“ความเป็นฐปณีย์ไม่ง่าย แต่ไม่มีสักข่าวที่เราเสียใจที่เคยทำ” ฐปณีย์ เอียดศรีไชย

Highlights

  • เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้วที่ ฐปณีย์ เอียดศรีไชย เริ่มต้นงานนักข่าวภาคสนาม จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เธอขึ้นเหนือล่องใต้จนผ่านสถานการณ์มาแทบทุกรูปแบบ ซึ่งเธอได้เปิดเผยเคล็ดลับในการทำอาชีพนักข่าวภาคสนามกับเราอย่างละเอียดผ่านบทความนี้ ก่อนที่เธอจะสรุปว่าอาชีพนักข่าวภาคสนามนั้นให้ประสบการณ์กับเธอแบบที่เธอไม่เคยคิด และถ้าร่างกายยังไหว ฐปณีย์ก็บอกกับเราว่าเธอคงทำอาชีพนี้ต่อไป

ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน หนึ่งในเหตุการณ์ที่เป็นข่าวใหญ่ที่สุดคือข่าวการฉีดน้ำสลายการชุมนุมที่แยกเกียกกายเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 

ในวันนั้น สื่อแต่ละสำนักต่างเลือกใช้วิธีรายงานข่าวหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ไลฟ์สถานการณ์สดๆ แบบวินาทีต่อวินาที ไปจนถึงรายงานเป็นข่าวด่วน แต่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน นักข่าวจากแทบทุกช่องที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นต่างก็เปียกปอนไปด้วยน้ำสีม่วงที่เกิดจากการสลายการชุมนุม

นอกเหนือจากเรื่องการเมือง หนึ่งในประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดหลังเหตุการณ์คือการทำงานของนักข่าวเหล่านั้น

ในความชุลมุนวุ่นวาย มีอะไรที่นักข่าวควรเล่า? พวกเขาหลบหลีกอันตรายตรงหน้ายังไง​? ที่สำคัญ–อะไรทำให้พวกเขายังปักหลักรายงานข่าวในบริเวณนั้นทั้งที่กลุ่มผู้ชุมนุมพากันวิ่งหลบหมดแล้ว

เมื่อทำ a day ฉบับ News ในเดือนนี้เราจึงหอบเอาความสงสัยข้างต้นไปสอบถามนักข่าวภาคสนามตัวจริงที่อยู่ในเหตุการณ์จริงอย่าง ฐปณีย์ เอียดศรีไชย

ลงสนามเพื่อทำความรู้จักกับ ‘นักข่าวภาคสนาม’ ที่ชื่อได้ในบรรทัดต่อไป

ฐปณีย์

“งานแรกในชีวิตของเราคือการเป็นเลขาผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเกี่ยวกับประกันชีวิต แต่ทำได้พักหนึ่งก็ค้นพบว่างานนี้ไม่ใช่ทางเลยลาออก พอดีกับที่ตอนนั้นเพื่อนที่เป็นนักข่าวแนะนำว่าสำนักข่าว INN เปิดรับนักข่าวอยู่ ด้วยความที่สนใจงานสื่อสารมวลชนอยู่แล้วและจบปริญญาโทด้านนี้มา เราเลยเข้าไปสมัคร ในวันรุ่งขึ้นหลังลาออกจากบริษัทเก่า เขาสัมภาษณ์และรับเราเข้าทำงานทันทีในวันถัดมาเพราะเหตุผลว่าดูหน่วยก้านใช้ได้ (หัวเราะ)

“เราเริ่มต้นงานข่าวที่ INN ในฐานะนักข่าวเศรษฐกิจในสื่อวิทยุ ในยุคนั้นการจะได้มาซึ่งเสียงเพื่อเอาไปลงข่าวต้องใช้เทปคาสเซตในการสัมภาษณ์ ดังนั้นถ้าว่ากันจริงๆ ประสบการณ์การทำงานภาคสนามของเราครั้งแรกคือตรงนั้นเพราะต้องออกไปสัมภาษณ์แหล่งข่าวด้วยตัวเอง แต่ถ้าเอาที่คนจำได้คือหลังจากนั้นไม่นานที่เราได้ทำข่าวในม็อบสมัชชาคนจน

“ตอนนั้นปี 2543 ม็อบสมัชชาคนจนเกิดขึ้นเพื่อเรียกร้องสิทธิที่ดินทำกิน กิจวัตรของเราตอนนั้นคือตื่น 6 โมงเช้าเพื่อไปม็อบที่อยู่ข้างทำเนียบรัฐบาล รอม็อบเคลื่อนไหวและทำข่าวตลอดทั้งวัน เสร็จประมาณเที่ยงคืนเราถึงนั่งรถเมล์กลับ ชีวิตวนแบบนี้ แต่นั่นเป็นครั้งแรกที่เรารู้สึกสนุกกับงานข่าว เรารู้สึกว่านี่คืองานที่ใช่ 

“เราได้เห็นภาคประชาชนและผู้ชุมนุมทำอะไรใหม่ๆ ทุกวัน เราได้เรียนรู้ว่าทุกอย่างที่เราชอบต่างรวมกันอยู่ในงานนี้ ตั้งแต่เรื่องการเมือง การทำกิจกรรม ไปจนถึงสิทธิภาคประชาชน แถมเรายังได้รับสิทธิในการบอกสังคมให้รับรู้ถึงเหตุการณ์ เพราะเหตุนี้เองที่ทำให้เราทำงานนี้มาโดยตลอดนับตั้งแต่นั้น

ฐปณีย์

“หลักการทำงานของนักข่าวภาคสนามมีหลายข้อ แต่สิ่งที่เราคิดว่าสำคัญอย่างแรกคือการ ‘รู้ก่อน’ อย่างสมัยที่เราทำงานเป็นนักข่าวที่ทำเนียบ ในแต่ละวันเราต้องรู้กำหนดการของนายกฯ ว่าเขามีงานอะไร จะไปไหน ก่อนหน้านี้ให้สัมภาษณ์อะไรบ้าง ทุกเช้าเราต้องซื้อหนังสือพิมพ์อ่านเพื่อให้เข้าใจภาพรวมเสมอ หรือแม้กระทั่งถ้าเกิดกรณีนายกฯ หนีนักข่าวก็เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องหาเขาให้เจอ เราต้องรู้ทะเบียนรถทุกคันของเขา รู้แม้กระทั่งว่าบ้านเขาอยู่ที่ไหน เผื่อวันไหนเราไม่ทราบกำหนดการก็ต้องไปเฝ้าหน้าบ้านตั้งแต่เช้า พูดง่ายๆ ว่าเราเป็นเหมือนนักสืบ แต่นี่คือสมัยก่อน

“ถ้าเป็นสมัยนี้ ยกตัวอย่างเช่นข่าวม็อบ เราต้องรู้ในคืนก่อนหน้าแล้วว่าพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้นที่ไหนบ้าง อย่างที่ The Reporters จะแจกแจงตั้งแต่กลางคืนว่าแต่ละคนต้องทำข่าวอะไร พรุ่งนี้ใครต้องไปไหน เพื่อที่จะได้เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับแต่ละม็อบ ตั้งแต่เรื่องอุปกรณ์ไปจนถึงประเด็น ผู้ชุมนุมมีประเด็นไหนเราก็ต้องเตรียมข้อมูลเรื่องนั้น และระหว่างที่กระบวนการทั้งหมดเกิดขึ้นเราก็ต้องเช็กข่าวและความเคลื่อนไหวอื่นๆ นอกจากสิ่งที่เราโฟกัสอยู่ด้วย อย่างช่วงหนึ่งที่แกนนำประชาชนปลดแอกประกาศพักการชุมนุม ถึงเป็นวันพักแต่เราที่เกาะติดเรื่องนี้อยู่ก็ต้องเช็กข่าวอื่น ซึ่งตอนนั้นมีเหตุท่อแก๊สระเบิดที่บางบ่อพอดี เราก็ต้องทิ้งทุกอย่างและเด้งตัวไปทำข่าวเลย

“และนั่นแหละอีกเรื่องสำคัญ คือชีวิตนักข่าวภาคสนามต้องขึ้นอยู่กับเหตุการณ์”

ฐปณีย์

“เมื่อเกิดเรื่องเราต้องไปทันที ดังนั้นสิ่งที่ตามมาคือนักข่าวภาคสนามต้องรู้ว่าจะไปที่เกิดเหตุให้ไวที่สุดยังไง เราต้องรู้จักพื้นที่เพื่อคำนวณเวลา และพอไปถึงเราก็ต้องรู้ว่าตรงนั้นมีอะไรเกิดขึ้น นั่นทำให้หลายครั้งระหว่างที่เดินทางไปเราต้องทำการบ้านและติดตามข่าวแบบวินาทีต่อวินาที ข่าวคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว เรื่องที่เกิดขึ้นนี้มีเบื้องลึกเบื้องหลังยังไง ทุกอย่างต้องถูก ต้องเป๊ะ 

