Gone with the Wind of History: เมื่อวิมานลอยจนหายไปในอัลกอริทึมของประวัติศาสตร์

Highlights

  • เมื่อเร็วๆ นี้ช่องสตรีมมิง HBO ตัดสินใจถอดภาพยนตร์คลาสสิกเรื่อง Gone With the Wind (วิมานลอยในชื่อไทย) หนังอมตะจากปี 1939 ออกจากช่อง ท่ามกลางกระแสการเคลื่อนไหวต่อต้านการเหยียดผิว
  • นี่อาจเรียกได้ว่าเป็น 'การเซนเซอร์ตัวเอง' หลังมีกระแสโจมตีว่าเป็นหนังที่เพิกเฉย ไม่รู้สึกรู้สมกับความน่าสะพรึงกลัวของระบบทาส และยังสร้างภาพจำอันน่าเจ็บปวดที่ไม่มีทางลบเลือนได้ของคนผิวดำ
  • ท่ามกลางเสียงนิยมอื้ออึงของ Gone With the Wind ก็มีความแปดเปื้อนที่หลบซ่อนอยู่ในซอกมุมของประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยถูกพูดถึงมาหลายสิบปี คอลัมน์มุมก้องโดยก้อง ฤทธิ์ดีชวนเรามองเรื่องนี้ผ่านแว่นของกาลเวลา

วิมานลอยไปจริง ๆ ลอยหายไปกับกระแสเชี่ยวของคลื่นประวัติศาสตร์

ทั้งน่าตกใจและน่าพินิจ ที่ประวัติศาสตร์ดังว่า พลิกหน้าสู่สำนึกใหม่อย่างรวดเร็วจนผู้เฝ้ามองอาจไม่ทันตั้งตัว

เมื่อต้นเดือนมิถุนายนนี้ ช่องสตรีมมิง HBO ตัดสินใจถอดภาพยนตร์คลาสสิกเรื่อง Gone With the Wind (วิมานลอยในชื่อไทย) หนังอมตะจากปี 1939 ออกจากช่อง การ ‘ดึงหนัง’ หรือจะเรียกว่า ‘เซนเซอร์ตัวเอง’ นี้เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสการเคลื่อนไหวต่อต้านการเหยียดผิวและพฤติกรรมรุนแรงของตำรวจต่อคนผิวสีในอเมริกา สืบเนื่องจากการตายของชายผิวดำ George Floyd และกรณีอุกอาจ ‘เข่ากดคอ’ ที่จุดไฟความคับแค้นและลุกลามไปทั่วประเทศ ทั้งยังข้ามทวีปไปปลุกให้เกิดการเดินขบวนต่อต้านการเหยียดผิวในหลายประเทศในยุโรป

เหล่าประเทศที่มีชนักติดหลังทั้งหลาย ทั้งอเมริกาที่เคยมีทาส หรือหลายประเทศในยุโรปที่เคยล่าเมืองขึ้นและกดขี่คนต่างสีผิว เกิดอาการ ‘ตื่นรู้’ ภายใต้สโลแกน Black Lives Matter หรือ BLM–ซึ่งว่ากันแฟร์ ๆ ก็อาจจะเกิดมานานแล้วในรูปแบบการแสดงออกต่างๆ ที่ชัดบ้างไม่ชัดบ้าง–และได้โอกาสแสดงเจตจำนงที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงจริงๆ จังๆ เสียที

ชนวนการถอดหนังออกจากช่องเริ่มมาจากการที่ John Ridley มือเขียนบทรางวัลออสการ์จากหนังเรื่อง 12 Years a Slave เขียนบทความโจมตีหนังอย่างรุนแรงในช่วงที่กระแส BLM กำลังโหมกระพือ โดยรีดลีย์บอกว่า “Gone With the Wind เป็นหนังที่เพิกเฉย ไม่รู้สึกรู้สมกับความน่าสะพรึงกลัวของระบบทาส และยังสร้างภาพจำอันน่าเจ็บปวดที่ไม่มีทางลบเลือนได้ของคนผิวดำ” และยังเรียกร้องให้ผู้เป็นเจ้าของคอนเทนต์ทั้งหลาย ทำอะไรสักอย่างเพื่อแสดงศรัทธาต่อการเปลี่ยนแปลง พูดง่ายๆ ว่าด่าฮอลลีวูดนั่นเอง ว่าต้องสำเหนียกตัวว่าเป็นผู้ตอกย้ำค่านิยมอันเต็มไปด้วยอคติมาตลอด และต้องเลิกวาดภาพความเป็นปีศาจให้กับคนผิวสี หรือจะตีความเลยไปว่าเป็นคนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่นๆ ด้วย

