กว่าจะเป็น ‘doct6’ เว็บไซต์รวบรวมข้อมูลการเมืองเดือนตุลาฯ และหนุ่มสาวผู้ถูกลืม

หากคุณเคยรู้เรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมือง 6 ตุลาฯ 2519 มาบ้าง เชื่อเถอะว่าเมื่อเปิดเว็บไซต์ doct6.com คุณจะรู้ทันทีว่าหลายปีที่ผ่านมา จริงๆ แล้วพวกเราแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเหตุการณ์วันนั้นเลย หรือหากคุณไม่เคยรู้เรื่องราวมาก่อน เชื่อเถอะว่าเว็บไซต์นี้จะพาไปรู้จักผู้คนในเหตุการณ์และเข้าใจสถานการณ์การเมืองอันสับสนงุนงงของเดือนตุลาคมในปีนั้นได้แบบไม่งง เพราะเว็บไซต์นี้ได้รวบรวมข้อมูลซึ่งกระจัดกระจายอยู่ ตามที่ต่างๆ ทั้งที่หลายคนเคยรู้และไม่เคยรู้มาก่อนมาจัดหมวดหมู่ เปิดให้คนเข้าถึงและเข้าใจได้ง่ายขึ้น แถมแบ่งเลือกได้ตามระดับความสงสัย

แต่มากกว่าข้อมูลพื้นฐานที่คนไทยไม่เคยรู้ สิ่งที่ทำให้เราสนใจ doct6 หรือ โครงการบันทึก 6 ตุลาฯ ขึ้นไปอีก คือ ความพยายามออกตามหาหลักฐานข้อมูลและครอบครัวของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ พร้อมทั้งบอกเล่าเรื่องราวของหนุ่มสาวที่เป็นเหยื่อความรุนแรงของรัฐในเวลานั้นมากกว่าแค่ชื่อสกุล

เราจึงออกเดินทางมาหา รศ. ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ รองศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรรมการผู้จัดทำ โครงการ “บันทึก 6 ตุลา” ที่บ้านของเธอในเช้าวันหนึ่งของเดือนตุลาคม 2560

40 ปีแห่งความไม่รู้สู่แหล่งข้อมูลออนไลน์

“โครงการนี้เริ่มต้นประมาณเมื่อปีที่แล้วก่อนหน้างาน 40 ปี 6 ตุลาฯ เราค้นพบว่าเราไม่รู้อะไรอีกเยอะเลยเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ เบื้องต้นที่ไม่รู้เลยคือข้อมูลเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตว่ามีใครบ้าง เรามีชื่อที่ ศ. ดร.ธงชัย วินิจจะกูล รวบรวมชื่อไว้ แต่เราแทบไม่รู้จักตัวตนของพวกเขาเลยว่าทำอะไรอยู่ เป็นนักศึกษาที่ไหน ทำไมถึงเสียชีวิต อยู่ตรงไหนของเหตุการณ์จึงทำให้เสียชีวิต

“ประเด็นสำคัญคือภาพคนถูกแขวนคอที่เราเห็นกันอยู่บ่อยๆ นั้น ก่อนหน้านี้คนเกือบทั้งหมดเข้าใจว่ามีคนถูกแขวนคอเพียงคนเดียว พอมาปีที่แล้วเรามาสืบค้นก็พบว่าน่าจะมีอย่างน้อยสองคน จากจุดนี้ทำให้ดิฉันได้พูดคุยกับอาจารย์ธงชัย ซึ่งเป็นคนรุ่น 6 ตุลาฯ และรู้สึกตกใจว่าทำไม 40 ปีให้หลังแล้วเรื่องแบบนี้พวกเราถึงยังไม่รู้กัน แม้แต่ตัวดิฉันเองก็ด้วย ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านี้คือข้อมูลพื้นฐานที่สังคมควรจะรู้กันมานานแล้ว แต่กลับไม่เคยรู้”

“เราเริ่มจากตั้งคำถามว่ามีอะไรที่เราไม่เคยรู้เกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ บ้าง แล้วก็พบว่าเราไม่ค่อยรู้จักคนที่เสียชีวิต 41 คนในเหตุการณ์นี้ว่าเขาเป็นใคร หน้าตายังไง จะเห็นว่าเราไม่ได้สนใจหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้จริงๆ เป็นจุดเริ่มต้นที่คิดว่าควรทำแหล่งรวบรวมเอกสารหลักฐานต่างๆ ขึ้น ทำให้ตัดสินใจไปคุยกับ ภัทรพร ภู่ทอง ซึ่งก่อนหน้านี้เคยทำภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Silence Memory ที่ไปสัมภาษณ์คุณพ่อคุณแม่ของคุณจารุพงษ์ ทองสินธุ์ นักศึกษาปี 2 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับคุณมนู วิทยาภรณ์ เราได้รับเงินส่วนหนึ่งจากกลุ่มโดมรวมใจมาทำสารคดีนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคน 6 ตุลาฯ ที่เขาเป็นเพื่อนกันร่วมกันบริจาคเงินให้”

ออกตามหาครอบครัวของหนุ่มสาวผู้ถูกลืม

“ก่อนอื่นเราต้องหาข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับคนที่เสียชีวิต ดิฉันและคุณภัทรพรที่เป็นแกนหลักในการค้นหา พบว่าคนที่เสียชีวิตจากการถูกแขวนคอไม่ใช่แค่ 1 – 2 คน แต่เป็น 5 คน ณ ตอนนี้เราทราบชื่อแล้ว 3 คน แต่ยังไม่รู้ว่าอีก 2 คนคือใคร ซึ่ง 2 คนนั้นคือชายที่ Neal Ulevich ช่างภาพจากสำนักข่าว AP ได้ถ่ายรูปไว้ หนึ่งในรูปนั้นได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ประจำปี 1977 แต่ไม่มีใครเคยถามว่าเขาคือใคร ทุกคนเข้าใจไปว่านั่นคือคุณวิชิตชัย อมรกุล นิสิตชั้นปี 2 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ”

“ข้อมูลพื้นฐานที่เราหาไม่ใช่ข้อมูลลับอะไร เราศึกษารายงานชันสูตรพลิกศพของอาจารย์ธงชัย ซึ่งรวบรวมไว้ตั้งแต่ตอนเขียนหนังสือ 6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง พออาจารย์ให้ไฟล์มา เราก็มานั่งดูเปรียบเทียบและเริ่มต้นตามหาครอบครัวพวกเขา อันนี้ต้องนับถือความสามารถของคุณภัทรพร เพราะเขาเป็นตัวหลักในการทำเรื่องนี้และภาพยนตร์สารคดีเรื่อง สองพี่น้อง ช่างไฟฟ้าที่ถูกแขวนคอที่ประตูแดง แต่ไม่มีใครเคยรู้ชื่อเพียงแต่เรียกว่า ‘เหยื่อ’”

“เราใช้เว็บไซต์ Yellow Pages คีย์หานามสกุลที่พบจากเอกสารชันสูตรศพ ทำให้เราพอรู้ว่าแต่ละคนมาจากจังหวัดไหน ถ้าเราเจอคนนามสกุลนี้อยู่จังหวัดนี้ คุณภัทรพรจึงจะเริ่มโทรติดต่อ แต่เบอร์จำนวนมากเริ่มใช้ไม่ได้แล้ว เพราะส่วนใหญ่เป็นเบอร์บ้าน บางเบอร์ใช้อยู่ก็โชคดี แต่ต้องโทรต่อๆ กันไป อย่างกรณีคุณชุมพร ทุมไมย และคุณวิชัย เกศศรีพงษ์ศา ช่างไฟฟ้าที่ถูกแขวนคอ โทรไปครั้งแรกกลับเจอญาติที่เขาไม่ได้รู้เรื่องนี้ แต่รู้จักพี่ชาย เลยต้องโทรต่อกัน 3 – 4 ต่อ บางรายตามไม่ได้เลยก็มี บางคนเราใช้วิธีการส่งจดหมายไปตามที่อยู่เดิมในไฟล์ชันสูตรศพ ส่วนใหญ่ไม่มีการตอบกลับ แต่ที่ตอบกลับก็มีเหมือนกัน เพราะไปตกอยู่บ้านคนอื่นแล้วเขารู้จักกับคนที่เกี่ยวข้องแล้วตามให้เรามาเจอเขา ก่อนพาไปพบครอบครัวของนักศึกษาที่เสียชีวิต”

