คำเตือน: บทความนี้กล่าวถึงการเสียชีวิต ปัญหาสุขภาพจิต และโรคซึมเศร้า
สังเกตไหม? ผู้คนในสังคมเริ่มพูดและเขียนระบายความรู้สึกเชิงลบด้วยคำว่า ‘อยากตาย’ มากขึ้น จนประโยคที่มีความหมายรุนแรงระดับนี้กลายเป็นคำพูดติดปากทั่วไปในวงกว้าง หลายคนจึงมองว่า การพูดเช่นนี้เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่ต้องจริงจัง ขณะที่คนรุ่นเก่าให้ความหมายต่อคำพูดนี้แตกต่างกับคนรุ่นใหม่อย่างสิ้นเชิง ผู้ใหญ่หลายคนยอมรับไม่ได้ที่ลูกหลานกล่าวประโยคนี้ออกมา นำไปสู่การทะเลาะ และรอยร้าวในครอบครัว ซึ่งเกิดจากความไม่เข้าใจกันระหว่างคนต่างรุ่น
แม้ปัจจุบัน คำพูดนี้จะถูกนำมาใช้ในสถานการณ์ที่หลากหลาย และไม่ได้บ่งบอกความรู้สึกที่แท้จริงของผู้พูด เพราะบางคนอาจพูดในสถานการณ์ที่น่าอึดอัดใจ บางคนอาจไม่ได้ต้องการจบชีวิตดังที่กล่าว หรือบางคนอาจพูดติดตลกประชดชีวิตกับเพื่อนสนิท แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าที่จริงแล้ว เบื้องหลังประโยคดังกล่าวมีความหมายอะไรซ่อนอยู่
ครั้งนี้ a day ชวน ‘กุลปริยา ธำรงธัญลักษณ์’ นักจิตวิทยาการปรึกษา ฝ่ายส่งเสริมสุขภาวะนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chula Student Wellness) พร้อมคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นตัวแทนของ 2 มุมมอง ทั้งคนที่มองเป็นคำบ่นทั่วไป และคนที่พูดเพราะเป็นโรคซึมเศร้า เพื่อค้นหาคำตอบว่า ทำไมประโยคนี้จึงกลายเป็นคำฮิตติดปากของคนยุคนี้ และแท้ที่จริงแล้ว มันเป็นแค่คำพูดบ่นทั่วไป หรือเป็นสัญญาณเตือนของปัญหาสุขภาพจิต
คำพูดติดปากทั่วไปของคนรุ่นใหม่
“คำว่า ‘อยากตาย’ เป็นคำพูดติดปาก ซึ่งมักเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกไม่ดี อึดอัดใจ หรือกดดันมาก จนไม่อยากอยู่ตรงนั้นอีกต่อไปแล้ว เช่น ลูกค้าสั่งแก้ไขงานใหม่ อยู่ท่ามกลางกลุ่มคนที่ไม่สนิท หรือแม้แต่มีคนท่าทางแปลกๆ เข้ามาคุยด้วย เราอยากออกจากสถานการณ์เหล่านั้น จึงพูดประโยคดังกล่าวที่บ่งบอกถึงทางออก”
ทราย (นามสมมติ) นักออกแบบกราฟิก วัย 23 ปี ผู้พูดประโยคข้างต้นเป็นประจำ ระบุว่า เธอพูดประโยคนี้เพราะแค่อยากบ่น ไม่ได้ประสบปัญหาสุขภาพจิต แม้ความหมายของคำพูดนี้จะรุนแรง แต่เธอรู้ดีว่า ตัวเองไม่มีเจตนาอยากเสียชีวิตจริงๆ คล้ายกับการบ่นว่าอยากลาออก เพราะเหนื่อยจากการทำงาน แต่ไม่ได้คิดจะลาออกจริงๆ
“ประโยคนี้เป็นตัวแทนของความรู้สึกได้ชัดเจน แต่เราไม่เคยคิดจะทำจริง”
อีกทั้ง คนรุ่นราวคราวเดียวกันในสังคมยังพูดประโยคดังกล่าวเป็นวงกว้าง สังเกตได้จากข้อความทวีตในแพลตฟอร์ม X ทำให้เธอมองว่า ประโยคนี้กลายเป็นคำพูดเล่นติดตลกที่ไม่จริงจัง แต่สำหรับคนที่พูดเพราะรู้สึกอยากจากโลกนี้ไปจริงๆ เขาก็คงไม่ได้มองว่าประโยคนี้เป็นคำพูดติดปากทั่วไป
