หรือความเป็นเควียร์จะจางไปในภาคสองของหนังเรื่อง Frozen และ Maleficent

Highlights

  • คอลัมน์ Life of Pride ชวนวิเคราะห์ความเป็นไปได้ว่าทำไม Elsa ในภาพยนตร์เรื่อง Frozen ยังโสด ไม่มีแฟนหญิงเสียที และสำรวจรูปแบบการพัฒนาภาคสองของหนังเรื่อง Frozen 2 และ Maleficent: Mistress of Evil ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
  • แล้วการสถาปนาเอลซ่ากับมาเลฟิเซนต์เป็น ‘ตัวแม่’ นั้นดีหรือไม่และมีปัญหายังไง พร้อมชวนลองใช้ข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างความปรารถนาแบบเควียร์ (queer desire) กับอัตลักษณ์แบบเควียร์ (queer identity)

ภาคแรกของภาพยนตร์เรื่อง Frozen (2013) และ Maleficent (2014) มีเนื้อหาที่เอื้อต่อการตีความแบบเควียร์ เมื่อหนังทั้งสองเรื่องมีตอนต่อ ผู้ชมก็เฝ้ารอดูการพัฒนาตัวละครเควียร์ด้วยความกระตือรือร้น พร้อมความคาดหวังว่าจะได้เห็น Elsa มีแฟนเป็นผู้หญิง และความสัมพันธ์ของทั้งคู่จะเป็นไปในทิศทางที่ดีเช่นเดียวกับคู่ Anna และ Kristoff แต่ก็ต้องผิดหวังเพราะคิดว่าความเป็นเควียร์เจือจางไปในภาคสองของหนังทั้งสองเรื่อง

ใน Frozen ภาคแรก เอลซ่าเป็นเจ้าหญิงที่ไม่สนใจเรื่องความสัมพันธ์ฉันชู้สาว พลังพิเศษของเธอกลายเป็นสิ่งประหลาด พ่อแม่ขอให้เอลซ่าซ่อนพลังนี้ไว้ไม่ให้ใครเห็น ทำให้เธอรู้สึกแปลกแยกจากผู้คนรอบข้าง มีงานศึกษาหลายชิ้นที่สนับสนุนว่าหนังเรื่องนี้เสนอมุมมองแบบเควียร์ หนึ่งในนั้นคือศาสตราจารย์ด้านภาษาอังกฤษชื่อ Angel Daniel Matos ผู้เชี่ยวชาญวรรณกรรมเด็กและเยาวชน

มาทอสเสนอว่าความรู้สึกล้มเหลวต่อตัวเองเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง เควียร์มักเจอความรู้สึกนี้มากน้อยต่างกันไป แต่ไม่มีสูตรคณิตคิดหาเส้นทางตายตัวว่าเควียร์จะก้าวข้ามอุปสรรคนี้ได้ยังไง แต่ละคนต้องปรับเปลี่ยนเอาเองหน้างาน

อย่างเอลซ่าพอพ่อแม่ไม่อยู่แล้ว อำนาจที่ยึดโยงเธอไม่ให้เป็นอิสระก็ถดถอย จนกล้าลุกขึ้นมาแหกขนบปลดปล่อยตัวเองและหาจุดกึ่งกลางที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม

เมื่อโซ่เส้นใหญ่หลุดพ้นและเอลซ่าเรียนรู้ที่จะรักและเห็นคุณค่าของตัวเองแล้ว ทำไมเอลซ่ายังโสดในตอนต่อภาคสอง ชีวิตเธอควรจะขยับขั้นต่อไปได้แล้ว ตรงนี้อยากเสนอคำอธิบายหรือการตีความ 2 อย่างที่ดูเป็นไปได้ อย่างแรกคือ ‘วัฏจักรชีวิต’ เป็นวิธีคิดที่สุดแสนจะอยู่ในกรอบบรรทัดฐานของคนที่ชอบเพศตรงข้าม (heterosexual norm) เริ่มจากเกิด เรียนหนังสือ มีความรัก ทำงาน และจบลงที่การแต่งงาน

การเล่าเรื่องในหนัง Frozen ทั้งสองภาคแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ เรื่องราวของแอนนาและของเอลซ่า จะเห็นว่าแอนนาใช้ชีวิตตามวัฏจักรที่กล่าวข้างต้น แต่เอลซ่าไม่ใช่ ความคิดอยากให้เอลซ่ามีแฟนหญิงครองคู่กันตลอดไป แฮปปี้เอนดิ้ง คือการยัดเยียดให้เธอใช้ชีวิตตามบรรทัดฐานของสังคม

การจิ้นมโนอยากให้ตัวละครที่เรารักมีความสัมพันธ์ที่ดีเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ก็ต้องอย่าลืมว่าเควียร์ไม่ได้มีชีวิตเป็นลำดับขั้นตอนเดียวกันกับคนที่ชอบเพศตรงข้าม

นอกจากนี้ความต้องการอยากให้เอลซ่ามีแฟนหญิงอาจมองว่าเป็นการจำกัดให้เธออยู่ในกล่องเพศเพียงกล่องเดียว แอบคิดว่าผู้กำกับพยายามสร้างความคลุมเครือให้ตีความเอลซ่าว่าเป็นได้ทุกอย่าง ทั้งบุคคลที่ไม่ฝักใจทางเพศ (asexual) ชอบสองเพศ (bisexual) ชอบได้ทุกคน ไม่ได้สนใจที่เพศ (pansexual) ชอบเพศหลากหลาย (polysexual) หนังเปิดปลายไว้กว้างๆ ไม่เจาะจงเรื่องแฟน ช่วยกระตุ้นการอ่านความลื่นไหลทางเพศของตัวละคร

ภาพยนตร์เรื่อง Frozen ยังชี้ชวนให้ผู้ชมขบคิดถึงความแตกต่างระหว่างความปรารถนาแบบเควียร์ (queer desire) กับอัตลักษณ์แบบเควียร์ (queer identity) ความปรารถนาแบบเควียร์มีมานานแล้วก่อนเริ่มมีการพูดคุยเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศกันในศตวรรษที่ 20 เสียอีก

เราเคยเห็นจิตรกรรมฝาผนังที่สอดแทรกการแสดงความรักที่ดูผิดแผกไปจากบรรทัดฐาน หรือในสังคมเกษตรกรรมแบบภาพยนตร์ Brokeback Mountain (2005) ที่ตัวละครชายเกิดแรงดึงดูดและมีเพศสัมพันธ์กัน หลังจากนั้นจึงถามว่า “Are we queer now?” รู้เพียงว่ามีความต้องการ แต่ไม่เข้าใจว่าสิ่งนี้เรียกว่าอะไร

 

อัตลักษณ์แบบเควียร์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากการเติบโตของสังคมเมือง ก่อนหน้านั้นคนที่มีความปรารถนาแบบเควียร์กระจัดกระจายอยู่คนละแห่งหน ไม่รู้ว่ายังมีคนอื่นที่ชอบแบบเดียวกัน พอย้ายถิ่นฐานมาทำงานในเมืองจึงมองกันไปมองกันมา จิกจนเจอพวกเดียวกัน แล้วค่อยรวมกลุ่มกันสร้างตัวตนทางเพศแบบเควียร์ขึ้น หลังจากนั้นถึงเรียกร้องการตระหนักรู้ การเคารพจากสังคม รวมถึงสิทธิที่เท่าเทียมกัน การศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ช่วยทำให้เห็นวิวัฒนาการนี้

ในหนัง Frozen ภาคแรก เอลซ่าพยายามทำความเข้าใจยอมรับแรงปรารถนาแบบเควียร์ของตัวเอง จนสุดท้ายกล้าปลดปล่อยออกมาให้คนอื่นเห็นอย่างในเพลง Let It Go ภาคสองเปิดเรื่องมาให้เอลซ่ารู้สึกโดดเดี่ยว ถึงแม้เธอจะรู้จักตัวเอง แต่ก็ยังรู้สึกขาดอะไรบางอย่างไป เอลซ่าโหยหาเพื่อนที่มีแรงปรารถนาแบบเดียวกัน ซึ่งแอนนาไม่สามารถเติมเต็มตรงนี้ได้ Show Yourself  จึงเป็นเหมือนเพลงชาติของเควียร์ที่เอลซ่าเรียกร้องหาชุมชนเควียร์ “Let me see who you are. Come to me now.” แล้วจึงมีคอรัสร้องตอบรับจากเวิ้งน้ำอันไกลโพ้น

จนกระทั่งเอลซ่าได้พบกับชนเผ่า Northuldra ที่ผนึกจิตวิญญาณเป็นหนึ่งเดียวกับป่าเขาลำเนาไพร เชื่อมต่อกับเวทมนตร์และสามารถนำพลังจากธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ เอลซ่ายังรู้ความจริงว่าแม่ของเธอก็เป็นคนจากเผ่านี้ จึงทำให้เอลซ่าเกิดความผูกพันและตัดสินใจอยู่กับ Northuldra และประกอบสร้างชุมชมเควียร์ขึ้น แถมเอลซ่ายังได้รับสถาปนาเป็น ‘ตัวแม่’ ณ ดินแดนแห่งนี้ Frozen 2 จึงเป็นเรื่องของอัตลักษณ์แบบเควียร์แทบทั้งสิ้น

โครงเรื่องของภาพยนตร์ Maleficent ทั้งภาคแรกและภาคสองมีลักษณะคล้ายคลึงกัน ภาคแรกเริ่มจากตัวละครหลักทำความเข้าใจอารมณ์แรงปรารถนาภายในของตัวเอง แล้วภาคสองจึงค่อยๆ พัฒนาและต่อยอดเป็นการแสวงหาชุมชนเพื่อช่วยกันสร้างอัตลักษณ์ทางเพศแบบเควียร์ขึ้น มาเลฟิเซนต์ในภาคแรกโดนผู้ชายเท พอมาพบกับ Aurora ก็ไม่แน่ใจว่ารักหรือเกลียดกันแน่ จนสุดท้ายเข้าใจและยอมรับตัวเองได้ ตอนจบจึงรับออโรร่าเป็นลูกมาอยู่ด้วยกันที่ดินแดน Moors

พอมาตอนต่อภาคสองจะเห็นว่ามาเลฟิเซนต์พยายามตัดขาดจากโลกภายนอก อยากให้โลกนี้มีแค่เธอ ออโรร่า กับสิ่งมหัศจรรย์นางฟ้าตัวเล็กตัวน้อย แต่ก็ล้มเหลว แสดงให้เห็นว่าเควียร์ไม่สามารถแยกไปสร้างโลกยูโทเปียอยู่ต่างหาก ยังไงก็ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก หัวใจสำคัญคือการหาจุดกึ่งกลางที่สามารถอยู่ร่วมกันโดยไม่สูญเสียตัวตน มาเลฟิเซนต์ก็ยืนยันเสียงแข็งว่าจะไม่เสวนากับสังคม แต่ก็ต้องยอมโอนอ่อนเพราะรักออโรร่า แต่ก็มีความอึกอักทำตัวไม่ถูกในช่วงแรก

พอเข้าสังคมออโรร่าไม่เข้าใจความประดักประเดิด ยิ่งทำให้มาเลฟิเซนต์รู้สึกแปลกแยก สุดท้ายแล้วเธอก็ตัวคนเดียว ออโรร่าไม่สามารถทดแทนความรู้สึกขาดได้ เธอเป็นพวกเดียวกับราชินี Ingrith กับเจ้าชาย Phillip ที่ไม่มีวันเข้าใจอารมณ์แรงปรารถนาที่แตกต่างของมาเลฟิเซนต์ ความโหยหาพวกเดียวกันสิ้นสุดลงเมื่อมาเลฟิเซนต์ได้มาเจอกับพวก Dark Fey หลัง Conall ช่วยชีวิตเธอและพามาชมรังของพวกเขา เขาพูดกับเธอว่า “We’re Dark Fey. Same as you. We’re all that remains. Unseen here, far away from mankind.” ทั้งสองเชื่อมเข้าด้วยกันโดยง่ายเพราะความเหมือน แบบเดียวกันกับที่เอลซ่ารู้สึกผูกพันกับเผ่า Northuldra

คำจำกัดความของเควียร์ขยายกว้างขึ้นในภาพยนตร์เรื่อง Frozen 2 และ Maleficent: Mistress of Evil เควียร์ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่เรื่องอัตลักษณ์และรสนิยมทางเพศ ทว่าใช้เรียกคนที่รู้สึกแปลกแยกจากสังคมกระแสหลัก ถูกจำแนกให้แตกต่าง ด้วยสาเหตุอะไรก็ตามแต่ อย่างในหนัง Northuldra และ Dark Fey ก็ถือว่าเป็นเควียร์

แม้มาเลฟิเซนต์ไม่ต้องดูแลออโรร่าอีกต่อไป เพราะมีฟิลลิปมาทำหน้าที่แทน แต่เธอก็ไม่ได้ละทิ้งบทบาทความเป็น ‘แม่’ เสียทั้งหมด เธอกลายเป็นแม่ของพวก Dark Fey ในฉากจบของเรื่องมาเลฟิเซนต์คอยบินประคับประคอง Dark Fey รุ่นเยาว์ เหมือนเป็นการช่วยเหลือเควียร์รุ่นใหม่ให้เติบโตงดงาม การสถาปนาเอลซ่ากับมาเลฟิเซนต์เป็น ‘ตัวแม่’ จึงสร้างข้อถกเถียงได้เหมือนกันถ้าเราอ่านหนังผ่านมุมมองเควียร์

ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น เควียร์ศึกษาเกิดขึ้นในตอนนั้นส่วนหนึ่งก็เพื่อรณรงค์ความเท่าเทียมทางเพศ การแต่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นตัวแม่อาจมองได้ว่าเป็นการผลิตซ้ำความสัมพันธ์เชิงอำนาจ สุดท้ายแล้วเราก็เป็นคนไม่เท่ากัน แล้วตัวแม่เหล่านี้มีลักษณะร่วมกันที่น่าสนใจ คือเอลซ่าและมาเลฟิเซนต์เป็นเจ้าหญิงผิวขาว มีต้นทุนทางสังคมดี ไม่ใช่หญิงชาวบ้าน แสดงให้เห็นว่าเควียร์ปฏิเสธความเหลื่อมล้ำอย่างหนึ่ง เพื่อไปผูกติดกับอำนาจในอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นวงเวียนที่ดิ้นไม่หลุด

ในอีกมุมหนึ่งการใช้สรรพนาม ‘ตัวแม่’ เป็นการเทิดทูนผู้หญิงไว้บนหิ้งบูชา ตรึงเธอไว้ในกรอบว่าตัวแม่ต้องเป็น ‘แบบอย่าง’ ที่ดีให้กับผู้อื่น ทำผิดทำพลาดอะไรไม่ได้ พวกเธอมีชีวิตเพื่อมวลชน ไม่ใช่เพื่อตัวของตัวเอง ในตำนานกรีกโบราณมีเทพีชื่อ Hestia ผู้คอยเสียสละดูแลทุกคนในครอบครัวโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนตน คำบรรยายบุคลิกลักษณะของเธอคลุมเครือและรูปวาดของเทพีองค์นี้ก็หายากมาก

พอเราสถาปนาใครสักคนเป็นตัวแม่ ร่างกายจึงไม่ใช่ของเธออีกต่อไป และส่วนใหญ่ต่างคิดว่ารัฐและมวลชนมีสิทธิควบคุมและบงการเหนือเรือนร่างของเธอได้

ส่วนตัวชอบที่เอลซ่ากับมาเลฟิเซนต์ค้นพบชุมชมเควียร์ที่ทั้งคู่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง แต่ไม่แน่ใจเรื่องการแต่งตั้งให้เธอเป็นตัวแม่ของกลุ่ม ตัวตนของพวกเธอค่อยๆ เลือนไป เอลซ่ารวมเป็นหนึ่งไปกับน้ำ มาเลฟิเซนต์ผนึกเข้ากับฟ้าและธรรมชาติ อย่างที่เฮสเทียเลือนไปกับความร้อนของเตาเผาไฟ เป็นประเด็นที่อยากชวนคุยกันต่อไปในครั้งหน้า

ความเป็นเควียร์ไม่ได้เจือจางหายไปในหนัง Frozen 2 และ Maleficent: Mistress of Evil แต่หนังเสนอเควียร์ในอีกแง่มุมหนึ่งที่เป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกับความคาดหวังของผู้ชมเท่านั้น ภาคแรกพูดถึงเควียร์ที่เป็นภาวะหรือปรากฏการณ์ภายใน ส่วนภาคสองเน้นเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศและการสร้างชุมชนของเควียร์ ซึ่งแน่นอนว่ามีการโยงเอาการเมืองเรื่องเพศเข้ามาด้วย ส่งผลให้มีประเด็นข้อโต้แย้งมากขึ้นกว่าภาคแรกเท่านั้นเอง

AUTHOR

ILLUSTRATOR

นักรบ มูลมานัส

ผู้เรียกตนเองว่านักวาดภาพประกอบ แต่ไม่ได้วาดภาพขึ้นมาเอง พยายามจะเป็นศิลปินบ้าง นักเขียนบ้าง