Ten Years Thailand : 10 ปีข้างหน้าที่ไม่ต่างอะไรนักหนากับตอนนี้

Ten Years Thailand : 10 ปีข้างหน้าที่ไม่ต่างอะไรนักหนากับตอนนี้

Highlights

  • Ten Years Thailand คือภาพยนตร์ที่ตั้งคำถามกับประเทศไทยว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศนี้จะเป็นอย่างไร ผู้กำกับ 4 คนคือ อาทิตย์ อัสสรัตน์, วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง, จุฬญาณนนท์ ศิริผล และอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล คือคนที่ตอบคำถามนั้นให้กลายเป็นหนังสั้น 4 เรื่อง
  • หลังจากรับชม เราพบว่าหนังไปสุดทางในการวิพากษ์ประเด็นสังคมจนทำเอาเราคิดว่าทำไมการแสดงความเห็นในปัจจุบันถึงถูกจำกัดขนาดนี้ สังคมที่เราคอมเมนต์เพื่อการพัฒนาให้ดีขึ้นได้คงเป็นภาพอนาคตในอีก 10 ปีที่เราอยากเห็น

*มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ที่ไม่กระทบต่ออรรถรสในการรับชม*

เอาจริงๆ ภาพยนตร์ที่วิพากษ์สังคมไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร

ยิ่งสังคมที่ถูกกด เป็นเรื่องปกติมากที่คำวิพากษ์วิจารณ์ (หรือด่าทอ) จะเกิดขึ้น ในเวลาแบบนั้นเรามักเห็นศิลปินออกมาเปลี่ยนวาทะสังคมเหล่านี้ให้เป็นงานศิลปะอยู่เสมอ งานเขียน งานฝีมือ งานภาพ หรืองานศิลปะอะไรก็ตาม มักถูกเลือกจากศิลปินให้เป็นช่องทางระบายออก

Ten Years Thailand

เมื่อวานเราได้ไปชมรอบปฐมทัศน์ของภาพยนตร์เรื่อง Ten Years Thailand มา

หลายคนน่าจะเคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้มาแล้ว เพราะนี่คือภาพยนตร์ไทยเรื่องล่าสุดที่ได้ไปฉายที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ เนื้อเรื่องคร่าวๆ ของภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน หนังตั้งคำถามต่อประเทศไทยว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศนี้จะเป็นอย่างไร ผู้กำกับ 4 คนคือ อาทิตย์ อัสสรัตน์, วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง, จุฬญาณนนท์ ศิริผล และอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล คือคนที่ตอบคำถามนั้นให้กลายเป็นหนังสั้น 4 เรื่องที่ประกอบเป็นหนังใหญ่เรื่องนี้


Ten Years Thailand

เรื่องแรก Sunset โดย อาทิตย์ อัสสรัตน์

หนังสั้นเรื่องแรกนี้เล่าเรื่องผ่าน 2 เส้นเรื่องที่คาบเกี่ยวกัน เส้นเรื่องแรกกล่าวถึงกลุ่มทหารและตำรวจที่เข้าตรวจการแสดงงานศิลปะที่มีผลงานกระทบต่อความมั่นคงของใครบางคน อีกเส้นเรื่องคือทหารคนขับรถที่สนทนาหยอกเย้าน่ารักกับลูกแม่บ้านในพื้นที่แสดงงานศิลปะนั้น ถ้าเราคิดไม่ผิด เรื่องแรกนั้นเปรียบเหมือนมุมมองต่อสังคมของผู้กำกับ ส่วนเรื่องที่สองเป็นตัวแทนของชีวิตปกติที่ดำเนินไป


Ten Years Thailand

เรื่องที่สอง Catopia โดย วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง

หนังสั้นที่ผู้กำกับบอกกับเราว่าเขาเกลียดแมว เขาเลยอยากทำหนังด่าแมว จากจินตนาการตรงนั้นเกิดเป็นหนังที่ดำเนินเรื่องในโลกสมมติ โลกที่เกือบทุกชีวิตเป็นแมว และแมวเหล่านี้ก็เกลียดมนุษย์เข้าเส้นจนออกล่ามนุษย์หรือกำจัดทุกอย่างที่เกี่ยวกับมนุษย์โดยไม่สนใจว่าถูกหรือผิด ตัวเอกของเราเป็นมนุษย์ที่แฝงตัวอยู่ในสังคมแมวจนวันหนึ่งที่เกิดเรื่อง


Ten Years Thailand

เรื่องที่สาม Planetarium โดย จุฬญาณนนท์ ศิริผล

ว่ากันตามจริง หนังสั้นเรื่องท่ีสามนี้แทบไม่มีบทพูดจริงๆ จังๆ หนังเล่าด้วยภาพที่วิพากษ์จิกกัดการศึกษาและสังคมในโลกสมมติที่ผู้กำกับสร้างขึ้น ภาพเซอร์เรียลเหล่านั้นค่อยๆ ไล่ระดับจากเรื่องจิกกัดกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นที่ค่อยๆ กระทบใจคนดูมากขึ้น ที่สำคัญคือพอถึงจุดไคลแมกซ์ ประเด็นที่หนังพูดถึงทำเอาคนดูหลายคนใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว


Ten Years Thailand

เรื่องที่สี่ Song of the City โดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

หนังสั้นที่ดำเนินเรื่องบริเวณอนุสาวรีย์ ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่จังหวัดขอนแก่น ถ้าดูแบบผ่านๆ หนังดำเนินผ่านประโยคสนทนาตามชีวิตประจำวันที่ไม่เกี่ยวกันเลย ตัวละครทุกคนเป็นเหมือนการรวมนักแสดงของหนังอภิชาติพงศ์ให้มาเล่นร่วมกัน พวกเขาคุยกัน มีดนตรีประกอบ บรรยากาศเนิบช้าเหมือนไม่มีอะไร แต่ภาพหรือนัยของเรื่องนั้นเต็มเปี่ยมและคมคายเสียจนเราอุทานออกมา


Ten Years Thailand

หลังรับชมเสร็จ นอกจากความดีงามในแง่ภาพยนตร์ เราค้นพบว่าสิ่งที่เราชอบอีกอย่างคือเรื่องที่เราสนใจมาก

พออยู่ในสังคมที่มีเรื่องที่พูดไม่ได้ การเล็ดลอดออกมาพูดเรื่อง ‘บางเรื่อง’ ได้จึงกลายเป็นสิ่งที่ถูกใจใครหลายคน ยิ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนเท่าไหร่ เราก็ยิ่งรู้สึกดีที่มีคนพูดแทน และหนังเรื่องนี้ก็ไปได้เกือบสุดทาง หนังเลือกพูดเรื่องที่หลายคนไม่กล้าพูดแถมผ่านกองเซนเซอร์ออกมาฉายได้อีกต่างหาก

ในช่วงแรก เรารู้สึกดีกับภาวะนี้ เหมือนกับกลุ่มคนที่อยากหนีออกจากที่คุมขังแล้วมีเพื่อนคนหนึ่งหนีออกไปได้ แต่พอผ่านมาสักระยะ หนังก็เริ่มทำงานในด้านอื่นตามหน้าที่ของมัน นั่นคือทำให้เราตกตะกอน

Ten Years Thailand

ก่อนการรับชมภาพยนตร์ อาทิตย์ อัสสรัตน์ หนึ่งในผู้กำกับและโปรดิวเซอร์บอกกับผู้ชมทุกคนว่าจริงๆ แล้วสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นควรจะมีในตัวเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนทั่วไป สื่อ หรืองานศิลปะ หนังเรื่องนี้ก็ตอกย้ำคำพูดนั้น

มันน่าเศร้าเหมือนกันที่เราอยู่ในสังคมที่ต้องรู้สึกดีกับคนที่หนีออกไปได้ทั้งๆ ที่การออกไปทำอะไรควรจะเป็นอิสระของเรามากกว่า สิทธิเสรีภาพที่เราควรมีกลับกลายเป็นเรื่องพิเศษที่ทำให้เราถึงจุดสุดยอดทางอารมณ์ไปเสียเฉยๆ ทั้งที่ควรเป็นเรื่องปกติ

Ten Years Thailand

ถึงจะชื่อว่า Ten Years Thailand แต่เรารู้สึกว่าจริงๆ แล้วหนังเรื่องนี้วิพากษ์สังคมปัจจุบันตรงๆ ต่างหาก และมันก็ทำหน้าที่ของมันได้เป็นอย่างดี อาจมีบางส่วนที่ต้องอาศัยการพยายามตีความอยู่บ้าง แต่ความรู้สึกตอนที่เราเข้าใจว่าเมสเสจที่ซ่อนอยู่คืออะไร นั่นเป็นความรู้สึกที่เราคิดว่าทุกคนน่าจะลองสัมผัสดูสักครั้ง อย่างน้อยให้เกิดเป็นตะกอนในใจให้เราได้ไปคิดต่อ

Ten Years Thailand จะเข้าภายในโรงภาพยนตร์อย่างจำกัดโรงในวันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคมนี้ รายละเอียดสำหรับโรงฉายสามารถดูได้ที่นี่เลย

เราคงไม่ได้จะบอกว่าภาพเหล่านั้นคือความจริงแท้ แต่อย่างน้อยออกไปดูประเทศไทยกันเถอะนะ

อย่างน้อยก็เป็นประเทศไทยจากความเห็นของคนกลุ่มหนึ่งที่ควรถูกฟังและถูกพูดออกมาได้อย่างเสรี

ไม่ใช่พูดไม่ได้แบบทุกวันนี้

AUTHOR