คลิปทดสอบคุณธรรมเรื่องการศึกษาที่จำลองสถานการณ์จริงให้ทุกคนอินและอยากแชร์

คลิปวิดีโอที่กำลังถูกพูดถึงในโลกออนไลน์ล่าสุด คือคลิปตั้งกล้องแอบถ่ายสถานการณ์จำลองที่เด็กสาวมัธยมโกหกแม่ของเธอเรื่องผลการเรียนตก เพื่อลองใจว่าแม่ของเธอจะรู้สึกอย่างไร นอกจากจะสร้างยอดชมถล่มทลาย สิ่งน่าสนใจอีกอย่างคือความคิดเห็นในแง่บวกของคนดูที่ต่างมาแชร์ประสบการณ์คล้ายๆ กันของตัวเองที่ยิ่งมากก็ยิ่งสร้างกระแส ซึ่งเมื่อรวมกับผลตอบรับของ 2 คลิปวิดีโอที่ปล่อยออกมาก่อนหน้าอย่าง ‘ครูคุณธรรม’ (ลองใจว่าคุณครูจะสอนพิเศษเด็กที่ได้เงินค่าจ้างหรือไม่) และ ‘ไม่ต้องติวให้มันหรอก’ (เด็กเรียนเก่งจะยอมติวให้เพื่อนที่เป็นคู่แข่งหรือเปล่า) ก็ถือว่านี่คือชิ้นงานที่เจ๋งจนเราขอชื่นชม

คลิปวิดีโอทั้งหมดเป็นผลงานของทีม Toolmorrow กลุ่มคนที่ถนัดการทำ Social Experiment เพื่อทำลายทัศนคติผิดๆ ในสังคมไทย ที่ได้รับโจทย์จากเอเจนซี่โฆษณา มานะ แอนด์ เฟรนด์ ให้ทำคลิปวิดีโอเชิงทดลองนี้ต่อยอดมาจากหนังโฆษณา ‘ครูคุณธรรม’ ในโครงการ ‘สานต่อที่พ่อทำ’ วิธีคิดเบื้องหลังกว่าจะมาเป็น 3 คลิปวิดีโอสุดสร้างสรรค์และดูสนุกนี้เป็นยังไง เราชวน ป๋อม-กิตติ ไชยพร แห่ง มานะ แอนด์ เฟรนด์ และ เสก-สุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์ Managing Director แห่ง Toolmorrow มาเล่าให้เราฟังกัน

เรื่องคุณธรรมต้องทดสอบ

หลังปล่อยหนังโฆษณา ‘ครูคุณธรรม’ ที่หยิบเรื่องราวของครูโซ่ ครูคณิตศาสตร์ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดระยองผู้มีสไตล์การสอนแหวกแนวไปแล้ว ป๋อมยังเห็นว่าประเด็นเรื่องการศึกษาที่มาควบคู่กับคุณธรรมไม่ควรบอกผ่านหนังโฆษณาชิ้นเดียว แต่น่าหยิบมาทดลองให้จับต้องได้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

ป๋อม: “เรารู้สึกว่าถ้าคนเรามีคุณธรรมจริงน่าจะต้องเจอแบบทดสอบว่าถ้าเจอสถานการณ์แบบนี้จะจัดการยังไง ถ้ามองในแง่โฆษณา การใช้ความจริงถือเป็นการโน้มน้าวที่ดีที่สุด เพราะมันบริสุทธิ์มาก อย่างหนังโฆษณา ‘ครูคุณธรรม’ ที่ออกมาแล้วก็เป็นเรื่องจริงนะ แต่สุดท้ายเราก็เสริมแต่งด้วยภาษาภาพยนตร์ ดนตรีต่างๆ อยู่ดี ไม่ได้หมายความว่าแบบนั้นไม่ดี แต่เราต้องการเล่าเรื่องเพิ่มเติมด้วยการทดลองแบบนี้ด้วย ซึ่งพอจะพูดเรื่องการศึกษา ก็คิดว่าน่าจะพูดทั้ง 3 มุม คือครู นักเรียน ผู้ปกครอง ซึ่งเป็นวงจรเชื่อมโยงกัน”

ทำลายความเชื่อผิดๆ ในแง่บวก

ป๋อม: “เรานึกถึงทีม Toolmorrow เพราะส่วนตัวเราชื่นชมงานของพวกเขา เวลาครีเอทีฟโฆษณาอย่างเราคิดงานก็จะคิดอะไรสนุกๆ มันๆ เอาสะใจอย่างเดียว ถ้าทำงานเชิงทดลองก็ตอกย้ำสังคมว่าแย่เข้าไป แต่วิธีคิดของทีม Toolmorrow เขาคิดอย่างมีสติมากกว่าเรา คือพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อจะปรับทัศนคติ ความเชื่อให้คนมองในแง่บวกได้ สังคมทุกวันนี้ 99 เปอร์เซ็นต์พูดแต่เรื่องแย่ๆ ทั้งที่การดูสิ่งดีๆ มันสร้างแรงบันดาลใจเราได้ดีกว่า”

เสก: “Toolmorrow มองว่าปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมเกิดจากพฤติกรรมคน ซึ่งก็มาจากสิ่งที่เขาคิดและเชื่อ สิ่งที่เราควรจะทำคือเปลี่ยนแปลงความคิด ทัศนคติต่างๆ ให้ถูกต้อง ถ้าสุดท้ายคนเรามีวิธีคิดที่ถูกต้อง ปัญหาสังคมก็จะลดลง หน้าที่เราคือทำให้ความเชื่อผิดๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีหมดความน่าเชื่อถือ”

มองปัญหาให้ชัดเจน

เสก: “เราตั้งคำถามผ่านแฟนเพจของเราซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลของพวกเราอยู่แล้วว่าคุณธรรมที่ครู นักเรียน พ่อแม่ ควรจะมีคือเรื่องอะไรบ้าง และมีชุดความคิดอะไรทำให้เขาละเลยเรื่องนั้นๆ ประเด็นไหนมีคนเสนอมาเยอะๆ ซ้ำกันก็นำมาประมวลผล พอได้ประเด็นมาก็เข้าไปคุยกับครูจริงๆ นักเรียนจริงๆ เพื่อตรวจสอบว่าปัญหาที่เราเลือกมาถูกต้องชัดเจนหรือเปล่า

“เราหาก่อนว่าปัญหาของครู นักเรียน พ่อแม่ คืออะไร ความเชื่ออะไรอยู่ภายใต้พฤติกรรมนั้น แล้วคุยกับกลุ่มคนที่ให้ข้อมูลเราว่าข้อมูลที่เราสรุปได้มานั้นถูกต้องหรือเปล่า เช่น ทำไมครูถึงชอบสอนพิเศษเด็ก กั๊กวิชาไว้ไม่สอนเต็มที่ในห้องเรียน พอรู้ว่าเขาเชื่ออะไร เราก็มาตรวจสอบว่าสิ่งนั้นถูกต้องกับจรรยาบรรณครูหรือเปล่า และระหว่างเงินกับลูกศิษย์ ที่จริงแล้วคนเป็นครูควรเลือกอะไรก่อน”

คัดตัวแสดงให้ตรงกับสิ่งที่อยากบอก

เสก: “การหาตัวแสดง เราเริ่มจากใช้ฐานข้อมูลบนแฟนเพจให้เป็นประโยชน์ รับสมัครเด็กที่มีคุณสมบัติตามนี้ ถ้าอยากได้ผู้ปกครอง ก็ถามน้องๆ ต่อว่าใครมีคุณพ่อคุณแม่อายุเท่านี้ ลักษณะแบบนี้บ้าง แล้วคัดเลือกอีกครั้งผ่านการพูดคุยเพื่อดูว่าคาแรคเตอร์ตรงกับที่เราอยากได้หรือเปล่า ทัศนคติ สิ่งแวดล้อมที่เขาอยู่ เพื่อน พ่อแม่ ตรงกับที่เราต้องการไหม คัดเลือกมาหลายคนก่อนคุยกันในทีมว่าคนนี้ดียังไง คนนี้มีข้อเสียยังไง เราไม่ได้วางคาแรกเตอร์แบบเป๊ะๆ ไว้ก่อน แค่ดูความเหมาะสมเป็นหลัก แต่เราก็จะมีเงื่อนไขของนักแสดงที่เราต้องเป๊ะ ซึ่งเน้นไปทางพฤติกรรมมากกว่าหน้าตา ซึ่งก็มั่นใจในกระบวนการคัดเลือกของเรา การถามคำถามต่างๆ กับคนใกล้ตัวเขา เพื่อทดสอบพฤติกรรมให้แน่ใจว่าในสถานการณ์ทดลองมันน่าจะเป็นไปตามทิศทางที่เราคิดไว้ แต่ขออุบไว้เป็นความลับ”

ทำทุกอย่างให้เป็นธรรมชาติ

เสก: “ยกตัวอย่างคลิปเรื่องเพื่อน เราก็มองหาเด็กที่เรียนเก่งและทัศนคติดี และหาว่าอะไรจะล่อใจเขาได้ เขาชอบอะไร แล้วถ้าเปรียบเทียบระหว่างสิ่งที่เขาชอบกับเพื่อน เขาจะเลือกอะไร บทต่างๆ เลยมาลงรายละเอียดหลังจากที่เราได้ตัวแสดงที่ต้องการมาแล้ว ส่วนวิธีการถ่ายทำก็ใช้การแค่ซักซ้อมวิธีการเข้าออกกับคนที่เตี๊ยมไว้ ส่วนวิธีการพูดก็ไม่ได้ปรับอะไร ปกติคุยกันที่ไหน คุยยังไงก็ให้คุยปกติ ผลเลยออกมาเป็นธรรมชาติของมัน”

เรื่องจริงที่ทุกคนอินและอยากส่งต่อ

เสก: “ที่ผลตอบรับออกมาดีเพราะคนเข้าใจว่าปัญหานี้เกี่ยวกับตัวเอง ฉันก็เคยเป็นอย่างนี้เหมือนกัน ดูแล้วนึกถึงแม่ฉันเลย เราทำสิ่งที่คนดูมีประสบการณ์ร่วมเพราะไม่ได้คิดจากเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง แต่เอาปัญหาเป็นศูนย์กลาง และสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนดูได้ อย่างเรื่องครูสอนพิเศษมันก็ทำให้ครูได้ฉุกคิดว่าสิ่งที่ทำไปถูกต้องหรือเปล่า เราไม่ได้ว่าครูสอนพิเศษไม่ดีนะ แต่ให้ฉุกคิดและทบทวนตัวเองมากกว่าว่าคำว่าครูคืออะไร หน้าที่ของครูคืออะไร หรือเรื่องเด็กช่วยติวให้เพื่อน เมื่อก่อนเขาอาจไม่เคยมองมุมนี้ คิดว่าใครๆ ก็ควรจะขยันเอง แต่ถ้าเขาสอนเพื่อน เขาก็ได้ทบทวนความรู้ตัวเองด้วย ได้เพื่อนด้วย คิดแบบนี้จะทำให้สังคมน่าอยู่กว่า”

ป๋อม: “สิ่งที่ออกมามันบริสุทธิ์สุดๆ ทั้งบทพูด มุมกล้องต่างๆ แต่พอเป็นเรื่องจริงที่แมส คนดูเลยอินและเอาใจช่วย แทนที่ตัวเองเข้ากับตัวละครนั้น และทำให้คนดูดูแล้วมีกำลังใจจะใช้ชีวิตต่อไป ถ้านี่เป็นโฆษณาก็ถือเป็นการเปลี่ยนทัศนคติคนที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งเลย เรารู้สึกว่าคิดถูกมากๆ ที่ทำโปรเจกต์นี้ขึ้นมา”

ย้ำว่าความเก่งอย่างเดียวไม่พอ

ป๋อม: “การศึกษาเป็นเรื่องที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงให้ความสำคัญมากที่สุด เพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะแก้ไขปัญหาหลายๆ อย่างของสังคมไทยได้ในระยะยาว ครูควรทำหน้าที่อะไร นักเรียนต้องเป็นยังไง หรือพ่อแม่ซึ่งก็ต้องเป็นครูด้วย ทั้งหมดพระองค์ไม่ได้ตรัสออกมาตรงๆ แต่พูดไว้กว้างๆ ซึ่งเราควรจะหยิบมาปรับใช้ในชีวิต ทุกวันนี้มีแต่คนเก่งแต่ไม่มีคุณธรรม ถ้าเก่งแล้วดีด้วยก็เท่ากับคุณมีทั้งเครื่องยนต์ที่แรงและหางเสือที่บังคับให้รู้ว่าควรหรือไม่ควรไปทางไหน เรื่องนี้เราเลยจัดหนักและคิดว่าทั้งหนังโฆษณาและการทดลองนี้ทำหน้าที่ได้ดีที่สุดแล้ว”

ทำความรู้จักเรื่องราวของโครงการนี้ให้มากขึ้นที่ สานต่อที่พ่อทำ แล้วสัปดาห์หน้าเรายังมีวิธีคิดเจ๋งๆ จากผู้กำกับโฆษณาคนต่อไปมาให้ติดตามกันอีกนะ

AUTHOR