TED Club : เวทีที่ประกาศให้ประเทศรู้ว่าเด็กทุกคนมี ‘เสียง’ เป็นของตัวเอง

ตอนเด็กๆ คุณมีเรื่องอะไรที่อยากพูดออกมามากๆ แต่พูดไม่ได้ไหม?

ฉันว่าเรามีเรื่องนั้นในใจกันทุกคน ถ้าย้อนกลับไปสัก 15 ปี ฉันก็อยากพูดเรื่องทัศนคติเรื่องเพศที่คนมีต่อผู้หญิง อยากตั้งคำถามว่าทำไมผู้หญิงถึงต้องเรียบร้อย และจำเป็นไหมที่คนเรียบร้อยต้องเป็นไปตามความคาดหวังของคนอื่นว่าควรทำหรือไม่ควรทำอะไร

“ประเด็นที่เด็กพูดหลายอย่างคือประเด็นที่คนในสังคมถกกันด้วยซ้ำ” นี่คือคำพูดของวี–ภาร​วี​ วัฒนา​นุ​กิจ หญิงสาวอดีตครูที่กระโดดมาทำหน้าที่ Team Leader of School Management ของโปรเจกต์ชื่อ TED Club ภายใต้การดูแลของทีม TEDxBangkok เครือข่ายของ TED ที่จัดเวทีทอล์กประจำปีที่กรุงเทพฯ มาแล้ว 3 ครั้งด้วยกัน

TED คือพื้นที่หนึ่งที่เชื่อในการแสดงออกถึงไอเดียและความคิดเห็นที่อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมหรือชีวิตผู้คนได้ ทว่าปีนี้พวกเขาไม่ทำเวทีใหญ่สเกลเดิม แต่ตัดสินใจเอาเวที TED เข้าไปตามโรงเรียนต่างๆ ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เกิดเป็นโปรเจกต์ชื่อ TED Club by TEDxBangkok พื้นที่เล็กๆ ที่จะเปิดให้เด็กทุกคนที่มีเรื่องอยากพูดได้พูด

มันคือการเปลี่ยนให้โรงเรียนเป็นเวทีทอล์กที่เด็กนักเรียนทุกคนมีสิทธิ์เป็นสปีกเกอร์

“เราอยากทำโปรเจกต์ที่ได้ลงมือทำมากกว่าเดิม สร้างอิมแพกต์มากกว่าเดิม เราคิดว่า TED น่าจะช่วยอะไรเด็กไทยหรือพัฒนาการศึกษาไทยได้บ้าง เพราะกว่าจะได้ทอล์กสักทอล์กหนึ่ง มันต้องผ่านกระบวนการค่อนข้างเยอะ เราไม่ได้มองว่าเด็กจะได้แค่ทักษะการพูดในที่สาธารณะ แต่มันคือกระบวนการคิดวิเคราะห์ คิดอย่างมีเหตุผล คิดอย่างเป็นระบบ รวมถึงการเล่าเรื่องราว มันจะช่วยหล่อหลอมคนคนหนึ่งในหลายๆ ด้านได้” วีเล่า

โมเดลนี้มีประโยชน์กับเด็กจริงหรือไม่ ยืนยันได้จากกรณีศึกษาในประเทศอาร์เจนตินาที่ใช้ชื่อว่า TED-ed Club จากจุดเริ่มต้นที่ทำแค่ใน 5 โรงเรียน ทุกวันนี้รัฐบาลลงมาสนับสนุน สั่งไปที่โรงเรียนทั่วประเทศให้สร้างคลับสำหรับนักเรียนนี้

แต่ก้าวแรกของ TED Club ในไทยจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ตัวละครสำคัญก็คือคุณครู

ทีมงาน TED Club ตามหาคุณครูที่เห็นด้วยกับแนวคิด TED Club ด้วยการเปิดรับสมัครแบบสาธารณะ ไม่ได้ยื่นเรื่องเข้าโรงเรียนแล้วอาศัยคำสั่งผู้อำนวยการ เพราะการดูแลโปรเจกต์นี้ต้องอาศัยใจมาทำงาน ต้องการเวลาที่จะจัดกิจกรรมกับเด็กๆ คุณครูต้องสวมบทบาทเป็นทั้งผู้นำกิจกรรมและคิวเรเตอร์ผู้ขัดเกลาทอล์กให้ประกายในตัวเด็กๆ เปล่งออกมามากที่สุด

“เรามองหาคุณครูที่เล่นท่ายาก ท่ายากในที่นี้หมายถึงกิจกรรมหรือโครงการที่คุณครูทำนอกเหนือจากที่ถูกบังคับให้ทำ จุดร่วมของคุณครูที่สมัครเข้ามาที่เจอก็คือ เขาอยากทำเพื่อนักเรียนของเขา เขาอยากเห็นนักเรียนของเขาดีขึ้น อย่างเช่นคุณครูท่านหนึ่งเห็นว่าเด็กชอบเล่นเกม อยากเปลี่ยนเกม ROV ให้มีประโยชน์ต่อการเรียน ก็เลยจัดแข่ง ROV ขึ้นมาโดยมีข้อแม้ว่าเด็กที่จะเข้าแข่งต้องไม่ติด ร. ติด มผ. หรือ ติด 0 เด็กก็พากันไปแก้ที่ตัวเองติดอยู่ วิชาอื่นก็เลยได้ประโยชน์ไปด้วย”

วีเล่าว่าการทำโครงการนี้ทำให้ได้พบว่ายังมีคุณครูน้ำดีอีกมากมายที่สู้เพื่อเด็กอยู่ในระบบ แต่ทีมงานก็รู้ดีว่าภาระหน้าที่การงานของคนเป็นครูมีมากแค่ไหน จึงออกแบบระบบการทำงานให้คล่องตัว ไม่มีงานเอกสารให้ครูต้องดูแล ที่สำคัญคือ ‘ติดอาวุธ’ ให้ครูมีสกิลไปออกแบบทอล์กของเด็กๆ ให้ความรู้ผ่านการจัดเวิร์กช็อป พร้อมทั้งทำไกด์บุ๊กสำหรับจัด TED Club ในโรงเรียนให้คุณครูทุกคน

ทีมงานถ่ายทอดทักษะจำเป็นอย่าง creative thinking และ storytelling ให้แก่คุณครู ตัวอย่างเช่น เทคนิคตามหา ‘ก้างปลา’ หรือ key message ของเรื่องราว เทคนิคหยิบองค์ประกอบของ study, stat, story มาใช้ จะทำให้ทอล์กน่าเชื่อถือขึ้นได้ด้วยข้อมูลได้อย่างไร ทำยังไงจะหยิบเอาตัวเลขสถิติมาพูดให้คนเห็นภาพ หรือจะทำยังไงให้ทอล์กที่พูดไม่แห้งแล้งแต่มีชีวิตชีวาด้วย personal story

แถมด้วยกิจกรรมเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้ครูเอาไปใช้กับเด็กๆ ได้ อย่างเช่นเกม ‘เฮ้ยเจ๋งว่ะ’ ที่จะมอบโจทย์ให้คนในทีมช่วยกันพูดต่อยอดกันไปเรื่อยๆ ว่า “เฮ้ย เจ๋งว่ะ” จากนั้นก็เสนอความคิดเห็นเพื่อพัฒนาไอเดียต่อไปโดยไม่มีคำว่า ‘ไม่’ ออกมาเบรก จนคุณครูและเด็กๆ ติดใจในความสนุกสนาน

ความน่าสนใจที่พบก็คือ พอคุณครูเปิดรับสมัครนักเรียนมาเข้าร่วมในรูปแบบชมรมหรือกิจกรรมนอกเวลา เด็กที่อยากเข้าร่วมไม่ได้มีแค่เด็กกิจกรรมตัวยงหรือเด็กที่โดดเด่นในโรงเรียนอยู่แล้ว แต่ยังมีเด็กๆ ที่มีนิสัยขี้อายหรือเด็กที่ถูกรับรู้ว่าเป็นเด็กเนิร์ดหน้าห้อง นี่เป็นหลักฐานที่ยืนยันว่า เด็กทุกคนมี ‘เสียง’ มีเรื่องราวเป็นของตัวเอง และพวกเขาอยากจะถ่ายทอดมันออกมา

น้องๆ จะทำกิจกรรมร่วมกันเป็นกลุ่มย่อย ผลัดกันพูดผลัดกันฟัง ให้ความคิดเห็น ก่อนจะก้าวขึ้นพูดทอล์กของตัวเอง พื้นที่การพูดของเด็กๆ เป็นได้ทั้งในห้องเรียนหรือบนเวทีเล็กๆ ที่โรงเรียนมีอยู่ ผู้ชมก็คือคุณครูและเพื่อนในกลุ่ม TED Club ด้วยกัน

ฉันได้เห็นเนื้อหาทอล์กเกี่ยวกับการเคารพสิทธิส่วนบุคคล, เกม, การถ่ายรูป, street photo, ความสนุกในการแต่งตัว, ความรัก, ความสุข, ความเศร้า, การตั้งคำถามเกี่ยวกับการศึกษา, โลกโซเชียล ฯลฯ สมมติฐานที่ผู้ใหญ่มักมองเด็กว่าไร้สาระ ไม่มีเหตุผล นั้นไม่จริงเสมอไป

“คอนเทนต์ส่วนใหญ่ที่เด็กๆ เลือกพูดมักเป็นเรื่องใกล้ตัว ด้วยความที่ประสบการณ์ยังไม่เยอะมาก แต่หลักๆ เขาก็พูดปัญหาโลกแตกของเด็กมหา’ลัย หรือ first jobber เหมือนกัน นั่นคือเรื่องการค้นพบตัวเอง การได้เรียนได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ มีน้องผู้หญิงคนหนึ่งบอกว่าอยากเป็นวิศวกร แต่คุณแม่ไม่อยากให้เป็นเพราะกลัวลูกจะเหนื่อยและลำบาก เขาจึงอยากพูดว่า ผู้หญิงก็เป็นวิศวกรได้” วีเล่า

และสิ่งสำคัญยิ่งกว่าเนื้อหาหรือความคมของทอล์กก็คือ เมล็ดพันธุ์บางอย่างที่หย่อนลงในตัวเด็กๆ ทำให้เขาได้เป็นตัวของตัวเอง และเติบโตต่อไปในอนาคต

“พื้นที่การแสดงออกมันสำคัญกับเด็ก เพราะมันเป็นการทำให้เขารู้จักตัวเอง ได้เข้าไปในตัวเอง ขณะเดียวกันก็เป็นการเข้าใจผู้อื่นและยอมรับฟังความคิดเห็นผู้อื่นด้วย” ครูเพชร หรือ พชร วังมี อาจารย์แนะแนวโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา หนึ่งในสมาชิกคุณครูของโครงการรุ่นแรกบอก

“ช่วงแรกๆ เด็กๆ อาจจะเขินอายบ้าง เราก็มีกิจกรรมละลายพฤติกรรม ลดกำแพงที่ตั้งไว้กับตัวเองก่อน ให้เปิดเผยตัวเองมากขึ้น มันต้องเริ่มมาจากครู เราต้องเปิดเผยตัวเองเต็มที่ว่าเราทำสิ่งนี้เพื่ออะไร อาจารย์จะไม่เบรกเธอ เธอมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นออกมาได้เต็มที่ ทำให้พื้นที่ตรงนี้เป็น safe place ของเขา ผมจะบอกเด็กว่า พูดออกมาได้เลยไม่ต้องกลัว เพราะสังคมไทยเรามักพูดสิ่งที่คนอยากได้ยินมากกว่าสิ่งที่เราอยากพูดจริงๆ เราติดขี้เกรงใจ กลัวคนจะเสียหน้า ทั้งที่ไอเดียของเราก็มีส่วนที่อาจพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นได้”

ไม่ใช่แค่เด็กเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ ครูเพชรบอกว่าแม้แต่ตัวครูเองก็ได้ฝึกการเป็นทั้งผู้พูดและผู้ฟังที่ดี ได้โอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทั้งในกลุ่มครูในโครงการด้วยกันเองหรือครูกับเด็กก็ตาม

“การที่เด็กมาอยู่ด้วยกัน มันคือการจำลองระบบการทำงานจริง เขาต้องเจอคนหลากหลาย ต่างเพศต่างวัย ในชมรมผมมีเพศที่สาม มีทั้งเด็ก ม.ต้น ม.ปลาย พอรวมชมรมกันแล้วกำแพงที่เรียกว่ารุ่นพี่รุ่นน้อง กำแพงที่เรียกว่าเพศสภาพหรือเพศวิถีมันหายไป เผลอๆ คำว่า ‘ครู’ ก็จางลงไปด้วย”

ความน่ารักก็คือตอนนี้ทอล์กของเด็กๆ ได้เผยแพร่ผ่านเพจของโรงเรียนและในโทรทัศน์ที่ติดตั้งในโรงเรียนแล้ว ครูเพชรบอกว่าอยากจะทำให้เด็กๆ รู้สึกว่ามีคนได้เห็นของที่พวกเขาปล่อยกันออกมา และสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของในสิ่งที่ทำอยู่

เครือข่ายโรงเรียนใน TED Club มีทั้งโรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนสาธิต และโรงเรียนเอกชน ทุกที่เกิดทอล์กที่มีพลังขึ้นได้ อย่างเช่นที่โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง ที่นักเรียนสมาชิก TED Club คนหนึ่งได้ขึ้นเป็นสปีกเกอร์ของเวที TEDxYouth@Bangkok เวทีใหญ่ประจำปี 2018 ของ TEDxBangkok ที่ยกเวทีทั้งหมดให้สปีกเกอร์เด็กและวัยรุ่น

“เด็กๆ ในโรงเรียนมาจากชุมชนคลองเตยและบริเวณรอบๆ ตั้งแต่บางจาก พระโขนง มีจำนวนมากที่มาจากชุมชน เวลาจัดกลุ่มเด็กตามโซนเขาก็จะบอกว่าหนูมาจากล็อกเดียวกันเลยนะ” ครูทิว–ว่าที่เรือตรีธนวรรธน์ สุวรรณปาล ครูกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม จากโรงเรียนแห่งนี้ เล่ายิ้มๆ

“ตอนแรกผมจะให้เขานิยามตัวเองก่อนว่า คุณคิดว่าตัวเองเป็นคนยังไง ลองตั้งเป้าหมายว่า ฉันจะเป็นใครในอนาคต แล้วให้เขาเริ่มทำความรู้จักกับเพื่อน ลองคุยซิว่ามีเป้าหมายร่วมกันไหม พวกคุณร่วมมือกันได้นะ ก้าวไปพร้อมกันให้ถึงเป้าหมายเหมือนกัน คาแร็กเตอร์เด็กๆ จะต่างกันออกไป แต่สิ่งที่สังเกตได้คือเขาจะรักเพื่อนมาก หลายๆ คนจะภูมิใจว่า เฮ้ย นี่คนคลองเตยนะ น้องที่ได้ขึ้นเวที TEDxYouth@Bangkok ก็คือน้องที่ใช้เพลงแรปมานำเสนอมุมมองคนนอกกับคนคลองเตย เขาจะรณรงค์ว่าให้ภูมิใจกับชุมชน เราต้องรักชุมชนเรา ถ้าเราไม่รักแล้วใครจะมารัก”

ในการทำงาน ครูทิวบอกว่าจะพยายามเข้าไปนั่งในใจเด็กทุกคน เอาประสบการณ์ที่เคยเป็นวัยรุ่นมาคุยกัน ไม่เน้นสอนแต่ให้แรงบันดาลใจ ทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน

“ส่วนใหญ่เรื่องที่เขาอยากพูดจะเป็นมุมที่เพื่อนหรือผู้ใหญ่มองข้ามไป เด็กที่ดูเก็บตัวก็อยากสะท้อนว่าจริงๆ เขาเป็นคนยังไง มันมีคนที่แตกต่าง อยากให้ยอมรับซึ่งกันและกัน เด็กที่ครูมองว่าไม่ตั้งใจเรียนก็อยากบอกว่าเขามีความสามารถนี้แต่ไม่มีใครสนับสนุน มันมีความหลากหลายมากๆ บางทีเด็กก็รับรู้ว่าคนจะหมั่นไส้เด็กที่กล้าแสดงออกหรือทำกิจกรรม ผมก็เคยผ่านจุดนั้นมาจึงเข้าใจ พยายามบอกให้เขาพูดสิ่งที่เขาคิด เราถือว่าได้ทำหน้าที่ในการสร้างความเข้าใจแล้ว เราเป็นตัวของเรา เขาก็สบายใจขึ้น กล้าที่จะทำมากขึ้น”

ความท้าทายหนึ่งที่ครูและเด็กทุกคนต้องเจอก็คือเรื่องเวลา เพราะเป็นที่รู้กันว่าตารางเรียนของเด็กไทยนั้นแน่นแค่ไหน ทุกวันนี้ก็ยังไม่เปลี่ยนไป แต่พอทุกคนเอาด้วยกับกิจกรรม ครูก็มีกำลังใจจะรันโปรเจกต์ เด็กๆ ก็เฝ้ารอวัน TED Club ที่จะมาถึง ในอนาคตทั้งครูเพชรและครูทิวก็ตั้งใจจะสานต่อให้กิจกรรมนี้มีต่อเนื่องภายใต้ไอเดียต่างกันไป

“ผมรู้สึกว่า TED Club ที่ทำมันยังไม่สุดด้วยปัจจัยเรื่องเวลา เรามีเวลาจำกัดในการพบกัน ในอนาคตผมอาจจะทำเป็นรูปแบบค่ายเลย กระบวนการที่เราใช้มันเอาไปใช้ได้ทุกกิจกรรม อย่างผมทำสภานักเรียน เด็กต้องนำเสนอความคิดของเขาเอง ต้องตั้งคำถามกับผู้ใหญ่ เสนอความคิดใหม่ๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงโรงเรียนไปด้วยกัน” ครูทิวเล่า

หนึ่งในข่าวดีที่ฉันดีใจก็คือ TED Club กำลังจะไปไกลขึ้น โรงเรียนเซนต์คาเบรียลกำลังจะนำโครงการนี้บรรจุเข้าหลักสูตร เด็กทุกคนจะได้มี TED Talks เป็นของตัวเอง เป็นไปได้ว่านี่อาจเป็นการขยับที่จะส่งแรงกระเพื่อมต่อจากนี้ และหลังโครงการสร้างสมาชิกครูสำเร็จมาแล้ว 2 รุ่น ต่อจากนี้ครูทั่วประเทศจะสามารถเข้าร่วมได้โดยไม่มีกำหนดปิดรับสมัคร เพราะทีมงานกำลังจัดทำคอร์สเวิร์กช็อปแบบออนไลน์ให้ครูเข้าถึงจากที่ไหนก็ได้

และถ้าคุณเป็นอีกคนที่อยากรับฟังเด็กๆ วีบอกว่าเวลานี้ทอล์กจากน้องๆ ก็จัดอยู่ในเพลย์ลิสต์ของ TEDxBangkok ให้ทุกคนเข้าถึงได้เรียบร้อยแล้ว (คลิกที่นี่เลย)

“เราดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างพื้นที่นี้ให้เด็กขึ้นมาจริงๆ สักที TED Club มันตอบโจทย์ที่ตั้งไว้เกินคาด ตอนแรกเราคิดว่าเด็กน่าจะได้กระบวนการคิด การพูดในที่สาธารณะ แต่ผลลัพธ์ทางอ้อมก็คือเด็กรู้สึกว่ามีพื้นที่ของเขา ไม่ว่าจะเป็นเด็กหน้าห้อง กลางห้อง หลังห้อง พอมาอยู่ใน TED Club ทุกคนเท่าเทียมกัน และทุกคนเป็น someone เหมือนกัน”

ติดตามข่าวสารจากทีมงาน TEDxBangkok ได้ที่ www.facebook.com/tedxbangkok ส่วนคุณครูที่สนใจอยากเข้าร่วมโครงการ TED Club อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ bit.ly/TEDClubbyTEDxBangkok

นอกจากนี้เรายังสามารถเป็นอีกคนที่รับฟังสิ่งที่เด็กๆ วัยรุ่นอยากบอกผู้ใหญ่ได้บนเวที TEDxYouth@Bangkok ในวันที่ 18 พฤศจิกายนนี้ ผ่าน Live บนเพจ TEDxBangkok

ภาพ TEDxBangkok​ School​ Ambassador​ รุ่น​ 1

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ฟาน.ปีติ

ปีติชา คงฤทธิ์ นักออกแบบภาพประกอบประจำนิตยสาร a day งานอดิเรกคือการทำอาหารคลีน, วิ่ง และต่อกันพลา