Marvel’s 616 สารคดีเล่าเรื่องสุด niche ในจักรวาลมาร์เวลที่ต่อให้ไม่รู้จักมาร์เวลก็อินได้

ในฐานะแฟนหนังมาร์เวล เมื่อ Disney+ Hotstar มาถึง เราเลยไม่รอช้าในการเข้าทัวร์จักรวาล MCU ตั้งแต่วันแรกที่แพลตฟอร์มเปิดให้บริการ

มาร์เวลสูบเวลาชีวิตเราไปหลายชั่วโมงจากหนังและซีรีส์ที่เราทั้งดูซ้ำและตามเก็บเรื่องที่ยังไม่ได้ดูไปหลายเรื่อง จนรู้ตัวอีกทีเราก็เคลียร์เนื้อหาในจอแก้วและจอเงินจนหมด

แต่ด้วยอารมณ์ที่ยังค้าง เมื่อจบตอนล่าสุดของซีรีส์ Loki เราจึงตัดสินใจสืบเสาะหาคอนเทนต์ของมาร์เวลดูต่อ จนในที่สุดก็ได้พบความดีงามที่ซ่อนอยู่ภายใต้คอนเทนต์ซูเปอร์ฮีโร่เหล่านั้น

ความดีงามที่เปรียบดั่งความลับของจักรวาล (มาร์เวล) ที่ชื่อว่า Marvel’s 616

ถ้ายึดเอาตามคำบรรยายของผู้ผลิต Marvel’s 616 แนะนำตัวเองว่าเป็นซีรีส์สารคดีที่เล่าเรื่องมาร์เวลในมุมที่อยู่นอกจอภาพยนตร์หรือโทรทัศน์

แต่หลังจากได้รับชมครบทั้ง 8 EP เราคิดว่าคำจำกัดความที่ง่ายกว่านั้นคือนี่เป็นสารคดีที่เล่าเรื่องวัฒนธรรมสุด niche ของ ‘คน’ ที่ช่วยสร้างและได้รับอิทธิพลจากคอมิกมาร์เวลมากกว่า เพราะในสารคดีเรื่องนี้มีมาร์เวลเป็นแค่เปลือกหุ้ม แต่ใจความหลักของแต่ละตอนล้วนเกี่ยวข้องกับ ‘คน’ ที่ไม่ได้มีพลังพิเศษใดๆ

บ้างเป็นทีมงานเบื้องหลัง บ้างเป็นวัฒนธรรมย่อยที่มาร์เวลสร้าง แต่ไม่ว่าจะเป็นคนไหน สารคดีความยาวเฉลี่ยประมาณเกือบหนึ่งชั่วโมงนี้ต่างเลือกเล่าเรื่องของทุกคนผ่านแง่มุมเรียบง่ายแต่ลุ่มลึก โดยทั้งซีรีส์นั้นประกอบไปด้วย 8 EP จากผลงานของผู้กำกับ 8 คนที่ล้วนสัมพันธ์กับหัวข้อเรื่องของตัวเองทั้งนั้น

และเพื่อให้เห็นภาพ เราจะเกริ่นถึงแต่ละ EP ให้ฟัง ดังต่อไปนี้

Marvel’s 616

สไปเดอร์แมนจากแดนอาทิตย์อุทัย (Japanese Spider-Man)

รู้หรือไม่ว่าเมื่อปี 1978-1979 ที่ประเทศญี่ปุ่นมีการทำซีรีส์ของฮีโร่อย่างสไปเดอร์แมนในรูปแบบของ live-action มาแล้ว

แต่ช้าก่อน อย่าเพิ่งคิดว่านี่คือสไปเดอร์แมนแบบที่เราเห็นผ่านจอภาพยนตร์ในปัจจุบัน เพราะ Japanese Spider-Man เมื่อ 43 ปีก่อนนั้นนำเสนอเรื่องราวในรูปแบบคล้ายกับ ไอ้มดแดง (Masked Rider) กล่าวคือมีทั้งการขี่มอเตอร์ไซค์ มีกำไลข้อมือไว้ใช้แปลงร่าง ไปจนถึงหุ่นยนต์ใหญ่ยักษ์ ‘ลีโอพาร์ดอน’ ที่สไปเดอร์แมนไว้ใช้ปราบเหล่าร้าย!

อะไรที่ทำให้เกิดความแปลกนี้ ในสารคดีพาเราไปสัมผัสเรื่องราวที่ว่าผ่านเสียงของ Gene Pelc ชายชาวอเมริกันที่เป็นตัวตั้งตัวตีพาสไปเดอร์แมนมาเหยียบเกาะญี่ปุ่น รวมถึงนักแสดงที่รับบทเป็นสไปเดอร์แมนในเวลานั้นอย่าง Shinji Todo ที่มาร่วมเล่าเรื่องราวด้วย เพื่อตอบคำถามสำคัญที่ว่าสองวัฒนธรรมอย่างมังงะและคอมิกมาแจมกันบนหน้าจอได้ยังไง 

ลืมบอกไปอย่าง ความพิเศษอีกเรื่องของ EP นี้คือได้ David Gelb ผู้กำกับเจ้าของผลงานสารคดีชื่อดังอย่าง Jiro Dreams of Sushi มากำกับให้ ดังนั้นนี่จึงเป็นการการันตีคุณภาพและน้ำเสียงการเล่าได้เป็นอย่างดี กระซิบบอกเลยว่าในบางช่วงทำเอาเราน้ำตาซึมเลยล่ะ

Marvel’s 616

เพื่อนหญิงพลังหญิงในจักรวาลมาร์เวล (Higher, Further, Faster)

ในภาพจำแรกของคนทั่วไป ถ้าให้จินตนาการถึงทีมงานเบื้องหลังมาร์เวลที่คอยสร้างซูเปอร์ฮีโร่ เราเชื่อว่ามีไม่น้อยเลยที่จะเห็นภาพเป็นกลุ่มชายหนุ่มผู้ร่วมใช้สมองและกำลังสร้างสรรค์จักรวาลนี้ขึ้นมา ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วบุคลากรหญิงที่คอยขับเคลื่อนวงการนี้ก็มีอยู่ไม่น้อย และนั่นเองคือใจความสำคัญที่ Marvel’s 616 ตอนนี้หยิบมาเล่า

EP นี้กำกับโดย Gillian Jacobs หญิงสาวนักแสดงฮอลลีวูดชื่อดังที่หันมาจับงานเบื้องหลังเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา และสารคดีเน้นการดำเนินเรื่องผ่านบุคลากรหญิงที่อยู่เบื้องหลังจักรวาลมาร์เวลตั้งแต่นักวาดไปจนถึงนักแต่งเรื่อง โดยเน้นหลักไปที่ Sana Amanat หญิงสาวชาวมุสลิมผู้ที่สร้างตัวละคร Kamala Khan ขึ้นมา (aka Ms. Marvel–ซูเปอร์ฮีโร่วัยรุ่นหญิงคนแรกที่นับถือศาสนาอิสลาม) 

แค่นี้ก็น่าจะพอการันตีได้แล้วว่าพอดูจบ คุณจะต้องเปลี่ยนความคิดที่ว่าโลกของซูเปอร์ฮีโร่เป็นโลกของเด็กผู้ชายเป็นแน่ เพราะภายใต้ผ้าคลุมที่เหาะเหินอยู่ในอากาศเหล่านั้นมีพวกเธอทุกคนที่ปรากฏในสารคดีตอนนี้เป็นฟันเฟืองหลักทั้งสิ้น

Marvel’s 616

คว้าฝันไกลสุดขอบโลก (Amazing Artisans)

Marvel’s 616 เป็นสารคดีที่มีทั้งพากย์ไทยและซับไตเติลไทย แต่สำหรับ EP.3 นี้เป็น EP เดียวที่ไม่มีซับไตเติลไทย เพราะ 80 เปอร์เซ็นต์ของเนื้อหาเป็นการเล่าผ่านภาษาสเปนทั้งหมด

