“อยากเล่าเราในมุมไหน ถ้าอยากได้ความดราม่าเราไม่มีให้นะ”
ปลายสายที่ตอบรับเราคือมนุษย์วัย 33 ปีที่เราติดต่อขอสัมภาษณ์ในหลายประเด็น ตั้งแต่เรื่อง LGBTQ การทำงาน และเส้นทางชีวิตที่เขาเลือกเดิน เขาคนนี้เคยเป็นทั้งนักร้องบอยแบนด์ นักแสดงของไทย นักแสดงของจีน และปัจจุบัน เขาเป็นเชฟทำขนมเจ้าของ April Trees สตูดิโอสอนทำขนมย่านรัชดาฯ
ชื่อของเขาเปลี่ยนไปตามประเทศที่อยู่อาศัย Krist เมื่ออยู่อเมริกา, 乔楚航 (เฉียว ฉู่หัง) เมื่ออยู่จีน
แต่ที่ประเทศบ้านเกิดเมืองนอนอย่างไทย เขาชื่อ เต็งหนึ่ง–คณิศ ปิยะปภากรกูล
ในการสัมภาษณ์ครั้งก่อนๆ เต็งหนึ่งเน้นย้ำกับทุกคนเสมอว่าตัวตนและความเชื่อมั่นของเขาไม่เคยเปลี่ยนแปลง แม้จะผ่านเหตุการณ์ที่หลายคนเริ่มเรียกเขาว่า ‘คุณพี่’ หรือ ‘คุณแม่’ หลังเปิดตัวว่าเป็นเกย์ หรือการต้องสวมหลายหมวกในวงการบันเทิง
จากทั้งหมดทั้งมวล เราอดสงสัยไม่ได้ว่าเบื้องลึกเบื้องหลังของมนุษย์คนนี้เป็นยังไง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตัวตน หรือการออกตัวว่า ‘ไม่มีความดราม่า’ เพราะในสายตาของเราชีวิตที่ผ่านมาของเขาดูไม่ใช่แบบนั้นเสียทีเดียว
แล้วเรายิ่งสงสัยเข้าไปใหญ่ เมื่อระหว่างการพูดคุยเขาบอกว่า ชีวิตตนเองเป็นดั่งกราฟเส้นตรงที่ปัญหาและความสำเร็จเป็นเพียงสถานีเศษหนึ่งส่วนอนันต์ของรถไฟสายเต็งหนึ่งเท่านั้น
เปิดประตูไม้บานน้อย ก้าวเข้าสู่สตูดิโอสีขาวสบายตา เพื่อนั่งรถไฟสายเต็งหนึ่งไปบนรางทอดยาวที่ไม่มีวันจบสิ้นกัน
ตอนโทรนัดหมาย ทำไมคุณถึงบอกว่าชีวิตไม่มีความดราม่า
เพราะส่วนตัวเราไม่ได้มองว่าปัญหาหรือความสำเร็จที่เกิดขึ้นมันเป็นกราฟขึ้น-ลง เรามองทุกอย่างเรียบๆ ถ้าพรุ่งนี้เรายังตื่นเราคงเป็นเส้นตรงที่ลากไปเรื่อยๆ ต่อให้บางวันมีแผลบ้าง วันนี้ไม่มีความสุข แต่สัปดาห์นี้มีความสุข สัปดาห์นี้เหนื่อยมาก ไม่มีความสุข แต่เดือนนี้โคตรมีความสุข ก็จบแล้ว เราเป็นอย่างนี้มาตลอดเลย
อย่างความสุขตอนนี้คือการได้เปิด April Trees
ใช่ เราอยากให้สตูดิโอนี้เป็นพื้นที่ที่คนได้ทิ้งเอกสาร ทิ้งงาน แล้วมาทำสิ่งที่คิดว่าทำไม่ได้ให้เป็นจริง เหมือนที่เราเคยอยากทำ
นักเรียนบางคนทำงานเครียดมาก แต่พอมาเรียนเหมือนเขาได้เติมเต็มความสุข บางคนทำขนมเสร็จแล้วร้องไห้ บางคนตาเป็นประกายมาก เราเห็นโมเมนต์นั้นแล้วรู้สึกเติมเต็ม เหมือนได้เติมไฟให้เขา แล้วเขาก็เติมไฟให้เรา สิ่งเหล่านี้ทำให้เรารู้สึกว่ามันคุ้มมาก คุ้มกับที่ยอมทุ่มเทไป คุ้มที่ได้ทำให้ทุกคนมีความสุข นี่แหละคือเป้าหมายของการเปิดที่นี่
แล้วความสุขก่อนหน้านี้คืออะไร
การได้ทำตามสิ่งที่เชื่อ เราเป็นคนที่เชื่ออะไรแล้วต้องทำให้ได้ ถ้าไม่ได้ก็จะทำอยู่นั่นแหละจนกว่าจะได้ ต่อให้มันผิดบ้างถูกบ้างก็เถอะ เราจะทำไปจนมันสำเร็จ คิดอย่างนี้มาตั้งแต่เด็กๆ
อย่างตอนเด็กอยากอยู่บนจอโทรทัศน์ให้ได้ เราอยากเป็นนักร้องมากเพราะทุกคนดูมีความสุข ได้ใส่เสื้อผ้าดีๆ สวยๆ เห็นพี่เบิร์ด (ธงไชย แมคอินไตย์) พี่มอส (ปฏิภาณ ปฐวีกานต์) กระโดดกอดคอกัน แต่เราเป็นเด็กต่างจังหวัดแล้วดันอยู่ชานเมืองอีกจะมีใครมาเห็นเรา เพราะตอนนั้นโซเชียลมีเดียยังไม่ได้พัฒนาขนาดนี้ มันจะเป็นไปได้ยังไง เราไม่ได้เป็นลูกเพื่อนอากู๋ (หัวเราะ) นึกออกไหม แต่เพราะเชื่อนี่แหละ เลยมุ่งมั่นจนได้เป็นนักร้อง
แล้วตอนนี้เชื่ออะไร
เราอยากทำอะไรก็ได้ที่ทำให้มีความสุข อยากตื่นเช้ามาแล้วรู้ว่าตัวเองจะได้ทำสิ่งที่ทำให้มีความสุข เมื่อไหร่ก็ตามเรารู้สึกว่าตัวเองไม่มีโมเมนต์นั้น เราจะรู้ว่ามันไม่ใช่ตัวเองแล้ว
ตอนเป็นศิลปินเราจัดการความรู้สึกตัวเองไม่เก่งอย่างทุกวันนี้ เราไม่ได้เป็นคนแข็งแรงขนาดนั้น เราแค่วิ่งตามความฝัน มุ่งแค่ว่าอยากเป็นอย่างนั้นโดยไม่เคยรู้เลยว่าระหว่างทางต้องเจออะไรบ้าง อย่างที่บอกว่าพอถึงจุดหนึ่งเราตั้งคำถามว่าทำไมระหว่างทางฝันต้องเจออะไรบั่นทอนชีวิตเยอะจัง ทั้งคอมเมนต์ด่าที่วิจารณ์เราทุกอย่าง จนเรารู้สึกว่าความสุขในกล่องนี้ต้องเเลกกับอะไรก็ไม่รู้ที่บั่นทอนความรู้สึกเราเยอะมาก เลยรู้สึกว่าโลกเราน่ากลัว
เหมือนพอเราได้ลองเป็นดารานักร้องแล้ว เราเข้าใจว่าทุกอย่างมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรา ต่อให้เล่นละครเรื่องนี้ดีมาก ร้องไห้ตาบวม เล่นดี เล่นใหญ่ แต่กล้องไม่จับ ถึงกล้องจับแต่คนตัดต่อดันตัดทิ้ง ไม่มีใครเห็นเลยนะว่าเราทำดีแค่ไหน เราเลยอยากทำอะไรที่ได้พิสูจน์ว่าถ้าวันนี้เราทำดีก็ได้รับคำชม ถ้าทำไม่ดีก็โดนด่าเพื่อเอาไปแก้ไข การทำขนมให้ความจริงกับเราตรงนี้ ถ้าเราทำขนมสวย คนจะเห็นเลยว่า เฮ้ย เรามีความสามารถว่ะ มันตรงไปตรงมาเลยว่าเราทำได้ดี แต่ถ้าเราทำเค้กเสียหรือสอนไม่ดีเราก็ได้รับคำติ มันพิสูจน์ได้เลยว่าเราทำวันนี้ดีหรือเปล่า
การทำตามความเชื่อจนสำเร็จสำคัญยังไง
(นิ่งคิด) มันให้ความท้าทายมั้ง อย่างเรื่องทำขนมนี่เพราะกินขนมที่ไหนก็ไม่อร่อย จนมานั่งคิดว่าถ้าเป็นเราจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ คิดไปคิดมาเลยคิดว่า ได้ งั้นเราทำเอง หรืออย่างตอนไปทำงานที่จีนเราต้องอยู่กับล่ามตลอด ไปไหนไม่ได้ สื่อสารไม่ได้ เพราะพูดจีนไม่เป็น เรารู้สึกหงุดหงิดมาก คิดว่าชีวิตฉันต้องไปไกลกว่านี้ เลยบอกผู้จัดการที่จีนว่า ขอเวลา 3 ปีจะพูดจีนให้ได้ ตอนนี้พูดจีนได้คล่องร้อยเปอร์เซ็นต์ เราเลยรู้สึกว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราเชื่อเราจะตามสิ่งนั้น แม้ว่าจะมุทะลุดุดันแค่ไหนก็ต้องทำมันให้สำเร็จ
แต่การมุทะลุดุดันให้สำเร็จมันขึ้นกับอย่างอื่นด้วยหรือเปล่า เช่น ต้นทุนในชีวิต
ทุกคนอาจบอกว่า ใช่สิ เธอมีเงิน จริงๆ แล้วไม่มีนะ เราไม่ได้เกิดมาในครอบครัวที่มีเงิน ครอบครัวเราถูกฟ้องล้มละลาย เราผ่านมาหลายวิกฤต เคยไม่มีเงินเหลือจากการไปเรียนต่างประเทศ ตอนนั้นเครียดมาก แต่สิ่งหนึ่งที่แม่บอกคือ ‘เงินหมดใช่ไหม แต่ความรู้ไม่มีใครขโมยไปได้นะ ก็ออกไปสิ ออกไปตะลุยหางานให้มันได้เงินกลับมา’ เราจึงคิดได้ว่าความฝันไม่ได้ใช้เงินขนาดนั้น
เราไม่เคยบอกให้ใครทิ้งทุกอย่างแล้ววิ่งตามความฝันนะ เพราะทุกคนมีปัญหาต่างกัน แค่อย่าทิ้งมันไป เพราะมันอาจพาเราไปสู่วันข้างหน้าที่มีความสุขโดยไม่จำเป็นต้องหนีจากความจริงก็ได้
ชีวิตคุณดูสำเร็จเกือบทุกเรื่องที่หวัง แล้วมีความฝันที่ยังทำไม่สำเร็จไหม
มีนะ เราอยากมีหนังสือเป็นของตัวเอง มันเป็นความฝันที่ยิ่งใหญ่ เรารู้สึกว่าไม่มีใครเล่าเรื่องเราได้ดีเท่ากับตัวเราเอง เเต่พอต้องเข้ากระบวนการทำหนังสือมันทำไม่ได้ คนเขียนหนังสือต้องมีคาแร็กเตอร์ แต่เราไม่มี หนังสือต้องมีจุดพีคจนไปถึงจุดพลุ หนังสือของเราอาจเป็นเล่มที่เปิดไปแล้วไม่มีจุดที่ว่าเป็นความสำเร็จสูงสุด เพราะการมีสตูดิโอมันแค่อยู่ในเส้นตรงเส้นหนึ่งของเราเท่านั้นเอง แล้วมันจะดำเนินต่อไปอีกยาว ไม่ใช่จุดสูงสุดของหนังสือแต่เป็นแค่สถานีหนึ่งที่ไปต่อ ทุกวันนี้เลยยังไม่มีหนังสือเพราะยังให้คำตอบไม่ได้
การเปิดเผยว่าเป็น LGBTQ ไม่ถือว่าเป็นจุดพีคเหรอ
ไม่นะ มันยังเดินไปเรื่อยๆ เป็นเส้นตรงอย่างนี้ เหมือนตอนที่คุยกันครั้งแรกว่าไม่ต้องคาดหวังความดราม่าจากเรา เพราะเราไม่มีจุดเปลี่ยนเลย มันนิ่งมาตลอด ถ้ามีซาวนด์เอฟเฟกต์ตอนที่เราคุยกันมันจะไม่ใช่เสียงตึงๆ สลับไปมา ไม่มีจริงๆ
