ แต่จากโจทย์ที่เราตั้งไว้ให้ตัวเองก็ต้องถือว่าการเปลี่ยนปกคือการตัดสินใจที่ถูกต้องมาก” พีรพัฒน์เล่า

เมื่อพลิกหน้าปกสีแดงเปิดเข้าสู่เนื้อหาภายใน เราจะเห็นความตั้งใจของพีรพัฒน์ที่ดีไซน์ภายในเล่มให้เป็นเครื่องมือบันทึกและส่งต่อประวัติศาสตร์การ์ตูนแบบง่ายๆ ด้วย

“หากลองสังเกตหน้าเปิดของแต่ละบทจะเห็นว่าเราใช้การเล่าเรื่องแบบต่อเนื่อง​ ที่คล้ายกับหนังสือ in-between ของเราซึ่งนิโคลาสชอบมาก มันคือการรีแคปเนื้อหาของแต่ละบทในตัวเอง แต่ถ้าอ่านจนจบคุณจะรู้ว่าหน้าเปิดทุกบทนั้นร้อยเรียงกันเป็นเรื่องเดียว

“และถ้าสังเกตดูตรงหน้านักวาด เราก็แปลงให้รูปของพวกเขากลายเป็นการ์ตูน เพราะมันไม่ง่ายเลยที่เราจะหารูปนักวาดเก่าๆ มาใส่ในเล่ม” นอกจากจะเป็นการคงคอนเซปต์และจัดการกับข้อจำกัดแล้ว ภาพเล็กๆ เหล่านี้ยังช่วยให้คนอ่านอย่างเราได้เห็นหน้าของนักวาดแต่ละคนอย่างชัดเจนและใกล้เคียงที่สุด

“นักวาดหลายคนที่เห็นในเล่มนั้นแทบจะถูกลืมไปแล้วในปัจจุบัน แต่เราก็อยากให้คนอ่านรู้ว่าเขาควรได้รับการยกย่องเช่นเดียวกับผลงานของเขา สำหรับเราการที่ได้วาดพวกเขาจึงเหมือนเป็นการไหว้ครูไปในตัว”

CHAPTER 7 : บทสรุปและจุดเริ่มต้น (อีกครั้ง)

ใครที่ได้อ่านหนังสือแล้ว คุณอาจเคยอ่านถ้อยคำของนิโคลาสที่อธิบายว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ทั้งหมดของการ์ตูนไทย เพราะนี่เป็นเพียงบทแรกของหนังสือการ์ตูนเรื่องยาวที่เขียนโดยเหล่านักวาดการ์ตูนชาวไทย และเขายังคงรอให้นักเขียนรุ่นต่อไปมาช่วยกันต่อเติมเรื่องราวของวงการนี้ให้สนุกขึ้นเรื่อยๆ

“ผมเป็นฝรั่งที่เป็นเพียงแค่แขกของประเทศนี้ แต่ผมก็ทำเต็มที่ที่สุดแล้ว ผมอยากให้พวกคุณภูมิใจที่ประเทศนี้มีงานของยอดฝีมือเต็มไปหมด ทั้งๆ ที่นักเขียนการ์ตูนไทยต้องเจอปัญหามากมายทั้งการปิดกั้นสื่อ รายได้ที่ไม่เป็นธรรม หรือกระทรวงวัฒนธรรมเองก็ไม่ได้ใส่ใจคนกลุ่มนี้เท่าไหร่นัก

“ผมหวังว่าผู้อ่านจะเห็นอะไรที่น่าสนใจจากหนังสือเล่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ การเมือง ความเชื่อ หรือแม้แต่ปัญหาบางอย่างในสังคมที่นักวาดรุ่นใหม่หลายคนพยายามจะลุกขึ้นมาหยุดสิ่งเหล่านั้นด้วยผลงานของเขา

“และหากคุณเป็นนักวาดรุ่นใหม่ ผมอยากให้หนังสือเล่มนี้ทำให้พวกคุณได้รู้ว่าพวกคุณไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว ก่อนหน้านี้เคยมีกลุ่มคนที่ต้องผ่านเรื่องราวการต่อสู้คล้ายกับคุณมาเหมือนกัน ร้อยปีที่ผ่านมามีคนทำงานศิลปะที่ทรงคุณค่าไว้เยอะมาก ผมอยากให้คุณภูมิใจและได้รู้ว่าคุณก็จะเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์นี้เช่นกัน ท้ายเล่มผมเลยทำโชว์เคสของนักเขียนการ์ตูนไทยรุ่นใหม่ไว้เพื่อให้พื้นที่กับพวกเขาด้วย” นิโคลาสปิดท้ายพร้อมรอยยิ้ม

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน