รัฐต้องมีวิสัยทัศน์ว่าศิลปวัฒนธรรมสำคัญต่อการดำรงอยู่ของคน–ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

Highlights

  • วงการหนังที่ถูกขับเคลื่อนโดยเอกชนนั้น จริงๆ แล้วสัมพันธ์กับรัฐบาลมากน้อยแค่ไหน ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ แห่ง Documentary Club บอกว่า ถ้าในเชิงนโยบาย รัฐไทยแทบไม่เคยเข้ามาในวงการหนังอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในเรื่องนโยบายสนับสนุน จะมีก็เพียงแต่การใช้กฎหมายควบคุมเท่านั้น
  • เธอมองว่าการสนับสนุนสายศิลปวัฒนธรรมจะเกิดขึ้นได้ รัฐต้องมีวิสัยทัศน์ที่ล้ำไปกว่าเรื่องของธุรกิจ คือรัฐต้องมีวิสัยทัศน์ว่าศิลปวัฒนธรรมสำคัญต่อการดำรงอยู่ของคนอย่างไร
  • และเธอเชื่อว่า นอกจากคาดหวังในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต่อๆ ไป เราก็ต้องเรียกร้องไปจนกว่าเขาจะฟังเช่นกัน

เคยสงสัยกันไหมว่า กับอุตสาหกรรมบันเทิงและวงการภาพยนตร์ที่คล้ายจะถูกขับเคลื่อนด้วยพลังของเอกชนเป็นหลักนั้น รัฐบาลควรจะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในระดับไหน

ในช่วงที่เหลืออีกไม่กี่สัปดาห์ก็จะถึงวันเลือกตั้ง เราถือโอกาสชวน ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ แห่ง Documentary Club มาคุยกันในเรื่องนโยบายและการสนับสนุนของรัฐบาลต่อวงการภาพยนตร์ไทยว่าที่ผ่านมามีท่าทีเป็นอย่างไร รวมถึงแนวทางในการสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยควรเป็นเช่นไร ความหวังต่อรัฐบาลชุดใหม่ (?) และความเป็นไปได้ที่องค์ความรู้ในสายศิลปะและวัฒนธรรมในประเทศไทยจะถูกให้ความสำคัญมากกว่านี้

ถ้าว่ากันในเชิงนโยบายสนับสนุน ปัจจุบันรัฐบาลมีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องกับวงการภาพยนตร์อย่างไรบ้าง

เอาจริงๆ ถ้าในเชิงนโยบาย รัฐไทยแทบไม่เคยเข้ามาในวงการหนังอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในเรื่องนโยบายสนับสนุน เท่าที่เราเห็น รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องในแง่หนึ่งคือการใช้กฎหมายควบคุม อย่างเมื่อก่อนก็จะมีการเซนเซอร์ แต่ปัจจุบันก็จะมีการจัดเรต เป็นกฎหมายในเชิงการจัดการให้เข้าที่เข้าทางมากกว่า ส่วนการสนับสนุนที่มีมาเป็นระลอกๆ เป็นการให้ทุนที่ผ่านมาทางกระทรวงวัฒนธรรม ในสายงานโปรดักชั่น หรือให้เป็นโปรเจกต์ๆ ไป เหมือนตั้งกองทุนขึ้นมานั่นแหละ สมมติว่าปีนี้รัฐมีทุนให้ร้อยล้าน ใครมีโปรเจกต์ภาพยนตร์ก็เสนอไป เขาก็จะมีคณะกรรมการคัดเลือก แล้วแต่ว่าคุณจะขอเท่าไหร่ และกรรมการจะให้เท่าไหร่ แล้วแต่เขาพิจารณา ที่ผ่านมาจะมีแค่นี้ แต่มันไม่เคยมีการสนับสนุนแบบมีวิสัยทัศน์ระยะยาว หรือมีการคิดว่าเป้าหมายของการสนับสนุนเนี่ย เพราะว่าคุณกำลังต้องการหรือหวังผลอะไรจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศ มันไม่เคยมีการวางโรดแมปที่ชัดเจนเลย

 

ซึ่งหนังที่ได้รับทุนเหล่านี้ไปก็จะมีเพียงป้ายโลโก้กระทรวงวัฒนธรรมแปะหน้าแค่นั้น

หรือบ้างก็อาจปรากฏในตัวภาพยนตร์บางส่วน เขาก็จะมีเกณฑ์ที่ว่าหนังแบบไหนที่จะเข้าทาง โอเคล่ะ ปัจจุบันอาจไม่ได้ต้องการฮาร์ดเซลวัฒนธรรมไทยเท่าแต่ก่อน แต่แน่นอนว่าก็ยังต้องมีเกณฑ์ของมันในสายตาของรัฐอยู่ เช่น คุณจะไม่สามารถเสนอโปรเจกต์ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หรือประวัติศาสตร์บาดแผลของประเทศได้ จึงไม่ค่อยมีหนังประเภทนี้อย่างเข้มข้นจริงจังมากนัก

แล้วอย่างนี้รัฐได้นำหนังไปต่อยอดในด้านใดๆ บ้างไหม

เข้าใจว่าไม่มีนะ แค่ให้ทุนแล้วก็จบไป ซึ่งอันนี้เป็นปัญหา เพราะหนังอิสระของผู้กำกับบางคน เขาก็ไม่ได้จะวิ่งหาเงินจากนายทุน เพราะฉะนั้นทุนของกระทรวงวัฒนธรรมจึงสำคัญมาก พอเขาได้ทุนจนทำหนังเสร็จ แต่พอเข้าสู่ขบวนการที่ต้องต่อรองกับตลาด ปรากฏว่าไม่มีใครซัพพอร์ตเขาแล้ว กลายเป็นต้องดิ้นรนด้วยตัวเอง มันมีหนังจำนวนมากที่เสร็จแล้วมันไม่สามารถต่อยอดให้กับคนทำในเชิงธุรกิจได้ มีหนังอิสระหลายเรื่องที่ไม่สามารถสู้รบปรบมือกับในตลาด ไม่สามารถทำรายได้กลับมา และไม่สามารถสร้างความยั่งยืนให้กับคนทำหนังได้ในระดับที่ไม่ต้องขอทุนใหม่ จนสามารถใช้กำไรจากเรื่องนี้ทำหนังเรื่องต่อไป รัฐไม่ได้มีกระบวนที่นำไปสู่ตรงนี้ แค่พอปีนี้จบ ปีหน้าก็ว่ากันใหม่

 

หมายความว่า ขอแค่ทำหนังให้เสร็จ ส่วนจะรอดไม่รอดก็เรื่องของคุณ

ใช่ อันนี้คือการสนับสนุนแบบขอไปที คือแค่คนทำหนังเรียกร้อง วงการหนังเรียกร้อง เขาก็ทำเป็นนโยบายขึ้นมา แต่มันไม่ได้มีการคิดในระยะยาว ไม่มีวิสัยทัศน์ว่าที่ให้ทุนน่ะ ให้ไปทำไม

เทียบกับที่เมืองนอกแล้ว เขาจะมีทุนที่หลากหลาย มีการสนับสนุนที่ชัดเจนกว่ามากหรือเปล่า

เราคิดว่าการสนับสนุน โดยเฉพาะในสายศิลปวัฒนธรรมจะเกิดขึ้นได้รัฐต้องมีวิสัยทัศน์ที่ล้ำไปกว่าเรื่องของธุรกิจ คือโอเคล่ะ ถ้าพูดกันเฉพาะขอบเขตของศิลปวัฒนธรรม คือรัฐต้องมีวิสัยทัศน์ว่าศิลปวัฒนธรรมสำคัญต่อการดำรงอยู่ของคนยังไง ไม่ใช่คิดแต่ในมิติที่ว่า เป็นการโปรโมตความเป็นไทยขายต่างชาติ แต่สังคมที่มีศิลปวัฒนธรรมคือสังคมที่สร้างประชากรที่มีคุณภาพเชิงความคิด ขณะเดียวกันถ้ารัฐจะให้มีความเข้มข้นในแง่ของธุรกิจด้วยก็ต้องมองให้เห็นว่าวัฒนธรรมบางส่วนสามารถแปรรูปเป็นสินค้าขายได้ ตัวอย่างที่เห็นกันบ่อยๆ ก็เกาหลีใต้ ในระยะเวลาสิบกว่าปี เขาพลิกทุกอย่างในวงการหนัง วงการเพลง กลายเป็นวัฒนธรรมส่งออกที่ทำรายได้มหาศาลให้กับประเทศ

