จั๊กกะจิ่งจิ่ง หนังสือที่ชวนเด็กค้นหาและเคารพความหลากหลายในตัวเองและคนอื่น

แม้ไม่มีตัวเลขในงานวิจัยมายืนยัน แต่เราเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่มักเจอกับประสบการณ์ที่ผู้ใหญ่กำหนดให้เลือกอะไรหลายอย่างในชีวิตเสมอ

อย่างเช่นว่า “ลูกเลือกเรียนวิทย์-คณิตสิ น่าจะดีกว่าเรียนสายศิลป์”, “ถ้ารับข้าราชการจะมีอนาคตที่มั่นคงกว่า”, “ผู้ชายแต่งหน้าเป็นตุ๊ดเหรอ”, “ผู้หญิงห้ามบวชเป็นพระ” หรือ “เป็นกะเทยก็ได้แค่เป็นคนดีก็พอ”

เรื่องเหล่านี้ไม่ได้เป็นแค่ประสบการณ์ในชีวิตคนคนหนึ่ง แต่อาจกลายมาเป็นฝันร้ายวัยเด็กที่ปลูกฝังความเชื่อตลอดชีวิตที่ว่ามนุษย์ต้องมีชีวิตสำเร็จรูปตามแบบที่สังคมเลือกไว้ การยอมรับความหลากหลายในตัวมนุษย์จึงไม่สำเร็จผลในสังคมที่เชื่อว่าโลกนี้มีแค่สองขั้วคือ ขาว-ดำ, ชาย-หญิง หรือคนดี-คนเลว

แน่นอนว่าความคิดแบบนี้กลายเป็นเรื่องล้าสมัยในยุคที่ทั่วโลกโอบรับความหลากหลายของผู้คน หลายประเทศสร้างฐานแนวคิดนี้ให้ประชากรตั้งแต่เด็ก ปลูกฝังทั้งในสถาบันครอบครัวไปจนถึงนโยบายระดับประเทศ แต่อย่างที่รู้ว่าในบ้านเรายังไม่ค่อยหยิบเรื่องนี้มาพูดคุยและปฏิบัติกันอย่างจริงจังมากเท่าไหร่ โดยเฉพาะในระบบการศึกษากระแสหลัก นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้คนกลุ่มหนึ่งสร้าง จั๊กกะจิ่งจิ่ง มาคุยกับเด็กๆ เรื่องความหลากหลายของมนุษย์ แต่คุณอาจจะสงสัยว่า จั๊กกะจิ่งจิ่ง คืออะไร

ตอนได้ยินครั้งแรก เราแทบจินตนาการภาพสิ่งนี้ไม่ออกเหมือนกัน แต่ชื่อที่ติดหูมากทำให้เราต้องไปหาคำตอบกับ แหม่ม–วีรพร นิติประภา นักเขียนเจ้าของรางวัลดับเบิลซีไรต์, ผศ. อรรถพล อนันตวรสกุล (อาจารย์ฮูก) อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, Eyedropper Fill และกลุ่มผู้จัดทำหนังสือเด็ก จั๊กกะจิ่งจิ่ง ซึ่งมีสมาชิกร่วมลงมือสร้างหนังสือเด็กเล่มนี้ด้วยกันถึง 20 คน

สวัสดี

ฉันคือ จั๊กกะจิ่งจิ่ง

ฉันคืออะไร ใครรู้บ้าง

จั๊กกะจิ่งจิ่งทักทายมาหาเราแล้ว ถ้าคุณเองก็อยากรู้ว่าเราจะคุยเรื่องความหลากหลายกับเด็กๆ ได้ยังไง เดินทางไปกับจั๊กกะจิ่งจิ่งกันเลยดีกว่า

ความหลากหลายคืออะไร เธอบอกได้หรือเปล่า

ขึ้นชื่อว่าเป็นหนังสือเด็กว่าด้วยความหลากหลายทั้งที แน่นอนว่าจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์นี้ก็เกิดจากการรวมตัวของผู้คนจากหลากหลายแบ็กกราวนด์ ตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา ไปจนถึงคนวัยทำงานจากหลากหลายสาขาอาชีพ

แม้แตกต่างหลากหลาย แต่มีสิ่งหนึ่งที่เชื่อมพวกเขาเข้าด้วยกัน นั่นคือหัวใจที่มองเห็นความสำคัญของเด็กๆ ที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต

พวกเขาชวนกันมองหาประเด็นที่สมควรส่งเสริมให้กับเด็ก โดยตั้งต้นจากโจทย์ที่ว่า มีเรื่องไหนที่ทั้งโลกสนใจแต่รัฐไทยยังไม่ค่อยสนับสนุนเท่าที่ควร

“เราเริ่มจากการโยนไอเดียกันก่อนว่ามีปัญหาอะไรอยู่ในประเทศนี้บ้าง แล้วมาดูกันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันมีปัญหามาจากต้นตอเดียวกันไหม ซึ่งเราพบว่าเรื่องที่อยู่ใต้ปัญหามากที่สุดคือ เราไม่เคารพความหลากหลายในชีวิตมนุษย์ ในขณะที่ประเทศใหญ่ๆ ในโลกนี้กำลังเคลื่อนสู่แนวคิด non-binary แล้ว และไม่ใช่แค่เรื่องเพศอย่างเดียว แต่หมายถึงทุกเรื่องเลย” หนึ่งในทีมงานจัดทำหนังสือเริ่มต้นเล่า ก่อนจะอธิบายต่อ

“พอได้ไอเดียแล้ว เราไม่ได้เริ่มลงมือทันที เพราะเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญที่จะทำหนังสือเด็กโดยตรง เลยชวนแม่แหม่ม วีรพร ในฐานะนักเขียนและเป็นคุณแม่ แล้วน้องในทีมที่เรียนครุศาสตร์ก็ชวนอาจารย์ฮูกซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องกระบวนการเรียนรู้มาร่วมทำหนังสือเล่มนี้ด้วยกัน” 

เมื่อรวมทีมกันได้แล้ว พวกเขารู้ดีว่าการพูดถึงความหลากหลายสามารถตีความได้กว้างมาก หัวข้อประชุมแรกๆ จึงเป็นการระดมสมองคิดว่าจะนำเสนอเรื่องนี้ในประเด็นไหนได้บ้าง

“ตอนนั้นเราถกกันเยอะมาก มีหลายเรื่องที่อยากจะพูดถึงความหลากหลาย ลิสต์ออกมามีทั้งเรื่องเพศ ที่อยู่อาศัย ตัวตน เราก็พยายามนึกถึงหนังสือที่เด็กอ่านแล้วรู้เรื่องไปด้วย” อรรถพลเล่าถึงกระบวนการตีโจทย์ครั้งแรก

“ส่วนวีรพรนึกถึงคลาสสอนเขียนของตัวเอง คนอายุน้อยๆ ช่วง 18-25 ปี เป็นกลุ่มหลักที่เข้ามาเรียน สิ่งที่เราค้นพบคือถึงจุดที่เขาเรียนจบ เขาไม่รู้ว่าอยากได้อะไร ไม่รู้ว่าเป็นใคร ไม่รู้ว่าอยากทำอะไร มันเลยกลายเป็นความลับของชีวิต” นักเขียนเจ้าของรางวัลพูดขึ้น

“เพราะแม่จะบอกว่ากินนี่สิดี เรียนอันนี้สิ ทำอย่างนั้นสิดีๆ ชอบหรือไม่ชอบไม่รู้ แล้วการที่ไม่รู้ว่าเราชอบอะไรเราจะใช้ชีวิตที่เหลือยังไง เพราะฉะนั้นคำถามคือทำไมคุณถึงไม่รู้ เพราะไม่ถูกสอนว่ามันมีสิ่งที่เรียกว่าความชอบ ซึ่งมันอาจจะไม่ดี ไม่ร้าย หรือร้ายนิดหน่อย แต่สนุกนะ” วีรพรยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เราพบประจำอย่างผู้ใหญ่ห้ามเด็กอ่านหนังสือเล่น แต่ให้อ่านหนังสือเรียน ซึ่งไม่สนุกมากพอจะให้เด็กรักการอ่านได้ หรือกรณีสั่งห้ามเด็กเล่นเกมราวกับว่าเกมเป็นอาชญากรรม

หนึ่งในทีมงานยังช่วยเสริมด้วยว่าทุกวันนี้มีข่าวเด็กประถมผูกคอตายเพราะเพื่อนล้อว่าบ้านไม่มีฐานะ พวกเขาจึงมองเป็นจุดมุ่งหมายของการทำหนังสือ นั่นคืออย่างน้อยที่สุดต้องไม่มีเด็กฆ่าตัวตายเพราะถูกล้อว่าตัวเองไม่เหมือนคนอื่นอีก

“ฟังทั้งหมดแล้ว เมสเซจที่พวกเราคลิกมากคือ เราต้องให้เด็กเห็นคุณค่าในตัวเองก่อน เขาต้องรู้ว่าเขาเป็นใคร สิ่งที่เขาเป็นมันมีคุณค่านะ แล้วคนอื่นก็เป็นแบบเขานั่นแหละ แล้วการที่เราอยู่ท่ามกลางคนที่ต่างคนต่างมีอะไรไม่เหมือนกัน มันเป็นเรื่องปกติ” อรรถพลสรุปไอเดียที่พวกเขาระดมสมองกันกว่าหลายชั่วโมงออกมา

ไม่ใช่หนังสือนิทาน ไม่ใช่หนังสือเสริมความรู้ แล้วหนังสือเด็กจะเป็นแบบไหนได้บ้าง

การเห็นคุณค่าในตัวเองและคนอื่นจึงกลายเป็นประเด็นพื้นฐานที่พวกเขาต้องการสื่อสารเพื่อนำไปสู่ความเข้าใจในความหลากหลายของมนุษย์ โจทย์ต่อไปคือการแปรชุดแนวคิดนี้ให้เป็นรูปธรรมพอที่เด็กวัย 3-6 ปีซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักเข้าใจได้ง่ายขึ้น

“จริงๆ ประเด็นนี้มันเกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็กแล้วล่ะ เพราะเขาจะได้รับเมสเซจจากผู้ใหญ่เยอะมาก อย่าง ‘เป็นผู้ชายทำไมเล่นแบบนี้’ หรือ ‘เด็กผู้หญิงทำไมเล่นผาดโผน’ คำพวกนี้มันกระแทกเด็กตลอดเวลา จนบางทีเขางงว่าตัวเองเป็นใคร” อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์อธิบายให้ฟัง ก่อนที่วีรพรจะแชร์ประสบการณ์ในฐานะแม่ของลูกชายด้วย

“ตามประสบการณ์ ส่วนใหญ่เด็กเกิดมาพร้อมความลิเบอรัล เขาไม่ได้เป็นคนตายตัวตั้งแต่ต้น เช่น ตอนเด็กๆ ลูกจะชอบถามแม่ว่า ‘แม่ วันนี้ลูกเป็นอะไร’ แม่แหม่มตอบว่า ‘เป็นลูกแม่ไง’ เขาบอกว่า ‘ไม่ใช่ๆ วันนี้เป็นจระเข้’ แม่ถามว่าทำไมล่ะ ‘ก็นอนอยู่หลังแม่ไง’”

“วันต่อมาเขาถามอีกว่าวันนี้เขาเป็นอะไร แม่ตอบว่า ‘จระเข้’ ลูกบอกว่า ‘ไม่ใช่ๆ วันนี้เป็นกระต่าย เพราะกินแคร์รอตไปแล้ว’ อย่างนี้เป็นต้น เด็กเขาเปิดกว้างลื่นไหลอยู่แล้ว แต่พอพาเข้าโรงเรียนได้ 2-3 ปีเท่านั้น ออกมาตัวแข็งโป้กอยู่ในกรอบเลย” เรื่องเล่าของวีรพรสร้างเสียงหัวเราะให้กับวงสนทนาของพวกเรา

ทีมงานจึงคิดว่าหนังสือเล่มนี้จะต้องเปิดกว้างให้กับความลื่นไหลให้ได้มากที่สุด ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่าจะลงมือสร้างหนังสือที่ไม่ยัดเยียดบรรทัดฐานหรือมีคำตอบตายตัวได้ยังไง

“โอเค ความหลากหลายเป็นชุดคุณค่าที่เราเชื่อ แต่เราจะไม่บอกเขาตรงๆ แน่ๆ เพราะส่วนตัวคิดว่าหนังสือเด็กจะต้องไม่ยัดคุณค่าให้เด็กอ่านแล้วจบ ยิ่งเป็นเด็กเล็ก เมื่อเขาอ่านหนังสือด้วยตัวเองหรือถ้ามีผู้ใหญ่มาอ่านด้วย ทำยังไงให้หนังสือเล่มนี้ทำให้เด็กเกิดคำถามมากที่สุด”

ทุกคนคุยกันว่าถ้าทำเป็นหนังสือนิทานที่มีเนื้อเรื่อง มีจุดเริ่มต้น จุดพีค และตอนจบก็ยังเปิดคำถามกว้างๆ จะทำได้ไหม โยนไอเดียกันไปมา พวกเขาจึงตั้งคำถามว่า ถ้าหนังสือมีแต่คำถามปลายเปิดล่ะ จะเป็นยังไง

“เราเลยเรียก จั๊กกะจิ่งจิ่ง ว่าหนังสือนิทานไม่ได้ เพราะไม่มีเส้นเรื่องชัดเจน แต่เราทำเป็นหนังสือภาพที่มีการถาม-ตอบระหว่างผู้อ่านกับผู้ฟัง หรือจะถาม-ตอบกับตัวเองก็ได้ ซึ่งทีมของเรามีคนเรียนจบมาจากเอกวรรณกรรมเยาวชน และคนที่เป็นนักวาดภาพประกอบก็เข้ามารับหน้าที่รวมไอเดียของทุกคนไปเรียบเรียงและวาดคาแร็กเตอร์ออกมา” หนึ่งในทีมงานอธิบายภาพรวมของหนังสือ

‘ฉันคือจั๊กกะจิ่งจิ่ง ฉันเป็นอะไรก็ได้ เธอก็เป็นอะไรก็ได้เหมือนกัน’

ในเมื่อเป็นหนังสือเด็กก็จำเป็นที่จะต้องมีตัวละครและภาพที่ทำให้เด็กๆ ติดตามไปได้เรื่อยๆ และโจทย์ใหญ่ของหนังสือคือความหลากหลาย ดังนั้นคอนเซปต์การสร้างตัวละครที่จะเป็นเพื่อนคุยกับเด็กๆ จึงต้องไม่มีใครเดาได้ว่าเป็นลักษณะยังไง

“เพราะมันต้องไม่มีคำตอบเดียว เราจึงวาดคาแร็กเตอร์แบบบอกตัวตนไม่ได้ว่าเป็นผู้ใหญ่หรือเด็ก รูปร่างเป็นยังไง บอกเพศไม่ได้ แต่ใครจะมองว่าเป็นอะไรได้หมด วิธีการคือต้องไร้รูปแบบไปเลย แต่ขอมีตาหน่อยเพื่อให้รู้ว่าสิ่งนี้มีชีวิต” หนึ่งในทีมงานบอกกับเรา

มีคาแร็กเตอร์ที่จะคอยถาม-ตอบกับเด็กๆ แล้ว ถ้าพวกเขามาเปิดอ่านจะให้เรียกชื่อตัวละครนี้ว่าอะไรดี วีรพรเล่าระหว่างประชุมเรื่องการวางคาแร็กเตอร์ เธอก็แอบคิดชื่อไปพลางๆ ด้วย

“มันต้องเป็นชื่อที่ไม่มีใครเคยได้ยินมาก่อน ชื่อต้องไม่ระบุเพศ ไม่ระบุอายุ แต่ต้องติดหู ชื่อที่เด็กอาจจะฟังแล้วคิดถึงอะไรบางอย่าง เช่น จั๊กจี้ จั๊กเดียม อะไรแบบดึ๋งดึ๋ง จิ่งจิ่ง ลักษณะกระเด้งๆ เพื่อที่จะได้มีอะไรให้เด็กจับไว้ โดยต้องไม่เกี่ยวกับความหมายอื่นๆ แล้วเขาจะจำได้” วีรพรอธิบาย

“แล้วแม่แหม่มก็โยนชื่อจั๊กกะจิ่งจิ่งเข้ามาในห้องประชุม” หนึ่งในทีมงานย้อนเล่าถึงวันนั้น ก่อนที่ทุกคนจะหัวเราะพร้อมกัน “แรกๆ คุยกันว่า ชื่ออะไรวะ สักพักลืมไม่ลง มันจำได้เลย” 

จั๊กกะจิ่งจิ่งจึงกลายเป็นชื่อของตัวละครหนังสือเด็กเล่มนี้ที่จะรับหน้าที่ถามคำถามกับเด็กๆ ไปเรื่อยๆ อย่างเช่นว่า ตัวฉันสีอะไร รูปร่างเป็นยังไง ฉันใส่เสื้อผ้ายังไง หรือแม้กระทั่งการถามถึงสิ่งสำคัญในชีวิต ซึ่งการตั้งคำถามเหล่านี้จะต้องคิดขึ้นมาให้สอดคล้องกับช่วงพัฒนาการของกลุ่มเป้าหมายอายุ 3-6 ปีด้วย

“พอวัยนี้เป็นช่วงของการพัฒนาเรื่องภาษาและการคิด เขามีเรื่องคิดเพื่อต้องการเหตุผลอยู่แล้ว แต่เขาจะมีหลายเหตุผลเสมอ เด็กวัยนี้ถึงชอบถามว่าทำไมๆ ย้ำๆ ปัญหาคือผู้ใหญ่จะเลือกให้เหตุผลเดียว” อรรถพลอธิบายในเชิงวิชาการ

คำถามสำคัญสำหรับเราคือ ถ้าหากเด็กอ่านหนังสือเล่มนี้กับผู้ใหญ่ที่ไม่ได้มีความเชื่อเรื่องความหลากหลาย แล้วจะเป็นยังไง

“อันนี้มันอยู่นอกเหนือขอบเขตของผู้ผลิตแล้ว เราทำอะไรไม่ได้ในพาวเวอร์ทั้งหมดที่มี อย่างตอนเขียนคำนำ แม่ยังนึกเลยว่าจะให้ความรู้ไปเลยดีไหมวะ ไกด์เลยไหม โอ้ย รับรองว่าเผาหนังสือกันตั้งแต่ตอนนั้น” นักเขียนวัย 58 หัวเราะ

“สู้ไม่อธิบายดีกว่า หลวมที่สุดเท่าที่จะหลวมได้ กว้างที่สุดเท่าที่จะกว้างได้ เปิดที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วให้มันทำงานของมันเอง เพราะสุดท้ายเราไม่ได้ต้องการผลลัพธ์แบบดีดนิ้วแล้วเปลี่ยน หรือแบบที่รัฐไทยชอบทำในนิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า” เธอตอบหนักแน่น

“ขอเสริมต่อจากพี่แหม่มเลย ครูคิดว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะทำงานได้ดีมากถ้าให้เด็กเป็นคนเลือก เพราะที่ผ่านมาเด็กต้องการเหตุผลหลากหลาย แต่ผู้ใหญ่มักให้คำตอบเดียว ดังนั้นพลังของการได้เป็นคนเลือกว่าอยากให้ตัวละครนี้ไปในทิศทางไหนในหนังสือเล่มนี้มันสำคัญมาก 

“สมมติว่าเด็กเลือกไม่ถูกใจพ่อแม่ สิ่งที่ตามมาคือเด็กจะถามว่าทำไม ทำไมแม่ต้องให้เขานุ่งกระโปรง ในเมื่อเขาอยากนุ่งกางเกง คือต่อให้อยู่ในครอบครัวที่พยายามจะครอบเขาอยู่ แต่เมื่อเด็กมีโอกาสได้เห็นพลังในการเลือกแล้ว การตั้งคำถามมันจะตามมา สิ่งเหล่านี้ไม่หายไปหรอก” อรรถพลยกตัวอย่างให้เห็นภาพ

หนังสือเด็กที่ว่าด้วยความหลากหลายและอยากเข้าถึงเด็กได้อย่างหลากหลาย

คำถามต่อไปของการทำหนังสือเล่มนี้คือ ในเมื่ออยากส่งต่อวิธีคิดแบบสากลให้เด็กไทย แล้วจะทำยังไงให้เด็กไทยเข้าถึงหนังสือได้ทุกคน

“มันเป็นเป้าหมายแรกๆ ของเราเลย เพราะแน่นอนว่าถ้าไม่ใช่โครงการรัฐบาล การจะกระจายหนังสือให้ได้ปริมาณมากๆ ต้องใช้ทุนเยอะ ดังนั้นต้องไม่มีกำแพงเรื่องเงิน เรารู้ว่าบางคนค่าแรงขั้นต่ำ 300 ถ้าจะพิมพ์หนังสือขายในราคา 150 เขาไม่มีทางซื้อได้ ดังนั้นเราต้องทำให้หนังสือเราถูกที่สุดในแผง ทุกคนเลยมาทำงานกันแบบไม่รับค่าตัวเลย” หนึ่งในทีมงานบอกกับเรา

ประกอบกับว่าสมาชิกในทีมมีคนที่ทำงานเก็บข้อมูลห้องสมุดและโรงเรียนทั่วประเทศ พวกเขาจึงทำลิสต์ออกมาว่าจะมีสถานที่ไหนที่พร้อมรับหนังสือได้บ้างจนเกิดเป็นโปรเจกต์ 100 ห้องสมุด 300 โรงเรียนที่จะส่งต่อหนังสือไปให้เด็กๆ

“เราดูทุนทรัพย์ว่าไหวแค่ไหน มีพอสำหรับกี่เล่ม แล้วเฉลี่ยไปแต่ละห้องสมุดที่เราติดต่อไว้ ซึ่งต่อไปเราก็จะต้องระดมทุนเพื่อให้ผลิตหนังสือได้มากๆ ราคาหนังสือก็จะลดลง และจะทำให้ส่งต่อหนังสือไปให้เด็กได้มากที่สุดด้วย”

เมื่อตั้งใจจะระดมทุน พวกเขาจึงต้องทำให้ จั๊กกะจิ่งจิ่ง กระจายตัวไปทำความรู้จักกับผู้คนในวงกว้าง ตรงนี้เองที่ Eyedropper Fill สตูดิโอที่ใช้สื่อหลากหลายรูปแบบเพื่อสื่อสารประเด็นต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือ

“ปีนี้ทีม Eyedropper Fill ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องจิตวิทยาและเยาวชนเป็นพิเศษ พอได้ฟังโปรเจกต์นี้ เราสนใจตรงการปลูกฝังเรื่องความหลากหลายให้กับเด็กปฐมวัย เพราะการจะไปปลูกฝังเรื่องนี้กับผู้ใหญ่ที่มี bias เยอะๆ มันยาก” นันทวัฒน์ จรัสเรืองนิล หนึ่งในทีม Eyedropper Fill อธิบายให้ฟัง

ภาพ: Eyedropper Fill

“แล้วมีครั้งหนึ่งแม่แหม่มพูดว่าอยากให้ จั๊กกะจิ่งจิ่ง เป็นแบบสไลม์ ของเล่นเด็กที่ไม่มีรูปร่างตายตัว ไปอยู่ตรงไหนก็ได้ และในหนังสือก็มีประโยคที่ว่า ‘จั๊กกะจิ่งจิ่ง ฉันก็คือฉัน ฉันเป็นอะไรก็ได้ แล้วเธอก็เป็นอะไรก็ได้เหมือนกัน’”

ประกอบกับทีม Eyedropper Fill ได้เห็นมีมที่คนฮิตเล่นกันอย่าง ‘พี่เห็นหนูด้วยเหรอ’ มีมที่ใช้ภาพที่มีรูปหน้าคนหรือมีคนแฝงอยู่ตามสิ่งของ พื้นที่ต่างๆ จึงเลือกใช้การฉายจั๊กกะจิ่งจิ่งตามที่ต่างๆ แล้วบันทึกเป็นภาพถ่ายไว้

ภาพ: Eyedropper Fill

“ทั้งหมดนี้เป็นแรงบันดาลใจให้เราเอาจั๊กกะจิ่งจิ่งไปแฝงไว้ตามซอกซอย ไปลงถนนจริงๆ ด้วยเทคนิคการใช้โปรเจกชั่นเพื่อเล่นกับบริบทความเป็นเมือง และระหว่างที่เราลงพื้นที่ ปรากฏว่าจั๊กกะจิ่งจิ่งก็ไปสะดุดตาเด็กๆ ในละแวกนั้น เด็กรีบวิ่งมาถามเลยว่ามันคืออะไร เราก็ชวนเด็กแลกเปลี่ยนกันเหมือนที่ในหนังสือถาม” 

นันทวัฒน์บอกว่าก่อนที่จะลงพื้นที่พวกเขาพอรู้อยู่แล้วว่าจะมีเด็กมาสนใจ ทีมงานเลยตกลงกันว่าถ้าหากมีเยาวชนเข้ามาถาม พวกเขาจะไม่ให้คำตอบเด็ก แต่จะถามแลกเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ให้เป็นไปตามเป้าหมายของการทำหนังสือเด็กเล่มนี้ 

ภาพ: Eyedropper Fill

นอกจากเด็กๆ แล้ว คนอีกกลุ่มที่พวกเขาอยากพา จั๊กกะจิ่งจิ่ง ไปหาคือวัยผู้ใหญ่ ซึ่งจะมีกำลังทรัพย์ในการซื้อหนังสือให้เด็กๆ ใกล้ตัวหรือร่วมระดมทุนกับพวกเขาเพื่อส่งหนังสือไปยังห้องสมุดได้ แต่คราวนี้ทีม Eyedropper Fill มีวิธีเข้าหาที่แตกต่างออกไป

“วัยทำงานคือวัยที่ผ่านโลกต่างๆ มาแล้ว บางคนอาจจะเติบโตในเส้นทางที่สังคมวางไว้ แต่ทีมงานก็เชื่อว่าทุกคนมีจั๊กกะจิ่งจิ่งในตัวเอง เราอาจจะเคยเป็น จั๊กกะจิ่งจิ่งที่เชื่อว่าตัวเองเป็นอะไรก็ได้ แต่ตอนนี้จั๊กกะจิ่งจิ่งของบางคนอาจจะตายไปแล้วหรือถูกเก็บไว้ลึกๆ เราก็เลยอยากพูดถึงเรื่องนี้”

ภาพ: Eyedropper Fill

ทีม Eyedropper Fill จึงชวนเพจมนุษย์กรุงเทพ ซึ่งเป็นพื้นที่เล่าเรื่องคนหลากหลายชีวิตที่อยู่ในกรุงเทพฯ มาช่วยนำเสนอเรื่องราวจั๊กกะจิ่งจิ่งในตัวของผู้ใหญ่

“ในทีมมีน้องๆ มัธยมฯ ที่ช่วยทำเว็บไซต์จั๊กกะจิ่งจิ่งให้คนได้ลองสร้างจั๊กกะจิ่งจิ่งของตัวเองอยู่แล้ว เราเลยชวนผู้ให้สัมภาษณ์มาเล่นเว็บนี้ ฉายตัวจั๊กกะจิ่งจิ่งลงไปบนตัวเขา แล้วถ่ายภาพไว้เพื่อบอกว่าทุกคนมีตัวละครนี้ในตัวเอง และส่งมอบพลังให้กับคนอื่นๆ ด้วย” 

ทีมงานบอกว่าเราจะได้อ่านบทสัมภาษณ์นั้นเร็วๆ นี้ ระหว่างนี้ถ้าใครได้รับรู้เรื่องราวของจั๊กกะจิ่งจิ่งและอยากสนับสนุนให้ความหลากหลายกลายเป็นแนวคิดพื้นฐานของเด็กไทย ก็สามารถช่วยเหลือโดยการส่งต่อ จั๊กกะจิ่งจิ่ง ให้ถึงมือเด็กทั้งในเมืองและต่างจังหวัดได้อย่างเสมอภาค

ภาพ: Eyedropper Fill

ใครชื่นชอบแนวคิดนี้และอยากมอบหนังสือให้เด็กๆ ใกล้ตัว สามารถสั่งซื้อ จั๊กกะจิ่งจิ่ง ได้ในราคา 99 บาท และถ้าอยากส่งต่อพร้อมสนับสนุนให้หนังสือกระจายถึงเด็กหลากหลายกลุ่มด้วย ก็สามารถร่วมสั่งซื้อได้ในราคาเดียวกันที่ลิงก์นี้เลย หรือจะลองเข้าไปกดสร้างตัวจั๊กกะจิ่งจิ่งของตัวเองดูก็ได้นะ (แนะนำว่าให้ใช้ลิงก์นี้ผ่านโทรศัพท์)

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย