“ภาพยนตร์เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ไม่มีอนาคต” หลุยส์ ลูมิแอร์

Highlights

  • ตั้งแต่ถือกำเนิดขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีก่อน 'ภาพยนตร์' ก็ถูกปรามาสจากหลุยส์ ลูมิแอร์หนึ่งในพี่น้องตระกูลลูมิแอร์ที่สร้างเครื่องถ่ายและเครื่องฉายภาพยนตร์ว่าภาพยนตร์เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ไม่มีอนาคต
  • แต่หลังจากวันนั้น ว่ากันว่าจอหนังไม่เคยดับแสงอีกเลย ภาพไม่เคยหยุดเคลื่อนไหว ช่องขายตั๋วไม่เคยเหงา เพราะไม่ว่าที่ใดที่หนึ่งในโลกจะมีการฉายหนังอยู่ตลอดทุกนาทีมาเป็นเวลาร้อยกว่าปีแล้ว
  • จนเกิดเหตุการณ์ไวรัสโคโรนาบุกโลก ทำให้จอหนังต้องดับลงทั่วโลกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
  • ภาพยนตร์เคยผ่านวิกฤตใหญ่มาหลายครั้ง สงครามโลกก็สองครั้งเข้าไปแล้ว เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกก็อีกหลายรอบ แต่ทุกครั้งก็ยังมีโรงให้ฉายอยู่บ้าง ครั้งนี้มันไม่เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา

ตั้งแต่ถือกำเนิดขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ‘ภาพยนตร์’ ก็ถูกปรามาสว่าอีกไม่ช้าชะตาขาดแน่นอน ใครที่ไหนอยากจะมาดูภาพเคลื่อนไหวที่จำลองชีวิตจริงฉายบนจอสีขาว

ที่น่าแปลกคือ ผู้ที่เอ่ยคำพูดมรณานุสติข้างบน ไม่ใช่คนชังหนังที่ไหน แต่เป็นหนึ่งในผู้ที่ประดิษฐ์ภาพยนตร์อย่างที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้

หลุยส์ ลูมิแอร์ เป็นหนึ่งในสองพี่น้องตระกูลลูมิแอร์ที่สร้างเครื่องถ่ายและเครื่องฉาย Cinématographe และเป็นผู้นำภาพเคลื่อนไหวออกฉายขึ้นจอใหญ่โดยเก็บเงินคนดูเป็นครั้งแรกในโลกที่กรุงปารีส เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ค.ศ. 1895 ซึ่งต่อมาถูกนับเป็นวันกำเนิดภาพยนตร์โลก

น่าสนใจที่ภาพยนตร์หมกมุ่นกับความตายตัวเองมาตั้งแต่เกิด แม้แต่คนที่ให้กำเนิดภาพยนตร์อย่างหลุยส์ ลูมิแอร์ ยังจินตนาการถึงหลุมศพเพราะไม่เชื่อเลยว่านวัตกรรมมหัศจรรย์ของตัวเองจะมีชีวิตยืนยาวได้ (หากไปถามซิกมุนด์ ฟรอยด์ อาจจะมีคำอธิบายทางปรัชญาว่าด้วย death anxiety คิดว่าเราคงไม่ต้องไปไกลกันขนาดนั้นจะดีกว่า) แต่อย่างที่เราเห็น นอกจากภาพยนตร์จะมีชีวิตยืนยาวมาถึงตอนนี้ มันยังกลายเป็นสื่อที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรม ความคิด ความบันเทิง และเศรษฐกิจของหลายประเทศในโลก

หลังจากที่พี่น้องลูมิแอร์ฉายหนังขึ้นจอวันนั้นแล้ว ว่ากันว่าจอหนังไม่เคยดับแสง ภาพไม่เคยหยุดเคลื่อนไหว ช่องขายตั๋วไม่เคยเหงา เพราะไม่ว่าที่ใดที่หนึ่งในโลกจะมีการฉายหนังอยู่ตลอดทุกนาทีมาเป็นเวลาร้อยกว่าปีแล้ว

ยกเว้นตอนนี้ ยกเว้นเกือบหนึ่งเดือนที่ผ่านมานี้

 