“ยกตัวอย่างทุกวันนี้ถ้าต้องไปทำข่าวน้ำท่วม นักข่าวภาคสนามต้องรู้ถึงขั้นว่าแม่น้ำสายนี้คือแม่น้ำอะไร ไหลมาจากที่ไหน ไหลไปที่ไหน ประเทศไทยมีเขื่อนอะไรบ้าง ต้องทำการบ้านทุกอย่างเพื่อที่ตอนไปถึงเราจะได้รายงานได้ทันที นี่เป็นอีกเรื่องที่สำคัญมาก เพราะนักข่าวมีความสำคัญต่อสังคม ข่าวจึงต้องแม่นยำ รวดเร็ว และน่าเชื่อถือ 

“สำหรับเรา นักข่าวภาคสนามคือคนแรกจริงๆ ที่ได้พบเจอเรื่องราว ดังนั้นเราจึงเป็นเหมือนผู้กำหนด Agenda Setting ให้สังคม เราคือผู้ตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นคนแรก ดังนั้นนักข่าวภาคสนามต้องรู้ลึกและพร้อมเททุกอย่างเพื่อเอาตัวเองไปยังที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด คุณต้องทำเพราะคุณคือนักข่าว คุณต้องรีบไปเอาข้อเท็จจริงมาให้คนดู และคุณต้องปรับตัวเข้ากับหน้างานให้ได้

“อย่างทุกวันนี้ที่มีการชุมนุมบ่อย นักข่าวภาคสนามก็ต้องปรับตัวเข้ากับการใช้ชีวิตบนท้องถนน เราต้องอดทน เพราะถ้าม็อบอยู่กลางแดดเราก็ต้องตากแดด ถ้าม็อบอยู่กลางฝนเราก็ต้องตากฝน หรือแม้กระทั่งถ้าม็อบถูกฉีดน้ำสลายการชุมนุมเราก็ต้องถูกฉีดน้ำ ม็อบจะเจออะไรเราก็ต้องเจอ เพราะเราคือผู้ที่ต้องอยู่ใจกลางเหตุการณ์ หน้าที่เราคือการรายงานข้อเท็จจริงของสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าให้คนติดตาม ดังนั้นด้วยหน้าที่ที่เป็นแบบนี้ อีกหนึ่งสิ่งสำคัญของนักข่าวภาคสนามที่ตามมาคือหลักการ gatekeeper ที่ต้องกลั่นกรองข่าวสาร 

“ถ้าเป็นสมัยก่อนที่ข่าวออกทีวี การกลั่นกรองข้อมูลคือขั้นตอนของการตัดต่อและเอาข่าวมาเรียบเรียงใหม่เพื่อสรุปใจความที่เกิดขึ้นอย่างไม่บิดเบือน แต่กับตอนนี้ที่หลายครั้งเราใช้วิธีการไลฟ์ เราต้องคิดหน้างานมากขึ้น เช่นช่วงนี้ที่สถานการณ์การชุมนุมมีประเด็นละเอียดอ่อนอย่างสถาบันพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่ได้ยินว่าการชุมนุมจะมีเรื่องนี้ เราคิดตั้งแต่แรกเลยว่าเราสามารถรายงานได้มากแค่ไหน เรื่องนี้หมิ่นเหม่ต่อการผิดกฎหมายหรือไม่ ทำให้ทุกครั้งเวลาอยู่ในม็อบ เวลาขยับกล้องเราต้องพยายามกวาดสายตาไปก่อนเพื่อเช็กภาพว่าเหมาะสมหรือเปล่า จะมีใครเดือดร้อนจากสิ่งที่เรานำเสนอไหม นี่คือสิ่งที่จำเป็นต้องทำ ซึ่งในมุมกลับกันเราก็เข้าใจที่อาจมีคนแย้งว่า ‘ทำไมไม่ถ่ายล่ะ ในเมื่อนั่นคือเหตุการณ์จริง’

ฐปณีย์

“ในมุมเรา นี่คือหนึ่งในสิ่งที่เราต้องรับผิดชอบในฐานะนักข่าวภาคสนาม เราต้องคอยกรองสิ่งที่เกิดขึ้นและช่วยระวังในข้อกฎหมายไปพร้อมๆ กับเคารพในสิทธิเสรีภาพสื่อและประชาชน ดังนั้นสุดท้ายแล้วทุกวันนี้เราไม่ได้เกร็งหรือกลัวอะไรนะ เรารู้หน้าที่เราดีว่าต้องรายงานข่าวตามปกติ แต่การที่คิดแบบนี้ทำให้เราระมัดระวังและรับผิดชอบ เราคิดและศึกษากฎหมายเยอะมากว่ากับเรื่องเรื่องหนึ่งเรารายงานได้ขนาดไหน แต่ไม่เคยคิดถึงการหนีหายไปไม่รายงาน เพราะเราเชื่อว่านี่คือหน้าที่ ยิ่งถ้าเรื่องไหนเป็นปรากฏการณ์ในสังคมเรายิ่งต้องอยู่ตรงนั้น

“กับสถานการณ์ทางการเมืองช่วงนี้ เราคิดว่านี่เป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับอาชีพนักข่าว นี่เป็นช่วงเวลาที่ท้าทายมากสำหรับวงการสื่อสารมวลชนไทย โดยเฉพาะสื่อกระแสหลักที่ต้องเรียกความเชื่อมั่นของคนในสังคมกลับมา จากที่เคยมีความคิดว่า ‘ใครๆ ก็เป็นนักข่าวได้ ใครๆ ก็ไลฟ์ได้’ เราเชื่อว่าสถานการณ์ที่ไม่มั่นคงแบบนี้แหละที่สังคมต้องการความถูกต้องของคนที่ถูกเรียกว่า ‘สื่อมวลชน’ 

“ดังนั้นกับนักข่าวภาคสนาม นี่ถือเป็นหน้าที่ที่ต้องพิสูจน์ว่าประชาชนสามารถเชื่อถือพวกเราได้ ถ้าไม่อยากให้อาชีพนี้ตายไป เราต้องลุกขึ้นมาทำหน้าที่นี้อย่างจริงจัง

“สำหรับเราเอง เราทำงานนี้มา 20 ปีแล้ว งานนี้กลายเป็นชีวิตที่เราคิดว่าคุ้มเกินคุ้ม คือด้วยความเป็นฐปณีย์มันไม่ง่ายหรอก เราเจอผลกระทบหลายครั้งทั้งดอกไม้และก้อนอิฐ เราท้อนับครั้งไม่ถ้วน แต่จวบจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีสักข่าวที่เราเสียใจที่ได้ลงไปทำ เราภูมิใจกับทุกงานเพราะอาชีพนี้ให้อะไรเรามากมาย เราได้ทำสิ่งที่หลายคนไม่มีโอกาสได้ทำ ได้เห็นสิ่งที่หลายคนไม่มีโอกาสได้เห็น และได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ จากการสัมภาษณ์แหล่งข่าวอยู่เสมอ

“ดังนั้นถ้ายังไหว เรายังคงลงสนามทำงานนี้ต่อไปเรื่อยๆ เพราะนี่คือความภูมิใจที่ยิ่งใหญ่ของเราแล้ว”


ข่าวของเครื่องใช้ของ ฐปณีย์

เป็นภาพชินตาที่ในสถานการณ์สำคัญเราจะเห็นนักข่าวภาคสนามอยู่ในเหตุการณ์เสมอ

ภาพจำที่หลายคนพอนึกออกคือนักข่าวในเสื้อกั๊กที่พยายามอยู่ในจุดที่ได้ข่าวที่ดีที่สุด แต่กับปี 2020 นี้ ภาพลักษณ์ภายนอกของนักข่าวภาคสนามนั้นเปลี่ยนไปมากตามเทคโนโลยี รวมถึงแพลตฟอร์มในการนำเสนอที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

โอกาสนี้เราจึงชวน ฐปณีย์ มาทบทวนว่าทุกวันนี้เวลาออกไปทำข่าวภาคสนามอย่างเช่นการไปทำข่าวในม็อบ เครื่องแบบที่เธอคิดว่าเหมาะสมกับการรายงานข่าวในยุคปัจจุบันควรเป็นเช่นไร และสิ่งไหนคืออุปกรณ์ที่สำคัญ จำเป็น

โทรศัพท์หรือกล้องถ่ายรูป, ขาตั้ง, ไมโครโฟน 2 ตัว

นี่คืออุปกรณ์สำหรับถ่ายทอดสดที่ขาดไม่ได้ ฐปณีย์เน้นย้ำว่านอกจากคุณภาพที่ต้องพอรับได้แล้ว การมีอุปกรณ์แต่ละอย่างสำรองไว้
คือสิ่งจำเป็นเช่นกัน อย่างในกรณีของไมโครโฟนยิ่งจำเป็นต้องมีสำรองเพราะเสี่ยงที่จะโดนน้ำและเสียหายมากที่สุด

