ปัญหาคนไทยฆ่าตัวตายพุ่ง แนวโน้มน่าเป็นห่วง แก้ไขได้อย่างไร : ร่วมค้นหาคำตอบกับ ชาติวุฒิ วังวล

ปัญหาคนไทยฆ่าตัวตายพุ่ง แนวโน้มน่าเป็นห่วง แก้ไขได้อย่างไร : ร่วมค้นหาคำตอบกับ ชาติวุฒิ วังวล

Highlights

  • ปี 2564 ที่ผ่านมาคนไทยฆ่าตัวตายสูงถึง 5 พันชีวิต ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก ทั้งยังมีแนวโน้มจะพุ่งสูงขึ้นอีก คาด 10 ปี สูญเสียแซงโรคไม่ติดต่อ
  • ทว่าประเทศไทยยังมีข้อจำกัดเรื่องความต้องการการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตกับจำนวนบุคลากรการแพทย์ที่มีอยู่อย่างไม่สมดุล 
  • หนึ่งในหน่วยงานที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมี ‘ชาติวุฒิ วังวล - ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ’ ซึ่งมองเห็นว่าหัวใจสำคัญของปัญหานี้เราไม่สามารถที่จะฝากความหวังไว้ที่ระบบสาธารณะสุขเพียงอย่างเดียวได้ หากต้องเร่งสร้างกลไกและนวัตกรรมอื่นๆ มาเพื่อป้องกันแก้ไข

องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้วันที่ 10 กันยายนของทุกปี เป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (World Suicide Prevention Day) ซึ่งนั่นเพิ่งผ่านพ้นมาหมาดๆ แต่เมื่อมองไปที่สถิติตัวเลขของผู้คิดสั้นฆ่าตัวตายและทำสำเร็จแล้วกลับน่าตกใจที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แถมด้วยสภาพเศรษกิจและสังคมที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ยังน่าห่วงว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีก ในขณะที่ประเทศไทยเรามีข้อจำกัดเรื่องจำนวนบุคลากรการแพทย์ที่มีอยู่อย่างไม่สมดุล สวนทางกันกับความต้องการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต ทั้งยังมีการคาดการณ์กันว่าอีกภายใน 10 ปี การสูญเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายอาจแซงโรคไม่ติดต่อ 

คำถามสำคัญคือจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร ซึ่งนอกจากกรมสุขภาพจิตกระทรวงสาธารณะสุขที่มีหน้าที่ด้านนี้โดยตรงแล้ว หนึ่งในหน่วยงานที่เป็นกำลังสำคัญช่วยขับเคลื่อนแก้ไขปัญหานี้มาโดยตลอดคือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยผู้ที่ทำงานคลุกคลีในเรื่องนี้มานานอย่าง ‘ชาติวุฒิ วังวล – ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ’ น่าจะเป็นคนที่ให้คำตอบในเรื่องนี้กับเราได้ดีที่สุด ถึงวิธีป้องกันและแก้ไขปัญหาในภาพรวม พร้อมวิธีที่เราจะสร้างพลังบวกกำลังใจให้กับตัวเอง ตลอดจนถึงวิธีดีลที่เหมาะสมกับคนใกล้ชิดซึ่งมีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตาย

สถานการณ์การฆ่าตัวตายของคนไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไร น่าหนักใจขนาดไหน

ปัญหาการฆ่าตัวตายของคนไทยเป็นปัญหาที่ทำให้การทำงานมีความท้าทายมากครับ คือเราพบแนวโน้มการฆ่าตัวตายสูงขึ้น ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา ไทยมีค่าเฉลี่ยการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 500-1,000 คนต่อปี ตัวเลขที่เห็นได้ชัดคือมีคนพยายามคิดสั้นฆ่าตัวตายตอนนี้ 53,000 คนต่อปี จนในปี 2564 มีคนฆ่าตัวตายสำเร็จถึงราว 5,000 ราย สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งเพราะในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 นั้นมีปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้คนรู้สึก ‘สิ้นหวัง’ กันมากขึ้น นี่เป็นตัวเลขของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขที่รายงานช่วงก่อนหน้านี้ที่สถานการณ์วิกฤตโควิดยังรุนแรงอยู่ หากเราเปิดข่าวดูทุกวันก็จะได้ยินข่าวการฆ่าตัวตาย คนเราถูกฟาดฟันจากข่าวฆ่าตัวตายทุกวัน อย่างการเอาเตาถ่านไปไว้ในรถ เพื่อที่จะรมควันให้ตัวเองเสียชีวิตซึ่งมีอยู่หลายเคสมาก ที่ผ่านมาเราเห็นเทรนด์การฆ่าตัวตายสูงขึ้นมาก

มีข้อสังเกตอย่างไรบ้างช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา คนไทยเราต้องเผชิญความเครียดด้านไหนบ้าง จึงทำให้ตัวเลขคนฆ่าตัวตายพุ่งสูงขึ้นเยอะ

แน่นอนว่าในช่วงโควิดหลายคน หลายครอบครัวประสบปัญหาสภาพเศรษฐกิจ ทำให้ถูกไล่ออกจากงาน ถูกลดเงินเดือน วิถีชีวิตเข้าสู่ New Normal ช่วงกักตัวก็ต้องอยู่บ้าน เกิดสภาวะความตึงเครียดในการปรับตัว จากที่อยู่บ้านเดียวกัน เจอกันแค่ 4-5 ชั่วโมงต่อวัน ตอนกินข้าวเย็น กลายเป็นต้องเห็นหน้ากันตลอด 24 ชั่วโมง บางทีมันก็ลำบากนะครับ ช่วงนั้นจึงมีอัตราการหย่าร้างสูงมาก บางคนปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงแบบ New Normal ไม่ได้ก็จะส่งผลกระทบทางใจมากขึ้น เด็กๆ ซึ่งไม่เคยเรียนหนังสือที่บ้าน ก็โดนพ่อแม่จ้ำจี้จ้ำไชตลอดก็เครียด Human Touch ระหว่างเด็กที่ได้ไปโรงเรียน กับต้องอยู่บ้านเรียนผ่านคอมพิวเตอร์นั้นก็แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ดังนั้นโควิดจึงเป็นจุดคานงัดที่สำคัญ ส่งผลกระทบทั้งด้านลบและบวก ทางลบ ทำให้มีความเปราะบางในชีวิตมากขึ้น มีความกังวลใจว่าพรุ่งนี้จะมีเงินไหม พรุ่งนี้จะมีรายได้ไหม พรุ่งนี้ฉันจะติดเชื้อไหม เหมือนกับที่มีวลีฮิตว่า “กูติดหรือยังวะ” อะไรอย่างนี้ คือมันสร้างความรู้สึกวิตกกังวล เพราะคาดการณ์ชีวิตไม่ได้ ไม่มั่นคง เมื่อไรก็ตามที่ Uncertainty มันเกิดในชีวิต และเราควบคุมสถานการณ์อะไรไม่ได้ย่อมทำให้คนเราเครียด เป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพจิตและแนวโน้มของการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้น ซึ่งอันนี้มันเป็นแนวโน้มทั่วโลกที่หลายๆ ประเทศเป็นเหมือนกันหมด ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเราประเทศเดียวหรอกครับ

กลไกป้องกันการฆ่าตัวตายของประเทศไทยเราที่มีอยู่เดิมเป็นอย่างไร ฟังดูแล้วเหมือนไม่น่ารองรับได้เพียงพอ 

กลไกที่ประเทศไทยเรามีอยู่แล้วก็เช่น สายด่วน 1323 ของกรมสุขภาพจิต ที่ให้บริการ 24 ชั่วโมง เพื่อคนที่มีความรู้สึกซึมเศร้า เจ็บป่วยทางใจ ได้โทรไปขอรับคำปรึกษา แต่เนื่องจากมีความต้องการเยอะมาก คือ ดีมานด์ของคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตมีมาก แต่ซัพพลายคือคนรับสายนั้นมีจำนวนจำกัด หรือแม้กระทั่งโรงพยาบาลต่างๆ เองก็ไม่ได้มีจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาสแตนด์บายอยู่ทุกแห่ง การบริการพื้นฐานเหล่านี้ที่ไม่เพียงพอ ซึ่งผมเองก็คิดว่าต้องใช้เวลานานกว่าบุคลากรทางการแพทย์จะเพียงพอต่อความต้องการ ทุกคนจึงต้องรู้เท่าทันปัญหา หาวิธีป้องกันไม่ให้ตัวเองเกิดความเครียดสะสมจนนำไปสู่การคิดสั้น 

ดูเหมือนว่าสถานการณ์วิกฤตโควิดเองก็ทุเลาลงมากแล้ว แนวโน้มการฆ่าตัวตายยังเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอยู่ไหม 

แม้สถานการณ์วิกฤตโควิดดูเหมือนว่าจะดีขึ้นมาก แต่แผลในใจเมื่อเกิดแล้วใช้เวลาเยียวยานานมาก คือเมื่อไรที่เรารู้สึกว่าเราก้าวไม่พ้นความวิตกกังวล ซึมเศร้า จมในความเจ็บปวดต่างๆ มันก็จะยังคงส่งผลอยู่ เพราะสุขภาพจิตใจเป็นเรื่องที่ซับซ้อน และที่สำคัญก็อย่างที่บอกไปแล้วครับว่าประเทศไทยของเรายังมีข้อจำกัดเรื่องความต้องการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตกับจำนวนบุคลากรที่มีอยู่ไม่สมดุล ซึ่งจากการสำรวจเราพบตัวเลขที่น่าสนใจอย่างนี้ครับ

สาเหตุของการฆ่าตัวตายอันดับ 1 คือปัญหาด้านความสัมพันธ์ คิดเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ อันดับ 2 ปัญหาเรื่องสุขภาพ 30 เปอร์เซ็นต์ อันดับ 3 ปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปัญหาด้านเศรษฐกิจ และอื่นๆ อีก 20  เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในขณะที่ปัญหามีแนวโน้มมากขึ้น แต่บุคลากรด้านสุขภาพจิตกลับเป็นสาขาที่มีจำนวนจำกัด ซึ่งการจะเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านสุขภาพจิตให้เพียงพอนั้นต้องใช้เวลาถึง 5-10 ปี เราต้องยอมรับว่าด้วยกำลังของบุคลากรที่มีอยู่ในระบบนั้นไม่เพียงพอ ดังนั้นสถานการณ์ตอนนี้คือ การทำงานแบบดั้งเดิมที่รักษาอยู่ในโรงพยาบาลอาจไม่ตอบโจทย์ 

ในส่วนของ สสส. เอง มีส่วนช่วยทำงานเพื่อแก้ไขสถานการณ์นี้อย่างไร 

โดยหลักๆ สสส. เราทำงานเพื่อที่จะสนับสนุนสุขภาพจิตคนที่ยังไม่เป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของสังคมที่ยังไม่มีความเสี่ยงมากนัก เพื่อให้เขามีสิ่งที่เรียกว่า ‘วัคซีนใจ’ เพราะเมื่อไรที่คนเราเจอเข้ากับสึนามิหรือวิกฤตสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ การที่เรามีวัคซีนใจก็จะช่วยทำให้จิตใจเข้มแข็งและสู้ได้ เพราะฉะนั้นบทบาทสำคัญของ สสส. เราจึงมุ่งเน้นป้องกันปัญหาสุขภาพจิตก่อนที่จะเจ็บป่วย อันนี้เป็นหน้างานหลักๆ 80 เปอร์เซ็นต์ของเรา

สสส. มีโครงการต่างๆ ที่เราทำงานทั้งกับกลุ่มเป้าหมาย และภาคีพันธมิตร ตลอดจนถึงประชาชนทั่วไปให้สามารถยืนหยัดรับสถานการณ์ได้ คือเราไม่ได้มุ่งเน้นไปที่เรื่องทางการแพทย์ เพราะเรามองว่า คนเราทุกคนก็ล้วนมีวันที่ไม่ดีด้วยกันทั้งนั้น จริงอยู่ที่เราอาจจะมีวันที่เฮงซวยมากแต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทั้งชีวิตของเราจะต้องเป็นอย่างนั้นไปตลอดใช่ไหมครับ เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วในเรื่องความรู้สึกชั่ววูบว่า ‘เราตายดีไหม จะได้จบๆ กันไป’ มันเป็นความรู้สึกชั่วครู่ชั่วยามเพียงไม่กี่วินาที แต่ถ้าเรามีสติ มีกลไกที่ทำให้เราเห็นถึงคุณค่าในชีวิต และความรักที่คนรอบข้างมีให้ มีวิธีคิดในการดำเนินชีวิตที่แข็งแรง ทุกคนก็จะสามารถผ่านพ้นภาวะอันตรายนั้นและฟื้นกลับมาได้ แต่ที่สำคัญคือเราต้องมีกลไลและวิธีคิดนี้ ไม่อย่างนั้นเราจะหลุดไปกับความมืดมนหม่นหมองของชีวิต 

วิธีคิดและกลไกจัดการกับปัญหาสุขภาพจิตของประเทศไทยเราเดิมนั้นถูกขับเคลื่อนไปที่ทางการแพทย์เสียเยอะ เช่น เมื่อมีภาวะทางจิตใจต่างๆ ก็ต้องไปหาหมอ ต้องเข้าสู่กระบวนการรับคำปรึกษาและบำบัด ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่จริงๆ แล้ว ไม่ใช่ว่าทุกความเจ็บป่วยทางใจต้องเจอหมอ และอย่างที่บอกว่าด้วยสถานการณ์แนวโน้มที่เป็นอยู่ในตอนนี้ซึ่งเราไม่มีบริการทางการแพทย์เพียงพอ ดังนั้นการทำงานเพื่อป้องกันจึงถือเป็นเรื่องที่เราควรหันมาให้ความสำคัญ ซึ่งนั่นเป็นภารกิจที่ สสส. เราพยายามทำกันอยู่ครับ 

