เด็กหญิงเด็กชายบางคนกลายเป็นพ่อแม่วัยใสและต้องหอบกระเตงลูกไปไหนมาไหนตั้งแต่ยังไม่ใช้คำนำหน้าว่านาย–นางสาว ซ้ำยังต้องออกจากโรงเรียน ปลีกตัวออกจากสังคม และปกปิดคนรอบข้างราวกับการตั้งครรภ์คือการก่ออาชญากรรมร้ายแรง ทั้งที่แท้จริงแล้วไม่ใช่
เมื่อแผนการคุมกำเนิดผิดพลาด พายุระลอกแรกที่ซัดเข้าใส่เด็กวัยรุ่นคือการก้าวข้ามจาก ‘เด็กนักเรียน’ ไปเป็น ‘พ่อแม่’ อย่างกะทันหัน ตามมาด้วยการตั้งรับมรสุมระลอกใหญ่ในการรับผิดชอบชีวิตเด็กทารกคนหนึ่งที่กำลังจะลืมตาดูโลก
คนเป็นพ่อแม่น่าจะรู้ดีว่านี่คือภาระอันหนักอึ้งเกินกว่าบ่าของเด็กวัยรุ่นที่ผ่านโลกมาไม่มากจะแบกรับไหว เพราะขนาดผู้ใหญ่วัยทำงานยังต้องใช้ความพยายามมหาศาลในการประคับประคองชีวิตเด็กทารกคนหนึ่งให้เติบใหญ่ขึ้น
ท่ามกลางปัญหาที่ซับซ้อนเรื่องการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น หนึ่งในนั้นคือเรื่องช่องว่างระหว่างวัยของผู้ใหญ่และวัยรุ่นที่ถ่างออกจากกันมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องด้วยวุฒิภาวะและการมองโลกที่แตกต่างกัน แต่จะทำยังไงให้ช่องว่างที่เคยห่าง ชิดเข้าหากันเพื่อเชื่อมคนทั้งสองวัยให้กลับมาพูดคุยกันได้อย่างเข้าใจ
คำถามคือสังคมเรามีทางเลือกมากน้อยแค่ไหนให้วัยรุ่นเลือกเดินกลับเข้ามาปรึกษาผู้ใหญ่โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกตีตรา หรือถูกกล่าวหาว่าใจแตก
แน่นอนว่าไม่มีผู้ใหญ่คนใดจะคอยช่วยแก้ปัญหาให้พ่อแม่วัยรุ่นไปได้ตลอด แต่จะทำอย่างไรให้เด็กวัยรุ่นที่พลาดพลั้งตั้งท้องก่อนวัยอันควรสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง ทั้งระหว่างที่ตั้งครรภ์ รวมถึงการใช้ชีวิตในสังคมต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง
พ่อแม่วัยใสต้องยืนหยัดได้
คิว และ ฟ้า (นามสมมติ) คือพ่อแม่วัยใสที่มาแชร์ประสบการณ์โลกคว่ำคะมำหงายของการเป็นพ่อแม่คนแบบที่ไม่ทันตั้งตัวในงาน ‘คนใต้ หยัดได้ ครั้งที่ 2’ งานเสวนาวิชาการระดับภาค เรื่องสุขภาวะเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลาและนครศรีธรรมราช จัดโดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และ มูลนิธิแพธทูเฮลท์ (Path2Health Foundation) ที่ตั้งใจสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างวัยรุ่น ผู้ปกครอง คุณครู บุคลากรสาธารณสุข และองค์กรส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อร่วมกันออกแบบกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน และสร้างเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาวะเยาวชน โดยมีประเด็นเรื่องการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นหนึ่งเวทีหลักของงานนี้
ฟ้าและคิวยืนยันว่าการเป็นพ่อแม่ตั้งแต่วัยรุ่นนั้นสามารถฝ่าฟันปัญหาสารพัดมาได้โดยการที่มีครอบครัวคอยโอบกอดด้วยความเข้าใจ และมีสังคมที่พร้อมอ้าแขนให้โอกาส
ตอนนี้ทั้งคู่ลาออกจากโรงเรียนมาเป็นพ่อแม่เต็มตัว ภารกิจหลักในชีวิตเปลี่ยนจากการไปโรงเรียน ทำการบ้าน อ่านหนังสือสอบ เป็นการให้นม กล่อมนอน อาบน้ำเปลี่ยนผ้าอ้อม และพาลูกไปฉีดวัคซีนให้ครบตามที่หมอนัด
ทั้งคู่บอกว่า ‘ลูก’ คือชีวิตเล็กๆ ที่เข้ามาเปลี่ยนชีวิตของพวกเขาไปตลอดกาล จากเด็กวัยเรียนที่วิ่งเล่นไปวันๆ ต้องก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่อย่างฉับพลันพร้อมกับภาระมหาศาล
มรสุมชีวิตเริ่มคลี่คลายลงเมื่อลูกน้อยลืมตาดูโตอย่างแข็งแรงและปลอดภัย ม่านหมอกแห่งปัญหากำลังพัดจางไป พร้อมกับบทใหม่ของชีวิตที่เรียกว่า ‘ครอบครัว’
ทุกวันนี้ ทารกน้อยเป็นเหมือนสะพานเชื่อมใจให้ (อดีต) เด็กบ้านแตกสาแหรกขาดอย่างฟ้าและคิว หันหน้ากลับไปคุยกับพ่อแม่ และเดินกลับสู่สังคมอย่างไม่กลัวการถูกติฉินนินทา เพราะรู้ว่าผู้ใหญ่พร้อมให้โอกาสเสมอ
ขอเพียงมีผู้คอยรับไว้ไม่ให้ร่วงหล่น
ต่อไปนี้คือเรื่องราวของฟ้าและคิว พ่อแม่วัยใสที่ชีวิตพลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือ
คิวและฟ้าอาศัยอยู่ที่จังหวัดหนองบัวลำภูเหมือนกัน แต่เรียนอยู่คนละโรงเรียน ทั้งคู่รู้จักกันทางเฟซบุ๊กและตัดสินใจคบหากันเรื่อยมาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว
ก่อนหน้านี้ ฟ้าใช้ชีวิตไม่ต่างจากเด็กสาวในวัยไล่เลี่ยกัน เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการตะลอนเที่ยวเล่นกับเพื่อน โดดขึ้นเต้นท้ายรถแห่ วงหมอลำแสดงที่ไหน ต้องเห็นเธอที่นั่น
ในตอนนั้น เด็กสาวรู้สึกว่าชีวิตยังไม่มีเรื่องอะไรให้รับผิดชอบมากมายนัก เธอใช้จ่ายเวลาชีวิตไปกับความบันเทิงรายวัน ส่วนคิวก็ใช้ชีวิตอย่างสำมะเลเทเมากับเพื่อนฝูง พ่อแม่ของคิวแยกทางกันเช่นเดียวกับพ่อแม่ของฟ้า
ด้วยความติดเที่ยวและติดเพื่อนอย่างหนัก ฟ้าตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนที่หนองบัวลำภูกลางคัน ทิ้งการเรียนในเทอมสุดท้ายทั้งๆ ที่ใกล้จะจบชั้น ม.3 โดยให้เหตุผลกับครูว่าจะมาหาแม่ที่สงขลา ส่วนคิวก็ตามฟ้ามาอยู่ที่สงขลาด้วย แต่ตอนนั้นทั้งคู่ยังไม่รู้ว่าฟ้าท้อง เพราะไม่มีอาการแสดงสัญญาณใดๆ
เมื่อมาอยู่สงขลา ความเปลี่ยนแปลงทางสรีระเกิดขึ้นกับฟ้าเมื่ออายุครรภ์ได้ราวแปดเดือน เท้าของเธอบวมเป่ง ท้องก็ใหญ่ขึ้นจนผิดสังเกต และเริ่มรู้สึกว่าจู่ๆ ท้องก็ดิ้นเองได้
วินาทีที่ฟ้ารู้ตัวว่าตั้งท้อง ตอนนั้นเหมือนกับโลกทั้งใบกำลังถล่มลงมาตรงหน้า เพราะก่อนหน้านี้แม่ของฟ้าพูดดักคอตลอดว่า ‘ห้ามท้องเด็ดขาด แม่รับไม่ได้’
ประตูหัวใจของแม่ที่ปิดลง ทำให้ลูกสาวเมินที่จะไขกลอนเข้าไปขอคำปรึกษา คิวและฟ้าจึงตัดสินใจว่าจะแอบไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลอย่างเงียบๆ เพราะท้องใหญ่ใกล้คลอดเต็มที
“หนูกลัวลูกพิการเลยไปฝากท้อง ตอนนั้นกระชั้นชิดมาก พอรู้ว่ามีคนพร้อมช่วยก็ดีใจว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียว ที่โรงพยาบาลดูแลเราเหมือนเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง ฝากครรภ์ก็ฟรีทุกอย่าง ค่ายาก็ไม่เสีย”
เด็กสาวเล่าให้เราฟังอย่างซื่อๆ และนี่เป็นการฝากครรภ์ครั้งแรกและครั้งเดียวเพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนทารกน้อยจะคลอดออกมา
เลนส์ชีวิตของเด็กวัยใสทั้งสองที่มองโลกด้วยความเบิกบาน แปรเปลี่ยนเป็นเลนส์สีขุ่นขมุกขมัวที่มองไปทางไหนก็ไม่เห็นทาง ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร โชคดีที่พี่หมอและพี่พยาบาลใจดีคอยดูแลทุกขั้นตอนตั้งแต่ไปฝากครรภ์ ทั้งเจาะเลือดเพื่อตรวจหาโรค และจ่ายยาบำรุงเลือดให้ เพราะเห็นว่าฟ้าเป็นพาหะโรคธาลัสซีเมียซึ่งมีความเสี่ยงทำให้ทารกเกิดมาตัวเล็กและซีด
นอกจากนี้ที่โรงพยาบาลยังได้ให้คำแนะนำเรื่องโภชนาการสำหรับคนท้อง รวมถึงการปฏิบัติตัวระหว่างท้อง เช่น บอกว่ายาชนิดไหนบ้างที่ห้ามกิน เพราะยาลดสิวหรือยารักษาฝ้าจะมีผลทำให้การฟอร์มตัวของทารกผิดปกติ ไปจนถึงการแนะนำให้ฟ้าฝังยาคุมกำเนิดแบบ 5 ปี หลังจากคลอดลูกคนแรก เพื่อชะลอการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป
กลับกลายเป็นว่าโรงพยาบาลเป็นพื้นที่ที่ทำให้วัยรุ่นทั้งสองรู้สึกปลอดภัยในช่วงที่ไม่พร้อมจะบอกครอบครัว ฟ้าและคิวรู้สึกว่าพวกเขาสามารถไว้ใจพี่หมอและพี่พยาบาลได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตัดสินหรือโดนตำหนิ
นับวันเมื่อท้องของเด็กสาวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนไม่สามารถปิดมิดได้อีกต่อไป ฟ้าและคิวจึงตัดสินใจจูงมือกันไปบอกความจริงกับแม่ ทั้งคู่คิดไว้ล่วงหน้าว่าคงจะโดนแม่ไล่ตะเพิดออกจากบ้าน หรือไม่ก็โดนไล่ให้ไปเอาเด็กออก แต่ความจริงแล้ว คำพูดเหล่านั้นไม่ได้หลุดออกมาจากปากคนเป็นแม่เลยแม้แต่น้อย
“แม่ตอบกลับมาว่า ทำไมไม่บอกให้เร็วกว่านี้ จะได้ช่วยกันคิดว่าจะทำยังไงต่อ” ฟ้าเล่า
แม่ของเธอไม่ได้พูดจาตำหนิหรือตัดพ้อแต่อย่างใด กลับกัน แม่คือคนที่ให้ความมั่นใจกับลูกว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แม่จะช่วยคิดแก้ปัญหาด้วยกันกับลูก
เมื่อครอบครัวหันหน้าเข้าหากัน คิวและฟ้าจึงรู้สึกว่าพวกเขาสามารถปรึกษาแม่ได้โดยไม่ต้องหลบซ่อนหรือหวาดกลัวอีกต่อไป
เมื่อวัยรุ่นตั้งครรภ์ขึ้นมา สิ่งที่ครอบครัวทำได้คือการให้คำแนะนำว่าวัยรุ่นจะดูแลครรภ์ให้มีคุณภาพได้อย่างไร เมื่อย้อนกลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือการโอบอุ้มลูกหลานในครอบครัวให้เดินหน้าต่อไปด้วยกันบนพื้นฐานความเข้าใจ
‘ลูก’ เปลี่ยนชีวิต
คิวซึ่งตอนนี้กลายมาเป็นคุณพ่อมือใหม่ก็พยายามอย่างดีที่สุดเพื่อช่วยฟ้าเลี้ยงดูลูก
“ตอนที่ลูกใกล้คลอด ผมก็ปรึกษาแม่ว่าควรเลี้ยงลูกยังไง บางทีเปิดดูวิธีเลี้ยงลูกในกูเกิล ในยูทูบ ดูวิธีเปลี่ยนแพมเพิร์สเด็ก ดูว่ามีของอะไรบ้างที่ต้องซื้อ แต่ก่อนผ้าห่อตัวเด็กยังไม่รู้จักเลย แต่เดี๋ยวนี้รู้หมด”
“ส่วนหนูเคยช่วยแม่เลี้ยงน้องมาก่อน เลยทำเป็นหมดตั้งแต่อาบน้ำ แต่งตัว ป้อนนม แต่จะปรึกษาแม่ในเรื่องที่เราไม่เคยเจอ เช่น เวลาลูกร้องโยเย เรื่องการกิน พอลูกคลอดแล้วหนูรักลูกมาก มันทำให้รู้ว่าแม่หนูก็คงรักหนูมากเหมือนกัน”
ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากเด็กวัยรุ่นมาเป็นวัยผู้ใหญ่แบบฉับพลัน คิวจำต้องออกไปหางานทำนอกบ้านเพื่อหาเงินมาจุนเจือครอบครัว
“พอลูกคลอดแล้วผมก็ไม่ได้ไปวิ่งเล่น ไม่ได้เที่ยวเหมือนเด็กคนอื่น แต่ต้องไปทำงานเสิร์ฟในร้านหมูกระทะที่สงขลา เหนื่อยมาก ร้อนมาก ต้องเดินทั้งวัน หิ้วเตาร้อนๆ ร้อยกว่าองศา ไปทำงานวันแรกเกือบเป็นลม แต่ตอนนี้มันชินแล้ว ใช้ชีวิตธรรมดาเหมือนคนทั่วไป เพียงแต่มีสมาชิกที่เราต้องเลี้ยงเพิ่มขึ้นอีกคนหนึ่ง”
เท่ากับว่า ตอนนี้คิวเป็นคนเดียวที่ต้องหาเลี้ยงทั้งครอบครัว เด็กหนุ่มบอกว่าเขาไม่เคยเกี่ยงเรื่องทำงานหนัก ตอนนี้ในหัวคิดแต่ว่าจะต้องเก็บเงินให้ได้มากๆ เพื่อเป็นค่านม ค่าแพมเพิร์ส ค่าเสื้อผ้า รวมถึงเก็บไว้ส่งเสียให้ฟ้าเรียนต่อให้จบชั้น ม.6 อย่างที่ฟ้าตั้งใจไว้
“หนูอยากเรียน ม.3 ต่อให้จบ และต่อ ม.ปลายให้ได้วุฒิฯ ไปทำงานได้ แต่อาจจะหาโรงเรียนที่สงขลาแทน เพราะคงไม่ได้กลับไปที่หนองบัวลำภูแล้ว” ฟ้าเล่าอย่างมุ่งมั่น
ส่วนฝันของคิวคือการทำงานเก็บเงินเลี้ยงดูคนในบ้าน เด็กหนุ่มจึงตัดสินใจกระโดดเข้าสู่สังคมการทำงานโดยไม่คิดหันหลังกลับเข้าไปในโรงเรียนอีก
“ผมไม่อยากกลับไปเรียนแล้ว แต่ผมอยากทำงาน เพราะตอนนี้มีลูก ถ้ากลับไปเรียนก็ต้องไปๆ หยุดๆ เพราะต้องอยู่บ้านช่วยเลี้ยงลูก โรงเรียนก็คงจะไล่ผมออกอีก ผมเลยอยากทำงานเก็บเงินส่งให้แฟนเรียน และทำงานเก็บเงินไว้เลี้ยงลูกดีกว่า”
เมื่อต้องระหกระเหินมาทำงานต่างที่ต่างถิ่น เด็กหนุ่มอธิบายถึงการปรับตัวในสังคมใหม่ที่ทุกคนพร้อมเปิดใจยอมรับเขาว่า “ตอนนี้เพื่อนเก่าๆ ก็ขาดการติดต่อไปแล้ว แต่มีเพื่อนที่ทำงานด้วยกันที่ร้านหมูกระทะในสงขลา เหมือนได้มาเจอสังคมใหม่ๆ มันเลยไม่ได้จำเป็นต้องปกปิดว่าเรามีลูก เพื่อนๆ ที่ทำงานด้วยกันก็จะถามเราตลอดว่า ‘เหนื่อยไหม สู้เพื่อใคร’ เราก็จะตอบไปว่า ‘สู้เพื่อลูกครับ’ ดีที่เจ้านายผมก็ช่วยทุกอย่าง ถ้ามีปัญหาอะไรเขาก็ยินดีช่วยเหลือ ค่าแรงเขาก็จ่ายให้ผมเยอะกว่าเพื่อนทั้งๆ ทีเข้าไปทำงานทีหลัง เพราะอยากให้ผมเก็บเงินไว้เลี้ยงลูก”
