เรียก เธอ ฉัน เรา หรือ เขา : ว่าด้วยเรื่อง non-binary และความสัมพันธ์ของภาษากับเพศสภาพ

Highlights

  • เกาะกระแส non-binary ในหลากหลายบริบทสังคมตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ วงการบันเทิง รอบรั้วการศึกษา และธุรกิจผลิตตุ๊กตาของเล่น
  • คิดต่อยอดการใช้สรรพนาม 'they' เรียกบุคคลที่ระบุตัวเองเป็น non-binary และความสัมพันธ์ของการใช้ภาษากับการเปลี่ยนแปลงความคิดเรื่องเพศสภาพ
  • ทบทวนข้อโต้แย้งเรื่อง non-binary ว่าเป็นสภาวะปกติของมนุษย์หรือความเบี่ยงเบนทางเพศกันแน่

เมื่อต้นปีนี้ นักร้องและนักแต่งเพลงชาวอังกฤษ Sam Smith ให้สัมภาษณ์เปิดตัวว่าเป็น non-binary และต่อมาในเดือนกันยายนขอให้แฟนเพลงใช้สรรพนาม they/them กับตนแทนที่จะเป็น he/him หลังจากนั้นไม่กี่วัน Merriam-Webster ก็เพิ่มความหมายให้ they ในพจนานุกรมอย่างเป็นทางการ ว่าเป็นสรรพนามเอกพจน์สามารถใช้เรียกบุคคลที่ระบุตัวเองเป็น non-binary ได้

View this post on Instagram

A post shared by Sam Smith (@samsmith) on

ในปี 2014 แซม สมิท ปล่อยอัลบั้มแรกออกมาพร้อมกับเปิดตัวว่าเป็นเกย์ อัตลักษณ์ทางเพศของแซมถูกจับตามองมาตลอด 5 ปี การที่ออกมาเปลี่ยนบอกว่าตัวเองเป็น non-binary แสดงถึงความลื่นไหลทางเพศ ไม่ต้องตีตราติดฉลากให้ตัวเองเพียงอย่างเดียว การรวมตัวย่ออักษร LGBTQ+ เป็นผลพวงของวิธีคิดแบบโมเดิร์นนิสม์ที่พยายามจับคนยัดใส่กล่องให้ง่ายในการจำแนก แต่เราไม่สามารถคัดแยกประเภทคนได้อย่างตัดขาดชัดเจน บางทีมีความคาบเกี่ยว และคนหนึ่งอาจจะอยากเป็นหลายอย่าง ทำไมต้องเลือก

เสียงตอบรับเรื่องการเปลี่ยนสรรพนามแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ด้านหนึ่งก็ว่าภาษานั้นสำคัญไฉน อย่าเสียเวลามาเถียงกันเรื่องคำแทนตัว ต้องเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนในสังคมให้ได้ก่อน อีกฝั่งแย้งว่าการเปลี่ยนแปลงทางความคิดประเมินลำบาก แต่การแสดงออกที่เป็นรูปธรรมอย่างการใช้ภาษาด้วยความเคารพคือการเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดวัดได้ นอกจากนั้นภาษายังเป็นตัวกำหนดตัวตน การที่สังคมตั้งค่า default ว่าบุคคลหนึ่งควรถูกเรียกยังไง กับการที่บุคลลนั้นสามารถเลือกได้เองว่าอยากถูกเรียกเช่นไร สองอย่างให้ความรู้สึกต่างกัน

นักภาษาศาสตร์ที่สนใจศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับเพศสภาพอย่าง Dennis Baron แนะว่าคำสรรพนามเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาความลื่นไหลทางเพศ บางคนสุดโต่งถึงขั้นเสนอว่าเราต้องรื้อถอนชุดภาษาที่ใช้ในปัจจุบัน เพราะมีข้อจำกัด ไม่เอื้อให้กลุ่มเพศทางเลือกแสดงออกถึงอัตลักษณ์ที่แตกต่าง หลายมหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกาสร้างบัตรคำสรรพนามขึ้นมาใหม่ เช่น ey, em, eir, eirs, eirself หรือ zie, zim, zir, zirs, zirself เพื่อแจกในงานปฐมนิเทศให้นักศึกษาเลือกว่าอยากถูกเรียกแบบไหน และบางแห่งก็บรรจุไว้ในฐานข้อมูลของสำนักทะเบียนด้วย

นอกจากวงการบันเทิงและการศึกษาแล้ว กระแส non-binary ยังขยายวงกว้างไปถึงธุรกิจผลิตตุ๊กตาของเล่นด้วยเช่นกัน ที่ผ่านมาการซื้อของเล่นและของใช้ให้เด็กเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันไม่รู้จบ สินค้าที่ผลิตออกมามีความเจาะจงอยู่ในทีว่าทำมาสำหรับเด็กชายหรือเด็กหญิง ผ่านสีหรือรูปลักษณ์อื่น Hello Kitty ยังต้องมีเพศ ทั้งหมดเกิดขึ้นจากการเหมารวมว่าเด็กชายน่าจะชอบอะไร เด็กหญิงควรจะเล่นอะไร เด็กไม่สามารถเลือกสิ่งของเหล่านี้ด้วยตัวเอง เป็นผู้ใหญ่ที่หยิบยื่นให้ เหมือนกันกับการตั้งชื่อและการใช้สรรพนามแทนตัว

ในเดือนกันยายน บริษัท Mattel ได้ผลิตตุ๊กตาที่ไม่บ่งบอกลักษณะทางเพศออกวางตลาด ภายใต้แนวคิด ‘หยุดการตีตรา แล้วชวนทุกคนมาเล่นตุ๊กตากัน’ ตุ๊กตาตัวนี้ริมฝีปากไม่เต่งตึงมาก ขนตาไม่ยาวหนาเป็นแผง กรามไม่ใหญ่ อกเอวไม่เน้นให้เห็นชัด เหมือนเด็กผอม หน่อย ดูจากรีวิวเด็กหลายคนถูกใจสิ่งนี้ ที่มีปัญหาคือพ่อแม่ คิดว่าบริษัท Mattel ผลักดันเรื่อง non-binary จนเกินงาม ทำให้เกิดสมมติฐานว่าเด็กยุคใหม่ก้าวข้ามเรื่องเพศสภาพไปแล้ว gender ไม่ใช่ชุดคำศัพท์สำคัญสำหรับเขาอีกต่อไป คนที่ถูกกดทับและมีความคิดเรื่องการแบ่งแยกทางเพศคือพวกเราที่ยังพูดเรื่องนี้กันอยู่ (ซึ่งอาจจะหมายรวมถึงผู้เขียนด้วยในกรณีนี้)

rare.us

การทดลองทางจิตวิทยาชิ้นหนึ่งถูกหยิบยกมาสนับสนุนการผลิตตุ๊กตาที่ไม่บ่งบอกลักษณะทางเพศนี้ เป็นการนำของเล่นหลากหลายรูปแบบมาทาสีขาวทั้งหมด เด็กไม่ว่าจะเพศไหนเลือกของเล่นที่มีล้อ หักล้างความคิดว่าเด็กชายชอบเล่นรถและเด็กหญิงชอบดูแลตุ๊กตา การศึกษาชิ้นนี้ยังแสดงให้เห็นอีกว่าเด็กแต่ละคนมีความ non-binary สูงมาก หากไม่ไปปูทางชี้นำเขาจะเลือกเป็นอะไรก็ได้

ภาพยนตร์เรื่อง They ผลงานของผู้กำกับ Anahita Ghazvinizadeh ถ่ายทอดให้เห็นว่าเด็กมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็น non-binary หนังได้รับการคัดเลือกไปฉายที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ในปี 2017 ตัวละครหลักชื่อ J รับบทโดย Rhys Fehrenbacher ซึ่งอยู่ช่วงเปลี่ยนผ่านเป็นผู้ชายข้ามเพศขณะถ่ายทำหนังเรื่องนี้ J อายุ 13 ปี ไปหาหมอเพื่อรับยาชะลอการเข้าสู่วัยหนุ่มสาว เพราะยังตัดสินใจเลือกเพศสภาพไม่ได้ ทุกเช้าที่ตื่นมา J จะจำความรู้สึกแรกว่าอยากเป็นเด็กชายหรือเด็กหญิง แล้วจดบันทึกลงตารางไว้ โดย G แทนเด็กหญิง B แทนเด็กชาย แต่บางวันก็เว้นว่างไว้เนื่องจากไม่ได้รู้สึกอยากเป็นทั้งสองอย่าง

indiewire.com

ผู้กำกับเลือกถ่าย J ผ่านกระจกมัว หรือให้ไปยืนอยู่หลังพร็อพทำให้มองเห็นเขาไม่ชัด บางครั้งก็ใช้เลนส์ภาพเบลอ แต่ความคลุมเครือในภาพยนตร์กลับดูสวยงาม โต้แย้งวิธีคิดแบบโมเดิร์นนิสม์ที่เชื่อในการแบ่งแยกทุกอย่างให้ชัดเจนเป็นสัดส่วน J ไม่ได้ดูรีบร้อน ดำเนินชีวิตประจำวันไปเรื่อย แม้ไม่ได้หัวเราะมีความสุข แต่ก็ไม่ได้แสดงท่าทีทุกข์ร้อนใจ บางวันก็หยิบชุดกระโปรงมาใส่ พอเปื้อนก็เปลี่ยนเป็นเสื้อยืดกางเกงขาสั้น ผู้คนรอบกายทั้งพี่สาวและเพื่อนบ้านไม่ได้แสดงปฏิกิริยาตกใจเห็นเป็นเรื่องแปลก non-binary ถูกทำให้เป็นเรื่องปกติมาก อัตลักษณ์ทางเพศก็เหมือนเสื้อผ้า จะเปลี่ยนหรือถอดออกเมื่อไหร่ก็ได้

luxboxfilms.com

ภาพยนตร์ดำเนินเรื่องในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์สั้น ที่พี่สาวของ J พาแฟนหนุ่มชาวอิหร่านกลับมาเยี่ยมบ้าน ก่อนเจอกันพี่สาวก็สอนแฟนของเธอให้ใช้สรรพนามเรียกแทน J ว่า they ทีนี้แฟนหนุ่มไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ก็เริ่มงง ซักถามว่าอย่างนี้ต้องใช้ they is หรือ they are เพราะมีคนเดียว แล้วโทษว่าความรู้และทักษะภาษาของตัวเองไม่ดีทำให้ไม่เข้าใจเสียที จนพี่สาวของ J ต้องย้ำว่าปัญหาคือภาษาไม่ใช่ตัวแฟน ไม่ว่าใครมาเจอแบบนี้ก็จะงงเล็กน้อย ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ แต่ข้อดีของแฟนพี่สาวคือเมื่อไม่เข้าใจก็ถามหาความกระจ่างแจ้ง ไม่ด่วนสรุปไปเอง

ส่วนนี้ของหนังทำให้ต้องนั่งทบทวนว่าเมื่อเปลี่ยนชุดคำใหม่ เปลี่ยนสรรพนามใหม่ เราทุกคนจะเป็นเหมือนแฟนพี่สาว J ที่ต้องมานั่งทำความเข้าใจเรื่องเพศสภาพใหม่เหมือนคนที่เริ่มเรียนภาษาครั้งแรก เริ่มจากเสียง มาประกอบเป็นคำ ไวยากรณ์ แล้วถึงโยงไปความหมาย ถ้าไม่เริ่มที่ภาษา จะไปแก้ที่ความคิดเลยก็เหมือนกับการกระโดดข้ามขั้นจากศูนย์ไปสิบ ผู้กำกับฉลาดดึงให้ผู้ชมเห็นความสำคัญของ ‘baby step’ สิ่งที่ดูเหมือนเล็กน้อยแต่มีความสำคัญ

indiewire.com

หนังใช้ภาพลักษณ์ของต้นไม้และดอกไม้เยอะมาก พี่สาวของ J เป็นศิลปิน กำลังทำโปรเจกต์ถ่ายภาพต้นไม้ที่ถูกทำให้ผิดธรรมชาติ ถอนเอาไปปลูกในสภาพแวดล้อมที่ดูแปลกแยก หรือเอาไปดัดแปลงให้แตกต่างจากสภาพตอนเริ่มต้น J เองก็ชอบปลูกพืชเรือนกระจก ตอนแฟนพี่มาก็ชวนกันคุยเรื่องต้นไม้จำศีลหยุดการเจริญเติบโต ชวนให้คิดถึงภาวะ non-binary ของ J ว่าอาจจะเป็นสัญชาตญาณทางธรรมชาติก็ได้ การที่เราไปชี้แนะแนวทางต่างหากคือการปรุงแต่งให้พัฒนาการทางเพศผิดไปจากที่ควรจะเป็น

ผู้กำกับกำหนดให้ J อยู่กึ่งกลางระหว่างขั้วตรงข้าม ของสองสิ่ง การตัดสินใจสองอย่างตลอดเรื่อง เช่น แฟนพี่สาวต้องตัดสินใจว่าจะอยู่อเมริกาหรือกลับอิหร่าน พี่สาวจะรับทุนหรือไม่รับดี พ่อกับแม่ เด็กชายหรือเด็กหญิง ทางเลือกมีแค่สองทางจริงเหรอ แล้วทำไม J ต้องเลือก 

เรื่องราวและเหตุการณ์ข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนที่เกิดขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาในสังคมตะวันตก วงสนทนาเรื่อง non-binary กำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ในบริบทที่หลากหลาย เช่น ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข มีการรณรงค์ให้ใช้คำถามที่เป็นกลางในการซักประวัติผู้ป่วย ไม่บ่งชี้เรื่องเพศมาก เพราะบางครั้งสร้างความอึดอัดใจให้แก่ผู้มารับการรักษา ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ของหลายองค์กรหันมาอบรมให้ความรู้บุคลากรเรื่อง non-binary เพื่อสร้างบรรยากาศการทำงานที่เป็นมิตรและปลอดภัย

ประเทศไทยเองเริ่มมีการรวมกลุ่ม การจัดงานเสวนา การชวนกันคุยนอกกล่องเพศ ตั้งแต่การนิยามคำและการกำหนดทิศทางของ non-binary สำหรับ LGBTQ+ โอกาสในการเลือกว่าจะเป็นอะไรน่าจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงมีพึงได้ แต่สำหรับ non-binary แล้ว โอกาสในการไม่ต้องเลือกระบุ (เพราะสามารถเป็นอะไรก็ได้) น่าจะเป็นหมุดหมายปลายทางที่สำคัญ

AUTHOR

ILLUSTRATOR

นักรบ มูลมานัส

ผู้เรียกตนเองว่านักวาดภาพประกอบ แต่ไม่ได้วาดภาพขึ้นมาเอง พยายามจะเป็นศิลปินบ้าง นักเขียนบ้าง