อุ่นครบ จบหนาว ชวนดู 3 หนังสั้นนักศึกษาว่าด้วยการให้อย่างยั่งยืนที่ชนะรางวัลจากไทยเบฟ

อุ่นครบ จบหนาว ชวนดู 3 หนังสั้นนักศึกษาว่าด้วยการให้อย่างยั่งยืนที่ชนะรางวัลจากไทยเบฟ

Highlights

  • 'BEYOND THE GREEN BLANKET…A SUSTAINABLE COMMUNITY OF GIVING มากกว่าความอบอุ่น คือสังคมการให้ที่ยั่งยืน' คือแนวคิดของโครงการประกวดภาพยนตร์สั้นซึ่งจัดขึ้นโดยไทยเบฟ เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปีโครงการไทยเบฟ รวมใจต้านภัยหนาว
  • ทีมนักศึกษาที่เข้ารอบจำนวน 3 ทีมได้ลงพื้นที่ถ่ายทำภาพยนตร์สั้นด้วยตัวเอง พวกเขาเก็บเรื่องราวเบื้องหลัง ประสบการณ์ และความรู้สึกดีๆ เกี่ยวกับการให้ที่ยั่งยืนมาเล่าให้ทุกคนฟัง

แม้อากาศหนาวเย็นจะเป็นที่ชื่นชอบของคนกรุงเทพฯ มากน้อยเพียงใด แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความหนาวเย็นที่มาตามฤดูกาลในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคมในหลายปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีเครื่องนุ่มห่มยามค่ำคืน พวกเขาต้องทนลำบากและเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากความหนาวเย็น

ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน คือ พ.ศ. 2543 ภัยหนาวครั้งใหญ่ได้แผ่เข้าปกคลุมประเทศไทยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน ด้วยอุณหภูมิที่หนาวเย็นและลดลงอย่างต่อเนื่องจนเกือบจะติดลบทำให้พี่น้องประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จนมีรายงานผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น จากเหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ได้ทราบถึงความเดือดร้อนและมีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่งไปถึงพี่น้องคนไทยด้วยกัน นำมาสู่จุดเริ่มต้นของ ‘โครงการไทยเบฟ…รวมใจต้านภัยหนาว’ โดยทางโครงการฯ มุ่งมั่นทำหน้าที่มอบผ้าห่มให้กับพี่น้องชาวไทยที่ประสบภัยหนาวในทุกพื้นที่ ไม่ว่าเส้นทางนั้นจะอยู่ในเขตทุรกันดารมากแค่ไหน ผ้าห่มผืนเขียวทั้งสิ้น 4,000,000 ผืนก็ได้เดินทางพร้อมคาราวานเข้าถึงทุกครัวเรือนใน 45 จังหวัด 574 อำเภอ 52,367 หมู่บ้าน

ในโอกาสครบรอบ 20 ปีโครงการไทยเบฟ รวมใจต้านภัยหนาว คราวนี้การ ‘ให้’ ได้ถูกต่อยอดไปไกลกว่าเดิม ด้วยโครงการประกวดภาพยนตร์สั้นระดับอุดมศึกษาภายใต้แนวคิด BEYOND THE GREEN BLANKET…A SUSTAINABLE COMMUNITY OF GIVING มากกว่าความอบอุ่น คือสังคมการให้ที่ยั่งยืน ซึ่งเปิดให้น้องๆ นักศึกษาคนรุ่นใหม่ได้มาแสดงพลังและไอเดียสดใหม่ผ่านการทำภาพยนตร์สั้นความยาว 3-5 นาที ถ่ายทอดเรื่องราวการเป็นผู้ให้ที่มีความหมายในแบบของตัวเอง เพื่อชิงทุนการศึกษารวมมูลค่ากว่า 80,000 บาท พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ แถมภาพยนตร์สั้นที่ได้รางวัลชนะเลิศยังจะได้เผยแพร่ผ่านสื่อโทรทัศน์อีกด้วย

ภายใต้ระยะเวลากว่า 2 เดือนหลังการประกาศทีมที่ได้รับคัดเลือก น้องๆ แต่ละทีมต้องเตรียมวางแผนและเข้าไปถ่ายทำภาพยนตร์สั้น ณ สถานที่จริงด้วยตนเอง แต่ละทีมได้ฝ่าฟันสภาวะกดดันและการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแตกต่างกันไป จนสุดท้ายก็ได้เป็นผลงานที่มอบความสุขและความอบอุ่นทางใจให้แก่ผู้ชมอย่างแท้จริง

โดย เป็นเอก รัตนเรือง ผู้กำกับมากฝีมือที่เป็นคณะกรรมการตัดสินผลงานได้กล่าวถึงความน่าสนใจของโครงการนี้เอาไว้ว่า “ภาพยนตร์เป็นสื่อที่มีพลังมากและสื่อสารได้รวดเร็วกว่าสื่อชนิดอื่น เพราะทำงานกับความรู้สึกของคนดูทั้งภาพและเสียง ถ้าเราใช้มันได้เป็นอย่างดีการที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดของสังคมไม่ยากเลย”

เมื่อถามถึงการสร้างสังคมการให้ที่ยั่งยืนของประเทศไทยในอนาคตนั้น เป็นเอกบอกว่า “สังคมที่พัฒนาไปในแง่ของวัตถุนิยมหรือทุนนิยมมีความยากในแง่ของใจมนุษย์ ถ้าจะสร้างสังคมที่ให้กันได้อย่างยั่งยืนขั้นแรกคือการสอนให้ทุกคนเข้าใจวิธีเห็นหัวและเห็นใจคนอื่น ถ้าเอาแต่มุ่งพัฒนาให้คนเห็นคุณค่าแต่สิ่งที่อยู่ภายนอกโดยไม่มองให้ลึกซึ้งถึงสิ่งที่อยู่ข้างในของมนุษย์ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะเกิดสังคมที่มีความพอดีและมีเมตตาได้

“แต่ในขณะเดียวกันการให้ก็สามารถเป็นแรงกระเพื่อมได้ เมื่อคนหนึ่งเลือกที่จะส่งมอบสิ่งดีๆ ให้กับผู้อื่นก็จะเกิดการเคลื่อนไหวตามๆ กันมา ผมเชื่อว่าการเริ่มให้ตั้งแต่วันนี้จะสร้างสังคมดีๆ ที่มีความสุขแก่กันได้จริง”

นอกจากความคิดเห็นของผู้ใหญ่ที่เป็นคณะกรรมการแล้ว ลองตามไปฟังเสียงของน้องๆ นักศึกษากันดีกว่าว่า เบื้องหลังภาพยนตร์สั้นของแต่ละทีมนั้นมีแนวคิดและประสบการณ์แปลกใหม่อะไรซ่อนอยู่บ้าง

รางวัลชนะเลิศ

ผ้าผืนนั้น โดย LET

สมาชิก นางสาวนันทมาศ บอขุนทด, นางสาวณัฐยา รุ่งสิริพิพัฒน์, นางสาวดาราฉาย กาโยงแว่น และนางสาวหมีซ้อ ตองเซ

สาขาการสื่อสารมวลชน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

“ภาพยนตร์สั้นของเราเล่าเรื่องราวผ่านผ้าห่มผืนหนึ่งของครอบครัวในถิ่นทุรกันดาร ผ้าห่มผืนนั้นไม่ได้มีประโยชน์แค่เพียงเป็นเครื่องนุ่งห่ม แต่เป็นสิ่งที่แปรผันไปตามชีวิตและกิจกรรมของผู้คน สามารถเป็นเปลไกวนอนของทารก เป็นผ้าพันคอในการออกไปทำไร่ทำสวน สิ่งที่เราอยากจะถ่ายทอดให้เห็นคือความผูกพันและคุณค่าของผ้าห่มผืนหนึ่ง ที่นอกจากจะคลายหนาวเวลาอบอุ่นได้แล้ว ยังมีการส่งกันต่อจากรุ่นสู่รุ่น เป็นคุณค่าที่ยั่งยืนไปตลอดชีวิตของครอบครัว

“ทีมของเรา 4 คนลงพื้นที่ไปถ่ายทำกันที่หมู่บ้านผาบือ ดอยตุง จังหวัดเชียงราย การเข้าถึงสถานที่ถ่ายทำและการขนอุปกรณ์เป็นเรื่องท้าทายมาก อย่างการไปถ่ายทำในสวนกาแฟเราต้องขึ้นดอยและลงไปในเส้นทางที่ชันมาก รถยนต์ขนาดใหญ่ไม่สามารถเข้าได้ ต้องอาศัยมอเตอร์ไซค์คนละคันในการขับและขนอุปกรณ์ ตามที่วางแผนไว้ต้องถ่ายให้ได้ภายในระยะเวลาเพียง 2 วัน ทำให้ทุกอย่างค่อนข้างกระชั้นชิด

“รู้สึกประทับใจที่ผลงานผ่านเข้ารอบ ได้เผยแพร่วัฒนธรรมและความคิดให้คนอื่นเห็น ที่สำคัญคือมีโอกาสในการส่งต่อความรู้สึกดีๆ และรอยยิ้มให้กับผู้อื่น สื่อโทรทัศน์และภาพยนตร์เป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นความคิดและความรู้สึกของคนในสังคมอยู่แล้ว เราก็หวังให้คนที่ได้ชมภาพยนตร์สั้นนี้ได้เห็นแง่มุมของความสุขจากการเป็นผู้ให้และส่งต่อความรู้สึกนี้ให้กับคนอื่นๆ ต่อไป”

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1

The Winter Letter จดหมายคลายหนาว โดย Possible

สมาชิก นายพูนศักดิ์ ผลเจริญ, นายอุปถัมภ์ ศรีไชย, นางสาวธิดาเทพ สิงขรณ์, นาวสาวนุชจรี ควินรัมย์ และนางสาวพิยะดา เสียงประเสริฐ

สาขาการสื่อสารมวลชน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

“เรื่องเล่าของเราเกิดจากไอเดียที่ว่า คนเรารู้สึกถึงความหนาวเย็นไม่เท่ากัน เช่น ความหนาวของคนภาคเหนือกับคนภาคตะวันออกก็ไม่เหมือนกัน เราก็เลยถ่ายทอดเรื่องราวของเด็กสองคนที่ไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน คนหนึ่งอยู่บนดอย คนหนึ่งอยู่กรุงเทพฯ แต่ติดต่อกันผ่านทางจดหมาย เล่าให้อีกคนฟังว่าที่ที่ตัวเองอยู่เป็นยังไง แล้ววันหนึ่งเด็กที่อยู่กรุงเทพฯ ก็รับรู้ว่าเพื่อนกำลังประสบภัยหนาว เขาต้องหาวิธีช่วยเหลือเพื่อนให้ได้ ก็เลยตัดสินใจส่งจดหมายไปหาไทยเบฟเพื่อขอความช่วยเหลือ

“ในการทำภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้เราอยากให้ทุกคนรู้สึกรักและห่วงใยกัน ไม่ว่าจะเคยเห็นหน้ากันมาก่อนหรือไม่ อยากให้ทุกคนได้รู้สึกถึงความสุขของการเป็นผู้ให้ โดยเฉพาะการเป็นผู้ให้ที่ไม่หวังสิ่งใดตอบแทน มันเป็นความหมายที่ทำให้ชีวิตมีคุณค่า เราเชื่อว่าถ้าทุกคนเป็นแบบนี้สังคมจะดีขึ้นและมีความสุขมากขึ้น”

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2

Forward for U ส่งต่อความสุขให้คุณ โดย Khod Mass Production

สมาชิก นายนนทวัช บุญมี, นายภูริภัทร อยู่ใหม่, นางสาวจิรภิญญา ค้นหา, นางสาวสุชาวลี โพธิ์ทอง และนายอติกันต์ แสงสีจันทร์

คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“เราถ่ายทอดเรื่องของเด็กชายคนหนึ่งในถิ่นทุรกันดาร เขาได้รับผ้าห่มและทุนการศึกษาจากโครงการของไทยเบฟ จากนั้นจึงได้ศึกษาในสิ่งที่ตัวเองสนใจ เมื่อเขาเติบโตและประสบความสำเร็จก็ได้เรียนรู้ว่าการให้ในวันนั้นสำคัญมากแค่ไหนและตัดสินใจที่จะเป็นผู้ให้บ้าง เขาเดินทางกลับบ้านเกิดของตัวเองในฐานะพนักงานขององค์กรหนึ่งและสร้างโครงการที่มอบทุนการศึกษาและของที่จำเป็นให้แก่เด็กในชุมชน จากนั้นก็เฝ้าดูว่าการให้ครั้งนี้จะสานต่อเป็นสายใยอะไรในอนาคต

“จากการลงพื้นที่ถ่ายทำจริงที่แม่แจ่มและแม่สะเมิง เราเรียนรู้ว่าการให้ไม่จำเป็นต้องเป็นการให้สิ่งของก็ได้ การให้น้ำใจต่างหากที่ยิ่งใหญ่ที่สุด บางทีก้าวแรกของการให้ก็เริ่มจากแค่หันไปถามคนข้างๆ ว่า ‘ให้ช่วยไหม’ และเรารู้สึกว่าถ้าเกิดการให้ขึ้นแล้วมันจะไม่หยุดอยู่แค่ตัวเรา คนที่ได้รับย่อมอยากจะมอบให้กับผู้อื่นบ้าง และสิ่งนี้จะเกิดขึ้นต่อไปเรื่อยๆ สังคมแห่งการให้คือสังคมวนลูปของความสุข”

หลังจากได้ฟังความหมายของ ‘การให้’ ในมุมของน้องๆ ไปแล้ว อย่าลืมลองถามตัวเองว่า สำหรับคุณ ‘การให้’ คืออะไร บางที ‘การให้’ อาจเป็นอะไรที่เรียบง่ายอย่างการมอบความรัก ความห่วงใย และการช่วยเหลือผู้อื่นเท่าที่ตัวเองจะทำได้

มาค้นหาความสุขแห่งการเป็นผู้ให้และส่งต่อความสุขให้กับคนอื่นกัน

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

นักเรียนฟิล์มที่มาฝึกงานช่างภาพ รักการถ่ายรูป ชอบกินของอร่อย และชอบใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก