พอลลีน งามพริ้ง : เป็นผู้หญิง เป็นผู้ชาย และเหนืออื่นใดคือเป็นตัวเอง

Highlights

  • พอลลีน งามพริ้ง คือหญิงข้ามเพศที่ใช้เวลากว่า 40 ปีในการพูดคุยและต่อสู้กับตัวเองเพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตในแบบที่ตรงกับความรู้สึกในใจ
  • ใน 40 กว่าปีนั้น เธอพยายามเปลี่ยนตัวเองให้เป็นผู้ชายอย่างที่สังคมยอมรับ แต่เมื่อถึงจุดที่ประสบความสำเร็จในฐานะผู้ชายแล้ว ความรู้สึกอยากเป็นผู้หญิงในใจก็ยังคงอยู่ เธอจึงตัดสินใจลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองครั้งใหญ่ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยากที่สุด แต่เมื่อผ่านมันมาได้แล้ว เธอก็ไม่กลัวการเปลี่ยนแปลงใดๆ อีก
  • ทุกวันนี้นอกจากใช้ชีวิตแบบผู้หญิงอย่างที่ต้องการมานาน พอลลีนยังแบ่งเวลามาทำงานการเมืองบนพื้นฐานความคิดที่ว่า คนทุกคนเท่าเทียมกัน

ร่างสูงโปร่งเดินตัดสนามฟุตบอลตรงมาที่เราอย่างกระฉับกระเฉง สนีกเกอร์สีดำและผมยาวสีน้ำตาลที่ถูกรวบขึ้นง่ายๆ บ่งบอกว่าเธอพร้อมลงสนามกับเราแล้ว พอลลีน งามพริ้ง

พอลลีน งามพริ้ง LGBTQ ผู้หญิงข้ามเพศ transgender

พูดตรงๆ ในฐานะคนที่ไม่อินเกมลูกหนัง และเพิ่งมาเหยียบสนามฟุตบอลเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี เราไม่รู้จักผู้ชายที่ชื่อว่า พินิจ งามพริ้ง แม้เขาจะเป็นถึงผู้ก่อตั้งชมรมเชียร์ไทยพาวเวอร์ และอดีตผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เมื่อปี 2556

แต่ในฐานะคนที่นับตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน LGBTQ ผู้หญิงข้ามเพศนาม พอลลีน งามพริ้ง อยู่ในความสนใจของเรามาตลอดนับตั้งแต่เธอกลับจากสหรัฐอเมริกา สถานที่ที่เธอไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในวัย 40 กว่าปี

ใช่ พินิจและพอลลีนอาศัยอยู่ในร่างกายเดียวกัน

แต่กว่าจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข เขาและเธอใช้เวลาเนิ่นนานในการต่อสู้ ถกเถียง หรือกระทั่งปลอบประโลมซึ่งกันและกัน

พินิจอยากให้พอลลีนเป็นผู้ชาย

พอลลีนอยากให้พินิจเป็นผู้หญิง

และทั้งสองฝ่ายทำสำเร็จเสียด้วย

พอลลีน งามพริ้ง LGBTQ ผู้หญิงข้ามเพศ transgender

เปลี่ยนหญิงเป็นชาย

ตั้งแต่ 5 ขวบ เด็กผู้หญิงคนหนึ่งก็มีชีวิตขึ้นมาในความรู้สึกของเด็กชายพินิจ

ในมุมมองของเด็ก สรีระภายนอกที่แบบบาง อ้อนแอ้น กิริยาที่กรีดกรายในบางครั้ง ออกจะพ้องต้องกันกับความรู้สึกภายใน

ทว่าในมุมมองของผู้ใหญ่ รายละเอียดเหล่านั้นคือสิ่งที่ลูกชายต้องปรับปรุง ซึ่งแม้ทั้งพ่อและแม่จะไม่เคยออกปากตรงๆ ว่าจงทำตัวให้ ‘แมน’ แต่หลายสิ่งที่พร่ำสอนก็มุ่งชี้ไปทางนั้น

“เขาไม่ได้บอกให้เราเป็นผู้ชาย เขาแค่บอกให้เราเข้มแข็ง อย่ามือไม้อ่อน อย่ากรีดกราย” หญิงตรงหน้าย้อนความด้วยน้ำเสียงเรียบง่ายของคนที่เข้าใจเรื่องที่ผ่านพ้น

“เราชื่อเล่นว่าป้อ เป็นภาษาจีนแปลว่าอัญมณี ของดี แต่ในภาษาไทยป้อมันพ้องกับป้อแป้ เขาก็กลัวว่าเราจะเป็นเด็กอ่อนแอ ปวกเปียก ป้อแป้ เหมือนกับชื่อ เคยพยายามจะเปลี่ยนชื่อแต่ไม่สำเร็จ เพราะไม่มีใครเรียก แต่วิธีแก้ไขของเราคือเราพยายามพิสูจน์ตัวเองให้พ่อแม่ยอมรับ ให้เขาพอใจ”

การพิสูจน์ตัวเองที่ว่าส่งให้เด็กชายพินิจเริ่มออกกำลังกายอย่างจริงจัง วิ่ง วิดพื้น ซิตอัพ ฝึกชกมวย ก่อนจะลุกลามไปจนถึงการเล่นฟุตบอล ซึ่งเขาซ้อมเช้าซ้อมเย็น เอาจริงเอาจังกับมันถึงขั้นไปคัดตัวเป็นผู้เล่นในทีมฟุตบอลเยาวชนทีมหนึ่ง และทำได้ตามตั้งใจเสียด้วย

พอลลีน งามพริ้ง LGBTQ ผู้หญิงข้ามเพศ transgender

ในเวลานั้น เด็กหญิงไร้ชื่อที่เร้นกายอยู่ในใจจะออกมาเฉพาะในยามเย็นที่พินิจอยู่คนเดียวในห้องส่วนตัว

“อยากเป็นผู้หญิง” คือถ้อยคำที่เธอพร่ำบอก

แต่พินิจบอกให้เธอเงียบ

“ตอนนั้นเราเบื่อความรู้สึกนั้นมาก เรากำลังทำได้ดีในเส้นทางผู้ชาย พอมันมีความคิดนี้ขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ เราก็พยายามกำจัดมันออกไป บอกตัวเองว่า มึงอย่า มึงอย่าคิด”

เช่นนี้ เด็กหญิงจึงเงียบงันขณะที่พินิจเติบโตสู่ความเป็นชายแบบที่สังคมกำหนด เป็นเพื่อนชาย เป็นพี่ชาย เป็นน้องชาย เป็นสามี เป็นพ่อ เป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นคนทำงานที่ประสบความสำเร็จ ฯลฯ

เป็นทุกอย่าง ยกเว้นเป็นตัวเอง

กระนั้นเมื่อนึกย้อนกลับไป ความเป็นชายคือสิ่งที่จำเป็นต่อการมีชีวิตของพินิจ “เราพยายามปรับตัว เปลี่ยนตัวเองเป็นผู้ชาย ไม่ใช่ว่าเราอยากหลอกใครหรืออะไรหรอก เราแค่อยากให้คนเขายอมรับ อยากให้เขามองเราเป็นคนปกติธรรมดา”

พอลลีน งามพริ้ง LGBTQ ผู้หญิงข้ามเพศ transgender

เปลี่ยนชายเป็นหญิง

ตั้งแต่ 5 ขวบ เด็กผู้หญิงคนนั้นไม่เคยจากไปจากใจของพินิจ

“เราพัฒนาบุคลิกภาพของตัวเองให้เป็นชายมาเรื่อยๆ จนรู้สึกว่าประสบความสำเร็จในฐานะผู้ชายแล้ว ตอนอายุ 30 กว่าๆ เราก่อตั้งชมรมเชียร์ไทยฯ แล้วพออายุ 35 เข้าสู่ช่วงพีคสุดที่ต้องทำอะไรแมนมากๆ คือประท้วงต่อต้านสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ถูกขู่ฆ่า ถูกขู่ทำร้าย เราก็ต้องต่อสู้กับความกลัว ช่วงนั้นเรารู้สึกว่าความเป็นชายเราโอเคแล้ว คนยอมรับเรา มองเราเป็นผู้ชาย และความลับในใจเราก็ยังเป็นความลับอยู่

“แต่สุดท้ายเรารู้สึกว่า มันใช่เราเหรอวะ”

พินิจในวัย 35 ปีแอบไปซื้อเสื้อกล้ามผู้หญิงมา 1 ตัว เขาลองสวมมันขณะอยู่ในห้องคนเดียว แต่แล้วก็ถอดมันออกและผลักความรู้สึกอยากเป็นผู้หญิงเข้าไปไว้ในซอกมุมที่ลึกที่สุดของจิตใจ

ชีวิตดำเนินต่อไป มีหลายสิ่งให้ทำ ให้จัดการ ทั้งเรื่องการงานและครอบครัว จนผ่านไปเกือบสิบปีความรู้สึกอยากเป็นผู้หญิงถึงค่อยๆ เผยตัวออกมาอีกครั้ง

“เราพยายามลืมมันมาตลอด แต่พอเข้าสู่ช่วงพีคอีกครั้งตอนอายุ 45-46 เราลงสมัครนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ และช่วงนั้นมีคนชวนเล่นการเมืองด้วย เราก็คิดขึ้นมาว่าถ้าเราทำงานระดับสูงแบบนั้น จะมาตุ้งติ้ง จะมาเปลี่ยนเป็นผู้หญิงคงเป็นไม่ได้ แล้วพอลลีนจะอยู่ตรงไหน สงสัยพอลลีนต้องตายไปในร่างนี้โดยไม่ได้ขึ้นมาแน่นอน”

พอลลีน งามพริ้ง LGBTQ ผู้หญิงข้ามเพศ transgender

คล้ายเดินมาถึงทางแยกอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ในฐานะผู้ผ่านชีวิตมาหลายสิบหนาว พินิจมีกระบวนการคิดที่ต่างออกไป เป็นการคิดที่เริ่มให้พื้นที่และลมหายใจกับตัวตนที่ซ่อนอยู่ลึกๆ

“เราคิดง่ายๆ ว่า เราเป็นผู้ชายมา 40 ปีแล้ว อีกไม่ถึงครึ่งชีวิตที่เหลือ เราเป็นผู้หญิงได้นะ มันจะดีหรือเปล่าไม่รู้ แต่อย่างน้อยเราจะได้มีชีวิตสองแบบในชาติเดียวกัน ไม่ต้องรอชาติหน้าที่จะเป็นคนอื่น เราเป็นคนอื่นในชาตินี้เลย นี่คือเหตุผลง่ายๆ” เธอเล่าพลางหัวเราะเบาๆ จนมันฟังดูง่ายดายเหลือเกิน

ทว่าต่อให้ไม่ใช่คนที่เคยมีประสบการณ์เช่นเดียวกับเธอก็ย่อมรับรู้ตรงกันว่ามันไม่มีทางง่าย ด่านแรกที่พอลลีนในคราบพินิจต้องก้าวผ่านคือคำถามที่พุ่งมาจากทุกทิศทุกทางหลังจากประกาศถอนตัวจากการลงสมัครนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ

“เราถอนตัวเพราะถ้าถอนตัวเรายังมีโอกาสเป็นพอลลีน แต่กับคนอื่นเราบอกเหตุผลอื่น เราแค่บอกว่า เราจะเปิดทางให้อีกคนหนึ่งและสนับสนุนเขา ไม่งั้นเสียงมันจะแตก เราความคิดเดียวกัน มาสนับสนุนให้เขาได้ไปสู้ต่อในการเมืองของฟุตบอลดีกว่า แต่ลึกๆ เราไม่ได้แคร์ที่จะเป็นนายกสมาคมฯ แล้ว เพราะเรารู้สึกว่ามันจะเป็นเส้นทางที่เดินไปไม่มีวันจบ”

เส้นทางที่เธอพูดถึงคือเส้นทางการพิสูจน์ตัวเองในฐานะผู้ชาย พอลลีนเล่าว่าเมื่อครั้งพินิจยังครอบครองร่างกายนี้ เขาต้องการหาอะไรทำอยู่เสมอเพื่อให้ตัวเองมีเหตุผลในการเดินต่อไปข้างหน้า

“พินิจเป็นคนที่ชอบความสำเร็จเล็กๆ สมมติโปรเจกต์ใหญ่จะต้องเปิดตัวสินค้า วันนี้ได้เขียนคำอธิบายของสินค้าหรือยัง ถ่ายรูปสินค้าหรือยัง พินิจคิดแค่ว่า ถ้าชนะสงครามเล็กๆ ทุกวันก็จะชนะสงครามใหญ่เอง แต่พอสงครามใหญ่สำเร็จไปสงครามหนึ่งก็ต้องมีสิ่งอื่นมาท้าทายพินิจอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้ทำสำเร็จไปทีละวันๆ ตัวเองจะได้รู้สึกมีคุณค่าและไม่ต้องเป็นพอลลีน

“แต่เมื่อยิ่งทำไปๆ มันก็ไม่จบ แล้วก็มาถึงจุดที่อยากเป็นนายกสมาคมฟุตบอล อยากเปลี่ยนแปลงฟุตบอลของประเทศนี้ แล้ววันหนึ่งก็จะเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ให้ได้ แต่สุดท้ายพินิจก็ตัดความคิดนั้นออก เพราะมึงยังไม่ได้เป็นตัวเองเลย แล้วมึงจะไปเปลี่ยนโลก เปลี่ยนสังคมได้อย่างไร มึงต้องเปลี่ยนตัวเองก่อน เป็นตัวของตัวเองก่อน

“นั่นคือจุดหยุดตัวตนของพินิจไป แล้วเราก็ใช้เวลาอีก 5-6 ปีในการ work on myself เพื่อจะเป็นตัวเอง ยอมเสียเวลา 5-6 ปีเพื่อจะกลับมาสู่จุดที่เราอยากเป็นจริงๆ แล้ววันนั้นค่อยว่ากัน”

พอลลีน งามพริ้ง LGBTQ ผู้หญิงข้ามเพศ transgender

พอลลีน งามพริ้ง LGBTQ ผู้หญิงข้ามเพศ transgender

เปลี่ยนตัวเองเพื่อเป็นตัวเอง

ในวันที่เป้าหมายยังอยู่ไกลลิบ พอลลีนค่อยๆ วางแผนการเปลี่ยนผ่านสู่ชีวิตใหม่อย่างรอบคอบ โดยเฉพาะกับครอบครัวที่เธอระมัดระวังเป็นพิเศษ

“เราทำหน้าที่เราอย่างดีที่สุดขณะที่เป็นหัวหน้าครอบครัว ดูแลเขามาตลอด พอถึงวันที่เราจะไป เราไม่ได้หนีไปเฉยๆ เราเตรียมการทุกอย่าง สร้างธุรกิจร้านอาหารให้ครอบครัวเพื่อให้เขาดูแลตัวเองได้ ซึ่งถึงแม้เราไม่ได้เป็นผู้หญิง วันหนึ่งเราก็อาจตายก็ได้ ถ้าตายเราก็ไม่ได้ดูแลเขาอยู่ดี เพราะฉะนั้นเราต้องเตรียมการไว้ก่อน”

ระหว่างการตระเตรียมทุกสิ่ง มีบางโมงยามที่รู้สึกลังเลและสับสน พอลลีนบอกว่าเธอถึงขั้นศึกษาเรื่องฟิสิกส์ โดยเจาะไปที่การเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของจักรวาล

“เราลองคิดถึงจักรวาล คิดถึงโลกนี้ ตัวเรามันนิดเดียว ดังนั้นสิ่งที่เราทำไม่ได้มีผลต่อจักรวาลเลย ไม่ได้ทำให้จักรวาลแตกสลาย เราเป็นแค่จุดจุดหนึ่ง เป็นแค่เศษละอองนิดเดียวที่เกิดขึ้น ไม่มีใครรู้หรอก ไม่มีใครมาสนใจหรอกว่าคนคนหนึ่งจะเป็นผู้ชาย หรือคนคนหนึ่งจะเป็นผู้หญิง

“อีกวิธีที่เราใช้จัดการความคิดของตัวเองก็คือเราต้องตัดความคิดคนอื่นออกไปให้หมด ไม่งั้นเราจะมองไม่เห็นตัวเอง แล้วเราจะไม่สามารถทำอะไรได้เลยในชีวิตนี้ ถ้าเราเอาความคิดคนอื่นหรือความคิดของสังคมเข้ามาอยู่ในความคิดเรา เราจะกลัว จะกังวลว่าคนนั้นคนนี้จะว่า ทั้งที่ในความจริงไม่ใช่หน้าที่ของเราเลย หน้าที่ของเราคือทำตัวเราให้มีความสุข พิจารณาตัวเองว่าเราคือใคร เราต้องการจะทำอะไร”  

พอลลีน งามพริ้ง LGBTQ ผู้หญิงข้ามเพศ transgender

พอลลีน งามพริ้ง LGBTQ ผู้หญิงข้ามเพศ transgender

แม้จะคิดและคุยกับตัวเองจนทะลุปรุโปร่ง แต่เมื่อใกล้ถึงวันที่จะไปอเมริกาเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ในฐานะผู้หญิง ความอึดอัดที่ต้องเก็บเรื่องทั้งหมดไว้ในใจคนเดียว ความไม่มั่นใจ ความสับสน และอีกสารพัดความรู้สึกประดังประเดจนเธอเริ่มคิดว่าจะหันหลังกลับ

“พอถึงจุดที่เราจะต้องไปจริงๆ แล้ว เราก็เริ่มรู้สึกว่าออกไปก็ไม่รู้จะเจออะไร ออกไปแล้วจะกลับมาได้ไหม อยู่ตรงนี้มันก็ดี มีความสะดวกสบายทุกอย่างในฐานะพินิจ มีครอบครัวที่น่ารัก มีการมีงานทำ เรากลัวและกังวลมากถึงขนาดที่จะไม่ออกไป แต่อีกใจก็คิดว่าถ้าไม่เปลี่ยนจะอยู่ตรงนี้อย่างไร มันไม่ไหวแล้ว ความคิดมัน intense มากจนเราอยากให้สมองหายไป ไม่ต้องมีความคิด ความรู้สึกอยากเป็นผู้หญิงแล้ว มันนำไปสู่จุดที่อยากให้ตัวเองหายไป ไม่อยากอยู่แล้ว

“แต่เราก็ดึงตัวเองกลับมาว่า ถ้ายูหายไป ยูก็ไม่ได้เป็นผู้หญิง อย่าว่าแต่ผู้หญิง ยูไม่มีโอกาสเป็นไม่ว่าจะผู้หญิงหรือผู้ชาย ไม่มีโอกาสอะไรทั้งสิ้น ดังนั้นยูตายไม่ได้ และเหตุผลเดียวที่จะมีชีวิตอยู่คือต้องเป็นพอลลีนเท่านั้น เป็นทางออกเดียว ไม่ใช่ทางเลือก”

พอลลีนในร่างของพินิจจึงออกเดินทางไปอเมริกาอย่างที่ตั้งใจ เธอไปด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด และหางานใหม่ทำในครัวของร้านอาหารโดยละทิ้งตัวตนของพินิจไว้เบื้องหลัง จังหวะนี้เธอเริ่มเทคฮอร์โมนเพศหญิง ดูแลสรีระร่างกาย ศึกษาเรื่องเมกอัพ ทดลองแต่งตัวเป็นผู้หญิงในวันหยุด จนถึงจุดที่การงานมั่นคง มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง ในที่สุดพอลลีนจึงได้ใช้ชีวิตเป็นผู้หญิงดังที่ใจปรารถนามาเนิ่นนาน

“เราบอกรูมเมต บอกหัวหน้าว่าจะเปลี่ยนเป็นผู้หญิง ทุกคนก็โอเค แล้วก็ถึงวันที่เราเปลี่ยนเป็นผู้หญิงเต็มเวลา แต่จากวันนั้นส่วนใหญ่แล้วก็อยู่ในครัวนั่นแหละ ทำอาหาร ทำงานตามปกติ” เธอเล่าด้วยรอยยิ้ม

นอกจากรูปลักษณ์ภายนอกที่เปลี่ยนจากชายเป็นหญิง อีกสิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดคือความสุขที่มาหาเธอง่ายกว่าแต่ก่อน

“พอเรามีความสุขกับตัวเอง เราก็มีความสุขด้วยปัจจัยที่น้อยที่สุด มันง่ายกว่าเดิมมาก แค่ดูตัวเองในกระจกก็มีความสุขแล้ว เราไม่ต้องหาความสุขที่ไกลออกไป เราไม่ต้องกินอาหารหรูๆ เราไม่ต้องมีรถราคาแพงหรือกระเป๋าราคาแพง การมีตำแหน่งหรือไม่มีตำแหน่งไม่ใช่เรื่องสำคัญ การมีเงินมากเงินน้อยก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ

“ตอนนี้เราไม่ได้มีแพสชั่นอะไร เพราะแพสชั่นคือการเป็นพอลลีน”

พอลลีน งามพริ้ง LGBTQ ผู้หญิงข้ามเพศ transgender

สองตัวตนที่อยู่ร่วมกันได้

“ยังชอบฟุตบอลอยู่ไหม” เราถามพอลลีนทั้งที่พอเดาคำตอบได้ เพราะบนผืนหญ้าสีเขียว เธอเลี้ยงลูกบอลด้วยฝีเท้าอย่างคนที่ถนัดและรู้ว่าต้องทำอย่างไร

“เห็นลูกฟุตบอลเป็นไม่ได้ ต้องวิ่งเข้าใส่”​ เธอตอบยิ้มๆ ระหว่างเราพากันเดินเข้าไปในอาคารใกล้ๆ สนามฟุตบอลเพื่อหลบเร้นจากแดดของเวลาเที่ยงวัน

“ตอนเด็กๆ ก็มาเรียนมวย เรียนอะไรที่นี่” เธอหมายถึงอาคารที่เราเข้ามานั่งพัก เราถึงเพิ่งสังเกตว่ามันคือศูนย์ฝึกกีฬาในร่ม  

พอลลีน งามพริ้ง LGBTQ ผู้หญิงข้ามเพศ transgender

แน่นอนว่าทุกวันนี้พินิจคนนั้นที่เคยเตะบอลและฝึกชกมวยก็ยังคงอยู่ภายในตัวพอลลีน เพียงแต่เปลี่ยนสถานะไปเป็นผู้หลบเร้นอยู่ในหลืบมุมของจิตใจที่ความเป็นหญิงก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่

“เวลาพิสูจน์แล้วว่า พินิจก็คงไม่อยากมาใช้ชีวิตแล้ว เพราะว่าเขาใช้มาจนรู้แล้ว แต่เราไม่ปฏิเสธนะว่าเขาอยู่ มีหลายโมเมนต์ที่เรายังคุยกันอยู่ แต่ไม่ได้เปล่งเสียงออกมา สมัยก่อนมันน่าเศร้าตรงที่พินิจไม่ยอมรับพอลลีน กดพอลลีนเอาไว้ แต่มาถึงจุดนี้ทุกคนรู้จักพอลลีนแล้ว เราคงไม่บอกว่าไม่มีพินิจอยู่ พูดอย่างนั้นไม่ได้”

“พอลลีนโกรธหรือเกลียดพินิจไหม” เราอยากรู้

“ไม่ค่ะ รักเขา พูดแล้วเหมือนคนบ้าเนอะ พูดถึงพินิจแล้วก็จะน้ำตาไหล” โทนเสียงที่เปลี่ยนบอกว่าเธอพูดจริง พอลลีนสูดหายใจยาวก่อนพูดต่อ  

“รักเขา รักทุกอย่างที่เป็นเขา รวมถึงทุกคนที่เข้ามาในชีวิตเขา เราต้องรับผิดชอบ เราต้องเทคแคร์ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเขา เราไม่เกลียดที่เขากดเรา เรารักเขามากจนกระทั่งยอมเขาทุกอย่าง จนถึงเวลาที่เขาไม่อยู่ เราก็ยังโหยหาความเป็นเขาอยู่ เพียงแต่ว่าไม่ต้องการให้เขาขึ้นมาครอบครองร่างกายนี้แล้ว เราให้เขาอยู่ข้างใน และเราก็คิดถึงเขาได้ในฐานะผู้ชายคนหนึ่ง

“จริงๆ พินิจเป็นผู้ชายในอุดมคติของพอลลีน พอดีๆ ไม่เลิศเลอมาก แต่เป็นผู้ชายแบบที่พอลลีนชอบและช่วยสร้างขึ้นมา ในขณะเดียวกันพอลลีนก็เป็นผู้หญิงที่พินิจชอบ มันเป็นหยินและหยางอยู่ในตัวคนเดียว เราอาจไม่เหมือนผู้หญิงข้ามเพศคนอื่นตรงที่เรามีความผูกพันกับความเป็นชายของเราค่อนข้างเยอะ แล้วก็เสียน้ำตาให้เขาได้ มันลึกซึ้งถึงขนาดที่ร้องไห้บ่อยเวลาที่คิดถึงเขา”

“ร้องแบบไหน”

“ร้องแบบซาบซึ้ง คิดถึง อยากให้เขามาอยู่ตรงนี้ อยากให้เขาขับรถให้ อยากให้เขาพาเราไปเที่ยว เราเป็นเพื่อนที่อยู่ด้วยกันมานาน ในความคิดของเราเขาก็อยู่ด้วย ในความคิดของเขาเราก็อยู่ด้วย การต่อสู้ทุกอย่างมีประจักษ์พยานแค่สองคน สองวิญญาณ สองจิต อยู่ในคนเดียว แต่เราเป็นเพื่อนกันมาตลอด ไม่ว่าจะในการต่อสู้เพื่อจะเป็นผู้ชาย การต่อสู้เพื่อจะเป็นผู้หญิง”

ซึ่งจริงอย่างเธอว่า ทั้งพินิจและพอลลีนต่างกอบกู้ซึ่งกันและกัน ไม่มีพินิจคงไม่มีพอลลีน กลับกันไม่มีพอลลีนก็คงไม่มีพินิจเช่นกัน

พอลลีน งามพริ้ง LGBTQ ผู้หญิงข้ามเพศ transgender

พอลลีน งามพริ้ง LGBTQ ผู้หญิงข้ามเพศ transgender

เป็นตัวเองที่มีความสุขและช่วยเหลือคนอื่นเท่าที่ทำได้

การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องง่าย ใครๆ ก็รู้ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงระดับพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน เป็นธรรมดาที่เราจะคาดว่า เมื่อผ่านพ้นความยากลำบากมาได้ ชีวิตที่เหลือคงเป็นช่วงเวลาแห่งการกอบโกยความสุขให้มากที่สุด

แต่ไม่ใช่สำหรับพอลลีน

ด้วยความสนใจที่ได้รับจากสื่อ เธอกลายเป็นปากเสียงให้กับหญิงข้ามเพศไปโดยปริยาย ใช้การมีอยู่ของตัวเองเปิดทัศนคติโดยรวมที่สังคมมีต่อกลุ่ม LGBTQ ให้กว้างออกไปอีก

และล่าสุด เธออยู่ในแสงสปอตไลต์ด้วยบทบาทใหม่ นั่นคือการเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคมหาชน

บทบาทใหม่ที่ว่าดูจะสวนทางกับที่เธอบอกว่าแพสชั่นในวันนี้คือการเป็นตัวเอง พอลลีนเปิดใจกับเราว่า หลังจากกลับมาจากอเมริกา เธอใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน สนุกกับงาน สนุกกับการเที่ยวเล่น แต่วันหนึ่งกลับรู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่ไร้สาระและอยากทำให้ตัวเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ผ่านการสร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ในสังคม

“สันดานเป็นนักเปลี่ยนแปลง”​ เธอพูดติดตลก “เปลี่ยนแปลงตัวเอง เปลี่ยนแปลงสังคมเล็กๆ ที่เราอยู่”  

พอลลีน งามพริ้ง LGBTQ ผู้หญิงข้ามเพศ transgender

หลายคนอาจคิดว่าในเมื่อพอลลีนเป็นหญิงข้ามเพศ พอเธอทำงานการเมือง ก็ย่อมชูนโยบายเกี่ยวกับ LGBTQ แต่หญิงตรงหน้าบอกว่าเธอมองภาพกว้างกว่านั้น

“แน่นอนว่าเราสู้เพื่อ LGBTQ แต่การต่อสู้นั้นมันอยู่บนพื้นฐานความเท่าเทียมกันของทุกเพศ เราไม่ได้คิดว่าจะทำงานให้คนกลุ่มนี้เท่านั้น เราทำงานให้ทุกคน” เธอว่า

“สิ่งที่เราอยากทำคือเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่จุดที่คนเราเท่าเทียมกันในทุกด้าน อาจดูเหมือนไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม แต่ในความจริงมันคือต้นตอของปัญหาทุกเรื่อง เรามองคนไม่เท่ากัน มองเป็นคนจน-คนรวย เสื้อเหลือง-เสื้อแดง ผู้หญิง-ผู้ชาย รัฐบาล-ประชาชน ถ้าเราทำหัวใจหลักเรื่องความเท่าเทียมได้ ปัญหาทุกอย่างจะถูกแก้ไข

“โปรเจกต์อะไรมันก็คิดได้หมดแหละ ให้เงินเด็ก ให้เงินคนแก่ กระจายรายได้ ปลูกกัญชา แต่ก่อนอื่นเราต้องมีคอนเซปต์ที่แน่นก่อน ซึ่งสำหรับพอลลีนมันคือการมองว่าคนเราเท่ากัน เคารพคนไม่ว่าเขาจะทำงานอะไร สมมติอย่าง sex worker พวกเขาเป็นคนชายขอบที่ไม่ได้รับการดูแลจากภาครัฐเลย แต่ถ้าเกิดว่าเราสามารถให้พวกเขาเข้าสู่ระบบ จ่ายภาษี มีสวัสดิการให้อย่างถูกต้อง ไม่ตีตราว่าเขาเป็นอาชญากร นี่คือสิ่งที่จะทำให้คนเท่ากัน ซึ่งอะไรก็ตามที่ทำให้คนเท่ากัน เราจะทำ แต่อะไรที่ทำให้คนไม่เท่ากัน เช่น เอ้า คนจน เอาบัตรคนจนไป เราจะไม่ทำ เราจะเสริมศักยภาพสวัสดิการของรัฐที่ทำให้ทุกคนมีสิทธิ์เท่ากัน อย่างนี้เป็นต้น”

พอลลีน งามพริ้ง LGBTQ ผู้หญิงข้ามเพศ transgender

เธอเล่าให้เราฟังด้วยนัยน์ตาเป็นประกายอย่างคนที่มีพลังในการลุกขึ้นมาทำสิ่งต่างๆ คงเป็นอย่างที่พินิจเคยคิดได้เมื่อหลายปีก่อน เมื่อเปลี่ยนตัวเองและเป็นตัวเองแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะไปเปลี่ยนแปลงสังคมได้

เหนือสิ่งอื่นใด ทุกวันนี้พอลลีนใช้ชีวิตโดยคิดว่าทุกวันคือกำไร “ก่อนจะข้ามเพศ เราเคยปรึกษาน้องคนหนึ่ง เขาบอกเราว่า ‘พี่จะทำอะไรพี่ทำไปเลย เพราะว่าแค่สิ่งที่พี่ทำมาแล้ว พี่ตายวันพรุ่งนี้ก็คุ้ม’

“ฉะนั้นพอลลีนก็เช่นกัน ตอนนี้เราได้เป็นผู้หญิงมาปีกว่าแล้ว จากไม่เคยรู้เลยว่าจะได้เป็นหรือเปล่า ต้องต่อสู้ขนาดไหนจนมาถึงจุดนี้ที่เราก็ไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่อีกนานแค่ไหน แต่ ณ วันนี้เราก็คุ้มแล้ว เราเลยไม่ได้ตั้งเป้าหมายส่วนตัวว่าเราจะเป็นอะไร เราแค่ดูว่าเราจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง”  

และไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นจะมีอะไรบ้าง เราเชื่อว่าเธอจะนำพาและก้าวผ่านมันได้อย่างสง่างาม

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรม และศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อย รวบรวมผลงานไว้ที่ pathipolr.myportfolio.com