เราจำเป็นต้องสร้างกลไกทางสุขภาพจิตอื่นๆ นอกเหนือจากการไปหาหมอ 

ใช่แล้วครับ คือ บางทีมันก็มีทางเลือกอื่นๆ อย่างการพูดคุยกับเพื่อนสนิท สสส. เราเน้นกระบวนการทำงานกับคนรอบข้างของผู้มีปัญหาสุขภาพจิตเยอะเลยครับ เมื่อไรก็ตามที่คนเรารู้สึกว่ามีภูเขาไฟสุมอยู่ในอก วิธีการแรกที่จะทำให้ภาวะซึมเศร้าลดลงคือ ยกภูเขาออกจากอก ซึ่งทำได้ด้วยการพูดคุยกับเพื่อนหรือคนที่เราไว้ใจรอบข้างเพื่อระบายออก สุดท้ายการจัดการปัญหามันไม่ต้องไปเจอหมอทุกครั้ง เราไปหาเพื่อนสนิทที่คุยกันได้ ไปเล่น ไปลูบหัวแมวที่เรารักได้ ไปดูรายการโทรทัศน์ที่ทำให้เรายิ้มได้ในวันที่เราพัง อะไรอย่างนี้ มันคือกระบวนการสร้างวัคซีนใจ เมื่อไรก็ตามที่ปัญหามันมากระทบเรา วัคซีนหรือภูมิคุ้มกันอาจจะหายไปบ้าง เราก็เติมพลังบวกกลับมา สสส. เราทำงานเรื่องการสร้างเสริมสุขภาวะด้วยวิธีการจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) คือการใช้ต้นทุนเชิงบวกในชีวิตเพื่อจัดการปัญหาที่เราทุกคนต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็มีองค์ประกอบอยู่ด้วยกันไม่กี่อย่างเท่านั้นเองครับ 

องค์ประกอบของจิตวิทยาเชิงบวกที่ สสส. ให้ความสำคัญได้แก่อะไรบ้าง 

อย่างแรกคือ ‘Hope’ หรือ การใช้ชีวิตอย่างมีความหวัง ซึ่งกระบวนการสร้างความหวังทำได้ง่ายมาก คือมองดูปลายทาง ความสำเร็จ มองถึงจุดเบิกบานของชีวิต อย่างที่ 2 คือ ‘Optimism’ หรือ การมองโลกในแง่ดี ซึ่งทำได้ด้วยวิธีง่ายๆ เช่น ลิสต์ออกมาเลยครับว่าตื่นเช้านี้เราต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้เกิดความรู้สึกว่าใจฟู อย่างที่ 3 คือ ‘Resilience’ หรือรู้จักยืดหยุ่น ล้มแล้วลุกให้ได้ไว บ้างก็แปลว่าฮึดสู้ คือเวลาเกิดความล้มเหลวหรือเหตุการณ์อะไรที่ทำให้รู้สึกแย่หลายคนก็อาจจะจ่อมจม และรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง อย่างวันนี้เราเจอแฟนทิ้ง ครูที่โรงเรียนบ่น หัวหน้าด่า หรือเพื่อนร่วมงานไม่รัก เมื่อไรที่เราล้ม ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องล้มอยู่อย่างนี้ไปถาวรถูกไหมครับ คือมันโอเคแหละที่เราล้มและร้องไห้ แต่มันก็จะมีวันที่เราดีขึ้นด้วย ชีวิตมันเป็นแบบนี้ มันไม่ได้แย่อย่างนั้นตลอดเวลา และสุดท้ายคือ  ‘Self-Efficacy’ คือแบบนี้ก็เจอมาแล้ว หนักกว่านี้ก็เคยเจอมาก่อน ครั้งนี้ทำไมเราจะไม่รอด มันคือความพยายามเชื่อมั่นว่า ฉันผ่านมาแล้ว ฉันจัดการปัญหาแบบนี้ได้ ฉันจะผ่านมันไปได้อีกครั้ง

ดังนั้นเฟรมเวิร์คและปรัชญาในการทำงานของ สสส. เราจึงจะโฟกัสไปที่การสร้างปัจจัยทั้ง 4 อย่างนี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถจัดการกับปัญหาของตัวเองได้ และช่วยให้คนรอบข้างสามารถดีลกับปัญหาสุขภาพจิตของตัวเอง ช่วยมอบความหวังให้กับคนที่เขาห่วงใยได้ นี่คือยุทธศาสตร์ในการทำงานด้านสุขภาพจิตของเรา คือเร่งให้เกิดกระบวนการสร้างจิตวิทยาเชิงบวก ในการทำงาน ใช้ชีวิต อยู่ในสังคมอย่างรู้สึกว่าเรามีคุณค่า

นี่จึงนำไปสู่การทำโครงการร่วมกับชุมชนในท้องถิ่นอย่างนี้ใช่ไหม

ใช่ครับ สสส. เราพยายามใช้พลังชุมชนท้องถิ่นเข้ามาร่วมส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตให้กับคนไทย อย่างโครงการพัฒนาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตของชุมชนท้องถิ่นในสถานการณ์วิกฤตและตลอดช่วงชีวิต นำร่องใน 10 พื้นที่ เช่น 1.อบต.วังสะพุง อ.วังสะพุง จ.เลย 2.อบต.วังกรด อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร 3.รพ.สต.บ้านคลองเหมืองใหม่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม 4.อบต.ห้วยทับทัน อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ

ในส่วนของการสนับสนุนโครงการต่างๆ ในมิติการทำงานเพื่อสร้างเสริมสุขภาพจิตนั้นไม่มีโมเดลเดียวสำหรับทุกคนถูกไหมครับ ทุกชุมชนต่างก็มีต้นทุนในการจัดการปัญหาด้านสุขภาพจิตในพื้นที่ซึ่งแตกต่างกัน เช่น ชุมชนที่มีมิติทางศาสนาเยอะๆ เราก็ทำงานกับผู้นำทางศาสนา ในการช่วยเยียวยา ให้พลังใจ บำบัด ใช้วิธีทั้งเชิงพุทธ คริสต์ อิสลาม ส่วนบางชุมชนที่มีโรงเรียนหนาแน่นเราก็อาจจะทำงานกับครู ผ่านกระบวนการทำความเข้าใจเรื่องสุขภาพจิตว่าเด็กๆ ส่วนใหญ่มีปัญหาอะไร ครูควรจะดีลกับเด็กๆ อย่างไร บางชุมชนมีผู้สูงวัยเยอะก็จะเข้าไปถอดบทเรียนการทำงานกับสู้กับผู้สูงวัยที่เกษียณแล้วซึ่งมักจะประสบปัญหารู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า ไม่มีความสำคัญ เราก็จะถอดบทเรียนที่ชุมชนนั้นทำอย่างไรให้ผู้สูงวัยรู้สึกกลับมารู้สึกมีคุณค่าต่อตัวเองและสังคมได้อีกครั้ง ทั้งยังให้ชุมชนอื่นๆ ได้มาเรียนรู้ต่อยอดองค์ความรู้ตรงนี้ ถ่ายทอดจากชุมชนนำไปปรับใช้สู่อีกชุมชน กลายเป็นบทเรียนพร้อมใช้โดยไม่ต้องเริ่มต้นใหม่จากศูนย์ อย่างนี้เป็นต้นครับ  

นอกจาก สสส. ทำงานร่วมกับชุมชนแล้วยังทำงานกับพันธมิตรไหนบ้าง  

เราทำงานร่วมกับหลายองค์กรมาก ทั้งมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ไปถอดวิธีการองค์ความรู้แบบนี้ตามพื้นที่ภาคต่างๆ เยอะเหมือนกันครับ ทำให้ค้นพบว่ามูลค่าสินทรัพย์ในเชิงความรู้ของพื้นที่นั้นมีอยู่เยอะมาก เช่น เราทำงานกับมูลนิธิรักษ์ไทยในเรื่องของแรงงานนอกระบบและแรงงานข้ามชาติ ซึ่งมีปัญหาสุขภาพจิตมาก โฟกัสใน 3 จังหวัดชายแดนภาคอีสาน อย่างในช่วงโควิดซึ่งเขาถูกตัดเงินเดือน ถูกไม่ให้มาทำงาน เหล่านี้เขามีวิธีการจัดการเยี่ยวยาดูแลจิตใจตัวเองอย่างไร คนรอบข้างมีส่วนสนับสนุนให้เขายืนหยัดผ่านช่วงนั้นอย่างไรบ้าง ซึ่งก็พบโมเดลที่หลากหลาย ก็เป็นโครงการที่น่าสนใจซึ่งน่าจะได้เริ่มเก็บเกี่ยวความสำเร็จในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ว่าแต่ละพื้นที่ได้รับบทเรียนที่สามารถจะนำไปขยายผลต่ออย่างไรได้บ้าง ซึ่ง สสส. จะได้นำเสนอบทเรียนรวมถึงข้อเสนอแนะให้กับคณะกรรมการเลขานุการกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ เพื่อที่จะนำไปสร้างเป็นนโยบายต่อในระดับประเทศ 

อย่างที่บอกไปว่าเรามุ่งทำงานในลักษณะซึ่งเป็นการส่งเสริมสุขภาวะ (Better Health Promotion) แทนที่จะเป็นการช่วยเหลือปัจเจกทีละคน (Individual Based Intervention) ซึ่งในทางการแพทย์ของไทยเราโฟกัสไปในลักษณะนั้น ประเทศไทยเรามีประชากร 70 ล้านกว่าคน ในขณะที่เรามีจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพียงแค่ไม่กี่แสนคน เราไม่สามารถฝากความหวังไว้ที่บุคลากรในระบบได้เพียงอย่างเดียวครับ เพราะอย่างไรก็ไม่พอ สิ่งที่ สสส. เราพยายามทำจึงเป็นการสร้างนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนสร้างผลกระทบให้แก่คนส่วนใหญ่ได้ในคราวเดียว (Population Based Invention) ซึ่งก็ท้าทายมาก แต่ต้องทำให้ได้ ไม่อย่างนั้นเราก็จะต้องพึ่งพาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาอย่างเดียว ซึ่งไม่เพียงพอแน่นอน แล้วกว่าจะสร้างคนได้พอก็จะต้องใช้เวลามหาศาล