รองเท้า

ฐปณีย์แนะนำว่าหนึ่งในหลายสิ่งที่นักข่าวภาคสนามควรลงทุนคือรองเท้า ในเมื่อการทำข่าวต้องอาศัยการเดินหรือวิ่งในบางกรณี การลงทุนซื้อรองเท้าที่ซัพพอร์ตเป็นอย่างดีจะช่วยให้ทำงานราบรื่นขึ้น

หมวกกันน็อก, แว่นตา, หน้ากากกันแก๊สน้ำตา

อุปกรณ์ป้องกันการสลายการชุมนุมที่อาจมีเหตุการณ์รุนแรงและใช้แก๊สน้ำตา แม้โอกาสเกิดขึ้นน้อย แต่ฐปณีย์บอกว่ามีไว้ก่อนดีกว่า เพราะเคยตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องใช้แต่ไม่มีจนต้องแสบตามาแล้ว

เสื้อ, กางเกง

แน่นอนว่าเครื่องแต่งกายจะต้องเป็นแบบที่ใส่สบาย เคลื่อนไหวได้คล่องตัว แต่ฐปณีย์บอกว่าถ้าเสื้อมีโลโก้ของสำนักข่าวด้วยจะดีมาก เพราะสิ่งนี้เป็นตัวบอกแก่คนภายนอกได้อย่างดีว่าเรามาในฐานะสื่อมวลชน

ร่ม, เสื้อกันฝน

นอกจากกันฝนตกฟ้าร้องแล้ว ร่มกับเสื้อกันฝนยังมีไว้เพื่อป้องกันการสลายการชุมนุมที่ใช้แรงดันน้ำ ฐปณีย์ยังแนะนำเสริมว่าควรเป็น
ร่มคันเล็กๆ ที่ใส่ในกระเป๋าเป้ได้

เป้

เป้คือไอเทมที่ขาดไม่ได้ เพราะมีไว้บรรจุของสำคัญต่างๆ ติดตัว ส่วนขนาดขึ้นอยู่กับสิ่งของที่แต่ละคนพกลงสนามข่าว แต่ก็ไม่ควรบรรจุสิ่งของหนักจนเกินไป เพราะแทนที่จะอำนวยความสะดวกอาจกลายเป็นภาระ

ปลอกแขนนักข่าว

ปลอกแขนที่ต้องทำเรื่องรับจากศูนย์ประสานงานสื่อมวลชนในสถานการณ์การชุมนุม (ศปสช.) ด้วยสีสะท้อนแสงทำให้หลายคนสังเกตได้ง่ายว่าคนใส่คือสื่อมวลชน ปลอกแขนนี้จะคอยอำนวยความสะดวกเมื่อต้องเข้าพื้นที่ที่จัดไว้ให้นักข่าวโดยเฉพาะ รวมถึงในกรณีเกิดเหตุร้ายแรงอย่างการสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่จะสามารถแยกแยะได้ว่าใครคือสื่อมวลชนหรือผู้ชุมนุม

พาวเวอร์แบงก์ 5 อัน

เมื่อระหว่างรายงานข่าวไม่สามารถหยุดพักไปชาร์จแบตเตอรี่อุปกรณ์ต่างๆ ได้ พาวเวอร์แบงก์จึงเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ทำให้เกาะติดรายงานข่าวได้โดยไม่สะดุด ฐปณีย์แนะนำว่าการมีสำรองไว้ 5 อันจะทำให้อุ่นใจที่สุด โดยพาวเวอร์แบงก์ทุกอันต้องชาร์จให้เต็มก่อนลงพื้นที่

เสื้อคลุมนอก

สาเหตุหลักๆ ที่ควรใส่เสื้อคลุมนอกคือการใช้ประโยชน์ในฐานะการเก็บของ ยิ่งมีช่องในเสื้อคลุมมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี เผื่อเอาไว้เก็บของที่หยิบใช้บ่อยๆ ได้อย่างทันท่วงที

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!

ILLUSTRATOR

ฟาน.ปีติ

ปีติชา คงฤทธิ์ นักออกแบบภาพประกอบประจำนิตยสาร a day งานอดิเรกคือการทำอาหารคลีน, วิ่ง และต่อกันพลา