สาเหตุที่เป็นแบบนั้นเพราะในสารคดีตอนนี้ตั้งใจเล่าถึงนักวาดจากแดนไกลที่ได้มีโอกาสร่วมงานกับมาร์เวล โดยพวกเขาเลือกเฉพาะเจาะจงไปที่สองนักวาดชาวสเปนอย่าง Javier Garrón ผู้ให้กำเนิดลายเส้นของ Miles Morales หรือ Ultimate Spider-Man และ Natacha Bustos ผู้สรรค์สร้างซีรีส์ Moon Girl and Devil Dinosaur พร้อมกับเล่าเส้นทางของทั้งคู่ว่าจากการเป็นเพียงเด็กสาวและเด็กชายที่ชอบวาดรูปในประเทศสเปน พวกเขากลายเป็นศิลปินที่ผลิตตัวละครของมาร์เวลจนมีแฟนๆ ติดตามทั่วโลกได้ยังไง

สำหรับใครที่ชอบวาดรูป บอกเลยว่าตอนนี้เป็นแรงบันดาลใจได้ดีมาก และมันจะทำให้คุณเห็นความเป็นไปได้ว่าต่อให้เป็นคนไทย คุณก็สามารถร่วมงานกับบริษัทระดับโลกได้เช่นกัน

Marvel’s 616

จักรวาลมาร์เวลกับตัวละครที่หายไป (Lost and Found)

สำหรับเรานี่น่าจะเป็นตอนที่เรียกเสียงหัวเราะได้มากที่สุดจากทุกตอน เพราะ EP นี้ดำเนินเรื่องราวและกำกับโดย Paul Scheer นักแสดงคอเมดี้ที่พยายามจะนำเสนอตัวละครที่ไม่มีใครรู้จักของมาร์เวลเหมือนอย่างตัวละครที่โด่งดังระดับไอรอนแมนหรือกัปตันอเมริกา

ตอนนี้จะเรียกว่าสารคดีก็ไม่เชิง เพราะการนำเสนอจะคล้ายกับ mockumentary มากกว่า แต่ภายใต้เสียงฮาและจังหวะปั่นๆ ที่พอลใส่เข้ามาในการเล่าเรื่อง แท้จริงแล้วสารคดีเรื่องนี้กลับแทรกวิธีการทำงานและวิธีคิดตั้งแต่ต้นของมาร์เวลอยู่ พวกเขาเลือกตัวละครมาปั้นโดยใช้เกณฑ์อะไร ออกแบบตัวละครใหม่ยังไง และพวกเขามองหาอะไรในการปั้นซูเปอร์ฮีโร่คนใหม่ให้เป็นที่รู้จัก ทั้งหมดนี้ล้วนมีคำตอบอยู่ใน EP นี้ทั้งนั้น

เรียกว่าดูเอาเพลินก็ได้ ดูเอาความรู้ก็ดี และเราก็หวังว่าซูเปอร์ฮีโร่ที่พอลตั้งใจปั้นในตอนนี้จะออกมาให้เรารับชมกันจริงๆ นะ

Marvel’s 616

ใดๆ ในโลกล้วนคอสเพลย์ (Suit Up!)

ว่าตามจริง นี่เป็น EP ที่ในตอนแรกเราว้าวน้อยที่สุด อาจเพราะตัวเองไม่ได้อินในวัฒนธรรมการคอสเพลย์ขนาดนั้น แต่กลายเป็นว่าพอดูจบ นี่เป็นตอนที่ทำเอาเราน้ำตาซึมได้เลยทีเดียว

ถ้าว่ากันถึงเนื้อหา สารคดีตอนนี้ไม่ได้พูดถึงหัวข้อที่ใหม่แต่อย่างใด เพราะพวกเขาแค่จับเอาวัฒนธรรมคอสเพลย์มานำเสนอโดยใช้ธีมของมาร์เวลเท่านั้น แต่ภายใต้การกำกับของผู้กำกับสารคดีฝีมือดีอย่าง Andrew Rossi เมสเซจที่พวกเขาเลือกนำเสนอกลับทัชใจเราได้ต่อให้ไม่เคยคอสเพลย์มาก่อนเลยในชีวิต เพราะมันพูดถึงเรื่องความแปลกแยก ความเป็นตัวเอง และการแสดงออกเพื่อให้มีคนยอมรับ ซึ่งมนุษย์ทุกคนล้วนมีความต้องการเหล่านี้อยู่ในใจทั้งนั้น

ดังนั้นจะบอกว่าสารคดีตอนนี้ทำให้เราเปลี่ยนมุมมองต่อคอสเพลเยอร์ไปตลอดกาลก็คงไม่ใช่คำพูดที่เกินจริงเลย มันดีถึงขนาดนั้นเลยแหละ

ความจริงจังที่มีชื่อว่าของเล่น (Unboxed)

นี่เป็นตอนที่สั้นที่สุดของซีรีส์และเป็นตอนที่ว่าด้วยเรื่องของของเล่น แต่กับเนื้อหาของ EP นี้นั้นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เลย อาจเรียกได้ว่าเป็นตอนที่เนิร์ดที่สุดก็ว่าได้

เป็นที่รู้กันว่าหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนแบรนด์มาร์เวลให้ไปข้างหน้าทั้งในแง่เม็ดเงินและการรับรู้ของคนคือของเล่น ดังนั้นผลที่ตามมาของตอนนี้เลยเป็นเหมือนการพาเราไปรู้จักกับเพื่อนคู่ค้าคนสำคัญของมาร์เวลอย่างบริษัท Hasbro และ Funko ที่ถือลิขสิทธิ์ผลิตของเล่นกับมาร์เวลมาหลายปี

ผู้กำกับพาเราไปรู้จักตั้งแต่วิธีการทำของเล่น 101 ไปจนถึงสรุปภาพรวมของประวัติศาสตร์ของเล่น แถมท้ายด้วยอาชีพ toy photographer ที่มีอะไรมากกว่าการถ่ายภาพของเล่นไปวันๆ สรุปได้ว่านี่เป็นอีกตอนที่อัดแน่นไปด้วยความรู้และความรู้สึกเต็มเปี่ยม จนดูจบแล้วอยากลุกขึ้นไปหยิบของเล่นที่เก็บไว้จนลืมมาเล่นอีกครั้งเลยล่ะ

ศาสตร์แห่งมาร์เวล (The Marvel Method)

ในความเป็นจริงสารคดีเรื่องนี้ออกฉายครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายนปี 2020 ดังนั้นกว่าเราจะได้ดู ผู้ชมจากทั่วโลกก็ได้สัมผัส Marvel’s 616 ก่อนเราไปนานแล้ว ซึ่งถ้าลองไปเสิร์ชดูฟีดแบ็กที่เกิดขึ้น ข่าวและรีวิวที่มีการพูดถึงมากที่สุดคือเนื้อหาใน EP นี้นั่นเอง

The Marvel Method คือตอนที่เล่าเรื่องการทำงานของหนังสือคอมิกมาร์เวลตั้งแต่ก้าวแรกจนถึงวันที่คอมิกออกวางจำหน่าย ผ่านชีวิตของ Dan Slott นักแต่งเรื่องระดับตำนานของมาร์เวล เขาคนนี้คือผู้อยู่เบื้องหลังคอมิกที่ประสบความสำเร็จของมาร์เวลมากมายในอดีต และในสารคดีตอนนี้คือช่วงที่เขาต้องคิดเนื้อเรื่องให้กับคอมิก Iron Man 2020 ที่ต้องวางจำหน่ายในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดังนั้นเราจะได้เห็นวิธีการทำงานที่แสนชิลล์ของแดนประสานไปกับฝ่ายอื่นๆ เช่น นักวาด คนคิดบทพูด คนวางกล่องคำพูด ไปจนถึงพนักงานโรงพิมพ์ ซึ่งความเหลาะแหละของแดนนี่เองที่เป็นประเด็นจนหลายคนหยิบมาพูดถึง

แต่แดนทำอะไรถึงโดนคอมเมนต์จากคนรักมาร์เวลทั่วโลก อันนี้เราขอไม่สปอยล์ อยากเชิญชวนทุกคนไปดูตอนนี้จริงๆ ยิ่งถ้าคุณเป็นพนักงานออฟฟิศที่ต้องทำงานแข่งกับเดดไลน์ คุณจะอินได้ไม่ยากเลย

โลกคือละคร ทุกคนต้องแสดง (Spotlight)

หลังจากดูไล่เรียงกันมา 7 EP สารภาพว่าเราค่อนข้างคาดหวังกับตอนสุดท้ายของซีรีส์อยู่มาก เพราะถ้าไล่เรียงดูจะเห็นว่ามาร์เวลพาเราไปรู้จักกับวัฒนธรรมย่อยของตัวเองและเบื้องหลังที่ค่อนข้างลึก ดังนั้นในความคิดเรา ตอนสุดท้ายจึงน่าจะพิเศษมากกว่านั้น แต่กลายเป็นว่ามาร์เวลทำเอาเราผิดคาด เพราะเขาเลือกนำเสนอเรื่องราวของละครเวทีในโรงเรียนมัธยมหนึ่งเท่านั้นเอง