เรื่องราวของหนุ่มสาวผู้เป็นความหวังของสังคม

“วิธีการทำงานของเราคือจะไม่เอากล้องไปถ่ายทันที เราสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันเพื่อให้ครอบครัวเขาสามารถพูดกับเราได้อย่างเต็มที่ แต่ก็มีบางกรณีที่เขาไม่ยินดีให้สัมภาษณ์ เนื่องจากเขาไม่อยากพูดถึงมันอีกแล้ว
บางครอบครัวยินดีแต่ไม่ขอเปิดเผยหน้าหรือชื่อจริงๆ บางครอบครัวที่ลูกเขาเสียชีวิตอย่างทารุณมากก็ปฏิเสธที่จะไม่พูดตลอด 40 ปี มันคงเป็นบาดแผลที่ลึกมากจนเขาไม่อยากสะกิดมันอีก เราเลยไม่รบกวนแม้จะติดต่อเขาได้”

“ข้อมูลต่างๆ นี้จะถูกนำมาจัดหมวดหมู่ขึ้นเว็บไซต์ เป็นหมวดที่จะพาไปค้นหาประวัติของผู้เสียชีวิตว่าเขาเป็นใคร ตามหาครอบครัวของเขา เรายกย่องเขาในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ วิธีที่จะยกย่องเขาอย่างถูกต้องคือทำความเข้าใจเขาในฐานะปัจเจกบุคคล หรือคนๆ หนึ่งก่อนเขาจะเสียชีวิต ไม่ใช่ไปเหมารวมเรียกเขาโดยรวมๆ ว่า ‘เหยื่อ’”

“40 ปีที่แล้วมีเด็กสักกี่คนที่มีโอกาสได้เข้ามหาวิทยาลัย ไม่ถึง 2 เปอร์เซ็นต์ของเด็กที่มีโอกาสเรียนด้วยซ้ำ ดังนั้นพวกเขาคือความหวังของครอบครัวของสังคม แต่กลับถูกทำให้ดับลงด้วยความโหดเหี้ยม และยังไม่สามารถทวงหาความยุติธรรมได้”

“ถ้าเราอยากให้คนในสังคมเคารพชีวิตคนอื่น เราควรเริ่มจากการเล่าชีวิตของผู้ที่เสียชีวิตว่าเขาคือใคร และสิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่ยุติธรรมกับพวกเขาอย่างไร”

เก็บรวบรวมเอกสารสำคัญและหนังสือพิมพ์เก่าจากแหล่งนิรนาม

“พวกเอกสารและหนังสือพิมพ์ เราขอไม่บอกว่าเอามาจากไหน แต่ถ้าสังเกตหรือดูในหมวดหลักฐาน ในเว็บไซต์เราจะไม่ได้มีแต่หนังสือพิมพ์ดาวสยามเท่านั้น เป้าหมายจริงๆ คือ เราเก็บหนังสือพิมพ์ตั้งแต่เดือนกันยายนช่วงตั้งแต่พระถนอม (ถนอม กิตติขจร) เดินทางเข้ามาก่อน 6 ตุลาฯ นิดหน่อย เพื่อให้เห็นถึงกระแสทางสังคมผ่านหนังสือพิมพ์ในขณะนั้น เราพยายามเก็บทุกฉบับที่มีการตีพิมพ์ แล้วก็พบว่าไม่ใช่แค่ดาวสยามหรอกที่ต่อต้านนักศึกษา แต่หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นในสมัยนั้นก็มีลักษณะต่อต้านนักศึกษาเช่นกัน มันเป็นข้อมูลที่คนที่สนใจ 6 ตุลาฯ สามารถนำไปทำอะไรได้อีกเยอะ”

“ในหมวดนี้ เราหวังว่าในระยะยาวจะมีคนสนใจนำเอกสารเหล่านี้ไปศึกษาเกี่ยวกับเรื่อง 6 ตุลาฯ มากยิ่งขึ้น เราคิดว่าการที่จะทำให้สังคมไม่ลืมเหตุการณ์แบบนี้ คุณต้องพยายามที่จะพูดถึงมันในหลากหลายด้านมากยิ่งขึ้น”

เพราะลืมไม่ได้ จำไม่ลงจึงเป็นความยาก

“สิ่งที่ยากอันหนึ่งของโครงการคือเรื่องของอารมณ์ มันไม่ง่ายที่จะนั่งดูรูปภาพ ดูคลิป หรือฟังญาติเล่าสิ่งที่เกิดขึ้น บางส่วนก็ต้องเป็นคนเขียน บางครั้งไม่ได้ไปก็จะดึงประเด็นจากเทปที่คุณภัทรพรถอดไว้มาเขียน เช่น เรื่องปริศนาความตายของกรณี 6 ตุลาฯ ที่สรุปเกี่ยวกับการตายที่ไม่สามารถหาคำตอบได้ เราเข้าไปทำเรื่องที่สะเทือนใจมากๆ ดังนั้น (อาจารย์นิ่งเงียบไปสักครู่) คุณก็ต้องอยู่กับมันให้ได้”

“ส่วนที่ยากอีกอย่างเป็นเรื่องของการหาข้อมูล อย่างที่บอก ข้อมูลที่เราเอามาเสนอไม่ถึงกับเป็นข้อมูลที่ปิดลับ พวกหนังสือพิมพ์ พวกเอกสารจากหอจดหมายเหตุของสำนักงานอัยการสูงสุด แต่คนทั่วไปเข้าถึงยากและไม่เป็นระบบ เราจึงพยายามทำให้คนเข้าถึงง่ายขึ้น เช่น หนังสือพิมพ์ ถ้าคุณไปดูตามห้องสมุดจะเห็นว่ามีกันไม่กี่ฉบับ แล้วส่วนใหญ่ ฉบับวันที่ 5 – 6 ตุลาคม มันก็ไม่มี (นิ่งเงียบไป) การตามหาเอกสาร รวบรวมเอกสารให้ได้มากที่สุด จัดระบบก็เป็นเรื่องยุ่งพอสมควร”

“ความยากอย่างต่อมาคือ จริงๆ เราอยากได้คนทำงานเพิ่ม คนที่สนใจเรื่องนี้แล้วอยู่กับมันได้มาช่วย คนรุ่นใหม่ที่ออกปากยินดีช่วยเหลือก็มีบ้างแต่มีน้อย คงเพราะงานที่เราต้องการคนช่วยเป็นงานเชิงเอกสารซะส่วนใหญ่ ซึ่งอาจไม่ถูกกับคนรุ่นใหม่ๆ และยังต้องทำในระยะยาวด้วย ซึ่งเรามีค่าตอบแทนให้ไม่มาก”

เมื่อคนตายไม่อาจเล่า และเราไม่อยากลืม

“เราอยากทำให้คนในสังคมเรียนรู้สิ่งนี้ ถ้าคุณไม่อยากให้รัฐใช้ความรุนแรงอีก ต้องเริ่มทำให้คนวิพากษ์การใช้อำนาจของรัฐ ระมัดระวังการใช้อำนาจของรัฐ ระมัดระวังการเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเกลียดชังของคนในสังคม”

“มีคนถามเยอะว่าไม่กลัวหรอ เราคิดว่าสิ่งที่เราทำ เราพูดถึงข้อเท็จจริง คือถ้าเราเน้นการนำเสนอข้อมูลมากกว่า ด้านนึงเราต้องระวัง เพราะเรากำลังทำงานกับเรื่องที่ละเอียดอ่อนและอ่อนไหวต่อสังคมมาก แต่ถ้าเรามุ่งไปที่การนำเสนอข้อเท็จจริง เรายังมีพื้นที่ที่พอจะทำได้ ตอนนี้คนในสังคมไทยกลัวกันมากเกินไปในบางครั้ง เรามองว่า หากกลัวมากๆ แล้วในที่สุดไม่ทำอะไรกันเลย สุดท้ายคนที่สูญเสียที่สุดก็คือสังคม”

doct6.com

AUTHOR