ตอนสื่อถามว่าเราเป็นผู้ชายจริงๆ หรือเปล่า เราไม่เคยคิดเลยว่าเราเป็นผู้หญิง ผู้ชาย หรือเกย์ รู้ว่าเราเป็นเราเฉยๆ เเต่ที่ตอบสื่อว่าเป็นผู้ชาย อาจเพราะตอนนั้นเราเด็กมาก เราเลยตอบคำถามที่คนอื่นอยากฟัง เเล้วมันเป็นเรื่องของการดำรงชีวิตว่าควรตอบแบบนี้เพราะเซ็นสัญญาเป็นนักแสดงอยู่ แต่ในใจลึกๆ เราไม่เคยกลับมานั่งถามตัวเองว่าเป็นเพศอะไร เราแค่เป็นผู้ชายที่ชอบผู้ชายเฉยๆ
หรืออย่างเรื่องความรัก เรามองคนที่ความสบายใจ เราไม่ได้รู้สึกว่าการมีแฟนเป็นผู้ชายหมายความว่าเป็นเกย์ หรือการที่เคยมีแฟนเป็นผู้หญิงคือการคบบังหน้า เรารักเขาจริงๆ ตอนนั้นเราคิดในใจว่ามันยากขนาดนั้นเลยเหรอ แค่เราชอบคนนี้และอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข เหมือนเราจำแค่ตอนไปกินข้าวกับคนนี้ทำไมเราแฮปปี้จัง ตอนไปเที่ยวต่างประเทศด้วยกันทำไมเรามีแต่โมเมนต์ที่มีความสุข แต่เราไม่เคยจำว่าเขาเป็นผู้ชาย เราเป็นผู้ชาย เราเป็นแฟนกันเพราะเราเป็นเกย์ มันไม่ได้จำตรงนั้น
แล้วคุณรู้สึกยังไงเวลาเห็น LGBTQ คนอื่นมีเรื่องดราม่า
เรายังรู้สึกเข้าใจนะครับ ตั้งแต่ come out เรามีโอกาสได้ไปออกงานเกี่ยวกับ LGBTQ ทำให้ได้ฟังเรื่องราวที่แตกต่างกัน มีพ่อลูกคู่หนึ่ง ลูกเป็น transgender ที่เชื่อมาตลอดว่าตัวเองเป็นผู้หญิง แล้วคุณพ่อต้องต่อสู้กับคนรอบข้างทุกอย่าง คุณพ่อน่ารักมาก พาลูกไปฉีดฮอร์โมนเพื่อให้ลูกเป็นผู้หญิงได้อย่างเต็มที่ เขาเล่าว่าโดนเพื่อนร่วมงานล้อยังไงบ้าง มันดราม่ามาก เป็นมุมมองที่เราอาจไม่เคยเจอแต่ได้ฟังจากคนที่เขาประสบมา เลยรู้สึกว่าเราเข้าใจ เพราะทุกคนเจอปัญหาไม่เหมือนกัน โตมาในครอบครัวที่ต่างกัน ทุกคนต้องไปในทางของตัวเอง
อย่างนี้มีคนมาปรึกษาบ้างไหม
ตั้งแต่ตอนเล่นซีรีส์ GAYOK BANGKOK ก็มีคนทักมาหาเราเยอะมาก เรื่องนี้ทำขึ้นโดยทีมงาน LGBTQ ทั้งหมด ที่อยากทำอะไรสักอย่างเพื่อบอกว่าจริงๆ LGBTQ คิดยังไง มันจึงสมจริงมาก อย่างในเรื่องเราเป็น LGBTQ เลือดบวก เราได้ข้อความจากคนดูเยอะมาก พวกเขาขอบคุณที่ทำให้รู้สึกว่ายังสามารถแต่งตัวดี ออกกำลังกาย มีความสุขกับตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องโทษคนรอบตัวว่าพูดไม่ดีกับเราเพราะเราเป็น LGBTQ แต่อาจเพราะเราทำงานไม่ดีจริงๆ ก็ได้
มีทั้งคนที่ทักมาขอบคุณ ปรึกษา ขอคำแนะนำ แต่เรายอมรับว่าเราตอบทุกคนไม่ไหว ไม่ใช่ว่าปฏิเสธเพราะไม่อยากทำ แต่เราไม่รู้จะให้คำปรึกษาอะไร เพราะเราไม่ใช่หมอหรือนักจิตวิทยา ถ้าเขารู้สึกว่าสิ่งที่เห็นจากเรามีประโยชน์ก็หยิบไปใช้ได้เลย แต่เราไม่สามารถรักษาใครได้
ไม่คิดว่ามันเป็นการเพิกเฉย
สำหรับเราคิดว่าตัวเองไม่ใช่คนเพิกเฉย เราแค่รู้สึกว่าไม่มีใครรู้เรื่องของเราเท่ากับตัวเราเองหรอก ต่อให้เรารับสารเยอะแค่ไหน คนที่ต้องตอบคำถามก็คือเรา แล้วคนที่ออกไปแก้ปัญหาก็คือเรา ไม่มีใครมาบอกเราได้ว่าเธอต้องแก้ยังไง
ตั้งแต่วันที่ come out จนถึงตอนนี้คุณคิดว่าสถานการณ์ LGBTQ ในไทยเปลี่ยนไปบ้างไหม
เราว่าเปลี่ยนนะ มันดีขึ้น แม้มีเรื่องที่ยังต้องเรียกร้องอยู่บ้าง แต่ของอย่างนี้ต้องใช้เวลา ลองนึกถึงตอนเด็กๆ สิ เรารับรู้จากละครว่าเป็นเอดส์ต้องมีแผลพุพอง นางเอกที่เป็นกะเทยต้องยิงตัวตาย มันไม่มีมุมอื่นเลย แต่ตอนนี้มันเริ่มเปลี่ยนไปแล้ว เราเคยอยู่นิวยอร์ก เมืองที่ทุกคนเป็นสิ่งที่ตัวเองอยากเป็น แล้วพอย้ายไปอยู่จีน ทุกคนไม่สามารถเป็นสิ่งที่ตัวเองอยากเป็นได้ มันต่างกันมาก เลยรู้สึกว่าตอนนี้สถานการณ์ LGBTQ ในไทยดีมากถ้าเทียบกับที่อื่น คนรู้ว่ามี LGBTQ แต่ไม่รู้จะทำยังไง ต้องปฏิบัติตัวยังไงเท่านั้นเอง
แล้วคุณคิดว่าต้องปฏิบัติตัวต่อกันยังไง
แค่เคารพกันก็พอ ไม่ต้องคิดหรอกว่าต้องชมว่าสวยหรือหล่อ แค่บอกว่าวันนี้ดูดีจัง ถ้าเราเคารพเขาก็ไม่เห็นต้องมานั่งคิดเลย หรือหลายอย่างที่เราคิดว่าต้องทำให้เขาต่างจากเดิม ทั้งๆ ที่เขาอาจอยากใช้ชีวิตปกติก็ได้
เราเองไม่ได้ยิ่งใหญ่ขนาดสามารถกำหนดหรือชี้นำได้ว่าควรทำแบบไหน เเต่เราแค่รู้สึกว่าคนในสังคมช่วยทำให้เกิดความเข้าใจได้ ส่วนสื่อก็แค่นำเสนอกันอย่างเรียบๆ ทำให้ทุกอย่างไม่ต้องตั้งคำถาม เอาจริงๆ ไม่จำเป็นต้องมี pride month ก็ได้ด้วยซ้ำ ถ้าอยากสัมภาษณ์เรื่องชายรักชายหรือมุมมองความรักของใครสักคน เราไม่จำเป็นต้องพูดในเดือนมิถุนายนก็ได้ ไปพูดเดือนมกราคม หรือจะพูดทุกวันทุกเดือนก็ได้ แต่ก็เข้าใจนะว่ามันต้องมีสัญลักษณ์มากำหนดบ้าง
สื่อมักนำเสนอว่า LGBTQ ต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ แล้วคุณเองมองว่า LGBTQ ควรเป็นแบบไหน
เคยได้ยินไหมว่าลูกเป็นอะไรก็ได้ขอแค่เป็นคนดี หรือการที่ LGBTQ หลายๆ คนคิดว่าต้องเรียนให้เก่งที่สุดเพราะทำให้พ่อแม่ผิดหวัง ทั้งที่ในความเป็นจริงเรารู้สึกว่าการเป็นคนดีและการเรียนเก่งที่สุดเป็นเรื่องของทุกคนนะ สำหรับเรา LGBTQ สามารถใช้ชีวิตโคตรปกติได้เลย ไม่ต้องตลก ไม่ต้องเป็นคนมีความสุขหรือเป็นตัวสร้างความสุขให้ทุกคนในกลุ่ม เราเป็นอะไรก็ได้แค่ต้องเคารพตัวเอง
ครอบครัวเคยขอให้คุณเป็นแบบไหนบ้างไหม
เราไม่เคยคุยเรื่องนี้กับที่บ้าน และไม่เคยถูกปลูกฝังว่าเป็นผู้ชายต้องทำอะไรบ้าง อายุ 20 ต้องบวช ต้องเรียนจบปริญญา เราไม่เคยถูกปลูกฝังแบบนั้นเลย
อย่างที่คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่าจริงๆ แล้วคุณแม่เป็นคนสนับสนุนให้ come out ด้วยซ้ำ
ใช่ครับ เรายังเคยคุยกับแม่ว่าอยากเป็นกรณีศึกษาให้คนอื่นๆ แม่บอกว่าดีเหมือนกัน แม่อยากบอกแม่ๆ ที่มีลูกเป็น LGBTQ ว่าเรายังเป็นแม่คนเดิมของเขา แล้วลูกก็ยังเป็นลูกคนเดิมของเราที่ยังมีความสุขกันได้เหมือนก่อน
แล้วไม่ใช่แค่เรื่องนี้นะ แม่สนับสนุนเราทุกเรื่อง ให้ลองทุกอย่าง ถ้าลองเเล้วพังแม่ก็บอกว่าช่างมัน ได้อะไรมาตั้งเยอะตั้งแยะ เราเป็นนักร้องได้เพราะเขายอมให้ทำ แม้กระทั่งมาเดินสยามเพื่อเจอแมวมอง เราสองคนสนิทกันมาก คุยกันได้เหมือนเพื่อน ตอนอยู่มหาวิทยาลัยจะไปเที่ยวผับยังโทรบอกแม่ทุกครั้ง แม่จะตื่นเต้น ถามว่ามันเป็นยังไง เขาเล่นเพลงอะไร แต่งตัวยังไง ไม่มีคำว่าทำไมไม่ตั้งใจเรียน เคยถามเขาเหมือนกันว่าทำไมซัพพอร์ตขนาดนี้ แม่บอกว่าสมัยสาวๆ ฉันเต้นอยู่บนลำโพงเลยจ้ะ ดังนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกขอ แม่จะไม่ห้าม ไม่มีจริงๆ
เพราะแม่เป็นแบบนี้ เราเลยรู้สึกว่าตัวเองไม่มีจุดเปลี่ยนในชีวิต ไม่มีความดราม่า ไม่มีช่วงก้าวข้าม ไม่รู้สึกว่าต้องพิสูจน์อะไรให้ใครเห็นหรือยอมรับ สำหรับเราถ้าไม่ยอมรับตัวเองก็จบ แต่ถ้าเรายอมรับแล้วมันก็แค่นั้น ลองคิดดูว่าถ้าเราไม่ได้อัดวิดีโอนั้น เสื้อที่เราใส่ในวันนี้กับเสื้อวันรุ่งขึ้นที่เราบอกว่าเป็นเกย์ก็ยังเป็นตัวเดิม ไม่เห็นว่ามีอะไรเปลี่ยน แต่ทุกคนอาจคิดว่า เอาล่ะครับ หลังจากหายไปจากวงการ เขาเปลี่ยนเป็นแบบนี้แล้ว หรือเผยวินาทีบอกแม่ ในใจคือเรามีเหรอวะ (หัวเราะ)
แล้วในความจริง วินาทีบอกแม่ของคุณเป็นยังไง
ตอนนั้นแม่ถามถึงแฟนเก่าเรา เขาถามว่าลูกชายแม่อีกคนอยู่ไหน มันเหมือนจี้ใจดำ เราก็เลยร้องไห้แล้วบอกเขาว่าเลิกกันแล้ว ไม่ได้เป็นเพื่อนแต่เป็นแฟนกัน แม่ก็บอกเราว่าลูกบอกอะไรก็เชื่อแบบนั้น ก่อนหน้านี้เขารู้ว่าเป็นเพื่อนเพราะเราบอกว่าคนนี้เป็นเพื่อน เขาก็เชื่อว่าเป็นเพื่อน แต่ในใจลึกๆ เขารู้เเหละว่าเป็นแฟน
นั่นเป็นสิ่งที่เรายังจำมาถึงทุกวันนี้ ว่าต่อให้ใครก็ตามบอกว่าเขาเป็นอะไร เราต้องเคารพในสิ่งที่เขาพูด สมมติว่าคนทั้งอินเทอร์เน็ตเมาท์ว่าเขาเป็นเกย์ เเต่เขาบอกว่าเขาเป็นผู้ชาย เขาเชื่อแบบนี้ เราก็ควรเคารพที่เขาบอกว่าเขาเป็นผู้ชาย
มันคือการเคารพกันและกัน