“เหตุผลที่หลายคนไม่รู้สึกว่าประโยคนี้เป็นเรื่องใหญ่ อาจเพราะเข้าใจบริบทการสื่อสารจากสภาพสังคมไทยที่มักมองทุกอย่างเป็นเรื่องตลก (Joke) เราไม่ได้พูดประโยคนี้ด้วยน้ำเสียงเศร้าหรือจริงจัง บางครั้งหัวเราะต่อท้าย รวมถึงมักพูดคุยกับคนใกล้ชิดที่อยู่ร่วมสถานการณ์เดียวกัน เขาจึงเข้าใจความหมายที่เราต้องการจะสื่อ ถ้าอีกฝ่ายเป็นคนไกลตัว เราคงไม่พูดประโยคนี้ตั้งแต่ต้น”
แม้จะเป็นคำพูดติดปาก แต่เธอไม่เคยพูดประโยคนี้ให้พ่อแม่ได้ยิน เพราะพ่อแม่คงมองเป็นเรื่องจริงจังที่มีนัยไม่ดีบางอย่างซ่อนอยู่ เธอเคยพูดว่า “ไม่น่าเกิดมาเลย” ด้วยน้ำเสียงจริงจังตอนทะเลาะกัน แม่ก็โวยวายด้วยความโกรธว่า “ทําไมพูดแบบนี้ พูดแบบนี้ไม่ดีเลย กว่าจะเกิดมาไม่ใช่เรื่องง่าย พ่อแม่อุตส่าห์เลี้ยงดูจนโตมาถึงตอนนี้” เธอจึงหลีกเลี่ยงที่จะพูดประโยคทำนองนี้
เธอมองว่า ประโยคดังกล่าวไม่ต่างจากคำบ่นอื่นๆ ทั่วไป เปรียบเสมือนการระบายปัญหาความเครียดหรือความทุกข์ ซึ่งช่วยคลายเครียด และทำให้รู้สึกสบายใจขึ้น อย่างน้อยก็สามารถเรียกเสียงหัวเราะหรือรอยยิ้มจากคนรอบข้าง จึงเป็นวิธีที่ดีกว่าการเก็บความรู้สึกแย่ไว้ในใจ
“เราคิดว่าไม่ควรพูดประโยคนี้บ่อย เพราะอาจส่งต่อพลังงานลบ และบั่นทอนความรู้สึกทั้งของผู้พูด ผู้ฟัง คนรอบตัว รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการพูดในสถานการณ์ที่คนอื่นไม่เข้าใจความหมายเดียวกับเรา สิ่งสำคัญคือจำเป็นต้องพิจารณาบริบทการสื่อสารและผู้ฟัง”
บางทีคำพูดนี้อาจเป็นเป็นสัญญาณเตือนของปัญหาสุขภาพจิต
ฟ้า (นามสมมติ) พนักงานบริษัทเอกชน วัย 23 ปี อดีตผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เล่าว่า เธอพูดประโยคนี้บ่อยในช่วงที่เป็นโรคซึมเศร้า เพราะรู้สึกเช่นนั้นจริงๆ เหมือนมองไม่เห็นทางออกของชีวิต ขณะที่บางครั้งไม่ได้มีเหตุการณ์ไม่ดีเกิดขึ้นอย่างชัดเจน แต่เธอพูดประโยคนี้ออกมา เพราะมีมวลความรู้สึกแย่ที่หนักอึ้งในใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หลังจากนั้น เมื่อได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้น ประโยคดังกล่าวกลายเป็นคำพูดติดปากมากกว่าความรู้สึกที่แท้จริง
หากพูดประโยคดังกล่าวให้ครอบครัวได้ยิน ปฏิกิริยาตอบกลับของพ่อแม่จะแตกต่างกัน โดยพ่อจะโมโห หงุดหงิด และนำไปสู่การทะเลาะกันในท้ายที่สุด เพราะพ่อมองว่าเธออ่อนแอ และรับไม่ได้ที่ตัวเองไม่สามารถเลี้ยงลูกให้มีความสุข ส่วนแม่จะแสดงออกว่าเป็นห่วงอย่างชัดเจน ทุกครั้งที่พูดประโยคนี้ เธอมักจะเห็นสีหน้าเศร้าของแม่เสมอ โดยแม่จะตอบกลับว่า “อย่าพูดแบบนั้น” เพราะแม่กลัวว่า เธอจะทำเช่นนั้นจริงๆ เดิมทีแค่เห็นลูกทุกข์ใจ หัวอกของคนเป็นพ่อแม่ก็รู้สึกแย่อยู่แล้ว แต่เมื่อได้ยินลูกพูดถึงเรื่องอยากจากไป ความรู้สึกเหล่านั้นยิ่งทวีคูณความรุนแรงขึ้นไปอีก
หากลูกตกอยู่ในสภาวะเศร้า พ่อแม่ควรตอบกลับอย่างเข้าใจและอยู่เคียงข้าง หรือทำให้ลูกรู้สึกได้รับการสนับสนุน ส่วนสิ่งที่ไม่ควรแสดงออกคือ การใช้อารมณ์ การพูดคุยด้วยความโกรธ การปัดปัญหาให้ลูกแก้ไขเพียงคนเดียว รวมถึงการตอบกลับด้วยคำพูดบั่นทอน เช่น “รู้สึกแบบนั้นได้ยังไง สิ่งที่เจออยู่ไม่ได้ยากเลย” หรือ “เลี้ยงมาดีขนาดนี้ เป็นซึมเศร้าได้ยังไง”
อย่างไรก็ตาม การตอบกลับที่ถูกต้องไม่ได้มีแบบแผนเดียว เพราะผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีความต้องการแตกต่างกัน เนื่องจากแต่ละคนเติบโตมาคนละแบบ วิธีการที่ทำให้รู้สึกถึงความรัก ความใส่ใจ และความอบอุ่นจึงมีรูปแบบที่ไม่เหมือนกัน
การพูดประโยคนี้เป็นประจำ อาจก่อให้เกิดแบบแผนพฤติกรรมที่เกิดขึ้นซ้ำๆ (Repetitive Behavior) จนกลายเป็นหนึ่งในอัตลักษณ์ตัวตนของผู้พูด ซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบต่อคนรอบข้าง เช่น คำพูดดังกล่าวอาจกระตุ้นหรือทิ่มแทงความรู้สึกของเพื่อนที่กำลังเศร้า ทำให้เขารู้สึกแย่กว่าเดิม และคนรอบข้างอาจมองว่า ตัวเองต้องแบกรับภาระหนักอึ้งในการดูแลจิตใจของคนอื่น ทั้งที่ตัวเขาเองยังไม่พร้อมจะดูแลใคร ปัจจุบันเธอจึงมองว่า ประโยคนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรพูด แม้ผู้พูดจะไม่ได้รู้สึกอยากจบชีวิตดังที่กล่าว หรือไม่มีปัญหาสุขภาพจิตก็ตาม เพราะยังมีคำพูดระบายความรู้สึกอีกมากมายที่ไม่ส่งพลังงานลบให้กับตนเองและผู้อื่น
สุดท้าย คำพูดดังกล่าวไม่ใช่ข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนว่า ผู้พูดเป็นโรคซึมเศร้า หรือประสบปัญหาสุขภาพจิตไหม เพราะยังมีเส้นกั้นบางๆ ระหว่างคำติดปากกับสัญญาณขอความช่วยเหลือ ดังนั้น ถ้าสังเกตเห็นว่า ตัวเองพูดคำนี้บ่อย แต่ไม่รู้ว่าตัวเองประสบปัญหาไหม สิ่งที่ควรทำต่อไปคือ ‘การรู้เท่าทันความรู้สึกและความคิดของตัวเอง’ เช่น สำรวจจากวงล้อแห่งอารมณ์ (The Wheel of Emotions) หรือใช้แอปที่ช่วยติดตามความรู้สึกประจำวัน รวมถึงเขียนบันทึก (Journal Writing) เพื่อรู้เท่าทันความคิดของตัวเอง การเขียนบันทึกระบายความรู้สึก จะทำให้สังเกตได้ง่ายขึ้นว่า ปัญหาที่สร้างความกังวลให้แก่เราคืออะไร
วิเคราะห์ปรากฏการณ์ ‘คำติดปากระดับรุนแรง’ ผ่านมุมมองของนักจิตวิทยา
“คำว่า ‘อยากตาย’ ถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายสภาวะที่เหนื่อยจนไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป ไม่ว่าผู้พูดจะรู้สึกแบบที่กล่าวหรือไม่ก็ตาม เพราะคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ให้ความหมายต่อคำพูดนี้เปรียบเสมือนคำสบถหรือคำบ่นที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงความเหนื่อยและท้อแท้มาก จนถึงขั้นอับจนหนทาง หรือรู้สึกเป็นทางตันของชีวิต ประโยคนี้จึงผุดขึ้นมา เนื่องจากการตายคือ การที่เรากระโดดข้ามไปสู่การไม่มีชีวิต”