พอจะเข้าใจในภาพรวมและเหตุผลในการดึงพลังชุมชนร่วมเดินหน้าส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตแล้ว แต่ก็ยากเหมือนกันนะ เพราะเมื่อพูดถึงการดีลกับคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตของคนไทยโดยทั่วไปแล้ว ก็เกิดคำถามว่า คนไทยเราเข้าใจในเรื่องนี้ซึ่งมีความละเอียดอ่อนดีพอหรือยัง เพราะดูอย่างบางข่าวพ่อแม่พูดผิด กลายเป็นว่าลูกวิ่งไปฆ่าตัวตาย หรือปรึกษาเพื่อนก็กลายเป็นว่ายิ่งเครียดกันขึ้นไปอีก

ครับ ผมจึงบอกว่านี่เป็นภารกิจที่ท้าทายมาก ซึ่งเราพยายามจะเร่งแก้ โดยการอัพสกิลให้คนทั่วไปในชุมชนที่เราทำงานด้วยมีทักษะการฟังอย่างตั้งใจ หรือ ‘Deep Listening’ ซึ่งทั้ง สสส. และกรมสุขภาพจิตต่างก็ใช้เป็นยุทธศาสตร์หลักเลย 

คำแนะนำในการดีลกับคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตก็คือ เมื่อมีผู้ป่วยซึมเศร้าหรือคนที่มีภาวะซึมเศร้ามาคุยกับเรา สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ ‘ฟัง’ อย่างตั้งใจโดยไม่ต้องแสดงความคิดเห็นใดๆ แค่จับมือ ให้ Eye Contact ให้เขารู้สึกว่าเขาไม่โดดเดี่ยว นี่เป็นหัวใจที่สำคัญมาก แต่ที่ผ่านมาคนไทยส่วนใหญ่มักจะพูดกันติดปากว่า “สู้ๆ นะ”  ซึ่งมันเป็นคำที่ละเอียดอ่อน เพราะบางคนเขาสู้มาจนก็ไม่รู้ว่าจะสู้อย่างไรแล้ว คือเมื่อทำงานกับคนที่มีภาวะซึมเศร้าหรือผู้ป่วยซึมเศร้าหลายครั้งเราจะมีคำที่ควรหลีกเลี่ยง ซึ่งละเอียดอ่อนมาก แล้วบางทีความเซนซิทีฟต่อคำของบางคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนจะอ่อนไหวกับบางคำเป็นพิเศษ ในขณะที่บางคนอาจไม่รู้สึกเป็นปัญหาอะไรกับคำเหล่านี้ เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่เราคุยกับภาคีและคนที่เราทำงานด้วยตลอดเวลาก็คือ เราบังคับให้ใครไม่พูดอะไรไม่ได้ เวลาใครสักคนหนึ่งให้ความคิดเห็นอะไรตอบกลับมา เราบังคับเขาไม่ได้ เราอยู่ในโลกของ Free Speech เพราะฉะนั้นสมมติว่าเรามีภาวะซึมเศร้า มีความกังวลใจในบางเรื่องอยู่ ก็ให้เลือกคนที่เราไว้ใจที่จะคุยด้วย คนที่จะไม่เหยียบหรือปริแผลเราซ้ำ อันนี้คือประเด็นที่ 1 

ส่วนประเด็นที่ 2 คือบางทีเราก็อาจจะอยู่ในชุมชนที่มีแต่ ‘Toxic People’ หรือคนที่พ่นพิษร้ายต่างๆ ซึ่งถ้าเราไหวเอนเยอะๆ เราจะคุมตัวเองไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราอยู่ในสถานการณ์ที่มีคนแบบนั้นเยอะๆ วิธีการที่ดีที่สุดคือขอให้เอาตัวเองออกมา และต้องมีสติ คีย์เวิร์ดสำคัญของภาวะซึมเศร้าหรือปัญหาเรื่องฆ่าตัวตาย คือต้องมีสติ พูดแบบนี้อาจฟังดูง่าย แต่เราจะทำได้อย่างไร บางคนอาจจะพกรูปพ่อแม่ติดมือถือไว้ บางคนพกรูปหมาหรือรูปแมวที่เขารักมากเอาไว้ดูเพื่อเตือนใจให้กำลังใจ บางคนอาจสวมสร้อยพระ แต่ละคนก็จะมีวิธีการต่างกัน เพราะฉะนั้นการเริ่มต้นที่ดีที่สุดคือที่ตัวเองก่อนเลย ซึ่งผมอยากจะบอกว่าในเรื่องปัญหาสุขภาพจิตนั้น หลายๆ คนมักชอบให้คนอื่นกอดเรา เพราะเรารู้สึกอบอุ่น แต่บางทีเราก็ลืมโอบกอดตัวเองนะ คือเราลืมรักตัวเอง เมื่อใดก็ตามที่เรา Demand หรือพึ่งพิงความรักจากคนอื่นตลอดเวลา เธอต้องยอมรับฉัน เธอต้องเข้าใจฉัน เธอต้องใส่ใจฉัน บางทีนั่นก็เป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพจิตของตัวเราเอง เพราะท้ายที่สุดแล้วคนที่จะดูแลเราได้ดีที่สุดก็คือตัวเอง เราต้องมีสติคอยเตือนตัวเองให้รู้จักรักและโอบกอดตัวเอง ไม่อย่างนั้นเราจะควานหาสิ่งที่เราไม่รู้ว่าคนรอบข้างเขาให้เราได้หรือเปล่า เราต้องหัดรู้จักมองโลกในแง่ดี เพิ่มความหวังพลังบวกให้ตัวเอง แทนที่จะไปคาดหวังเอาจากคนอื่น

