Texturenosaurous ตุ๊กตาไดโนเสาร์อีสานที่กระตุ้นพัฒนาการเด็กๆ ด้วยสัมผัสของผ้าฝ้าย

ไดโนเสาร์ถิ่นอีสาน 9 สายพันธุ์ที่ถูกค้นพบเมื่อหลายร้อยล้านปีก่อน ทั้งจากชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และนครราชสีมา ยืนเรียงกันอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมของโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งประจำโคราช ซึ่งมีเด็ก 50 คนพร้อมกระโจน กระโดด และกระชับมิตรกับพวกมันด้วยความตื่นเต้น ตุ๊กตาไดโนเสาร์

แต่เดี๋ยว ไดโนเสาร์อะไรจะมาโผล่ในปี 2021 ได้นะ แน่นอนว่าไม่มีทางที่ไดโนเสาร์ยุคดึกดำบรรพ์จะมาพบปะกับเด็กอนุบาลอายุ 2-4 ขวบได้ ทว่า Texturenosaurous หรือ ตุ๊กตาไดโนเสาร์ผิวสัมผัส ทำได้

เมย์–นันทิยา ณ หนองคาย อาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม คณะศิลปกรรมและออกแบบอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน คือผู้ยกไดโนเสาร์พันธุ์อีสานออกจากตำราชีววิทยามาประกอบร่างเป็นตุ๊กตาด้วยศิลปะจากปลายเข็ม เย็บ ปัก ถัก ทอ แถมไดโนเสาร์แต่ละตัวยังสามารถถอดประกอบชิ้นส่วนสลับสี สลับพันธุ์ไปมาได้ เพื่อพาให้จินตนาการของเด็กๆ โลดแล่นไม่รู้จบ

ไหนๆ ก็ทำตุ๊กตารูปไดโนเสาร์อีสานทั้งที ผ้าที่นำมาใช้จึงเป็นผ้าฝ้ายทอมือ และย้อมสีธรรมชาติโดยฝีมือป้าๆ น้าๆ คนในชุมชนขอนแก่นและโคราช

ความพิเศษของไดโนเสาร์เหล่านี้ไม่ได้จบอยู่แค่นั้น แต่ความลับของมันจะถูกเปิดเผยเมื่อถูกจับ

ตุ๊กตาไดโนเสาร์

นั่นเพราะเมย์ไม่ได้สร้างของเล่นมาให้เด็กเล่นเฉยๆ แต่ไดโนเสาร์เหล่านี้พิเศษที่ผิวสัมผัสซึ่งกระตุ้นพัฒนาการด้านประสาทสัมผัส โดยเฉพาะ sense of touch หรือการสัมผัสพื้นผิว ซึ่งเป็นสัมผัสที่ใหญ่ที่สุดและมีผลต่อการเติบโตของเส้นใยสมอง

ความเจ๋งคือเธอเปลี่ยนระยะเวลาความสนใจของเด็กที่มีต่อของเล่น จากที่งานวิจัยบอกว่าค่ามาตรฐานคือ 10-15 นาที แต่กับไดโนเสาร์เหล่านี้ เด็กๆ มักจะขอเล่นยาวๆ ถึง 30 นาทีไปเลย

พูดมาถึงขนาดนี้ เราชวนย้อนเวลาไปตามหาจุดกำเนิดของไดโนเสาร์เหล่านี้ด้วยกัน

ไดโนเสาร์มาแล้วคราฟต์ ตุ๊กตาไดโนเสาร์

เห็นทำงานที่เน้นเอกลักษณ์อีสานขนาดนี้ ที่จริงแล้วเมย์เป็นสาวเหนือที่จับพลัดจับผลูมาเป็นอาจารย์สอนที่โคราชได้ 10 ปี จนซึมซับความเป็นสาวอีสาน อยากนำเอกลักษณ์แบบฉบับท้องถิ่นมาทำงานคราฟต์ของตัวเองในทีสิสปริญญาเอก คณะมัณฑนศิลป์ สาขาวิชาศิลปะการออกแบบ (หลักสูตรนานาชาติ) มหาวิทยาลัยศิลปากร

“เริ่มแรกเราระดมความคิดกับอาจารย์ที่ปรึกษา ทั้งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิรวัฒน์ วงศ์พันธุเศรษฐ์ และ รศ. ดร.ไพโรจน์ ชมุนี ว่าอยากทำงานที่ได้พัฒนาวัสดุท้องถิ่นอีสาน แวบแรกเรามองเห็นแค่สินค้าหัตถกรรม งาน OTOP ต่างๆ รวมไปถึงพวกการละเล่น เลยตั้งธงไว้ว่าต้องทำงานที่เกี่ยวกับผ้าและต้องเป็นผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติเท่านั้นด้วย

“ช่วงหนึ่งเรามีโอกาสได้ไปทำงานที่ขอนแก่น ก็สังเกตว่าที่นี่มีเอกลักษณ์อะไรบ้าง จนได้รู้ว่าเคยมีการขุดพบไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ของโลกที่นี่ คนในจังหวัดเขาก็ชอบไดโนเสาร์กันมากเราเลยกลับมาศึกษาเพิ่มเติม”

จากการศึกษา เมย์พบว่าภาคอีสานคือแหล่งค้นพบไดโนเสาร์ชั้นดี มีแหล่งขุดค้นแทรกซึมอยู่ในหลายจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นมหาสารคามที่มีอาจารย์ด้านบรรพชีวินวิทยาคอยขุดซาก ดูร่องรอยไดโนเสาร์ หรือนครราชสีมาและขอนแก่นที่มีพิพิธภัณฑ์ให้สัตว์ดึกดำบรรพ์ชนิดนี้โดยเฉพาะ

เธอจึงได้ไอเดียว่า “นี่แหละ เอกลักษณ์ของอีสานที่ยังไม่มีคนเอามาทำงานคราฟต์”

จากเป้าหมายว่าจะพัฒนางานฝีมือท้องถิ่นอีสาน เมื่อบวกกับความรู้ด้านแฟชั่นจากสมัยปริญญาตรี และความรู้ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เรียนต่อในขั้นปริญญาโท พ่วงด้วยความสนใจด้านงานผ้า การทำของเล่นเด็ก และดีกรีอดีตดีไซเนอร์เสื้อผ้าเด็ก โปรเจกต์ไดโนเสาร์ผิวสัมผัสจึงเริ่มวิวัฒน์ขึ้น

เล่นรู้ไปกับพี่ไดโน ตุ๊กตาไดโนเสาร์

อิสานโนซอรัส อรรถวิภัชน์ชิ, กินรีมิมัส ขอนแก่นเอนซิส, ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน, ซิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กิ, ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ, สยามโมดอน นิ่มงามมิ, สยามโมซอรัส สุธีธรนิ, สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส และสิรินธรนา โคราชเอนซิส

เหล่านี้คือไดโนเสาร์ 9 สายพันธุ์ที่ถูกค้นพบในภาคอีสาน และนายแบบของเมย์

เพราะเป้าหมายของงานชิ้นนี้คือเด็กอายุ 2-4 ขวบ ถ้าทำตุ๊กตาที่ถอดอนาโตมีของไดโนเสาร์ 9 สายพันธุ์มาแบบเป๊ะๆ เด็กๆ คงจะงง เธอจึงลดทอนฟอร์มเพื่อให้เด็กๆ เข้าถึงง่ายและเน้นใช้สร้างผิวสัมผัสต่างๆ ในบริเวณลำตัวที่เป็นบริเวณที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งนอกจากหน้าตาพี่ไดโนเสาร์แต่ละพันธ์ุจะแตกต่างกันแล้ว มันยังมีสัมผัสที่ต่างกันด้วย

“หลักๆ เราใช้ needlework หรือศิลปะปลายเข็ม เย็บ ปัก ถัก ทอ บางตัวเอาเส้นใยฝ้ายมาปั่นเพื่อให้ได้เนื้อสัมผัสที่แตกต่าง บางตัวใช้วิธีถักโครเชต์ บางตัวใช้เทคนิคหมอนสม็อกที่ได้แรงบันดาลใจมาจากหมอนฟักทองตามหลังเบาะแท็กซี่หรือพวกหมอนงานแต่งสมัยก่อน เราคิดว่าเทคนิคการจับจีบผ้าหรือทำให้เนื้อผ้ามีรอยย่นนั้นน่าสนใจและทำให้โมเดิร์นได้ ไม่ควรหยุดที่ดีไซน์เดิมๆ

“เราทำผิวสัมผัสของแต่ละตัวตามบุคลิก เช่น ตัวที่หากินในน้ำอย่าง ‘ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ’ จะใช้เทคนิคสม็อกเป็นลายคลื่นน้ำและใช้ผ้าโทนสีฟ้าที่ย้อมด้วยครามเพื่อให้ความรู้สึกลื่นไหล สบาย ไดโนเสาร์กินเนื้ออย่าง ‘สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส’ ลักษณะจะดุๆ หน่อย เราเลยเลือกใช้เทคนิคสม็อกเป็นสามเหลี่ยมต่อๆ กัน ถ้าอิงตามทฤษฎีเด็กๆ จะรู้สึกว่ามันเหมือนเขี้ยว รุนแรง แต่เราก็ตัดความโหดร้ายนั้นด้วยโทนชมพูน่ารักที่ย้อมจากฝาง ให้เด็กๆ คิดต่อกันเองว่าจริงๆ แล้วเขาดุร้ายจริงหรือเปล่า

ตุ๊กตาไดโนเสาร์

“ตัวกินพืชอย่าง ‘ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน’ เราทำสม็อกเป็นลายใบไม้และย้อมสีเขียวด้วยกระถินและคราม เพื่อให้เด็กนึกถึงใบไม้ที่เขาเคยผ่านตา ส่วนตัวที่มีปีกรูปทรงคล้ายนกอย่าง ‘กินรีมิมัส ขอนแก่นเอนซิส’ เราใช้การถักโครเชต์ เด็กๆ มองมาจะรู้สึกอ่อนหวาน สัมผัสนุ่ม จนเขาจินตนาการถึงหิมะได้ไม่แพ้หิมะใน Frozen ที่เคยดู” เมย์เล่าด้วยความสนุกสนาน

นอกจากผิวสัมผัสจะต่าง นักออกแบบสาวยังเพิ่มประสบการณ์การเล่นแบบอิสระด้วยฟังก์ชั่นที่ถอดหางและปีกได้ เพื่อให้เด็กๆ สามารถสลับพันธุ์ไดโนเสาร์ อยากจับคู่สีนี้กับตัวนี้ เอาหางตัวนี้ไปใส่อีกตัวหนึ่งก็ได้ จากผลการทดลองเธอพบว่า เด็กบางคนจะวิ่งกรูไปขี่ไดโนเสาร์ตัวใหญ่ เด็กบางคนจะเข้าไปนอนกอดตัวนิ่มๆ แต่ตัวที่ป๊อปที่สุดดูท่าจะเป็นเจ้าไดโนเสาร์คอยาวอย่าง อิสานโนซอรัส อรรถวิภัชน์ชิ และภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน

ตุ๊กตาไดโนเสาร์

“ปกติค่าความสนใจของเด็กวัย 2-4 ปีต่อของเล่นจะอยู่ที่ประมาณ 10-15 นาที แต่เหล่าไดโนเสาร์ทำให้พวกเขานิ่งได้ถึง 30 นาที เพราะมันสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบเรื่องราวและจินตนาการได้

“อย่างแรกเลย รูปทรงจะส่งผลต่อการอยากรู้อยากเห็นของเด็กก่อน ตอนเราทดลองกับเด็กชั้นอนุบาล 50 คน โดยตั้งมันไว้กลางห้องเรียนแล้วให้เขามองเข้าไปจากที่ไกลๆ สิ่งที่พบคือเด็กจะรู้สึกดึงดูดจากรูปทรงและสี แต่พอเข้าไปสัมผัสจะพบว่าผิวไม่เหมือนกันเลย ทำให้เขาสงสัยต่อว่าทำไมตัวนี้จับแล้วไม่เหมือนอีกตัว และวนกันจับ คุ้ย แคะ เขี่ย ทีละตัวจนครบอย่างมีสมาธิ”

ของเล่นกระตุ้นประสาทสัมผัสชิ้นแรกในโคราช

ตุ๊กตาไดโนเสาร์ผิวสัมผัส เป็นของเล่นชิ้นแรกในโคราชที่เปลี่ยนงานหัตถกรรมมาเป็นของเล่นเสริมพัฒนาการ โดยผ่านการวิจัยและทดลองแล้วว่ามีประโยชน์ต่อเด็กๆ นั่นก็เพราะเมย์ให้ความสำคัญกับการสร้างการเรียนรู้ในทุกๆ รายละเอียด

“นอกจาก active touch หรือสัมผัสภายนอก เช่น พื้นผิวที่ไม่เหมือนกัน เรายังเพิ่ม passive touch หรือสัมผัสที่มองด้วยตาไม่ออกเข้าไปในตุ๊กตาด้วย คือพอจับแล้วถึงจะรู้ว่าข้างในมันไม่เหมือนกัน ด้วยการทำหมอนที่เป็นพื้นดิน พื้นน้ำ พื้นหญ้า แยกออกมา เพื่อให้นำไปประกอบกับตัวในไดโนเสาร์ตามจำพวกของมัน ซึ่งทอด้วยผ้าฝ้ายธรรมชาติ และยัดใยสังเคราะห์ เม็ดถั่ว และลูกปัด พอเด็กๆ จับก็จะว้าวต่อ แล้วคิดว่า อ้าว อันนี้สัมผัสไม่เหมือนกันอีกแล้ว และทำให้เขาอยากรู้ต่อไปเรื่อยๆ”

ของเล่นชนิดนี้จัดอยู่ในกลุ่ม sensory toys หรือของเล่นหมวดประสาทสัมผัสซึ่งเหมาะกับช่วงวัย 2-4 ขวบ เพราะเมื่อเด็กหยิบจับของที่มีพื้นผิวแตกต่างกันมากๆ จะส่งผลให้เส้นใยสมองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราถึงได้เห็นแบบฝึกหัดให้เด็กๆ หยิบจับเส้นมักกะโรนี สปาเก็ตตี้ หรือตีฟองน้ำ แต่การจะทำแบบฝึกหัดแบบนั้นก็ต้องอาศัยการเตรียมการของครูหรือพ่อแม่มากมาย เมย์จึงนำ pain point นี้มาต่อยอดเป็นตุ๊กตาที่เข้าถึงง่ายขึ้น

แค่นั้นยังไม่พอ เมย์ยังฝึกซอฟต์พาวเวอร์เรื่องการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนด้วยปีกและหางที่ถอดประกอบได้ โดยเมื่อเด็กบางคนไม่สามารถประกอบได้ด้วยตัวคนเดียว เพื่อนที่คอยจ้องอยู่ข้างๆ จะเริ่มเดินเข้ามาช่วย จาก 1 เป็น 2 จาก 2 เป็น 3 และกลายเป็นงานกลุ่มในที่สุด

สำหรับบล็อกพื้นที่อยู่ของไดโนเสาร์ เมย์ตั้งใจทำเป็นหลากหลายรูปทรง ทั้งสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยมคางหมู สี่เหลี่ยมผืนผ้า และสี่เหลี่ยมจัตุรัส เธอได้แรงบันดาลใจมาจากงานวิจัยหนึ่งที่บอกว่าเมื่อทำวัตถุเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า เด็กจะสามารถจับได้แต่ไม่ถนัดจนต้องใช้สองคนจับ เช่นเดียวกับวัตถุรูปสี่เหลี่ยมคางหมูที่ยกคนเดียวยังไงก็ไม่คล่อง และนี่จะทำให้เกิดความสามัคคีระหว่างเด็กๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือกัน

ก่อร่างไดโนเสาร์ด้วยมือคนอีสานแท้ๆ

ไดโนเสาร์ก็เป็นสายพันธุ์อีสาน ผ้าที่ใช้ทำก็มาจากมือคนอีสาน เริ่มจากชุมชนในขอนแก่นที่รับผิดชอบย้อมผ้าด้วยดอกไม้และพืชพรรณท้องถิ่น และทอให้เป็นผืน จากนั้นกลุ่มผลิตหมอนสม็อกในนครราชสีมาก็รับช่วงต่อ พัฒนาเทคนิคใหม่ๆ ร่วมกันกับเมย์ 

วิธีการทำงานร่วมกันคือดีไซเนอร์สาวจะขอเสนอไอเดียใหม่ๆ ที่พวกเขาไม่เคยทำมาก่อน แต่ไม่เปลี่ยนเทคนิคดั้งเดิมฉบับคนอีสานที่ถนัด เช่น การเย็บสม็อกและโครเชต์ เพียงแต่ปรับนิดผสมหน่อยให้ดูทันสมัยและต่อยอดได้ดีในอนาคต

“จากที่ป้าเคยทอเส้นใยแบบหนึ่งเราก็เข้าไปขอให้ลองทำเกลียวเพิ่มให้หนาขึ้น กลุ่มประดิษฐ์ที่เคยเย็บหมอนสม็อกอย่างเดียว เราก็เอาไอเดียไปบอกเขาว่านอกจากหมอนแล้ว ผ้าแบบนี้ยังทำเป็นตุ๊กตาได้นะ แพตเทิร์นต่างแต่วิธีการแทบไม่ต่าง แถมได้โปรดักต์ใหม่ๆ 

“เช่นเดียวกับทีมย้อมสีธรรมชาติที่ให้ความรู้เมย์ คอยหาพืชพรรณธรรมชาติมาผสมสีให้เรา ทำให้รู้ว่าจริงๆ เทคนิคการย้อมผ้าแทบไม่ต่างจากการผสมสีน้ำ เช่น ถ้าใช้ครามมาย้อมบางๆ จะได้สีฟ้าอ่อน ถ้าแช่ไว้นานๆ จะได้สีเข้ม หรือหากอยากได้สีเขียวแต่หาใบไม้สีเขียวไม่ได้ การนำใบกระถินสีเหลืองมาผสมกับครามจะได้เขียวที่สวยเลย”

เพราะปลายทางของตุ๊กตาคือมือและร่างกายของเด็กๆ ผ้าที่เมย์เลือกจึงเป็นผ้าฝ้ายธรรมชาติซึ่งระบายอากาศได้ดีและปลอดภัยต่อเด็ก นอกจากใช้ฝ้ายทอมือธรรมชาติ ย้อมด้วยสีจากวัสดุธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่แค่กระบวนการผลิตที่ใช้วัสดุธรรมชาติอย่างเดียว เธอยังคำนึงถึงการใช้เศษผ้าเหลือใช้จากกระบวนการผลิตโปรดักต์ต่างๆ เพื่อลดขยะอีกด้วย

“ระหว่างทางเราเจอขยะผ้าที่อาจจะไม่สวยตามพิมพ์นิยมจำนวนมาก ได้แก่ เศษใย เศษด้าย ผ้าทอ เส้นไหม ก็เลยคิดไอเดียลดขยะด้วยการให้ป้าๆ ทอเศษทั้งหมดรวมกันเป็นผืนโดยไม่สนเรื่องสี ออกมาเป็นเขียวๆ แดงๆ ก็ไม่เป็นไรเพราะเรานำมาทำเทคนิคสม็อกต่อให้เกิดพื้นผิว เราก็เอาผ้าเหล่านี้ใส่ลงไปในงานด้วยบางส่วน ทั้งในส่วนตัวไดโนเสาร์และบล็อกพื้น อีกทั้งยังส่งผ้าที่เหลือไปให้อาจารย์ท่านอื่นต่อยอดได้อีก”

