งานโฆษณาสร้างสรรค์ดีกรี Grand Prix จากเวที Spikes Asia 2019

Highlights

  • รวม 8 ชิ้นงานโฆษณาคัดสรรดีกรีรางวัล Grand Prix จากเวทีตัดสินโฆษณาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียอย่าง Spikes Asia 2019
  • ประกอบไปด้วยแคมเปญที่คิดเพื่อสังคมอย่าง The Open Door Project, #ShareTheLoad, #StopMithani จากอินเดีย, 7:1 Furniture Collection จากไทย, Signs of Love แคมเปญเพื่อชาว LGBTQI+ จากออสเตรเลีย อีกทั้งยังมีโฆษณารวยอารมณ์ขันและความฉลาดอย่าง Uber Eats Australian Open Ambush ด้วย

เวทีตัดสินโฆษณาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียอย่าง Spikes Asia 2019 สิ้นสุดไปเมื่อเดือนที่แล้ว แน่นอนว่าปีนี้มีงานโฆษณาที่เปี่ยมด้วยพลังและไอเดียสุดเจ๋งที่สร้างแรงกระเพื่อมและการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม รวมทั้งเข้าอกเข้าใจความรู้สึกของมนุษย์มากมาย ที่คว้ารางวัลเป็นหน้าเป็นตาให้กับวงการครีเอทีฟโฆษณาแต่ละประเทศเช่นเดียวกับทุกปี

นี่คือ 8 งานสร้างสรรค์ดีกรี Grand Prix จากหมวดต่างๆ ที่เราเลือกหยิบมาฝากทุกคนเป็นการส่งท้าย


01
THE OPEN DOOR PROJECT
THE MILLENNIUM SCHOOL
FCB Ulka

รู้กันดีว่าอินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรเยอะเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แถมความเหลื่อมล้ำสูงลิ่ว ปัญหาที่ว่าด้วยความยากในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กที่ไม่ได้เกิดในครอบครัวมีฐานะจึงสูงตามไปด้วย 

The Millennium School เครือข่ายสถาบันการศึกษามาตรฐานของอินเดีย เห็นว่าคลาสของเด็กนักเรียนภาคปกติจะเริ่มต้น 8 โมงเช้าและจบตอนบ่าย 2 โมง หลังจากที่เด็กๆ ออกจากโรงเรียนเพื่อเดินทางกลับบ้าน เวลานี้เองประตูห้องเรียนที่เคยคึกคักจะต้องถูกปิด ถูกปล่อยว่าง พูดง่ายๆ คือทรัพยากรต่างๆ ในห้องเรียนไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์นั่นเอง

โรงเรียนจึงออกแคมเปญเพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส เปิดประตูห้องเรียนเหล่านั้นอีกครั้งเป็นห้องเรียนของเด็กๆ จากชุมชนแออัดใกล้เคียง คลาสพิเศษที่ว่าเริ่มต้นขึ้นหลังบ่าย 3 โมงจนถึง 1 ทุ่มตรง ส่วนครูผู้สอนก็จะเป็นเหล่าอาสาสมัครที่อยากแบ่งปันความรู้ให้เด็กๆ ซึ่งวิธีการดึงความสนใจที่พวกเขาใช้คือการเข้าไปยังชุมชนต่างๆ แล้วเปิดฉายหนังสั้นชื่อ Bhukkad ที่ว่าด้วยเรื่องราวของเด็กหนุ่มที่กระหายในความรู้ จุดประกายให้เด็กรวมทั้งผู้ใหญ่เห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของการศึกษา


02
SIGNS OF LOVE
ANZ BANK
TBWA\Melbourne

ทุกวันนี้ประเทศออสเตรเลียอาจยังไม่เปิดกว้างกับ LGBTQI+ เท่าบ้านเราหรือเมืองอื่น อย่างงานไพรด์ในออสเตรเลียสามารถจัดได้เพียงที่เดียวเท่านั้น และที่แห่งนั้นก็คือถนนออกซฟอร์ด ใจกลางเมืองซิดนีย์ และในความเป็นจริงแล้วประเทศออสเตรเลียไม่ได้มีถนนออกซฟอร์ดสายหลักเพียงแค่เส้นเดียว แต่มีสายย่อยมากถึง 123 สาย กระจายตัวทั่วประเทศ

ปีที่แล้ว ANZ ธนาคารที่ยืดหยัดเพื่อชาว LGBTQI+ ได้ปล่อยหนังโฆษณา #HoldTight สร้างอิมแพกต์ในแวดวงสร้างสรรค์ออสเตรเลียไปแล้ว ปีนี้พวกเขากลับมาอีกครั้งกับ Signs of Love แคมเปญเปลี่ยนป้ายบอกถนนสาขาของออกซฟอร์ดให้เป็นงานศิลปะสีสันสดใส เฉลิมฉลองให้กับเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศที่ผ่านมา

เรื่องน่าสนใจคือตัวป้ายแต่ละดีไซน์ไม่ได้คิดมาเพื่อความสวยงามสะดุดตาเท่านั้น แต่ทุกป้ายมีความหมายและความตั้งใจที่จะสื่อถึงใจชาว LGBTQI+ ว่า แท้จริงแล้วพวกเขาก็เป็นมนุษย์ที่มีความสวยงาม เป็นคนที่ควรได้รับการยอมรับและความรักเฉกเช่นคนทั่วไป และที่สำคัญพวกเขามีตัวตนอยู่ทุกที่ในประเทศออสเตรเลีย ไม่ใช่แค่เมืองหลวงอย่างซิดนีย์ ลึกซึ้งขนาดนี้ไม่แปลกเลยที่จะคว้า Grand Prix สองรางวัลควบจากหมวด Design และ Outdoor

 

03
NAUGHTY OR NICE BAUBLE
MYER
Clemenger BBDO

Myer คือแบรนด์ห้างสรรพสินค้าใหญ่จากออสเตรเลีย หลายปีมานี้พวกเขาประสบปัญหายอดขายลดลงอย่างหนัก ในช่วงคริสต์มาสที่ทุกบ้านจะออกมาช้อปปิ้งของขวัญรวมทั้งของประดับตกแต่งบ้านถือเป็นนาทีทองสำหรับห้างสรรพสินค้า ตัวหลอดไฟตกแต่งต้นคริสต์มาสรุ่นพิเศษที่วางขายในราคา 19.95 ดอลลาร์สหรัฐฯ จึงเกิดขึ้นเพื่อแก้วิกฤตที่ว่า

ความเจ๋งคือหลอดไฟตัวนี้เปลี่ยนสีได้โดยเชื่อมต่อบลูทูธกับแอพพลิเคชั่นในสมาร์ตโฟน ซึ่งกลุ่มเป้าหมายหลักๆ ของพวกเขาคือพ่อแม่ที่ต้องให้ของขวัญเด็กๆ ผู้เฝ้ารอเทศกาลแห่งความสุข หากลูกของพวกเขาเป็นเด็กดี (be nice) หลอดไฟจะเป็นสีเขียว แต่ถ้าเด็กๆ แสดงอาการตรงกันข้ามหรือ be naughty หลอดไฟจะเปลี่ยนเป็นสีแดง เรียกได้ว่าเป็นอาวุธที่ช่วยให้พ่อแม่จัดการกับความซุกซนของลูก รวมถึงเตือนสติลูกๆ ในช่วงคริสต์มาสนั่นเอง

 

04
10 SEC. DRAMA: THE STOP LINE OF LOVE
JMS/TACTI
HAKUHODO

เชื่อว่างานโฆษณาสัญชาติญี่ปุ่นเป็นอีกโฆษณาที่หลายคนตั้งตารอชมทุกปี อาจด้วยมู้ดของความคราฟต์ ความฉลาดในไอเดีย หรือมุกตลกเรียกอารมณ์ขันสไตล์นิปปอน 

ซีรีส์โฆษณา 10 วินาทีเจ้าของรางวัล Grand Prix จากหมวด Film และ Film Craft ที่ว่าด้วยเรื่องรักๆ รถๆ จากญี่ปุ่นชุดนี้เป็นอย่างหลัง ข้อดีของการเลือกทำโฆษณาสั้นๆ ก็คือทำให้คนดูสามารถโฟกัสไปที่เมสเซจของแบรนด์หรือโฆษณาได้อย่างรวดเร็วดั่งคำที่ว่า ‘กระชับ ฉับไว’ ยิ่งถ้าเล่าเรื่องได้อย่างน่าติดตาม มีสตอรีไลน์ต่อกัน ต่อให้ดูติดๆ กันสิบชิ้นคนดูอย่างเราก็ขอสู้สุดใจ

อีกหนึ่งความสนุกของงานสร้างสรรค์ชิ้นนี้คือ การเทิร์นตอนจบของทุกประโยคสนทนาให้เข้ากับจุดขายและสินค้าของลูกค้าได้อย่างน่าทึ่ง หรือบางอันก็ชวนเราหลุดปากพูดว่า ‘อย่างงี้ก็ได้เหรอ’ เอาเป็นว่าแค่ได้ดูคลิปโฆษณษานี้ทั้งๆ ที่ไม่เข้าใจภาษาญี่ปุ่นหรือตาลายอ่านซับไตเติลไม่ทัน เราก็เชื่อว่าคุณจะต้องหลุดขำจนตาหยีเหมือนกับเราแน่นอน