 

แต่รัฐของเราไม่เคยมองเห็นอะไรเหล่านี้เลย

ไม่เลย อะไรๆ ก็ไม่เคยเห็น (หัวเราะ) มันเคยมีช่วงหนึ่งที่คำว่า creative economy ฮิตขึ้นมา เคยมีการพยายามทำนโยบายนี้ แต่สุดท้ายพอลงไปที่การปฏิบัติก็ยังไม่ใช่กระบวนที่จะนำไปสู่เป้าหมายอยู่ดี นโยบายใดๆ ไม่ใช่เรื่องที่จะทำสั้นๆ ไม่ใช่ว่าหมดรัฐบาลหนึ่งก็โยนทิ้งไป แล้วรัฐบาลใหม่ก็เลิกสนใจ ไปให้ความสำคัญกับประเด็นอื่น แต่ของไทยมันจะเป็นแบบนี้

อย่างในกรณีของภาพยนตร์ เรียกได้ว่ารัฐบาลไหนๆ ก็ยังไม่เคยมีรากฐานที่จะผลักดันประเด็นนี้ไปด้วยกันเลย

ใช่ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องหนัง แต่เป็นกับนโยบายทุกเรื่อง รัฐบาลใหม่ขึ้นมาก็จะพยายามล้มนโยบายของรัฐบาลเก่า ไม่ว่าจะดี หรือไม่ดี อย่างเกาหลีใต้เอง ถึงเขาจะเปลี่ยนประธานาธิบดีบ่อย แต่มันก็จะมีโรดแมปที่ถ้าวางแล้วทุกคนจะเห็นพ้องกันว่าเป้าหมายคืออะไร แล้วไม่ว่ารัฐบาลไหนขึ้นมาจะสนับสนุนวงการหนังมากบ้าง น้อยบ้าง แต่คนในวงการหนังเขาจะถูกสร้างมายด์เซตว่า เขาต้องต่อสู้เพื่อสิ่งนี้

มันเคยมีกรณีที่มีการเปลี่ยนรัฐมนตรีใหม่ ซึ่งเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมจัดขึ้นมา แล้วเขาก็ไปแบนเทศกาลหนังที่มีหนังวิพากษ์รัฐ คนในวงการหนังก็ลุกฮือขึ้นมาทันที แล้วเขาประท้วงกันอย่างรุนแรง จนในที่สุดรัฐต้องยอมเสียงเบาลงไป นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมรัฐต้องประคองนโยบาย เพราะมีคนในวิชาชีพคอยอุ้มชูนโยบายที่มีผลต่อพวกเขาอยู่ ดังนั้นพอมีนโยบายกำหนดขึ้นมาว่า ใน 20 ปีสินค้าทางวัฒนธรรมจะต้องขายได้ เขาก็ต้องพิจารณาในรายละเอียดว่า อะไรจะนำไปสู่ตรงไหน

อย่างของไทย พอเราไม่เคยมีวิสัยทัศน์ระยะยาว ระยะสั้นก็จะไม่เกิด รัฐไม่เคยคิดว่า การให้ทุนหนังอย่างเดียวจะมีปัญหาว่า คนทำหนังตัวเล็กๆ เมื่อทำหนังเสร็จแล้วจะอย่างไรต่อ ทำเสร็จแล้วให้เขาไปคุยกับโรงหนังเองเหรอ แล้วคุณคิดเหรอว่าโรงหนังเขาจะให้ความสำคัญในเมื่อมีหนังมาร์เวลรออยู่เป็นตับ อย่างนี้ไม่ได้ รัฐจึงต้องเข้าไปหนุนเรื่อง distribution เมื่อรัฐหนุน เขาก็จะเห็นปัญหาว่าประเทศไทยไม่ได้มีการนำกฎหมายผูกขาดมาใช้กับโรงหนังเลย เห็นได้จากสัดส่วนโรงหนังเครือใหญ่ๆ ในตลาด ที่เครือหนึ่งครองตลาด 70% ส่วนอีกเครือครอง 30% แบบนี้เท่ากับว่าโรงหนังรายเล็กตายหมด ซึ่งอันนี้ผิดแล้ว

เขาต้องมองให้เห็นว่า ถ้าพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมไม่พอก็ต้องสร้างเพิ่ม หรือถ้าเห็นว่าเด็กๆ ไม่ได้โตมาพร้อมความสามารถที่จะดูหนังแปลกๆ ได้ งั้นก็ต้องหาวิธีเอาหนังแปลกๆ ลงไปในระบบการศึกษา

อย่างในแง่ของการฉายหนังในสถานศึกษาเอง ถ้ารัฐเข้ามาสนับสนุนก็จะง่ายขึ้นมาก

เรารู้สึกว่าเป็นสิ่งที่รัฐต้องทำ คุณจะปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เป็นการดิ้นรนของเอกชนฝ่ายเดียวไม่ได้ เพราะเราสู้แรงต้านทานตลาดไม่ได้ หรือเราเคยพูดเรื่องระบบโควตานะ หมายความว่า หนังที่ฉายอยู่ในพื้นที่กระแสหลักคือโรงหนังเนี่ย รัฐก็ควรจะเข้ามาจัดสัดส่วน ว่าคุณให้พื้นที่กับหนังกระแสหลักเท่าไหร่ และกับหนังทางเลือกอื่นๆ เพื่อสร้างความยั่งยืนทางวัฒนธรรมเท่าไหร่ แต่เพียงแค่เราออกมาพูดแค่นี้ก็โดนคนถล่มเต็มไปหมดแล้ว เขาบอกว่า มาเรียกร้องให้หนังอิสระ หนังไทย ทั้งที่หนังพวกนี้ไม่มีใครเขาอยากดูกันหรอก มันเป็นสิทธิของคนดูที่จะไปดูหนังมาร์เวลกี่รอบก็ได้ แต่คำถามคือ เวลาที่มีคนออกมาพูดว่านี่เป็นสิทธิของคนดู เรากลับจะไม่ค่อยนึกว่า กลไกตลาดที่เราเชื่อว่าเป็นธรรมชาติน่ะ จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ธรรมชาติ แต่มันถูกทำให้เป็นอย่างนี้ต่างหาก

ย้อนกลับไปสมัยเรายังเด็กๆ ที่โรงหนังยังไม่ใช่ระบบมัลติเพล็กซ์ มีโรงหนังเยอะแยะ บางโรงฉายแต่หนังไต้หวัน บางโรงฉายแต่หนังอินเดีย หรือวันดีคืนดีก็มีหนังอิตาลีมาฉาย ไม่เห็นจะมีใครรู้สึกว่า ทำไมต้องมาปีนกระไดดูหนัง มันไม่มีเซนส์แบบนี้ แต่ที่เราดำรงอยู่ในตอนนี้เพราะเราถูกทำให้เป็น ทั้งด้วยระบบสตูดิโออเมริกามีอิทธิพลเยอะ แล้วเราก็ไม่ได้ควบคุมสัดส่วนโรงหนัง เราคิดว่านี่คือธรรมชาติแบบสากลโลก แต่ทำไมยังมีอีกหลายประเทศที่ยังมีคนไปดูหนังท้องถิ่น ไปดูหนังต่างชาติเป็นเรื่องปกติ

อย่างในสวิตเซอร์แลนด์ เขามีการจัดเทศกาลหนังในลานกลางเมืองที่จุคนเป็นสามสี่พันคน แต่ทำไมคนกลับเต็ม ชาวบ้านแถวนั้นก็เข้าร่วม แล้วหนังที่ฉายก็ไม่ใช่หนังดูง่าย แต่ทำไมเขาไปดู นั่นเพราะมันเป็นชีวิตปกติของเขา แต่ทำไมการไปดูหนังของเราถึงเป็นแบบนี้ ไม่ได้จะบอกว่าเราแย่นะ แต่ที่เราพูดกันว่าปกติเนี่ย มันไม่ได้ปกติ

ความปกติยังมีอีกหลายแบบในโลก เราแค่ไม่ค่อยมีจินตนาการในเรื่องเหล่านี้ เราไม่ค่อยคิดว่า มันเป็นอย่างอื่นได้ไหม ถ้าเป็นอย่างอื่นจะดีกว่าไหม แล้วถ้าดีกว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อไปให้ถึงจุดนั้น

แต่คนก็มักจะกลัวความเปลี่ยนแปลง

นั่นแหละเป็นปัญหาหลักของสังคมนี้ในทุกเรื่อง คือเราไม่มีจินตนาการ ซึ่งจะโทษว่าจะเป็นความผิดของเรา ก็ไม่เชิงนะ แค่ว่าสังคมทำให้เรารู้สึกว่านี่แหละดีแล้ว นี่แหละคือดีที่สุดแล้ว เหมือนพอมีคนพูดเรื่องนโยบายสวัสดิการรัฐ ก็จะมีคนถามว่า ให้เสียภาษีเพิ่มขึ้นน่ะ เอาเหรอ คิดว่าเป็นคนยุโรปหรือไง แค่นี้เรายังจินตนาการกันไม่ออกเลยว่า แล้วรายได้ส่วนหนึ่งของเราไม่ต้องเสียให้ค่ารถประจำวัน ไม่ต้องเสียค่าเทอมลูก เข้าโรงพยาบาลไม่ต้องเสียเงิน ตกงานไม่ต้องกลัวตาย แล้วเราจะไม่ยินดีจ่ายภาษี 40% ให้กับรัฐเหรอ

 

ไม่ต้องมานั่งอ่านคอนเทนต์ว่า อายุ 60 ต้องมีเงินเก็บเท่าไหร่

ใช่ ปัญหาคือเราถูกทำให้คิดว่า ที่เป็นอยู่น่ะดีแล้ว ถามว่าทุกข์ไหม ก็ทุกข์นะ แต่พอชวนให้คิดถึงสิ่งอื่นกลับไม่กล้าคิด

พอการที่รัฐไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับวงการภาพยนตร์เลย มันจะยิ่งทำให้องค์ความรู้ของภาพยนตร์ หรือศิลปวัฒนธรรมถูก centralized อยู่แค่ในกรุงเทพฯ 

ใช่ ตอนนี้ก็เป็นอย่างนั้น ปัญหาหลักเลยล่ะ มันทำให้ทุกอย่าง centralized จริงๆ คือถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่ที่เอกชนมีกำลังทำ แต่ถ้าวันหนึ่งเอกชนไม่มีกำลัง ก็ตายไป ซึ่งมีแต่จะแย่ลงนะ เอาแค่ว่า พอหนังใหญ่เข้า แล้วหนังใหญ่ฉาย 80% ของโรงหนังในประเทศ แค่นี้ก็คือการ centralized แล้ว เพราะมันเกิดจากความคิดที่ว่า ทุกคนในประเทศต้องชอบสิ่งเดียวกัน พิสูจน์กันด้วยตัวเลขรายได้ แล้วเราก็จะอยู่ในโมเดลแบบนี้กัน ตอบกันด้วยความเชื่อจากส่วนกลางว่า นี่แหละคือโมเดลที่ถูกต้องแล้ว

อย่างนานๆ ทีเราถึงจะเห็นจังหวัดอย่างขอนแก่น ภูเก็ต สงขลาฉายหนังนอกกระแสหรือสารคดีบ้าง แต่ไม่นานก็หายไป

ใช่ แล้วเรื่องนี้พูดยากนะ เพราะอย่าง Doc Club ถึงจะทำมาหลายปีก็ยังฉายอยู่ไม่กี่จุด นานๆ จะไปโผล่จังหวัดอื่นบ้าง แต่พอโผล่ไปแล้วไม่มีคนดู โรงหนังก็จะบอกว่า มันไม่มีตัวเลข อย่ามาเลย อ้าว แต่ถ้าเราไม่ไป แล้วมันจะมีตัวเลขไหม มันก็ต้องไปจนกว่าคนจะรู้ว่ามีเราอยู่

คือเราจะคุ้นเคยกับคำพูดที่ว่า คนไทยชอบดูอะไรบันเทิง ซึ่งไม่น่าเชื่อนะว่าทุกวันนี้ยังมีคนพูดกันอยู่ คนไทยไม่อยากดูอะไรมีสาระ ทั้งที่เดี๋ยวนี้สารคดีที่สนุกมีเยอะแยะ แต่เราก็จะบอกว่า ความบันเทิงมีแค่แบบเดียว หรือที่บอกว่าคนไทยไม่ดูสารคดีก็ไม่จริง เพราะสารคดีในทีวีหลายรายการก็เรตติ้งดี คนไทยน่ะชอบดูเรื่องจริงที่น่าสนใจ เพียงแต่เราจะขยายปริมณฑลการดูของเขาออกไปได้แค่ไหน เราก็ต้องทำงานไปเรื่อยๆ