ทราบมาว่าทาง สสส. มีการทำงานสร้างนวัตกรรมที่เป็น Platform สำหรับผู้มีปัญหาสุขภาพจิตด้วย 

อย่างที่บอกไปว่า สสส. เรามุ่งเกียร์ไปในทางที่เป็น Population Based Invention คือแก้ปัญหาให้กับคนส่วนใหญ่ได้ในคราวเดียว เราจึงร่วมสนับสนุน คณะจิตวิทยา จุฬาฯ ในการทำแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า ‘Here to Heal’ ให้บริการปรึกษาด้านสุขภาพจิตออนไลน์ ซึ่งหากเราส่งข้อความผ่านทางแชตไปก็จะมีทั้งนักจิตวิทยาและอาสาสมัครบริการให้คำปรึกษา ไปจนถึงมีส่งต่อหากใครสักคนจำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการรักษา นอกจากนี้เรายังสนับสนุนการพัฒนา ‘DMIND’ (Detection and Monitoring Intelligence Network for Depression) แอปพลิเคชันตรวจสุขภาพใจ ที่ช่วยในการคัดกรองผู้มีภาวะซึมเศร้า นวัตกรรม AI ที่เกิดจากความร่วมมือของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และกรมสุขภาพจิต โดยแอปฯ นี้จะเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชัน Line ‘หมอพร้อม’ ซึ่งเราสามารถเข้าไปแชทคุยกับแชทบอทได้ เพื่อทำการตรวจสุขภาพใจ จะมีการให้เปิดกล้องเล่าความรู้สึกต่างๆ โดยแอปฯ จะเก็บทุกอย่างไว้เป็นความลับ และจะมี AI ที่ฉลาดมากคอยตรวจจับสีหน้า แววตา และน้ำเสียง ประมวลผลคัดกรองคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตเข้าสู่กระบวนการดูแลรักษาเต็มรูปแบบ ซึ่งอยากให้ทุกคนหรือใครที่มีปัญหาได้ลองไปใช้กันดูครับ เพราะดีมากๆ 

นอกจากแอปพลิเคชันที่เป็นนวัตกรรมแบบนี้ สสส. เราก็ยังสนับสนุนการทำงานของสมาคมสะมาริตันส์ ที่ทำหน้าที่เป็นสายด่วนรับฟังปัญหาป้องกันการฆ่าตัวตาย สนับสนุนให้เขาทำหลักสูตรอบรม Deep Listening กับน้องๆ ในมหาวิทยาลัย 4 แห่ง เพื่อให้เขารู้วิธีการรับฟังปัญหาของเพื่อนๆ และยังมีการทำงานคู่ขนานร่วมไปกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส คือรายการ ‘บ้าน-พลัง-ใจ’ ซึ่งทำต่อเนื่องมาได้ประมาณ 2-3 ปี แล้ว และอยากชวนให้ทุกคนได้กลับไปดูรายการนี้ในช่อง YouTube ซึ่งน่าจะมีตัวอย่างที่เป็น Case Study ต่างๆ ที่อาจจะตรงกับปัญหาที่หลายคนประสบและเป็นประโยชน์ สร้างแรงบันดาลใจให้รู้สึกว่าไม่ได้โดดเดี่ยวเผชิญปัญหาอยู่คนเดียว เมื่อล้มก็สามารถลุกขึ้นใหม่ได้

ทั้งหมดที่กล่าวมาไม่ว่าจะเป็นการทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อดึงและเสริมพลังให้ร่วมเดินหน้าส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิต การสนับสนุนให้มีการสร้างนวัตกรรมที่เป็น Platform ต่างๆ ไปจนถึงรายการโทรทัศน์ก็ล้วนเป็นการที่ สสส. เราพยายามที่จะเกียร์ไปสู่ปลายทางของการแก้ปัญหาซึ่งเรามองว่า Population Based Invention คือคำตอบ

ตอนนี้รู้สึกว่าปัญหาที่ชัดเจนในตอนนี้คือเรื่องเศรษฐกิจข้าวยากหมากแพง ค่าครองชีพพุ่งขึ้นสูงมาก ดูน่าเป็นห่วงว่าจะส่งผลต่อปัญหาสุขภาพจิตของคนในสังคมมากขึ้น 

ทุกข์ในเรื่องเศรษฐกิจนั้นอันตรายระดับสาหัสสากรรจ์เลยครับ คือถ้าไปดู Guideline เรื่องสุขภาพจิต ของ WHO เขาจะพูดเอาไว้ชัดเจนเลยครับว่า “การจะแก้ปัญหาสุขภาพจิตได้ต้องทำงานกับกับ Non-Health Sector” คือปัญหาสุขภาพจิตนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับกระทรวงหรือหน่วยงานสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว แค่วันนี้ประชาชนไม่มีเงินกินข้าวก็จิตตกแล้ว เพราะฉะนั้นการทำงานสนับสนุนเรื่องเศรษฐกิจการจ้างงาน การให้คนมีบ้านที่ปลอดภัย ป้องกันความรุนแรงในครอบครัวไม่ให้เกิดขึ้น เอาจริงๆ คือทุกอย่างทำให้เราสุขภาพจิตดีและแย่ได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นก็จริงอย่างที่ WHO พูด คือทำอย่างไรให้มีการทำงานกับ Non-Health Sector ให้มากขึ้น ทำอย่างไรเราจึงจะทำงานแล้วมีรายได้พอกิน สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข เพราะฉะนั้นมันจึงเกี่ยวพันกันไปหมด การแก้ปัญหาสุขภาพจิตนั้นไม่ได้เป็นหน้าที่ของแค่กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข อย่างเดียวไม่พอ ต้องไปทำงานกับหลายกระทรวงมาก และยังต้องทำงานร่วมกันไปทั้งระดับประเทศ ระดับชุมชน ระดับครอบครัว ระดับคนต่อคน ซึ่งนี่ถือเป็นปัญหาที่พวกเราทุกคนจะต้องร่วมมือกันครับ 

อยากฝากอะไรสำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต และคนที่อาจจะมีคนใกล้ตัวประสบปัญหาคิดอยากฆ่าตัวตาย 

ถ้ามองถึงระดับปัจเจกตัวเราเอง ก็อยากจะให้รู้เท่าทันว่า เรามีแนวโน้มเสี่ยงหรืออยู่ในภาวะซึมเศร้าหรือเปล่า แนะนำว่าให้ลอง Check In ตรวจสอบสุขภาพใจตัวเองคัดกรองภาวะซึมเศร้ากันเป็นระยะครับ ผ่านทาง ‘DMIND’ หรือ  ‘Here to Heal’ ที่บอกไปแล้วก็ได้ นอกจากนี้ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ก็ยังมี Website ชื่อ ‘Mental Health Check In’ ซึ่งเราสามารถเข้าไปเช็กสุขภาพจิตเบื้องต้นกันได้ครับ สำคัญที่สุดคือ คนรอบข้าง จริงๆ แล้วก็มีสัญญาณเตือนว่าคนใกล้ชิดของเขาอยู่ในภาวะเสี่ยงหรือมีอาการที่เป็นสัญญาณเตือนอยู่ 4-5 อย่าง ครับ อย่างถ้าอารมณ์เศร้า อ่อนแอ อ่อนไหวเยอะๆ นี่ ต้องรีบเข้าไปพูดคุย คอยรับฟังอย่างตั้งใจ เมื่อไรที่เขาแสดงความรู้สึกคิดลบหรือส่งสัญญานผ่าน Facebook Status อะไรก็ตาม นอกจากรับฟังแล้วก็ควรเลือกคำพูดด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ ที่ฟังแล้วจะไม่ไปซ้ำเติมหรือปริแผลเขาให้ขยายเพิ่มอีก นอกจากนี้ความจำไม่ดี หรือการปลีกตัวเองออกจากสังคมก็เป็นสัญญานเตือนอีกอย่างที่ต้องคอยจับตาดูด้วย แล้วถ้าเขามีอาการที่เราเห็นว่าไม่ไหวน่าเป็นห่วงแล้วนี่ ผมคิดว่าเพื่อนๆ พ่อแม่ ผู้ปกครอง คนรอบข้าง เราลองเสนอพาเขาไปศูนย์บริการที่เหมาะสม ไปเปิดใจรับความช่วยเหลือจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยาซึ่งเป็นมืออาชีพก็ได้ครับ 

สุดท้ายนี้อยากจะบอกกับทุกคนว่า ทุกปัญหามีทางออก มีทางแก้ สติเป็นสิ่งที่สำคัญ เราไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว และปัญหาเรื่องสุขภาพจิตเป็นปัญหาที่เราทุกคนช่วยกันได้ครับ

AUTHOR