เท้าความกันก่อน แท้จริงแล้ว Marvel Spotlight นั้นเป็นชื่อหนังสือของมาร์เวลที่เล่าเรื่องการดัดแปลงคอมิกให้กลายเป็นบทละครเวที สารคดีตอนนี้จึงเป็นการพาไปดูกระบวนการตั้งแต่ต้นของการสร้างละครเวทีจาก Marvel Spotlight เรื่อง Ms. Marvel และ Squirrel Girl ในโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งของอเมริกา ดังนั้นเนื้อหาใน EP นี้จึงมีความเป็นมาร์เวลอยู่น้อยมาก แต่กลับกันนี่จึงเป็นตอนที่มีความเป็นมนุษย์ที่สุดและเล่าใจความสำคัญของสิ่งที่สารคดีอยากนำเสนอได้ดีที่สุดเช่นเดียวกัน 

จิตวิญญาณของวัยรุ่นและความเชื่อมั่นว่าคนธรรมดาอย่างเราก็สามารถทำอะไรที่พิเศษได้ สองอย่างนี้แหละที่ใน EP นี้บรรจุอยู่เต็มเปี่ยม

สำหรับแฟนมาร์เวล เชื่อว่าพอเล่ามาถึงจุดนี้เราแทบจะไม่ต้องเชิญชวนต่อ ทุกคนก็น่าจะอยากดูและติดตาม Marvel’s 616 เป็นแน่ เพราะจากความลึกในแง่ของเนื้อหาและการนำเสนอในแง่มุมใหม่ๆ นี่เป็นหนึ่งในผลงานของมาร์เวลที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

แต่สำหรับคนที่ไม่อินมาร์เวล เราก็เชื่อว่านี่เป็นหนึ่งในผลงานของมาร์เวลที่แตกต่างจากทุกเรื่องที่เคยทำมา เพราะพวกเขาไม่ได้เลือกนำเสนอความเป็นซูเปอร์ฮีโร่จ๋าอย่างที่เคยทำ แต่เลือกนำเสนอความเป็นมนุษย์ที่อยู่ภายใต้วัฒนธรรมย่อย ซึ่งทุกคนสามารถอินได้ไม่ยากเลย

ดังนั้นต่อให้คุณไม่อินฮีโร่หรือไม่รู้จักไอรอนแมน สำหรับเรานี่ก็ถือว่าเป็นสารคดีที่ดีที่ควรค่าแก่การเสียเวลาดู เพราะมันพูดถึงเรื่องพื้นฐานที่เป็นมนุษย์มากๆ อย่างการทำงาน การเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และความฝันอันแรงกล้าในการทำสิ่งที่รัก ซึ่งทั้งหมดนั้นล้วนเป็นพื้นฐานที่อยู่ในตัวทุกคนอยู่แล้ว

จริงอยู่ที่ในแง่หนึ่ง ถ้าคุณดูทั้ง 8 EP เรียงกัน ซีรีส์นี้อาจมี ‘ความพยายาม’ ในการพูดถึงมาร์เวลที่บางครั้งก็อาจจะดูเกินพอดีและไม่เป็นธรรมชาติอยู่บ้าง แต่ถ้าคุณทำใจมองข้ามตรงนั้นได้ เราเชื่อว่าทุก EP นั้นสามารถให้ประโยชน์และความบันเทิงกับคุณได้แน่นอน

สำหรับเรา Marvel’s 616 คือจักรวาลที่กำลังเชิญชวนให้คุณไปรู้จักและเข้าใจว่านอกจากความบันเทิงที่เราจะได้จากซูเปอร์ฮีโร่ ในแง่มุมหนึ่งของโลกนี้ก็ยังมีกลุ่มคนที่เชื่อในพลังของพวกเขา และในเวลาเดียวกันก็พยายามใช้ชีวิตในฐานะคนธรรมดาให้ออกมาอย่างดีที่สุดอยู่เช่นกัน

AUTHOR