HBO น่าจะเห็นกระแสว่าถ้าไม่ทำอะไรอาจจะโดนทัวร์ลง เพราะตอนนั้น BLM ก็กำลังพีค จึงจัดการยก Gone With the Wind ออกจากเมนูชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่าเพราะหนัง “แสดงค่านิยมที่ไม่ตรงกับหลักการของ WarnerMedia” ตามแผนคือ หนังเรื่องนี้จะถูกใส่กลับมาให้ผู้ชมเลือกดูได้อีกในไม่ช้า แต่จะมาพร้อมกับคำอธิบายถึงบริบททางประวัติศาสตร์ หรือพูดอีกอย่างว่าจะกลับมาพร้อมกับ ‘คำเตือน’ ว่าถึงนี่จะเป็นหนังคลาสสิกขึ้นหิ้งมา 80 กว่าปี แต่มุมมองของมันบกพร่องยังไงในสายตาของคนปัจจุบัน

 

แมมมี่ vs สกาเล็ต โอฮารา

Gone With the Wind เป็นหนังรางวัลออสการ์จากปี 1939  ปีทองที่ฮอลลีวูดมีหนังดีๆ เข้าขั้นหนังอมตะเรื่องอื่นออกมาหลายเรื่อง (เช่น The Wizard of Oz และ Stagecoach)วิมานลอย เคยเข้าฉายในเมืองไทย จนดารานำสองคน Vivien Leigh ในบทคุณหนู Scarlett O’Hara และ Clark Gable ในบทชายหนุ่มนักรัก Rhett Butler กลายเป็นชื่อติดปาก และเมื่อสองปีก่อน หอภาพยนตร์ได้นำหนังเรื่องนี้กลับมาฉายรอบพิเศษที่โรงสกาลา

สรุปสั้นๆ หนังสร้างจากนิยายของ Margaret Mitchell ว่าด้วยเรื่องของสการ์เลต โอฮาร่า ลูกสาวใจเด็ดของเจ้าของไร่ฝ้ายในรัฐจอร์เจียที่มีคนงานทาสผิวดำจำนวนมาก กับความรักอันระหกระเหินของเธอกับ Ashley Wilkes (Leslie Howard) และ เรต บัตเลอร์ ฉากหลังของหนังเอพิกเรื่องนี้คือสงครามกลางเมืองสหรัฐอเมริกา เมื่อฝ่ายเหนือ (หรือ Union) มีชัยเหนือฝ่ายใต้ (หรือ Confederacy) ในการรบครั้งสำคัญที่เกตตีสเบิร์ก ‘วิมาน’ หรืออาณาจักรไร่ฝ้ายของครอบครัวเธอ จึงหลุดลอยเคว้งคว้างกลายเป็นสถานที่ทิ้งร้าง ญาติพี่น้องและคนงานแตกกระสานซ่านเซ็น และอยู่ที่ตัวสาวน้อยโอฮาร่า ที่จะต้องฝ่าฟันอุปสรรคเพื่อหวังนำความเรืองรองกลับคืนมา

นอกจากตัวละครหลัก ตัวประกอบที่โดดเด่นที่สุดในเรื่องคือแมมมี่ ทาสผิวดำปากกล้าที่เป็นเหมือนแม่นมคอยรับใช้โอฮาร่า แมมมี่รับบทโดย Hattie McDaniel ซึ่งเป็นบทที่ทำให้เธอได้รางวัลออสการ์สาขาดาราประกอบหญิง และเป็นดาราแอฟริกัน-อเมริกันคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รางวัลการแสดงสูงสุดของฮอลลีวูด ทาสหญิงอีกคนในเรื่องชื่อ พริสซี่ แสดงโดย Butterfly McQueen ดาราหญิงที่ไม่สามารถไปร่วมงานเปิดตัวหนังได้ด้วยซ้ำเพราะตอนนั้นอเมริกายังใช้กฎแบ่งแยกสีผิวอยู่ ดาราหญิงทั้งสองคนจะยังรบบทคนใช้–และไม่ได้เล่นบทอื่นเลย–ในหนังต่อมาอีกมากมายหลายเรื่อง

ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา Gone With the Wind เป็นหนังที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องทั้งจากผู้ชมและนักวิจารณ์ ทั้งจากความอลังการของฉากและโปรดักชั่น เนื้อเรื่องอันสะเทือนใจ และธีมใหญ่ที่เป็นกระดูกสันหลังของเรื่องอย่างสงคราม การพลัดพราก ความรักท่ามกลางเถ้าถ่านของการสู้รบ และพลังของการไม่ยอมแพ้โชคชะตา อีกทั้งเสน่ห์ตรึงตาของดารานำทั้งสองคน รวมๆ แล้วเข้าสูตรหนังคลาสสิกตามขนบฮอลลีวูดเป๊ะๆ หนังได้ออสการ์ 8 ตัว เป็นสถิติของยุคนั้น และในปี 2006 ได้รับการโหวตให้เป็นหนังอเมริกันที่ดีที่สุดตลอดกาลอันดับ 6 โดย American Film Institute

แล้วปัญหาคืออะไร หากเรามองเลยจากเสียงตอบรับกระแสหลักไปสักหน่อย จะเห็นว่าภาพพจน์ของหนังในหมู่คนดูและปัญญาชนผิวสีต่อ Gone With the Wind มีปัญหามาตั้งแต่ต้น เพราะหนังไม่ได้พูดถึงหรือยอมรับความเลวร้ายของระบบทาส

ตัวละครทาสทั้งหลายถูกวาดภาพภายใต้มายาคติของผู้ที่ยอมรับสภาพของตน (แบบไทยๆ ก็คือมันเป็นเวรเป็นกรรม) และมีความสุขดีในสถานะที่ต่ำต้อย หรือไม่ก็ทำให้ทาสมีภาพจำอันสลัดไม่หลุด เช่นตัวแมมมี่ที่ปากร้าย หรือพริสซี่ที่พูดเสียงสูงดูเหมือนตัวประหลาด ในขณะที่นายทาสต่างเป็นคนดีมีเมตตาไม่เคยใช้ความรุนแรง ไม่รวมถึงอุดมการณ์ใหญ่ที่ครอบหนังทั้งเรื่องอยู่ นั่นคือการสร้างความโรแมนติกให้กับการต่อสู้ของฝ่ายใต้ ซึ่งเป็นฝ่ายที่ต้องการรักษาระบบทาสเอาไว้ หรือพูดอีกอย่างว่า แทนที่ความพ่ายแพ้ของฝ่ายใต้จะเป็นชัยชนะของทาสที่จะได้รับอิสรภาพ หนังกลับทำให้มันดูเหมือนการสูญเสียครั้งใหญ่ที่ควรค่าแก่การสะอึกสะอื้นร่ำไห้กันพร้อมเพรียงในโรงหนัง

James Baldwin นักเขียนผิวสีคนสำคัญในยุคการต่อสู้เรียกร้องความเท่าเทียมในสังคมอเมริกันบอกเลยว่า Gone With the Wind เป็นหนังที่ ‘น่าขยะแขยง’ ส่วนมาร์กาเรต มิตเชล ผู้เขียนนวนิยายตั้งต้นที่กลายมาเป็นหนัง ถูกวิจารณ์ว่าเป็นคนเหยียดผิวที่มองคนผิวดำว่าไม่ต่างจากมนุษย์ถ้ำ และในนิยายของเธอยังมีฉากที่ทาสผิวดำข่มขืนหญิงผิวขาว ก่อนที่พวก KKK หรือ คูคลักซ์แคลนจะเป็นพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วย ท่ามกลางเสียงนิยมอื้ออึงของ Gone With the Wind จึงมีความแปดเปื้อนที่หลบซ่อนอยู่ในซอกมุมของประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางพอมาหลายสิบปี

อัลกอริทึมของยุคสมัย

หนังหรืองานศิลปะใดๆ ควรถูกตัดสินตามค่านิยมของยุคที่มันถูกสร้างขึ้น หรือตามอุณหภูมิทางสังคมวัฒนธรรมแห่งยุคสมัยที่เปลี่ยนไปกันแน่ หนังอย่าง Gone With the Wind หรือหนังแห่งการเหยียดผิวที่เป็นหนังคลาสสิกอีกเรื่อง The Birth of a Nation ควรมีที่ทางแบบไหนในสายตาของคนดูร่วมสมัย คำถามนี้แตกหน่อจากเหตุการณ์อีกอย่างที่เราเห็นกันมากในช่วงการประท้วง Black Lives Matter คือการทำลายรูปปั้นและอนุสาวรีย์ของบรรดาบุคคลในประวัติศาสตร์ที่เป็น ‘คนสำคัญ’ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นนักค้าทาสหรือนักจักรวรรดินิยมที่เข่นฆ่ากดขี่ผู้คนมากมาย

บางเสียงมองว่าการที่ HBO ยกหนังออกจากช่องเป็นการ ‘ตกใจทางการเมือง’ เกินเหตุ เป็นการยอมอ่อนข้อต่อกระแส political correctness เพราะจะว่าไปคนผิวสีจำนวนหนึ่งก็เห็นว่า ถึง Gone With the Wind จะไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็สร้างตัวละครอย่างแมมมี่ ให้เป็นคนแข็งแกร่งกล้าขึ้นเสียงกับนายจ้าง ตัวแฮตตี้ แมคแดเนียลส์ ที่แสดงเป็นแมมมี่ก็ภูมิใจกับบทนี้และมักโต้เถียงกับคนที่วิจารณ์เธอว่าได้เล่นแต่บทคนใช้

เมืองไทยเราเองก็เคยมีทาส และก็มีละครทีวีที่มีตัวละครทาสอยู่เยอะ เพียงแต่ประเด็นทาสไม่เคยกลายเป็นชนวนถกเถียงทางการเมืองและสังคมสักเท่าไหร่ ต่างจากอเมริกา ซึ่งมรดกปีศาจของยุคแห่งการกดขี่คนผิวดำที่ซื้อตัวมาจากแอฟริกาและคาริเบียนยังคงแทรกซึมอยู่ในองคาพยพและสำนึกของคนจำนวนหนึ่ง และถูกปลุกให้ถูกแสดงออกมากขึ้น รุนแรงขึ้น ในบรรดาฝ่ายขวาที่ได้ใจจากการครองอำนาจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ การประท้วงครั้งใหญ่ภายใต้ธง Black Lives Matter ที่ช็อกทั้งอเมริกาเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เป็นแรงต้านที่ระเบิดขึ้นหลังจากเชื้อได้ปะทุมานานหลายปี เป็นการลุกฮือที่หวังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายทางสังคม การเมือง วัฒนธรรม และเรียกร้องให้มีการจัดระเบียบใหม่ในทุกมิติ

ผู้เขียนเชื่อว่าผู้ชมตอบสนองต่อภาพยนตร์แต่ละเรื่องตามภาวะที่เปลี่ยนไป และงานศิลปะอาจส่งผ่านทัศนคติและความหมายที่ต่างกันออกไปสู่ผู้ชมแต่ละรุ่น ไม่ต้องไปดูเรื่องคอขาดบาดตายก็ได้ เอาแค่หนังรักหรือหนังตลกที่เราดูเมื่อตอนอายุ 15 หรือ 20 พอมาดูอีกครั้งตอนเราแก่ลง แต่งงานแล้ว มีลูกแล้ว หย่าแล้ว มีประสบการณ์มากขึ้น มีความเชื่อในเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากขึ้น หรือเมื่อสังคมรอบตัวมีอิทธิพลต่อความคิดในเรื่องต่าง ๆ เปลี่ยนไป เรายังเห็นว่าหนังเรื่องเดิมนั้นเปลี่ยนไป ที่เคยตลกอาจเศร้า ที่เคยเศร้าอาจเป็นสุข ที่คิดว่าถูกกลับไม่ใช่ แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องมองหนังในแว่นของช่วงเวลาที่มันถูกสร้างขึ้นเพื่อเรียนรู้การเดินทางของความคิดและประวัติศาสตร์

ดังนั้นการที่ HBO ยกหนังออกจากช่องชั่วคราว อาจจะไม่ใช่การ ‘เซนเซอร์ตัวเอง’ อย่างที่ว่าไปตอนต้น แต่เป็นการไตร่ตรองและหาที่ทางใหม่ให้หนังอันมีค่านิยมล้าสมัย จริงๆ แล้ว HBO ควรรีบเอา วิมานลอย กลับมาใส่ในเมนู อย่าไปดองไว้นานจนดูเหมือนเซนเซอร์จริงๆ เพราะการถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งควันหลงจากการประท้วงเรียกร้องให้ยุติการเหยียดผิว จะทำให้คนดูที่มีสติปัญญา สามารถดูหนังเรื่องนี้อีกครั้งด้วยสายตาอีกแบบ อาจจะชอบหนังน้อยกว่าเดิม หรือเหมือนเดิมเพราะดูเพื่อความสวยงาม หรืออาจจะเห็นเหลี่ยมมุมอื่นๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนจากการตกผลึกทางความคิด

การช่วงชิงพื้นที่ทางวัฒนธรรมของอุดมการณ์ทางการเมืองและประวัติศาสตร์จากฝ่ายต่างๆ เป็นสมรภูมิที่ไม่มีวันสิ้นสุด โดยความรุนแรงเข้มข้นอาจแตกต่างกันไปด้วยปัจจัยหลากหลาย กรณี Gone With the Wind ในกระแส Black Lives Matter เป็นเพียงตัวอย่างระดับโลกของการช่วงชิงพื้นที่ดังกล่าว และเป็นกรณีสำคัญที่ทำให้เห็นว่า อัลกอริทึมของประวัติศาสตร์ ไม่เคยหยุดนิ่งและมีแต่จะก้าวเดินไปข้างหน้าเสมอ

AUTHOR