‘กุลปริยา ธำรงธัญลักษณ์’ นักจิตวิทยาการปรึกษา ฝ่ายส่งเสริมสุขภาวะนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chula Student Wellness) เล่าถึงสาเหตุของปรากฏการณ์นี้ไว้ว่า ‘อยากตาย’ กลายเป็นคำพูดติดปากของคนยุคนี้ เนื่องจากผู้คนในปัจจุบันพบเจออุปสรรคและปัญหาหลายอย่างถาโถมเข้ามา ทำให้ต้องเผชิญภาวะเหนื่อยล้า จนไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไปบ่อยครั้ง จึงมองว่า ‘การตาย’ เป็นทางออกที่ดีกว่า หรือเป็นหนึ่งในทางเลือกของชีวิตมากขึ้น ส่งผลให้ผู้คนกล้าพูดประโยคดังกล่าวมากขึ้นเป็นวงกว้าง ซึ่งแตกต่างจากเดิมที่เคยเป็นคำต้องห้ามระดับรุนแรง แม้แต่ในต่างประเทศ นักจิตวิทยายังต้องขออนุญาตในการใช้คำพูดนี้ เพื่อให้บริการคำปรึกษาสุขภาพจิต
โดยสามารถอธิบายปรากฏการณ์นี้ด้วยโมเดลชีวจิตสังคม (Biopsychosocial Model) ซึ่งคือแนวคิดทางจิตวิทยาสำหรับวิเคราะห์ปัญหาสุขภาพจิตผ่าน 3 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยทางชีวภาพ (Biological Factors) ปัจจัยทางจิต (Psychological Factors) และปัจจัยทางสังคม (Sociological Factors)
สภาพสังคมไทยปัจจุบันมีความกดดันสูงขึ้น เพราะทุกคนต้องพยายามมีความสามารถ และแข่งขันกับผู้อื่นตลอดเวลา เพื่อประสบความสำเร็จทางด้านการงานและเงินในชีวิต ในขณะที่ปัญหาชีวิตหลากหลายเรื่องเกิดขึ้นพร้อมกัน ทำให้หลายคนอาจรับมือไม่ไหว สภาพจิตใจจึงพังทลายลงไปก่อน เนื่องด้วยปัจจัยทางสังคม (Sociological Factors) และปัจจัยทางจิต (Psychological Factors) ส่งผลให้วัยรุ่นไทยประสบปัญหาความรุนแรงด้านจิตใจและอารมณ์มากกว่าในอดีต
“คำพูดนี้เป็นสัญญาณเตือนที่สะท้อนถึงสภาวะทางใจของบุคคล ไม่ใช่คำติดปากทั่วไป เพราะถ้าเราเลือกพูดประโยคที่รุนแรงแทนความรู้สึกของตัวเอง แสดงว่าสภาวะใจภายในอาจกำลังเผชิญปัญหาหนักหน่วง แม้จะเป็นคำพูดติดตลก แต่แท้จริงแล้วอาจเป็นเรื่องตลกร้าย จึงควรคำนึงถึงการรับมือกับสภาวะนี้ของตนเอง”
ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่หลายคนอาจพูดประโยคข้างต้นโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเพราะอิทธิพลทางสังคมดังที่กล่าวไป หรือการตกอยู่ในสภาวะที่ปัญหาทุกอย่างรุมเร้า จนละเลยความรู้สึกภายใน เพราะฉะนั้น วิธีสำรวจและรับรู้สภาพจิตใจคือ การกลับมาซื่อสัตย์กับตัวเองก่อนว่า คำพูดนี้มีความหมายสำหรับเราอย่างไร
ในทางตรงกันข้าม หากคนใกล้ตัวพูดเช่นนี้หลายครั้ง เราอาจถามไถ่อีกฝ่ายว่า ช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้าง มีปัญหาอะไรหรือเปล่า เราสามารถสะท้อนสิ่งที่เขาไม่ได้พูดออกมาตรงๆ กลับไปพูดคุยกับเขา หรือถ้าคนใกล้ตัวดูเหนื่อยล้า หมดแรง และนอนน้อย เราก็สามารถหยิบยกสภาวะที่เขากำลังเผชิญมาเป็นหัวข้อสนทนาก็ได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องสื่อสารโดยแสดงให้เห็นว่า เราพร้อมที่จะรับฟังอีกฝ่าย เปิดประตูสนทนารอไว้ก่อน จนกว่าอีกฝ่ายจะพร้อมบอกเล่า
“คนในรุ่นก่อนหน้าอย่าง Gen X หรือ Baby Boomer ให้ความหมายกับประโยคนี้แตกต่างจากปัจจุบันมาก คําว่า ‘อยากตาย’ แทบจะไม่หลุดจากปากพวกเขา เพราะคนรุ่นเก่าใช้ชีวิตเพื่อให้อยู่รอด พวกเขาจึงไม่เข้าใจความหมายใหม่ของคำพูดดังกล่าว”
เมื่อลูกพูดว่าอยากตาย พ่อแม่หลายคนมักตำหนิมากกว่าให้กำลังใจ การตอบกลับเช่นนี้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อลูก และความสัมพันธ์ในครอบครัว ดังนั้น พ่อแม่ควรเงียบเพื่อรับฟังความหมาย หรือสภาวะที่ลูกกําลังสื่อสาร โดยไม่ตัดสินตามความหมายหรือความเข้าใจเดิมของตนเอง เพื่อช่วยกันคลี่คลายและแก้ไขปมปัญหา
ในขณะเดียวกัน หากลูกสามารถพูดคุยถึงสาเหตุของปัญหาอย่างตรงไปตรงมาได้ ทั้งสองฝ่ายจะมีโอกาสเข้าใจกันมากขึ้น เพราะพ่อแม่บางกลุ่มไม่เข้าใจความหมายของประโยคนี้ บางกลุ่มอาจตกใจตื่นตูม และเป็นห่วงอย่างมาก จนนำมาซึ่งการตามติดลูกมากจนเกินไป ทําให้ลูกรู้สึกผิดมากขึ้น การพูดคุยเพื่อให้เข้าใจปัญหาตรงกัน จึงเป็นทางออกสำหรับทุกคน
“ถ้าเราสามารถตระหนักรู้ว่า คําว่า ‘อยากตาย’ ของเราในที่นี้หมายถึงอย่างไร แล้วสื่อสารกับพ่อแม่หรือคนใกล้ตัวด้วยความรู้สึก หรือสภาวะของใจเรา ณ เวลานั้นจริงๆ การพูดปัญหาอย่างตรงไปตรงมา จะนําไปสู่การแก้ไขที่ดีกว่า”
การพูดประโยคดังกล่าว ทำให้ผู้พูดได้ปลดปล่อยหรือระบายอารมณ์ของตัวเอง แต่การระบายอารมณ์เพียงอย่างเดียวไม่ได้สร้างประโยชน์ต่อตัวบุคคลในระยะยาว การระบายอารมณ์เปรียบเสมือนการนำผ้าไปอุดก๊อกน้ำที่กำลังไหลอย่างรุนแรง ดังนั้น วิธีการนี้จึงไม่ใช่วิธีดูแลรักษาสภาพจิตใจที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ การเลือกใช้ประโยคดังกล่าวไปเรื่อยๆ โดยไม่ทราบความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง อาจทำให้ไม่สามารถแก้ไขต้นตอของปมปัญหา เพราะผู้พูดจะอนุมานว่า การพูดคำนี้ออกมา ทำให้ปัญหาหายไป ทั้งที่ในชีวิตจริง ปัญหาภายในใจไม่ได้จบลง อีกทั้ง ผู้พูดยังมีโอกาสจินตนาการเกี่ยวกับความตายในรูปแบบต่างๆ หรือค้นหาว่าเราจะตายอย่างไรให้เจ็บน้อยที่สุด เพราะคำพูดนี้ทำให้ความตายเข้าใกล้ตัวเรามากขึ้น
“ในฐานะนักจิตวิทยา เรามองว่าไม่ควรสั่งห้ามพูดประโยคนี้ แต่อยากให้ผู้พูดรู้ตัวว่ากำลังพูดอะไรอยู่ เพราะถ้ายิ่งห้าม สมองจะยิ่งคิด ต่อให้ไม่ได้พูดออกไป คำพูดก็ยังวนเวียนอยู่ในความคิด การเก็บความรู้สึกแย่เอาไว้ในใจ จึงอาจทำให้สภาพจิตใจย่ำแย่กว่าเดิม”
. . . . . . . . . .
บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาเหมารวมว่า ทุกคนที่พูดประโยคข้างต้นกำลังประสบปัญหาสุขภาพจิต เพียงแต่อยากให้ย้อนทบทวนความคิด และรู้เท่าทันความรู้สึกของตนเอง เพื่อจัดการสภาวะความเครียด และคลี่คลายปมปัญหาก่อนสายเกินไป เพราะการดูแลสภาพจิตใจเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย
คุณมีแค่คนเดียวบนโลก อย่าลืมดูแลหัวใจแสนมีค่าของตัวเองให้ดีที่สุด