8 มุมมอง จาก 8 พรรคการเมือง ต่ออนาคตหนังไทยหลังการเลือกตั้ง

หลังการเลือกตั้ง วงการหนังไทยจะเป็นไปในทิศทางไหน?

เมื่อบ่ายวันนี้สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย มูลนิธิศิลปวัฒนธรรมเพื่อประชาชน และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ ร่วมกันจัดงานเสวนาขึ้นในหัวข้อ ‘อนาคตหนังไทยหลังการเลือกตั้ง!’ (Thai Movie After Election!)

ภายในงาน สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยได้เชิญตัวแทนจาก 7 พรรคการเมืองมาแสดงนานาทัศนะเกี่ยวกับวงการหนัง พวกเราชาว a team ได้มีโอกาสเข้าไปฟังในงานเสวนาครั้งนี้ และเห็นว่าแต่ละพรรคล้วนมีประเด็นที่น่าหยิบยกมาพูดถึง เราจึงสรุปไอเดียจากแต่ละพรรคมาให้ผู้อ่านทุกคน เพราะเราเชื่อว่า นี่อาจเป็นความเป็นไปได้ที่ดีขึ้นของวงการหนังไทยในอนาคต

พวกเขาว่าอย่างไรกันบ้าง

ไฟในโรงดับแล้ว ไปฟังพวกเขาพร้อมกันดีกว่า

“สิ่งที่รัฐควรทำอย่างยิ่งจึงเป็นการสนับสนุนวงการบันเทิงไทยให้ไปสู่ตลาดโลก โดยเฉพาะผู้ที่ผูกขาดการฉายหนังในไทย ควรสนับสนุนหนังไทยให้มากกว่านี้”

พรรคเศรษฐกิจใหม่ : มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์

  • พรรคเปรียบเทียบว่าสมัยก่อนวงการหนังไทยบูมมาก แต่หนังไทยตอนนี้ผลิตต่อปีเหลือไม่กี่เรื่อง ดังนั้นคนทำหนังไทยตอนนี้ควรค่าแก่การชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง
  • พรรคมองว่าจริงๆ วงการหนังไทยสามารถแข่งได้กับทั่วโลก บุคลากรเราเก่งเพียบพร้อม นักศึกษาฟิล์มช่วงนี้เป็นความหวังของวงการหนังไทยได้ สิ่งที่รัฐควรทำอย่างยิ่งจึงเป็นการสนับสนุนวงการบันเทิงไทยให้ไปสู่ตลาดโลก โดยเฉพาะผู้ที่ผูกขาดการฉายหนังในไทย ควรสนับสนุนหนังไทยให้มากกว่านี้

“การเลือกตั้งควรเป็นการเริ่มต้นใหม่ของอนาคตอุตสาหกรรมหนังประเทศไทย…วงการภาพยนตร์จึงเป็นเป้าหมายใหม่ในระบบ  ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’”

พรรคประชาธิปัตย์ : อลงกรณ์ พลบุตร

  • พรรคมองว่าการเลือกตั้งควรเป็นการเริ่มต้นใหม่ของอนาคตอุตสาหกรรมหนังประเทศไทย ดังนั้นพรรคเลยมีนโยบายเศรษฐกิจใหม่ที่เอื้อต่ออุตสาหกรรมนี้ วงการภาพยนตร์จึงเป็นเป้าหมายใหม่ในระบบ ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’
  • พรรคมองว่าภาพยนตร์เป็นวัฒนธรรม ปัญญา สินค้า และเครื่องมือพัฒนาประเทศ ดังนั้นภาพรวมที่พรรคอยากให้เป็น มีดังนี้
    • เพิ่มเม็ดเงินในวงการจาก 30,000 ล้าน เป็น 50,000 ล้าน
    • เพิ่มการส่งออกภาพยนตร์ไทยสู่ตลาดโลก
    • สนับสนุนคนทำหนังทั้งในแง่ของลิขสิทธ์ เงินทุน อุปกรณ์ และกฎหมาย
    • สร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางวงการหนัง
    • เพิ่มส่วนแบ่งตลาดหนังไทยกับหนังต่างประเทศให้เป็นครึ่งต่อครึ่ง
  • วิธีการ
    • ปรับโครงสร้างภาษีใหม่ให้เอื้อต่อการทำหนังมากขึ้น
    • สร้างบุคลากรใหม่ประดับวงการ
    • เพิ่มเงินสนับสนุนในอุตสาหกรรม
    • สร้างกฎหมายที่ทันสมัย ไม่ล้าหลัง
    • สร้างระบบให้ทุกคนทำหนังได้ ไม่ต้องอาศัยเงินทุนจากเจ้าใหญ่ไม่กี่เจ้า
    • ปฏิรูปภาครัฐให้วงการหนังขึ้นตรงกับหน่วยงานเดียว ไม่มากคนมากความ
    • ทำมาตรการทางเทคโนโลยีให้ทันโลกเพื่อความสะดวกในแง่การทำหนัง