ที่หวนนึกถึงความตายของภาพยนตร์ ก็เพราะสถานการณ์ไวรัสโคโรนาบุกโลก ที่ทำให้จอหนังต้องดับลงทั่วโลกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เพราะในสัปดาห์นี้มีเพียงจีนเท่านั้นที่อาจหาญเริ่มเปิดโรงหนังอีกครั้ง นอกจากนั้นแล้วเมืองแทบทุกเมืองในโลกได้สั่งปิดโรงหนังมานับเดือนแล้ว ไม่เว้นแม้เมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองของโรงหนัง อย่างลอสแอนเจลิส ปารีส นิวยอร์ก มุมไบ และไทยด้วย

สองปราการใหญ่ล่มไปนานแล้วด้วยแรงไวรัส หนึ่งคือฮอลลีวูด ที่ทุกอย่างหยุดชะงัก กองถ่ายต้องพักและดาราไม่มีอะไรทำถึงขึ้นต้องมาสร้างคอนเทนต์น่ารำคาญในอินสตาแกรม สองคือยุโรป ทวีปที่ภาพยนตร์มีประวัติศาสตร์เก่าแก่และเป็นความภูมิใจทางวัฒนธรรม สัญญาณหนึ่งคือเมื่อเทศกาลหนังที่สำคัญที่สุดในโลกอย่างเทศกาลเมืองคานส์ในฝรั่งเศส ยังต้องพับ ประกาศเลื่อน และอาจจะต้องยอมแพ้ยกเลิกการจัดในไม่ช้า ส่งผลให้หนังอาร์ตขาดที่พึ่งและระบบนิเวศของตลาดหนังโลกสั่นคลอนอย่างน่ากลัว

 

จะว่าไปภาพยนตร์เคยผ่านวิกฤตใหญ่มาหลายครั้ง สงครามโลกก็สองครั้งเข้าไปแล้ว เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกก็อีกหลายรอบ ตามมาด้วยภยันตรายที่ขู่เอาชีวิตและเกือบทำให้สมพรปากลูมิแอร์หลายอย่าง ทั้งการกำเนิดของโทรทัศน์ในช่วงกลางศตวรรษที่แล้ว ที่ทำให้เกิดความตระหนกว่าคนจะดูทีวีที่บ้านและไม่ออกไปดูหนัง ตามมาด้วยเทคโนโลยี home movie ทุกรูปแบบ ทั้งวิดีโอเทป เลเซอร์ดิสก์ ดีวีดี บลูเรย์ และล่าสุดคือหนังสตรีมมิ่ง อย่าง Netflix และอื่นๆ

ทุกครั้ง ภาพยนตร์เอาตัวรอดผ่านมาได้ แถมเมื่อฆ่าไม่ตายกลับยังแข็งแกร่งขึ้นด้วยซ้ำ แม้แต่ในเวลาสงคราม หนังก็ยังฉายได้ในบางประเทศ ในอังกฤษ สงครามโลกครั้งที่สองกลับทำให้โรงหนังมีจำนวนคนดูเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ ส่วนในอเมริกา สงครามกลับยิ่งทำให้ฮอลลีวูดทรงพลังขึ้นในฐานะอุตสาหกรรมความบันเทิงช่วงที่การก่อการร้ายยังชุก และเคยมีการกราดยิงในโรงภาพยนตร์ในอเมริกา โรงหนังก็ถูกมองว่าเป็นสถานที่พึงหลีกเลี่ยง แต่เพียงไม่ถึงเดือนทุกอย่างก็กลับมาเป็นปกติ ราวกับไม่เคยเกิดเหตุร้ายให้ระคายเคืองใดๆ

ดังนั้นความเพลี่ยงพล้ำอันมาจากไวรัสระบาดครั้งนี้จึงเป็นปรากฏการณ์ที่หนักหนาและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่เคยเลยที่โรงหนังแทบทั้งโลกต้องหยุดฉายหนังนานนับเดือนแบบนี้

ในใจลึกๆ ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าพายุไวรัสจะต้องผ่านพ้น ไม่ช้าก็เร็ว คำถามคือ สถานการณ์ที่ disrupt หรือกระชากทุกระบบอย่างรุนแรงแบบนี้ จะทำให้โลกเปลี่ยนไปยังไงเมื่อฝุ่นหายตลบ โลกของภาพยนตร์จะเหมือนเดิมได้หรือไม่เมื่อโรงหนังเปิดและจอหนังสว่างขึ้นอีกครั้ง

