สุนัย กลิ่นบุปผา : ช่างทำขลุ่ยรุ่นที่ 4 จากชุมชนบางไส้ไก่ที่ทำขลุ่ยกันมากว่า 200 ปี

สุนัย กลิ่นบุปผา : ช่างทำขลุ่ยรุ่นที่ 4 จากชุมชนบางไส้ไก่ที่ทำขลุ่ยกันมากว่า 200 ปี

Highlights

  • สุนัย กลิ่นบุปผา คือช่างทำขลุ่ยรุ่นที่ 4 จากตระกูลกลิ่นบุปผาผู้สืบทอดศาสตร์และศิลป์แห่งการทำขลุ่ยมากว่า 200 ปี นับตั้งแต่บรรพบุรุษชาวลาวเวียงจันทน์อพยพมาตั้งรกราก
  • สุนัยเชื่อว่า การอนุรักษ์องค์ความรู้ในการผลิตขลุ่ยไม่ใช่เพียงการทำขลุ่ยให้เหมือนเดิม แต่คือการพัฒนาขลุ่ยให้ร่วมสมัยและดีกว่าเดิม

หนึ่งในความทรงจำวัยเรียนของเด็กไทยสมัยมัธยมศึกษาจะต้องมีขลุ่ยพลาสติกสีขาวขุ่นทำจากท่อพีวีซีรวมอยู่ในนั้นด้วย เราอาจไม่เคยนึกถึงว่าขลุ่ยเหล่านั้นมาจากไหน ใครเป็นคนเจาะแต่ละรูเพื่อสร้างเสียงดนตรีออกมา

 

ช่างทำขลุ่ย อาจดูเป็นอาชีพที่เราจินตนาการไม่ออกว่าพวกเขาใช้ชีวิตกันอย่างไร มีความท้าทายในอาชีพอย่างไรบ้าง เราจึงอยากชวนทุกคนไปพบปะช่างทำขลุ่ยบ้านลาว ชุมชนบางไส้ไก่ ในฝั่งธนบุรี ซึ่งปักหลักอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เมื่อราว 200 ปีที่แล้ว เมื่อชาวลาวเวียงจันทน์อพยพมาพร้อมกับทักษะความชำนาญในการทำเครื่องดนตรีอย่างขลุ่ยและแคน ขลุ่ยบ้านลาวขึ้นชื่อว่าเป็นขลุ่ยชั้นดี เป็นที่ยอมรับในระดับสากล 

เรามีโอกาสพูดคุยเรื่องชีวิตช่างทำขลุ่ยกับ พี่ช้าง–สุนัย กลิ่นบุปผา ช่างทำขลุ่ยรุ่นที่ 4 ของตระกูลกลิ่นบุปผา ผู้คลุกคลีกับการทำขลุ่ยมาตั้งแต่จำความได้ และหากวันไหนไม่ได้จับไม้มาเหลาเกลากลึงทำขลุ่ยก็ถึงกับทำให้กระวนกระวายอยู่ไม่สุขเลยทีเดียว

รู้จักไม้ เข้าใจเสียง

ขลุ่ยสามารถทำขึ้นมาจากไม้ไผ่หรือไม้เนื้อแข็งได้ทุกชนิด ขอเพียงแค่เป็นไม้ที่ไม่มียางก็ใช้ได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นไม้ชิงชัน ไม้พะยูง ไม้มะเกลือ ไม้งิ้วดำ ไม้ดำดง ไม้มะริด ฯลฯ โดยไม้แต่ละชนิดจะให้เสียงที่แตกต่างกันไป ให้ความกังวาน หวาน ใส ไม่เท่ากัน

“สมัยก่อนบ้านเราทำแต่ขลุ่ยเพียงออจากไม้รวกเพียงอย่างเดียว แต่ทุกวันนี้มีขลุ่ยพลาสติก ขลุ่ยไม้เนื้อแข็ง ขลุ่ยเสียงสากลที่เล่นกับเครื่องดนตรีสากลได้ด้วย เพราะเราเข้าใจว่าแต่ละส่วนมันทำยังไง รู้ว่าจะต้องซ่อม ต้องคว้าน ต้องแกะตรงไหน ขลุ่ยมีมาตรฐานของมันอยู่” พี่ช้างบอก

ช่างทำขลุ่ยที่ดีจึงจำเป็นที่จะต้องรู้จักธรรมชาติของไม้แต่ละชนิดอย่างถ่องแท้ เข้าใจเสียงของขลุ่ยจริงๆ เพื่อที่จะตรวจสอบ เปรียบเทียบได้ว่าแต่ละเลาได้มาตรฐานหรือไม่

ใจเย็นเป็นดี

เมื่อคัดเลือกไม้ที่ต้องการได้แล้ว ช่างทำขลุ่ยจะค่อยๆ ตัดให้เป็นแท่งทรงสี่เหลี่ยมก่อน นำมาเหลาให้เป็นทรงกระบอก กลึงจนผิวเรียบเนียนเสมอกัน จากนั้นใช้สว่านเจาะรูตรงกลางทะลุตลอดปล้อง

“ทุกขั้นตอนของการทำขลุ่ยยากหมด ต้องอาศัยความแม่นยำมาก พลาดนิดเดียวก็เสียเลย” พี่ช้างย้ำว่าช่างทำขลุ่ยนั้นมีแค่ใจรักอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเป็นคนใจเย็นเป็นพื้นฐาน เพราะแต่ละขั้นตอนต้องอาศัยความเป๊ะระดับมิลลิเมตร เริ่มตั้งแต่การคว้านขลุ่ยที่ต้องคอยสังเกตให้สว่านมีความมั่นคง แกนไม่สั่น ค่อยๆ เจาะเข้าไปในไม้เนื้อแข็งทีละนิด จากนั้นเจาะรูกลมๆ ในระยะห่างที่พอเหมาะ แกะปากนกแก้ว (ส่วนที่เป็นสี่เหลี่ยมมีด้านหนึ่งโค้ง) เพื่อตั้งเสียง ใส่ไม้เนื้อแข็งชิ้นเล็กๆ อุดรูด้านบน เรียกว่าการ ‘ดากขลุ่ย’ เว้นช่องเล็กๆ ให้ลมเป่าผ่านได้