“ปัจจุบันหนังไทยถูกโรงภาพยนตร์ผูกขาด ดังนั้นรัฐบาลควรสร้างโรงหนังชุมชนที่มีราคาถูกกว่าโรงหนังทั่วไปในปัจจุบัน ไม่ควรเกิดการผูกขาดทางธุรกิจ”

พรรคอนาคตใหม่ : ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์

  • พรรคมีนโยบายที่ชัดเจนในการพัฒนาวงการภาพยนตร์ไทยเพราะพรรคเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นในวงการจริงๆ นั่นคือการแก้ปัญหาที่รากของมัน
  • รากที่แข็งแรงอย่างแรกคือคนดู พรรคจะพยายามปลูกฝังวัฒนธรรมการดูหนังที่แข็งแรงและหลากหลาย ปัจจุบันเราดูหนังกันอยู่ไม่กี่แบบ ดังนั้นวงการภาพยนตร์ไทยในปัจจุบันเลยถูกผลิตซ้ำ พรรคไม่ได้โทษคนดู แต่พรรคมองว่าปัญหาอยู่ที่ระบบการศึกษาที่ไม่เปิดกว้างให้ความหลากหลายมากกว่านี้ เราไม่เคยมีการศึกษาอย่างการเปิดหนังสั้นให้เด็กดูและมาแสดงความคิดเห็นกัน ดังนั้นถ้าระบบการศึกษามีการสอนสุนทรียะทางภาพยนตร์ พรรคมองว่าวัฒนธรรมการดูหนังของคนไทยจะแข็งแรงขึ้นเช่นกัน
  • รากที่สองคือคนทำ ก่อนหน้านี้รัฐสนับสนุนวงการภาพยนตร์มาตลอดก็จริง แต่เป็นการสนับสนุนแบบไม่เข้าใจ คือให้เงินและวานแปะโลโก้ ดังนั้นพรรคมองว่ารัฐควรสนับสนุนแบบครบวงจร คือตั้งแต่บท การถ่ายทำ การนำฉายเข้าโรงและการให้ความรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์เพื่อให้เข้าถึงคนดูมากที่สุด รวมถึงการสนับสนุนสวัสดิการของคนทำหนังด้วย
  • รากที่สามคือพื้นที่และเวลา ปัจจุบันหนังไทยถูกโรงภาพยนตร์ผูกขาด ดังนั้นรัฐบาลควรสร้างโรงหนังชุมชนที่มีราคาถูกกว่าโรงหนังทั่วไปในปัจจุบัน ไม่ควรเกิดการผูกขาดทางธุรกิจ พรรคแนะนำว่ามหาวิทยาลัยคือพื้นที่ที่ดีเพื่อสร้างพลังให้กับเด็กฟิล์มทุกคน และเป็นการเพิ่มพื้นที่ที่สามารถเอื้อต่อหนังไทยได้จริงๆ

“วงการภาพยนตร์ควรได้สิทธิได้เสียงเป็นของตัวเอง รัฐควรมอบอำนาจให้คนในวงการอย่างเต็มที่ แต่ละคนในวงการภาพยนตร์จะร่วมมือกันเดินหน้าพาอุตสาหกรรมหนังไทยให้ก้าวไกลด้วยมือตัวเอง”

