บทเรียนจากหมอกระต่าย ความสูญเสียที่ไม่อยากให้ซ้ำรอย

21 มกราคม 2565 พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือหมอกระต่าย เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถชนบนทางม้าลาย 

โศกนาฏกรรมครั้งนั้นไม่เพียงแต่สร้างความเศร้าสลดหดหู่ หากยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของชีวิตคนเดินถนนในประเทศไทย จนทำให้หลายคนรู้สึกว่า ‘ทางม้าลายอาจไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับการข้ามถนน’ 

ถึงแม้พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เมื่อผู้ขับขี่เข้าใกล้ทางร่วม ทางแยก หรือทางข้าม ผู้ขับขี่จะต้องลดความเร็วของรถ และให้สิทธิแก่คนเดินเท้าในทางข้ามได้เดินไปก่อน แต่เมื่อคนหมู่มากไม่เคารพกฎเกณฑ์ดังกล่าว กฎหมายก็อาจกลายเป็นเพียงใบกระดาษที่ไร้ความหมาย  

ในวาระครบรอบ 1 ปีของการสูญเสียที่สั่นสะเทือนหัวใจของคนไทยทุกคน a day สนทนากับ รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม ถึงสาเหตุต้นตอของอุบัติเหตุบนถนน บทเรียนจากความสูญเสียที่ไม่อาจหวนกลับ รวมถึงแนวทางป้องกันไม่ให้ความผิดพลาดเดินซ้ำรอย 

อุบัติเหตุไม่ใช่เรื่องกรรมเก่า

ความเชื่อเรื่องปีชงและกรรมเก่าฝังรากอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน และความเชื่อเหล่านี้ถูกนำมาผูกโยงกับการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน หลายคนน่าจะเคยได้ยินประโยคเหล่านี้ “อุบัติเหตุฟาดเคราะห์” “ทำบุญให้เจ้ากรรมนายเวร” หรือ “ปีนี้ปีชง” การทำบุญสะเดาะเคราะห์หรือขอพรให้แคล้วคลาดจึงช่วยให้พวกเราใช้ชีวิตได้อย่างสบายใจขึ้น แต่เมื่อถอยออกมามองสถิติโดยภาพรวมจะพบว่า การใช้พิธีกรรมทางศาสนาไม่ได้ทำให้คนไทยประสบอุบัติเหตุน้อยลง 

“อุบัติเหตุไม่ใช่เรื่องของเวรกรรมหรือโชคชะตา พลังจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นเรื่องความเชื่อส่วนบุคคล แต่การแก้ไขปัญหาในโลกของวิชาการเน้นที่การวัดผลและตรวจสอบได้ พลังของวิชาการมีส่วนสำคัญมากในการเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการลดอุบัติเหตุในสังคมไทย

“มองย้อนไปราวๆ สองทศวรรษก่อน สสส. ริเริ่มขับเคลื่อนเรื่องการลดอุบัติเหตุบนท้องถนนในปี 2547 คีย์สำคัญที่ค้นพบคือ เราขาดหน่วยงานกลางในการเก็บข้อมูลสถิติ ส่งผลให้ข้อมูลขาดหายหรือกระจัดกระจายอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ หรือองค์กรเอกชน ทาง สสส. จึงใช้แนวทางประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ตั้งแต่หน่วยงานย่อยๆ ไปจนถึงระดับกระทรวง เพื่อการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ รวมถึงผลักดันให้มีการผลิตงานวิชาการเพื่อเป็นแนวทางในการยับยั้งป้องกัน อุบัติเหตุ นับจากนั้นสถิติการเกิดอุบัติเหตุของไทยจึงเริ่มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

สิ่งแวดล้อมคือหัวใจสำคัญ

แก่นที่แท้จริงหรือสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตบนท้องถนนไทยเปรียบได้กับสุภาษิตที่ว่า ‘เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม’ หรือการทำในสิ่งที่คนส่วนใหญ่ทำตามๆ กันมา  

“แม้พระราชบัญญัติจราจรทางบกจะระบุถึงสิทธิของการใช้รถใช้ถนนไว้อย่างชัดเจน แต่งานวิจัยที่บ่งชี้ว่า คนในสังคมไทยจำนวนมากไม่เคารพสิทธิของคนเดินเท้า ประกอบการละเมิดกฎจราจรที่เกิดขึ้นในหลายๆ ครั้ง ผู้กระทำผิดแทบไม่มีราคาที่ต้องจ่ายเลย สาเหตุเหล่านี้เองที่ทำให้กฎหมายหรือแม้แต่การรณรงค์สร้างจิตสำนึกที่กระทำกันมาเป็นสิบๆ ปีไม่ได้ผล” 

คุณรุ่งอรุณยกตัวอย่างสถานการณ์ที่ชวนให้เราขบคิดและทำให้รู้สึกจุกอกอยู่ไม่น้อย 

“เคยสังเกตไหม ทำไมคนต่างชาติที่มาจากประเทศที่เคารพกฎจราจรเป็นอย่างมาก พอมาเที่ยวเมืองไทยเขากลับเช่ามอเตอร์ไซค์ขี่ไปไหนต่อไหนโดยไม่สวมหมวกกันน็อก แต่เพราะอะไรคนไทยที่ไปประเทศคนส่วนใหญ่สวมหมวกกันน็อก เรากลับยอมทำตาม ปัจจัยสำคัญคือสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมประเภทเข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม” 

ถ้าจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เราทุกคนจึงต้องเข้ามาร่วมมือร่วมพลังด้วยกัน โดยเฉพาะหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาสังคม 

บทเรียนที่ไม่อยากให้ซ้ำรอย

การเสียชีวิตของแพทย์ผู้ที่กำลังจะกลายเป็นกำลังหลักของวงการการแพทย์ไทยอย่างเช่นหมอกระต่าย ที่สร้างความเศร้าสลดให้ผู้คนมากมายสังคมไทยคือหนึ่งในภาพสะท้อนของความมักง่าย ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า 

“เคสอุบัติเหตุของหมอกระต่ายได้ปลุกให้สังคมลุกขึ้นมาพูดถึงเรื่องนี้กันเป็นอย่างมาก ความสำคัญในการเคารพกฎจราจรและการใช้รถใช้ถนนถูกหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้ง เมื่อสำรวจพฤติกรรมบนท้องถนนของคนขับขี่รถจะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ตามสี่แยกไฟแดงหรือทางม้าลาย เราจะเห็นรถชะลอหรือหยุดเพื่อให้คนได้เดินข้ามถนนข้ามไปก่อน พูดง่ายๆ ว่าคนไทยเข้าใจและเคารพกฎจราจรมากขึ้นอย่างสังเกตได้” 

ถามว่าอะไรคือภาพฝันของคนทำงานด้านการควบคุมปัจจัยเสี่ยงบนท้องถนน คุณรุ่งอรุณบอกว่า เธอไม่อยากให้หน้าที่ในการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงสังคมเป็นเรื่องเฉพาะหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง แต่อยากให้เป็นเรื่องของทุกคนในสังคม พลังที่มาจากการร่วมมือกันจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างยั่งยืน 

“การสูญเสียครั้งนี้จะไม่สูญเปล่าหากสังคมไทยเรียนรู้และเคารพสิทธิของคนเดินถนนอย่างจริงจัง” คุณรุ่งอรุณกล่าวทิ้งท้าย

AUTHOR