 

05
UBER EATS AUSTRALIAN OPEN AMBUSH
UBER EATS
SPECIAL GROUP

เสพงานโฆษณาเรียกอารมณ์ขันจากฝั่งญี่ปุ่นไปแล้ว ขอชวนมาอมยิ้มกับโฆษณาจากออสเตรเลียต่ออีกชิ้นแล้วกัน ทุกครั้งที่มีการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬารายการใหญ่ๆ คนโฆษณาคงรู้ดีว่าโฆษณาตัวใดก็ตามที่ออกฉายในช่วงเบรกนั้นมีโอกาสที่คนดูจะเห็นมันสูงลิ่วกว่าช่วงเวลาใดๆ เสียอีก

รายการแข่งขันกีฬาที่ฮอตที่สุดในออสเตรเลียคงหนีไม่พ้นรายการแข่งขันเทนนิสอย่าง Australian Open แบรนด์ Uber Eats เล็งเห็นว่า ถึงแม้โฆษณาจะแย่งกันออกอากาศในช่วงไพรม์ไทม์ แต่ยังไงก็ตามจะมีคนเบี่ยงความสนใจตัวเองกดดูช่องอื่นหรือไม่ก็ลุกไปทำอย่างอื่น แล้วค่อยกลับมาตอนท้ายเบรก พวกเขาเลยตัดสินใจซื้อสล็อตเวลาสุดท้ายของช่วงพักเสียเลย

เรื่องไม่จบอยู่แค่นั้น พวกเขาชวนนักเทนนิสชื่อดังอย่าง Raphael Nadal, Caroline Wozniaki, Stefanos Tsitsipas, Nick Kyrgios และคนอื่นๆ รวม 14 ชีวิตมาถ่ายหนังสั้นๆ เป็นเหตุการณ์สมมติที่อาจเกิดขึ้นจริงในการแข่งขัน ทั้งหมดถ่ายทำบนสนามจริงและใช้มุมกล้องมุมเดียวกับกล้องถ่ายทอดสด ในเมื่อจะหลอกคนดูให้สุด พวกเขาเลยทำโปรดักชั่นให้สุดไปด้วยเลย ซึ่งในตอนท้ายนักเทนนิสทุกคนจะพูดประโยคเดียวกันว่า ‘Tonight I will be eating…’ พร้อมกับมีคนยื่นถุง Uber Eats เข้าฉากเป็นการเฉลยว่าสิ่งที่เราดูอยู่คือโฆษณา Uber Eats นะจ๊ะ

แถมทุกช่วงเบรก Uber Eats ยังเลือกฉายโฆษณาไม่ซ้ำกันสักเบรก ทำเอาคนดูไม่กล้าเปลี่ยนช่องไปไหนเพราะกลัวพลาดโฆษณาสุดกวนจากแบรนด์นั่นเอง สื่อใหญ่ในประเทศอย่าง The Australian ให้คำจำกัดความโฆษณาแคมเปญนี้ว่า ‘ผู้ชนะในรายการแข่ง Australian Open ปีนี้ก็คือ Uber Eats’ เราเองก็เห็นด้วยเหมือนกัน

 

06
SONS #SHARETHELOAD
P&G INDIA
BBDO India

คนอินเดียในอดีตถือว่าลูกผู้ชายสำคัญกว่าลูกผู้หญิง เช่นว่าสนับสนุนให้ลูกชายเรียนสูงๆ ประคบประหงมอย่างดี ส่วนลูกสาวก็สอนให้ทำงานบ้านเตรียมตัวออกเรือน แม้ว่าโลกาภิวัตน์จะเปลี่ยนให้ค่านิยมนี้เจือจางลงไปแล้ว แต่ก็มีครอบครัวอีกมากที่ยังยึดถือความเชื่อนี้อยู่

ปัญหาที่ชวนคนเป็นแม่กลัดกลุ้มใจคือบรรดาลูกชายของพวกเขาไม่รู้จักทำงานบ้าน ดูแลบ้านเรือนตัวเอง มุมหนึ่งอาจเป็นความผิดของคนเป็นแม่ด้วย แบรนด์ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผ้าอย่าง Ariel India เลยออกแคมเปญชวนแม่ๆ ทั้งหลายสอนลูกชายของพวกเขาทำงานบ้าน เพื่อที่ว่าเมื่อแก่ตัวไปพวกเขาจะดูแลตัวเองได้และอยู่คนเดียวได้อย่างไม่ลำบาก

ที่น่าสนใจคือพวกเขาอยากเปลี่ยนวิธีคิดของคนอินเดียรุ่นใหม่ด้วยว่างานบ้านไม่ใช่หน้าที่ของผู้หญิงเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ราวกับว่าเป็นการปลูกฝังความคิดเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศอยู่ลึกๆ

 

07
#STOPMITHANI
HDFC BANK
Leo Burnett India

ทุกปีเราจะเห็นแคมเปญมากมายเรียกร้องให้คนมาบริจาคเลือด ซึ่งส่วนใหญ่มักมาด้วยท่าทีเชิญชวน แต่สำหรับแคมเปญ #StopMithani น่าสนใจตรงที่พวกเขาต้องการห้ามคนให้หยุดบริจาคเลือด

พอจั่วมาแบบนี้หลายคนคงตกใจ จริงๆ แล้วคนที่ HDFC อยากห้ามก็คือคุณลุง Mithani ชายชาวอินเดียที่บริจาคเลือดติดต่อกันเข้าปีที่ 30 (รวมจำนวนทั้งหมดก็ 151 ครั้งเข้าให้) ปีที่แล้วคุณลุงอายุครบ 65 ปี ซึ่งเป็นอายุขัยที่สูงเกินไปสำหรับคนที่ต้องการบริจาคเลือด แต่แกก็ไม่ยอมหยุดบริจาคเลือดสักที จนกระทั่งหมอต้องออกโรงสั่งห้ามว่าหากคุณลุงยังดื้อดึงแบบนี้จะเป็นผลร้ายต่อสุขภาพแทน

คนในอินเทอร์เน็ตเห็นแบบนี้ก็อดเป็นห่วงสุขภาพคุณลุงไม่ได้ ทางเดียวที่พวกเขาจะช่วยห้ามคุณลุงได้ก็คือต้องไปบริจาคเลือดตัวเองแทน แคมเปญนี้เป็นแคมเปญน่ารักๆ ที่ประสบความสำเร็จสุดๆ เพราะเพียงแค่วันเดียวมีคนราวๆ สามแสนกว่าคนสมัครใจบริจาคเลือดให้กับองค์กร น่าประทับใจแทนคุณลุงเสียจริง

 

08
7:1 FURNITURE COLLECTION
HOMEPRO
BBDO Bangkok

ขอทิ้งท้ายความประทับใจด้วยงาน Grand Prix จากหมวด Innovation ที่เป็นฝีมือครีเอทีฟไทย

เฟอร์นิเจอร์คอลเล็กชั่น 7:1 นี้เกิดจากการจับมือระหว่าง HomePro และเอเจนซี BBDO ที่คิดถึงคน 1.3 พันล้านคนทั่วโลกที่ต้องใช้ชีวิตประจำวันอยู่กับภาวะพิการทางสายตา ที่หมายรวมถึงโรค ผลพวงจากอุบัติเหตุ หรือสุขภาพตาเสื่อมตามอายุขัย แถมเทรนด์การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ทั่วโลกมักเลือกใช้สีเดียวกันทั้งชิ้น (เพื่อคุมโทนและความสวยงามต่างๆ) ยิ่งความคอนทราสต์ของสีต่ำ คนที่มีปัญหาทางสายตาเลยมีปัญหากับการใช้งานเฟอร์นิเจอร์เหล่านั้นไปด้วย 

ตัวเลข 7:1 คือสัดส่วนของคู่สีที่จะช่วยให้ผู้พิการทางสายตามองเห็นวัตถุชัดขึ้น เช่น โซฟาสีชมพูที่ตัดขอบด้วยสีน้ำเงิน หรือเก้าอี้สีเหลืองที่ตัดด้วยสีเทาเข้มๆ ที่เป็นสีคู่ตรงข้ามกัน ถ้าลองเลื่อนดูคอลเล็กชั่นงานออกแบบทั้งหมด เชื่อว่าคนที่ไม่มีปัญหาทางสายตาก็น่าจะอยากซื้อไปใช้ที่บ้านไม่ต่างกับเรา 

ทั้งเก๋แถมยังช่วยแก้ปัญหาสังคมได้ด้วย ไม่แปลกเลยที่เฟอร์นิเจอร์คอลเล็กชั่นนี้จะกวาดรางวัลจากเวทีใหญ่อย่าง Cannes Lions และเวทีตัดสินโฆษณาอื่นๆ ไป ขอปรบมือให้กับ HomePro และ BBDO อีกครั้ง

 

เวทีตัดสินโฆษณา Spikes Asia 2019 ยังมีงานโฆษณาน่าสนใจที่ได้รับรางวัลอีกมากมาย
ตามไปดูกันที่เว็บไซต์  spikes.asia/winners/2019 ได้เลยจ้า


ภาพ Spikes Asia

AUTHOR