ฝันของชาร์ลี เฉิน ฮก ไฉ่ นักวาดสิงคโปร์ที่เขียนการ์ตูนต่อต้านเผด็จการจนวันตาย

Highlights

  • ชาร์ลี เฉิน ฮก ไฉ่ คือนักวาดการ์ตูนชาวสิงคโปร์ผู้ที่ผลงานไม่เป็นที่รู้จักตลอดชีวิต แม้ว่าเขาจะเขียนการ์ตูนอย่างต่อเนื่องและพยายามเสนอให้สำนักพิมพ์ต่างๆ อยู่เสมอแต่ก็ไม่เป็นผล
  • สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะสิงคโปร์มีประชากรเพียง 3 ล้านคน ตลาดการ์ตูนก็เล็กนิดเดียว แถมคนในชาติยังมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการ์ตูนสิงคโปร์เพราะมองว่าเป็นของที่ลอกเลียนลายเส้นการ์ตูนชาติอื่นมา
  • กระทั่งเขาเสียชีวิต นักวาดการ์ตูนชาว Sonnie Liew จึงเขียนการ์ตูนชีวประวัติของเขาขึ้นและขนานนามให้เขาเป็น 'นักวาดการ์ตูนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์'

ชาร์ลี เฉิน ฮก ไฉ่

1 : ฝันของนักเขียนการ์ตูน

‘นักเขียนการ์ตูนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์’

หนังสือการ์ตูนชีวประวัติเรื่อง ‘ศิลปะของชาร์ลี เฉิน ฮก ไฉ่’ บรรยายถึง Charlie Chan Hock Chye ไว้เช่นนั้น เขาเกิดใน ค.ศ. 1936 เติบโตขึ้นมาในช่วงที่ประเทศสิงคโปร์เกิดความผันผวนทางการเมือง เริ่มหัดวาดรูปจากการที่ต้องนั่งรอลูกค้าอยู่ในร้านขายของชำของครอบครัว และใฝ่ฝันเหมือนกับเด็กชอบวาดรูปอีกคณานับทั่วโลกว่าอยากโตไปเป็นนักเขียนการ์ตูน

จนเมื่ออายุ 17 ปี ชาร์ลีได้พบ ‘เบอร์ทรันด์’ เพื่อนผู้ต่อมาเป็นคู่หูนักเขียนการ์ตูนคอยช่วยคิดเนื้อเรื่องให้เขาวาดเพื่อเสนอต้นฉบับตามโรงพิมพ์ต่างๆ พวกเขาใฝ่ฝันจะโด่งดัง สร้างผลงานยอดฮิตเทียบเทียม ‘ซูเปอร์แมน’ ที่คนเขียนทำเงินได้เกิน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี

แต่การ์ตูนที่ทั้งคู่ลงแรงสร้างสรรค์กลับมียอดขายเจ๊งเละเทะ โรงพิมพ์ไม่มีเงินหมุนมาจ่ายค่าต้นฉบับ ครั้นเมื่อดึงดันจะทุ่มเวลาอีก 15 เดือนเพื่อผลิตงานชิ้นใหม่ไปเสนอโรงพิมพ์และสำนักพิมพ์ใหม่มากกว่า 12 ราย พวกเขาก็ยังถูกปฏิเสธทั้งหมด

มีเพียงสำนักพิมพ์เดียวที่ชื่นชอบผลงานพวกเขาแต่ก็ขอให้เขียนเรื่องใหม่ และนั่นคือจุดกำเนิดของการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่เรื่อง Roachman ผลงานที่ประสบความสำเร็จที่สุดของชาร์ลี