เล่ามาเท่านี้ดูเหมือนจะมีเพียงไม่กี่ขั้นตอน แต่ความยากของการทำขลุ่ยก็คือความพอดิบพอดีของระยะต่างๆ ที่หากเคลื่อนไปจากที่ควรแม้เพียงเล็กน้อยก็จะทำให้เสียงผิดเพี้ยนไปทันที 

ลวดลายที่หายไป

ไม่เพียงแต่ช่างทำขลุ่ยที่ล้มหายตายจากไปเท่านั้น ความรู้ในการทำขลุ่ยก็ค่อยๆ เลือนรางหายไปตามกาลเวลาด้วย จากที่แทบทุกบ้านในชุมชนบางไส้ไก่เคยมีอาชีพทำขลุ่ย ปัจจุบันเหลือเพียง 5-6 บ้านเท่านั้นที่ยังผลิตขลุ่ยอยู่ และไม่อาจอยู่ได้ด้วยการทำขลุ่ยไม้คุณภาพดีพรีเมียมเพียงอย่างเดียว แต่ต้องผลิตขลุ่ยพีวีซีด้วย เพื่อตอบรับกับความต้องการขลุ่ยราคาถูก เสียงดีพอใช้สำหรับการเรียนเป่าขลุ่ยตามหลักสูตรของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ซึ่งนับเป็นรายได้หลักที่สำคัญของช่างทำขลุ่ยในปัจจุบัน

ในอดีตช่างทำขลุ่ยจะอวดฝีมือการสร้างสรรค์ขลุ่ยกันสุดฤทธิ์ นอกจากตัวขลุ่ยที่ไม้ดี เสียงดนตรีเพราะแล้ว ยังมีการทำลวดลายขลุ่ยด้วยตะกั่ว โดยใช้ช้อนตักตะกั่วเหลวค่อยๆ ราดลงบนขลุ่ยให้ตะกั่วร้อนๆ กัดไม้จนเป็นลวดลาย โดยลวดลายหลักๆ มีจำนวน 7 ลาย ได้แก่ ลายดอกพิกุล ลายรดน้ำ ลายรมดำ ลายหิน ลายกระจับ ลายหกคะเมน ลายตลก 

แต่ในปัจจุบันไม่มีการทำลวดลายขลุ่ยอีกแล้วเนื่องจากตะกั่วเป็นสารเคมีที่อันตรายต่อสุขภาพ 

ปรับเปลี่ยนเพื่อความอยู่รอด

ความนิยมดนตรีไทยที่ลดลงทำให้พี่ช้างและช่างทำขลุ่ยหลายๆ คนลุกขึ้นมาปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นด้วยการผลิตขลุ่ยที่เล่นกับวงดนตรีสากลได้ จุดสังเกตง่ายๆ ก็คือ ขลุ่ยสำหรับดนตรีไทยจะมีรูเท่ากันหมด ส่วนขลุ่ยเสียงสากลจะมีรูขนาดเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน

“ผมเองเคยเล่นดนตรีสากลมาก่อน จึงรู้ว่าระบบโน้ตสากลเป็นยังไง ทำให้เราได้เปรียบตรงนี้ ผมถือว่าเป็นหน้าที่ของช่างทำขลุ่ยที่ต้องพัฒนาขลุ่ยให้ร่วมสมัยและดีขึ้นต่อไป” ช่างทำขลุ่ยรุ่นที่ 4 บอก

นอกจากนี้ พี่ช้างเล่าว่าระหว่างทดลองหาเสียงใหม่ๆ ของขลุ่ย เขาจะเจาะท่อพีวีซีเพื่อทดสอบเสียงที่ถูกต้องก่อนที่จะลงมือกับไม้จริง ทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกว่าจะได้ระยะของรูขลุ่ยที่พอดีเป็นตัวต้นแบบ

สำคัญจึงส่งต่อ

ด้วยความรักและผูกพันจนการทำขลุ่ยกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต พี่ช้างจึงไม่คิดจะเกษียณ แต่ตั้งใจจะพัฒนาขลุ่ยในแบบของตัวเองไปเรื่อยๆ เพื่อหารูปลักษณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร “ผมกำลังคิดว่าจะให้ลูกทดลองวาดลวดลายบนตัวขลุ่ย เพราะยังไม่เคยเห็นมีการวาดลวดลายมาก่อน ซึ่งต้องหาทางทำให้ลายที่เพิ่มขึ้นมาไม่มีผลต่อเสียงขลุ่ยด้วย”

คงเป็นเรื่องน่าเสียดายหากวิชาความรู้การทำขลุ่ยที่สืบทอดกันมายาวนานถึงสองศตวรรษจะหายไปเพียงเพราะว่าคนในตระกูลไม่รับช่วงต่อ พี่ช้างจึงยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะสอนให้ฟรีๆ หากใครสนใจ ตั้งใจที่จะเรียนรู้วิธีการทำขลุ่ยอย่างจริงจัง ร้านขลุ่ยลุงจรินทร์ของพี่ช้างก็พร้อมเปิดประตูต้อนรับเสมอ 

ร้านขลุ่ยลุงจรินทร์
ติดต่อสอบถาม โทร. 086 772 2204

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย