My Brother’s Husband : การ์ตูนเกย์ศึกษาที่พาไปศึกษาอคติต่อเกย์

Highlights

  • My Brother's Husband คือการ์ตูนญี่ปุ่นแนวดราม่าครอบครัวที่เล่าเรื่องของยาอิจิ พ่อเลี้ยงเดี่ยวชาวญี่ปุ่นและลูกสาวที่ได้ใช้ชีวิตกับ ไมค์ เกย์ชาวแคนาดาและสามีของน้องชายผู้ล่วงลับเป็นครั้งแรก
  • เรื่องราวดำเนินไปด้วยฉากเรียบง่ายในชีวิตประจำวัน ตัดสลับกับความสับสนภายในจิตใจของยาอิจิที่ยังมีอคติทางเพศต่อเกย์ แต่ในขณะเดียวกันก็กังวลว่าจะเผลอทำร้ายจิตใจคนรักของน้องชายโดยไม่รู้ตัว
  • แม้จะดูเหมือนการ์ตูนประเภท 'การ์ตูนความรู้' แต่ My Brother's Husband กลับไม่ได้มีท่าทีของผู้ใหญ่ที่สั่งสอนเด็กๆ กลับกัน นี่คือการ์ตูนที่หวังจะแก้ปมอคติทางเพศของผู้ใหญ่ โดยใช้ตัวละครเด็กอย่าง 'คานะ' ผู้ปราศจากอคติต่างหาก

‘ยาอิจิ’ มีน้องชายฝาแฝดคนหนึ่งที่สนิทกันมาก หลังจากพ่อแม่ของพวกเขาประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตตอนมัธยมปลาย ความสัมพันธ์ของสองพี่น้องก็เริ่มห่างเหินโดยไม่รู้ตัว จนยาอิจิแต่งงาน มีลูกสาวหนึ่งคนชื่อ ‘คานะ’ และหย่าร้างกลายเป็นคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว ส่วนน้องชายของเขาย้ายไปอยู่แคนาดาโดยไม่ติดต่อกลับมาเป็นสิบปีและเพิ่งเสียชีวิตที่นั่น อยู่มาวันหนึ่งชายร่างเขื่องชาวแคนาดาก็บินข้ามทวีปมายังญี่ปุ่นเพื่อทำธุระและแวะมาเยี่ยมยาอิจิ ก่อนจะจับพลัดจับผลูได้อาศัยอยู่ที่บ้านนั้นตลอดทริป และนั่นคือจุดกำเนิดของเรื่องราวทั้งหมด

ชายชาวแคนาดาคนนั้นคือ ‘ไมค์’ คู่รักของน้องชายฝาแฝดที่ตายไป

My Brother’s Husband เป็นการ์ตูนญี่ปุ่นแนวดราม่าครอบครัวที่คว้ารางวัล Eisner Award ของอเมริการวมถึงรางวัล Japan Media Arts Award ในบ้านเกิด และได้รับการดัดแปลงเป็นซีรีส์คนแสดงภายใต้พลอตเรื่องที่นำเสนอชีวิตประจำวันของตัวละครอันเรียบง่ายอย่างยิ่ง เช่น การกินข้าว อาบน้ำ เดินเล่น ออกกำลังกาย ไปเที่ยว แต่เบื้องหลังภาพกิจกรรมสงบสุขระหว่างยาอิจิกับคู่รักของน้องชาย คนอ่านยังได้รับรู้ถึงการต่อสู้อย่างดุเดือดดุจหนังแอ็กชั่นภายในจิตใจของยาอิจิ ระหว่างอคติต่อเกย์ซึ่งถูกฟูมฟักจากการเติบโตมาในสังคมชายเป็นใหญ่แบบญี่ปุ่น กับปมความรู้สึกผิดที่อคติเหล่านั้นเคยทำร้ายจิตใจคนที่เขารักอย่างน้องชาย รวมถึงน้องเขยชาวแคนาดาด้วย

my brother's husband

การ์ตูนเรื่องนี้เป็นการ์ตูนที่มีลักษณะคล้ายหนังสือประเภท ‘การ์ตูนความรู้’ อย่างประหลาด เพราะขณะอ่านเราสามารถสัมผัสเจตนารมณ์ของคนเขียน (ผู้ไม่ปิดบังว่าตัวเองเป็นศิลปินแนวเกย์อีโรติก) ได้ไม่ยากว่าเขาต้องการให้ผู้อ่านสำรวจอคติทางเพศในจิตใจของตัวเองเช่นเดียวกับยาอิจิ และเรียนรู้ความรู้สึกของเกย์ที่ต้องเจ็บปวดจากอคติเหล่านั้นทั้งจากคนรอบข้าง สังคม ไปจนถึงตัวพวกเขาเอง

ทั้งหมดนี้เล่าผ่านพล็อต คาแร็กเตอร์ และสถานการณ์ที่มีกลไกคล้ายเป็น ‘เครื่องมือ’ ผลิตความรู้ ตัวละครอย่างยาอิจิจึงเป็นตัวแทนของความ ‘ไม่รู้’ ที่จะค่อยๆ พาผู้อ่านไปเจอตัวละครและสถานการณ์ต่างๆ เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับอคติทางเพศที่แฝงอยู่ในใจโดยที่เราอาจไม่รู้ตัว เรียนรู้วัฒนธรรมสังคมที่กดทับ LGBTQ และเรียนรู้ความเจ็บปวดของพวกเขา ซึ่งพาตัวเอกไปสู่การมีหัวใจที่เปิดกว้างต่อเรื่องเพศมากขึ้นในท้ายสุด

ในหน้าคั่นของแต่ละตอน ผู้เขียนยังแทรกเกร็ดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม LGBTQ โดยให้ไมค์ เกย์ชาวแคนาดาทำหน้าที่เหมือน ‘ครู’ มาเล่าให้คนอ่านฟังทั้งจุดกำเนิดของธงสีรุ้งที่เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความหลากหลายทางเพศ อธิบายศัพท์อย่าง ‘coming out’ ซึ่งหมายถึงการตัดสินใจเปิดเผยเพศของตัวเองสู่สังคมเป็นครั้งแรก อันเป็นเทคนิคที่การ์ตูนความรู้ชอบใช้อย่างยิ่ง

โดยปกติ ท่าทีของการ์ตูนความรู้จะวางตัวอยู่ค่อนข้างเหนือกว่าผู้อ่านเพราะมันเป็นสื่อที่ผลิตโดยผู้ใหญ่ที่ต้องการมอบความรู้สู่เด็กเล็ก แต่การ์ตูนเรื่องนี้ต่างออกไปเพราะนี่คือการ์ตูนความรู้สำหรับผู้ใหญ่ที่มีตัวละครเด็กเล็กเป็นหนึ่งผู้สอนคนสำคัญ

ในหลายๆ ฉากที่ยาอิจิทำตัวไม่ถูก ไม่รู้จะวางตัวยังไงกับสามีของน้องชาย คานะลูกสาวของเขากลับใช้เวลาไม่นานในการโอบรับชายชาวแคนาดาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว เพราะความเป็นเด็กเล็กของคานะทำให้เธอปราศจากประสบการณ์ในชีวิตและการรับรู้ทางวัฒนธรรมใดๆ ที่จะทำให้เธอมีอคติต่อเกย์ หรือมีภาพจำต่อความเป็นสถาบันครอบครัวว่าจะต้องประกอบด้วยพ่อแม่ลูกเหมือนที่ยาอิจิและผู้ใหญ่อีกจำนวนมากเผชิญ

การ ‘อาบน้ำร้อนมาก่อน’ กลับกลายเป็นข้อจำกัดในการเรียนรู้ของยาอิจิต่อความหลากหลายทางเพศ เพราะเขาจำเป็นต้องกลับไปรื้อสิ่งที่ตัวเองเคยรู้เคยเชื่อมาตลอดชีวิต เผชิญกับความกังวลที่อาจทำร้ายจิตใจไมค์โดยไม่ได้ตั้งใจ ความกระอักกระอ่วนเมื่อมาคิดได้ว่าสาเหตุที่เขากับน้องชายไม่สนิทกันเหมือนตอนเด็กๆ เป็นเพราะเขาเองที่ตัดสินใจตีตัวออกห่างหลังจากน้องชายตัดสินใจ ‘coming out’ ว่าเป็นเกย์ และเพิ่งได้รู้ว่าน้องชายน่าจะเสียใจแค่ไหนทั้งที่ตอนเขายังเด็กเท่าคานะ เขายังสนิทกับน้องได้โดยไม่ต้องสนใจว่าอีกฝ่ายจะเป็นเพศอะไรเลยแท้ๆ

ผมเองเติบโตมากับการ์ตูนญี่ปุ่นที่แบ่งประเภทตามเพศชาย-หญิงมาตลอด เช่น ถ้าการ์ตูนแนวบู๊ๆ ต่อสู้ กีฬา ก็จะถือเป็นการ์ตูนแนวเด็กผู้ชาย (โชเน็น) ซึ่งสิ่งที่เรามักพบเป็นประจำในการ์ตูนแนวนี้คือตัวละครหญิงเซ็กซี่ หน้าอกใหญ่ (บางตัวละครก็ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เช่น นามิ ใน One Piece) รวมไปถึงฉากเอาใจคนอ่านผู้ชายอย่างฉากตัวละครหญิงอาบน้ำที่ส่วนมากไม่เกี่ยวกับการดำเนินเรื่องหลักเลยแม้แต่น้อย

My Brother’s Husband ก็มีฉากอาบน้ำลักษณะนี้อยู่เช่นกัน

my brother's husband

หากแต่ฉากที่ว่าเป็นฉากอาบน้ำของตัวละครชายที่ถ่ายทอดผ่านนักเขียนการ์ตูนเกย์ด้วยลายเส้นที่ใส่ใจในรายละเอียดกล้ามเนื้อและไรขน ดุจผู้เขียนมองเห็นความงามของมันอย่างที่ผมไม่เคยพบในการ์ตูนเรื่องอื่น ทำให้ผมคิดได้ว่าที่ผ่านมาผมมีความเข้าใจและคุ้นเคยต่อการ์ตูนที่มีมุมมองทางเพศแบบผู้ชายจ๋ามานานแค่ไหน และเป็นไปได้เช่นกันที่บทความนี้จะบรรจุอคติของเพศชายที่แทรกซึมอยู่ในความคิดของผมโดยไม่รู้ตัวอยู่เช่นกัน

แต่เช่นเดียวกับชีวิตของยูอิจิ ในวันที่ความรู้ทุกอย่างในโลกเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วชนิดที่พร้อมจะทิ้งเราไว้กับความคับแคบล้าหลังตลอดเวลา คนเราย่อมผิดพลาดได้และมักผิดพลาดอยู่เสมอ คำถามคือเราจะโอบกอดความผิดพลาดเหล่านั้นเพื่อรับฟังความเจ็บปวดของผู้อื่น เพื่อทำความเข้าใจอคติของตัวเอง และเพื่อมีหัวใจที่เปิดกว้างต่อการเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับที่คานะทำได้ไหม

หรือเช่นเดียวกับที่เมื่อครั้งเป็นเด็กเคยทำได้ไหม

my brother's husband

AUTHOR