เพราะมี ‘ลูก’ จึงต้องก้าวต่ออย่างเข้มแข็ง
การมีลูก ไม่เพียงแต่เปลี่ยนชีวิตเด็กวัยรุ่นทั้งสองไป แต่ลูกยังเข้ามาเติมกำลังใจและไฟชีวิต ให้ทั้งคู่ก้าวต่อไปอย่างเข้มแข็ง
“การมีลูกมันเปลี่ยนชีวิตผมจริงๆ แต่ก่อนตอนไม่มีลูก ผมเคยเที่ยวหนัก ติดเหล้าติดบุหรี่ ตอนอยู่กับเพื่อนก็เสี่ยงคุกเสี่ยงตาราง ไม่ค่อยอยู่ติดบ้าน เวลากินข้าวกับพ่อแม่ยังไม่มีเลย แต่ตอนนี้เราอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาเป็นครอบครัว ถึงจะทำงานหนักแต่มันไม่มีเรื่องเครียดเลย มีปัญหาอะไรก็ปรึกษากัน จากเมื่อก่อนที่ใช้เงินเยอะมาก แต่เดี๋ยวนี้เงิน 500 ต้องอยู่ให้ได้เกือบอาทิตย์ ต้องออกไปทำงานเก็บเงิน ต้องรับผิดชอบมากขึ้น เสื้อผ้าที่เคยซักแต่ของตัวเองก็ต้องซักให้ลูกก่อน
“การมีลูกมันหนักตรงที่เรากังวลว่าจะควรเลี้ยงเขาให้ดีได้ยังไง จะเลี้ยงเขาไหวมั้ย แต่หลังๆ เริ่มอยู่ตัว เพราะผมทำงานมีเงินเก็บ ตอนนี้เลยไม่รู้สึกว่าลำบากอะไร และโชคดีที่มีแม่ให้ปรึกษา ไม่มีแม่คงยากกว่านี้เยอะ ความฝันของผมคืออยากให้ลูกเรียนสูงกว่าผม ให้เรียนถึงปริญญาเอกเลย อยากเห็นลูกเป็นทหารอากาศ เพราะเวลาผมทำงานที่ร้านหมูกระทะ เห็นเครื่องแบบเขาแล้วเท่ดี” คิวเล่าแล้วหัวเราะ
ส่วนชีวิตฟ้าก็พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือเช่นกัน เมื่อรู้ว่าบทบาทของตัวเองคือการเป็น ‘แม่’ เด็กสาวก็ตั้งใจทำหน้าที่นี้ให้ดีที่สุดเพื่อลูก เด็กสาวเล่าให้เราฟังโดยมองจ้องไปยังดวงตาของเด็กน้อยที่กำลังอุ้มอยู่ในอ้อมอก
“พอมาเป็นแม่คนก็ไม่อยากเที่ยวแล้ว คิดแต่ว่าต้องเลี้ยงลูกให้ดีที่สุด เมื่อก่อนหมอลำอยู่ไหนหนูต้องไปจองที่ก่อนใคร รถแห่อยู่ตรงไหนหนูก็ต้องไปเต้นอยู่หลังรถ ตอนนี้ไม่อยากเที่ยวแล้ว อยากเลี้ยงลูกอย่างเดียว พอกลับไปดูรูปเก่าๆ ที่ไปเที่ยวเต้นกับเพื่อนก็คิดว่าตอนนั้นทำไปได้ยังไง เดี๋ยวนี้จะไปเที่ยวไหนก็ไปกันทั้งครอบครัว ไปกับคิวและแม่ด้วย ตอนนี้หนูก็รักลูกมากๆ ไม่อยากไปไหนเลย”
เป็นเรื่องน่าดีใจสำหรับฟ้าและคิวที่ผู้ใหญ่เข้าใจและให้ความมั่นใจว่าพวกเขาจะไม่ถูกตีตราจากสังคม ทั้งคู่สามารถคุยกับหมอและพยาบาลได้อย่างเปิดใจ ปรึกษาแม่ได้เหมือนเพื่อน และสังคมยังมีทางเลือกอีกมากมายให้เด็กวัยรุ่นเลือกเดินแม้จะเคยพลาดพลั้งตั้งท้องก่อนวัยอันควร ดูตัวอย่างจากฟ้าและคิว พวกเขาก็เป็นพ่อแม่วัยรุ่นที่เลือกเดินต่อไปข้างหน้าบนเส้นทางที่พวกเขากำหนดเอง เพื่อจับมือกันดูแลลูกและดูแลครอบครัวให้มั่นคงต่อไปได้