“ภาพยนตร์เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ไม่มีอนาคต” ถึงตรงนี้เราต้องนิยามคำว่า ‘ภาพยนตร์’ ให้ดี แรกเริ่มความหมายของคำว่า ‘ภาพยนตร์’ คือภาพเคลื่อนไหวที่ฉายขึ้นจอให้คนดูพร้อมกันเป็นจำนวนมาก จากนั้นภาพยนตร์ (cinema หรือ film) ยังขยายสถานะและคำนิยามในเชิงศิลปะไปสู่มณฑลของการเล่าเรื่องด้วยภาพ แตกแขนงและกลายเป็นศาสตร์ของตัวเองที่แยกชัดเจนจากวรรณกรรมหรือศิลปะอื่น

ต่อมาในโลกของศตวรรษที่ 21 เมื่อเราดูหนังจาก ‘จอส่วนตัว’ ได้ ไม่ว่าจะเป็นจอทีวี จอคอมพิวเตอร์ หรือจอโทรศัพท์ คำว่าภาพยนตร์ในความหมายคลาสสิกก็ถูกปรับ ขยาย หรือบางคนอาจจะบอกว่า ‘บิดเบือน’ ไปอีกครั้งให้กลายเป็น ‘คอนเทนต์’ ที่ส่งผ่านจากเซิร์ฟเวอร์ตรงไปถึงคนดูได้ โดยในหลายๆ กรณี ไม่ต้องผ่านตัวกลางที่มีมาเก่าแก่อย่างโรงภาพยนตร์ (ส่วนตัวผู้เขียนไม่เสน่หาคำว่า ‘คอนเทนต์’ เพราะมันเป็นคำเปล่ากลวงที่ไร้ความหมายในตัวเอง แต่นั่นไว้ว่ากันที่อื่นดีกว่า)

 

ในช่วงที่ไวรัสทำให้โรงหนังจอดับ คนดูไม่ได้ดูหนังน้อยลงเลย จริงๆ อาจจะดูมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ คนที่ไม่ค่อยได้ดูหนังในเวลาปกติบางคนกลับมาดูหนังอย่างหนักหน่วงในช่วงนี้ ทั้งนี้ก็เพราะระบบสตรีมมิง จะเป็น Netflix หรือ YouTube, Vimeo, Mubi หรือระบบ VOD อื่นๆ ทั้งที่ฟรีและเสียค่าสมาชิก (ในต่างประเทศ ตัวเลือกมีมากกว่านี้อีก ทั้ง Amazon, Hulu และอื่น ๆ) ที่ดูได้ทั้งวันทั้งคืนในช่วงอยู่บ้านหยุดเชื้อ

ดังนั้นคำกล่าวที่ว่า ภาพยนตร์ตายแล้วหรือตายแน่ๆ จึงไม่น่าจะจริงหากเรานับว่า ‘ภาพยนตร์’ หมายถึงภาพเคลื่อนไหวทุกอย่าง (หนัง ซีรีส์ คลิป ฯลฯ) ที่อยู่ในอินเทอร์เน็ต แต่สิ่งที่คนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ นักวิจารณ์ และนักสังเกตการณ์มืออาชีพและมือสมัครเล่นทั้งหลายทั่วโลกกำลังไตร่ตรองคือ ‘ภาพยนตร์ในแบบดั้งเดิม’–ภาพยนตร์ในฐานะประสบการณ์หมู่ในโรงภาพยนตร์–จะมีอนาคตอย่างไรหลังจากนี้

คนดูจะชินกับการดูหนังออนไลน์จนไม่เห็นความจำเป็นของโรงภาพยนตร์หรือเปล่า ค่าตั๋วที่แพงขึ้นจะยิ่งเป็นปัจจัยหรือไม่ เมนูในบริการสตรีมมิงที่มีหลากหลายจะทำให้หนังที่เข้าโปรแกรมตามโรงน่าดึงดูดน้อยลงหรือเปล่า ‘หนังโรง’ ที่เคยมีศักดิ์ศรีมากกว่า ‘หนังที่ทำลงทีวี’ จะยังคงรักษาสถานะสูงส่งนั้นไว้ได้หรือไม่

