แนวคิดและนโยบายศิลปวัฒนธรรมจากพรรคการเมืองในการเลือกตั้งปี ’62

เมื่อบ่ายวันนี้ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ได้จัดกิจกรรมเชิญตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อมาเสนอแนวคิดและนโยบายเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม โดยแต่ละพรรคมีเวลา 10 นาทีในการแสดงทัศนะ พวกเราชาว a team มีโอกาสได้ไปเข้าร่วมฟังและคิดว่าหลายๆ นโยบายจากหลายๆ พรรคนั้นน่าสนใจไม่น้อย

เพื่อให้เห็นความเป็นไปได้และแนวทางของศิลปวัฒนธรรมของประเทศไทยในอนาคต เราจึงสรุปนโยบายด้านนี้ของแต่ละพรรคมาให้ พรรคไหนมีแนวคิดถูกใจหรือนโยบายอะไรที่เราอยากเห็นและน่าจะเป็นไปได้ ลองทบทวนผ่านคำพูดของแต่ละคนดู

ร.ต.อ. ดร.จอมเดช ตรีเมฆ จาก พรรครวมพลังประชาชาติไทย

  • มองว่าศิลปวัฒนธรรมจำเป็นต่อทุกสิ่งทุกอย่าง แต่บ้านเรามักเขินกับความเป็นไทย ดังนั้นพรรคจึงมีนโยบายที่สนับสนุนความร่วมสมัยของศิลปะไทย ทำยังไงก็ได้ให้ศิลปะไทยถูกส่งออกเพื่อโน้มน้าวให้ต่างชาติสนใจความเป็นไทย อย่างเช่นผ้าหรือดนตรี
  • พรรคจึงบรรจุเรื่องนี้เป็นแกนหลักของพรรค นั่นคือการรักชาติและภูมิใจในความเป็นไทย พรรคเล็งเห็นเช่นเดียวกันว่าไม่ควรรวมศูนย์ความเป็นไทย แต่ก็เสนอแนวคิดให้สร้างอัตลักษณ์ความเป็นไทยให้ชัดกว่านี้ เช่น อัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น
  • ดังนั้นพรรคเลยอยากปฏิรูปครั้งใหญ่ในการบริหาร เปลี่ยนให้แต่ละจังหวัดได้เงินจากส่วนกลางต่อเดียว จากแต่เดิมที่ระดับจังหวัดได้งบประมาณแค่หลักร้อยล้านจะกลายเป็นได้จังหวัดละหมื่นล้าน สิ่งนี้จะทำให้อัตลักษณ์ชัดขึ้นจากแรงเสริมที่มากขึ้น เช่น เสริมเรื่องผลิตภัณฑ์ การท่องเที่ยว
  • เพราะสุดท้ายพรรคเชื่อว่าในแต่ละมุมของประเทศไทยมีเรื่องน่ารักที่ดึงคนให้เข้ามาอยู่เสมอ แต่ละจังหวัดจึงควรได้งบไปพัฒนาตรงจุดนี้ ไม่ใช่เกิดจากการถูกสั่งมาจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว

นิกร จำนง จาก พรรคชาติไทยพัฒนา

  • พรรคให้ความเห็นว่าไม่ว่าจะนโยบายไหน ทุกนโยบายจากทุกพรรคควรคิดถึงผลกระทบต่อศิลปวัฒนธรรมของเราเองด้วย แต่พรรคก็มองว่าทุกวันนี้สังคมหลากหลาย เรามีหลายวัฒนธรรม และแต่ละวัฒนธรรมก็สวยงามหมด ดังนั้นนโยบายของพรรคเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมจะยืนพื้นบนความเป็นไทยเพราะเริ่มหายไปเยอะเหลือเกิน และพรรคมองว่าจากปัญหาของหอศิลป์ สิ่งนี้น่าเป็นห่วงและพรรคเองมีวิธีทำให้หอศิลป์อยู่รอดแต่ยังไม่บอกว่าจะทำอย่างไร

