โต้ วิรุนันท์ ช่างภาพผู้ก่อตั้งนิตยสารภาพถ่าย เพื่อคราฟต์วงการช่างภาพไทยให้แข็งแรง

โต้ วิรุนันท์ ชิตเดชะ “พอทำงานมาถึงจุดหนึ่ง เราชอบภาพถ่ายมากกว่าการเป็นช่างภาพด้วยซ้ำ”

โต้–วิรุนันท์ ชิตเดชะ คือช่างภาพผู้เป็นที่รู้จักในหลายบทบาท บางคนอาจรู้จักเขาในฐานะ ‘โต้ เลอโฟฯ’ เจ้าของสตูดิโอและโปรดักชั่นเฮาส์ Le Photographe ที่มีดีกรีรางวัลจาก Cannes Lions สองปีซ้อนด้วยงาน Loving The Night (2016) และ Loving Bangkok Night (2017) ของ McDonald’s

บางคนอาจรู้จักเขาในฐานะ ‘อาจารย์โต้’ แห่งสาขาวิชาการถ่ายภาพ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง ‘โรงเรียนสังเคราะห์แสง’ โรงเรียนสอนถ่ายภาพที่ขยันผลิตโปรเจกต์ภาพถ่ายสนุกๆ อย่าง Portrait of Charoenkrung ในเทศกาล Bangkok Design Week 2020 รวมถึงอีกหนึ่งโปรเจกต์ที่ต่อยอดไปไกลถึงภาคใต้อย่าง Portrait of Songkhla

ส่วนบทบาทใหม่ล่าสุดของเขาคือ ‘โต้ D1839’ ผู้ริเริ่มนิตยสารรายไตรมาส D1839 และสื่อออนไลน์สำหรับแวดวงช่างภาพในประเทศไทยที่กำลังจะปล่อยฉบับแรกในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าโต้ วิรุนันท์ ชิตเดชะ

หน้าที่การงานในบทบาทต่างๆ ของโต้ทำให้เราเข้าใจประโยคด้านบนของเขาได้อย่างไม่ยากนัก จากคนที่ครั้งหนึ่งเคยรักในการถ่ายภาพมากกว่าสิ่งใดทั้งหมด มาวันนี้เขาเติบโตจนกลายเป็นคนที่หลงใหลในทุกแง่มุมของภาพถ่าย ไม่เพียงแต่การได้ถ่ายภาพของตัวเอง แต่ยังรวมถึงการถ่ายทอดความรู้ ส่งต่อเรื่องราวเกี่ยวกับภาพถ่ายไปสู่ผู้คนทั้งในและนอกวงการช่างภาพ และสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้ภาพถ่ายอีกด้วย

ต่อไปนี้คือเรื่องราวการเปลี่ยนผ่านของโต้ที่ค่อยๆ สั่งสมประสบการณ์กับภาพถ่าย กระทั่งแตกยอดกลายเป็นบทบาทการงานมากมายของเขาอย่างในปัจจุบัน

โต้ วิรุนันท์ ชิตเดชะ

ตั้งแต่เมื่อไหร่ที่คุณรู้ตัวว่าอยากเอาจริงเอาจังกับการถ่ายภาพ

เราตอบไม่ได้ว่าช่วงเวลาไหนที่เป็นจุดเปลี่ยนอย่างชัดเจนว่าเราจะมาทางภาพนิ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เรารู้สึกว่ามันค่อยๆ พัฒนามาทีละนิดมากกว่า

ย้อนไปสมัยเรียนเราอยู่ในกลุ่มเพื่อนที่ทำหนัง อย่างไก่ (ณฐพล บุญประกอบ) หรือเยเมน (ศิววุฒิ เสวตานนท์) ทุกวันนี้ก็อยู่ในแวดวงหนังกันหมด ซึ่งเราก็ชอบหนังนะ แต่ถึงจุดหนึ่งเรารู้สึกว่าตัวเองโตขึ้นและเป็น introvert มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อต้องไปอยู่ในกองถ่ายขนาดใหญ่ แม้ว่าเราจะยังเอนจอยกับตัวงานแต่เราไม่ได้เอนจอยกับสภาพแวดล้อมที่ต้องสื่อสารกับมนุษย์เยอะแยะเต็มไปหมด เราจึงรู้สึกว่างานโฟโต้เป็นงานที่ทำให้เราได้อยู่กับตัวเองมากกว่า อันนี้หมายถึงช่วงแรกๆ นะ เพราะเอาเข้าจริงทุกวันนี้เวลาออกกองเราก็มีทีมงานเยอะแยะมากมายเต็มไปหมดเหมือนกัน (หัวเราะ)

