ในวันที่เครื่องจักรและเทคโนโลยีค่อยๆ เข้ามาแทนที่งานฝีมือและความสามารถของมนุษย์ โลกภายนอกอาจหมุนเร็วและเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน แต่ไม่เคยเกิดขึ้นกับยุทธจักรในห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ของ อาอี๊ซู้เกียง นักเปี่ยวภาพหญิงหนึ่งเดียวในประเทศไทย เราได้มีโอกาสก้าวเข้ามาเยี่ยมเยียนยุทธจักรของเธอ และเก็บเอาเรื่องราวชีวิต การทำงานที่เข้มข้นไม่ต่างจากหนังจีนกำลังภายในเรื่องนี้มาเล่าให้ทุกคนฟัง
การเปี่ยวภาพคืออะไร
ก่อนที่จะรู้จักกับเรื่องราวของอาอี๊ซู้เกียง หลายคนคงทำหน้าสงสัยว่า‘การเปี่ยวภาพ’ ที่ว่าคืออะไร?
การเปี่ยวภาพ (裱字画) คือกรรมวิธีการเก็บรักษาเอกสารของจีน ที่ใช้ยืดอายุและถนอมรูปวาดหรือตัวอักษรที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ซึ่งถูกเขียนด้วยหมึกจีนให้เก็บรักษาไว้ได้นานหลายร้อยปี และยังช่วยรักษาภาพที่ขาด ยับ เสียหายตามกาลเวลาให้กลับมาดีดังเดิมได้อีกด้วย โดยขอบสวยๆ ที่เราเห็นอยู่รอบรูปภาพนั้นทำจากผ้าไหมที่นำมาทากาวแป้งเปียก ติดเข้ากับกระดาษและรูปภาพก่อนจะขึงให้เรียบตึงนั่นเอง
ฟังดูเหมือนง่าย แต่จริงๆ แล้ว กว่าจะทำสำเร็จหนึ่งภาพ ต้องมีกระบวนการถึง 38 ขั้นตอนเลยทีเดียว
ย้อนกลับไปเมื่อ 46 ปีที่แล้ว สาวจีนตัวเล็กๆ วัย 18 ปีได้ฝากเนื้อฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ ณ ร้านเปี่ยวภาพชื่อดัง ในตอนนั้นทุกๆ คนเรียกสาวน้อยคนนี้ว่า อาเกียง เธอและลูกศิษย์อีกราว 10 คนช่วยงานภายในร้านอย่างขะมักเขม้น เพื่อหวังจะเรียนรู้เทคนิคการเปี่ยวภาพมาใช้เป็นอาชีพและสร้างเนื้อสร้างตัวได้
ในช่วงแรกๆ พวกเขาต้องทำตั้งแต่งานจิปาถะอย่าง การทำความสะอาด เตรียมของ ไปจนถึงการฝึกฝนเทคนิคเฉพาะที่ต้องอาศัยทั้งความอดทนและประสบการณ์ อาเกียงก้มหน้าก้มตาฝึกฝนท่ามกลางเสียงบ่นด่าของอาจารย์เรื่อยมา รู้ตัวอีกทีคนรอบตัวของเธอก็แยกย้ายออกไปหางานอื่นที่ง่ายและสบายกว่าทำกันหมดแล้ว
“ไม่เอาไหน ทำอะไรเองก็ไม่ได้ แค่กวนกาวเองยังทำไม่ได้แล้วจะไปทำอะไรสำเร็จ”
ในปีที่ 3 ของการช่วยงาน เป็นปีที่อาเกียงท้อแท้และร้องไห้มากที่สุด เพราะเป็นครั้งแรกที่ต้อง ‘กวนกาว’ เอาไว้ใช้เองเพราะคนงานเก่าลาออกไป โดยกาวที่ใช้ในการเปี่ยวภาพจะทำจากการกวนแป้งหมี่และการบูรเข้าด้วยกันในกระทะจนเหนียวข้น ในสมัยนั้นต้องกวนมากถึงครั้งละ 8 กระทะ กระทะละ 4 ชั่วโมง รวมแล้วสาวน้อยตัวเล็กๆ คนนี้ต้องยืนอยู่หน้าเตาร้อนๆ และกวนแป้งที่เหนียวหนึบยาวนานกว่า 14 ชั่วโมงต่อวันเลยทีเดียว
ความเสี่ยงที่ข้องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และจิตใจ
สิ่งที่ยากที่สุดในงานช่างเปี่ยวภาพ คือการเปี่ยวภาพเก่า เพราะนอกจากงานจะมีมูลค่าสูงมากตามจำนวนปีที่เก็บรักษาไว้แล้ว สภาพของกระดาษยังทั้งขาด เปราะ เปื่อยและยุ่ย เรียกได้ว่าถ้าทำพลาดไปแม้แต่นิดเดียว ภาพเก่าที่มีคุณค่าทั้งด้านราคาและจิตใจก็อาจชำรุดเสียหายไปได้ทันที
การเปี่ยวภาพเก่านั้นต้องเริ่มจากการนำภาพนั้นไปแช่ในรางน้ำเพื่อให้กาวละลาย และทำให้ภาพหลุดร่อนออกจากผ้าไหมเดิมที่เคยเปี่ยวเอาไว้ ถ้าหากแช่นานเกินไปกระดาษก็จะเปื่อย แต่ถ้าแช่เร็วเกินไปก็จะลอกไม่ออกจนอาจทำให้กระดาษขาดได้ ขั้นตอนนี้จึงเป็นขั้นตอนที่ยากและต้องระวังให้มากที่สุด
เวทมนตร์ของการทำงานในยามยาตรี
การเปี่ยวภาพต้องทำในตอนกลางคืนเท่านั้น เพราะหากอุณหภูมิ ความชื้นและแสงอาทิตย์มากหรือน้อยเกินไป ภาพและกระดาษจะเสียหาย รวมถึงทำให้การเปี่ยวไม่ได้คุณภาพและเสื่อมเร็วกว่าที่ควรเป็น เพราะฉะนั้นก่อนที่จะเริ่มงานแต่ละครั้ง อาเกียงจะต้องรอให้ฟ้ามืดและปิดประตูหน้าต่างให้เรียบร้อยซะก่อนเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด แล้วจึงจะเริ่มใช้พลัง ประสบการณ์และความรู้ที่สั่งสมมาชุบชีวิตให้กับภาพเก่าที่ทั้งขาดและยับยู่ยี่ให้กลับมาเรียบสวยเหมือนใหม่ ดูๆ ไปก็ไม่ต่างกับการทำพิธีร่ายเวทมนตร์เลย
ตัดภาพกลับมาที่ พ.ศ. 2561 ในร้านจิบเหงียแจ (集雅斋) ร้านเปี่ยวภาพทำมือที่เหลือเพียงร้านเดียวในประเทศไทย กลางย่านวงเวียนยี่สิบสองกรกฎาคม เรากำลังนั่งคุยกับอาเกียงหรือที่พวกเราเรียกว่า ‘อาอี๊’ เพราะเธอไม่ใช่เด็กสาวอีกต่อไป ผลผลิตของความพยายามตลอด 46 ปีที่ผ่านมาเป็นเครื่องยืนยันได้ชัดเจนว่าเมื่อคนเราได้รับโอกาสและพยายามอย่างเต็มที่แล้วก็ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้
ถึงแม้ในปัจจุบันทั้งในประเทศไทยและจีนจะสามารถเปี่ยวภาพด้วยเครื่องจักรได้อย่างง่ายๆ แต่การได้มาคุยกับอาอี๊ซู้เกียงก็ทำให้เราเข้าใจว่า สิ่งที่ทำให้เครื่องจักรไม่มีวันทดแทนงานฝีมือจากมนุษย์ได้ ก็คือความอดทน ความละเอียดอ่อน และจิตวิญญาณที่ส่งผ่านจากสองมือไปสู่รูปภาพเพื่อมอบชีวิตใหม่แก่มัน
ถึงแม้การเปี่ยวภาพจะทั้งยาก เสี่ยง และช้า แต่ก็เป็นความช้าที่เราอยากจะให้อยู่ด้วยกันต่อไปอีกนานเท่านาน 🙂