ปิยบุตร แสงกนกกุล จาก พรรคอนาคตใหม่

  • นโยบายศิลปวัฒนธรรมของพรรคเริ่มจากปัญหาที่พรรคเห็น หนึ่งคือปัญหาการตีความวัฒนธรรมไทย พรรคมองว่าที่ผ่านมาวัฒนธรรมไทยเป็นวัฒนธรรมที่ถูกตีความเป็นค่านิยมแค่อย่างเดียว ทั้งๆ ที่วัฒนธรรมต้องเลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงได้
  • พรรคมองว่าเรามีกฎหมายที่ไปจำกัดสิทธิการแสดงออกมากเกินไป ทำให้ศิลปวัฒนธรรมย่ำอยู่กับที่ ที่ผ่านมาบ้านเราให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจด้านศิลปวัฒนธรรมน้อยเกินไป และระบบการศึกษาก็ไม่ได้สนับสนุนให้เด็กสนใจในเรื่องนี้
  • พรรคจึงออกนโยบายมาหลายๆ เรื่อง อย่างกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในสิทธิเสรีภาพแสดงออกจะถูกยกเลิก เช่น กฎหมายด้านสื่อบันเทิง กฎหมายด้านสิ่งพิมพ์ และกฎหมายเกี่ยวกับโลกออนไลน์
  • สนับสนุนการสร้างพื้นที่สาธารณะให้เด็กรุ่นใหม่มีพื้นที่แสดงออก เช่น พิพิธภัณฑ์ ต้องขยายเวลาเปิด และสนับสนุนให้มีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมความหลากหลาย
  • ผลักดันการสร้าง community art space ทุกจังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ใช้สอยร่วมกันด้านศิลปะ เช่น โรงละคร พื้นที่จัดงานดนตรี 
  • เราต้องกระจายอำนาจทางวัฒนธรรมจากส่วนกลางไปยังท้องถิ่น ไทยต้องไม่ถูกจำกัดความแค่ส่วนกลาง เพราะแต่ละท้องถิ่นก็ไม่เหมือนกัน
  • สนับสนุนศิลปิน เช่น ก่อตั้งสภาศิลปวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สร้างกองทุนสนับสนุนศิลปิน สร้างระบบสวัสดิการ สร้างความมั่นคงทางอาชีพ รวมถึงการกำหนดภาษีมูลค่าเพิ่มเกี่ยวกับสินค้าทางวัฒนธรรมด้วย VAT ที่ต่ำ ซึ่งภาษีที่เก็บจะนำไปใช้ในงานศิลปวัฒนธรรมเท่านั้น
  • ท้ายที่สุดพรรคเชื่อว่า ศิลปวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนความคิดของผู้คนได้

องอาจ คล้ามไพบูลย์ จาก พรรคประชาธิปัตย์

  • นโยบายแรกสุดที่จะทำคือการแก้กฎหมายให้การใช้จ่ายเพื่อศิลปวัฒนธรรมกลายเป็นเรื่องถูกต้อง เช่น การมีอยู่ของหอศิลป์ และการจะทำแบบนั้นได้ เราต้องมีคนที่มีความตั้งใจแบบนั้นเข้าสู่สภาก่อน
  • แต่พรรคก็มองว่าการที่ปัญหาแบบนี้เกิดขึ้น โดยรากเหง้าแล้วเกิดจากความคิดคนที่ไม่เห็นความสำคัญของศิลปวัฒนธรรมมากเท่าที่ควร ดังนั้นพรรคยังคงเน้นย้ำว่าขั้นต้นคือการนำคนที่อยากจะเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้เข้าไปมีสิทธิ์ในการบริหารบ้านเมืองก่อน รัฐมีหน้าที่สนับสนุนตรงจุดนี้ ไม่ใช่อย่างในปัจจุบันที่เราไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและมีผู้นำที่ไม่เห็นความสำคัญเลย
  • สุดท้ายพรรคคิดว่าประชาชนและพรรคการเมืองทุกพรรคต้องแสดงออกให้ชัดเจนว่าทุกคนเห็นความสำคัญของศิลปวัฒนธรรมจริงๆ เพื่อให้ทั้งสังคมเห็นคล้อยตามและเกิดการปฏิบัติในที่สุด เพราะจริงๆ แล้วศิลปวัฒนธรรมอยู่กับชีวิตและประเทศเรามาตลอด และควรอยู่สืบไปอีกนาน

ชื่นชอบ คงอุดม จาก พรรคพลังท้องถิ่นไท

  • ศิลปวัฒนธรรมมีคุณค่าอยู่แล้ว แต่พรรคเล็งเห็นว่าถ้าทำให้มีมูลค่าด้วยจะทำให้จับต้องได้ง่ายขึ้น รวมถึงศิลปะจะไปต่อได้ ดังนั้นพรรคเชื่อว่าถ้าเราทำศิลปวัฒนธรรมให้คนในสังคมเห็นความสำคัญไปในทางเดียวกันได้ ศิลปวัฒนธรรมจะพัฒนา
  • พรรคมองว่าเราควรแก้เรื่องทัศนคติตรงนี้ก่อน เพราะถึงจะแก้กฎหมาย แต่ปัญหาเดิมๆ จะยังคงอยู่ ดังนั้นเราต้องเอาศิลปวัฒนธรรมที่ดูเป็นเรื่องไกลตัวมารวมกับเรื่องหลักให้ได้ก่อน แล้วสิ่งนี้จะเกิดเป็นมูลค่าให้คนเข้าถึงศิลปวัฒนธรรมได้มากขึ้น คนจะรู้สึกมีส่วนร่วมเพราะเขามีส่วนได้ส่วนเสียและวัฒนธรรมโดยรวมจะเปลี่ยนไป ยกตัวอย่างเช่น หมีคุมะมง ของจังหวัดคุมาโมโตะ ที่ประเทศญี่ปุ่น
  • นโยบาย 1 บริษัท 1 ท้องถิ่นก็จะเข้ามาช่วยตรงจุดนี้ ศิลปวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นจะเข้ามาอยู่ในนโยบายนี้และอาจเกิดการแลกเปลี่ยนกันระหว่างท้องถิ่น ท้องถิ่นจะเข้มแข็งขึ้นในที่สุด

วิทิตนันท์​ โรจนพาณิชย์ จาก พรรคชาติพัฒนา

  • พรรคมองว่าหากเปรียบประเทศเป็นคน เศรษฐกิจอาจจะเป็นร่างกาย สมองคือการศึกษา แต่ศิลปวัฒนธรรมจะเป็นชีวิต จิตวิญญาณ และความเชื่อ ดังนั้นพรรคจึงสนับสนุนให้ศึกษาศิลปวัฒนธรรมรากเหง้าของเราก่อน จะได้รู้ถึงปัญหา
  • บ้านเราเป็นพหุวัฒนธรรมที่รับทุกอย่างเข้ามา เราพร้อมเปลี่ยนแปลงได้ทุกอย่าง ใครให้อะไรมาใหม่ก็รับ ซึ่งก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อเสียคือเราไม่มีความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมที่ลึกพอ เพราะเรามองข้ามมันไปและไม่มีใครเหลียวแลจนแพ้คู่ต่อสู้ แถมยังไม่สนับสนุนพวกเดียวกันอีก
  • วิธีแก้ไขของพรรคจึงเป็นการร่วมมือกันเพื่อทำให้สิ่งดีที่มีอยู่กลับมาอีกครั้งโดยไม่ปฏิเสธของใหม่ด้วย พรรคจะทำ Thailand Art and Cultural Centre มีศูนย์การเรียนรู้และพื้นที่ เพิ่มเวลาเรียนศิลปะให้ระบบการศึกษา ทำ Thailand Art Foundation และที่สำคัญคือพรรคอยากจะปฏิรูปกระทรวงวัฒนธรรมและสร้างบ้านเราให้เป็น hub ของการค้าขาย
  • สุดท้ายแล้วพรรคมองว่า ไม่ว่าโลกจะดำเนินไปขนาดไหน ศิลปวัฒนธรรมจะเป็นสิ่งที่จะไม่ตาย

ดร.ก้องภพ วังสุนทร จาก พรรคผึ้งหลวง

  • นโยบายของพรรคผึ้งหลวงส่วนใหญ่เป็น ‘ก้องภพโมเดล’ และหนึ่งในนั้นคือเรื่องของศิลปวัฒนธรรม
  • พรรคเชื่อว่าทุกอย่างในสังคมไทยจะเชื่อมโยงถึงเศรษฐกิจ รวมถึงเรื่องศิลปะวัฒนธรรมด้วย ดังนั้นนโยบายที่พรรคให้ความสำคัญคือการสนับสนุนโดยเริ่มจากหน่วยเล็กๆ อย่างหมู่บ้านและชุมชน ผ่านโครงการการจัดตั้งธนาคารภูมิปัญญาศิลปวัฒนธรรมประจำท้องถิ่น
  • พรรคเชื่อว่าในทุกท้องที่มีคนที่รู้อัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นอยู่ ดังนั้นธนาคารนี้จะเป็นศูนย์รวมความรู้ ที่นี่เชิญชวนผู้มีภูมิปัญญามาเล่าความรู้ที่ตัวเองมีให้เจ้าหน้าที่จดรวบรวมเป็นตำรา และนำตำรานี้ไปต่อยอด
  • เมื่อทุกที่ทำแบบนี้ ก็จะมีองค์ความรู้ศิลปวัฒนธรรมถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังและแผ่ขยายไปสู่ตลาดโลก เมื่อรวมกับนโยบายกองทุนสนับสนุนทุกหมู่บ้านของพรรค ทุกชุมชนจะกลายเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม และทั้งหมดนี้จะส่งเสริมเศรษฐกิจภาพรวมของไทยในอีกทอดหนึ่ง

ลักษณารีย์ ดวงตาดำ จาก พรรคสามัญชน

  • พรรคสามัญชนมองว่า วัฒนธรรมในบ้านเรามีเพดานที่ต่ำมากจนทำให้ศิลปะไม่โต ศิลปินขาดเสรีภาพในการแสดงออกเพื่อสื่อสารกับคนทั่วไป ศิลปะควรเป็นเรื่องของคนทั่วไป ดังนั้นเราควรมีเสรีภาพให้กับคนทำงาน
  • การรวมศูนย์อำนาจทางวัฒนธรรมเข้าสู่ศูนย์กลาง ทำให้คำว่าวัฒนธรรมถูกตีความแค่ความหมายเดียว ทั้งๆ ที่เรามีความหลากหลายกว่านั้นมาก ดังนั้นการที่รัฐทำให้วัฒนธรรมกลายเป็นของสูงส่งแตะต้องไม่ได้ อาจทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ใส่ใจและเพิกเฉยต่อเรื่องนี้
  • พรรคจึงมีนโยบายสนับสนุนเงินทุนและพื้นที่ให้กับศิลปินและงานศิลปะเพื่อให้ศิลปะได้ถูกสื่อสารไปให้สังคมได้รับรู้ การมีหอศิลป์ในทุกๆ จังหวัดที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐจึงเป็นเรื่องจำเป็น
  • ภาพที่พรรคอยากเห็นคือศิลปะสามารถอยู่ในพื้นที่สาธารณะได้และต้องไม่ถูกจำกัดจากอำนาจด้านบนอีกต่อไป เพราะศิลปะควรเป็นเรื่องสาธารณะของทุกคน

พาลินี งามพริ้ง จาก พรรคมหาชน

  • ปัญหาการเมืองที่มีอยู่ทุกวันนี้ ทำให้การให้ความสำคัญเรื่องศิลปวัฒนธรรมหรือกีฬาตกไปอย่างน่าเสียดาย ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำอย่างแรกคือต้องวิเคราะห์ก่อนว่าทำไมเรื่องนี้ถึงมาทีหลังตลอด พรรคมองว่ามีสามปัจจัย คือเรื่องอำนาจนิยม วัตถุนิยม และชาตินิยม สามสิ่งนี้คือสิ่งที่เราควรแก้
  • ศิลปวัฒนธรรมในประเทศควรจะดีขึ้นได้ไม่ใช่เพราะการอยู่ที่เดิม ถ้าเป็นแบบนั้นมันจะไม่เกิดการเผยแพร่ และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ดังนั้นพรรคเลยมองว่าการรักษาศิลปะพื้นถิ่นยังเป็นเรื่องจำเป็น แต่ก็ควรให้พื้นที่ในการต่อยอดและแลกเปลี่ยนกับคนพื้นถิ่นด้วย
  • สถานการณ์บ้านเมืองของเราเป็นอำนาจนิยมจนเกินไป หลายคนเลยมองข้ามความสำคัญกับเรื่องนี้ การขับไล่กันเกิดบ่อยครั้งจนไม่มีการพัฒนาเรื่องอื่น
  • ถ้าการตลาดในเชิงศิลปวัฒนธรรมถูกพัฒนา จะส่งเสริมให้ศิลปวัฒนธรรมพัฒนาตามไปด้วย เหมือนกับเราสนับสนุนปลายน้ำ แล้วต้นน้ำจะดีเอง นโยบายของพรรคคือการผ่อนปรนเงื่อนไขของหน่วยงานที่ควบคุม เช่น กองเซนเซอร์

สุขทวี สุวรรณชัยรบ จาก พรรคกลาง

  • ศิลปวัฒนธรรมไม่ใช่การผูกขาด จะเห็นว่าแต่ละพรรคพูดสิ่งเดียวกันคือการกระจายอำนาจ และยกเลิกการถูกกดขี่ในการแสดงออก ดังนั้นพรรคเลยอยากเสนอแนวทางอื่นเพิ่ม
  • พรรคมองว่าการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมควรมีระบบนิเวศที่ส่งเสริม หนึ่งคือเราต้องสร้างคนให้มีความเชื่อที่หลากหลาย สองคือเราต้องมีรัฐที่มีศักยภาพทั้งรวมศูนย์และกระจายอำนาจ คือส่วนกลางเป็นหลักใหญ่ แต่ทำหน้าที่เป็นส่วนสนับสนุนในสาขาท้องถิ่น สามคือตลาดที่ตอบรับ สี่คือเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยลัดขั้นตอนและลดค่าใช้จ่าย
  • ดังนั้นนโยบายหลักของพรรคคือเราอยากปฏิวัติการส่งคนเข้าไปเป็นตัวแทน แต่จะใช้เทคโนโลยีให้คนได้สิทธิ์ในการออกเสียงโดยตรง ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นจริงได้ อย่างน้อยปัญหาอย่างหอศิลป์ก็คงจะไม่เกิดขึ้นเหมือนทุกวันนี้
  • สิ่งนี้คือการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง รวมถึงนโยบายย่อยอย่างการให้ VAT แก่ท้องถิ่นโดยตรง ไม่ใช่ส่วนกลาง ทั้งหมดจะทำให้ประชาชนไปจนศิลปวัฒนธรรมเข้มแข็งได้

AUTHOR