คุณอาจคิดว่านี่คือจุดกำเนิดของตำนาน ‘นักเขียนการ์ตูนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด’ อันนำมาซึ่งยอดขายถล่มทลาย ชื่อเสียงขจรขจาย เพียงพอที่จะมีนักเขียนการ์ตูนชาวสิงคโปร์รุ่นหลังมาเขียนชีวประวัติยกย่อง แต่หาใช่ไม่ ซีรีส์ Roachman ที่ดำเนินมาถึง 23 เล่มไม่ได้มียอดขายดีเด่ ค่าต้นฉบับที่ทีมงานแต่ละคนได้คือ 100 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือนเท่านั้น และหลังจากทำงานด้วยกันมา 8 ปี เบอร์ทรันด์คู่หูของชาร์ลีก็ตัดสินใจขอถอนตัวออกจากทีมเนื่องจากกำลังจะแต่งงานมีลูกและเริ่มคิดถึงการงานที่มั่นคง

นับแต่นั้นชาร์ลียังคงเขียนการ์ตูนมาอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยเวลาว่างจากการทำงานเป็นยามกะดึกมาเนรมิตจินตนาการผ่านปลายปากกา สร้างสรรค์เรื่องราวหลากหลายทั้งแนวตลก ไซไฟ สงคราม แก๊ก โดยแทบไม่เคยได้รับการตีพิมพ์ที่ไหนอีก

และนั่นเป็นเพราะการ์ตูนของเขาแทบทั้งหมด มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเมืองและวิพากษ์วิจารณ์เผด็จการ

  

2 : ฝันของนักสู้ทางการเมือง

ปี 1952 ชาร์ลีอายุ 16 ปี เขาไปม็อบเป็นครั้งแรก

มันเป็นการชุมนุมของนักเรียนหลายร้อยคนเพื่อประท้วงต่อต้านเจ้าอาณานิคมอังกฤษอย่างสันติแต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง จากนั้นไม่นาน ชาร์ลีจึงเริ่มเขียนการ์ตูนแนวซูเปอร์ฮีโร่หุ่นยนต์หนึ่งด้วยลายเส้นน่ารักแบบการ์ตูนเด็ก เล่าเรื่องหุ่นยนต์ยักษ์ที่มาช่วยปกป้องนักเรียนจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมครั้งนั้น

ปี 1956 เขาเขียนการ์ตูนเล่าถึงการชุมนุมของสหภาพแรงงานพนักงานรถประจำทางซึ่งถูกปราบปรามด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์จนมีคนตาย 4 ราย ก่อนที่การ์ตูนของเขาจะถูกถอดออกจากนิตยสารโดยบรรณาธิการให้เหตุผลว่าพื้นที่หน้ากระดาษมีจำกัด

แต่เป็นผลงานชิ้นนั้นเองที่ทำให้เขาได้พบคู่หูอย่างเบอร์ทรันด์ที่นอกจากจะเป็นเพื่อนร่วมอาชีพแล้ว ยังเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ทางการเมือง พวกเขาสร้างผลงานชิ้นต่อมาร่วมกันในชื่อ ‘FORCE 136’ เป็นการ์ตูนสงครามที่วาดแทนคาแร็กเตอร์คนแต่ละชาติเป็นสัตว์ต่างๆ เพื่อนำเสนอประเด็นทางการเมือง วิพากษ์กองทัพอังกฤษและญี่ปุ่น รวมถึงคอมมิวนิสต์มาลายา สะท้อนความโหดร้ายสยดสยองของสงครามที่กระทบชีวิตต่อทหารและประชาชนจำนวนมาก

“ในคุกคงหาโกปี๊โอว (กาแฟดำ) ยากหน่อยนะ!” เพื่อนสาวคนหนึ่งหยอกกับพวกเขา สะท้อนถึงเสรีภาพในการแสดงออกอันจำกัดจำเขี่ยของสิงคโปร์ยามนั้น

จนในวันที่เบอร์ทรันด์ตัดสินใจถอนตัวออกจากทีม ชาร์ลีจึงไม่ได้เสียแค่เพื่อนร่วมงานแต่เสียเพื่อนร่วมอุดมการณ์ไปด้วย แต่เขายังคงเขียนการ์ตูนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเผด็จการอย่างต่อเนื่องโดยไม่เคยเสนอสำนักพิมพ์ใดอีก ไม่มีใครรู้ว่าสาเหตุเป็นเพราะเขาประเมินว่าผลงานของตัวเองไม่มีพลังพอจะไปท้าทายอำนาจรัฐ? กลัวถูกปราบและจับกุม? หรือกลัวเสียงตอบรับจากคนอ่านที่จะมาตอกย้ำความล้มเหลวบนเส้นทางนักเขียนการ์ตูนของเขา?

 

3 : ฝันของนักฝัน

ท่ามกลางความตกต่ำในวิชาชีพและชีวิตส่วนตัว เมื่ออายุ 50 ชาร์ลีตัดสินใจคัดเลือกผลงานทั้งชีวิตมาทำพอร์ตโฟลิโอเพื่อเดินทางเอาไปเสนอสำนักพิมพ์ในงานเทศกาลการ์ตูนที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาอย่าง ‘Comic-Con’ หลังจากที่ตลอดมาเขาได้แต่ทำงานอยู่ในประเทศที่มีประชากร 3 ล้านคน ขนาดอุตสาหกรรมการ์ตูนก็เล็กเกินกว่าจะเทียบอเมริกา แถมนักอ่านสิงคโปร์จำนวนมากก็มีอคติกับผลงานคนในชาติโดยมองการ์ตูนในชาติเป็นเพียงของก๊อป เป็นงานลอกเลียนการ์ตูนชาติอื่น กระทั่งร้านหนังสือการ์ตูนยังไม่รับหนังสือของชาร์ลีไปขายด้วยซ้ำ หากอเมริกาคือดินแดนแห่งเสรีภาพและโอกาส การเดินทางครั้งนี้จึงอาจเป็นโอกาสสุดท้าย

แต่เมื่อไปถึงกลับไม่มีสำนักพิมพ์ไหนสนใจผลงานเขานัก ชาร์ลีต้องกลับประเทศอย่างผิดหวังอีกครั้งเฉกเช่นที่เขาต้องผิดหวังตลอดมา และราวกับเพื่อหลีกหนีความจริง ต่อมาเขาได้เขียนการ์ตูนเล่าเรื่องในจินตนาการของเขาว่าที่งาน Comic-Con วงการการ์ตูนอเมริกันได้สดุดีเขาในฐานะยอดฝีมือที่โลกลืมก่อนทาบทามให้ไปวาดสไปเดอร์แมน และประสบความสำเร็จล้นพ้นจนคนมากมายมารอต้อนรับเขาที่สนามบินสิงคโปร์

ในช่วงท้ายของชีวิต ชาร์ลีถ่ายทอดความฝันของเขาออกมาเป็นการ์ตูนอีกเรื่องว่าด้วยพรรคสังคมนิยมของ ‘Lim Chin Siong’ (ที่ชีวิตจริงถูกคู่แข่งทางการเมืองกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ถูกจับกุมคุมขังและต้องลี้ภัยไปอยู่อังกฤษจนสิ้นชีวิต) ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งในปี 1963 สิงคโปร์กลายเป็นประเทศที่ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพ เศรษฐกิจเติบโต สังคมก้าวหน้า ส่วนชาร์ลีกลายเป็นนักเขียนการ์ตูนที่ชื่อเสียงโด่งดังคับฟ้าระดับได้รับการสร้างพิพิธภัณฑ์การ์ตูนเป็นของตัวเอง

มันฟังดูเป็นความฝันเลื้อนเปื้อนเพ้อเจ้อของตาแก่บ๊องๆ คนหนึ่ง แต่ในความเป็นจริง หนังสือการ์ตูน ‘ศิลปะของชาร์ลี เฉิน ฮก ไฉ่’ ซึ่งวาดโดย Sonny Liew เล่มนี้ กลับประสบความสำเร็จไปถึงระดับโลก ทั้งได้รับการตีพิมพ์ในสิงคโปร์และอเมริกา ติดอันดับขายดีใน Amazon และ The New York Times อย่างที่ไม่เคยมีการ์ตูนสิงคโปร์เรื่องใดเคยทำได้ เดินสายกวาดรางวัลจากนานาประเทศ รวมไปถึงรางวัลในประเทศที่มีความเป็นเผด็จการอย่างสิงคโปร์เองด้วย มันกลายเป็นผลงานที่สร้างชื่อให้ซอนนี หลิว ระดับที่สวนทางกับชีวิตของชาร์ลีอย่างสิ้นเชิง

เมื่อผมเอาคำว่า ‘Charlie Chan Hock Chye’ ไปเสิร์ชในกูเกิล เว็บไซต์ที่ขึ้นมาก็มีแต่ข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ของซอนนี หลิว แต่กลับไม่สามารถหาประวัติหรือผลงานของชาร์ลีอย่างเป็นทางการได้เลย จนภายหลังผมถึงได้พบว่าแท้จริงชีวประวัติเรื่องนี้เป็นชีวประวัติเก๊! ชาร์ลีคือตัวละครที่ซอนนี หลิว สร้างขึ้นมา รูปที่ชาร์ลีวาดคือฝีมือของเขาทั้งหมด ทั้งยังใช้เทคนิคอันแยบยลโดยแทรกรูปถ่าย ผลงานภาพสเกตช์ ภาพวาด ต้นฉบับที่ยังวาดไม่เสร็จ ตุ๊กตาจากการ์ตูนหุ่นยนต์ที่เพื่อนเย็บให้เป็นของขวัญวันเกิด รวมถึงบทสัมภาษณ์ เพื่อให้คนอ่านคล้อยตามว่านักเขียนการ์ตูนคนนี้มีตัวตนเลือดเนื้อจริงๆ เพื่อนำเสนอประวัติศาสตร์การเมืองของสิงคโปร์ในอีกแง่มุม

ชาร์ลี เฉิน ฮก ไฉ่ ชาร์ลี เฉิน ฮก ไฉ่มันทำให้ผมอดคิดไม่ได้ว่า หากประเทศไทยจะมีนักเขียนการ์ตูนสักคนที่ตลอดชีวิตของเขาต้องผ่านทุกเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองในช่วง 50 ปีหลังมานี้ และยืนหยัดที่จะเขียนงานเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย ชีวิตของเขาจะเป็นอย่างไร

เขาอาจเป็นนักเขียนการ์ตูนที่ต้องติดคุกเพราะเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ แบบ ‘แอ๊ด เดลินิวส์’ ถูกชนชั้นกลางรังเกียจจากการเรียกร้องความเป็นธรรมให้คนเสื้อแดง ทำงานเป็นยามเพื่อหารายได้เลี้ยงชีพ และแบ่งเวลามาทำงานเขียนการ์ตูนแบบ ‘ตาโปน’ อาจถูกจับไปปรับทัศนคติในช่วงรัฐบาล คสช.แบบ ‘เซีย ไทยรัฐ’ ต้องต่อสู้กับการความตกต่ำของวงการสิ่งพิมพ์และแก่เกินกว่าจะเรียนรู้การปรับตัวไปสู่โลกออนไลน์ คงยากจะได้รับรางวัลและความสำเร็จใดๆ จากวงการและรัฐบาลเพราะดันไปเปรี้ยวใส่ผู้มีอำนาจ และคงไม่ได้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากมาย เช่นเดียวกับที่คุณอาจไม่รู้ว่าชื่อนักเขียนการ์ตูนไทยทั้งสามที่ผมยกมาเป็นใครบ้าง ‘ชาร์ลี’ ของไทยตอนนี้อาจจะเป็นคนแก่คนหนึ่งที่มีความสุขกับการเล่าเรื่องที่ไม่มีใครสนใจอ่าน เฝ้าฝันถึงวันที่ประเทศจะเป็นประชาธิปไตยไปตลอดชีวิต

ชีวิตที่เราอาจนิยามได้ว่าเขาเป็นอาชญากรของรัฐ เป็นลูกอกตัญญูที่ไม่มีปัญญาหาเงินมาดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่า เป็นผู้ล้มเหลวในวิชาชีพ เป็นคนเพ้อเจ้อยึดติดกับอุดมการณ์จนไม่รู้จักอยู่กับความจริง

และเป็นความยิ่งใหญ่

ชาร์ลี เฉิน ฮก ไฉ่

AUTHOR