The Alien Prophet – อยากจะมี UFO จะได้บิน บินตามเธอไป

เมื่อเดือนที่แล้วผู้เขียนเห็นบทความชิ้นหนึ่งจากเว็บไซต์ Telegraph “ภรรยาของผมเสพติดสารคดีฆาตกรต่อเนื่องและมันทำลายค่ำคืนของเรา” ทำนองว่าฝ่ายชายไม่เก็ตว่าทำไมคนรักที่แสนสุภาพอ่อนโยนถึงอินกับคอนเทนต์แนวนี้นัก เห็นข่าวนี้ก็ถึงขั้นหลุดขำออกมา เพราะผู้เขียนเองมีเพื่อนผู้หญิงลุคซอฟต์ใสหลายคนที่ลุ่มหลงกับสารคดีแนวดังกล่าว

Netflix เป็นแพลตฟอร์มที่โด่งดังเรื่องสารคดีอาชญากรรมสร้างจากเรื่องจริง (หรือ True Crime Documentary) นอกจากเรื่องฆาตกรต่อเนื่อง (อย่างซีรีส์ Conversations with a Killer) ยังมีเกี่ยวกับคดีสุดเหวอ อย่างปี 2024 ก็มี American Nightmare – ชายหนุ่มที่แจ้งความว่าคนรักหายตัวไปแต่กลับถูกสงสัยว่าฆ่าแฟนตัวเอง หรือ Lover, Stalker, Killer – การหาคู่ทางเว็บออนไลน์ที่ทำให้ชีวิตของชายคนหนึ่งพังพินาศ

สารคดีเล่าถึง ‘ลัทธิ’ เป็นอีกแนวที่ Netflix ผลิตออกมาเรื่อยๆ เรื่องดังเช่น Wild Wild Country (2018) – ลัทธิโอโช หรือ Escaping Twin Flames (2023) – ลัทธิที่อ้างว่าจะพาผู้คนไปพบรักแท้ และล่าสุดกับ Raël: The Alien Prophet สารคดีบอกเล่าถึง Raëlism ลัทธิที่เชื่อว่ามนุษย์เรากำเนิดจากมนุษย์ต่างดาวที่เรียกว่าอีโลฮิม และสักวันอีโลฮิมจะมาเยือนโลกมนุษย์ เรามีหน้าที่ต้องสร้าง ‘สถานทูต’ (Embassy) เตรียมต้อนรับพวกเขา

Raël: The Alien Prophet เป็นสารคดีความยาว 4 ตอนที่เน้นเล่าข้อมูลมากกว่านำเสนออย่างหวือหวาหรือเร้าอารมณ์ โดยหลักจะเป็นการสลับไปมาระหว่างฟุตเทจในอดีตและการสัมภาษณ์ผู้คน สารคดีนี้ทำให้เราได้รับทราบว่า Raëlism ก่อตั้งขึ้นในฝรั่งเศสช่วงยุค 70 โดยชายผู้เรียกตัวเองว่า ‘ราเอล’ (ชื่อเดิมคือ โคลด วอรีลง) ราเอลนั้นทำมาหลากหลายอาชีพ ทั้งนักร้อง ทำนิตยสารแข่งรถ แต่ไม่ประสบความสำเร็จสักอย่าง เขาเริ่มมีชื่อเสียงขึ้นเมื่อไปออกโทรทัศน์และป่าวประกาศว่าเคยเห็นยูเอฟโอ

ราเอลเริ่มสะสมพวกพ้องที่เชื่อในยูเอฟโอจนพัฒนาเป็นความสัมพันธ์แบบเจ้าลัทธิ-สาวกในที่สุด สมาชิกเพิ่มขึ้นถึงขั้นต้องไปหาพื้นที่เป็นไร่เพื่อลงหลักปักฐานเป็นชุมชน แต่ Raëlism ก็มีเรื่องอื้อฉาวและถูกสื่อมวลชนโจมตีอยู่ตลอด เช่น การให้สมาชิกเปลือยกายเดินไปมา สามารถร่วมรักกันกลางแจ้ง หรือมีความสัมพันธ์แบบหลายผัวหลายเมียได้ แต่ราเอลอ้างว่านี่ไม่ใช่ลัทธิมั่วเซ็กซ์ แต่มันคืออิสระ และแนวคิดสำคัญที่สุดของกลุ่มคือการที่ทุกคนมีความสุข

น่าสนใจว่าสมาชิกของ Raëlism มีทั้งมหาเศรษฐีหรือคนการศึกษาสูง อีกตัวละครสำคัญคือ ดร.บริเจ็ตต์ บัวเซลีเยร์ ที่จบปริญญาเอกด้านเคมี เธอกับราเอลร่วมกันทำโปรเจกต์ท้าทายมนุษยชาตินั่นคือการโคลนนิงมนุษย์ (!?!?) พวกเขาอ้างว่าสามารถโคลนมนุษย์สำเร็จในปี 2001 แต่ก็ไม่มีหลักฐานอะไรชัดเจน ไม่เคยมีใครเห็นหน้าเด็ก ไม่มีชื่อ ไม่มีตัวตน นั่นทำให้สื่อเล่นงานกลุ่ม Raëlism อย่างหนัก จนพวกเขาถูกมองว่าเป็นลัทธิลวงโลก

ราเอลและชาวคณะย้ายถิ่นฐานอยู่หลายครั้ง ทั้งจากการต่อต้านของรัฐบาลประเทศนั้นๆ และภาพลักษณ์ที่ย่ำแย่ลง ราเอลย้ายจากฝรั่งเศสไปแคนาดา และปัจจุบันพำนักอยู่ที่เกาะโอกินาว่า นอกจากจะมีผู้ติดตามในญี่ปุ่น ราเอลยังสามารถสร้างสาขาในประเทศแถบทวีปแอฟริกาได้ด้วย ทั้งนี้สารคดีก็ไม่ได้ให้ข้อสรุปว่าทำไม Raëlism ถึงยังแพร่กระจายไปได้เรื่อยๆ หรือตกลงแล้วราเอลแต่งเรื่องยูเอฟโอและมนุษย์ต่างดาวขึ้นมาหรือไม่ แม้ช่วงท้ายเขาจะพูดเป็นนัยว่าโครงการโคลนนิงมนุษย์อาจไม่ใช่เรื่องจริง แต่เขาทำไปเพราะทุกศาสนาล้วนต่อต้านการโคลนนิง เรียกได้ว่าเขาเป็น ‘นักปั่น’ ตัวพ่อก็ไม่ผิดนัก

หากต้องการทราบเรื่องราวของราเอลให้ลึกซึ้งขึ้น ผู้เขียนขอแนะนำสารคดีปี 2020 ชื่อ The Prophet and the Space Aliens ของผู้กำกับชาวอิสราเอล โยอาฟ ชาเมียร์ (ดูได้เต็มเรื่องทาง YouTube) เรื่องราวเริ่มขึ้นอย่างตลกเหลือเชื่อ เมื่อ Raëlism เชิญชาเมียร์ไปรับรางวัลที่สโลวีเนียในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์ต่อโลกหรืออะไรทำนองนั้น ชาเมียร์เดินทางไปอย่างงงๆ ก่อนจะพบว่าเขาเป็นคนเดียวที่มารับรางวัล และช็อกไปอีกเมื่อรู้ว่านี่เป็นการให้รางวัลจากกลุ่มลัทธิ

แต่ด้วยสัญชาตญาณคนทำหนัง ชาเมียร์ให้ตากล้องของเขาบันทึกทุกอย่างไว้ เขาผูกมิตรกับราเอล จนได้รับอนุญาตให้ถ่ายทำชีวิตของอีกฝ่ายเป็นเวลาหลายปี นั่นทำให้เราได้เห็นแง่มุมที่ใกล้ชิดกว่าสารคดีของ Netflix มีหลายช่วงที่ราเอลพูดเรื่องที่น่าสนใจ (ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม) เขาบอกว่าเชื่อในอีโลฮิม (มนุษย์ต่างดาว) แต่ไม่เชื่อในพระเจ้า เพราะความขัดแย้งบนโลกใบนี้ล้วนเกิดจากการเชื่อพระเจ้าทั้งสิ้น หรือเมื่อผู้กำกับถามว่าราเอลอยากบอกอะไรกับผู้ชม เขาพูดว่า “ผมอยากคุณใช้เวลาสักหนึ่งนาที แค่หนึ่งนาทีก็พอ ลองคิดว่าเรื่องเหล่านี้มันอาจเป็นเรื่องจริงก็ได้”

The Prophet and the Space Aliens ยังทำให้เราเข้าใจว่าทำไมลัทธิ Raëlism ถึงแพร่หลายในทวีปแอฟริกาได้ พวกเขาถูกกดทับทั้งจากเจ้าอาณานิคมคนขาวและศาสนาที่เคร่งครัด (เช่นในบูร์กินาฟาโซที่นับถืออิลสามเป็นหลัก) การที่ Raëlism เชื่อในแนวคิดเสรีทางเพศทำให้สมาชิกรู้สึกถูกปลดปล่อย ราเอลยังถึงขั้นก่อตั้งโรงพยาบาลชื่อ Pleasure Hospital ที่ช่วยผ่าตัดกู้คืนคลิตอริสให้กับผู้หญิงที่ถูกบังคับขริบอวัยวะเพศ (ซึ่งถูกตั้งแง่ว่าสามารถทำได้จริงในเชิงการแพทย์หรือไม่) แต่สุดท้ายโรงพยาบาลก็ถูกรัฐบาลบูร์กินาฟาโซสั่งปิด

ในขณะที่สาวกเก่าหลายคนของ Raëlism โจมตีว่าราเอลเป็นพวกลวงโลกหลงตัวเอง สมาชิกปัจจุบันกลับพูดตรงกันว่าแม้สุดท้ายทั้งหมดจะเป็นเรื่องอุปโลกน์ขึ้นมา พวกเขาก็ยังรู้สึกขอบคุณราเอลอยู่ดีที่ช่วยเปลี่ยนชีวิต (หนึ่งในสาวกเรียนจบจากฮาร์วาร์ดด้วยซ้ำ) ส่วนฝั่งผู้กำกับก็ให้เสียงบรรยายอย่างตรงไปตรงมาว่าเขาเกิดความรู้สึกขัดแย้งในใจ ในแง่หนึ่งคนพวกนี้ดูมีความสุขดีและสมัครใจที่จะเชื่อราเอล แต่อดสงสัยไม่ได้ว่ากำลังถูกหลอกหรือเปล่า นอกจากนั้นชาเมียร์ยังอึดอัดใจกับหลายอย่างใน Raëlism เช่น การที่ราเอลห้อมล้อมด้วยสาวกหญิงรูปงามตลอดเวลา หรือการคัดเลือกสาวสวยกลุ่มหนึ่งไว้เป็น ‘เทพธิดา’ เพื่อคอยรับใช้ตอนที่อีโลฮิมมายังโลกมนุษย์

อย่างไรก็ดี ชาเมียร์มองว่ามันเป็นเรื่องง่ายมากที่จะทำให้ราเอลกลายเป็น ‘ตัวร้าย’ แต่เขาเลือกจะไม่ทำเช่นนั้น ตัวสารคดีจึงไม่ชี้นำคนดูมากนัก ชาเมียร์ยังตั้งคำถามในบทสัมภาษณ์ได้น่าสนใจ เราสามารถมอง Raëlism เป็นศาสนาหรือกลุ่มความเชื่อมากกว่าลัทธิได้หรือเปล่า (เพราะลัทธิมักมีความหมายในแง่ลบ) ทำไมเมื่อมีแนวคิดใหม่หรือศาสนาใหม่ มนุษย์มักจะต่อต้านทันที เราตั้งคำถามกับสามศาสนาดั้งเดิม (พุทธ-คริสต์-อิสลาม) น้อยเกินไปหรือเปล่า

ด้วยความที่ชาเมียร์เป็นคนอิสราเอล เขาเติบโตมาในดินแดนที่ขัดแย้งกันด้วยเรื่องศาสนามานับพันปี เขาเลยไม่อินกับศาสนา ไม่เชื่อว่าพระเจ้ามีจริง “ศาสนาของผมคือการทำหนัง” เขากล่าว ชาเมียร์บอกว่าปัญหาของมนุษย์คือเราจริงจังกับเรื่องศาสนามากเกินไป และทิ้งท้ายในสารคดีแบบติดตลกแต่ชวนคิดว่า “หากจำได้ว่าศาสนาคือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เราก็คงตระหนักได้ว่ามันไม่คุ้มที่จะเข่นฆ่ากันเพราะสิ่งนั้น ศาสนาไม่ได้ต่างจากสิ่งประดิษฐ์ยอดเยี่ยมอื่นๆ ของมนุษย์ อย่างการ์ตูน เกมสแคร็บเบิลและไอศกรีมซันเด”

AUTHOR