ในช่วงรัฐประหาร วงการหนังอิสระดูจะต้องต่อสู้กับอะไรหลายๆ อย่าง เช่น การเซนเซอร์ แล้ว Doc Club เองเจอความท้าทายอะไรไหม

ไม่ถึงกับเจอชัดเจนนะ อาจเพราะเราไม่เคยเอาหนังล่อเป้ารุนแรงเข้ามาฉายด้วย แล้วมันก็มีระบบเรตติ้งที่มีมาตรฐานระดับหนึ่ง อย่างหนังที่มันดูสุ่มเสี่ยงหน่อย ถ้าผ่านเข้าสู่ระบบเรตติ้งแล้ว เขาก็จะมีหลายเรตติ้ง บางเรื่องที่มีประเด็นทางการเมืองรุนแรงหน่อย ก็สามารถมีเรต 18+ ได้ อย่าง The Act of Killing ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ในช่วงพิจารณาเขาก็ก้ำกึ่งว่าจะแบนดีไหม เพราะเขารู้สึกว่าที่เราเอาเข้ามาเพื่อด่ารัฐบาลทหารหรือเปล่า (หัวเราะ)

อย่างนี้มีผลต่อการคัดเลือกหนังของเราไหม

มีสิ มันก็จะนำมาซึ่ง self-censorship จะมีหนังบางเรื่องที่เรารู้สึกว่า ถ้าเอาเรื่องนี้มาฉายจะโดนแบนแน่นอน ซึ่งมันก็จะผูกพันกับเรื่องธุรกิจด้วยว่า ถ้ารู้ว่าจะโดนแบนแล้วจะเอามาฉายทำไม ก็ตัดไปเลยตั้งแต่ต้น แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยมากนะ

 

ในทุกวันนี้ที่รัฐบาลไทยก็ยังไม่ให้ความสำคัญกับวงการภาพยนตร์ คุณยังมองเห็นความหวังบ้างหรือเปล่า

ก็ต้องคาดหวังในรัฐบาลเลือกตั้งต่อๆ ไป แต่ถึงที่สุดเราก็จะคาดหวังกับนักการเมืองอย่างเดียวไม่ได้หรอก เพราะคนในวิชาชีพเองก็ต้องเรียกร้อง จะไปหวังให้นักการเมืองมีตาทิพย์ รู้ทุกเรื่องไม่ได้ เราก็ต้องเรียกร้องไปจนกว่าเขาจะฟัง และจนกว่าเขาจะเข้าใจว่านั่นคือสิ่งที่เขาต้องทำ โดยเฉพาะหน่วยงานหรือองค์กรที่มีหน้าที่โดยตรงในการเรียกร้องสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อวิชาชีพ เช่น สมาพันธ์ภาพยนตร์ ที่หน้าที่ของเขาคือการรับฟังสมาชิกที่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพในวงการภาพยนตร์ แล้วกลั่นกรองว่าอะไรคือนโยบายที่จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนจริงๆ จากนั้นจึงเสนอสิ่งนี้ให้รัฐ

แต่ที่ผ่านมาก็จะมีบางช่วงที่ทำมากหน่อย บางช่วงก็อาจหายไปบ้าง แต่สิ่งนี้คือเขาต้องทำ เขาต้องสร้างความแข็งแกร่งของคนในวิชาชีพ แล้วถึงที่สุดคนในวิชาชีพต้องเรียกร้อง ถ้ารัฐบาลไม่ทำต้องโวยวาย หรือถ้ามีนโยบายออกมาแล้วบิดเบือน หรือเป็นโทษ เราก็ต้องประท้วง นี่คือหน้าที่ของประชาชน

จะอยู่เฉยๆ และคาดหวังว่ารัฐบาลจะมาเนรมิตให้น่ะเป็นไปไม่ได้ แต่ที่แน่ๆ คือต้องมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งก่อนนะ ไม่งั้นใครมันจะมาฟังวะ (หัวเราะ)

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรม และศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อย รวบรวมผลงานไว้ที่ pathipolr.myportfolio.com