พรรครวมพลังประชาชาติไทย : เถกิง สมทรัพย์

  • มองว่าวงการภาพยนตร์มีปัญหาที่เป็นงูกินหาง นั่นคือไม่มีสิทธิไม่มีเสียงในภาพกว้าง ดังนั้นพรรคเสนอให้ตั้งองค์การมหาชนให้กับวงการภาพยนตร์
  • กล่าวคือวงการภาพยนตร์ควรได้สิทธิได้เสียงเป็นของตัวเอง รัฐควรมอบอำนาจให้คนในวงการอย่างเต็มที่ แต่ละคนในวงการภาพยนตร์จะร่วมมือกันเดินหน้าพาอุตสาหกรรมหนังไทยให้ก้าวไกลด้วยมือตัวเอง
  • พรรคชี้ให้เห็นด้วยว่าปีนี้วงการหนังกำลังเติบโต โรงภาพยนตร์หลายโรงกำลังเปิดตัวขึ้นใหม่ รายได้หนังไทยก็เยอะขึ้นเพราะตลาดโตขึ้น ยิ่งการมาถึงของแพลตฟอร์มใหม่ๆ ก็หมายถึงโอกาสที่เกิดขึ้นมากมาย วงการหนังไทยควรมีความพร้อมที่จะต้อนรับสิ่งเหล่านี้ให้เข้ามาในประเทศ ทั้งบุคลากร คุณภาพงาน ความโปร่งใส และสถานที่ ถ้าเราทำได้ หนังไทยเราจะพัฒนาก้าวกระโดดสูงมาก

“การสนับสนุนของรัฐสามารถทำได้หลากหลาย ตั้งแต่งบที่ควรมากขึ้น การให้พื้นที่คนทำหนังจริงๆ มาวางนโยบาย และสนับสนุนให้คลื่นรุ่นใหม่ทุกคนได้มีเวทีในการเสนองาน…”

พรรคชาติไทยพัฒนา : รัฐชทรัพย์ นิชิด้า

  • ถ้ามองภาพรวม พรรคชี้ให้เห็นว่าเม็ดเงินที่เข้ามาจากการคนดูหนังไทยนั้นน้อยลงทุกที ดังนั้นพรรคมองว่าอนาคตหนังไทยหลังการเลือกตั้งอยู่ในมือนักศึกษาฟิล์มทุกคน ทุกคนในวงการควรถีบตัวขึ้นมาในแง่ประสิทธิภาพ พรรคเลยเน้นการสร้าง ‘สิ่งใหม่’ โดยยึดจากบุคลากรกลุ่มนี้เป็นหลัก
  • ดังนั้นการสนับสนุนของรัฐจึงสามารถทำได้หลากหลาย ตั้งแต่งบที่ควรมากขึ้น การให้พื้นที่คนทำหนังจริงๆ มาวางนโยบายและสนับสนุนให้คลื่นรุ่นใหม่ทุกคนได้มีเวทีในการเสนองานมากขึ้น เป็นต้น

“ทำระบบจัดเรตติ้งใหม่และระบบเซนเซอร์ใหม่ ทั้งสองระบบนี้ควรได้รับการยกเครื่องใหม่ที่เป็นเหตุเป็นผลมากกว่านี้”

พรรคสามัญชน : อนุสรณ์ สร้อยสงิม

  • พรรครู้ดีว่าคงไม่ได้รับเสียงข้างมาก แต่พรรคก็มีสิ่งที่อยากเห็นเกี่ยวกับวงการหนังเช่นกัน มี 10 ข้อ ดังนี้
    • สถานที่ราชการต้องอนุญาตให้กองถ่ายถ่ายทำฟรี ไม่มีใต้โต๊ะ
    • รัฐบาลควรสนับสนุนคนรุ่นใหม่ในการทำหนังมากกว่า แม้จะเป็นนักศึกษาหรือหนังแนวไหนก็ตาม
    • มีสวัสดิการคุ้มครองฟรีแลนซ์วงการภาพยนตร์มากกว่านี้ ปกป้องสิทธิของนักทำหนังบ้าง
    • เริ่มระบบ Box Office อย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่เอารายได้จากกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ เพื่อสร้างการแข่งขันอันจะนำมาซึ่งคุณภาพหนังที่ดีขึ้น
    • ทำระบบจัดเรตติ้งและระบบเซนเซอร์ใหม่ ทั้งสองระบบนี้ควรได้รับการยกเครื่องใหม่ที่เป็นเหตุเป็นผลมากกว่านี้
    • ส่งเสริมการส่งออกทางภาพยนตร์ที่จะเป็นการส่งออกทางวัฒนธรรมเช่นกัน
    • รัฐควรสนับสนุนให้บ้านเรามีเทศกาลหนังเป็นของตัวเอง
    • เก็บภาษีคนที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศน้อยลง
    • ควรมีแพลตฟอร์มอย่าง Netflix
    • เด็กฟิล์มจากแต่ละมหาวิทยาลัยควรมีการแลกเปลี่ยนกันมากกว่านี้

“ควรล้มระบบที่ผูกขาดแบบในปัจจุบัน เพราะนโยบายต่างๆ ที่ออกมาล้วนปิดกั้นอิสรภาพคนทำหนัง”

พรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทย : ธนพร ศรียากูล

  • พรรคมองว่าหนังไทยจะขยับไปข้างหน้าได้ต้องอาศัยโครงสร้างที่ดี ซึ่งไม่ใช่แบบในรัฐบาลปัจจุบันแน่นอน ดังนั้นกลไกที่เราควรแก้มีดังนี้
    • ควรล้มระบบที่ผูกขาดแบบในปัจจุบัน เพราะนโยบายต่างๆ ที่ออกมาล้วนปิดกั้นอิสรภาพคนทำหนัง ดังนั้นควรมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจริงๆ ไม่ใช่เผด็จการ
    • พรรคเพิ่งไปยื่นหนังสือแก่รัฐเพื่อตรวจสอบการผูกขาดในธุรกิจภาพยนตร์ที่แสดงออกถึงความไม่โปร่งใส แต่พรรคก็สื่อว่าจริงๆ แล้วหน้าที่นี้เราทุกคนสามารถทำได้เช่นกัน
    • คนในแวดวงหนังควรรวมตัวกันให้เข้มแข็งเช่นกัน รวมเป็นสมาคมอาจจะไม่เพียงพอแล้ว อาจต้องเป็นสิ่งที่เข้มแข็งกว่านั้น
    • ปรับระบบภาษีของฟรีแลนซ์ในวงการให้ไม่บั่นทอนคนทำงาน ควรเป็นไปด้วยความเหมาะสมมากกว่านี้
    • สร้าง demand และ supply ในวงการภาพยนตร์ให้สมดุล พรรคเสนอวิธีการคือถ้าดูหนังไทย คนดูออกค่าตั๋วแค่ครึ่งเดียว ที่เหลือรัฐจะออกให้

“…ถ้ารัฐสนใจคนทำหนังจริงๆ ยังไงวงการภาพยนตร์ไทยก็ดีขึ้นได้”

พรรคพลังท้องถิ่นไทย : รัฐภูมิ โตคงทรัพย์

  • พรรคมองว่าวงการหนังไทยมีสิ่งที่ต้องพัฒนาอยู่ คือคนทำต้องพัฒนาในแง่คุณภาพ เพราะจริงๆ แล้วประเทศไทยมีทรัพยากรที่ดีมากๆ อยู่แล้วทั้งในแง่ของสถานที่และคน ส่วนรัฐสามารถสนับสนุนได้ทั้งในแง่ของงบประมาณและคุณภาพงาน เพราะสุดท้ายแล้ว ถ้าวงการหนังไทยดีขึ้น การส่งออกทางวัฒนธรรมของไทยก็จะดีขึ้นตามมาด้วย  
  • พรรคเสนอทางแก้เป็นตัวเลือก เช่น ผลิตแอพพลิเคชั่นที่เป็นส่วนกลางในการฉายหนัง สร้างงานแฟร์รวมหนังไทยเพื่อเป้าหมายในการส่งออกหนังไทยและเป็นการให้กลุ่มทุนมาเจอกับคนทำหนังจริงๆ รวมถึงการสร้างโรงหนังชุมชนให้ไม่เกิดการผูกขาด และเพื่อเป็นการปลูกฝังวัฒนธรรมการดูหนังของคนไทยให้ดีขึ้น
  • สุดท้ายแล้วพรรคเชื่อว่าถ้ารัฐสนใจคนทำหนังจริงๆ ยังไงวงการภาพยนตร์ไทยก็ดีขึ้นได้

AUTHOR