หรือสุดท้ายแล้ว ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย เมื่อฆ่าไม่ตายภาพยนตร์จะกลับมาแข็งแกร่ง และโรงหนังจะเต็มแน่นเมื่อกลับมาเปิดได้อีกครั้ง

 

คำถามที่ว่าหนังสตรีมมิงจะทำให้คนดูหนังในโรงน้อยลงหรือไม่ เป็นคำถามที่ถูกถามมาระยะหนึ่งแล้วก่อนหน้ามีเรื่องโควิดเสียอีก และที่ผ่านมาคำตอบก็ชัดเจนจากตัวเลขมูลค่าบ็อกซ์ออฟฟิศในอเมริกาไม่ได้ลดลงเลยในช่วงสามสี่ปีหลัง (คือช่วงที่สตรีมมิงเริ่มโตขึ้น) คือทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ในปี 2018 ตัวเลขเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ด้วยซ้ำ

ข้ามไปฝั่งยุโรป จากการรายงานของนิตยสาร Variety ปีที่แล้วฝรั่งเศสขายตั๋วหนังได้มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ คือ 213 ล้านใบ หรือเท่ากับโตขึ้น 6 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อนหน้า แต่ถ้าดูทั้งทวีปยุโรป ตัวเลขกลับไม่ดีเท่า และมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย ข้ามไปดูเกาหลีใต้ ถึงแม้จะเป็นประเทศที่ผลิตซีรีส์ที่คนทั้งเอเชียติดงอมแงม แต่นิตยสาร Screen Daily รายงานว่า ปีที่แล้วเกาหลีขายตั๋วหนังได้สูงทำลายสถิติ คือ 226 ล้านใบ เพราะมีแรงส่งจากหนังใหญ่ๆ ส่วนในประเทศไทย ตัวเลขจากสมาพันธ์ภาพยนตร์ รายงานว่ามูลค่าบ็อกซ์ออฟฟิศในปีที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 4,600 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าปีก่อนหน้าเล็กน้อย

ตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้เป็นศิลาจารึกที่ไม่มีวันเปลี่ยน แต่อย่างน้อยก็เป็นหลักฐานว่า สตรีมมิงไม่ได้ทำให้คนดูหนังในโรงน้อยลงมากนัก ในหลายประเทศกลับตรงข้ามด้วยซ้ำ

แน่นอนว่าสถานการณ์ไวรัสที่เกิดขึ้นจะทำให้ตัวเลขคนดูหนังในปีนี้ลดลงอย่างน่าตกใจแน่นอน เพราะโรงหนังแทบทั้งโลกต้องปิดไปนานนับเดือน ในยุโรปหลายเดือน ดีไม่ดีนี่อาจจะเป็นปีที่ตัวเลขย่ำแย่ที่สุดในรอบหลายสิบปีก็เป็นได้

แต่ภาพยนตร์–ภาพยนตร์ดั้งเดิมแบบฉายในโรง–จะถึงขั้นหมดอนาคตอย่างที่ลูมิแอร์ทำนายไว้เชียวหรือ ผู้เขียนไม่เชื่อว่าจะเป็นแบบนั้น และไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ในอนาคตด้วยซ้ำ

เด็กๆ ยังคงรบเร้าให้พ่อแม่พาไปดูหนังในโรง โครงการ ‘โรงหนังโรงเรียน’ ที่ใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อการสอนของหอภาพยนตร์ของไทย ต้อนรับนักเรียนระดับอนุบาลถึงมัธยมปลายนับหมื่นคนต่อปี ในขณะเดียวกัน คนดูหนังรุ่นใหญ่ที่เป็น purist หรือคนที่บูชาภาพยนตร์จอใหญ่โดยไม่สนใจหนังทีวีเลยก็ไม่น่าจะมีเหลือในโลกแล้ว ใครๆ ก็ดู Netflix ทั้งนั้นแหละว่าง่ายๆ

ดังนั้นการอยู่ร่วมกันในระบบนิเวศทางสายตาระหว่างหนังโรงกับหนังจอเล็ก การปรับหาสมดุลระหว่างประสบการณ์ทางสังคมอย่างการดูหนังในโรง กับความสะดวกของการดูหนังบนโซฟาที่บ้านและกดปุ่มเลือกหนังด้วยตัวเอง นี่ต่างหากที่จะเป็นอนาคตใหม่ของ ‘ภาพยนตร์’

AUTHOR