​ช่างทำบาตร (Alms Bowl Makers)

ในยุคโลกาภิวัตน์ที่อาชีพแปลกใหม่กำเนิดขึ้นมาอย่างไม่หยุดยั้ง
ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่สืบทอดและรักษาศิลปะแบบดั้งเดิมเอาไว้ โดยหวังให้ศิลปะเหล่านั้นไม่เลือนหายไปตามกาลเวลา
หนึ่งในนั้นคืออาชีพที่เอื้อเฟื้อแก่พระพุทธศาสนาอย่าง ‘ช่างทำบาตร’ ผู้ซ่อนตัวอยู่ในย่านเก่าอย่างชุมชนบ้านบาตรในกรุงเทพฯ นี่เอง

ดูเผินๆ แล้วอาชีพนี้อาจดูธรรมดา แต่ช่างทำบาตรคือศิลปินผู้อยู่เหนือกาลเวลาที่เรารับรองว่าถ้าหากใครได้รู้ว่าการทำบาตรมีที่มายังไงแล้ว
ทุกคนจะต้องอ้าปากค้างแน่นอน เรามีโอกาสได้คุยกับช่างทำบาตรตัวเป็นๆ อย่าง แอน-มณีรัตน์ นาครัตน์ ช่างประกอบบาตรแห่งชุมชนบ้านบาตร จึงไม่รอช้าที่จะซักไซ้ชวนให้เธอเล่าถึงเรื่องราวน่าสนใจมาให้ทุกคนได้รู้จักอาชีพนี้มากขึ้นกว่าเดิม

1. ก่อนจะเป็นบาตร

บาตรที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัยต้องเป็นบาตรบุหรือบาตรที่ทำด้วยมือทุกขั้นตอนเท่านั้น วิธีการทำประกอบไปด้วย 21 ขั้นตอนย่อย และ 8 ขั้นตอนใหญ่ๆ!

เริ่มจากการ ‘ตีขอบ’ ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่สุดเพราะเป็นตัวกำหนดขนาดและรูปทรงของบาตรที่จะทำออกมา ต่อไปเป็นการนำเหล็กเส้นยาวมาค่อยๆ ตีเข้าหากันจนเป็นวงกลม
ซึ่งเราประทับใจมากเพราะถึงแม้ว่าจะตีด้วยมือ แต่ขอบบาตรทุกใบก็ออกมากลมดิ๊กอย่างกับเคาะมาจากพิมพ์
เมื่อได้ขอบบาตรที่ดีแล้วจึงนำไปประกอบขึ้นรูป เชื่อมให้ติดกัน ตีให้รอยเชื่อมเรียบเนียนและได้รูปทรงที่ต้องการ สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุดคือการตะไบเก็บรายละเอียดและทำให้บาตรขึ้นเงาทั่วทั้งใบ อ่านแค่นี้อาจจะดูเหมือนจบในไม่กี่วินาที แต่การทำบาตรขึ้นมาจริงๆ ต้องใช้เวลาขั้นต่ำ 2 วันเลยทีเดียวจึงจะได้ออกมาเป็นบาตรหนึ่งใบ (โดยที่ยังไม่รวมขั้นตอนสุดท้ายที่แท้จริงด้วยนะ)

ขั้นตอนสุดท้ายที่ว่าก็คือ ‘การรมดำหรือการบ่ม’ นั่นเอง แต่สิ่งที่ทำให้ขั้นตอนนี้พิเศษกว่าขั้นตอนอื่นๆ คือมันไม่ใช่งานของช่างทำบาตรอีกต่อไป แต่เป็นสิ่งที่พระสงฆ์ที่ซื้อบาตรไปจะเป็นผู้นำไปทำต่อเอง! ซึ่งระยะเวลาในการบ่มหรืออบนั้นก็ยาวนาน 6 ชั่วโมงขึ้นไปเลยทีเดียว กว่าจะได้ออกมาเป็นบาตรทำมือแต่ละใบนี่ไม่ง่ายเลยจริงๆ

2. ช่างทุกคนคือฟันเฟือง

การทำบาตรเป็นงานที่ทำคนเดียวไม่ได้เพราะเต็มไปด้วยขั้นตอนต่างๆ ที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและความถนัดที่แตกต่างกันไป
ช่างทุกคนจึงเปรียบเสมือนฟันเฟืองที่คอยหมุนต่อกันเพื่อให้ชิ้นงานออกมาสมบูรณ์
การทำงานของช่างทำบาตรจึงไม่ได้มีแค่ตัวเองและงานที่อยู่ตรงหน้าเท่านั้น
แต่ต้องคิดถึงพวกพ้องที่ต้องรับช่วงต่อในขั้นตอนถัดไปด้วย หากงานของคนหนึ่งมีปัญหา ช่างคนอื่นก็ต้องเสียเวลาแก้ไขส่วนนั้นไปด้วย
การทำงานทุกขั้นตอนจึงต้องเอาใส่ใจและรับผิดชอบส่วนของตัวเองให้ดีที่สุด
เพื่อให้โรงงานผลิตบาตรทำมือเล็กๆ แห่งนี้สามารถสร้างงานดีๆ ต่อไปได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง

3. บาตรเดิม เพิ่มเติมคือปรับแต่ง

ใครจะเชื่อว่าบาตรที่ใช้งานทางศาสนายังเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์อย่างแนบแน่น แน่นอนว่าบาตรที่ทำมาจากเหล็กต้องเกิดสนิม แต่ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างการเผาหรือการบ่มนั้นช่วยทำให้ผิวของบาตรคายธาตุคาร์บอนซึ่งมีฤทธิ์ป้องกันการเกิดสนิมและคงความสะอาดของบาตรเอาไว้ได้อย่างไม่น่าเชื่อ
นอกจากนี้วัสดุอย่างสแตนเลสก็เริ่มเข้ามามีบทบาทแทนเหล็กแบบเดิมๆ เพราะแข็งแรง ทนทาน ใช้งานง่าย เรียกได้ว่าปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยแบบไม่ผิดพระวินัยก็โอเค

4. บาตรทำมือมีดีไฉน

สิ่งที่ทำให้บาตรทำมือที่มีราคาสูงกว่าบาตรจากโรงงานหลายเท่า ยังคงขายได้อยู่เรื่อยๆ ตลอดทั้งปีนั้น เป็นเพราะพระป่าในแถบภาคอีสานมักจะเลือกซื้อบาตรทำมือที่คุ้มค่ากว่า เพราะใช้งานได้ตลอดชั่วชีวิตหากดูแลถูกวิธี นอกจากนี้ถ้าเราต้องการสั่งทำบาตรแปลกๆ อย่างใช้วัสดุทองเหลือง ทองแดง มาใช้ทำแทนเหล็ก หรือจะออกแบบตามความชอบของตัวเองเพื่อไปใช้ประดับตกแต่ง การ customize
บาตรให้ออกมาเท่โดนใจแบบนี้หาไม่ได้จากบาตรโรงงานแน่นอน

5. The alms bowl
is now online!

ถึงแม้ลูกค้าของบาตรทำมือจะเป็นพระป่าที่อยู่ห่างไกล แต่ช่องทางการขายบาตรไม่ได้ห่างไกลตามไปด้วย เพราะไม่ว่าจะเป็นไปรษณีย์ไทย หรือ Kerry Express ก็ขนส่งบาตรได้หมดทุกช่องทาง เป็นเหตุให้เพื่อนในเฟซบุ๊กของแอนเต็มไปด้วยพระสงฆ์ที่ต้องการหาซื้อบาตร!!! การที่พระมาหาซื้อบาตรในเฟซบุ๊กอาจฟังดูแปลกๆ ไปบ้าง แต่ก็ต้องยอมรับว่าช่องทางออนไลน์เหล่านี้นี่เองที่ทำให้ช่างทำบาตรกลางกรุงเก่าและพระป่าที่อาศัยอยู่ในภาคอีสานติดต่อสื่อสารกันได้ง่ายขึ้นจริงๆ

6. งานที่เสี่ยงและต้องอาศัยความชำนาญ

แม้การทำบาตรจะมีหลายขั้นตอน แต่งานตี ต่อ เชื่อม เผา ฯลฯ ที่เราได้เห็นกันนั้นล้วนเต็มไปด้วยความเสี่ยงและอันตราย ไม่ว่าจะเป็นจากอุปกรณ์ทำงานอย่างของมีคม ไฟร้อนๆ หรือจากสภาพร่างกายที่ทรุดโทรมลงไปตามการทำงาน อย่างการใช้สายตาหรือการนั่งในท่าเดิมนานๆ
แต่ช่างทำบาตรทุกคนกลับมีท่าทีสบายๆ และทำงานทุกอย่างได้ถูกต้องรวดเร็วจนน่าตกใจ เรียกได้ว่าประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่สั่งสมมานับ 10 ปี ไม่ใช่ได้มากันง่ายๆ

7. สิ่งที่ทำให้ยังอยู่ตรงนี้

แม้การทำบาตรจะเป็นงานหนักที่มีรายละเอียดมากมายให้ใส่ใจและเสี่ยงอันตรายมากมาย
แต่ช่างทำบาตรรุ่นหลังก็ยังคงตัดสินใจเลือกที่จะสานต่ออาชีพที่พวกเขาเติบโตมากับมันต่อไป
ไม่ใช่เพราะค่าตอบแทนเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะพวกเขารู้เสมอว่างานทำบาตรนั้นขาดใครสักคนไปไม่ได้

เหตุการณ์ที่ทำให้พวกเขาเข้าใจเรื่องนี้ได้ดีที่สุดคือวันที่ช่างตอกคนเดียวที่เหลืออยู่ในชุมชนเสียชีวิต
ทำให้ขั้นตอน ‘ตอกชื่อลงบนบาตร’ ไม่สามารถทำได้อีกต่อไป เราจึงเชื่อเหลือเกินว่าบาตรทำมือที่ต้องอาศัยทั้งความอดทน
ความชำนาญ และความร่วมมือเหล่านี้ จะยังคงอยู่กับเราต่อไปอีกนานเท่านาน
ด้วยความสัมพันธ์ที่มีในชุมชนและความรักที่มีให้แก่ศิลปะการทำบาตรของคนตัวเล็กๆ
เหล่านี้

AUTHOR