ว่าด้วยเสรีภาพสื่อและการครอบงำของทุน ในการยกขบวนลาออกของกองบรรณาธิการ Cahiers du Cinéma

Highlights

  •  คอลัมน์ 'มุมก้อง' คอลัมน์ใหม่จาก 'ก้อง ฤทธิ์ดี' ชวนตั้งคำถามกรณีการยกขบวนลาออกของกองบรรณาธิการ Cahiers du Cinéma วารสารภาพยนตร์ที่เก่าแก่และทรงอิทธิพลที่สุดในฝรั่งเศส เกิดจากความไม่พอใจต่อการขายหุ้นของหนังสือให้กับกลุ่มเจ้าของใหม่
  • เมื่อเสาหลักแห่งวงการวิจารณ์ตกไปอยู่ในมือของนักการเมือง และนายทุนในวงการหนัง อันเท่ากับว่าวารสารได้สูญเสียความเป็นกลางในการเขียนและวิเคราะห์วิจารณ์ภาพยนตร์ไปแล้ว
  • กลุ่มเจ้าของใหม่ของกาเยร์จะตั้งใครเป็นบรรณาธิการ และวารสารอันเป็นจิตวิญญาณของวงการนักคิด นักวิจารณ์ฝรั่งเศส จะยังคงความศักดิ์สิทธิ์และจรรยาบรรณสื่อเอาไว้ได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม

ข่าวดังในวงการสื่อซ้อนทับกับวงการภาพยนตร์โลกเมื่อสัปดาห์ก่อน คือการยกขบวนลาออกของกองบรรณาธิการ Cahiers du Cinéma วารสารภาพยนตร์ที่เก่าแก่และทรงอิทธิพลที่สุดในฝรั่งเศส จากความไม่พอใจของเหล่านักเขียน นักวิจารณ์ ต่อการขายหุ้นของหนังสือให้กับกลุ่มเจ้าของใหม่ ที่มีทั้งนายธนาคาร นักธุรกิจ และโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์

กองบรรณาธิการของ Cahiers (กาเยร์) ไม่พอใจที่เสาหลักแห่งวงการวิจารณ์หนังของฝรั่งเศส ไปตกอยู่ในมือของผู้ใกล้ชิดนักการเมือง และยังเป็นนายทุนในวงการหนังเสียเอง อันเท่ากับว่าวารสารได้สูญเสียความเป็นกลางในการเขียนและวิเคราะห์วิจารณ์ภาพยนตร์ แถลงการณ์จากกองบรรณาธิการที่ลาออกส่วนหนึ่งกล่าวว่า “หากให้ผู้อำนวยการสร้างมาเป็นเจ้าของแล้ว ไม่ว่าเราจะตีพิมพ์บทความอะไรเกี่ยวกับหนังของโปรดิวเซอร์เหล่านี้ ข้อเขียนของเราจะถูกสงสัยว่าเข้าข้างหนังเหล่านั้น”

นอกจากนี้ หนึ่งในเจ้าของใหม่ยังให้สัมภาษณ์ว่า อยากให้ กาเยร์ มีความ ‘chic’ หรือ ‘เก๋ไก๋’ มากกว่าตอนนี้ อันฟังดูเป็นคำแสลงแทงใจสำหรับผู้ที่ทนงตนนับถือภาพยนตร์เป็นอุดมการณ์อย่างจริงจัง

ทำไมการเปลี่ยนเจ้าของสื่อภาพยนตร์อย่าง Cahiers du Cinéma ถึงเป็นเรื่องใหญ่ขนาดนี้? ทำไม ‘หนังสือหนัง’ (ที่คนทั่วไปอาจมองว่าไม่เห็นสลักสำคัญอะไร เป็นแค่ ‘ข่าวบันเทิง’ หรือ ‘นิตยสารดารา’) จึงกลายเป็นข่าวครึกโครมในสื่อต่างประเทศขนาดนี้?

คำตอบเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์อันโชกโชนของ กาเยร์ เกี่ยวข้องกับการที่วัฒนธรรมฝรั่งเศสถือภาพยนตร์เป็นสรณะ คือเป็นเรื่องสำคัญขนาดคอขาดบาดตาย และยังเกี่ยวข้องลึกซึ้งกับศิลปะและการเมืองอันเข้มข้นของฝรั่งเศสตั้งแต่ยุค 1960 ถึงปัจจุบัน และยังเกี่ยวข้องกับประเด็นเสรีภาพสื่อและการครอบงำสื่อของทุน อันเป็นปัญหาที่ไม่จำเพาะแต่ในฝรั่งเศสเท่านั้น

ศูนย์บ่มเพาะนักวิจารณ์ขบถ

แฟนหนังหลายคนอาจไม่เคยอ่าน Cahiers du Cinéma ด้วยเพราะเป็นภาษาฝรั่งเศส แต่ไม่มีแฟนหนังคนไหนที่ปวารณาตัวอุทิศร่างกายและวิญญาณให้ภาพยนตร์ที่จะไม่รู้จัก กาเยร์ วารสารภาพยนตร์ที่เก่าแก่ อื้อฉาว บางครั้งก็แปลกประหลาด แต่โดยรวมแล้วเป็นที่นับถือมากที่สุดฉบับหนึ่งในโลก

Cahiers du Cinéma ฉบับแรกออกวางแผงในเดือนเมษายน ค.ศ. 1951 หน้าปกเป็นรูปกลอเรีย สวอนสัน ดาราอเมริกันจากหนังเรื่อง Sunset Boulevard นักเขียนหนุ่มไฟแรงของ กาเยร์ ในยุคต้นได้แก่ Jean-Luc Godard, François Truffaut, Éric Rohmer, Jacques Rivette และปรมาจารย์ด้านทฤษฎีภาพยนตร์ André Bazin ชื่อเหล่านี้–ทั้งโกดาร์, ทรุฟโฟต์, โรแมร์, ริเวตต์–ต่อมากลายเป็นคนทำหนังคนสำคัญของโลก สร้างปรากฏการณ์ French New Wave ที่ปฏิวัติแนวคิดและไวยากรณ์ภาพยนตร์ รื้อถอนขนบของภาษาหนังและแสดงให้เห็นว่าภาพยนตร์เป็นศิลปะและเครื่องมือทางปรัชญาที่สำคัญของโลก

บทความของ กาเยร์ ทั้งแรง กล้า และท้าชนทุกสำนัก โดยเฉพาะสำนักภาพยนตร์ตามขนบกระฎุมพีฝรั่งเศส ซึ่งแนวคิดขบถและท้าทายหลักการอันมีมาเก่าก่อน เป็นบรรยากาศของวงการนักคิด นักปรัชญาฝรั่งเศสในช่วงกลางศตวรรษอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น บทความอันโด่งดังของฟรองซัวส์ ทรุฟโฟต์ ในปี 1958 ชื่อว่า ‘A Certain Tendency in French Cinema’ เป็นการวิจารณ์วงการหนังฝรั่งเศสอย่างรุนแรง โจมตีความอับเฉาของเนื้อหาว่ามีแต่ความกลวง

ทรุฟโฟต์ยังด่าเทศกาลเมืองคานส์ ซึ่งเป็นงานทางวัฒนธรรมอันสำคัญ ว่าไม่สนใจศิลปะและเลือกหนังมาฉายได้แย่มาก ถึงขั้นเทศกาลโกรธและห้ามไม่ให้ทรุฟโฟต์มาร่วมงาน (แต่ทรุฟโฟต์ได้หัวเราะทีหลัง เพราะเมื่อเขาสร้าง The 400 Blows ในปี 1959 หนังได้รับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมที่คานส์และกลายเป็นหนังคลาสสิกเรื่องหนึ่งของโลก)

โกดาร์เป็นอีกหนึ่งนักเขียนที่มีฝีปากสวิงสวายและหมกมุ่นในพลังของภาพยนตร์มากๆ หนึ่งในประเด็นที่โกดาร์เคยยกขึ้นมาและยังเป็นที่ถกเถียงกันจนตอนนี้คือ ‘ความถูกต้องทางศีลธรรมของ tracking shot’ ว่าด้วยการเคลื่อนกล้องและการเปลี่ยนความรับรู้ของผู้ชมต่อสิ่งที่เห็นบนจอ ว่าเป็นสิ่งที่สมควรหรือไม่และในสถานการณ์ใด

อย่างที่คนดูหนังรู้กัน ฌอง-ลุค โกดาร์ กลายมาเป็นผู้กำกับหัวหอกสำคัญของกลุ่ม French New Wave ในทศวรรษที่ 1960 ดังนั้นพวกที่ชอบแดกดันนักวิจารณ์หนังว่า “วิจารณ์เก่งนัก ทำเองเป็นรึเปล่า” ต้องย้อนกลับไปดู กาเยร์ เพราะนักเขียนที่นี่ กลายมาเป็นคนทำหนังที่ทรงอิทธิพลของโลกนับเป็นสิบคน

Mr. Godard, left, with François Truffaut

กาเยร์ ในยุคเริ่มต้น บูชาคนทำหนังยุคก่อนหน้าอย่าง Alfred Hitchcock หรือ Josef von Sternberg โดยมองเห็นอัจฉริยะในการประกอบสร้างช็อตและการเล่าเรื่องด้วยภาพของปรมาจารย์เหล่านี้ ซึ่งเคยถูกมองข้ามและถึงขั้นดูถูกโดยนักวิจารณ์หัวเก่าว่าทำแต่หนังประโลมโลกดาดๆ นักเขียนของ กาเยร์ ยังข้ามทวีปไปชื่นชอบหนังอเมริกันถึงเข้าขั้นคลั่งไคล้ สามารถวิเคราะห์หนังคาวบอยอย่างลึกซึ้งเป็นฉากๆ ทั้งที่นักวิจารณ์อเมริกันเองไม่เคยคิดว่าหนังแบบนี้ควรค่าแก่การวิเคราะห์หรือตีความใดๆ

บทความใน กาเยร์ บางครั้งพูดถึงหนังเรื่องเดียวเป็นสิบๆ หน้า ด้วยลีลาที่ทั้งจริงจัง สง่างาม ท้าทาย มุทะลุ และบางครั้งบ้าบอคอแตกแบบที่คนอ่านยังงงว่าไอ้พวกนี้เล่นอะไรกัน (เช่น โกดาร์เคยอธิบายหนังเรื่อง Hiroshima mon amour ว่าเป็น “การผสมผสานระหว่าง Faulkner กับ Stravinsky ” ฟังดูเท่มากที่เอาทั้งหนัง วรรณกรรม และดนตรีคลาสสิกมายำรวมในประโยคเดียว แต่อ่านแล้วก็งงไม่เบา)

ความขบถ หัวรั้น และการท้าทายอุดมการณ์ทางศิลปะเดิมๆ ของนักเขียน กาเยร์ ยิ่งปรากฏชัดในยุค 1960 เมื่อกองบรรณาธิการรับเอาแนวคิดฝ่ายซ้ายมาเต็มๆ จนบางครั้งหนังสือทั้งเล่มมีแต่เรื่องการเมือง การปลดแอกคนหนุ่มสาว และการเรียกร้องเอกราชของประเทศอาณานิคม จนว่ากันว่าแทบไม่มีเรื่องหนังเลยด้วยซ้ำในบางฉบับ

 

ข่าวบันเทิงหรือจิตวิญญาณสื่อเสรี

หนึ่งในคุณูปการสำคัญของ Cahiers du Cinéma คือการเรียกร้องให้เห็นว่าภาพยนตร์เป็นศิลปะที่ต้องถูกพินิจพิเคราะห์ ต้องดื่มด่ำและลุ่มหลง เช่นเดียวกับศิลปะอื่นๆ อีกทั้งหนังยังเป็นเครื่องมือแห่งการปลดปล่อยความคิดทางการเมือง วารสารภาพยนตร์ จึงอยู่ภายใต้อุดมการณ์สื่อสารมวลชนที่ต้องการอิสระทางความคิดและการไม่ถูกครอบงำ เช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์หรือสื่ออื่นๆ

นี่เป็นแนวคิดที่ฟังดูนอกโลกอย่างมากสำหรับสังคมที่มองว่า ‘หนังสือหนัง’ เป็นเพียงข่าวบันเทิงหรือซุบซิบดารา และสังคมที่มองว่า ‘รีวิวหนัง’ (หรือรีวิวอะไรก็ตามแบบสมัยนิยม) สามารถทับซ้อนกับคำว่า ‘โฆษณา’ อย่างหน้าชื่นตาบาน

 

กลับมาที่ประเด็นร้อนว่าด้วยการเปลี่ยนเจ้าของ Cahiers du Cinéma จากประวัติศาสตร์ของวารสาร คงพอเห็นภาพว่าทำไมกองบรรณาธิการของ กาเยร์ ถึงไม่พอใจการขายกิจการไปให้กับกลุ่มนักธุรกิจ ที่รวมถึงคนใกล้ชิดประธานาธิบดี Emmanuel Macron และมีผู้อำนวยการสร้างหนังฝรั่งเศสมาร่วมวงด้วย เพราะนี่คือการทับซ้อนของผลประโยชน์อย่างจะแจ้ง นักเขียนจะไปเขียนถึงหนังที่เจ้าของวารสารเป็นผู้สร้างได้อย่างไรโดยยังคงความอิสระทางความคิด ไม่ถูกแทรกแซง และไม่กลายเป็นกระบอกเสียงของกลุ่มธุรกิจ (เช่นกัน สื่อไทยโนสนโนแคร์กับสิ่งเหล่านี้ ไม่ว่าสื่อหลักหรือรอง)

กาเยร์ ในยุคใหม่ถึงจะไม่ร้อนแรงด้านความคิดทางการเมือง แต่ก็ไม่เคยละทิ้งจุดยืน บรรณาธิการที่เพิ่งลาออกไปชื่อ ‎Stéphane Delorme ยังคงวิพากษ์วิจารณ์เทศกาลเมืองคานส์อย่างรุนแรงในปีที่เลือกหนังมาไม่ดี เมื่อภาพยนตร์เรื่อง Dheepan ได้รางวัลปาล์มทองเมื่อปี 2015 เขาวิจารณ์หนังอย่างเผ็ดร้อนไม่ไว้หน้า ว่าเป็นหนังที่ปราศจากมิติทางการเมืองทั้งๆ ที่เป็นหนังว่าด้วยคนอพยพและคนกลุ่มน้อยในชานเมืองฝรั่งเศส และสุดท้ายเป็นได้แค่หนังแอ็กชั่นกลวงๆ เรื่องหนึ่งเท่านั้น

กาเยร์ ยังแสดงออกถึงจุดยืนว่าด้วยประเด็นทางสังคมต่างๆ เช่นการเข้าข้างฝ่ายเสือกั๊กเหลือง หรือกลุ่มคนชั้นแรงงานที่รวมตัวประท้วงการบริหารงานของประธานาธิบดีมาครง จนทำให้ฝรั่งเศสระส่ำระสายอย่างหนักในช่วงปีที่แล้ว

คงต้องติดตามดูกันต่อไปว่ากลุ่มเจ้าของใหม่ กาเยร์ จะตั้งใครเป็นบรรณาธิการ และวารสารอันเป็นจิตวิญญาณของวงการนักคิด นักวิจารณ์ฝรั่งเศส จะยังคงความศักดิ์สิทธิ์และจรรยาบรรณสื่อเอาไว้ได้หรือไม่

บทเรียนจากสิ่งที่เกิดขึ้นคือ การที่สื่อทั่วโลกต่างถูกยึดครองโดยกลุ่มทุนจนเป็นเรื่องธรรมดาไปหมดแล้ว ไม่ว่าจะสื่อหลัก โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ กระทั่งสื่อบันเทิง หรือแม้แต่สื่อโซเชียลในหลายๆ ที่

การยึดมั่นในหลักการของ Cahiers du Cinéma อาจดูโลกสวย ดื้อ หรือหยิ่งผยอง แต่ให้เราลองนึกเปรียบเทียบว่านี่คือ French Resistance เหมือนกลุ่มต่อต้านผู้ยึดครองสมัยสงครามโลก เพราะหากพวกฝรั่งเศสที่ยึดมั่นอุดมการณ์และแสดงการต่อต้านขนาดนี้ยังล้มได้ แล้วโลกของสื่อที่เหลือจะต้านพลังนายทุนได้ยังไง

AUTHOR