อีกอย่างคือเราหลงเสน่ห์การถ่ายรูป เพราะการถ่ายรูปเป็นนวัตกรรมเดียวในโลกใบนี้ที่เราจะสามารถหยุดเวลาได้ มันเป็นเมจิกมากๆ เพราะแม้กระทั่งตาเราก็ยังเห็นทุกอย่างเป็นภาพเคลื่อนไหวตลอดเวลาเลย เราเลยอยากจริงจังกับมัน

เมื่อตัดสินใจได้แล้วคุณเดินหน้าต่อยังไง

ตอนปี 3 เราได้ไปฝึกงานสำนักข่าว European Pressphoto Agency (EPA) ในตำแหน่ง Photo Reportage การฝึกงานที่นั่นทำให้เราชอบถ่ายรูปมากขึ้น เรารู้สึกว่าเราต้องออกไปเก็บภาพมาให้ได้เพื่อจะเล่าว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ซึ่งมันช่วยตอกย้ำว่าเราจะเอาดีในสายงานนี้แหละ

เป็นสาเหตุที่คุณตัดสินใจไปเรียนต่อ

หลังจบมาเราทำงานเป็นฟรีแลนซ์ได้สักปีหนึ่ง แล้วจึงตัดสินใจไปเรียนต่อด้านการถ่ายภาพโดยตรงที่ฝรั่งเศส เพราะคิดว่าถ้าเราชัดเจนในสิ่งที่ชอบแล้ว การเรียนต่อน่าจะช่วยให้เราได้เห็นงานในประเทศที่เขาให้คุณค่าและความสำคัญกับโฟโต้มากๆ ได้

การไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่คนให้ความสำคัญกับภาพถ่ายเปลี่ยนมุมมองของคุณต่อการถ่ายภาพไหม

มันทำให้เราเห็นว่าจริงๆ แล้ววัตถุประสงค์ของภาพถ่ายมันเหมือนกันแทบทุกประเภท แต่เป็นคนเราต่างหากที่พยายามไขว่คว้าหาคำนิยาม หรือพยายามจำกัดความมันมากเกินไป

สมมติเราพูดถึงงาน commercial ภาพจำของงานแนวนี้คือจะต้องดูชัดๆ เคลียร์ๆ เป็นรูปธรรม เหมือนที่เราเห็นตามบิลบอร์ดใช่ไหม แต่พอไปเรียนมันทำให้เราได้เห็นว่ายังมีอีกหลายคนที่ใช้เทคนิคแบบนั้นมาทำงาน fine art อย่าง Gregory Crewdson หรือ David LaChapelle คืองานเขาจะมีวิชวลที่ชัดเจนมาก แต่เขาเล่นกับการใส่สัญญะเข้าไปในภาพ 

สุดท้ายแล้วเราจึงรู้สึกว่าทุกอย่างมันคือศาสตร์เดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นงานประเภทไหน มันต่างกันแค่นิดเดียวคือจุดประสงค์ของงาน เราทำงานนี้ไปเพื่อสนองใคร อย่างงาน commercial เราทำเพื่อสนองลูกค้า ส่วนงาน fine art เราอาจจะสนองไอเดียหรือความรู้สึกของตัวเองที่อยากสร้างสรรค์งานขึ้นมา

แต่งานประจำงานแรกหลังเรียนจบของคุณกลับเป็นบรรณาธิการนิตยสาร

ใช่ หลังเรียนจบเราย้ายไปทำงานที่อังกฤษ เป็นบรรณาธิการนิตยสารไทยเล่มหนึ่งชื่อ Thaismile ของคอมมิวนิตี้คนไทยในอังกฤษ มันก็เป็นสิ่งที่เราชอบนะเพราะเราชอบอ่านหนังสือ ชอบเขียนอยู่แล้ว ในขณะเดียวกันเราก็รับจ็อบสอนถ่ายภาพ เป็นวิทยากรให้กับมหาวิทยาลัยที่เราเรียนจบมา ซึ่งตอนนั้นเขาเพิ่งไปเปิดแคมปัสใหม่ที่อังกฤษพอดี 

ในระหว่างนั้นแม้ว่าเราจะยังรับงานถ่ายรูปอยู่บ้าง แต่ด้วยความที่เรามีงานประจำ ทำให้เวลาในการถ่ายรูปของเรามีน้อยลงกว่าเดิม ถึงจุดหนึ่งเราจึงตัดสินใจกลับไทย เพราะอยากทุ่มเททั้งชีวิตและจิตวิญญาณของเรากับการถ่ายรูปมากกว่านี้

โต้ วิรุนันท์ ชิตเดชะ

หลังกลับมาทำงานเป็นตากล้องเต็มตัว ต่อยอดมาสู่ Le Photographe ได้ยังไง

ช่วงแรกเรารับถ่ายงาน commercial มาเรื่อยๆ จนสเกลมันเริ่มใหญ่ขึ้น เราต้องการทีมงานเพิ่มเพื่อซัพพอร์ตการทำงาน เลยตัดสินใจทำโปรดักชั่นเฮาส์ขึ้นมา

ตรงนี้ก็มีความสำคัญคือทำให้เราสามารถรับงานได้หลากหลายมากขึ้นด้วย เพราะส่วนตัวเราเป็นช่างภาพที่ชอบถ่ายคนมากที่สุด แต่บางครั้งมีงานถ่ายประเภทอื่นเข้ามาซึ่งเราเชื่อว่ามีคนที่ถนัดในการถ่ายประเภทนั้นๆ มากกว่าเรา การมีโปรดักชั่นเฮาส์จึงทำให้เราสามารถไปชวนช่างภาพคนอื่นเข้ามาทำงานด้วยกันได้

แล้วจากคนที่ทุ่มเททุกอย่างให้การถ่ายภาพ คุณพลิกบทบาทมาสู่งานสอนและงานคอนเทนต์ได้ยังไง

เรามองว่ามันเป็นโอกาส ประกอบกับที่เราเป็นคนคิดแล้วทำเลย มันอาจจะฟังดูสายลมแสงแดดมากนะ แต่เราเป็นคนที่รู้สึกว่าการได้ทำในสิ่งที่ชอบ สิ่งที่ทำแล้วรู้สึกดีกับตัวเอง นั่นคือกำไรของมันในแบบที่ไม่ใช่ตัวเงิน ดังนั้นอะไรที่เราคิดว่าทำแล้วได้กำไร เราก็จะกระโจนเข้าไปหาเลย 

แน่นอนว่ามันก็มีข้อดีและข้อเสียแหละ บางครั้งเรากระโจนไปโดยที่ไม่ได้เตรียมตัวให้ดีมันก็ลื่นหัวฟาดพื้นบ้างก็มี แต่ก็ดีกว่าการที่เราไม่ได้ทำ

ส่วน D1839 นี่จริงๆ เป็นสิ่งที่เราคิดว่าอยากให้มีมาโดยตลอดตั้งแต่สมัยที่ไปเรียนต่อ คือไม่จำเป็นต้องเป็นเราก็ได้ที่ทำสิ่งนี้ เพราะก่อนหน้านี้เราเองก็ยังไม่พร้อมด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง ทั้งเงินทุนไม่ถึง บารมีไม่ถึง เราต้องการเวลาเพื่อพิสูจน์ตัวเองในฐานะช่างภาพด้วย มันมีอะไรอีกมากมายก่ายกองที่จะต้องโฟกัส แต่พอผ่านมาหลายปีก็ยังไม่มีใครทำสักที เมื่อวันหนึ่งที่เราพร้อมเราจึงตัดสินใจทำ

สุดท้ายแล้วจุดร่วมของทุกอย่างที่เราทำมันคือความชอบในภาพถ่ายนั่นแหละ พอทำงานมาถึงจุดหนึ่ง เราชอบภาพถ่ายมากกว่าการเป็นช่างภาพด้วยซ้ำ ที่บอกว่าชอบภาพถ่ายคือบางครั้งเราไม่จำเป็นต้องถ่ายเองก็ได้ แต่เรารู้สึกมีความสุขที่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมนี้และเห็นมันเติบโต เห็นลูกศิษย์ที่เราสอนจบออกไปแล้วสร้างสรรค์งานดีๆ ออกมา เพราะในการทำงานวิชวลอาร์ต การได้เผยแพร่งานตัวเองมันสำคัญนะ มันเป็นกำลังใจ เวลาคนอื่นเห็นงานของเรามันก็ช่วยสะท้อนกลับมาในงานของเราด้วย

แต่ในขณะเดียวกันเราก็เอนจอยกับการถ่ายรูปของเราเองด้วยนะ แต่ก็ไม่ได้มากเท่ากับที่เราเอนจอยภาพรวมของมัน

โต้ วิรุนันท์ ชิตเดชะ

คุณริเริ่ม D1839 ขึ้นเพราะเชื่อในความสำคัญของการเผยแพร่งานหรือเปล่า

อย่างที่บอกว่าเรามักจะบอกกับคนอื่นๆ ในแวดวงอยู่เสมอว่า เราอยากให้มี photographic magazine ขึ้นมาในประเทศไทย เพราะเรารู้ว่าคนไทยชอบถ่ายรูปมากและงานคนไทยที่น่าสนใจก็มีเยอะมากๆ แต่มันกลับไม่ถูกเก็บบันทึกอย่างจริงจังและไม่ถูกเผยแพร่ในวงกว้าง อย่างที่อังกฤษจะมีนิตยสาร British Journal of Photography และ Aperture หรือที่ญี่ปุ่นก็มี IMA

ทุกวันนี้ช่างภาพไทยและหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหมือนอยู่ในหลืบ เราไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนักในเวทีโลก ทั้งที่ช่างภาพไทยแต่ละคนมีผลงานระดับสากลเยอะแยะมากมาย อย่างภาพถ่ายสารคดีของพี่ชุม (อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา) ก็เพิ่งได้รางวัล Pulitzer มา ช่างภาพไทยสายโฆษณาเราก็ได้รางวัลจาก Cannes Lions กันแทบทุกปี สายสตรีทโฟโต้ก็เช่นกัน

เวลาที่สอนเด็กมหาวิทยาลัยเราจะเห็นเลยว่าเรเฟอเรนซ์ที่เด็กหามาส่วนใหญ่จะเป็นช่างภาพต่างประเทศหมด ซึ่งเขาไม่ผิดนะ เพราะแม้กระทั่งตัวเราเองถ้าจะให้นึกถึงงานของช่างภาพคนไทยเราก็ยังนึกออกน้อยมากเมื่อเทียบกับช่างภาพตะวันตกที่เรารู้จัก เราว่ามันเป็นเพราะวงการโฟโต้ไทยไม่ค่อยมีการทำ archive มากกว่า

ในฐานะคนที่เติบโตจากการเป็นช่างภาพไปสู่บทบาทมากมาย ทุกวันนี้การถ่ายภาพกลายเป็นเรื่องง่ายของคุณหรือยัง

แน่นอนว่ามันยังยากอยู่ แต่มันก็ไม่ได้ยากขนาดนั้น เรารู้สึกว่าทุกงาน ทุกอาชีพ ทุกองค์ประกอบมันมีความยากและความง่ายในแบบของมันเอง 

ถึงอย่างนั้นเราก็ยังตื่นเต้นทุกครั้งที่ถ่ายงาน ยังอยากท้าทายตัวเองไปเรื่อยๆ เพราะเราไม่ชอบอะไรที่อยู่กับที่ ถ้ามีสิ่งที่เราทำได้แล้วก็แปลว่ามันจบไปแล้ว เราไม่อยากเหยียบย่ำอยู่กับความสำเร็จเดิมๆ ของตัวเอง หลายครั้งที่ถ่ายงานเราจึงตัดสินใจระเบิดไอเดีย ลองทำอะไรที่แหวกสุดๆ ไปเลย ซึ่งก็เวิร์กบ้างไม่เวิร์กบ้าง บางงานลูกค้าเหวอก็มี (หัวเราะ) แต่มันก็ทำให้ได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่เราคิดอาจจะไม่เวิร์กกับโจทย์ที่ได้รับ

โต้ วิรุนันท์ ชิตเดชะ
โต้ วิรุนันท์ ชิตเดชะ

อย่างภาพถ่ายในโปรเจกต์ล่าสุด Craft Your Story ของ All New C125 ที่คุณเลือกใช้เทคนิค photo montage กับ contact sheet ก็ถือเป็นความท้าทายหนึ่งถูกไหม

ใช่ คือถ้าย้อนกลับไปที่โจทย์ของงานนี้คือ ‘Craft Your Story’ มันทำให้เรานึกถึง 2 อย่างคือ งานคอลลาจกับกล้องฟิล์ม อย่างช่างภาพ commercial ในสมัยก่อนเขาจะทำ contact sheet แบบนี้ขึ้นมาเพื่อใช้มาร์กรูป เราเลยคิดจะหยิบตรงนี้มาเป็นเทคนิคการถ่ายแบบ alternative ดู และส่วนตัวเราก็ทำงานฟิล์มควบคู่กับดิจิทัลมาตลอด เราใช้ contact sheet ทำงานอยู่แล้ว

ทีนี้โจทย์ถัดมาคือเราจะเอางานโฟโต้ไปรวมกับงานคอลลาจได้ยังไง คิดไปคิดมาก็ปิ๊งไอเดีย photo montage เลยลองรีเสิร์ชดูและพบว่าจริงๆ เคยมีคนทำงานประมาณนี้มาบ้างแล้ว ออกตัวก่อนเลยว่าเราไม่ใช่ผู้ริเริ่มนะ แต่พอหยิบมาต่อยอด ลองสเกตช์ดู แล้วก็คิดว่าน่าจะเวิร์ก เลยตัดสินใจว่า เอาวะ! ลุยเลย

โต้ วิรุนันท์ ชิตเดชะ

ความท้าทายที่ว่าคือเรื่องเทคนิคล้วนๆ เลยหรือเปล่า

เวลาทำงานเราไม่ได้เอาเทคนิคนำขนาดนั้น เพราะเราคิดว่าคอนเซปต์คือส่วนที่สำคัญ ถ้าเปรียบเป็นการสร้างบ้าน คอนเซปต์ก็คือเสาเข็มที่ทำให้บ้านแข็งแรง 

เรารู้สึกว่าคนทำงานสายวิชวลอาร์ตทุกคนมักจะยึดติดอยู่กับความสวยงาม แต่ความสวยงามมันเป็นอะไรที่โคตรนามธรรมเลย เราไม่สามารถบังคับให้ทุกคนเห็นความสวยงามแบบเดียวกันได้ มันเผด็จการเกินไป แต่สิ่งที่จะทำให้คนเข้าใจและ appreciate งานเราได้โดยไม่ต้องพึ่งเรื่องความสวยงามก็คือคอนเซปต์ 

เมื่อนำคอนเซปต์ที่แข็งแรงมารวมกับเทคนิคดีๆ ก็จะกลายเป็น execution ที่ทำให้คนว้าว สมมติจะถ่ายภาพขาว-ดำขึ้นมาสักงาน ถ้าเรามีคอนเซปต์ที่แข็งแรง คนดูก็จะเข้าใจงานในแบบที่เราต้องการจะสื่อสารได้ แม้ว่าเขาอาจจะไม่ชอบภาพถ่ายขาว-ดำก็ตาม

ทำไมคุณถึงจับกล้องฟิล์มมาอยู่กับมอเตอร์ไซค์ All New C125

มอเตอร์ไซค์รุ่นนี้มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานไม่ต่างกับกล้องฟิล์ม เราจึงอยากใช้ภาพถ่ายฟิล์มขาว-ดำเพื่อเล่าเรื่องราวการเดินทางของมอเตอร์ไซค์รุ่นนี้ คือถ้าไม่มีแบ็กกราวนด์สตอรีต่างๆ มันก็จะเป็นแค่มอเตอร์ไซค์คันหนึ่งใช่ไหม แต่เพราะมันมีเรื่องราวต่างๆ ในอดีตที่ปะติดปะต่อกันจนกลายเป็นภาพใหญ่ เราเลยใช้เทคนิค photo montage และ contact sheet เป็นตัวนำเสนอ

การท้าทายตัวเองด้วยเทคนิคใหม่สร้างความยากในการทำงานไหม

ยากกว่าที่คิด คือเราจะต้องตีตาราง 36 ช่องแล้วสเกตช์มือไปก่อนว่าอยากได้ช็อตอย่างนี้ รูปนี้ต้องอยู่ตรงนี้นะ ในขณะที่ตอนถ่ายจริง ถ้าเราถ่ายตามที่มาร์กไว้เป๊ะๆ มันก็อาจจะเป๊ะเกินไปจนไม่ต่างอะไรกับการใช้ Photoshop ดังนั้นมันต้องมีจังหวะการเหลื่อม การเดินทางปะติดปะต่อ ซึ่งเป็นเสน่ห์ของเทคนิคนี้ที่จะต้องเห็น human error บ้างในบางจุด

วันที่ออกกองเราต้องจ้าง Darkroom Technician มาสแตนด์บายเพื่อ process ทันทีที่ถ่ายเสร็จ มันจึงเป็นเหมือนการจำลองวิธีการทำงานในแบบยุคฟิล์มร้อยเปอร์เซ็นต์เลย คือเราอาจจะโกงนิดหนึ่งตรงที่มีการถ่ายดิจิทัลเทสต์ก่อน แต่ก็ไม่ใช่ถ่ายเพื่อเก็บไว้เป็นไฟล์สำรองนะ คือถ่ายเพื่อเทสต์แค่นั้น ถ้าลูกค้าขอไฟล์ดิจิทัลก็ไม่มีให้เหมือนกัน (หัวเราะ)

เสน่ห์ของ All New C125 คือเรื่องความคราฟต์ในดีไซน์ คุณคิดว่าทำไมเราจึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

ส่วนตัวเรามักจะหลงเสน่ห์กับอะไรที่มันมีประวัติศาสตร์ มีความเป็นมาที่ไม่ฉาบฉวย ค่อยๆ เติบโตตามยุคสมัย ซึ่ง All New C125 เป็นแบบนั้น คือถ้าจะขี่แค่มอเตอร์ไซค์เราจะไปขี่อะไรก็ได้ แต่การขี่ All New C125 เหมือนกับเราได้มีประวัติศาสตร์นั่งซ้อนไปด้วยกันตลอดทาง

เสน่ห์เหล่านี้มันอาจจะเป็นสิ่งนามธรรม แต่เวลาที่เราใช้สิ่งของที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมา แล้วเราก็ตั้งใจศึกษาที่มาของสิ่งเหล่านั้นด้วย ก็น่าจะทำให้เรา appreciate คุณค่าของสิ่งนั้นๆ มากขึ้นว่ามันถูกพัฒนามาได้ยังไง เพื่ออะไร เราจึงไม่ได้ขี่แค่มอเตอร์ไซค์ที่มีสมรรถนะที่ดี แต่เราขี่ประวัติศาสตร์ของมันทั้งหมด


All New C125 คือมอเตอร์ไซค์รุ่นใหม่ในตระกูล C ที่ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอด 60 ปีที่ผ่านมา โดยโมเดลล่าสุดนี้เป็นการออกแบบใหม่อย่างประณีตภายใต้คอนเซปต์ ‘Craft Your Story’ ไม่ว่าจะเป็นเบาะหนังแบบสองตอนหรือโครงสร้างวัสดุเหล็กโครเมียมทั้งคัน ขณะเดียวกันก็เพิ่มเติมฟังก์ชั่นทันสมัยอย่างเครื่องยนต์ 125 ซีซี และกุญแจรีโมตอัจฉริยะที่มาพร้อมฟังก์ชั่นระบุตำแหน่งรถด้วย

#AllNewC125 #C125 #CraftYourStory #สะท้อนความคราฟต์ในตัวคุณ #CUBHouse

รับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ bit.ly/3gMoZ8y

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์

ชื่อโทนี่ แต่พวกเขามักจะรู้จักผมในนาม Whereisone