ตัวอย่างงานหนึ่งที่นำเทคนิคผสมเส้นใยเหลือใช้ไปต่อยอดคือในผลงานวิจัยของ ดร.สิทธิศักดิ์ รัตนประภาวรรณ เรื่องออกแบบของเล่นเสริมพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่สำหรับเด็ก 2-3 ปี งานนั้นใช้เศษหวายจากอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา และเศษเส้นไหมที่เหลือจากการทอผ้าจากอำเภอสีดา นำมาผสมเทคนิคการการสร้างลวดลายแบบสม็อคสร้างพื้นผิวที่เหมาะกับการเป็นของเล่น ออกมาเป็นม้าโยกหน้าตาน่ารักอย่างที่เห็น

อย่าหยุดประสบการณ์เด็กไว้แค่ห้องเรียน

“ผู้ใหญ่ต้องสนับสนุนให้เด็กกล้าต่อยอดความคิด เพื่อให้เขากล้าแสดงออก กล้าลงมือทำ และกล้าสร้างเรื่องราวต่างๆ ในหัว การเล่นไดโนเสาร์ผิวสัมผัสจึงจะไม่ชี้เด็กเลยว่าเล่นแบบนี้ผิด หรือเล่นแบบนี้ถูก เพราะเราอยากให้เขาจินตนาการเองได้” นี่คือความคิดแกนหลักของเมย์ที่ผสมผสานไปกับความคราฟต์ตั้งแต่เริ่มโปรเจกต์ยันทดลองกับเด็ก เบ็ดเสร็จทุกกระบวนการนาน 3 ปีครึ่ง

“วัย 2-4 ขวบคือวัยที่ผู้ปกครองควรส่งเสริมให้เขาได้เล่นตามวัย ได้ฝึกฝนกล้ามเนื้อมัดใหญ่ผ่านการจับ สัมผัส วิ่ง เล่น เราจึงส่งเสริมให้เด็กทุกคนมีการเล่นที่กระตุ้นประสาทสัมผัสให้ครบทุกด้านมากกว่าเน้นวิชาการที่ทำให้เด็กเครียดง่าย” เมย์พูดถึงความตั้งใจของตัวเองอย่างมุ่งมั่น

“พ่อแม่บางคนมองว่าการห้ามเด็กเล่นมือถือไปเลยคือการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดในยุคนี้ แต่จริงๆ ไม่ใช่ เราก็มีลูก เราจึงรู้ว่าห้ามยาก ขนาดเรายังอยากเล่นมือถือเลย แล้วทำไมถึงห้ามลูกเล่นล่ะ เพราะฉะนั้นเล่นได้ แต่อย่าลืมพาเขาไปฟังเพลง ไปเห็นนู่นนี่ พาไปเล่นอย่างอื่น เล่นตุ๊กตา หรือกิจกรรมนอกห้องสลับไปมาบ้าง

“นอกจากเด็กที่เครียดจนมาจับมือถือ ยังมีเด็กอีกกลุ่มที่แท้จริงเขาอาจจะไม่ได้ติดมือถือก็ได้แต่เขาไม่มีอะไรเล่นมากกว่า ผู้ปกครองจึงมีหน้าที่หากิจกรรมทดแทนมาให้เขา อย่างการเล่นตุ๊กตาผิวสัมผัสที่สามารถกระตุ้นระบบประสาทของเขาไปยันโตได้

“ตุ๊กตาไดโนเสาร์ผิวสัมผัสของเราจึงเป็นตัวอย่างของเล่นที่อยากให้ผู้ปกครองยุคนี้ใส่ใจการเล่นของเด็ก ไม่ปิดกั้นความคิดหรือจินตนาการ เพราะเด็กยุคนี้นี่แหละจะโตไปเป็นประชากรที่อยู่ในสังคมไทยต่อไป” เมย์ทิ้งท้าย

ตุ๊กตาไดโนเสาร์

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ฐากร หนูหน่าย

ช่างภาพ บาริสต้า และคนบ้าคีย์บอร์ด